ปกิณณกธรรม ตอนที่ 67
ตอนที่ ๖๗
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ ก็ฟังไปเข้าใจไปแล้ว ก็รู้ว่าไม่มีตัวเรายิ่งขึ้น พร้อมทั้งไม่ใช่เพียงขั้นพิจารณา หรือเข้าใจเฉยๆ เพราะว่าเราอาจจะพูดได้ว่า “ไม่มีเรา” แต่ว่ารู้จริงๆ ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธาตุ หรือว่ารูปธาตุ ชัดเจนด้วยวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เพียงขั้นสติปัฏฐานเกิด
ผู้ฟัง คำว่า รู้ ถ้าสมมติว่าเรารู้คำว่า รูป หรือนาม ความหมายมันก็ไม่ทราบใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สิ่งที่พูดนั้นคืออะไร
ผู้ฟัง คำว่าเรารู้ว่าอันนี้เรื่องราว มันเป็นเรื่องราวไปแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าสมมติเรารู้ว่าเสียงนี้คือรูป นี้คือความจำเอา ยังไม่ทราบว่า เสียงคือรูป และ ตัวรู้คือนาม อย่างนี้มันก็คือไม่รู้ว่าเรื่องราวที่พูดมันคืออะไร ใช่ หรือเปล่า ถ้าเรารู้เรื่องราวที่พูดคืออะไรมันเลยเหมือนกับว่าเป็นเป็นสัญญาอะไร หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เรื่องราวนี้เราคงรู้ รับฟังก็รู้ แต่เราไม่รู้จักสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่คำว่า ธรรม เราก็พูดได้ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ลักษณะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เป็นสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ เราก็ต้องรู้ว่าขณะนี้ ที่จริงแล้ว ผู้ที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ว่าทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรม หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เวลาที่เราพูดถึงคำว่า ธาตุ ก็แสดงความเป็นสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่มีใครบังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการ หรือว่าไม่มีใครบังคับให้เกิดได้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เช่น เสียงเดี๋ยวนี้มีลักษณะอย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ ใครจะไปเปลี่ยนให้เป็นสิ่งอื่น อย่างอื่น ก็ไม่ได้ นี่คือลักษณะของธรรม เพราะฉะนั้นตลอดวัน ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นธรรม แต่ละอย่างจริงๆ แต่กว่าเราจะรู้อย่างนี้ได้ เราก็ต้องอาศัยการฟัง แล้วพิจารณา แล้วก็เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะเราทราบว่าอันนี้คือรูป เสียงคือรูป
ท่านอาจารย์ นั้นคือความคิดความเข้าใจ เป็นความคิด
ผู้ฟัง แต่ถ้าสมมติ เราเกิดรู้จริงๆ ขึ้นมา เราจะทราบเนื้อเรื่องที่เราพูด หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีตัวธรรมใช่ไหม เวลาที่ได้ยินเสียง ขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ มีเรื่องไหม
ผู้ฟัง อย่างที่เสียงนกร้อง มีเสียงเกิดขึ้นใช่ไหม แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่ามันเป็นเสียงนก
ท่านอาจารย์ ต้องแยก ขณะที่เพียงได้ยินจริงๆ ต้องมี ใช่ไหม ได้ยินเสียง ไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็ได้ยิน แล้วเสียงก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นเรื่องหรือเปล่าที่กำลังได้ยินเสียงเฉพาะตอนที่ได้ยินเสียง มีเรื่องอะไรในขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่คือปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้ามีความคิดนึก ลักษณะที่คิดก็มีจริง สภาพคิดเป็นปรมัตถธรรม ถ้าฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ขณะที่ได้ยินเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรมตลอดชีวิตเป็นปรมัตถธรรม ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งรู้จักโลกของปรมัตถธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่มีเรื่องราว เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถธรรมอะไร ทางตาแม้ขณะนี้ ก็สามารถที่จะรู้ได้เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏ ทางหูเสียงได้ยินแล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุ แล้วแต่ว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้นสติก็มีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้สติก็เพิ่มขึ้นเป็นสติพละ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็จะรู้ว่า ขณะใดยังไม่ใช่สติพละ ก็เป็นสภาพของการเจริญปัญญาที่อ่อนมาก ไม่มีกำลังพอที่จะเกิดแล้วรู้เกิดแล้วรู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง ที่ถามท่านอาจารย์เพื่อความเข้าใจว่า ขณะที่บอกว่า เราได้ยินเสียง แล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นเสียงอะไรเพราะว่ามันคือเป็นเสียง แค่เสียง นั่นหมายความว่าเรามีสติอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ ถ้าต้องถามใคร ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน ถ้าถามว่ามีสติใช่ไหม ก็ไม่ใช่ปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน ก็ต้องมีปัญญาเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด เพราะว่าเวลาที่กุศลจิตเกิด เราสะสมมาที่จะเป็นไปในทาน ขณะนั้นไม่มีปัญญา ขณะที่รักษาศีล หรือขณะที่จิตสงบ ก็เป็นปัญญาต่างขั้น แต่เวลาที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่เรา นี่เป็นสิ่งซึ่งต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจอย่างดีมาก จึงจะเป็นปัจจัยให้แม้ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ และได้ยิน สติก็ระลึกเกิดขึ้น เพราะมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง สัมมาสติก็เกิดไม่ได้ ขณะนี้เองที่กำลังฟัง ถ้าอบรมมาแล้ว สัมมาสติก็เกิดได้ ถ้าไม่อบรม ก็เป็นความคิดที่อยากจะระลึก หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ ที่เร็วมาก เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจได้ถูกว่าขณะไหนที่สัมมาสติเกิดระลึก ขณะไหนไม่ใช่สัมมาสติ
สติปัฏฐานระลึกรู้สภาพของกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานระลึกอะไรไม่ได้
ผู้ฟัง บัญญัติ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ถ้าเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง สติระลึกเพื่อเข้าใจถูกในลักษณะที่เป็นธรรม เพราะว่าสติปัฏฐานนี้จะมีความเข้าใจถูกในลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรม ถ้าขณะนี้ เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ คือไม่ประกอบด้วยปัญญา สติระลึกได้ไหม ได้ นี้แสดงว่าปัญญาต้องรู้ทั่วจริงๆ ต้องรู้ทั่วทุกอย่าง แม้ว่าเป็นอกุศลก็เป็นตามความเป็นจริงที่สติระลึกได้ เพื่อจะรู้ว่าอกุศลนั้นไม่ใช่เรา หรือว่าแม้แต่กุศล ปัญญาก็รู้ความจริงว่ากุศลนั้นก็ไม่ใช่เรา กุศลนั้นจะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ใช่เรา ทั้งหมดที่เป็นชีวิตจริงๆ ตั้งแต่เช้า ทุกวันๆ ไม่ใช่เราทั้งหมด เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ เลือกก็ไม่ได้ เปลี่ยนตัวก็ไม่ได้ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมมอะไร
ผู้ฟัง ธรรมทั้งหลายมันเกิดดับเร็วมาก การที่จะเกิดสติปัฏฐานคือยากมาก คิดว่าทุกวันที่เกิดขึ้นมีแต่ขั้นสติขั้นนึกคิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นสติปัฏฐานนี่ไม่ใช่เรื่องคิด เพราะเหตุว่าเราคิดตั้งแต่เช้า คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ ใครนับความคิดได้บ้างว่าคิดเรื่องอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้า กี่เรื่อง เยอะแยะไปหมด ก็ผ่านไปหมดแล้ว แต่สติปัฏฐานคือขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏที่สติระลึกได้ เพราะฉะนั้น จะไม่คิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะถ้าคิดก็เป็นเพียงความคิด แต่ไม่สามารถจะไประลึกสิ่งที่ดับไปแล้วได้ หรือสิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองมีสภาพธรรมใดปรากฏ ถ้ามีปัจจัยสะสมมาที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก คนนั้นสติปัฏฐานก็เกิด แต่ถ้าไม่มีการสะสมมาที่สติปัฏฐานจะระลึก แม้ฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติก็ไม่ได้ระลึก
ผู้ฟัง มันจำเป็นหรือเปล่าว่าต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมทุกๆ ลักษณะ จึงจะเข้าใจจริงๆ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ปัญญากว่าจะละความเป็นตัวตนได้ ต้องละเอียด
ผู้ฟัง ความหมายขออาจารย์ตรงนี้ที่ว่าละเอียด
ท่านอาจารย์ รู้ทั่ว ในความเป็นธรรม ไม่มีสักขณะที่จะเกิดสงสัย นี้อะไร จะระลึก หรือไม่ระลึก เป็นตัวเราที่คิดกลับไปกลับมาเรื่องการให้ คนโน้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น
ผู้ฟัง ลักษณะมันปรากฏเร็วมาก
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรที่ผ่านไปแล้ว แต่ขณะนี้มีอะไรปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เร็วมากยังไงก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะเราไม่รู้การเกิดดับอย่างเร็ว เพียงแต่เริ่มที่จะศึกษาลักษณะของสภาพที่มีให้เข้าใจขึ้น ในลักษณะจริงๆ แท้ๆ ซึ่งเราเรียนมามาก ฟังมาเยอะ แต่สติก็ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพนั้น เพราะฉะนั้นฟัง เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยขณะนั้น สติต้องเกิด ไม่ต้องไปเรียกชื่อก็ได้ แต่ขณะใดที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นสติเป็นหน้าที่ของสติ ไม่ใช่เรา สติเกิดแล้วจึงเป็นอย่างนั้นค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ผู้ฟัง ค่อยๆ ศึกษา แต่ยังไม่ใช่สัมมาสติ แต่เราต้องเริ่มรู้เวลาที่ไม่มีสติ กับ เวลาที่มีสติต่างกัน แต่อาจจะไม่ใช่สัมมาสติ ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าสติยังไม่เกิด ก็คือหลงลืมตลอด เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดนี่คือความต่าง เพราะฉะนั้น คนนั้นก็จะรู้ว่าขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่สัมมาสติ เพราะว่าไม่แน่ใจว่าเริ่ม เวลาเริ่ม
ท่านอาจารย์ เริ่มหมายความว่าขณะนี้ มีสภาพธรรมที่คนนั้นมีความเข้าใจที่เข้าใจถูกต้องว่า สติสามารถเกิดระลึกได้ เป็นปัจจัยให้มีการระลึก ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏตา ขณะนั้นไม่ใช่เพียงการฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาได้มีจริง เป็นรูปธรรม นั้นคือการเพียงฟัง แต่ขณะนี้กำลังเห็นมี เห็นจริงๆ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และกำลังเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงรูปๆ ๑ ใน ๒๘ รูป ที่สามารถจะปรากฏได้ รูปอื่นปรากฏไม่ได้เลย แข็งเราก็มองไม่เห็น หวานเราก็มองไม่เห็น กลิ่นเราก็มองไม่เห็น แต่ทั้งหมดเป็นรูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ มีรูปเดียวเท่านั้นที่ปรากฏทางตา ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ฟังบ่อยๆ เพื่อที่จะคอยน้อมไป ระลึกคือเข้าใจในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ต้องอบรมจริงๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ได้ จากการไม่เคยได้ยินได้ฟัง เป็นได้ยินได้ จนกระทั่งในขณะนี้เองที่เห็น กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และกำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องเป็นเรื่องราวอย่างนี้ แต่ถ้าจะคิดเป็นเรื่องราวอย่างนี้ ก็ไม่มีใครห้าม ห้ามไม่ได้ พระธรรมแสดงความเป็นอนัตตา ขณะที่อาจจะระลึกเป็นคำ และสลับกับขณะที่กำลังค่อยๆ พิจารณาลักษณะที่เป็นสภาพธรรมนั้นจริงๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงคิด และขณะไหนที่สติกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนี้ไม่มีการระลึกลักษณะ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ที่สามารถเห็น และกำลังเห็นว่า ธาตุชนิดนี้มี แม้ว่าไม่ปรากฏเลย เพราะเหตุว่าสติไม่ระลึกเลย แต่เวลาที่สติระลึก จะค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็น นี้คือลักษณะของธาตุชนิดนี้ ซึ่งสามารถเห็นได้ เพราะฉะนั้นการฟังอย่างนี้ ฟังไปอีกๆ ก็ไม่พ้นจาก ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เพื่อที่จะให้เราไม่หลงลืม หมายความว่ามีความเข้าใจที่มั่นคง ที่เป็นปัจจัยให้กำลังค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะน้อยมาก เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของรูป และนามทางทวารนี้ และทางทวารอื่น และก็มีภวังค์คั่น และก็เป็นลักษณะของมโนทวารซึ่งเกิดสืบต่อ ซึ่งเป็นความจริงทุกอย่าง ตามที่ทรงแสดงแต่ในขั้นต้น ยังไม่ใช่ปัญญาระดับนั้น แต่เป็นปัญญาซึ่งค่อยๆ เข้าใจก่อน คำว่าเข้าใจ หมายความถึงปัญญาขั้นหนึ่ง เพราะว่าถ้าเราใช้คำว่าปัญญา แต่เราไม่รู้ว่าปัญญาขั้นต้นคือเข้าใจ เราก็พยายามที่จะไปใช้ปัญญา ทำปัญญา หาปัญญา โดยที่ไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร แต่ถ้ารู้ปัญญาเป็นความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏถูกต้อง เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาบาลีว่าปัญญาก็ได้ ในเมื่อมีความเห็นถูกเกิด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจ เราจะไม่หนีไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อาจหาญ ร่าเริง คือรู้ว่าสิ่งนี้มี แล้วปัญญาต้องรู้สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่รู้สิ่งนี้ ก็ไม่มีทางที่เราจะคลายความที่เราคิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานี้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเที่ยง เป็นคนนั้น ชื่อนั้น กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เป็นต้นไม้ เป็นนก เป็นสนาม เป็นสนามหญ้า หรืออะไรอย่างนี้ เพราะว่าขณะที่มีความรู้เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็เวลาที่เราพิจารณาสภาพของนามธรรมอื่นรูปธรรมอื่น เราก็ค่อยๆ เพิ่มการรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือว่าสิ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าทุกอย่าง เปลี่ยนลักษณะไม่ได้เลย เปลี่ยนเสียงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะหมดความสงสัย หมดความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้าพูดแบบนี้ก็ง่าย เช่นเมื่อคุณแม่เขาว่า เราก็รู้ว่านี่คือแค่เสียง
ท่านอาจารย์ คือเราคิด ไม่ใช่สภาพรู้ หรือธาตุรู้
ผู้ฟัง แต่การคิดแบบนั้น ก็ดีกว่าที่คิดว่า แม่กำลังว่า
ท่านอาจารย์ กุศลดีกว่าอกุศล หรือไม่ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาระดับไหน ขั้นไหน กับกุศลที่สามารถจะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน มีกุศลหลายขั้น
ผู้ฟัง เชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คนคงจะตั้งใจในการที่จะฟังธรรมเพื่อจะได้เข้าใจพระธรรม แต่ว่าเวลาที่อาจารย์แสดงว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ ก็จะมีความตั้งใจในการเริ่มจะสนใจสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นความตั้งใจในการเริ่มที่จะสนใจสภาพธรรมตรงนี้ จะต่างจากความตั้งใจในการที่จะฟังธรรมให้เข้าใจไหม
ท่านอาจารย์ ตั้งใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ การศึกษาธรรมของเรา เราทิ้งพระธรรมไม่ได้เลย ถ้าเรามีความจงใจ หรือตั้งใจ และเราเป็นผู้ที่ละเอียดเราจะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ลักษณะของความตั้งใจเราเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นความตั้งใจนี้มีหลายอย่าง ตั้งใจที่เป็นอกุศลก็มี ตั้งใจที่เป็นกุศลก็มี ตั้งใจที่เป็นกุศลระดับไหน อย่างเวลาที่จะฟังพระธรรม เจตนาเจตสิก เรารู้ว่าเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่าความตั้งใจของเราที่จะฟัง มีแค่ไหน บางคนอาจจะกำลังง่วงบางคนอาจจะกำลังคิดถึงเรื่องอื่นห้ามไม่ได้เลย มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วม แสดงความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เรา แม้แต่ขณะที่เกิดความจงใจตั้งใจนั้น ก็ต้องมีการรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นเราจะหลงทางไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าคิดว่าต้องมีเจตนา หรือว่าต้องมีความจงใจ แต่ถ้าเราทราบมั่นคงว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะแล้วก็หลากหลายเช่น เจตนาที่เป็นอกุศล หรือเจตนาฟัง ขณะนั้นก็ตั้งใจที่จะฟังให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่เจตนาที่จงใจที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด ถ้ามีใครก็ตาม ขณะนี้ที่ฟังมานานแล้วแน่นอน เรื่องธรรมแล้วเรื่องสติปัฏฐานนี่ก็ฟังมานาน แต่ก็ห้ามไม่ได้เลย ที่บางครั้งสติเกิดที่เป็นสติปัฏฐาน บางครั้งสติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นคนนั้นต้องไม่หวั่นไหว ต้องมีความมั่นคงในความเป็นอนัตตาที่จะรู้ว่าเมื่อสติเกิด มีการระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้ภาษาไทยว่าระลึก คนที่ไม่ชินกับสภาพธรรม ก็อาจจะคิด คือระลึก เพราะฉะนั้นภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี เราต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่ใช่คิดเรื่องอดีตนานๆ หรือยาวๆ หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ว่ามีสภาพปรมัตถธรรม อย่างทางกายกำลังปรากฏลักษณะที่แข็งกับกายวิญญาณมีสภาพที่รู้แข็ง เด็กรู้แข็ง สัตว์ก็รู้ ใครที่มีกายปสาทก็จะต้องรู้ลักษณะของแข็งที่กระทบกับกายปสาท แต่จะกล่าวว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานไม่ได้ เป็นแต่เพียงกายวิญญาณ แต่มีแข็งปรากฏหลังจากที่กายวิญญาณรู้ ขณะนั้นสติปัฏฐานระลึกที่ลักษณะแข็งนั่นเอง เพราะฉะนั้นคนนั้นก็จะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ที่แข็งปรากฏ สติปัฏฐานเกิดระลึกที่แข็งที่จะศึกษาลักษณะนั้นให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรม หรือว่าผ่านไปเรื่อยๆ แม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นทุกขณะ ทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม มี ๖ ทาง ทางตาขณะนี้ ถ้าเว้นข้ามไป หรือไม่รู้ก็ต้องอบรมจนกว่าจะรู้จนกว่าจะละความสงสัย และความไม่รู้ จนกว่าจะคลายความที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นด้วยความไม่รู้ จนสามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ ถ้ายังไม่คลายความที่เคยติดข้องต้องการปรารถนาที่จะรู้ ขณะนั้นไม่มีทางที่จะรู้ เพราะฉะนั้นถึงอยากก็ไม่รู้ แต่จะรู้ได้เมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ขึ้น และความรู้ที่มีเพิ่มขึ้น จะทำให้สติเกิดระลึก เพราะฉะนั้นคนนั้นก็จะเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นสัมมาสติก็สอดคล้องกับความเข้าใจเดิมตั้งแต่แรกว่า ธรรมทั้งหลาย หรือทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ คุณโจนาธานมีสมบัติมากไหม แต่ก็มีใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ค่อยมี
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่มีเลยใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็คงหวังว่าไม่มี
ท่านอาจารย์ มีเมื่อไหร่ ที่ว่ามี คุณโจนาธานมีสมบัติเมื่อไหร่
ผู้ฟัง ขณะเป็นกุศล ก็เป็นสมบัติใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ขณะที่ไม่คิดนอนหลับสนิท คุณโจนาธานเป็นเจ้าของอะไรบ้าง เป็นเจ้าของชื่อโจนาธานหรือเปล่า ไม่มีแม้แต่ชื่อ ชื่อโจนาธานก็ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่เจ้าของชื่อโจนาธานด้วย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่ปัญญาที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่ของปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีอารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่อเมื่อใดมีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตเจตสิกเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เดี๋ยวนี้คุณโจนาธานไม่ได้คิดถึงสมบัติที่มีใช่ไหม ใช่ เพราะว่าเพียงเห็น หรือว่าเวลาที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นจิตก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินเสียงนั้นเป็นของใคร ไม่มีเจ้าของใช่ไหม เพราะเหตุว่า เกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่าง เกิดแล้วดับไปทั้งนั้น แล้วก็มีความคิดว่าเป็นเรา หรือเป็นของเราก็ต่อเมื่อคิด แต่ถ้าไม่คิดแค่เห็น ก็จะไม่มีการที่จะคิดว่าเราเป็นเจ้าของจักขุวิญญาณที่เห็น หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ฟัง แต่ที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่ ขณะที่เห็น ไม่มีเจ้าของ เรารู้ด้วยความคิดความจำใช่ไหม แต่การรู้โดยปัญญามันยากใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีทางที่จะไม่ใช่เรา ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลักษณะของสภาพรู้จริงๆ คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทปรากฏเมื่อกระทบตา ถ้าไม่กระทบตายังไงๆ ก็ไม่ปรากฏ สิ่งเหล่านี้จะปรากฎไม่ได้เลยที่เรากำลังปรากฏเห็นสิ่งต่างๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องจริงลักษณะจริง ซึ่งปัญญาสามารถจะค่อยๆ รู้ความจริงขึ้น จากการฟัง และเข้าใจแล้วก็รู้ว่า ปัญญาจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ทาง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นคือ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ว่าเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาเล็กน้อยได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขั้นคิดได้