แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292


สุ. สติจะระลึกทางตาก็ได้ ทางกายก็ได้ หรือทางใจก็ได้ ข้อสำคัญที่สุด คือ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีทางหู มีทางจมูก มีทางลิ้น มีทางกาย มีทางใจ ไม่ทราบว่าสติจะระลึกรู้ทางไหน แต่ถ้ารู้ลักษณะของสติ แม้ในขณะนี้สติก็เกิดได้ ถ้าเข้าใจแล้วจะบอกได้ว่า ขณะนี้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมทางไหน

ถ. สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็คล้ายๆ กับว่า ใช้คำว่าคล้ายๆ ยังไม่ชัด เหมือนกับมีสิ่งหนึ่งที่มาควบคุมอยู่ในอิริยาบถต่างๆ อย่างที่กระผมได้กราบเรียนแล้ว

สุ. อย่างนี้ไม่เป็นปกติ แทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม กลับไปคิดว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังควบคุมอิริยาบถ ถ้าใช้คำพูดตรงๆ ก็อาจจะพูดว่า เข้าใจว่าจะต้องมีจิตสั่งรูปนั่ง

ถ. อย่างที่ท่านอาจารย์พูดถูกต้อง เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมเข้าใจว่า ทุกอิริยาบถต้องมีอะไรสักอย่างที่มาสั่งให้เคลื่อนไหวไปมาได้

สุ. มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าใจอย่างนั้น ที่จะคิดอย่างนั้น หรือว่าคล้ายๆ อย่างนั้น ทำไมไม่ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละทางให้ชัดเจน แทนที่จะเข้าใจว่า คล้ายๆ กับมีจิตสั่ง หรืออะไรอย่างนั้น

ระลึกรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมทางตาเป็นอย่างไร รูปธรรมทางตาเป็นอย่างไร ลักษณะของนามธรรมทางหูเป็นอย่างไร รูปธรรมทางหูเป็นอย่างไร ตามปกติตามความเป็นจริง ทำไมไปนึกๆ ว่า มีอะไรควบคุมอิริยาบถอยู่ ได้ประโยชน์อะไรจากการที่จะรู้อย่างนั้น ในเมื่อไม่รู้ชัดในสภาพที่เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม

การที่จะละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ก็เพราะลักษณะที่เป็นนามธรรมปรากฏ ลักษณะที่เป็นรูปธรรมปรากฏ ซึ่งสติจะต้องระลึกตรงลักษณะนั้น จึงจะรู้ชัดตามความเป็นจริง เมื่อรู้ชัดตามความเป็นจริง จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ถ. รู้สึกว่ามองดูอาจารย์ครั้งใด ก็เห็นเป็นตัวตน เป็นคน เป็นสัตว์ ยังไม่ถึงขนาดที่ว่า จะกระจัดกระจายอย่างที่อาจารย์บอก ทีนี้ท่านอาจารย์ให้ข้อคิด ให้เกิดความสว่างว่า นามธรรม รูปธรรมเกิดขึ้นขณะใดขณะหนึ่งนั้น แตกต่างกัน อย่างทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรเหล่านี้ ผมก็จะนำไปประพฤติปฏิบัติครับ

สุ. ขออนุโมทนา ถ้าท่านผู้ฟังจะฟัง และพิจารณา ก็จะได้รับประโยชน์จากธรรมที่ได้ฟัง ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านก็จะได้รับประโยชน์ คือ สติจะเจริญเป็นปกติ การที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เป็นปกติ และจะเพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น ทั่วขึ้น และจะละคลายความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย อย่ากำหนดอะไรที่ผิดปกติ กำลังเห็น ธรรมดา แต่ไม่ระลึกรู้ตามปกติ อย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

ถ. สมมติว่า เรารับประทานน้ำพริก เราก็รู้ว่าเผ็ด รู้ว่าเปรี้ยว รู้ว่าเค็ม เปรี้ยวก็เนื่องจากมะนาว เค็มก็เนื่องจากน้ำปลา หรือมีกลิ่นกระเทียม กลิ่นกะปิอย่างนี้ จะเป็นการเจริญสติหรือไม่

สุ. ถ้ากำลังคิดว่า กะปิเค็ม หรือเค็มเพราะกะปิ ขณะที่คิดเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นสภาพรู้คำ และก็หมดไป การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เวลาที่เริ่มฟังก็คิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เหมือนกับเพียงให้แค่รู้สึกตัวว่าเรากำลังทำอะไร เช่น เรากำลังนั่ง เรากำลังยืน เรากำลังเดิน เรากำลังพูด เรากำลังคิด เรากำลังเหลียว เรากำลังเหยียด เรากำลังคู้ เป็นต้น

เรา คือ ตัวตน ไม่มี แต่ขณะนั้นใครกำลังรู้ โดยสมมติบัญญัติ จริง ไม่ใช่นามอื่น รูปอื่น แต่เป็นนามรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่หัวข้อของมหาสติปัฏฐานนั้น ไม่มีเราเลยสักบรรพเดียว

ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเห็นเวทนาในเวทนา ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นจิตในจิต ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นธรรมในธรรม คือ ตรงลักษณะของธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เวลาระลึกที่กาย สติรู้ว่าขณะนั้นเป็นกาย ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตน มีแต่กาย เวทนา จิต ธรรม แม้จะใช้คำว่าเรา ก็ให้รู้ว่า ที่เคยยึดถือว่าเรา ขณะนั้นคือกาย จึงจะเห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เป็นเรา

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องผิวเผินเพียงแค่รู้สึกตัว แต่จะต้องรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏจริงๆ อย่างกลิ่นปรากฏ หรือไม่ปรากฏ ถ้าปรากฏ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งรู้ได้ทางจมูก รู้ได้โดยอาศัยฆานปสาท

รส ไม่มีใครมองเห็นรสเลย หวาน เค็ม เปรี้ยว ไม่มีสีสันวัณณะปรากฏให้รู้ว่าเป็นรสชนิดใด แต่สามารถที่จะรู้รสซึ่งเป็นของจริงที่หวาน ที่เปรี้ยว ที่เผ็ด ที่เค็มนั้น ทางลิ้น

เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ เพราะเหตุว่ามีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ท่านไม่ค่อยสบาย เจ็บ ปวด เจ็บปวดเป็นเวทนาใช่ไหม ทำไมจะต้องถามว่า เป็นเวทนาใช่ไหม ในเมื่อลักษณะเจ็บ ลักษณะปวดปรากฏแล้วสติก็รู้ในสภาพของจริงนั้น

คำว่าปวด คำว่าเจ็บ ไม่มีในภาษาบาลี แต่ใช้คำว่าทุกขเวทนา หมายถึงสภาพธรรมชนิด แต่ไม่ใช่เป็นห่วงกังวลว่า ที่เจ็บที่ปวดนั้น ทุกขเวทนาใช่ไหม เป็นเรื่องเจริญชื่อเสียแล้ว คือ ต้องใช่เวทนาไหม ใช่กายไหม ใช่จิตไหม ใช่ธรรมไหม

ขอกล่าวถึง มารสังยุต ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ซึ่งจะเห็นว่า บุคคลที่ขัดขวางความดีของบุคคลอื่น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะผู้ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น แม้แต่ในภูมิอื่นเช่น ภูมิเทพ แม้จะไปเกิดเป็นเทพ แต่ถ้าสะสมความเห็นผิด ความเข้าใจผิด หรือว่าความริษยา ไม่ต้องการที่จะให้บุคคลอื่นเจริญก้าวหน้าในทางธรรม ผู้นั้นก็พยายามขัดขวางทุกทางที่จะกระทำได้ ตามภพ ตามภูมิ ตามความสามารถของบุคคลนั้น

ตโปกรรมสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงประทับพักผ่อนอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งพระทัยอย่างนี้ว่า

โอ เราเป็นผู้พ้นจากทุกรกิริยานั้นแล้ว โอสาธุ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากทุกรกิริยาอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั้น โอสาธุ เราเป็นสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณแล้ว

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้ทราบความปริวิตกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยจิต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้ทราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

มาณพทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์มาสำคัญตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดจากมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

เรารู้แล้วว่า ตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมดหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจไม้แจว หรือไม้ถ่อไม่อำนวยประโยชน์บนบก ฉะนั้น เราจึงเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเพื่อความตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว

ดูกร มารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

มารไม่รู้หนทางข้อประพฤติปฏิบัติเลยที่จะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมอย่างไร มารไม่สามารถจะเข้าใจได้เลย เพราะฉะนั้น ก็มีความพากเพียรที่จะติดตามขัดขวาง และข้อความที่ขัดขวางนั้นก็เป็นข้อความที่พยายามชักชวนให้เห็นผิด ให้ประพฤติผิด ให้ปฏิบัติผิด เช่น ข้อความที่มารกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า มานพทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์มาสำคัญตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดจากมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว

ถ้าไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เห็นข้อปฏิบัติที่ผิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ก็จะกล่าวตำหนิข้อปฏิบัติที่ถูกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดตามความเข้าใจผิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพื่อจะได้ไม่ถูกบุคคลอื่นชักชวนชักจูงด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งก็จะเป็นการขัดขวางความเจริญในการปฏิบัติธรรมของท่าน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับมารว่า เรารู้แล้วว่าตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมดหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจไม้แจว หรือไม้ถ่อไม่อำนวยประโยชน์บนบก ฉะนั้น เราจึงเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเพื่อความตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ดูกร มารผู้ กระทำซึ่งที่สุดตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว

ถ้ายังมีบุคคลอื่นซึ่งทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของผู้ที่ขัดขวางนั้น แต่ถ้าผู้ที่ขัดขวางไม่สามารถที่จะทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ท่านก็กำจัดการกระทำของบุคคลผู้ขัดขวางนั้นได้ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในการขัดขวางของบุคคลอื่น

สุภสูตรที่ ๓ มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้งในราตรีอันมืดทึบ และฝนกำลังตกประปรายอยู่

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปใคร่จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแด่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วแสดงเพศต่างๆ หลากหลาย ทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม ในที่ไม่ไกลแต่พระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ จึงตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

ท่านจำแลงเพศทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยืดยาวนานมารผู้มีบาปเอ๋ย ไม่พอที่ท่านจะทำการจำแลงเพศนั้นเลย

ดูกร มารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลังมาร

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

ข้อความธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาร คงจะเป็นสิ่งที่เตือนใจให้ทราบว่าการที่มารจะขัดขวางได้ ก็ขัดขวางได้เฉพาะบุคคลที่ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลังมาร

จะสังเกตได้ว่า เวลาที่มารใคร่ที่จะให้พระผู้มีพระภาคเกิดความกลัว ความครั่นคร้าม วิธีของมาร คือ แสดงเพศต่างๆ หลากหลาย ทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม แล้วแต่อัธยาศัยว่าใครจะหวั่นไหวในเพศ ในลักษณะอย่างใดที่ปรากฏ คนที่ยังมีกิเลส หรือคนที่ไม่สำรวม คนที่ไม่เจริญสติ คนที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ย่อมหวั่นไหวเวลาเห็นสิ่งที่งาม และเวลาเห็นสิ่งที่ไม่งาม ก็ย่อมจะตกใจ ครั้นคร้าม หวาดกลัว เพราะว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าประจักษ์ในลักษณะของขันธ์ ในลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน บุคคลอื่นจะทำให้หวั่นไหวได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าจะประสบอารมณ์ที่งามหรือไม่งาม ไม่ว่าจะประสบกับมาร หรือเทพ มีค่าเท่ากันไหม หรือว่าพอพบเทพก็หวั่นไหวดีใจ ใคร่ที่จะได้ปราศรัย ตื่นเต้น ผูกพัน หรือว่าพอประสบกับสิ่งทำให้ครั่นคร้ามของมารก็ตกใจ ขวัญหาย นั่นเป็นผู้ที่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

เมื่อพระภิกษุทั้งหลายเกิดความกลัวเพราะการกระทำของมาร พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร จะเกิดขึ้นเพราะอะไร จะเป็นเทพ หรือว่าจะเป็นมาร จะเป็นสิ่งที่งาม หรือเป็นสิ่งที่ไม่งาม ถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็หมดไปเท่านั้น ไม่มีบุคคลอื่นที่จะมาทำให้ปัญญาของท่านไม่เจริญ หรือว่าจะทำให้ท่านตกอยู่ในอำนาจของกิเลส คือ ความยินดียินร้ายได้

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องของมาร ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ไม่หลงลืมสติ เมื่อท่านประสบกับอารมณ์ต่างๆ จะด้วยการกระทำของบุคคลใดที่เป็นเทพ ที่เป็นมาร ที่เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น และปัญญาของท่านเจริญขึ้น ก็ไม่มีบุคคลอื่นที่สามารถจะขัดขวางการเจริญปัญญาของท่านได้

ทุติยปาสสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูปโดยทางเดียวกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุเป็นปกติมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมรอบ ผู้รู้ทั่วถึงซึ่งธรรมจักมี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ไม่ว่าจะประทับที่ไหน ในที่ตรัสรู้ใหม่ๆ หรือว่าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ผู้ที่คอยจะขัดขวาง ก็ติดตามที่จะขัดขวางทุกทางที่จะกระทำได้ แม้แต่ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ เพื่อที่จะให้ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก


หมายเลข  6278
ปรับปรุง  23 ต.ค. 2566