ปกิณณกธรรม ตอนที่ 68
ตอนที่ ๖๘
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานประเทศอินเดีย
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นคือ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ว่าเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาเล็กน้อยได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขั้นคิด ได้
ผู้ฟัง อีกอย่างคือจะถามว่าสติปัฎฐานไม่ปรากฏที่ภวังคจิตหรือ
ท่านอาจารย์ ภวังคจิตเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ แล้ววิบากจิตทำหน้าที่อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ก็คือปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ตทาลัมพนะ
ท่านอาจารย์ มีกิจอะไรอีกที่เป็นวิบาก ที่เป็นหน้าที่ของวิบาก
ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เรียนมาแล้วทิ้งอะไรไม่ได้เลย ถึงจะเข้าใจถูก
ผู้ฟัง สติปัฎฐานคือสามารถระลึกสภาพธรรมได้ตอนที่เป็นวิถีจิตที่ปรากฏในทวาร
ท่านอาจารย์ เวลาที่มีสภาพธรรมปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ต้องคิดถึงทวาร มีสภาพที่ปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจ แล้วขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจเป็นสติ ไม่ใช่เราต้องไปทำสติ หรือเราต้องไปเรียกสติ หรือต้องไปคิดเรื่องสติ แต่ว่าขณะนั้น สภาพของสติเกิดจึงค่อยๆ ระลึกที่ลักษณะที่มีแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะที่กำลังค่อยเข้าใจคือการอบรมเจริญความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ผู้ฟัง สติปัฎฐาน หรือปัญญา จะปรากฏที่ชวนะหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีคำว่าชวนะด้วย เวลาที่เข้าใจธรรมนี่ไม่มีชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสรู้สภาพธรรมนั้นไม่มีชื่ออะไรเลย มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมมากมายกว่าเรา อย่างเราเห็นดาว แต่เรานับดาวไม่ได้ เราไม่มีปัญญาที่จะทำอย่างนั้น แต่ใครสามารถที่จะรู้ได้ พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเหตุไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถที่จะรู้ได้ เพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาซึ่งแต่ละคนจะรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า สะสมปัญญาระดับไหน ที่จะมีอะไรเป็นอารมณ์ เลือกไม่ได้ที่จะให้อย่างนั้นเป็นอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ เกินวิสัย เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะอยากให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอารมณ์ แต่ว่าเราสามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่า สติระลึกอะไร แล้วก็สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ต้องตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจที่ว่า ทำไมสติปัฎฐานไม่สามารถปรากฏระลึกรู้จิตที่เป็นวิบาก เช่นจิตเห็น
ท่านอาจารย์ ทำไมสติจะระลึกไม่ได้ กำลังเห็น เห็นมี สติก็ระลึกได้ แต่ถ้าเห็นไม่มีสติจะไประลึกเห็นได้ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดที่เห็นไม่เกิด จะไปรู้เห็นระลึกเห็นไม่ได้ แต่ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เอง ที่สติสามารถที่ระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้
ผู้ฟัง ความหมายคืออะไรที่ปรากฏแค่นั้น
ท่านอาจารย์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ผู้ฟัง จิตระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ จิตจะเกิดโดยไม่มีอารมณ์หรือไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ เพราะจิตเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ ทุกครั้งที่จิตเกิด ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้เพราะจิตเป็นสภาพรู้
ผู้ฟัง จิตก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ทาง ๖ ทวาร
ท่านอาจารย์ สติ สติเป็นสภาพระลึก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้นวันนี้อะไรๆ กำลังปรากฏทั้งหมดให้ทราบว่า เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้นๆ ที่ปรากฏ ทั้งหมด ถ้าไม่มีจิตอะไรก็ปรากฏไม่ได้ แต่เพราะจิตกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เดี๋ยวนี้ทั้งหมด ก็คือเพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ ยังไม่ต้องไปถึงสติปัฏฐานก็ได้ ขอให้มีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม และความเข้าใจจริงๆ ที่มั่นคงก็จะทำให้ระลึก เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจจริงว่าขณะนี้ต้องมีจิต แม้ว่ามองไม่เห็น แต่ต้องมีเพราะเหตุว่าอารมณ์ปรากฏ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็แสดงว่าจิตกำลังเห็น มีเสียงปรากฏก็แสดงว่ามีจิตที่กำลังได้ยิน มีกลิ่นปรากฏก็แสดงว่ามีจิตที่กำลังรู้กลิ่น มีรสปรากฏก็แสดงว่าจิตกำลังลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็งก็แสดงว่ามีจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ถ้าไม่มีจิต รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้ามีแต่รูปก็ไม่ต้องเดือดร้อนใช่ไหม แล้วใครจะยับยั้งการเกิดของนามธาตุ เพราะเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง อรูปพรหมก็เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะเขาไม่มีรูปแต่เขาก็มีนามธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าเขามีปัญญา เขาก็รู้ว่าจิตเกิดดับ
ผู้ฟัง แต่ความหมายของอาจารย์ “เดือดร้อน” ตรงนี้คืออะไร เพราะเขาไม่เห็นเดือดร้อนเลย
ท่านอาจารย์ จิตเกิดหรือเปล่า เกิด ไม่รู้ได้ไหม เวลาจิตเกิดแล้วไม่รู้อะไรได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ ได้หรือ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้ และก็ดีไหม ที่เกิดขึ้นต้องรู้ อย่างเราต้องเห็น แต่เราลืม เราอยากเห็น แต่ความจริงเราต้องเห็น ขณะที่ได้ยินเสียงเพราะๆ เราก็ลืมอีกว่า แท้ที่จริงแล้วต้องได้ยิน ไม่มีใครยับยั้งไม่ให้ได้ยินเกิด ต้องได้ยิน เราจะต้องศึกษาเรื่องนามธาตุ จนกระทั่งเข้าใจความเป็นอนัตตา ลักษณะที่เกิดดับสืบต่อ มีปัจจัยต่างๆ และก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งได้ เมื่อมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้ และก็ออกไปจากนี้ไม่ได้ด้วย จะต้องตายแล้วเกิดอีก แล้วก็ตายอีก แล้วเกิดอีก แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก คิดนึกอีก เวลาตายนี่ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยที่เคยเป็น ก็ไม่เป็นอีกต่อไปที่เคยเข้าใจว่า เป็นของเรา ก็จำไม่ได้หมดเลย ชาติก่อนเราเคยนั่งที่นี่ได้ไหม แต่ไม่ใช่อย่างนี้ใช่ไหม ไม่ใช่โรงแรมแห่งนี้ใช่ไหม หรือว่า ๒๕๐๐ กว่าปี ที่ตรงนี้เป็นอะไร และเราจะเคยอยู่ตรงนี้ไหม เราก็ไม่เคยรู้ จำไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีวันสิ้นสุด การเกิดดับสืบต่อแต่ละภพแต่ละชาติ แต่ว่าไม่มีอะไรเป็นของใครจริงๆ สักอย่างเดียว เพียงแต่เกิดเห็น แล้วก็ติดข้อง แล้วก็หมดไป ได้ยินแล้วก็ติดข้อง แล้วก็หมดไป ทั้งวัน เป็นเรื่องของความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไปเลย ไม่เหลือเลย รูปทุกรูปเกิดแล้วดับ มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต ถ้าเป็นรูปที่เป็นสภาวรูป แต่เมื่อไม่รู้ก็คือติดอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง แล้วขณะที่สติระลึกรู้โลภะหรือโทสะ แสดงว่าเป็นสภาพที่รู้เจตสิกที่เป็นส่วนประกอบในจิตนั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ คือสิ่งใดที่มีจริง สติสามารถจะระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง เราก็ติดโลภะจนไม่สามารถเห็นถูกต้อง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราไม่รู้เลยว่า เราเป็นทาสของโลภะ แม้แต่คิดต้องการที่จะให้กุศลจิตเกิด โลภะพาเราไปได้ตลอด โลภะเป็นครู แล้วเป็นศิษย์ เขาเริ่มคิดที่จะให้ทำโน่นทำนี่ จิตขณะต่อไปก็ตามเลย ถ้าไม่เห็นโลภะ ก็ไม่มีทางละโลภะ และไม่ใช่เห็นแต่เพียงชื่อ
ผู้ฟัง โลภะกับ โมหะหรืออวิชชา ต่างกันอย่างไร เช่นลักษณะ เพราะเหมือนว่าถูกโลภะกับโมหะปิดบัง
ท่านอาจารย์ โลภะเป็นความติด ไม่สละ
ผู้ฟัง แล้วที่ไม่รู้ว่าต้องสละ ก็เพราะโมหะ
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้จึงติด
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าไม่รู้ความหมายคือต้องรู้ทุกขณะจิต
ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่รู้ ยังสงสัย ในขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดได้ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นจิรกาลภาวนา อบรมไปจนกว่าจะรู้ทั่ว และก็ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง เนื่องจากเคยเป็นพระภิกษุมาก่อน จะติดอุปนิสัยบ้าง ไม่ทราบว่าจะผิดปกติหรือเปล่า เนื่องจากพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทมากมาย ทำให้พระภิกษุมีการระวัง คือจะทำอะไรก็ต้องระวัง แม้จะนั่ง แม้จะยืน แม้จะเดิน แม้จะนอน ก็ต้องระวัง เพราะว่ามีอาบัติตลอด แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ การที่จะมีการระวังสังวรอย่างนี้ จะเป็นศีลได้ไหม
ท่านอาจารย์ ศีล ระวังเพียงแค่กายวาจา ไม่ถึงใจ เพราะฉะนั้นพระวินัยบัญญัติทั้งหมด ถ้าไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสังวรอื่นเช่นอินทริยสังวรด้วย ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเจริญ เพียงแต่เห็นความที่สมควรของกายวาจาในเพศบรรพชิตว่าเป็นอย่างไร แต่ความจริงกายวาจาของเพศบรรพชิตเหมาะกับคฤหัสน์ด้วย คือทั้งหมดที่เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้จำกัดเลยว่าเฉพาะบรรพชิต แต่สำหรับคฤหัสถ์ เมื่อไม่มีบุญ หรือว่าไม่มีอุปนิสัยใหญ่ที่จะดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต จึงเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งสามารถที่จะมีกายวาจาอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่งดงามเป็นสิ่งที่ดีขึ้นอยู่กับคฤหัสถ์ มิฉะนั้นเราคงจะไม่มีการสอนเรื่องมารยาท เรื่องกาย เรื่องวาจา แต่ต้องทราบว่าเพียงกายวาจาไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีอินทรียสังวรด้วย เพราะเหตุว่ากาย จะกระทำสิ่งใด ถ้ามีการที่สติเกิดระลึก ก็จะไม่ทำสิ่งที่เป็นอกุศล เช่นศีล ๕ ที่จะล่วง ก็ไม่ทำ แต่คนที่ไม่มีการที่จะสามารถระลึกรู้สภาพของจิตซึ่งเริ่มจะเป็นอกุศล และก็มีระดับต่างๆ จนถึงขั้นที่สามารถที่จะกระทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ เพราะว่าถ้ายังมีโลภะ และเราก็ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะ แต่มีความต้องการของใครก็ได้มือก็เอื้อมไป แล้วก็จะอยู่ที่จะหยิบหรือยัง หยิบแล้วยังว่างคืนไปหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งต้องอาศัยการสังวรอื่น ไม่ใช่แค่เพียงทางกายทางวาจาเท่านั้น แต่ว่าพระวินัยงามมาก มีคำกล่าวที่ว่า พระภิกษุที่รักษาพระวินัยครบถ้วน จะไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น เพราะว่าเพียงกายวาจาที่ไม่ล่วงออกไป ก็แสดงให้เห็นว่าเหมือนกับบุคคลนั้นไม่มีอกุศล
ผู้ฟัง ถ้าเกิดจะละเอียดกว่านั้น ถ้าจะเป็นการระวังว่าจะหลงลืมสติหรือเปล่า ก็เริ่มมีตัวตน
ท่านอาจารย์ ตัวตนแน่ๆ ตัวตนนี้มีหลายระดับ เราต้องฟังธรรมแล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีตัวตนคือขณะไหน ขณะที่สติปัฎฐานเกิดแล้วเริ่มเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง จนกว่าจะหมดความไม่รู้ และจนกว่าจะหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่เกิดดับ จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงไม่มีตัวตน
ผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดเป็นการรู้สึกตัวว่า ขณะนี้เป็นขณะที่หลงลืมสติแล้ว
ท่านอาจารย์ ก็คือเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม เพราะขณะนี้ ผู้ที่ตรงไหนจะรู้ว่าสติปัฎฐานเกิดหรือเปล่า หรือว่าเป็นสติขั้นอื่นที่ไม่ใช้ขั้นสติปัฎฐาน แต่ก็เป็นกุศล เพราะว่าสติเกิด เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องรู้ละเอียดตามความเป็นจริง ถ้าปกปิด หรือว่าพยายามทำ เพื่อให้ขณะนั้นเหมือนกับว่าไม่มีตัวตน แต่ขณะนั้นก็ยังมีตัวตน ซึ่งผู้นั้นจะเป็นผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า หนทางอื่นไม่มี นอกจากอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมจนเป็นอุปนิสัย บางคนก็จะเป็นทานูปนิสัย บางคนจะเป็นสีลูปนิสัย บางคนก็เป็นภาวนูปนิสัย แล้วแต่ว่าขณะนั้นเขาจะมีกุศลขั้นใด อย่างบางคน เขาอาจจะเห็นโทษของการพูดคำที่ไม่จริง ตั้งแต่เด็กมาเลยเขาก็ไม่พูด เพราะเขาสะสมมาที่จะเป็นอุปนิสัย แต่ไม่ใช่พระโสดาบัน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเขาจะดีถึงระดับที่ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง แต่ก็ยังมีความเป็นตัวเขาที่ดี ยังไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นปัญญาจึงมีหลายขั้น และต้องประกอบกันทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ทุกอย่างที่ดีคือเป็นกุศล ถ้าไม่ดีก็เป็นอกุศล และต้องเป็นผู้ตรงว่าขณะนั้นเป็นอะไร เป็นวัญจกธรรมหรือไม่ หลอกหรือไม่ หรือว่าเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง การระลึกรู้สภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าเป็นเพียงธรรม เป็นไปได้ไหม ที่จะไม่รู้บัญญัติที่ติดตามมา
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏจะคิดต่อก็ได้ หรือจะอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าเวลานั้นๆ จะไม่มีการคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ สติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม การคิดนึกเกิดสืบต่อก็ได้ ไม่เกิดสืบต่อก็ได้ แล้วแต่ เป็นภวังค์ไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะรู้ว่าอะไรจะเกิด แต่ข้อสำคัญก็คือว่าต้องมีปัญญาที่จะรู้จริงว่าเป็นธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง เวลาระลึกแล้วรู้ว่าเป็นสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าเป็นบัญญัติ การที่จะระลึกติดต่อไป
ท่านอาจารย์ อะไรเป็นสภาพธรรม อะไรเป็นบัญญัติ
ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างเช่นปรากฏทางหู แล้วก็รู้ว่าเป็นนก การที่จะระลึกต่อ ก็รู้สึกว่ารู้บัญญัติไปแล้ว ถ้าจะมาระลึกรู้สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ก็หมดไป ก็หมดไปแล้ว จบแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าจะระลึกรู้เสียงอีก
ท่านอาจารย์ นี่คือเรากำลังเป็นผู้จัดการ
ผู้ฟัง กลัวว่าจะเป็นตัวตน เลยรู้สึกว่าจะต้องระลึกที่อารมณ์อื่น เพราะการระลึกที่อารมณ์นี้อีกก็จะเป็นตัวตน เพราะว่ารู้ว่าเป็นนกไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดกำลังจัดการ จนกว่าจะเลิกจัดการ
ผู้ฟัง ก็ทั้งหมดนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น มีจิตที่กำลังจัดการ มีความเป็นเราที่จะจัดการ นี้จึงเป็นความละเอียด อริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งทั้ง ๔ แม้แต่หนทางที่จะอบรมก็ลึกซึ้ง ถ้าเราไม่ต้องไปจัดการอะไร สติเกิด กำลังลักษณะของสภาพธรรมหมดก็คือหมดไป ไม่มีความคิดว่าเราจะไปจัดการให้สติเกิดอีก หรือว่าจะต้องไประลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนี้ เพราะว่าขณะที่กำลังจะจัดการนั่นคือเราทั้งหมด
ผู้ฟัง ก็เป็นความเพียรที่ไม่ใช่เป็นเราที่จัดการ จะระลึกรู้อีกได้ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน แล้วแต่ธรรมทั้งหมด ให้เห็นว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติจะเกิดต่อไม่เกิดต่อ จะคิดจะอะไรก็คือเป็นของจริงทั้งหมด
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น จะแยกได้อย่างไรว่า เป็นเราที่จัดการหรือว่าจะเป็นวิริยะ
ท่านอาจารย์ กำลังคิดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือเรา วิริยะเกิดกับจิตกี่ดวง
ผู้ฟัง ก็เยอะ ไม่เกิดกับจิต ๑๖ ดวง
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ใช่จิต ๑๖ ดวงใช่ไหม แล้วก็มีวิริยะด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ถ้าไม่จัดการแล้วต้องทำอะไร
ท่านอาจารย์ รู้ความจริง แทนที่จะไปจัดการ จัดการกับจิตได้ไหม ไม่ได้ จิตเกิดมีปัจจัยก็เกิด ใครจะไปจัดการกับจิตได้ แต่สามารถที่จะอบรมปัญญาที่จะเข้าใจถูกได้
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ถ้าไม่รู้โลภะ แล้วจะละได้ยังไร แต่ว่าจริงๆ แล้ว เราไม่รู้โลภะ ก็เพราะอวิชชา ปิดบังทุกอย่างทำให้เราไม่รู้โลภะ ในขณะที่ไม่เป็นกุศล ก็จะเป็นอกุศล แต่ขณะที่เป็นกุศล เราก็ยังไม่รู้โลภะ ถ้าไม่เป็นสติปัฎฐานใช่ไหม แม้กระทั่งอบรมสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถเป็นวิปัสสนาญาณที่จะบรรลุละกิเลสในขั้นต่างๆ สำหรับโลภะนี้ก็จะละได้เป็นขั้นสุดท้าย แต่ก็ยังไม่เข้าใจที่ว่า ถ้าสติปัฎฐานเกิด ก็จะระลึกรู้สภาพของนามธรรม รูปธรรม ตรงนั้น แต่ลักษณะของโลภะ เราจะรู้ได้ยังไงว่า นี้โลภะ เพราะว่าตรงนั้นก็คือเป็นสภาพของนามธรรมรูปธรรม แล้วปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณก็จะละกิเลสแต่ละขั้น ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สักกายทิฎฐิ ขั้นพระโสดาบันไปจนกระทั่งพระอนาคามี
ท่านอาจารย์ แล้วคุณอ้วนรู้โทสะไหม
ผู้ฟัง โทสะ ถ้าเป็นเรื่องราวก็รู้
ท่านอาจารย์ ถ้า “เรื่องราว” หมายความว่าไง
ผู้ฟัง เราก็รู้ว่า เราโกรธ
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้โทสะแล้วจะไม่รู้โลภะหรือ ทำไมจะรู้แต่โทสะแล้วโลภะไม่รู้
ผู้ฟัง โลภะ เราก็ทราบว่าเป็นสภาพที่ติด แต่ว่ามันก็เหมือนกับว่าเราก็รู้เป็นเรื่องราว
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดจนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่ถึงจะรู้ไม่ใช่เรื่อง เพราะขณะนั้นไม่ได้คิด แต่ลักษณะสภาพของโลภะ ต่างกับลักษณะสภาพของโทสะ เราไม่ต้องคิดว่านี้ชื่อโลภะ นี้ชื่อโทสะ เราไม่ต้องคิดถึงชื่ออะไรเลย แม้ไม่เรียกชื่อ ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของโลภะกับโทสะหรือสภาพธรรมอื่นใดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณอ้วนสามารถจะรู้ลักษณะของโทสะ ทำไมคุณอ้วนจะไม่สามารถรู้ลักษณะของโลภะ ความเห็นผิดมีใช่ไหม ถ้าไม่มีความติดข้องในความเห็นผิดนั้น จะยังคงมีความเห็นผิดนั้นต่อไปได้ไหม ถ้าไม่มีความติดในความเห็นผิดนั้น จะมีความเห็นผิดนั้นต่อไปได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทิฎฐิความเห็นผิดเกิดกับโลภะ เพราะฉะนั้น ขั้นต้นเราไม่ได้ละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย นั่นต้องถึงระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งอีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นที่เรากล่าวว่าโลภะ ที่นี่ หมายความถึงโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่จะต้องละก่อน ถ้าไม่ละความเห็นผิด คิดหรือว่าเราจะสามารถละกิเลสอื่นใดได้ เพราะฉะนั้นการละโลภะที่กล่าวมาแล้วก็คือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด
ผู้ฟัง ลักษณะที่ต่างกันของโลภะกับโทสะ เคยได้ยินมาว่า ความต่างกันของโลภะกับโทสะ ไม่สามารถรู้ได้อย่างชัดเจน จนกว่าจะมีวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ เกิดขึ้นก่อน จึงจะสามารถรู้ลักษณะความต่างกันของโลภะกับโทสะได้อย่างชัดเจน ตรงนั้นถูกหรือไม่ และอย่างที่สองคือว่า ถ้าตรงนั้นถูก ก็อยากจะถามว่า ในขณะที่มีสติปัฏฐานขั้นต้นๆ ทีเพียงแต่รู้ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ในขณะที่รู้โลภะ ในขณะที่รู้โทสะ ขณะนั้นจะมีการศึกษาลักษณะที่เป็นความต่างกันของโลภะ และโทสะหรือไม่
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ทุกคนมีโลภะ แล้วทุกคนก็มีโทสะ แต่โลภะ และโทสะเป็นเรา ถ้าเห็นว่าโลภะเป็นเรา โทสะเป็นเรา จะชื่อว่าเรารู้จักโลภะจริงๆ หรือเปล่า ที่ว่าเรารู้จักโทสะลักษณะแท้จริงของโทสะหรือเปล่า หรือเพียงแต่เรียนว่า ลักษณะของโลภะ ไม่ใช่เรา แต่เวลาที่โลภะเกิด ก็เป็นเรา หรือว่าเวลาที่โทสะเกิดโดยการศึกษา เราก็บอกว่าโทสะไม่ใช่เรา อาจจะพูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะของความเป็นนามธรรม และรูปธรรม โทสะนั้นก็ต้องเป็นเรา เพราะฉะนั้นนามธรรมไม่ได้หมายความว่าไม่มีลักษณะ และไม่ได้หมายความว่าโลภะไม่ใช่นามธรรม โลภะเป็นนามธรรม แต่เราไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโลภะ และเราก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโทสะ เราเพียงแต่รู้ว่าโทสะคือลักษณะอย่างนี้ โลภะคือลักษณะอย่างนี้