ปกิณณกธรรม ตอนที่ 69


ตอนที่ ๖๙

สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นามธรรม ไม่ได้หมายความว่าไม่มีลักษณะ และไม่ได้หมายความว่าโลภะไม่ใช่นามธรรม โลภะเป็นนามธรรม แต่เราไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโลภะ และเราก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโทสะ เราเพียงแต่รู้ว่าโทสะคือลักษณะอย่างนี้ โลภะคือลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด โทสะซึ่งเคยเป็นเรา ก็จะมีการค่อยๆ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่อยากให้มีโทสะเลย แต่พอมีปัจจัย โทสะก็เกิด แล้วโทสะก็หมด เพราะเห็นก็ไม่ใช่โทสะ ได้ยินก็ไม่ใช่โทสะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดมีลักษณะต่างกันจริงๆ ในชีวิตประจำวันก็รู้ได้ แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงไม่ชื่อว่ารู้ธรรม เพราะเหตุว่า ถ้ารู้ธรรมจริงๆ ต้องไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ค่อยๆ ระลึก จนกว่าลักษณะที่เป็นธรรม เป็นธาตุปรากฏ เมื่อนั้นชื่อว่าเรารู้ลักษณะของโทสะจริงๆ เพราะว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าตราบใดที่วิปัสสนาญาณไม่เกิด ตราบนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความเป็นนามธรรมแท้จริงของโลภะ และโทสะได้ เราเพียงแต่ค่อยๆ น้อมไป อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ค่อยๆ น้อมไปว่า ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมนี้มี เป็นธาตุชนิดหนึ่ง แม้แต่เห็นซึ่งเป็นนามธรรม เคยจำด้วยสัญญาว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน แต่ว่าสามารถที่จะเกิดขึ้น แล้วก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ส่วนนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง คือ จิตเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ก็เป็นสภาพรู้ แต่เป็นสภาพรู้ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งต่างกับเจตสิกจริงๆ ก็ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าขั้นต้น เราเข้าใจจากการที่ไม่เคยเข้าใจเลยในเรื่องของสภาพธรรม ถามเด็กที่เขาโกรธ เขาก็บอกได้ว่าโกรธ แต่ก็ยังเป็นตัวเขา หรือผู้ใหญ่โตขึ้นมา โกรธก็คือตัวเขานั่นแหลโกรธ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะเข้าใจจริงๆ จากการฟังว่าเป็นสภาพธรรม ซึ่งมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป นี้เพียงขั้นความเข้าใจ และบอกว่าเป็นนามธรรมก็ใช่ เพราะเห็นว่าไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่ว่าเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ก็รู้เท่านี้ ตราบใดที่ลักษณะของธาตุรู้หรือสภาพรู้ไม่ปรากฏ และเวลาที่ลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ปรากฏ ก็คือลักษณะของพวกที่เป็นนามธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าไม่มีลักษณะเลย ก็คือ ลักษณะของโลภะนั่นเองเป็นนามธรรม ปรากฏอาการที่เป็นนามธรรม ลักษณะของโทสะนั้นเอง ก็ปรากฏสภาพซึ่งเป็นธาตุ ไม่ใช่เราอีกต่อไป ไม่มีเราที่นั่น มีแต่ธาตุซึ่งมีลักษณะนั้นปรากฏ นี้จึงจะชื่อว่ารู้จักลักษณะของโลภะ และโทสะด้วยความเป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่เรา มิฉะนั้นเราจะรู้จักเพียงชื่อ ต่อให้สภาพนั้นเกิดเราเรียนมาเท่าไหร่ว่าเป็นนามธรรม ก็ยังเป็นเราเกิดทีไรก็ต้องเป็นเราไปทุกที เพราะว่ายังไม่รู้ในความเป็นนามธรรมของสภาพธรรมนั้น เพราะว่าถึงยังไงๆ เราก็หายสงสัยในสิ่งที่หมดไปแล้วไม่ได้ แต่ขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ เราสามารถที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ว่า เราเข้าใจแค่ไหน หรือเราสงสัย ในเห็นที่กำลังเห็น ในได้ยินที่กำลังได้ยิน เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีตลอด ไม่ขาดไปจากสังสารวัฎฎ์เลย แต่ว่าตราบใดที่เรายังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมตามปกติ ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งต้องเป็นการที่มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ถ้าขณะนี้สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ฟังพระธรรมต่อไป มีหนทางเดียว จนกระทั่งมีความมั่นคง เพราะว่าธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าความเข้าใจของเราไม่พอที่สติจะเกิดเดี๋ยวนี้ ก็คือเราทราบตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นไม่มีปัจจัยพอ

ผู้ฟัง อยากจะถามอาจารย์ให้อธิบายเรื่องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กับ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต่างกันไหม

ท่านอาจารย์ ไม่ต่างกัน เพราะว่าถ้าพูดถึงสภาวธรรมหรือสภาพธรรม ก็มีลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ไม่มีลักษณะ เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ลักษณะนี้คือปรากฏทางตา เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู เป็นลักษณะของเสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ทุกอย่างที่มีจริงก็มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ

ผู้ฟัง ที่อาจารย์เคยบอกว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรม หมายความว่าลักษณะที่เป็นเฉพาะของสภาพธรรมนั้น ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ใช่

ผู้ฟัง อาจารย์เคยบอกว่า รู้นามเป็นนาม รู้แข็งเป็นรูปธรรม ลักษณะของนามเป็นนาม กับลักษณะของแข็งเป็นรูปเป็นอีกลักษณะหนึ่งนอกจากลักษณะที่เป็นสภาพของ ...

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สิ่งที่มีต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก่อนอื่น ตามลำดับก็คือสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม มาจากคำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ ไม่มีใครเป็นเจ้าของแน่นอน ขณะนี้แม้ว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ต้องทราบว่าไม่ใช่ของเรา เพราะทันทีที่เห็นแล้วก็ดับ แต่เราไม่รู้ ทันทีที่ได้ยินแล้วก็ดับ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราเข้าใจคำว่า “ธรรม” ก่อน สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เราเคยเรียกว่าขนม มะละกอ โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งหมดเป็นแต่เพียงชื่อ แต่ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมมี ๒ อย่าง คือลักษณะหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อีกลักษณะหนึ่งเป็นสภาพรู้ได้แก่จิตกับเจตสิก ซึ่งถ้ามีแต่รูปธรรม จะไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏ แต่ที่เวลานี้เราเห็นต้นโพธิ์ เห็นเป็นคน เห็นเป็นพระคันธกุฎี ก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรมซึ่งเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการคิดนึกถึงความทรงจำจากที่ได้ยินว่านี่เป็นพระคันธกุฏี เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มี รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่เมื่อไม่รู้ความจริงของทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็เป็นเราเรื่อยมาในสังสารวัฎฎ์ ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรม มีใครจะคิดว่ามีนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องราว มีคนโน้น มีคนนี้ มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เมื่อฟังธรรมก็รู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีลักษณะ ๒ อย่างคือนามธรรมหรือรูปธรรม ความโกรธมีไหม มี มองเห็นไหม มองเห็นความโกรธไหม

ผู้ฟัง มองไม่เห็น

ท่านอาจารย์ แต่มีความรู้สึก เป็นความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกโกรธนี้มีแน่นอน เพราะฉะนั้นสภาพที่สามารถรู้สึก หรือจำ หรือคิด ชอบชังต่างๆ เหล่านี้เป็นนามธรรม ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรา เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีในชีวิตประจำวันก็มีลักษณะในขณะที่ปรากฏ ซึ่งปัญญาจะต้องค่อยๆ พิจารณาเข้าใจในความไม่ใช่เรา เพราะเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ถ้าโกรธไม่เกิดจะพิจารณาโกรธได้ไหม ไม่ได้ และเวลาที่ความโลภหรือโลภะความติดข้องเกิดจะพิจารณาโกรธได้ไหม

ผู้ฟัง ไม่ได้

ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่าสภาพธรรมมีลักษณะต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ธาตุรู้ แต่ลักษณะก็หลากหลายต่างกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีลักษณะเลย แล้วเราไปบอกว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม พยายามจะให้เป็นนามธรรมรูปธรรมไม่ได้ แต่สิ่งที่มีที่ต่างในขณะนั้น เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม มิเช่นนั้นก็ยังคงเป็นเรา กำลังเห็นอย่างนี้ ถ้ายังเป็นเราเห็น ก็คือการฟังธรรมของเรายังไม่พอที่จะเข้าใจถูกว่า เห็นขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่สามารถจะเห็น ซึ่งสภาพนามธรรมอื่นเห็นไม่ได้เลย ต้องเป็นธาตุชนิดนี้ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัย คือสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ดับไป ถ้าเป็นเสียงก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นโสตวิญญาณธาตุ ธาตุชนิดนี้จะไปเห็นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละสภาพธรรมต้องมีลักษณะเฉพาะอย่าง ไม่ใช่ไม่มีลักษณะ และก็ไปคิดว่าเป็นนามหรือรูป แต่มีลักษณะเฉพาะอย่าง อย่างเสียงปรากฏ ต้องมีสภาพได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏได้ เราจะใช้คำว่า รู้ลักษณะของเสียง หรือใช้คำว่า ได้ยินเสียง ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะอื่น เพราะเสียงก็หลากหลาย แต่ไม่ว่าจะเป็นเสียงหลากหลายสักเท่าไหร่ ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางหู ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ธาตุรู้หรือสภาพรู้นั้นเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ธาตุรู้สภาพรู้ที่ได้ยินเสียงก็ดับ ตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ มีอะไรเหลือบ้างไหม ไม่มีใช่ไหม ในขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้มีอะไรเหลือบ้างไหม ได้ยินนิดหนึ่งหมดแล้ว คิดนิดหนึ่งหมดแล้ว จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย ทุกขณะ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับตลอดเวลา เพียงรู้ลักษณะของจิตเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน และก็ดับตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ที่จะไม่ตายนั้นไม่มี แต่ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก ด้วยความรู้หรือด้วยความไม่รู้ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเกิดมาแล้วยังไม่ตายก็ไม่รู้ธรรมเพราะไม่ได้ฟัง แต่ถ้าระหว่างที่ยังไม่ตาย มีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าไม่มีอะไรเหลือ ตอนแรกคิดว่ายังมีความทรงจำของเก่าๆ แต่สุดท้ายมาคิดว่าความทรงจำนั้น ธาตุนั้น ไม่ใช่ธาตุเก่า คือธาตุใหม่ที่ดับไปแล้ว เกิดกับจิตใหม่ อีกเรื่องหนึ่งคือตอนที่ทุกคนนั่งอยู่ ก็ฟังเทปเรื่องของพระพุทธเจ้า ก็คิดขออธิษฐานถึงพระพุทธองค์ว่า ขอเห็นพระธรรม ขอปัญญาที่เห็นสัจจธรรม ขอทุกอย่างที่ดีๆ ทั้งนั้น

ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเลิกขอแล้วทำเหตุ เพราะว่าขอแล้วไม่มีเหตุ ยังไงๆ ผลก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าทำเหตุที่ดี กุศลเหตุเกิด ก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากได้

ผู้ฟัง แล้วก็คิดเองว่า ก็ต้องพึ่งตัวเอง จะขอถามอาจารย์ว่า การพึ่งตัวเองต้องทำอย่างไร

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี่ กำลังฟังธรรมความเข้าใจของเราเอง ถ้าความเข้าใจของเราไม่มี ไปพึ่งปัญญาของคนอื่นได้ไหม ไม่อย่างงั้นทุกคนต้องเป็นพระอริยบุคคลไปหมด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณา แต่นี้เพราะเหตุว่าทรงแสดงหนทางให้แต่ละคนเกิดปัญญาของตัวเอง นี่คือพึ่งตัวเองขณะนี้ที่กำลังฟังเข้าใจ คือพึ่งตัวเอง

ผู้ฟัง รู้สึกว่าเข้าใจ แต่ความเข้าใจนั้นเหมือนน้อยสุดๆ ของความน้อยไม่มีเหลือ

ท่านอาจารย์ แล้วทำยังไงจะมาก

ผู้ฟัง ก็คือฟัง

ท่านอาจารย์ คำตอบมีอยู่แล้วหนทางเดียว คิดเองไม่ได้แน่ ธรรมไม่มีใครคิดได้เลย กว่าจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากที่ได้ทรงรับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าทีปังกร แล้วคนในยุคนั้น พอได้ทราบว่า สุเมธดาบสจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ห่างกันถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แต่เขาร่าเริงยินดีที่ว่า ถ้าเขาไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร เขายังมีโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่รู้แจ้งในสมัยนี้ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ร่าเริงยินดีที่จะถึงสมัยของพระศรีอริยเมตไตรยไหม ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า ผลจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เหตุสะสมไปเรื่อยๆ เพระะเหตุว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าหนทางนี้เป็นหนทางละ ถ้าหนทางขอ ไม่ใช่หนทางละ

ผู้ฟัง อย่างเช่นตอนที่เราฟังพระสูตรที่พระอริยเจ้าชาติก่อนๆ ก็เห็นปัจเจกพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าโดยตรง ท่านก็ขอ การขอที่จิตตั้งมั่นตรงนั้น กับการขอของปุถุชนธรรมดา ตอนนั้นท่านก็เป็นปุถุชนธรรมดา อาจจะเป็นปุถุชนเหมือนที่หนูเป็นอยู่ตอนนี้ มันต่างกันยังไง

ท่านอาจารย์ ต่างกัน เพราะว่าคนที่ต้องการเพียงขอ ไม่ได้รู้เหตุเลย แต่ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น รู้ว่าการสะสมกุศลจะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็แสดงความตั้งมั่นว่าท่านไม่เปลี่ยนแปลงในการที่ท่านจะฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ว่าในสมัยไหน ไม่ว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใด

ผู้ฟัง เราต้องรู้นามธรรมที่ต่างจากรูปธรรม การรู้ลักษณะที่ต่างกันเป็นการยากมาก เพราะปรากฏรวมกัน

ท่านอาจารย์ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ขอให้ช้าลงได้ไหม ขอให้สภาพธรรมเกิดดับช้าลงได้ไหม ไม่ได้ แต่สติสามารถจะเกิดระลึกได้ ทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าเราจะให้สติเกิดระลึกทั้ง ๖ ทาง ในตอนแรกเป็นไปไม่ได้ นี่คือความหมายของภาวนา คืออบรมให้สิ่งที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ให้สิ่งที่เกิดแล้ว มีมากขึ้น นี่คือภาวนา เพราะฉะนั้นสภาพธรรมไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย แต่ว่าสติสามารถจะเริ่มเกิด แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก แม้ว่าจะน้อยมาก เหมือนจับด้ามมีด แต่วันหนึ่งด้ามมีดก็สึกได้ ก็ไม่มีหนทางอื่น

ผู้ฟัง การคิดที่สลับกันอยู่เสมอ ทำให้เราสงสัยว่า มีสติหรือเป็นเพียงการคิดเท่านั้น

ท่านอาจารย์ เพราะว่าวิจิกิจฉายังไม่ได้ดับ ความสงสัยจะต้องมี แล้วแต่ว่าจะสงสัยในอะไร ทุกอย่างที่เกิดจริง มีปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วถ้ามีความสงสัยหรือมีอกุศลใดๆ เกิดขึ้น ก็เป็นการแสดงให้รู้ว่า ยังไม่ได้ดับกิเลสประเภทนั้นๆ เลย

ผู้ฟัง ปัญญาคือเข้าใจทุกอย่าง คือเป็นเหตุเป็นผล ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาขั้นฟังเรื่องราว และปัญญาในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เพราะอะไร เพราะว่าคนที่ไม่เคยรู้เรื่องสติปัฏฐานเลย ยังไงๆ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม เรื่องของสติสัมปชัญญะ และเรื่องการที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี้เป็นความเห็นถูก เพราะฉะนั้นความเห็นถูกเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึก เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็มีความเห็นถูกระดับหนึ่ง ที่กำลังรู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจะมากหรือจะน้อยก็ตามแต่ แต่เมื่ออบรมไปจะต้องมีการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่การคิด แต่ว่าเป็นปัญญาที่สามารถ “แทงตลอด” จะใช้คำนี้ก็ได้ หรือว่าประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุไม่ใช่เรา ตามสมควรแก่ปัญญาระดับขั้นต่างๆ

ผู้ฟัง เป็นการสูงเกินไปหรือเปล่าที่เรากำลังพูดถึงสติปัฏฐาน เพราะปัญญาตอนนี้เป็นเพียงแค่ขั้นฟัง

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรา จะต้องเข้าใจว่า เราศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไร เพราะเหตุว่าขณะนั้นจะมีความต้องการเกิดขึ้น บางคนอยากจะเป็นพระโสดาบัน อยากจะให้วิปัสสนาญาณเกิด แต่ไม่เรียน ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ การฟังธรรม ต้องทราบว่าเป็นการฟังสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ไม่ต้องไปเป็นห่วงเรื่องชื่อ หรือว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องจำนวน เพราะว่าขณะที่สภาพธรรมปรากฏ มีชื่อทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์หรือเปล่า ไม่มีเลย ไม่ต้องมีชื่อได้เลย แต่มีลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม หรือลักษณะของสภาพที่เป็นรูปธรรมซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องพิจารณารู้ความเป็นนามธรรมหรือความเป็นรูปธรรมของสภาพธรรมนั้น มิฉะนั้นก็เป็นของเราหมด หรือว่าเป็นเราที่กำลังดู เป็นเราที่กำลังเข้าใจ แต่ตามความจริง ในขณะนี้ทุกคนมีนามธรรม และรูปธรรม บางคนอาจจะกำลังคิด บางคนอาจจะกำลังง่วง บางคนจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริงจึงจะละความเป็นเราได้ ไม่ว่าจะคิดอะไร ไม่ว่าลักษณะไหนทั้งสิ้น ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูก เพราะเหตุว่าความจริงเป็นอย่างนั้น ถ้าความจริงเป็นอย่างอื่น ปัญญาจะได้ไม่ต้องรู้อย่างนี้ แต่เมื่อความจริงของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ปัญญาก็จะต้องอบรมจนรู้ความจริงนี้ จึงจะเป็นปัญญา จึงจะละความเป็นเราได้ เพราะการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นความเห็นผิด ในเมื่อสภาพธรรมไม่ใช่เรา มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ และเราอยู่ที่ไหนนอกจากความไม่รู้เท่านั้นเองที่ปิดบังทำให้ไม่เห็นความจริงของสภาพธรรม

ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ เราอยู่ที่ต้นโพธิ์ของพระอานนท์ ขณะที่ทุกคนฟังอยู่ก็มีเสียงเข้ามากระทบ และมันก็ขุ่นมัวว่ามีเสียงกระทบ แล้วขณะนั้นก็คิด

ท่านอาจารย์ จริงๆ เราคิดถึงว่าได้ยินเสียง หรือเสียงมากระทบ จริงๆ ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ได้ยินเสียงเกิด หรือว่าเสียงมากระทบ

ผู้ฟัง ได้ยินเสียง และโทสะเกิดแล้ว

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณชิน ได้ยินก็ไม่ใช่คุณชิน โทสะก็ไม่ใช่คุณชิน

ผู้ฟัง แล้วก็รู้ว่าเป็นการสะสม มันน่าเกลียดมาก

ท่านอาจารย์ ที่กำลังคิดอย่างนี้ก็ไม่ใช่คุณชิน ต้องทั่วจริงๆ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ทั่ว ก็คือคุณชินน่าเกลียดมากใช่ไหมที่คิด คุณชินคิดเองว่าคุณชินน่าเกลียดมาก

ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ ไม่ได้คิดว่าตัวเองน่าเกลียด

ท่านอาจารย์ แล้วอะไรน่าเกลียด

ผู้ฟัง นามธรรมนี้ น่าเกลียดมาก

ท่านอาจารย์ คุณชินดี แต่นามธรรมน่าเกลียดหรือ แต่อะไรที่น่าเกลียดกว่านั้น

ผู้ฟัง อวิชชาหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

ผู้ฟัง อวิชชาน่าเกลียด และละยากมาก

ท่านอาจารย์ ไม่มีใครบอกว่าง่าย มาแล้วถึงตรงนี้ คือในชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะท้อถอยทำไม ฟังต่อไป ฟังไปๆ แทนที่จะละ ฟังไปๆ ยิ่งอยากหรือ

ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ถามเรื่องปัญญา ปัญญาก็มีหลายระดับขั้น อย่างเราเริ่มฟังพระธรรม ปัญญาของเราในการที่จะพิจารณา หรือว่าเข้าใจในสิ่งที่เราได้ฟังก็เป็นปัญญาขั้นที่เราคิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลา เมื่อฟังนานขึ้นความเข้าใจก็มากขึ้น แต่ปัญญาขั้นที่คิดพิจารณา ก็ยังเหมือนเดิม

ท่านอาจารย์ ก็เป็นการกั้นเลย


หมายเลข  6289
ปรับปรุง  26 ต.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ