แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มารผู้มีบาป จักษุเป็นของท่าน รูปเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่จักษุสัมผัสก็เป็นของท่านแท้ ดูกร มารผู้มีบาป แต่ในที่ใดไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่จักษุสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัสก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใดไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
จมูกเป็นของท่าน กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัสก็เป็นของท่าน ข้อความซ้ำต่อไป
ลิ้นเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่ชิวหาสัมผัสก็เป็นของท่าน ข้อความซ้ำต่อไป
กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่กายสัมผัสก็เป็นของท่าน ข้อความซ้ำต่อไป
ใจเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแต่มโนสัมผัสก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใดไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
มารกราบทูลว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า นี้ของเรา และกล่าวว่า นี้เป็นเรา ถ้าใจของท่านมีอยู่ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นเราไปได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา ดูกร มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็นแม้ทางของเรา
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
คนละทาง ทางของมาร กับทางของพระผู้มีพระภาค ซึ่งมารก็ไม่สามารถที่จะรู้ทางของพระผู้มีพระภาคได้เลย เพราะว่าทางของมารนั้นเต็มไปด้วยตาของเรา หูของเรา จมูกของเรา ลิ้นของเรา กายของเรา ใจของเรา สี คือ รูปของเรา เสียงของเรากลิ่นของเรา รสของเรา โผฏฐัพพะของเรา ธรรมารมณ์ของเรา เพราะฉะนั้น ทางของมาร กับทางของพระผู้มีพระภาคนั้น ก็เป็นทางที่ตรงกันข้าม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลต้องเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ ความสงสัยของผม คือ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงดำริว่า ถ้าพระองค์ได้ไปแสดงธรรมเพียงนิดเดียวเท่านั้น อาฬารดาบสกับอุททกดาบสทั้ง ๒ ก็จะบรรลุคุณธรรมได้ แต่ดาบสทั้งสอง ตลอดชีวิตท่านเจริญสมาธิจนได้ถึงอรูปฌานที่ ๓ ที่ ๔ แสดงว่าท่านไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย แต่ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงดำริว่า ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเพียงนิดเดียว ดาบสทั้งสองก็จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้
สุ. ผู้ที่จะรู้อัธยาศัย และการสะสมของบุคคลโดยถี่ถ้วนถ่องแท้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงสะสมอบรมพระบารมีที่จะประกอบด้วยทศพลญาณ มีพระญาณที่สามารถรู้ชัดในการสะสมอัธยาศัยของสัตว์บุคคลโดยละเอียด ถ้าอุททกดาบสกับอาฬารดาบสไม่เคยสะสมการเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมาแล้วในอดีต พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงดำริถึงทั้งสองท่านว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง ถ้าเพียงแต่ได้ฟังธรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถที่จะรู้หนทางโดยสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรม ละการยึดถือในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ก่อนจะปรินิพพานทรงทราบด้วยพระญาณว่า สุภัททะจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์สาวก ด้วยเหตุนี้จึงเสด็จไปที่กุสินาราเพื่อจะปรินิพพานที่นั้น เพื่อให้โอกาสแก่สุภัททะได้ฟังธรรม เพราะว่าเป็นพุทธเวไนย หมายความว่าได้ฟังธรรมจากพระองค์จึงจะได้บรรลุ เพราะฉะนั้น อยู่ที่ปัญญาที่อบรมเมื่อพร้อม กับสติที่ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาที่สมบูรณ์สามารถที่จะละคลาย และแทงตลอดใน อริยสัจธรรมได้
การที่จะรู้ว่า บุคคลใดมีอัธยาศัย มีการสะสม มีเหตุปัจจัยมากน้อยเท่าไรนั้นเป็นวิสัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างสุปพุทธกุฏฐิที่ขอทานผู้อื่นเลี้ยงชีพ และเป็นโรคเรื้อนด้วย ก็ได้เป็นพระอริยเจ้า ถ้าไม่ได้อบรมอัธยาศัยในการที่จะเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรม และละคลายการยึดถือสภาพธรรมมาก่อน ในขณะที่ฟังก็ไม่ละคลาย อยู่ที่เรื่องละ และอยู่ที่ความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะทำให้ละได้ แต่ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้นั่นเอง
ขอต่อเรื่องของมาร ซึ่งท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะไม่พ้นจากนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น แม้แต่เรื่องของมาร ก็เป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมด้วย ขออ่านข้อความบางสูตรจากพระไตรปิฎก ที่จะทำให้ท่านได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งโน้นกับพระผู้มีพระภาคและพระสาวก
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค รัชชสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในประเทศหิมวันต์ แคว้นโกศล ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับทรงพักผ่อนอยู่ในที่ลับ ได้ทรงปริวิตกว่า เราจะสามารถเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเองไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศกได้หรือไม่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยจิตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคตจงเสวย รัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงได้พูดกะเราอย่างนี้ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคตจงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก
มารกราบทูลว่า
พระเจ้าข้า อิทธิบาททั้ง ๔ พระองค์ทรงบำเพ็ญให้เจริญ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นวัตถุที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมปรารภด้วยดีแล้ว พระเจ้าข้า ก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์ ทรงอธิษฐานภูเขาหลวงที่หิมพานต์ให้เป็นทองคำล้วน ภูเขานั้นก็พึงเป็นทองคำล้วน
พระผู้มีพระภาคตรัสกับมารด้วยพระคาถาว่า
ภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกถึงสองเท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้เห็นทุกข์ มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษา เพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง
ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกถึงสองเท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง ท่านพอไหม ภูเขาทองคำมีสีสุกถึงสองเท่า ไม่ใช่เขาเพียงลูกเดียว ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่งผู้ที่มีความโลภ และสะสมความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สังเกตดูได้ว่า ความปรารถนาของท่านอาจจะไม่มากถึงภูเขาทองคำมีสีสุกในวันนี้ แต่ว่าเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เรื่อยๆ ไป หรือว่าน้อยลงไปทีละเล็กทีละน้อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
การเพิ่มพูนกิเลสนั้น เป็นไปอย่างบางเบา จนกระทั่งวันหนึ่งๆ ท่านไม่รู้สึกตัวเลยว่า วันนี้กิเลสหนาขึ้นเท่าไร เห็นครั้งหนึ่ง จักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับไป แต่โลภชวนจิตเกิดถึง ๗ ครั้ง โทสมูลจิตก็เกิดถึง ๗ ครั้ง โมหมูลจิตก็เกิดซ้ำสืบต่อกันถึง ๗ ครั้ง เป็น ๗ เท่าของการเห็นขณะหนึ่ง การได้ยินขณะหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งการเห็นในขณะนี้ปรากฏเหมือนกับว่าไม่ดับเลย แต่โลภะ โทสะ โมหะ เพิ่มเป็น ๗ เท่า แต่ไม่รู้สึกว่าโลภะ โทสะ โมหะที่เพิ่มขึ้นอย่างบางๆ ทีละเล็กทีละน้อยทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง มากสักเท่าไรแล้ว ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
การละ การคลายกิเลสที่สะสมไว้มากมายเหลือเกิน จะต้องในขณะที่สติกำลังระลึก และก็เริ่มรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมอย่างบางเบา ทีละเล็ก ทีละน้อย ขจัดความไม่รู้ออกไปอย่างบางๆ เบาๆ เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกท่านไม่ควรเป็นผู้ประมาทเลย ท่านอาจจะไม่มีความปรารถนาในภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกถึง ๒ เท่าในวันนี้ แต่ถ้าตราบใดที่ยังคงมีความปรารถนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย วันนี้ได้แล้วสิ่งที่ต้องการ ยังมีอะไรเหลือที่ยังต้องการอยากได้อีกหรือเปล่า อีกมาก อีกหลายอย่าง หรือเปล่า เป็นการเพิ่มพูนขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนวันหนึ่ง ใครจะรู้ว่าท่านถึงกับปรารถนาภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกถึง ๒ เท่า ซึ่งถ้าได้มาแล้วจะหมดความปรารถนาไหมหรือว่าก็ยังคงมีความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นเรื่อยๆ ไป เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ก็ต้องเป็น
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับมารด้วยพระคาถาว่า ภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกถึง ๒ เท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้เห็นทุกข์ มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษา เพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย
ขณะนี้ทราบ แต่ยังต้องศึกษา เพื่อกำจัดอุปธิ ซึ่งไม่ใช่ว่าอุปธิ หรือความทุกข์ หรือเหตุของความทุกข์นั้น จะหมดไปเพียงขั้นของความเข้าใจ แต่จะต้องอาศัยขั้นการประพฤติปฏิบัติ อบรมเจริญปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะละกิเลส ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ใน ตติยวรรคที่ ๓ สัมพหุลสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นครศิลาวดี ในแคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแลภิกษุมากด้วยกัน เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเนรมิตเพศเป็นพราหมณ์มุ่นชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ แก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงกล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลายด้วยปฐมวัย ขอท่าน จงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์ อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า
ดูกร พราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง
ดูกร พราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นของชั่วคราว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกกันมาดู ควรน้อมมาไว้ในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาปจึงสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป
ที่มารกล่าวว่า อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย นี่เป็นถ้อยคำของมาร แต่ท่านพระภิกษุเหล่านั้นตอบว่า พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง
โดยมากชาวโลกคิดว่า ผลที่ได้รับ คือ ทรัพย์สมบัติ เงินทอง รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ อิฏฐารมณ์ที่ประณีต ที่น่าพอใจ เป็นผลที่เห็นกันอยู่ในโลกนี้เพราะฉะนั้น มารจึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย
ผลชั่วคราว คือ ขณะที่สติระลึกแล้วรู้ แล้วก็หมด แล้วก็หลงลืมสติอีก มารเห็นว่าเป็นผลชั่วคราว เพราะเหตุว่าสติระลึกเมื่อไร ก็ได้ผล หรือรู้ผลเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เป็นผลชั่วคราวที่นานๆ จะเกิด ส่วนผล คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชาวโลกปรารถนา ต้องการ เป็นอิฏฐารมณ์ที่ประณีตต่างๆ ชาวโลกมีความปรารถนาว่า เป็นผลที่ต้องการกันนัก เพราะฉะนั้น มารก็กล่าวกับท่านพระภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าละผลอันเห็นเอง ในขณะนี้ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีตนี้เลย อย่าได้วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว เพราะเห็นว่าการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในบางขณะนั้น เป็นเพียงผลชั่วคราวเท่านั้น
ท่านมีความเห็นตรงกันข้ามกับมาร หรือว่าเหมือนกับมาร ซึ่งท่านพระภิกษุเหล่านั้น ก็เข้าใจในพยัญชนะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวกับมารว่า พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง
ผลอันเห็นเอง คือ ปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง จึงชื่อว่าเห็น เวลานี้ใครจะเห็นเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นทรัพย์สมบัติต่างๆ ชื่อว่าท่านเห็นหรือยัง ยังไม่เห็น และสิ่งที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา ที่คิดว่าเป็นผลนี้ ก็ชั่วคราวเหลือเกิน คือ ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ประณีตสักเท่าไรที่ท่านได้รับ ที่ท่านกำลังยินดีพอใจอย่างยิ่ง ก็หมดไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เพราะฉะนั้น ผลอย่างนี้ต่างหากที่เป็นผลชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้จริงและรู้แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง