ปกิณณกธรรม ตอนที่ 72
ตอนที่ ๗๒
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย
ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔
ผู้ฟัง สำหรับบุคคลที่แม้มีสติปัฏฐานขั้นต้น จะไม่มีเลยหรือว่าความอยากที่จะรู้ให้มากขึ้น อยากจะมีสติปัฏฐานมากขึ้นอะไรประเภทนั้น
ท่านอาจารย์ คนที่เจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า แม้ขณะนั้น ความอยากก็ไม่ใช่หนทาง
ผู้ฟัง เพราะว่าการเจริญสติปัญญาเป็นการละ เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่าความอยากนี่ก็ไม่ใช่หนทาง แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่า ความอยากนี่มันจะหายไปหมด
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางหายเลย
ผู้ฟัง เรื่องของโลภะนี่ก็คงจะหลายคนในตอนนี้ก็เป็นอย่างนี้ ก็คือในเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้เหตุผลก็มีความต้องการ
ท่านอาจารย์ ถึงต้องการก็ไม่รู้ แล้วจะไปต้องการทำไม ทุกคนเวลานี้รู้ว่าเห็น เป็นนามธรรม และไม่ใช่รู้ด้วยความต้องการ ต้องการอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเห็นขณะนี้เป็นนามธรรม แล้วไปต้องการทำไม ต้องการพระอาทิตย์ ต้องการพระจันทร์
ผู้ฟัง อย่างสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่เห็นจะมีสาระอะไรเราก็ยังต้องการ แต่ว่าเรื่องของกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีคุณค่ามากยิ่งกว่า ก็เลยเป็นปัจจัยทำให้ ...
ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าถึงขั้นระดับสติปัฏฐานแล้วทุกคนจะรู้ได้เลยว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ถึงด้วยความอยาก อย่างไรๆ อยากไปเท่าไหร่ก็ไม่ถึง เพราะฉะนั้นอยากเท่าไหร่ก็ไม่ถึง แล้วจะอยากทำไม ไม่อยากเสียดีกว่า เพราะอย่างไรๆ ก็ไม่ถึงด้วยความอยาก
ผู้ฟัง คิดว่าจะไม่อยากต่อไปไม่ได้ มันอยากไปแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้ว โดยมากจะไปกังวล แต่จริงๆ แล้วขณะนี้ สภาพธรรมเป็นเครื่องสอบหรือพิสูจน์ปัญญาของเรา อยากจะเห็นสภาพธรรมที่กำลังเห็นเป็นนามธรรมหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เอง จริงๆ แล้ว ไม่ได้อยากเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง มีความสงสัย อย่างเช่นโดยเฉพาะเวลาเรียนเรื่องของสภาพธรรม บางอย่างก็เหมือนกับว่า มีเค้าที่จะมีสิทธิ์ที่จะรู้เห็นในสิ่งนั้นได้แต่ก็ไม่รู้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ด้วยปัญญาระดับไหน เราก็ศึกษา ขั้นฟังไม่ใช่ขั้นนั้น ถ้ามีสิทธิ์ก็ต้องของระดับอื่น
ผู้ฟัง ความจริงที่เรียนกันมาว่า ความอยากเป็นสิ่งที่ไม่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยในสติปัฏฐานเกิดเลย แต่ว่าตามความจริง ก็มีความอยากที่อยากจะรู้
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังเห็น อยากหรือเปล่าที่จะรู้ มีใครอยากที่จะรู้บ้าง ขณะนี้ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง การศึกษาธรรมที่เป็นรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นชื่อ เป็นจำนวน เป็นเรื่องราว ทำให้เรามีข้อมูลมีความรู้ ความเข้าใจที่มากๆ เพื่อจะพิจารณาธรรมได้ เมื่อเวลาสติเกิดขึ้นจะทำให้มีความระลึกได้ละเอียดมากขึ้นจริงหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ธรรมลึกซึ้ง ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นแค่ไหน เริ่มจากการที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีสภาพธรรมปรากฏ เป็นเครื่องทดสอบว่า ที่เราเรียนมาทั้งหมด เราเข้าใจแม้ในเบื้องต้นว่าเป็นธรรม แล้วก็ต่อไปก็คือว่า เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ความรู้ของเราตามลำดับ เราอาจจะเรียนมาก แล้วสิ่งที่เราเรียนไปแล้ว ก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจสภาพที่กำลังมีอยู่ มากหรือน้อยตามระดับการสะสมมา ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมา เพียงที่ท่านได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าสาวก และก็ได้ฟังพระธรรมสั้นๆ ท่านสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพในขณะนี้ตรง แล้วแทงตลอดความไม่เที่ยงการเกิดดับทุกอย่างได้ จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพระธรรม จุดประสงค์ก็คือว่า เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ก็จะมีเพียงสมถภาวนา การที่จะระงับไม่ให้อกุศลจิตเกิด จนกระทั่งสามารถที่จะสงบมั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ แต่ผู้นั้นก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ได้เป็นสาวกด้วย เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้นยุคของเรา เป็นยุคที่ห่างไกลพระผู้มีพระภาคถึง ๒,๕๐๐กว่าปี แต่ก็ยังมีคำสอนเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น การที่เราศึกษาธรรม เราก็ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ลืม เวลาศึกษาแล้วไม่ลืมว่า ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน เป็นธรรม ตรงตามที่เราได้เข้าใจ แต่การที่เราจะรู้รายละเอียดเช่นจิตดวงนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ ไม่ใช่วิสัยของเรา มีใครที่จะรู้ว่าขณะนี้มีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก เกิดกับจิตเห็น เพราะยังไม่รู้เลยว่า เห็น เป็นจิตอย่างไร ฟังมาก็ว่า จิตเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ลักษณะล้วนๆ ของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ไม่ปรากฎชัดเจนแจ่มแจ้งกับสติปัฏฐานที่เพิ่งเริ่มเกิด แต่ว่าความรู้ที่มีแม้น้อยนิดในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิด แล้วก็สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยินสภาพธรรมนี่มีจริง ก็ทำให้เรา ไม่หวั่นไหวหรือไม่คลอนแคลนที่จะรู้ว่า การศึกษาของเราทั้งหมดก็เพื่อค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งเราอาจจะเรียนเรื่องนี้เยอะแยะเลย แต่วันนั้นมีขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมหรือเปล่า นี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการเรียนของเราทำให้เราเกิดความเข้าใจมั่นคงที่จะศึกษา ศึกษาที่นี่คือ มีสภาพธรรมปรากฏ ศึกษาคือ ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมมันตรงกับที่เราได้เรียน ก็เป็นเรื่องที่เราคงจะเคยฟังมาแล้วมาก ไม่ใช่ไม่เคยฟังเลย แต่ว่าถ้าตราบใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด สิ่งที่เราฟังมาก็ผ่านไปผ่านไป แล้วก็ค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่สติจะเกิด ในขณะไหนก็ได้ แม้ในขณะนี้ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเหตุว่าขั้นการศึกษาก็ทราบว่า สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เร็วจนกระทั่งยากที่จะรู้ว่า ที่เราได้ศึกษามาแล้ว ก็คือเพื่อประโยชน์ที่สติจะเกิด เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง เราไม่สามารถจะไปรู้อย่างผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกที่เป็นพระอรหันต์ ที่จารึกคำสอนจนกระทั่งถึงเรา เรารู้ไม่เท่าท่านเหล่านั้นแน่นอน แต่เราก็มีความสามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขั้นที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมก่อนไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น การเรียนก็จะทำให้วันหนึ่งซึ่งสภาพธรรมปรากฏ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสภาพอะไร ขณะไหน ปรากฏในลักษณะอย่างไร เพราะว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง เราจะไปเลือกให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏ สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกอย่างที่สติเกิดระลึกปัญญาสามารถจะค่อยๆ รู้จนกระทั่งคลายความเป็นเรา หรือคลายความเป็นตัวตนได้ แต่ต้องเป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ให้ทราบว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง พระปัญญาคุณตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ โดยละเอียด โดยสิ้นเชิง และทรงแสดงทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลก สามารถอบรมเจริญปัญญารู้ตามได้ พิสูจน์ด้วยตัวเอง เป็นปัจจัตตัง ปัญญาของใครก็ของคนนั้น แล้วก็ไม่มีการท้อถอยเลย เพราะเหตุว่าเมื่อเราได้มาถึงการที่จะได้ฟังพระธรรม และก็สามารถที่จะเข้าใจพระธรรม ในขณะที่กำลังปรากฏก็รู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริง นี่ก็เริ่มต้นแล้วก้าวไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง การพิจารณาธรรม เราจะพิจารณาจากสิ่งที่เราได้เรียนมา หรือว่าพิจารณาจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติ
ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่าง คือถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด เราก็ใคร่ครวญพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยินโดยประการต่างๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเดียว มีระดับตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งขั้นสูงสุด เช่น สติปัฎฐาน หรือว่าวิริยเจตสิกก็ตาม เป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่แม้ขณะนี้ที่กำลังฟัง ก็มีวิริยะขั้นฟังเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็จะไม่ใช่เพียงฟัง ถ้าฟังแล้วก็ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ความเข้าใจก็ต้องน้อยมาก หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ อย่างบางคนที่ได้ยินคำว่า นามธรรม รูปธรรม เขาก็ผ่านไปเลย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยิน ได้ยินนามธรรม ได้ยินรูปธรรมแต่ก็ผ่านไป อีกคนหนึ่งก็ได้ยิน แล้วก็คิด นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร ค่อยๆ พิจารณาเข้าใจขึ้น อีกคนก็ยังได้ยินอะไรทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก็พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังประกอบกัน นามธรรมมีอะไรบ้าง เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันอย่างไร สภาพนี้เป็นปัจจัยกับสภาพนั้นโดยปัจจัยอะไร แม้แต่ผัสสเจตสิก ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอาหารปัจจัย เป็นผัสสาหาร คือไม่ทิ้งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วพยายามเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ มีความเข้าใจในสิ่งซึ่งเราไม่เคยเข้าใจมาก่อน ซึ่งจะทำให้มีการระลึกได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการระลึก อย่าคิดว่ายากมาก การรู้ต่างหากที่ยาก เพราะเหตุว่าสติขณะนี้จะเกิดได้ในขณะที่กำลังเห็น เป็นสติสัมปชัญญะซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการคิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนอย่างกับว่าเวลานี้เราเห็น แล้วเราก็ผ่านการเห็นมามาก แต่ขณะใดที่ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ต้องกล่าวเป็นคำเลยว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือคำพูด แต่เวลาที่ไม่พูดก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังมีสภาพเห็นซึ่งกำลังเห็นสิ่งนั้น ในขณะที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังเป็นอารมณ์ที่จิต หรือสติกำลังระลึก และปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อที่เราเรียกว่าสติปัฏฐาน แล้วก็หาว่าสติปัฏฐานอยู่ที่ไหน แต่สติปัฏฐานก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ที่สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ อย่างทางกายที่เคยยกตัวอย่าง วันหนึ่งอ่อนแข็งหลายครั้งก็ผ่านไป กายวิญญาณรู้แล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิด และดับไปเร็วมาก แต่ขณะใดที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่แข็ง ไม่มีเราตรงนั้น แข็งคือเป็นแข็ง เข้าใจว่าแข็งขณะที่ปรากฏมีเป็นสภาพธรรม และขณะที่มีสภาพที่รู้แข็ง ลักษณะที่รู้แข็งก็มีจริงๆ จนกว่าธาตุรู้หรือสภาพรู้ จะเปิดเผย เพราะเหตุว่า ปรากฏทางมโนทวารกับปัญญาที่สามารถจะรู้ในขณะนั้นได้เมื่อสภาพนั้นปรากฏ แต่ไม่ใช่ว่าเราพยายามด้วยความเป็นเราที่จะรู้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกั้นทันที ถึงเราจะเหมือนกับว่ารู้มากแต่ก็เป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่การที่เรียนรู้ตั้งแต่ต้นว่าสติเกิด เพราะฉะนั้นสติต่างหากที่กำลังรู้แข็ง สติต่างหากที่กำลังรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึก สติต่างหากที่กำลังระลึกลักษณะของโลภะหรือโทสะซึ่งเราไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ลักษณะที่ติดข้อง ลักษณะที่เพลิดเพลินนั้นมี และสติก็กำลังระลึกลักษณะนั้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะอย่างนั้น ถ้าเป็นความขุ่นเคืองใจสติก็ระลึกลักษณะสภาพนั้นซึ่งกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกติที่หลงลืมสติเป็นอย่างหนึ่ง และเวลาที่สติเกิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คือกำลังมีสภาพนั้นที่กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกติ ถ้าผิดปกติแฝงไว้ด้วยอะไร ถ้าผิดปกติสักนิดเดียว เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นหนทางละโลภะ เพราะเห็นโลภะมากขึ้น ถ้าไม่เห็นโลภะเลย ปฏิบัติไปทำไปใครก็ตาม แล้วจะละโลภะได้อย่างไร ไม่เห็นเลยอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าที่จะรู้ได้คือโลภะแม้ละเอียดขึ้นเพียงไร ก็ไม่พ้นปัญญาที่สามารถจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกขสัจจ์ ทุกขสมุทัยสัจจ์ หมดเมื่อไหร่ ไม่มีในขณะที่สภาพของสังขารธรรมปรากฏ ขณะนั้นก็สามารถที่จะน้อมหรือโอนไปสู่พระนิพพานได้ แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมขึ้น ตั้งแต่ขั้นต้น ถ้าไม่มีความเข้าใจ อย่าไปทำอะไรเลย ไม่มีประโยชน์ หรือว่าถ้าเราเรียนไปเท่าไหร่ แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เหมือนใบลานเปล่า
ผู้ฟัง ขอเรียนถาม ช่วยขยายความที่พูดว่า สภาพธรรม ที่เปิดเผยต่อ สภาพรู้
ท่านอาจารย์ เวลานี้อะไรปิดบังสภาพธรรมไว้ ก็สภาพธรรมเกิดดับแล้วทำไมไม่ปรากฏ เพราะอวิชชาความไม่รู้ และเมื่อมีความรู้เกิดขึ้น ค่อยๆ ให้สิ่งที่ปิดบัง ออกจากการที่จะปิดบังทีละเล็กทีละน้อย และที่ปิดบัง ปิดบังอย่างสนิทมาก อวิชชาปิดบังอย่างทึบอย่างสนิทมาก เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจพร้อมที่จะให้สภาพธรรมนั้นเปิดเผย ก็ต่อเมื่อถึงระดับที่ปัญญาถึงกาลที่วิปัสสนาญาณจะเกิด เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นหมายความว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางมโนทวารกับปัญญา ไม่มีอะไรที่จะปิดบังได้อีกต่อไปในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขั้นต้น เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
ผู้ฟัง แต่ถ้ายังไม่รู้นามธรรม และรูปธรรมต่างกัน
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไม่เปลี่ยนลักษณะเลย เวลาที่โทสะเกิด ทุกคนรู้จัก เป็นเรา หรือว่า เป็นสติ ที่ระลึกลักษณะโทสะ นี่คือความต่างกัน เวลาที่มานะเกิดขึ้น ลักษณะของมานะก็ไม่เปลี่ยน สามารถที่จะทำให้คนรู้ว่าขณะนี้ คนนั้นกำลังกระด้างด้วยความเป็นเราที่มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็คือเป็นเราที่รู้ ไม่ใช่สติที่ระลึก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีการฟังธรรม ตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด หมายความว่าเรามีความเข้าใจขั้นการฟัง แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิด ก็อาจมีการระลึกนิดหน่อย แต่ว่าขณะนั้นเป็นเรา ที่จำชื่อ หรือว่าเป็นสติที่เกิดเอง และก็ระลึกลักษณะนั้น รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือถ้าเป็นสติปัฏฐานก็จะมีความเข้าใจว่า สิ่งที่เคยมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นธรรม อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง แล้วแต่สติจะระลึกมากน้อยเท่าไหร่ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สติระลึก เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัญญาของคนนั้นเอง แต่ในขั้นต้น จะน้อยมาก จนเกือบจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญญา เพราะเหตุว่า ขณะเห็นเดี๋ยวนี้ เกิดแล้วดับแล้ว เร็วมากฉันใด สติปัฏฐานที่เกิดเร็วมากก็ดับไป และน้อยมากฉันนั้น ไม่เหมือนกับเห็นซึ่งเกิดบ่อยๆ เกิดแล้วก็เกิดอีก เกิดแล้วก็เกิดอีก ดับไปแล้วเกิดอีก เราก็รู้ว่าเห็นเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐานที่รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธาตุซึ่งเห็น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจด้วยตัวเองว่า ขณะไหนมีการระลึกซึ่งเป็นสัมมาสติ ไม่ใช่เพราะเราต้องการ หรือเราพยายามจะดู แต่ว่าขณะนั้นสติเกิด จึงระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น ลักษณะนั้นไม่ใช่แขน ไม่ใช่มือ ไม่ใช่เท้า ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช้เก้าอี้ ลักษณะของสภาพนั่นคือแข็งที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฎฐานเกิด ก็จะมีการระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ตอนแรกเกือบจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปใช่ไหมว่าเป็นสติปัฎฐานหรือเปล่า แต่ถ้ามีความเข้าใจเป็นปัจจัย สติก็เกิดโดยไม่ได้จงใจ ขณะใดที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึกโดยไม่จงใจ ขณะนั้นก็เป็นสัมมาสติของมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าหลังจากนั้น และตัวตนก็จะแทรกเข้ามาได้มากมาย เพราะฉะนั้นก็รู้จริงๆ ว่า กว่าจะถึงขณะที่สติปัฎฐานเกิด ซึ่งปัญญาจะเริ่มเจริญอีกขั้นหนึ่ง คือรู้จักตัวจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงรู้จักชื่อ แต่รู้จักตัวจริงๆ ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด เป็นตัวจริงทั้งหมด แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติเกิดก็คือเริ่มจะรู้จักสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะชิน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในความเป็นนามธรรมกับรูปธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าโทสะเกิด ถ้ารู้ว่าเราเป็นโทสะ หรือว่าขณะนั้นสติระลึกรู้ว่า นั่นคือสภาพธรรม แต่เป็นเพียงขั้นต้น นี่จะเป็นความรู้สึกว่า แทบจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นปัญญา นี้จะหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นปัญญาต้องเป็นความรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม คือลักษณะของนามธรรมเรารู้โดยชื่อ แต่ว่าสภาพที่เป็นธาตุรู้ล้วนๆ ซึ่งไม่มีอะไรเจือปนเลย เอาทุกอย่างออกจากโลกในขณะนี้หมด ไม่มีพระเชตวัน ไม่มีเสียง ไม่มีแข็ง ไม่มีอะไรเลย แต่ยังมีธาตุรู้ เพราะฉะนั้นลักษณะของธาตุรู้ที่เป็นมนินทรีย์เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความเป็นใหญ่ของสภาพที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ก็ตามเมื่อค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะของสภาพรู้ ไม่ใช่เราที่กำลังเห็น แต่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่ามีการระลึกหรือไม่ ก็คือว่าไม่เคยที่จะใส่ใจหรือเกิดการระลึก แม้ช่วงเล็กน้อยเลยว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่กำลังเห็น ขณะนี้ถ้ามีการค่อยเข้าใจทีละน้อยว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ เมื่อมีจักขุปสาท ชาติก่อนๆ กี่โกฏิก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏกับธาตุที่เห็น ข้างหน้าต่อไปก็จะมีอย่างนี้แหละ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จนกว่าจะประจักษ์ความจริง
ผู้ฟัง ขณะนั้นจะเบาบางมากจนกระทั่งยังไม่สามารถเรียกได้ว่าปัญญาหรือ
ท่านอาจารย์ จับมีด มีดมีอยู่เล่มหนึ่ง ตอนไม่ได้จับกับตอนจับต่างกันไหม
ผู้ฟัง ขณะจับ ต่าง
ท่านอาจารย์ ต่าง และจับจนกว่าจะสึก แล้วตอนที่กำลังจับรู้ไหมว่าสึกกี่เปอร์เซ็นต์
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ หนึ่งในล้าน หนึ่งในแสนโกฏเท่าไหร่
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกัน ปัญญาก็เหมือนกัน
ผู้ฟัง ไม่ต้องบอกว่า รู้ลักษณะของโลภะหรือโทสะ มานะ ยากไป เวลาเริ่มศึกษาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีกฎเกณฑ์เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจ ไม่มีเครื่องกั้นที่ว่าเป็นเราที่อยากจะรู้ เพราะว่าเราอยากจะรู้ ก็ไม่รู้ แต่ว่าการที่เราฟัง และเข้าใจ ต้องมีขณะที่สัมมาสติเกิด แต่เมื่อไหร่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ถ้าอยากปุ๊บ ไม่มีเลย อยากจะมีสติตรงนั้นก็คือไม่มี แต่เวลาที่มีความเข้าใจขึ้น และสัมมาสติเกิด ขณะนั้นจะรู้ได้เลยว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นก็จะมีความเข้าใจสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้น และโดยกันละตั้งแต่ต้นด้วย เพราะเหตุว่าเรื่องของการละเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โลภะเกิดเดี๋ยวนี้ ละได้ไหม