แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
ถ. ฟังๆ ดูแล้ว ก็เป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาวะ คำว่าสภาวะนี้มีลักษณะอย่างไร จะพูดได้ไหม หรือว่าจะเห็นได้โดยไม่ต้องพูด ถ้าเห็นได้โดยไม่ต้องพูด ก็เฉพาะตน อย่างนี้ใช่ไหมครับ
สุ. โดยมากเข้าใจธรรมยังไม่ถูกต้องตามอรรถ เช่น คำว่า “รู้เฉพาะตน”อธิบายได้ไหม หรือว่าอธิบายไม่ได้ เพราะว่ารู้เฉพาะตนเลยอธิบายไม่ได้ พูดถึงไม่ได้บางท่านกล่าวว่า รู้สภาพธรรมที่เป็นรูปนั่งชัดเจน ประจักษ์ความเกิดดับ ลึกซึ้งเหลือเกินอธิบายไม่ได้ บอกใครไม่ได้ เพราะลึกซึ้งมาก ถ้าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงแสดงสภาพธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้ เพื่อเกื้อกูลบุคคลอื่นให้ได้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า การรู้แจ้งสภาพธรรมจะต้องรู้อย่างไร ทรงแสดงโดยละเอียดที่จะให้ผู้อื่นสามารถที่จะรู้ตามได้ เพราะเป็นสภาพธรรมจริงๆ เมื่อเป็นของจริง ก็พูดถึงลักษณะของๆ จริงที่ปรากฏได้ถูกต้องว่า ของจริงแต่ละลักษณะนั้นเป็นอย่างไรลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นของจริงมีลักษณะอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิดเป็นของจริงมีลักษณะอย่างไร เมื่อเป็นของจริง หนทางอย่างไรจึงจะรู้แจ้ง รู้ชัด รู้ทั่วในสภาพธรรมนั้น ก็ได้ทรงแสดงไว้ตามความลึกซึ้งของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ทรงแสดงไม่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งโดยที่ผู้ฟังสามารถรู้แจ้งในภาพธรรมที่ลึกซึ้งนั้นได้
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามอะไร หรือรูปอะไรได้ไหม หรือว่าต้องมีตัวตนไปเลือก ไปจดจ้องที่จะรู้เฉพาะบางนาม บางรูป นั่นไม่ทำให้ท่านได้ประจักษ์สภาพธรรมตรงกับปริยัติธรรมที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
แต่ถ้าสติระลึกเอง อาศัยปัจจัย คือ การได้ยินได้ฟัง ไม่มีตัวตนที่จดจ้องด้วยอภิชฌาหรือโทมนัสที่จะรู้เฉพาะบางนาม บางรูป สติจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจได้
เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังได้ยิน สติระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่กำลังรู้ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมที่รู้เสียงเท่านั้น ไม่เหมือนลักษณะของสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ที่หวังประโยชน์ในการฟังธรรม หวังประโยชน์ในการเจริญปัญญา ต้องพิจารณาเหตุผลก่อนที่ท่านจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น เพราะบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ถึงจะจดจ้องก็คงจะถูก แต่ประโยชน์จริงๆ คือ ท่านควรจะสังเกต สำเหนียกว่า ด้วยการจดจ้องนั้น จะทำให้ท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้หรือไม่ ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้หรือไม่ และในขณะที่จดจ้องนั้น สังเกตสำเหนียกหรือไม่ว่า มีความต้องการด้วยความเป็นตัวตนที่จะจดจ้องในนามนั้น ในรูปนั้น และก็ควรจะสังเกต สำเหนียกว่า สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
ถ้าท่านเป็นผู้ที่สังเกต สำเหนียกจริงๆ จะเห็นว่า การจดจ้องรู้บางนาม บางรูปนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง
เมื่อไม่สามารถที่จะทำให้ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงได้ ชื่อว่าปัญญาเจริญได้ไหม ชื่อว่าอบรมสติได้ไหม ชื่อว่ารู้อะไร หรือชื่อว่าละอะไร เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง การที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า การเจริญสติปัฏฐานของท่านยังไม่เป็นปกติ ดีไหมที่ทราบว่ายังไม่เป็นปกติ
เพราะฉะนั้น การสังเกตการ สำเหนียกจะช่วยให้ท่านเจริญสัมมามรรคมีองค์ ๘ถูกต้องยิ่งขึ้น ท่านฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สติเป็นอนัตตา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่ในขณะที่สติระลึกนิดหนึ่ง ตัวตนจัดการมาทำงานต่อแล้ว
มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ท่านอยู่บางสถานที่เป็นกุศลมาก แต่เวลาอยู่บางสถานที่ก็เป็นอกุศลมาก เครื่องทดสอบปัญญาของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมากน้อยรุนแรงบางเบาสักเท่าไรก็ตาม สติระลึกได้ไหมรู้หรือไม่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นปรากฏ และปัญญารู้ชัดได้ไหม รู้ทั่วได้ไหม แทงตลอดได้ไหม
เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ความจริง และละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องรู้ทั่ว ถ้ายังไม่ทั่ว ท่านผู้ฟังที่เพิ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง ก็จะสังเกตสำเหนียกว่า ตัวตนก็ยังอยู่ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่กำลังมีรูปในขณะนั้นเป็นอารมณ์ เวลาที่เวทนาเกิดขึ้นดีใจ หรือว่าเสียใจ และสติระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ในขณะนั้นเยื่อใยความเป็นตัวตนก็ยังอยู่ที่รูปขันธ์สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ซึ่งเป็นไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานที่ท่านจะไม่ระลึกรู้สัญญาขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์นั้น จะละกิเลสได้อย่างไร ในเมื่อขณะที่กำลังรู้รูป ความเป็นตัวตนก็อยู่เต็มที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์และก็ตามปกติในขณะนี้
เพราะฉะนั้น การที่จะละกิเลส รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น ต้องรู้แล้วละมิจฉาทิฏฐิ ต้องรู้แล้วละสักกายทิฏฐิ ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนี้ความเป็นตัวตนอยู่ที่นามธรรมใด รูปธรรมใดบ้าง ก็ไม่ละ เมื่อไม่ละ ก็ไม่ใช่ทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถึงแม้ว่าสติกำลังเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ผู้เจริญสติสำเหนียก สังเกต รู้ว่ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ที่นามใดรูปใดอีก จึงอบรมเจริญสติปัญญาให้รู้เพิ่มขึ้น เพื่อการละคลายมากขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
เพราะฉะนั้น การศึกษาและการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ท่านได้ยินคำว่าอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่ศึกษาในหนังสือ แต่ศึกษาสำเหนียก สังเกตรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง นี่คือ การศึกษา เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติที่ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สำหรับท่านผู้ที่เขียนมาจากสวนผัก วัดท่าตะโก อำเภอเมือง ข้อความตอนท้ายมีว่า ขออย่าให้เราถกเถียงกันเลย เมื่อถึงจุดแล้วจึงค่อยเถียงกันเถิด ขอยุติเท่านี้
จุดไหน เพราะจุดของการที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นของการฟัง ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ การปฏิบัติจะถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเริ่มจริงๆ ก็ต้องพูดในเรื่องของข้อปฏิบัติ จนกระทั่งเข้าใจชัดเจนหมดความสงสัย หมดความเห็นผิด หมดความที่คิดว่าจะต้องรู้ผิดๆ โดยการเข้าใจในสัจจญาณอย่างถูกต้องเป็นรอบแรกเสียก่อน ก็จะเป็นปัจจัยให้กิจจญาณ คือ การปฏิบัติที่ถูกต้องเกิดขึ้น และทำให้บรรลุผล คือ การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นกตญาณถูกต้องด้วยเพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าท่านจะรอเมื่อไรที่ว่า ขออย่าให้เราถกเถียงกันเลยเมื่อถึงจุดแล้ว จึงค่อยเถียงกันเถิด
ขอตอบจดหมายของอีกท่านหนึ่ง ที่เขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๓๗ ถนนพะเนียงอำเภอป้อมปราบนครหลวง วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้ฟังท่านนี้เขียนมายาว จะขออ่านเฉพาะข้อความตอนท้ายซึ่งมีข้อความว่า
แต่มีบางข้อรู้สึกว่าจะไม่ตรงกับท่านอาจารย์ ผมขอยกตัวอย่าง คือ ท่านอาจารย์พูดอยู่เสมอว่า รูปนั่งไม่มี การพิจารณารูปนั่งเป็นการพิจารณาที่ผิด ถ้าท่านอาจารย์ทำใจเป็นกลางๆ อย่างปุถุชนทั่วไป คนที่กำลังฟังท่านอาจารย์บรรยายอยู่ ยกมือขึ้นแล้วถามว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ท่านโปรดตอบตามสภาวะแห่งความเป็นจริงด้วยว่า พวกกระผมเหล่านี้กำลังนั่ง หรือยืน ท่านอาจารย์จะตอบว่าอย่างไร ท่านอาจารย์ก็คงจะต้องตอบไปตามความเป็นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นแสดงว่า รูปนั่งรูปยืนต้องมี
นี่แหละครับที่ผมฟังท่านอาจารย์บรรยายมา ความจริงก็ไม่น่าจะมาซักถามให้เป็นเรื่องขัดคอกัน นักปฏิบัติจริงๆ ผมว่า จะไม่มีการโต้เถียงและสงสัย เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตรจำแนกไว้โดยละเอียดลอออยู่แล้ว หากท่านผู้ใดยังมีความสงสัย ผมคิดว่า ท่านคงขาดการปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั่นเอง
ผมขอโทษด้วยที่รบกวนเวลาท่านอาจารย์ ที่ต้องมาอ่านจดหมายอันยืดยาวของผม แต่ผมคิดว่าประโยชน์ที่จะได้รับคงจะมีมากกว่าเวลาที่เสียไป ฉะนั้นจึงขอขอบพระคุณท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วย ขอขอบพระคุณอย่างสูง
ตอบ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย เห็นกายว่าเป็นธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าท่านจะพิจารณาอ่านสติปัฏฐานโดยละเอียด ข้อความตอนท้ายของทุกหมวด ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ตอนท้ายจะมีพยัญชนะว่า เห็นธรรม
เวลาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ แม้ลมหายใจก็เป็นมหาภูตรูป ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็เป็นมหาภูตรูป กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังนิ่ง กำลังประกอบกิจการงาน กำลังเหยียด กำลังคู้ก็เป็นมหาภูตรูป ไม่มีสักบรรพเดียวแม้ในอิริยาบถบรรพที่ว่า ให้เห็นเป็นท่าทางว่า เป็นรูปนั่ง ทั้งในอรรถกถาด้วย ทั้งในปรมัตถธรรม เรื่องของรูปปรมัตถ์ก็ไม่มีรูปนั่ง
แต่ข้อความที่ท่านยกตัวอย่าง ท่านกล่าวว่า คนที่กำลังฟังท่านอาจารย์บรรยายอยู่ยกมือขึ้นแล้วถามว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ท่านโปรดตอบตามสภาวะแห่งความเป็นจริงด้วยว่า พวกกระผมเหล่านี้กำลังนั่ง หรือยืน ท่านอาจารย์จะตอบว่าอย่างไร ท่านอาจารย์ก็คงจะต้องตอบไปตามความเป็นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่านคิดว่า ดิฉันจะตอบว่ากำลังนั่ง หรือกำลังนอน หรือกำลังยืน หรือกำลังเดิน แต่ทางตาที่สติจะต้องระลึกรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรมนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนความทรงจำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือว่าเป็นวัตถุเป็นสิ่งของต่างๆ นั้น ไม่ใช่เป็นสภาพรู้ทางตา
ถ้าถามว่านี่อะไร ตอบว่ากระเป๋า
ถ้าเป็นสภาวธรรม รู้ทางตาเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะ ส่วนความทรงจำว่าสิ่งนั้นคือคน หรือวัตถุสิ่งของ กำลังอยู่ในลักษณะที่สมมติบัญญัติเรียกกันว่า ยืน แต่โดยสภาวธรรมแล้ว ทางตาเป็นแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางกายเป็นสิ่งที่กระทบสัมผัส และปรมัตถธรรม ก็คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว
คามิกะ ผมขอพูดถึงความรู้ที่ได้เรียนมา สัจจะ คือ ความจริง ท่านบอกว่ามี ๒ อย่าง สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่สมมติขึ้นอย่างหนึ่ง ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงที่เป็นปรมัตถ์อีกอย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่าง
ในอรรถกถาท่านบอกไว้อย่างนี้
เอ โส พราหมโณ นี้เป็นพราหมณ์ เอ โส สมโน นี้เป็นสมณะ เอ โส สมฺมุติสจฺโจ นี้เป็นความจริงที่สมมติกันขึ้น ความจริงสมณะหรือพราหมณ์ก็คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ
อิทํ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เอ โส สมุทโย อริยสจฺโจ เอ โส นิโรโธ อริยสจฺโจ เอเต มคฺคสจฺจา นี่เป็นปรมัตถสัจจะ
รวมความว่า สัจจะทั้ง ๒ มีทั้งสมมติและสภาวธรรม สองอย่างนี้ต้องอิงกัน ที่เขาว่ารูปนั่ง บาลีจะต้องว่าอย่างนี้ นิสีทนรูปํ สีทน แปลว่านั่ง แต่ในมหาสติปัฏฐาน ไม่มี มหาภูตรูปทั้ง ๔ ก็แปลว่าสภาวธรรม ภูต แปลว่า สิ่งที่มีจริงแล้วเกิด
สุ. ขอขอบพระคุณที่ได้ให้ความรู้ทางพยัญชนะในภาษาบาลี โดยนัยของจดหมายของท่าน ท่านไม่มีสภาวธรรมเลย เพราะว่าสภาวธรรมของท่าน คือ รูปนั่ง มีลักษณะอย่างไรที่ปรากฏ ที่จะกระจัดกระจายเป็นรูปแต่ละรูปที่รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นท่าเป็นทาง ควบคุมประชุมรวมกัน เป็นคนนั่ง เป็นสัตว์นั่ง เป็นหนังสือตั้ง เป็นกระเป๋าตั้ง เป็นคนนอน เป็นสัตว์นอน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ อยู่ในลักษณะอาการที่นอน ไม่ใช่สภาวธรรม ไม่ใช่ปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้น การเจริญข้อประพฤติปฏิบัติของท่าน ไม่ทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติที่เป็นอนัตตาแต่ละลักษณะ แต่ละทาง ตามความเป็นจริง
เรื่องของมารที่ได้กล่าวถึงแล้ว เป็นเทพบุตรมาร มีผู้ถามถึงเรื่องของมารผู้หญิงว่า ผู้หญิงเป็นมารมีไหม ซึ่งเรื่องของความเห็นผิด และอกุศลธรรม ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย แต่ถ้าผู้ใดมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง ก็เป็นหัวหน้ามาร บุคคลอื่นที่มีความเห็นผิดตามไป ก็เป็นธิดามารบ้าง หรือว่าเป็นมิตรสหาย เป็นพวกพ้องของมารบ้าง
ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มารสังยุต มารธีตุสูตรที่ ๕ ซึ่งเป็นเรื่องของธิดามาร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไรหรือ เศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหนหม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วยบ่วง คือ ราคะ นำมาถวายเหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้น ชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของคุณพ่อ
พระยามารกล่าวว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก
ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่านั้นเพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม