ปกิณณกธรรม ตอนที่ 81


ตอนที่ ๘๑


ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการสะสมของแต่ละคนที่ผ่านมา เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่า เป็นปัจจัยที่จะให้มีการตรึก ตามแนวของการที่จะเข้าใจธรรม และสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ สำหรับผู้ที่เคยสะสมอบรมมาแล้ว แต่ไม่ใช่อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างระดับกันมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นพระปัญญาคุณ ซึ่งได้สะสมมาแล้วที่ไม่ได้ยินได้ฟังอะไรเลย ในชาตินั้น แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ ไม่ง่ายเลยที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่บารมีที่สละความเป็นเรา โดยทานบ้าง โดยศีลบ้าง โดยพระชาติต่างๆ ก็ทำให้สามารถสละความเป็นตัวตน ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่รู้ แต่ต้องถึงการละด้วย เป็นเรื่องที่ต่างกับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาที่แต่ละคนรู้นั้นจะน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ

วันนี้ขอให้เป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าบางคนคงจะเคยฟังธรรมมาแล้วจากรายการวิทยุ หรือที่ต่างๆ ถ้ายังมีข้อข้องใจ หรือสงสัย เราก็ควรที่จะได้สนทนา ให้เข้าใจ แจ่มแจ้งขึ้น เพราะว่าเวลาที่ฟังธรรม คงจะไม่มีโอกาสได้ซักถาม เพราะต้องฟังไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่เรามีโอกาสพบปะ สนทนากัน สิ่งไหนซึ่งเป็นที่สงสัย ก็จะได้สนทนาให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นถ้าเป็นเรื่องการฟัง เฉยๆ ไม่มีการซักถาม ก็คงจะได้ประโยชน์น้อย

ผู้ฟัง วิริยบารมี เป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องเรียก วิริยบารมี เพราะยังมีผู้ฟังอีกหลายท่าน ยังไม่เข้าใจคำว่า กุศล หรือ เป็นบุญกุศลเกี่ยวกับทางพุทธศาสนา ต้องรออายุเท่านั้น หรืออายุเท่านี้สามารถที่จะมาศึกษา เรื่องพุทธศาสนา หรือ ติดข้องเกี่ยวกับธุรกิจบางอย่าง หรือต้องรอให้มีสิ่งใดที่นำมาชักจูงจริงๆ ก็ต้องมาหันมาพึ่งทางพุทธศาสนา และจริงๆ แล้วทาง วิริยบารมี มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือว่า ต้องรออายุเท่านั้นเท่านี้หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงพุทธศาสนา คือคำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทราบว่าเป็นเรื่องที่ ลึกซึ้ง ละเอียด กว้างขวางมาก เพราะว่า ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา บางคนเกิดมา ตายไปก่อนอายุ ๔๕ แต่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ตั้งแต่เช้าจนกระทั้งใกล้ถึงเวลาพักผ่อน แสดงให้เห็นว่าต้องมีมากทีเดียว และการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากเป็นก็เป็นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาก ใช้คำว่า บารมี แสดงให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็เคยพูดบ่อยๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมี ถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ นี่เป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธา ก็ต้องมากกว่านั้นอีก ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะ ก็ต้องมากยิ่งกว่านั้นอีก แสดงให้เห็นว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีเหตุที่สมควร ไม่ใช่ว่าใครก็ตาม นึกอยากจะเป็นก็ได้ และเมื่อใดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเห็นพระมหากรุณา ที่ได้ทรงแสดงพระธรรม สำหรับพวกเราในยุคนี้ด้วย เพราะเหตุว่าคำสอนที่ผู้ที่ได้รับฟังจากพระโอษฐ์ ได้สืบทอดต่อๆ มา จนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎก แล้วก็ยังไม่สูญสิ้นไป เพราะฉะนั้นเรายังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมแท้ๆ จากที่ได้ทรงแสดงแล้ว แล้วก็จารึกไว้ เพราะฉะนั้นจะเห็นพระมหากรุณาว่า แม้จะปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมก็ยังอยู่ เป็นศาสดาแทนพระองค์ฯ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วไปจำจำนวนเลข หรือว่าจะไปเป็นผู้ที่ได้กุศลเยอะๆ แต่เป็นผู้ที่ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร พระธรรมคืออะไร ถึงจะเห็นพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ ของพระผู้มีพระภาคได้

เพราะฉะนั้นขอเริ่มจากคำว่า บารมี เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจคำนี้ เราก็ใช้คำนี้โดยได้ยิน ได้ฟัง คนไทยต้องเคยได้ยินคำว่าบารมี แต่ว่าจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน บารมี ผู้ที่เป็นผู้รู้บาลี ท่านก็ได้แปลว่าหมายความถึงธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง แสดงให้เห็นว่าพวกเรา มีแม่น้ำกว้างใหญ่ ขวางหน้า เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีบารมี จะข้ามจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝั่งนี่คืออะไร ฝั่งนี้ก็คือฝั่งของคนซึ่งมีกิเลสทั้งนั้น ถ้าไม่มีกิเลส ไม่เกิด เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้ว ต้องเป็นคนที่มีกิเลส พระชาติสุดท้ายที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าพระองค์หมดกิเลสแล้ว ถึงได้ประสูติ และตรัสรู้ แต่ต้องยังมีกิเลส ที่ยังไม่ได้ดับ ยังไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนที่เกิดไม่ว่าใครทั้งหมด ต้องมีกิเลส เพราะฉะนั้นการที่เราเกิดมา และกิเลสในวันหนึ่งๆ มาก แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยสนใจ กิเลสของตัวเองเลย เห็นกิเลสของใคร เห็นกิเลสของคนอื่น บางคนจะมีเรื่องราวของกิเลสของคนอื่นทั้งนั้น ไม่ว่าจะพูดถึงใคร ก็พูดถึงแต่กิเลสของคนอื่น แต่ว่ากิเลสของตัวเองไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น อย่างนั้นจะมีประโยชน์ไหม การเห็นกิเลสของคนอื่น แต่ไม่เห็นกิเลสของเรา แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด แก่ทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร ชาติไหนอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้มีโอกาสฟังธรรม พระธรรมสำหรับทุกคนจริงๆ ที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจว่า เราเป็นผู้ที่ยังมีกิเลส จึงได้เกิดมา เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ยังมีกิเลสขวางกั้น เหมือนกระแสน้ำที่กว้างใหญ่ กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งที่ดับกิเลส เพราะฉะนั้น บารมี หมายความถึงธรรม ซึ่งเป็นเครื่องที่จะทำให้ถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือการสิ้นกิเลสได้ กิเลสเป็นสิ่งซึ่งทุกคนก็คงไม่ชอบ ถ้าเกิดกับคนอื่นแล้วเราเห็น แต่เวลาเกิดกับตัวเอง รู้สึกยังไง นิดๆ หน่อยๆ หน่อยคงไม่เป็นไร ซึ่งความจริงไม่ควรจะเห็นอย่างนั้นเลย กิเลสเหมือนกันหมด ไม่ว่าของใคร กิเลสที่เราหรือกิเลสที่เขา หรือกิเลสที่ใครก็เป็นกิเลส โลภะ คือความติดข้อง ต้องการ ยึดมั่น มีกันอยู่ทุกคน คนที่ไม่มีโลภะคือบุคคลเดียว คือพระอรหันต์เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะเหตุว่า กิเลสที่จะดับ มากมายมหาศาล จะดับกิเลสทีเดียวหมด เป็นพระอรหันต์เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะต้องดับกิเลสเป็นขั้นๆ ขั้นแรกก็คือจะต้องดับความไม่รู้ ความเห็นผิด ความติดข้อง ในความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เราก็อาจจะไม่รู้ว่า เราเห็นผิดหรือเปล่า หรือว่าเราเห็นผิดมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าฟังพระธรรมละเอียดขึ้น ก็จะเห็นว่าแม้นิดหน่อยที่ผิดก็ต้องผิด เช่นการไม่เชื่อเรื่องกรรม หรือผลของกรรม ก็จะได้เห็นว่า ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นผิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดมีมาก แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่ใครกำลังเห็นผิดคนนั้นจะไม่เข้าใจว่าเขากำลังเห็นผิด เมื่อได้มีความเห็นถูกเกิดขึ้น เขาก็จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นความเห็นถูก ถ้าพูดถึงบารมี ก็มีถึง ๑๐ แต่ที่จะพูดถึงตามที่คุณวันชัยต้องการในขณะนี้ก็คือ วิริยบารมี วิริยะคือความพากเพียร ทุกอย่างที่จะสำเร็จ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ แล้วก็นึกให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้นจึงต้องมี วิริยะ มีความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นให้เกิด ให้สำเร็จได้ วิริยะที่ทรงแสดงไว้ ในโอวาทปาติโมกข์คือ ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ขันติคือความอดทน วิริยะก็ต้องมีด้วย ถ้าไม่มีวิริยะเราจะอดทนได้ไหม เพราะฉะนั้นธรรมที่แสดงเห็นว่า เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในชีวิตของเรา ไม่ว่าในทางโลก และทางธรรม ก็คือความพากเพียร หรือว่าความอดทน ความขยันมั่นเพียรนั่นเอง ในทางโลกก็ต้องเป็นสิ่งซึ่งมีประโยชน์ และในทางธรรมก็ต้องเป็นสิ่งซึ่งขาดไม่ได้ เช่นในขณะนี้ เหมือนกับทุกคนนั่งเฉยๆ แต่ความจริงมี วิริยะ มีความเพียรที่จะฟัง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจความหมายความเพียรมี ๒ อย่าง คือเพียรที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง แล้วเพียรที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นความเพียรที่เป็นอกุศล พวกเราทำกันอยู่เสมอ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในกุศล แม้ความเพียงที่เกิดในขณะนั้น ก็ต้องเป็นความเพียรฝ่ายอกุศลด้วย แต่ว่าความเพียรที่จะเป็นบารมี ต้องเป็นความเพียรทางฝ่ายกุศล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ง่าย ให้เราเพียรทำอะไรเพื่อที่จะให้ได้ผลประโยชน์ เราเพียรได้ วันหนึ่งทั้งวันก็ทำได้ อีกครึ่งคืนก็ทำได้ แต่ถ้าจะให้เพียรในทางที่เป็นกุศล จะทำอย่างนั้นได้หรือเปล่า จะเห็นได้ว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่สะสมมา ยังไม่มากพอที่จะเท่ากับทางฝ่ายอกุศล ถ้าเห็นอย่างนี้จริงๆ ก็ยังต้องเพิ่มความเพียรทางฝ่ายกุศลขึ้น ความเพียรขั้นต้นของการที่จะเจริญกุศลก็คือ ต้องเพียรฟังพระธรรม เพื่อทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่วันนี้วันเดียว แต่ว่าวันอื่นๆ ต่อไปด้วย

ผู้ฟัง การที่จะศึกษาธรรม ศึกษาพุทธศาสนา หรือ การเจริญกุศล ทำบุญ จะมีส่วนที่ขัดกับการที่เราทำธุรกิจ หรือไม่

ท่านอาจารย์ โดยมากคนกลัวที่จะเข้าใกล้พุทธศาสนา กลัวว่าถ้าฟังธรรมแล้ว เราจะกลายเป็นคนไม่มีกิเลส ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี ถ้าไม่มีกิเลสจะดีไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดง่ายๆ มีคน ๒ คน คือคนดีกับคนชั่ว เรากลัวที่จะเป็นคนดีหรือเปล่า แต่ที่ถูก ควรจะกลัวความเป็นคนชั่ว เพราะฉะนั้นที่ว่า ถ้าศึกษาพุทธศาสนาแล้วจะขัดต่อการธุรกิจต่างๆ หรือเปล่า ธุรกิจก็ต้องการคนดี ไม่ว่าที่ไหนก็ต้องการคนดีทั้งนั้น ไม่มีที่ไหนเลยซึ่งต้องการคนเลว คนชั่ว พุทธศาสนาไม่เคยสอนให้ใครชั่ว ไม่เคยสอนให้ใครทำไม่ดี แต่จะสอนให้เข้าใจว่า ดีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งดีสูงสุด นั่นคืออย่างไร คำสอนทั้งหมดเป็นเรื่องของความดีทั้งหมด เพราะฉะนั้นยิ่งเข้าใกล้พระธรรม ก็ยิ่งรู้ว่าตัวเองมีความเข้าใจในเรื่องความดี แล้วก็มีเหตุที่จะทำให้เป็นคนดีเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีพระธรรม ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือทำอะไรก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตามก็เป็นคนดีเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่มีทางที่เราจะต้องไปคิด หวาดกลัวว่าถ้าศึกษาธรรม ฟังธรรมมั่นคงในพุทธศาสนา แล้วเราก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้าน หรือว่ากลายเป็นคนที่ไม่ทำอะไร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เกียจคร้าน ไม่ได้สอนให้ทำชั่ว แต่สอนให้เป็นคนดีทุกประการ

ผู้ฟัง ผู้ที่อยู่ในเพศของการครองเรือน สามารถที่จะเจริญกุศลด้านพุทธศาสนาได้มากน้อยแค่ไหน

ท่านอาจารย์ ทุกประการ เป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นพระอนาคามี ถ้าทุกคนเป็นบรรพชิตหมดก็แย่ แต่ว่าต้องมีพุทธบริษัท ๔ คือฝ่ายบรรพชิต และฝ่ายคฤหัสถ์ ฝ่ายบรรพชิตท่านก็ศึกษาธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูล อนุเคราะห์คฤหัสถ์ และคฤหัสถ์ก็ศึกษาธรรมประพฤติปฏิบัติตาม แล้วก็อนุเคราะห์แก่พระภิกษุด้วย จึงจะเป็นความยั่งยืนของพระศาสนา เพราะฉะนั้นทุกคน ก็รู้จักตัวเองว่าถ้าเราไม่ได้สะสมอัธยาศัยใหญ่ ที่จะละอาคารบ้านเรือน ไม่ใช่ละเพียงอาคารบ้านเรือน ละวงศาคณาญาติ พี่น้องทั้งหมด ไม่ใช่เท่านั้น ละความสนุกสนานทั้งหมด ละชีวิตที่เคยเป็นอยู่สะดวกสบายทั้งหมด เพื่อที่จะมีชีวิตที่เรียบง่ายสะดวกต่อการที่จะไม่ติดข้องอย่างคฤหัสถ์ แล้วศึกษา และปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่ได้มีอัธยาศัยอย่างนั้นจริงๆ พุทธบริษัทคือสาวกผู้ฟังพระธรรม มีทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ทั้งที่ครองเรือน และไม่ครองเรือน ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ และครองเรือน สามารถที่จะเป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระสกทาคามีบุคคลได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามีจึงจะละการครองเรือน แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง เป็นชีวิตจริง พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาเพ้อฝัน ไม่ใช่ศาสนาที่ให้เราทำสิ่งซึ่งไม่ใช่ตัวเราจริงๆ แต่ว่าให้เราเป็นอย่างไร ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น จะรู้จักตัวเองไม่ใช่เฉพาะชาตินี้หรือวันนี้ สามารถที่จะรู้ถึงการสะสมเก่าๆ ก่อนๆ ไม่ว่าครั้งไหนด้วยว่า การที่แต่ละคนจะมีอุปนิสัยโน้มเอียงอย่างไร ก็เพราะว่ามีการสะสมมา ที่จะเป็นอย่างนั้น ยิ่งเห็นความต่างกันของคนในโลกนี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมองเห็นว่าเป็นไปตามการสั่งสมของแต่ละคน บางคนมีศรัทธามาก บางคนมีปัญญามาก บางคนมีวิริยะมาก บางคนก็มีความเห็นผิดมาก บางคนก็มีความเห็นถูกมาก ซึ่งใครจะไปแก้ไขสิ่งสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นได้ แต่ว่าสามารถที่จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจถูกต้องได้ ถ้ารู้ว่าเกิดนี่คืออะไร จะเข้าใจได้ คือจิตต้องมีจิตเกิดไม่ใช่ก้อนเนื้อ แต่มีความรู้สึก มีจิตใจเกิดขึ้นเป็นขณะแรก ถึงใช้คำว่าคนเกิด มีทั้งรูปร่างกาย และก็มีทั้งจิตใจ ในขณะแรกที่เกิด เพราะฉะนั้นจิตใจที่เกิดในขณะแรก ไม่มีใครไปสร้างหรือไปทำขึ้นมาได้ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัย สิ่งที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ดอกไม้ ต้องมีดิน ต้องมีน้ำ ต้องมีเม็ด อยู่ดีจะโผล่ออกมาอยู่ในแจกันอย่างนี้ไม่ได้

ผู้ฟัง มีคนให้เงินมา แล้วให้ไปใส่บาตรทำบุญให้ เจ้าของเงินจะได้รับไหม

ท่านอาจารย์ กุศลจิตเขาเกิดตั้งแต่เขาคิดใส่บาตร เป็นกุศลของเขาเอง

ผู้ฟัง เขาได้ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ไม่พูดถึงได้ เพราะว่าส่วนใหญ่ คนจะไม่พูดเรื่องละ แต่จะพูดเรื่องได้ แต่พุทธศาสนาเป็นเรื่องละอกุศล ละความติดข้อง เพราะฉะนั้นแม้แต่ความติดข้องในบุญ ก็ต้องละด้วย ให้เข้าใจจริงๆ ว่า บุญคือสภาพจิตที่ดีงาม ขณะใดที่เป็นคนดี จิตดี ขณะนั้นเป็นบุญ เขาเกิดกุศลที่จะใส่บาตร นั้นเป็นกุศลของเขา ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปทำอะไรอีก

พูดถึงเจ้ากรรมนายเวร ให้แน่ชัด ตอนเกิด เราเกิดมาเพราะอะไร มีใครทำให้เราเกิด มีใครสั่งให้เราเกิด มีใครบอกให้เราเกิด หรือว่าจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเหตุ ถ้าเป็นพระอรหันต์ตายแล้ว ใช้คำว่าปรินิพพาน ดับโดยรอบไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นคนที่เกิด ไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ แม้แต่พระโสดาบัน ก็ยังต้องเกิด พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังต้องเกิด คนธรรมดาที่เกิด เป็นผลของกรรมหนึ่ง ในหลายๆ กรรม ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่ากรรมใดทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ทราบได้ต้องเป็นกุศลกรรม คือกรรมดี ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จะไม่เกิดเป็นมนุษย์เลย แต่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ที่เรามองเห็น นก ปลา ไก่ แมลงต่างๆ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม และไม่ใช่เป็นแต่เพียงสัตว์ประเภทเดียว ผลของอกุศลกรรม ยังทำให้เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย คือภูมิที่ไม่มีความเบิกบาน ร่าเริง สนุกสนาน เหมือนในภูมิมนุษย์ หรือในสุคติภูมิ แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครทำให้ใครเกิด นอกจากกรรมของเขาเองที่ได้กระทำแล้ว ถ้าเป็นกรรมดี ก็ทำให้เกิดดี ถ้าเป็นกรรมไม่ดี ก็ทำให้เกิดไม่ดี เพราะฉะนั้นมีเจ้ากรรมที่ไหนที่มาทำให้คนนั้นเกิด ไม่มีตั้งแต่เกิด เจ้ากรรมไม่มี นอกจากตัวเราเอง เป็นทายาทของกรรม หมายความว่ากรรมใดที่ทำแล้ว กรรมนั้นจะให้ผลกับผู้กระทำ เพราะฉะนั้นการเกิด เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน จะเกิดประเทศไหน เราจะเกิดกับพ่อแม่ไหน เราเกิดในสกุลไหน ในวงศาคณาญาติไหน เลือกไม่ได้ แต่กรรมกระทำทุกอย่างวิจิตรมาก แม้แต่เพียงขณะหนึ่งๆ ที่เกิด ก็มีเหตุปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในชีวิตนี้เป็นผลของกรรม ตั้งแต่เกิดขณะหนึ่ง และหลังจากเกิดแล้ว กรรมก็ยังทำให้มีชีวิตต่อไปจนกว่าจะหมดสิ้นกรรมที่ทำให้เกิด มีเจ้ากรรมนายเวรทำได้ไหม ในเมื่อเป็นกรรมของเราเอง ที่ทำให้เราหลับ แล้วก็ตื่นขึ้นอีก แล้วก็หลับไปอีก และก็ตื่นขึ้นอีก ทุกวันๆ ไม่ให้ตาย เป็นผลของกรรมของเราเอง ไม่มีทางที่คนอื่นจะมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้เลย นอกจากมีความคิดกลัวภัยต่างๆ ก็เลยไปขออภัย หรือว่า ไปอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งขณะนี้ที่เห็น ก็เป็นผลของกรรม บางครั้งเราเห็นสิ่งที่ดี บางครั้งเราก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ตามกรรมที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีการรู้ว่า การเกิดเป็นผลของกรรม การจะมีชีวิตอยู่ มากน้อยเท่าไหร่ เป็นผลของกรรม วันหนึ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สุขทางกายบ้าง ทุกข์ทางกายบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรมทั้งนั้น กรรมของเราเอง ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรแน่นอน ใครยังกลัวเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนบ้าง กลัวกรรมของเราเอง ไม่ทำอกุศลกรรม

ผู้ฟัง อยากให้ญาติโยมมีความเข้าใจว่า ในขณะที่ดำเนินธุรกิจอยู่นั้น ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ขัด ให้เกิดความสบายใจว่า สิ่งที่ทำนั้น เป็นที่ความกำลังดำเนินตามขั้นตอนแล้ว

ท่านอาจารย์ สัจจธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้แน่นอน สัจจะคือความจริง เพราะฉะนั้นความดี ต้องเป็นความดี ความชั่วต้องเป็นความชั่ว เรามีค่านิยมที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ดั้งเดิม คือคิดว่าถ้าเป็นนักธุรกิจแล้วต้องพูดไม่จริง ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นนักธุรกิจที่พูดจริง คนจะชอบมากกว่า


หมายเลข  6352
ปรับปรุง  2 ธ.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ