แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309


ซึ่งสินธกมานพได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาความว่า

ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าโลกทั้งปวง พึงให้พรท่าน ท่านเมื่อจะเลือก พึงเลือกพรเช่นไร

ถ้าขอพรได้ และได้พรจริงๆ พรของแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกัน

อังกุรพาณิชนั้นกล่าวว่า

ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงให้พรแก่เรา เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้าในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์ และพวกยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพเจ้าพึงเลือกเอาพรอย่างนี้

บุรุษผู้หนึ่ง คือ โสณกบุรุษ ได้กล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า

บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้ เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน สกุลทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้เพราะการให้ทานเกินประมาณไป บัณฑิตย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร เพราะเหตุนั้นแล ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน บุคคลผู้เป็นปราชญ์สมบูรณ์ด้วยธรรม ควรประพฤติโดยพอเหมาะ

อังกุรพาณิชกล่าวว่า

ดูกร ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแล ด้วยว่าสัตบุรุษผู้สงบระงับพึงคบหาเรา เราพึงยังความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ เปรียบเหมือนฝนยังที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม ฉะนั้น สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใส เพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน สีหน้าของบุคคลใดย่อมผ่องใสเพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้ว ย่อมปลาบปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ บุคคลก่อนแต่ให้ก็มีจิตเบิกบาน เมื่อกำลังให้ก็ยังจิตให้ผ่องใส ครั้นให้แล้วก็มีจิตเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ

ซึ่งข้อความต่อไปก็ได้กล่าวถึงว่า

อังกุรพาณิชนั้น ได้ให้ของเป็นอันมากแก่มหาชน ได้ทำความเคารพและความยำเกรงในกษัตริย์ด้วยมือของตนเอง ให้ทานโดยประการต่างๆ สิ้นกาลนาน อังกุรพาณิชยังมหาทานให้เป็นไปแล้ว สิ้นเดือน สิ้นปักษ์ สิ้นฤดู และปีเป็นอันมาก ตลอดกาลนาน อังกุรพาณิชได้ให้ทาน และทำการบูชาแล้วอย่างนี้ ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์

อินทกมานพได้ถวายภักษาหารทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์เหมือนกัน แต่อินทกเทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตร โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่

น่าสงสัยไหมที่ว่า อังกุรพาณิชก็ให้ทานนานมากทีเดียว แต่แม้กระนั้นอินทกเทพบุตร ผู้ได้ถวายภิกษาหารทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ ก็รุ่งเรืองยิ่งกว่า อังกุรเทพบุตร ทั้งหมดย่อมแล้วแต่เหตุ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร อังกุระ มหาทานท่านได้ให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก

เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ ณ ดาวดึงส์ ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นโลกธาตุพากันมานั่งประชุมเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับบนยอดเขา เทวดาไรๆ ไม่รุ่งโรจน์เกินกว่าพระสัมพุทธเจ้าด้วยรัศมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นย่อมรุ่งโรจน์ล่วงหมู่เทวดาทั้งปวง ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้นั่งอยู่ไกล ๑๒ โยชน์จากที่พระพุทธเจ้าประทับ ส่วน อินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค รุ่งเรืองกว่าอังกุรเทพบุตร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นอังกุรเทพบุตรกับอินทกเทพบุตรแล้ว เมื่อจะทรงประกาศทักขิไณยบุคคล จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ ความว่า

ดูกร อังกุรเทพบุตร มหาทานท่านให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาสู่สำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก

อังกุรเทพบุตรอันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระองค์อันอบรมแล้ว ทรงตักเตือนแล้ว ได้กราบทูลว่า

จะทรงประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น อันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาวฉะนั้น

อินทกเทพบุตรทูลว่า

พืชแม้มากที่บุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด ทานมากมายอันบุคคลเข้าไปตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่มีผลไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ปลาบปลื้ม พืชแม้น้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำโดยสม่ำเสมอ ผลย่อมยังชาวนาให้ปลาบปลื้มใจ แม้ฉันใด ทานแม้น้อยอันบุคคลบริจาคแล้วในท่านผู้มีศีล มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน

ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรเลือกให้ในเขตนั้น ทายกเลือกให้ทานแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญ ทักขิไณยบุคคลเหล่าใดมีอยู่ในโลกนี้ ทานที่ทายกให้แล้วในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านแล้วในนาดี ฉะนั้น

จบ อังกุรเปตวัตถุ ๙

ถ. ความจริงผู้ที่ให้ทานก็อยากจะให้กับบุคคลผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นอย่างยิ่ง แต่ผู้ให้ไม่มีสติปัญญาที่จะสามารถรู้ว่า ผู้ที่รับทานนี้เป็นผู้บริสุทธิ์แค่ไหนเพียงไร แล้วเราจะเลือกได้อย่างไรว่า บุคคลเช่นไรซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ จะมาปรากฏอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ายากมากทีเดียว ที่ให้กันส่วนมาก ก็ให้กันไปเรื่อย ให้พระเถระผู้ใหญ่บ้าง พระเถระรองๆ ลงมาบ้าง ให้กับยาจกวณิพก ก็ให้กันไปเรื่อย แต่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ผู้รับหรือปฏิคาหกเหล่านั้น ใครเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องแค่ไหน เป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้ที่เลือกเหมือนกัน

สุ. พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้ละเอียดโดยรอบคอบถูกต้องแล้ว ท่านไม่สามารถจะเลือกได้เลย แต่ว่าถ้าท่านมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม ท่านก็สามารถที่จะเกื้อกูลแก่ภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคลได้ โดยที่บุคคลอื่นอาจจะไม่เกื้อกูล เพราะไม่รู้ ไปตื่นเต้นในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เข้าใจว่า นั่นเป็นพระอริยสงฆ์ หรือว่าเป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระทักขิไณยบุคคล แต่เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ผลไม่มาก ผลที่จะมากได้ ขึ้นอยู่กับปัญญาที่จะทำให้จิตผ่องใส เลื่อมใส และรู้ว่าบุคคลใดควรแก่การที่ท่านจะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่มีกำลังที่จะกระทำประโยชน์แก่ชาวโลกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาของท่านด้วย

ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวก็ถูก แต่ปัญญานี้ต้องศึกษาธรรมของพระพุทธองค์โดยละเอียดจริงๆ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้ อย่างผู้มีสติ ก็เจริญสติกันอยู่เรื่อยๆ แต่ว่า ปัญญาของท่านยังไม่ถึงขั้นเป็นพระอริยะขั้นใดขั้นหนึ่ง ปัญญาก็แค่สามัญหรือโลกียปัญญาเท่านั้น ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ท่านพระเถระท่านที่เราเห็นว่าเป็นผู้มีศีล แต่ศีลของท่านจะบริสุทธิ์ผุดผ่องแค่ไหน เราก็ไม่ทราบ

ทีนี้บุคคลเป็นอันมากก็เลือกพระเถระผู้ใหญ่ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีโภคะมากอย่างยิ่ง เพราะใครๆ ก็ไปถวายทานแก่ท่าน แต่ก็มีอีกมากที่ยากจนเหลือเกิน จะเป็นวิบากของเขาหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครจะไปให้ทานแก่บุคคลเหล่านั้นซึ่งเดือดร้อนมาก แต่ผู้ที่มีความสุขสมบูรณ์มากๆ อยู่แล้ว กลับมีคนเอาอะไรไปให้มากมาย ก็เป็นเรื่องลำบาก

สุ. ขณะนี้ก็มีพระภิกษุมากมายหลายท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงศีล ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม ประพฤติธรรม เป็นผู้ที่ปกติเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยะเมื่อไรก็ไม่มีบุคคลใดทราบได้ แต่ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีปัญญา พิจารณา ท่านก็ย่อมทราบว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อการบรรลุอริยสัจธรรมโดยถูกต้องนั้น ก็เป็นทักขิไณยบุคคล เพราะว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็เป็นนาดีที่จะมีผลมาก เพราะว่าเป็นประโยชน์กับผู้ที่เจริญข้อปฏิบัตินั้นเองด้วย และกับบุคคลอื่นด้วย มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งฟังแล้วบอกว่า การบรรยายวันนี้ไม่เข้าประเด็นที่ถาม คือ การเจริญสติปัฏฐาน

ถ. ฟังมานานแล้ว สงสัยที่ว่า เจริญมากๆ เจริญบ่อยๆ คือ เจริญอย่างไร ช่วยอธิบายให้แจ้งด้วย หรือยกตัวอย่างให้ฟังสักข้อ จะเป็นพระคุณยิ่ง

สุ. การเจริญสติปัฏฐาน แม้ขณะที่กำลังเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็เป็น สติปัฏฐานได้ ไม่มีนามธรรมและรูปธรรมใดเลยซึ่งไม่ใช่สติปัฎฐาน ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต ทั้งนามธรรมและรูปธรรม

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่กว้างขวางอย่างยิ่ง แม้กำลังฟังเรื่องของการอนุโมทนา ซึ่งท่านก็เคยอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่น และก็เคยอนุโมทนาในส่วนกุศลของบุคคลอื่น แต่ก่อนการฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นตัวเป็นตน เป็นเราที่อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่น หรือเป็นเรากำลังอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น แต่เมื่อรู้ลักษณะของสติแล้ว ในขณะที่อุทิศส่วนกุศล สติรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ทุกขณะ แต่การที่จะอธิบายให้ชัดเจนเพียงวันเดียว หรือสั้นๆ เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การสังเกต และการสำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเนืองๆ บ่อยๆ ความรู้ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นนั้น จะต้องอาศัยการอบรม การขัดเกลา การเจริญกุศลทุกขั้น แม้ในเรื่องของทาน

ถ้าท่านศึกษาประวัติของท่านพระสาวก จะเห็นว่า ชีวิตในอดีตของท่านก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ท่านก็ได้เจริญอบรมสะสมกุศล ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งความสงบของจิต และสำหรับท่านที่กำลังสนใจในการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ไม่สามารถจะทราบได้ว่า ในอดีตท่านได้สะสมการเจริญอบรมสมถภาวนามามากน้อยเท่าไร แต่แม้กระนั้น ถึงท่านจะมีจิตที่สงบ ระงับโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยการเจริญอบรมสมถภาวนามาหลายภพ หลายชาติอย่างไร ก็ไม่ทำให้รู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

เพราะฉะนั้น ในอดีตไม่ว่าจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบของจิตที่เป็นขั้นสมถภาวนามาแล้วอย่างไร ถ้าผู้นั้นไม่เจริญอบรมสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้น

ซึ่งการที่จะดับกิเลส จะต้องอาศัยการขัดเกลา การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญกุศลทุกขั้น ถ้าศึกษาอดีตประวัติของพระสาวกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า การให้ทานของท่านเหล่านี้นั้น ความศรัทธา มั่นคงในพระศาสนา ทำให้ท่านเป็นผู้ให้ทาน รักษาศีล เจริญอบรมกุศลเป็นปกติ จนกระทั่งในภพสุดท้าย จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ขอกล่าวถึงประวัติของพระสาวกบางท่าน ใน ขุททกนิกาย อปาทาน ภาค ๒ ปิลินทวรรค ที่ ๔๐ เสลเถราปทานที่ ๒ เป็นคาถาของท่านพระเสละ ซึ่งท่านได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยบริษัท ๓๐๐ รูป หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ๗ ราตรี ความละเอียดท่านผู้ฟังจะค้นคว้าศึกษาได้ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมวรรค เสลสูตร

ในเสลเถราปทานที่ ๒ มีข้อความที่ท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงอดีตชาติของท่าน ว่า

ข้าพระองค์เป็นเจ้าของถนนอยู่ในนครหังสาวดี ได้ประชุมบรรดาญาติของข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เป็นบุญเขตอันสูงสุด พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลกทั้งปวง

กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณ์มหาศาลก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

คนที่ลูกเป็นกษัตริย์ แม่เป็นศูทรก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี พราหมณ์ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

พ่อครัวก็ดี คนรับจ้างก็ดี คนรับใช้หาบนั้นก็ดี ช่างกรองดอกไม้ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

ช่างย้อมก็ดี ช่างหูกก็ดี ช่างเย็บผ้าก็ดี ช่างกัลบกก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

ช่างศรก็ดี ช่างกลึงก็ดี ช่างหนังก็ดี ช่างถากก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

ช่างเหล็กก็ดี ช่างทองก็ดี ช่างดีบุกและช่างทองแดงก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้พากันประพฤติธรรมเป็นอันมาก

ลูกจ้างก็ดี ช่างซักรีดก็ดี ทาสและกรรมกรก็ดี เป็นอันมาก ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ

คนตักน้ำขายก็ดี คนขนไม้ก็ดี ชาวนาก็ดี คนเกี่ยวหญ้าก็ดี ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ

คนขายดอกไม้ คนขายพวงมาลัย คนขายใบไม้ และคนขายผลไม้ ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ

หญิงแพศยา นางกุมภทาสี คนขายขนม และคนขายปลา ได้พากันประพฤติธรรมตามกำลังของตนๆ

เราทั้งหมดนี้ มาประชุมร่วมเป็นพวกเดียวกัน จักทำบุญกุศลในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเขตบุญอย่างยอดเยี่ยม

ญาติเหล่านั้น ฟังคำของข้าพระองค์แล้ว ร่วมกันเป็นคณะในขณะนั้น กล่าวว่า พวกเราควรให้สร้างโรงฉันอันทำอย่างสวยงาม ถวายแด่ภิกษุสงฆ์

ข้าพระองค์ให้สร้างโรงฉันนั้นสำเร็จแล้ว มีใจเบิกบานยินดี แวดล้อมด้วยญาติทั้งหมดนั้น เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้นเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ซึ่งประเสริฐกว่านระ ถวายบังคมแทบพระบาทของพระศาสดาแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า

ข้าแต่พระวีรมุนี บุรุษประมาณ ๓๐๐ คนนี้ ร่วมกันเป็นคณะ ขอมอบถวายโรงฉัน อันสร้างอย่างสวยงามแก่พระองค์ ขอพระองค์ผู้มีจักษุ ผู้เป็นประธานของภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับเถิด

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ต่อหน้าบุรุษ ๓๐๐ คนว่า

บุรุษทั้ง ๓๐๐ คนและผู้เป็นหัวหน้า ร่วมกันประพฤติ ท่านทั้งปวงพากันทำแล้ว จักได้เสวยสมบัติ เมื่อถึงภพหลังสุด ท่านทั้งหลายจักเห็นนิพพานอันเป็นภาวะเย็นยอดเยี่ยม ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม

พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าผู้รู้ธรรมทั้งปวง ทรงพยากรณ์อย่างนี้

ข้าพระองค์ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว ได้เสวยโสมนัส ข้าพระองค์รื่นรมย์อยู่ใน เทวโลก

ชีวิตของพระสาวกก่อนที่ท่านจะได้บรรลุคุณธรรม พร้อมด้วยญาติมิตรสหายของท่าน ๓๐๐ คน ต่างก็ได้เจริญอบรมประพฤติธรรม ซึ่งผลของบุญนั้น ทำให้ได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกเป็นเวลานานมาก


หมายเลข  6375
ปรับปรุง  9 ธ.ค. 2566