ปกิณณกธรรม ตอนที่ 85


ตอนที่ ๘๕


ผู้ฟัง นั่นแสดงว่าเราจะต้องอบรมจิตของเรา ให้มีสติรู้ตัวกับการเคลื่อนไหวภายในใจ

ท่านอาจารย์ ไม่หวังถึงขั้นนั้น หวังไว้ได้ แต่ค่อยๆ ฟังธรรม ให้เข้าใจขึ้นแล้วปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น สติจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจะค่อยๆ เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ผู้นั้นจะเข้าใจคำว่าอนัตตา เพราะเหตุว่าสภาพธรรม แม้สติก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้ปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้นก็เพราะเหตุปัจจัย จะคลายความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน แต่ถ้าเป็นเราทำ อย่างไรๆ ก็คลายไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอะไรหมด นอกจากขณะนี้เข้าใจ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขั้นไหน แค่ไหน เข้าใจเรื่องราว ใช่ไหม ถ้าเข้าใจเรื่องราว ยังมีความเข้าใจมากกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้อีก แต่ต้องทีหลัง ไม่ใช่รีบร้อนว่าจะไปทำให้เข้าใจ แต่ต้องอบรมจนกว่า สัมมาสติจะระลึก แล้วจะรู้เลยว่าขณะนั้น เป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เราที่จะทำ เริ่มเอาความเป็นตัวตนออกไปทีละน้อย

ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่า ฟังแล้วให้เข้าใจ เข้าใจหรือปัญญาในขั้นการฟัง ท่านอาจารย์จะช่วยขยายว่า เข้าใจอะไร

ท่านอาจารย์ เวลานี้เข้าใจนิดหนึ่ง ใช่ไหม แต่ว่าจะทำแล้ว แทนที่บอกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นอันว่าไม่ต้องเข้าใจแล้ว เข้าใจนิดเดียวจะไปทำ คิดว่าทำแล้วจะเข้าใจมาก

ผู้ฟัง ความเข้าใจอันนี้ หมายถึง เข้าใจอะไร

ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่ตัวผมเอง ทั้งๆ ที่ผมจะทำอย่างนั้น จะใช้ปัญญาอย่างนั้น ก็ไม่ใช่

ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวคุณประทีปที่ ผมจะทำ

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังพระธรรมให้เข้าใจ

ท่านอาจารย์ ไม่มุ่งหวังที่จะประจักษ์อะไรทั้งหมด แต่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ถ้าหากว่าไม่มีจิต เจตสิก รูปแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเลย นายประทีปก็ไม่มี โต๊ะเก้าอี้ก็ไม่มี ฟังจนกว่าจะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่สภาพธรรม ตั้งแต่เกิดขึ้นมา ปฏิสนธิ

ท่านอาจารย์ ถ้าคุณประทีปเข้าใจจริงๆ ว่าขณะฟัง ก็มีสติขั้นหนึ่ง แต่สติขั้นนี้ดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ไม่ต้องเรียกชื่อก็มีจริงๆ อย่างแข็งมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อ ขณะใดที่กำลังรู้แข็ง เริ่มรู้ความเป็นอนัตตาว่า สิ่งนี้เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทางตาที่กำลังเห็น ค่อยๆ แยกธรรมออก เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ จากการตรัสรู้ เพราะเหตุว่าถ้ายังรวมกัน ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรากำลังมีสติ เป็นเรากำลังมีปัญญาเมื่อรวมกัน แต่โดยการตรัสรู้ว่า สภาพธรรมที่เราเคยรวมกันเป็นเรา แท้ที่จริงแล้ว เป็นธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ไม่ปนกันเลย จิตก็ไม่ใช่เจตสิก สติก็ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นจะรู้ตามความเป็นจริงว่า สติมีลักษณะที่ระลึกอย่างที่เราเรียน เราเรียนว่า สติเป็นสภาพที่ระลึก ระลึกได้ ถ้าเป็นสติที่เป็นไปในทานก็ระลึกเรื่องทาน สติที่เป็นไปในกุศลอื่น ก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นสติที่ระลึก ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสติที่กำลังระลึก ตรงลักษณะ ที่มีจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยระลึก เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่า นี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา คือความเป็นอนัตตานี้ต้องทั้งหมด ไม่ใช่ว่าพอเป็นอนัตตาแล้วเราปฏิบัติ อย่างนั้นหมายความว่ายังไม่เข้าใจลึกจริงๆ ถึงอรรถของคำว่าอนัตตา เพราะว่ายังเป็นเราปฎิบัติอยู่

ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กำลังบรรยายอยู่นี้ คือรับฟังด้วยจิต ใช้จิตรับฟัง แต่เราต้องใช้ สติพิจารณาว่าอันนี้มีเหตุหรือมีผล ถูกไหม

ท่านอาจารย์ ตอนแรกจะมีเรา แล้วเราใช้ใหญ่เลย แต่ถ้าเป็นอนัตตา ถ้าปัญญาไม่เกิด ความเข้าใจก็ไม่มี เพราะปัญญาคือสภาพเข้าใจ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีการที่จะระลึก ในสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟังพิจารณาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าบอกว่าไม่มีเรา ต้องไม่มีหมด ไม่ใช่ว่า ไม่มีเรา แล้วมีเราทีหลัง กำลังใช้โน่นใช้นี่ นั่นคือการฟังของเรา ฟังเรื่องหนึ่ง แต่ความเข้าใจของเรา ยังไม่สิ้นสุดตลอดไป จนกระทั่งถึงเห็นว่าเป็นอนัตตา เราเพียงฟังชื่อภาษาไทย อนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ เราเข้าใจความหมายเท่านี้เอง แต่ตัวธรรมจริงๆ ซึ่งเป็นอนัตตา เรายังไม่ได้พิจารณา เพราะฉะนั้นก็มีเรากำลังใช้สติ ใช้ปัญญา แต่ความจริงสติเป็นสติ มีเมื่อไหร่ เมื่อเกิด ถ้าสติไม่เกิดจะบอกว่ามีสติไม่ได้ ปัญญามีเมื่อไหร่ มีเมื่อปัญญาเกิด ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด จะบอกว่ามีปัญญาไม่ได้ ขณะใดที่ไม่โกรธ จะบอกว่ามีโกรธไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นโกรธไม่เกิด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมใดที่คิดว่าเป็นเรามี ก็คือขณะนั้นสภาพธรรมนั้นกำลังเกิด ไม่มีเราอีกคนหนึ่ง ต้องฟังมาก มีแต่สภาพธรรม จิต เจตสิก รูป

ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยตอบหน่อยว่า พระพุทธเจ้าสำคัญอย่างไร ที่ต้องกราบ ต้องไหว้

ท่านอาจารย์ พระคุณธรรมที่สวดมนต์กันก็คงจะทราบ แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันต์ คำว่า อรหันต์ หมายความว่า ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย หมดกิเลส ซึ่งทุกคนก็ต้องกราบไหว้ ผู้ที่หมดกิเลส การหมดกิเลสของพระองค์นั้น ไม่ใช่เพียงแต่หมดกิเลสลำพังพระองค์ ยังสะสมบารมีที่จะเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะประกอบด้วยพระญาณอื่นๆ คือสามารถที่จะรู้จริต อัธยาศัยของแต่ละบุคคล การสะสมของแต่ละบุคคลสามารถที่จะรู้อินทรีย์ ความอ่อนกล้า ของผู้ที่ได้ฟังธรรม ในขณะนั้นว่าบุคคลใด ฟังธรรมใด เหมาะควรแก่สติปัญญาของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นก็ทรงประกอบด้วย พระคุณธรรมที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ใดๆ ในโลก หรือแม้เทวดา หรือพรหม ไม่มีประการใดเลย ซึ่งจะมีผู้ใดเหนือพระองค์ แม้แต่ในเรื่องของฌานสมาบัติ ในเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ นอกเหนือไปจากการทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งแม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ตรัสรู้ด้วยพระองค์ ก็ไม่ได้ประกอบด้วย พระญาณอย่างนี้ ซึ่งเป็นบุญของผู้ที่มีโอกาส ที่จะได้รู้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือบุคคลใด ไม่ใช่เหมือนอย่างที่เราเห็นตามบ้านหรือตามวัด เพราะว่าดูอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน จะเหมือนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่แทน ทำให้เราระลึกถึงพระคุณเท่านั้น จะดูพระพุทธรูปองค์ไหน ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่ว่าสามารถทำให้จิตใจของเรา น้อมระลึกถึง พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ซึ่งทางเดียว ซึ่งจะทำให้เราสามารถที่จะเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เมื่อศึกษาธรรม แต่ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่มีทางเลย ก็เห็นแต่เพียงรูปซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนว่า ผู้นี้ชื่อว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้คำว่าชื่อว่า เพราะเราไม่รู้จักพระองค์ในด้านอื่นเลย แต่ถ้าเรารู้จักพระองค์ในด้านอื่นแล้ว แม้ไม่เห็น เราก็ยังน้อมระลึกถึงพระคุณได้ เพราะถึงจะเห็นก็ไม่ใช่ พระองค์จริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนี้

ผู้ฟัง อยากทราบว่า พระองค์รู้อะไร

ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ผู้ฟัง ปรากฎที่จิต

ท่านอาจารย์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ผู้ฟัง มารวมศูนย์กันที่จิต หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง ไม่ว่าจิต เจตสิก รูป

ผู้ฟัง การเรียนรู้จิต ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำคัญอย่างไร เป็นปัญหาอย่างไร จึงต้องเรียนรู้ตรงนี้

ท่านอาจารย์ เพราะว่ารูป ไม่มีความรู้สึก ใครจะติว่า โต๊ะนี้แข็งไป หรือว่าอาหารนั้นหวานไป หรือว่าสีนี้ เป็นอย่างนั้น สีนั้นเป็นอย่างนี้ รูปไม่รู้สึกเลย เพราะว่ารูป ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่จิต แต่จิต รู้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังสุข รูปไม่ได้รู้สึกเป็นสุขเลย แต่จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ และยังเป็นความรู้สึก ซึ่งเป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เจสสิก เพราะฉะนั้นวันนี้ขอให้คุ้นหูกับคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งคู่กับจิตถ้ามีจิต ถ้ามีจิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมกันขณะนั้น รู้อารมณ์เดียวกัน และก็ดับพร้อมกัน เจตสิกมีทุกอย่างที่เราพูดถึงในชีวิตประจำวัน เช่นความเกียจคร้าน รู้สึกขี้เกียจๆ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง วันไหนที่ขยันๆ ความขยันก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง เกิดโกรธ โกรธก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม แต่ละชนิด แต่ละอย่าง เป็นแต่ละธาตุ แต่ละประเภท ไม่รวมกันเลย แต่ด้วยความไม่รู้ เรามารวมกัน กลายเป็นเราไปหมดเลย เพราะความไม่รู้ แต่ความจริงแล้ว ถ้าเราสามารถจะแยกทุกอย่างออก ให้เหลือเพียงอย่างเดียว เพียงหนึ่งอย่างๆ แล้วก็รู้ความจริงของสิ่งนั้น นั่นคือพระปัญญาคุณ ซึ่งแสดงว่าสภาพธรรมใดเป็นนามธรรม สภาพธรรมได้เป็นรูปธรรม และทั้งหมดเป็นอนัตตา คือไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น นี่คือปัญญาคุณ

ผู้ฟัง พอเราไปรูู้ตรงนี้ ไม่มีตัวตน มันเป็นสภาวธรรมชาติที่เกิดขึ้น และสัมพันธ์กัน สักแต่ว่าเป็นธาตุที่เกิดดับ ในตัวมันเองอย่างนี้ต่างหาก รู้ตรงนี้ใช่หรือเปล่า จึงทำให้พ้นจากเงื่อนไข แรงดึงดูดของสมมติโลก

ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้จริง คือประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงเรื่องราว นี้คือความรู้ต่างขั้น ความรู้ขั้นฟังดับกิเลสไม่ได้ วันนี้ทั้งวันกลับไปบ้าน กิเลสก็ยังไม่ได้ลด ทั้งที่ได้ฟังธรรมแล้ว ต้องถึงปัญญาระดับขั้นอื่นที่สูงกว่านี้ ประจักษ์แจ้งมากกว่านี้ แต่ข้อสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งเราจะยึดเป็นหลักที่ถูกต้องได้คือ พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่ทำให้เกิดปัญญา แล้วละ หน้าที่ของปัญญาคือละ มีใครคิดว่า เราสมควรจะละอะไรบ้างไหม หรือว่าถ้าละแล้ว ก็เลยไม่มี แต่ความจริงสิ่งที่จะละ คือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ให้ละสิ่งที่ดี เพราะเหตุว่า อะไรบ้างที่ไม่ดี โลภะ ความโลภ ถ้ามีนิดหน่อยก็ดูไม่น่ารังเกียจ แต่ถ้าใครโลภมากๆ มีการทุจริตเกิดขึ้น เราจะเห็นได้เลยว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าโลภเล็กๆ ไม่เคยเกิดเลย ไม่เคยมีเลย โลภใหญ่ๆ ก็ไม่มี เพราะว่าทุกอย่าง ต้องเกิดจากสิ่งที่น้อยมาก แล้วค่อยๆ สะสม จนกระทั่งปรากฏให้เห็นชัด เพราะฉะนั้นโลภะซึ่งมี บางทีเราคิดว่า เราไม่มีโลภะ หลายคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมบอกว่า เขาไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ วันหนึ่งไม่มีจริงๆ ไม่ใช่อยากได้ของใคร ไม่ใช่อยากจะไปเบียดเบียน ริษยาใคร ก็เหมือนกับว่าเขาไม่มีอกุศลเลย แต่ที่คิดว่าไม่มีนั้น ความจริงมีเกือบตลอดวัน ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต นี่อย่างหยาบๆ เพราะจริงๆ แล้ว ต้องมีวิบากจิต มีกิริยาจิต ถ้าเรียนละเอียด แต่เราจะไม่ไปถึงความละเอียดนั้น เราจะพูดถึงเพียง ๒ อย่าง คือกุศลจิตกับอกุศลจิต จิตที่ดีกับจิตที่ไม่ดี และเราก็อาจจะผ่านไปถึงจิตอีกประเภทหนึ่ง คือจิตที่เป็นผล เพราะว่าเมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้นเมื่อมีกุศลจิต ก็ต้องเป็นเหตุ ที่จะให้เกิดผลของกุศล ซึ่งก็ต้องเป็นจิต แต่เป็นจิตประเภทวิบากซึ่งเป็นผล เพราะฉะนั้นวิบาก ในภาษาบาลี หมายความถึง สภาพธรรมที่สุกงอม ที่จะเกิดขึ้นเป็นผล เราทำกรรมไว้เยอะมาก แต่ว่าขณะใด กรรมนั้นยังไม่ให้ผล แปลว่ากรรมนั้นยังไม่สุกงอม ยังไม่ถึงกาลที่จะเกิดขึ้นเป็นผล วันนี้เรายังไม่เจ็บไข้ แข็งแรงดี แต่พอมีความทุกข์กายเกิดขึ้น กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว หนึ่งกรรม ถึงความสุกงอม ที่จะให้เกิดผลคือความรู้สึกเจ็บปวดทางกายเกิดขึ้น ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรารู้เรื่องของจิตมากขึ้น เราจะเข้าใจสภาพที่เป็นเหตุ สภาพที่เป็นผล และเราสามารถที่จะรู้ได้ว่าผลดี ซึ่งคนหนึ่งๆ ได้รับ ต้องมาจากกรรมดี ที่เขาได้ทำแล้ว และผลที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือกับใคร ไม่ใช่คนอื่นทำให้ เราทำเอง เพราะฉะนั้นจะไม่มีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นเรา เพราะว่าคำตอบก็คือเพราะต้องเป็นเรา ในเมื่อทำกรรมไว้แล้ว อย่างไร ก็ต้องเป็นเราที่จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เราจะให้คนอื่นมารับผลของกรรมที่เราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะไม่โกรธแค้นคนอื่น ไม่คิดว่าเป็นเขา ซึ่งทำให้เราต้องเสียใจต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าถ้าไม่มีกรรมของเรา อย่างไรคนอื่นก็ไม่สามารถจะทำให้เราเกิดทุกข์เดือดร้อนได้ เราก็จะมีความเบาสบายขึ้น เพราะว่าเข้าใจเหตุผลเพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง ความหมายของกรรม

ท่านอาจารย์ กรรมคือเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ซึ่งเป็นเจตสิก ชนิดหนึ่ง ในเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ชนิด สภาพธรรมที่เกิดกับจิต มี ๕๒ อย่าง ต่างกันแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งอย่าง เพราะฉะนั้นกรรม ได้แก่ความจงใจ ความตั้งใจ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เจตนา แต่ภาษาไทยพูดว่า เจตนา เราบอกว่าฉันไม่เจตนา แต่ความจริงเจตนาเจตสิกนี้ เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เราจะรู้หรือไม่รู้ เรายังไม่รู้อีกเยอะ แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า ขณะหนึ่งๆ ที่จิตเกิด มีสภาพเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งเราไม่มีทางจะรู้เลย เพราะว่าจิตเราก็ยังไม่เห็น ยังไม่รู้ เจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีจำนวนเท่าไร แต่จากการตรัสรู้ และการค่อยๆ ศึกษา จะทำให้เราเห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าตราบใดที่เรายังยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นของเรา จะไม่หมดความทุกข์ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วหมดไป ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ ก็สบายคือเราไม่มี เพราะฉะนั้นคนอื่นจะมีได้อย่างไร ก็คือ จิต เจตสิก รูป ก็คือสภาพธรรม ซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นต่างๆ เพราะฉะนั้นแต่ก่อนนี้ เราอาจจะมองเป็น คนนั้นไม่ดี คนนี้ดี ชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่พอศึกษาธรรมแล้ว เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่มีชื่อ กุศลจิตเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม ชั่วขณะที่เกิด และดับ แต่เราเรียกกุศลจิตนั้นว่า คนนั้นกำลังทำความดี แต่ความจริงก็คือ สภาพของจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งดีเกิดขึ้น ทำความดี และดับไป ถ้าเวลาที่อกุศลจิตเกิด ตอนนี้รบราฆ่าฟันกันเยอะ รอบบ้านเรา แต่ก่อนนี้แล้วก็ใส่ชื่อเป็นคนชาตินั้น ชาตินี้ แต่จริงๆ แล้ว มองให้เข้าใจลึกซึ้งก็คือ สภาพของจิตต่างๆ กัน ซึ่งเป็นอกุศล ที่สามารถจะกระทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ หมดความเป็นเชื้อชาติ หมดความเป็นชื่อต่างๆ เห็นแต่ว่าเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่างเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราก็มีปัญญา ที่จะเห็นว่าควรจะอบรมสะสมธรรมฝ่ายดี และก็ควรที่จะขัดกล่าวธรรมฝ่ายไม่ดี แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่ต้องด้วยการเข้าใจธรรมมากขึ้น เห็นความจริงเพิ่มขึ้นว่าเป็นอนัตตา ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย

ผู้ฟัง ฟังจากท่านอาจารย์ว่า จิตเกิด จะมีเจตนาด้วย นั่นแสดงว่าทุกอิริยาบถของจิตที่เกิดดับ มีกรรมตามขึ้นมา

ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าเจตนาเกิดกับจิตทุกชนิด เพราะฉะนั้นเกิดกุศลจิต ก็เป็นกุศลเจตนา เกิดอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลเจตนา ถึงแม้ว่าจะทำกรรมหรือไม่ทำกรรม จะหลับ จะตื่น เจตนาก็ต้องเกิดกับจิตประเภทนั้นๆ อยู่แล้ว แต่ว่าเจตนาในขณะที่นอนหลับ ใครรู้บ้าง ไม่รู้ ขณะที่ตื่น รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ขณะที่เห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เขาเป็นชาติวิบาก คือเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเจตนาจะไปทำกุศลไม่ได้ จิตเห็นเจตนาที่เกิดคิดเห็น จะไปทำกุศลเป็นบุญเป็นบาปอะไรไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ที่ทำให้เจตนานี้เกิดพร้อมจิตที่เห็นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเจตนามีหลายระดับขั้น เวลาที่โกรธ อยากจะทำอะไรบ้าง ขณะนั้นเจตนาเกิดแล้ว ที่จงใจจะทำอย่างนั้นๆ ที่ไม่ดี เวลาที่กุศลจิตเกิด อยากจะทำอะไรบ้าง อยากจะไหว้พระสวดมนต์ หรือช่วยเหลือคนอื่น ให้ทาน ขณะนั้นเป็นเจตนา คือความจงใจที่เป็นกุศล ที่พอเห็นได้ เพราะฉะนั้นสภาพของเจตนาที่ปรากฏ ที่พอจะรู้ได้ก็คือ เมื่อเป็นกุศล หรือเมื่อเป็นอกุศลเท่านั้น แต่เวลาที่เกิดกับจิตอื่นๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แต่แม้กระนั้นเจตนาก็ต้องเกิดขึ้นทำกิจของเจตนา เพราะฉะนั้นคำว่าอนัตตากว้างขวาง และรวมธรรมไว้มาก ทั้งที่เรายังไม่เคยรู้ แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะไม่รู้อะไรบ้าง เริ่มไม่รู้ มีความขวนขวาย เพียรที่จะรู้ ที่จะฟังอีก เพื่อที่จะให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่รู้ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าสอนอะไรก็สอนไป เราก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ควรที่จะรู้ว่า พระองค์ตรัสรู้ แล้วทรงแสดงธรรม ซึ่งเราสามารถที่จะได้ยิน ได้ฟัง พิจารณาเข้าใจได้ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงในตอนต้นคือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาของตนเอง ดีกว่าปัญญาของคนอื่นไหม เที่ยวไปถามเขา ฉันถึงญาณไหนบ้าง รู้อะไรบ้าง นั่นไม่ใช่ปัญญา ไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ว่าขณะใดที่เข้าใจ เราเองเป็นผู้รู้ว่าเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ก็รู้ว่าไม่เข้าใจ ก็ถูก คือเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ขณะที่ไม่เข้าใจ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เข้าใจเท่านั้นเอง แล้วกลับมาไม่เข้าใจอีกก็ได้ ไม่ใช่ว่าเข้าใจ คือปัญญาจะต้องเกิดตลอดเวลา ปัญญาเกิดแล้วก็ดับ เช่นเดียวกับโทสะเกิดแล้วดับ โลภะเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งไม่เที่ยงเกิดดับ จะเป็นสุขไปไม่ได้เลย แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย เมื่อรู้อย่างนี้ ปัญญาเกิดแล้ว พุทธศาสนาจริงๆ “ละ” ยากไหมเรื่องละ ยากแสนยาก แต่ควรไหมที่จะละ แสดงว่ามีสิ่งซึ่งเรารู้ว่ายาก แต่ว่าเป็นสิ่งที่ควรอบรม เพราะฉะนั้นเราก็ฟังธรรม เพื่อให้ปัญญาเกิด ทำกิจของปัญญา คือละความต้องการ เพราะฉะนั้นถ้ามีการชักชวนในเรื่องใดก็ตาม ที่จะให้เกิดการได้ ขณะนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นคำที่ทำให้เราเกิดปัญญาแล้วละ นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สิ่งที่จะต้องละ หรือควรละอย่างยิ่ง ก็คือโลภะ และอวิชชา ความติดข้องกับความไม่รู้ ทำไมจึงเป็น ๒ อย่าง ให้เห็นว่าเรา ติดข้องตั้งแต่เกิด เป็นความจริง แต่เราไม่รู้ เห็น ติดแล้ว ทันทีที่เห็น ติดทันทีในสิ่งที่เห็น


หมายเลข  6376
ปรับปรุง  10 ธ.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ