ปกิณณกธรรม ตอนที่ 86
ตอนที่ ๘๖
ท่านอาจารย์ สิ่งที่จะต้องละหรือควรละอย่างยิ่ง ก็คือโลภะ และอวิชชา ความติดข้องกับความไม่รู้ ทำไมจึงเป็น ๒ อย่างนี้ เพราะเหตุว่าเรา ติดข้องตั้งแต่เกิด เป็นความจริงไหม แต่เราไม่รู้ เห็น ติดละทันทีที่เห็น ติดทันทีในสิ่งที่เห็น ทันทีที่ได้ยินเสียงก็ติดในเสียง ทันทีที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้เรื่อง คิดนึก ถ้าเราไม่ใช่คนที่กำลังโกรธเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่เราเกิดคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น เราจะคิดด้วยความติดข้องในเรื่องที่คิด ถ้าเราไม่ติดข้องในเรื่องนั้น เราก็คิดเรื่องอื่นใช่ไหม แม้แต่ความคิดของเรายังต้องคิดด้วยโลภะ ด้วยความติดข้องในแต่ละเรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ หนีรอดพ้นไปจากโลภะเมื่อไหร่ ทางตาเห็นติดทันที ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นจึงนำมาซึ่งทุกข์ เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเรื่องราวต่างๆ มีชั่วขณะที่คิด จิตคิดไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน แต่หลังเห็น และจิตคิด หลังได้ยินแล้วจิตคิดต่อ หลังจากได้กลิ่นแล้วจิตคิดต่อ เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา เหมือนโลกใบหนึ่ง โลกใบเดียว โลกของคนเดียว ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับกระทบกับสิ่งนั้นนิดนึงแล้วก็คิด สิ่งที่กระทบไม่เหลืออยู่เลย แต่ความคิดจับไว้แน่น แล้วก็จำไว้เหนียวแน่นว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่ามีเราตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว รู้ว่าจิต เจตสิก รูป เกิดแล้วดับตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริง จะรู้ได้ว่าเวลาที่ไม่รู้ เราติด แต่เวลารู้ เราค่อยๆ ละ แต่ว่าไม่ใช่ละฮวบฮาบทันที จะหมดกิเลสวันนี้ บ่ายนี้ เดือนนี้ แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกก็ละความไม่รู้เพิ่มขึ้น ละความติดข้องเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการละแสนยาก แต่ว่าต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าธรรมเป็นเรื่องละ จึงจะเป็นธรรมที่ถูกต้อง เพราะว่าผู้ที่เห็นโทษของความติดจึงจะสอนว่า สิ่งที่ควรละคือความติดข้อง ซึ่งเป็นโลภะ และทรงแสดงหนทางที่จะละความติดข้องด้วย คือการอบรมเจริญปัญญา
ผู้ฟัง แล้วปฏิบัติอย่างไรฌานจึงจะเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นสมถะความสงบหรือว่าวิปัสสนา คือ การอบรมเจริญปัญญา ต้องมีสติสัมปชัญญะ และปัญญา ถ้าขาดปัญญาแล้วทำอะไรไม่ได้ ผิดหมด แม้แต่สมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ แม้แต่มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่จะต้องทุกอย่างถูก เพราะปัญญาเห็นถูกเข้าใจถูก ทุกอย่างผิด เมื่อมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด เราจะสังเกตได้ว่าเราหนีโลภะยากเหลือเกิน หลบหลีกไปทางไหนๆ ก็ไม่พ้น ถ้าไม่มีปัญญา อย่างทุกวันเราอยู่บ้านเราก็ติดทางตา เราก็ขวนขวายหาสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทางหู มีเพลงเพราะๆ ทางจมูกก็กลิ่นหอม ทางอาหารก็ปรุงแต่งอย่างประณีต ทางกายก็ที่นอนอะไรทุกอย่าง เครื่องใช้ทุกอย่างก็ต้องเป็นเรื่องความสะดวกของกาย นี่คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า โผฏฐัพพะ มีใครบ้างที่ไม่ต้องการ ไม่มีมีใครบ้างที่ไม่ติด ก็ไม่มีอีก เพราะฉะนั้นเวลาที่จะหันมาธรรม โลภะก็ตามมาอีก ผลอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร นี่คือโลภะทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องเห็นตัวนี้ คือตัวโลภะ จึงจะละโลภะได้ แต่ถ้าไม่เห็นโลภะก็ตามโลภะไปหมด ไม่ว่าจะไปที่ไหน โลภะสามารถที่จะติดข้องแม้ในกุศล ทำกุศลเสร็จ ผลเท่าไหร่ ทำอย่างนี้ได้ผลมากไหม และได้ผลอย่างไรบ้าง คือมุ่งหน้าแต่จะต้องการผล แต่ไม่ได้มุ่งหน้าที่จะรู้ว่า นี่กำลังติดในผล ทำอย่างไรถึงจะละความติดข้องเหล่านี้ได้ ซึ่งเครื่องละ ต้องเป็นปัญญาอย่างเดียว ถ้าไม่มีปัญญาอย่าไปคิดว่าจะละกิเลสได้โดยวิธีทำอย่างไรก็ตามแต่ จะทำอย่างนี้อย่างนั้น ๑๐ วัน ๒๐วัน ก็ละโลภะไม่ได้ เพราะว่าทำไปด้วยโลภะ ทำไปด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ทางที่จะละมีทางเดียวคือมีปัญญา และต้องรู้ด้วยว่าปัญญาคือความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เราไปทำอย่างอื่นแล้วจะเข้าใจเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร เราเกิดโลภะเดี๋ยวนี้ เราเกิดโทสะเดี๋ยวนี้ เราเกิดสุขกับสิ่งที่พบที่ได้ยินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวนี้ แล้วเราจะละกิเลสเหล่านี้ได้อย่างไร เทียบดูพระอรหันต์ท่านก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายเหมือนเราทุกอย่าง แต่ท่านไม่มีกิเลสเมื่อไหร่ เห็นแล้วกิเลสไม่เกิด ความต่างกันคือ ผู้ที่ไม่มีปัญญาเห็นแล้วอกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นก่อนจะถึงพระอรหันต์ที่จะดับกิเลสต้องเห็นแล้วปัญญาเกิด ได้ยินแล้วปัญญาเกิด ทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงปัญญาระดับที่ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับ แล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ดับกิเลสตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้นปัญญาอยู่ตรงนี้ ตรงเห็นแล้วก็ไม่เคยมีปัญญาเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นฟังแล้วเข้าใจ จนถึงการละ ซึ่งสติจะระลึกแล้วก็รู้ความจริงของเห็น ตามที่ได้ฟังอย่างแม่นยำไม่หลงลืมว่าเป็นธรรมมีลักษณะอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดเมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส ไม่ใช่ไปนั่งธรรม ถ้านั่งธรรมแล้วจะรู้อะไรเท่าตาที่กำลังเห็น เท่าหูที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกตั้งแต่ต้นทีเดียวว่า ปัญญารู้อะไร รู้เมื่อไหร่ ถ้าเป็นผู้ที่ไปนั่งธรรมจะตอบไม่ได้เลยว่า ปัญญารู้ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ เพราะชีวิตของเราในวันหนึ่งก็มีเท่านี้เอง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เท่านี้ แล้วปัญญาจะไปรู้อย่างอื่นได้อย่างไร ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็ต้องรู้อย่างนี้เหมือนพระอรหันต์ที่พอเห็นแล้วรู้ ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์พอเห็นแล้วก็ต้องรู้จนกว่ากิเลสจะดับ จนกระทั่งเมื่อเห็นแล้วปัญญาก็เกิดสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเอา ไม่ใช่เป็นเรื่องได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ แต่เป็นเรื่องเข้าใจถูก จะใช้คำว่าปัญญาก็ได้ คือขณะนี้เองที่ฟังกำลังอบรมเจริญวิปัสสนาได้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีการฟังขั้นต้นอย่างนี้ให้เข้าใจ วิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ แต่เป็นจีระกาลภาวนา เพราะฉะนั้นก็คงไม่ต้องรีบร้อน เพราะว่ารีบร้อนก็ไปไหนไม่ได้ วนอยู่ในอ่าง เพราะฉะนั้นที่ฟังพระธรรมเพราะเห็นว่าไม่รู้จึงต้องเรียน พระพุทธศาสนาจุดเด่นคือ พูดถึงเรื่องสัจจธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และยังแสดงลักษณะจริงๆ ของธรรมนั้นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่พูดเรื่องสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่ใช่พูดเรื่องที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมาเพราะคนนั้นคนนี้ หรือว่าเกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ว่าทุกอย่างที่เกิด มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ที่เราใช้คำที่เราได้ยินบ่อยๆ ปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิด โดยไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดไม่ได้ ต้องมี นี่คือจุดเด่น จุดเด่นคือสัจจธรรม จริงทุกคำ โลภะเกิดดับไหม ถ้าไม่มีเหตุให้โลภะเกิด โลภะจะเกิดไหม โทสะเกิด และดับไหม ถ้าไม่มีเหตุให้โทสะเกิด โทสะจะเกิดไหม ปัญญาเกิด และดับไหม ถ้าไม่มีเหตุให้ปัญญาเกิด ปัญญาจะเกิดได้ไหม
ผู้ฟัง คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ทำไมเราจะต้องมาเกิด มีพ่อมีแม่คนนี้ มีพี่น้อง มีครอบครัวแบบนี้เป็นเพราะอะไรเราถึงต้องมาเกิดในสภาพ คือเราเลือกไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรา น่าสงสัย แต่ถ้าเป็นธรรมหรือเป็นธาตุซึ่งไม่มีใครบังคับบัญญชา แล้วแต่ปัจจัยจะหมดความสงสัย แล้วไม่ใช่แต่สงสัยว่าทำไมเราถึงได้มาเกิดอย่างนี้ ทำไมเห็นอย่างนี้ ทำไมได้ยินอย่างนี้ ต้องตามไปหมดเลย ทำไมๆ ทั้งนั้น เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ต้องได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ กันไป ต้องมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้นว่าเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ทำให้กรรมนั้นสำเร็จ แม้ขณะที่ผลยังไม่เกิด จงใจจะเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ จงใจจะขโมยของของคนอื่น นี่เพิ่มกำลังขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ากำลังนั้นมีมากก็จะทำให้จิตซึ่งเป็นจิตอีกประเภทหนึ่งคือเป็นผลของกรรม ภาษาบาลีใช้คำว่า วิบากจิต กุศลเป็นเหตุ ทำให้เกิดกุศลวิบาก คือคือจิตที่ดีที่เป็นผล ถ้าอกุศลเป็นเหตุก็จะทำให้เกิดอกุศลวิบากจิต คือผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นผลของอกุศลกรรมควรจะทราบ ถ้าเราไม่ทราบก็เหมือนกับพูดเลื่อนลอย พูดเรื่องกรรม พูดเรื่องผลของกรรม แต่ถ้าเราจะเอาชีวิตจริงๆ จะเห็นชัดว่าผลของกรรมเริ่มเมื่อไร เริ่มตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดในโลกนี้ เพราะเราเลือกไม่ได้ กรรมทำทุกอย่างจัดสรรไว้เสร็จ ที่ว่าคนนี้จะเกิดที่นี่ มีครอบครัววงษาคณาญาติ ลาภยศสรรเสริญต่อไป ตามกำลังของกรรม เพราะว่ากรรมเราทำไว้มาก กรรมดีไม่ได้มีกรรมเดียว กรรมดี แล้วก็กรรมดีมากขึ้นอีก แล้วก็กรรมดีกว่านั้นอีก ประณีตอีก แล้วกรรมดีมากอีก อยู่ที่กรรมไหนจะให้ผลตามลำดับขั้นของกรรม ถ้าเป็นกรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้ผลเราเกิดมาเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ แต่ถ้ากรรมนั้นดีประณีตมากก็ทำให้ผลนั้นประณีตขึ้นไปอีก เป็นเศรษฐีมหาศาล เป็นคหบดีมหาศาล เป็นกษัตริย์มหาศาล ตามกำลังของกรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าใครจะเลือก ถ้าเป็นคนมองไม่ออกว่าใครทำ แต่ว่าถ้าเป็นเหตุเป็นผล แล้วแต่กำลังของเจตนา ถ้าเป็นอกุศลก็เหมือนกัน แล้วแต่การให้ผลของกรรม เพราะว่าอย่างเราทุกข์ ต้องมีการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่จะเจ็บมากเจ็บน้อยทำไว้ขนาดไหนก็ได้ผลของกรรมขนาดนั้น ไม่ต้องมานั่งถามว่าทำไมฉันเจ็บมากกว่าเขา ทำไมเขาไม่เจ็บเท่าฉัน
ผู้ฟัง กรรมที่ทำดีในปัจจุบันจะสามารถแก้กรรมในอดีตได้ไหม
ท่านอาจารย์ อย่าไปคิดแก้สิ่งใดที่จบไปแล้วเอามาแก้ยังไง เพราะเหตุว่าสิ่งที่จบแล้วหมดแล้วแก้ยังไง เช่น เมื่อสักครู่รับประทานอาหารหมดไปแล้ว เอามาแก้ได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นได้เลย เอาอะไรมาล้างอะไร เพราะฉะนั้นเราจะคำหลายคำ ที่ทำให้เราเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน แล้วเราก็ยังฟังคำนั้น ใช้คำนั้นอยู่ ทำไมเราไม่เลิกใช้คำผิด แล้วก็เริ่มใช้คำที่ถูกเสีย กุศลกรรมทำจบแล้ว จบแล้วแก้ยังไง อกุศลกรรมทำจบแล้ว จบแล้วแก้ยังไง แต่ว่ากรรมใหม่ทำได้ แล้วก็เมื่อกรรมนี้ให้ผล ก็ให้ผลดี ซึ่งเราเรียงลำดับไม่ได้ว่าเอาอันนี้มาก่อนนะ ฉันรีบๆ ทำอันนี้ เพราะว่าอันนี้จะได้มา เพราะเหตุว่าเราก็จะเห็นคนซึ่งทำความดี แต่ก็ยังได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นใครจะไปนั่งจัดระเบียบจัดการซึ่งจัดไม่ได้ ยังไงก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมซึ่งวิบากเกิดเพราะว่าสุกงอม กรรมพร้อมจะให้ผล ซึ่งกรรมมีเยอะ แล้วแต่กรรมไหนจะให้ผล
ผู้ฟัง ถ้าหากว่าความเข้าใจในขั้นการฟังเริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แม้กระทั่งอย่างที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ในขณะที่ให้ทานก็เป็นเพียงแต่จิตเกิดขึ้น ที่จะคิดให้ในทาน ความเข้าใจในขั้นการฟังก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ แต่สติก็ยังไม่เกิด เพราะให้ทานทีไรก็เป็นเราให้ทุกที
ท่านอาจารย์ แสดงว่าหวังรอสติ ไม่เกิดก็คือไม่เกิด เกิดก็คือเกิด สบายดีไหมแบบนี้ เพราะเรื่องละความหวัง ขอให้ทราบว่าถ้ายังไม่เริ่ม ไม่มีทางถึง แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องละ การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม รู้ด้วยการละ ต้องละสมุทัย จึงจะแจ้งนิโรธ ไม่ใช่ว่าเต็มไปด้วยความต้องการแล้วก็จะไปประจักษ์ลักษณะของพระนิพพานได้ แล้วการละ ละแสนยากถ้าไม่เริ่มละไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ละสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น อย่างเวลานี้เห็นแล้วว่ามีความต้องการ แต่ก่อน ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ เสร็จแล้วพอฟังธรรมก็ต้องการผล ต้องการอันนี้ละ ไม่ต้องการอันนั้นละ ก็ยังเป็นความต้องการอยู่ ทำไมเราไม่คิดแค่ว่าปัญญาเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของเรา เราทำปัญญา ทำได้หรือ ถ้างั้นเราก็ทำได้ยินได้ เราก็ทำเห็นได้ เราก็ทำทุกอย่างได้ แต่ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นปัญญาคือความเข้าใจ เราก็เป็นผู้ตรงว่าเราเข้าใจแค่นี้คือแค่นี้ ฟังอีกก็เข้าใจอีก เวลาสติเกิด ก็มีความรู้ในขณะที่สติเกิดว่า นี่เป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เรา อย่างนี้คือสัมมามรรค ไม่ใช่ไปหวังรอ แล้วเมื่อไหร่ปัญญาจะเกิด เมื่อไหร่มรรคจะเกิด แล้วเมื่อไหร่สติจะเกิด ฟังมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี นั่งนับไปแล้วเมื่อไหร่อีก ถ้ามีแล้วเมื่อไหร่อีก ก็แสดงว่ายังไม่พ้นโลภะ
ผู้ฟัง ได้ฟังท่านอาจารย์แล้วก็ยังคิดว่ารู้ว่ากุศลจิต กุศลกรรมเป็นสิ่งที่ดีที่งาม เป็นสิ่งที่ควรทำ ส่งเสริม หรือสะสมให้มากยิ่งขึ้น การคิดอย่างนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการติดข้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเราหวังว่าจะเอาอย่างอื่นมาทำให้เกิดอย่างนั้นขึ้น นั่นคือการติดข้อง แต่ถ้าเราทำเลยทันทีไม่มีโลภะมากั้นเลย เพราะฉะนั้นขอให้คิดว่า ต้องการใส่บาตร อยากจะใส่บาตร กับใส่บาตร ขณะไหนเป็นกุศล แต่ตอนอยากทำไมไม่ทำ ได้แต่อยาก ฉะนั้นเวลาที่เราทำก็คือว่ามีความตั้งใจที่จะทำ ไม่ใช่อยากจะทำ แต่ตั้งใจความตั้งใจไม่ใช่ความอยาก ความตั้งใจเป็นกุศลตั้งใจจะทำ แต่ถ้าใครก็ตามอยากทำ อยากทำบุญที่นั่น อยากทำอย่างนั้นที่นี่ อยากใส่บาตร ก็เรื่องอยากหมดเลย ทำไมจึงจะต้องอยาก ทำก็คือทำ กุศลจิตก็คือกุศลจิต ซึ่งมีความตั้งใจซึ่งเป็นบุพเจตนาได้ ไม่ใช่ความอยาก อย่างเราคิดจะอ่านพระไตรปิฎก เราก็ไปหาหนังสือมาแล้วเราก็อ่าน ถ้าเราอยากอยู่นั่นแล้วไม่เห็นอ่านสักที ก็นั่งอยาก แสดงให้เห็นถึงความต่างกันโดยละเอียด อกุศลเข้ามาเมื่อไหร่ ครอบงำเมื่อไหร่โดยไม่รู้ตัว คนที่ไม่รู้จักโลภะจะไม่รู้จักโลภะเลย ไม่รู้จักจริงๆ เขาอยู่กับตัวตั้งแต่เกิด แล้วแต่ว่าเขาต้องการอะไร หามาให้หมด ที่หามาคือหามาให้โลภะความติดข้อง แล้วจะพ้นจากเขาได้ยังไง ถ้าปัญญาไม่เกิด ขอให้ทราบอย่างนี้ หนีไม่พ้น ต้องมีปัญญา ไม่ใช่มัวนั่งอยากจะมีปัญญาอีกไม่ได้ ถ้าอยากจะมีปัญญาก็คือเขานั่นแหละ ปัญญาคือสิ่งที่ดีงาม แต่อยากนั้นเป็นโลภะเพราะว่าโลภะติดข้องแม้แต่กุศลได้ แต่ตรงกันข้ามแล้ว ตั้งใจจะทำดีไม่ใช่อยาก ตั้งใจเป็นบุพเจตนา ความเข้าใจในขั้นการฟังนั้นละเอียดมากต้องฟังเพื่อละ ทำหรือไม่ทำอยู่ที่ว่าเข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องทำผิด อยากอยู่นั่นแหละ
จะไม่มีคำถามว่าทำอย่างไร แล้วเมื่อไหร่สติจะเกิด เมื่อไหร่ปัญญาจะเกิดมากๆ จะไม่มีคำถามเหล่านี้เลย ถ้าใครถาม แสดงว่าขณะนั้นจิตเป็นอะไรยังไม่รู้เลยว่าเป็นโลภะแล้ว
ผู้ฟัง เราก็คงจะต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ แล้วให้ความเข้าใจทำหน้าที่ปฏิบัติกิจความเข้าใจของเขาเอง
ท่านอาจารย์ แล้วอย่าลืมว่า พุทธศาสนารู้แล้วละ ถ้าไม่ละเมื่อไหร่โลภะจะมาทันทีเร็วมาก พร้อมเสมอทันที ไม่ต้องเรียกอยุู่ใกล้ๆ คอยอยู่แล้ว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นฟังกันมาตั้งแต่ตอนต้น ปัญญาในขั้นการฟัง ปัญญาในขั้นการปฏิบัติพระธรรมจะต้องเป็นลักษณะแบบนี้ว่า ไม่ใช่เราเป็นผู้กระทำ
ท่านอาจารย์ ต้องฟังให้เข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตา คำนี้จะไม่พ้นไปเลย เพราะว่าเป็นสัจจธรรม
ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ลักษณะเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สมมติขณะที่เราหยิบปากกา แล้วเราก็รู้สึกแข็ง แล้วเราก็พิจารณาว่า นี่ก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เราพิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ บ่อยๆ ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ นั่นคิดใช่ไหม เพราะฉะนั้นยังมีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คิด แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หลังจากที่คิดบ้างฟังบ้างมาเรื่อยๆ แต่จะมีการระลึกตรงลักษณะซึ่งยังไม่ทันจะคิด แต่ลักษณะนั้นปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจหรือรู้ขึ้นตามที่เคยคิดหรือเคยพิจารณามาแล้ว
ผู้ฟัง บางทีบางขณะไม่ได้คิด แต่พอกระทบแข็งปุ๊บ ก็มีความรู้สึกว่า สภาพแข็งปรากฏ อย่างนี้คือ
ท่านอาจารย์ เริ่มที่จะรู้ลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรม เพราะว่าแต่ก่อนนี้เคยกระทบสัมผัสบ้างอะไรบ้าง แต่ขณะนี้รู้ว่าขณะนี้มีสภาพนี้กำลังปรากฏ พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ต้องคิด แล้วเราจะรู้เลยว่าแม้ไม่คิดก็สามารถจะรู้หรือค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ ก็เป็นอีกระดับ นี่คือมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสติเพราะเหตุว่าไม่มีตัวที่ไปกำกับหรือจงใจทำให้เกิด
ผู้ฟัง เรื่องของการให้ทานเพื่อปรุงแต่งจิตแปลว่าอะไร มีความหมายอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าให้ทานหวังผลคือไม่ได้ปรุงแต่ง จิตก็ยังติดข้องอยู่เหมือนเดิม คือต้องการผล แต่ว่าให้ทานโดยไม่หวัง รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วการกระทำนั้นเป็นการทำเพื่อทานจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพื่อตัวเราจะได้ผล หรือว่าเพื่อตัวเราจะได้มีกุศลมากๆ หรือว่าอะไรก็ตามแต่ อย่างนั้นคือ อัตตาธิปไตย แต่ถ้าให้ทานเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อธรรมจริงๆ เป็นธรรม ธรรมเท่านั้นเองที่ทำ ขณะนั้นปรุงแต่งที่จะละคลายความเป็นตัวตน
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดว่า ให้ทำอย่างนั้นๆ เป็นเราทำ หรือว่า สภาพธรรมทำ