ปกิณณกธรรม ตอนที่ 88
ตอนที่ ๘๘
ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่สุข ขณะนั้นเป็นอะไร
ผู้ฟัง เวลาที่ไม่สุข เป็นทุกข์
ท่านอาจารย์ และเวลาที่ไม่สุขไม่ทุกข์เป็นอะไร เวลาไม่สุขไม่ทุกข์ มีไหม มี คือเรื่องจริงต้องเป็นเรื่องจริง เราค่อยๆ ไปหาความจริงทีละเล็ก ทีละน้อย กว่าเราจะรู้ว่ามันคืออะไร พยายามให้ทุกคนหัดคิด ชีวิตที่เราพูดกันทุกวันเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อยากจะทราบว่า เวลาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ต้องมีแน่นอน มีหรือไม่มีเวลาที่ไม่สุขไม่ทุกข์ มี ขณะนั้นเป็นอะไร เป็นเฉยๆ ก็มีจริงๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เรากำลังจะเข้าไปหาความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีการสอนที่ไหนเลย ในโรงเรียนไหนมีสอนเรื่องนี้บ้าง
ผู้ฟัง สอนในหัวข้อเฉยๆ
ท่านอาจารย์ สอนเรื่องสุข เรื่องทุกข์ไหม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมละเอียดมาก ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้จนใกล้จะปรินิพพาน แล้วสืบทอดมา เป็นพระไตรปิฎก เป็นอรรถกถาเยอะแยะ แต่ว่าเราเรียนตลอดชีวิตไม่จบ อย่าคิดว่าเพียงฟังวันนี้แล้วเราจะเข้าใจได้ แต่เราเริ่มที่จะคิดแล้วว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตอย่างที่คุณยุ้ยตอบเมื่อกี้ว่า คือความสุข แต่ความสุขไม่ตั้งอยู่นานเลย บังคับให้สุขได้ไหม บังคับให้ทุกข์ได้ไหม บังคับให้เฉยๆ ได้ไหม เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุที่จะให้ความรู้สึกเป็นสุขเกิด ความรู้สึกเป็นสุขก็ต้องเกิด ถ้าเกิดป่วยไข้ขึ้นมาที่กาย และจะไปบอกว่าไม่ให้เจ็บ ไม่ได้ ไม่มีอะไรได้เลยสักอย่าง
ผู้ฟัง บนบานศาลกล่าวก็ไม่ได้ ไม่ได้ใช่ไหม ผิด
ท่านอาจารย์ หมายความว่าสิ่งใดที่เกิดแล้ว เราจะเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม อย่างที่กายถ้าเกิดเจ็บปวด แล้วเราจะบอกเจ็บปวด เจ็บให้เป็นสุขได้ไหม
ผู้ฟัง เจ็บให้เป็นสุขไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะมาถึงคำหนึ่ง ซึ่งครอบจักรวาลคือคำว่า อนัตตา หมายความว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดในโลก ในแสนจักรวาล นอกโลก ที่ไหนก็ตามแต่ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร นี่คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตรัสรู้ว่าสิ่งที่มีจริงอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพอพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็จะไปเปลี่ยนแปลงคนโง่ ให้เป็นคนฉลาด หรือว่าความเจ็บ ให้กลายเป็นความสุข อย่างนี้ไม่ใช่ แต่ว่าแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุ มีปัจจัย มีหลายๆ อย่างปรุงแต่งรวมกันทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และสิ่งใดๆ ก็ตามที่เกิดแล้ว ไม่มีสิ่งใดซึ่งยั่งยืน ทุกอย่างที่เกิดจะหมดไปอย่างเร็วมาก ซึ่งเราจะใช้อีกคำหนึ่งก็ได้ คำว่าเกิด เมื่อไม่มีแล้วเกิดมีขึ้น และมีขึ้นก็หมดไป เวลาที่หมดไป ที่จะไม่กลับมาอีกเลย เราใช้คำว่าดับ เหมือนกับไฟดับ ไฟที่ดับจะกลับมาอีกไหม ไม่มีทางที่จะกลับมาได้อีกเลย แต่ถ้าจะมีไฟไหม้เกิดขึ้นได้ ต้องมีเชื้อไฟอันใหม่ ทำให้ไฟอันใหม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้น และก็ดับไป ดับไปแล้วเกิดขึ้นอีก แต่ไฟใหม่ ไม่ใช่ไฟเก่า เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริงๆ ในโลกนี้ ที่เกิดปรากฏ ให้รู้ว่ามีจริง แท้ที่จริง และดับเร็วมากเร็ว จนเราไม่รู้เลยว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ และทั้งหมดนี้คืออนัตตา หมายความว่าไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่เป็นของใครทั้งสิ้น เคยได้ยินคำว่า ธาตุ ใช่ไหม พูดถึงธาตุ มีใครเป็นเจ้าของธาตุอะไรบ้าง ธาตุทอง ใช้ได้ไหม ธาตุเงินใช้ได้ไหม แล้วถ้าไปเรียนหนังสือก็มีธาตุอีกหลายธาตุ เยอะแยะหมด แล้วมีใครเป็นเจ้าของบ้าง ต้นไม้ ใบหญ้าที่เกิดมามีใครเป็นเจ้าของบ้าง ไม่มี นอกจากต้นไม้ ใบหญ้า ที่ตัว ที่ร่างกายของเรา มีใครเป็นเจ้าของบ้าง ไม่มี แล้วที่ตัวนี้ มีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่มีเจ้าของ
ผู้ฟัง ไม่มีอะไรที่เราเป็นเจ้าของได้เลย เช่นร่างกายเรา หรือ พ่อแม่เรา หรือจะเป็นทุกคนที่เราเห็น ทุกสิ่งที่เราเห็น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ท่านอาจารย์ นี่ตัวเราหรือเปล่า ใช่ เราเป็นเจ้าของตัวนี้หรือเปล่า
ผู้ฟัง คำว่าเจ้าของหมายถึงว่า เราจะยึดติดมันได้ไปตลอดหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่ามันเหมือนกับของเรา อย่างตาของเรา หูของเรา ใจของเรา ความรู้สึกของเราใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เราต้องเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาละเอียด และลึกซึ้ง แล้วก็ยาก ต้องยากแน่นอน ถ้าง่ายก็มีพระอรหันต์เยอะแยะ มีพระโสดาบัน มีอะไรมากมาย แต่ว่าที่ยากเพราะเหตุว่า กว่าจะรู้ความจริงว่า ไม่มีเราเลย ที่นี่ ไม่มีใครสักคนเลย พอจะรับไหวไหม ไหวคือคนที่ฟังมาบ้างแล้ว แต่ที่คนฟังใหม่ๆ จะต้องคิดว่าเป็นไปได้ยังไง เพราะเหตุว่าสิ่งสำคัญที่สุดในโลก ลองคิดดูว่าคืออะไรแน่ เมื่อกี้คุณยุ้ยตอบว่าคือความสุข แต่ที่จริงแล้วคือชีวิต ถ้าไม่มีชีวิตนี้ จะมีความสุขไหม ไม่มีจะมีความทุกข์ไหม จะมีพ่อแม่ พี่น้อง มีตัวเราไหม ไม่มี เหมือนอย่างหญ้าที่อยู่ข้างนอก ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าสำหรับเวลาที่เกิดมีชีวิตขึ้น เมื่อมีชีวิตก็จะมีความรู้สึก แล้วก็มีความรู้สึกว่า นี่เป็นเรา นั้นเป็นเขาหรือเป็นใคร เพราะฉะนั้นที่น่าสนใจที่สุด ก็คือสิ่งที่มีชีวิต เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสิ่งที่มีชีวิต ก็จะไม่มีการรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินเลย อย่างโต๊ะเก้าอี้ไม่มีชีวิต เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้จะมีความสุขไม่ได้ จะมีความทุกข์ไม่ได้ จะมีความลำบากเดือดร้อนไม่ได้เลย แต่เมื่อมีชีวิต ถึงจะมีการรู้ว่าคนนั้นเป็นคน สิ่งนั้นเป็นอะไร สิ่งนี้เป็นอะไร เพราะฉะนั้นเพียงแต่ก่อนที่เราจะศึกษาธรรมเรารู้สึกว่าเรามีชีวิต และเราเข้าใจชีวิต แต่ถ้าศึกษาจริงๆ แล้ว เราก็ต้องมาถึงที่ละเอียดกว่านั้นอีกว่า ชีวิตคืออะไร ต้องมาถึงจุดนี้ด้วยว่าชีวิตคืออะไร ขณะนี้รู้ความต่างของสิ่งที่ไม่มีชีวิต กับสิ่งที่มีชีวิต แต่ก็ต้องถามว่า ชีวิตนี้คืออะไร พอที่จะตอบได้ไหม
ผู้ฟัง ชีวิตคือต้องมาใช้กรรม
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องพูดถึงกรรม ชีวิตคืออะไร เทียบคนตายกับคนเป็นแล้วจะค่อยๆ เข้าใจชีวิต คนตายมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่มี คนเป็นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต่างกันอย่างไร คนเป็นกับคนตาย ตรงไหนที่ต่างกัน เขาก็มีผม มีหู มีขา คนเป็นกับคนตายต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง คนเป็นมีเจ็บ คนตายไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่เราใช้คำว่าชีวิต ต้องหมายความถึงสภาพที่สามารถที่จะรู้ หรือรู้สึก หรือคิด อย่างนี้คือสิ่งที่มีชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มีจริง คนตายมีตาแต่ไม่เห็น มีหู จริงๆ แล้วก็เป็นแต่เพียงรูปร่างของหู แต่ตัวจักขุปสาทไม่มี เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีชีวิตอย่างเรา ที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ เพราะเหตุว่ามีสภาพที่สามารถจะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึก มีจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึง ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง เอาตัวเราออกหมดเลย พูดถึงแต่สิ่งที่มีจริงคือธรรม จะมีธรรม ๒ อย่าง ที่ต่างกันใหญ่ๆ อย่างหนึ่งก็เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ว่ามีจริงๆ อย่างแข็งมีจริง ถ้ามีจริงก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง กลิ่นมีจริง แต่กลิ่นไม่มีชีวิต แข็งไม่มีชีวิต ไม่สามารถจะรู้ได้ ไม่สามารถที่จะคิดได้ เพราะฉะนั้นถ้าแยกธรรมเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ส่วนที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ภาษาธรรมในการใช้คำว่า รูปธรรม คือทุกอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่เราเติมคำว่า รูปะ หรือ รูป เข้าไปหมายความถึง สภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย การศึกษาธรรมเวลานี้ เหมือนกับเรากำลังศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่เราได้ฟัง การที่เราเริ่มจะเข้าใจ สิ่งที่เราได้ฟัง คือการศึกษาชนิดหนึ่ง จะโดยฟัง โดยอ่าน โดยคิดอะไรก็ได้ แต่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นเราอาจจะเคยคิดเรื่องราวของชีวิต เรื่องโลก เรื่องอะไร แล้วแต่ ขณะนี้ไม่ต้องเอาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะว่าเป็นความรู้ใหม่อีกเรื่องหนึ่ง อีกศาสตร์หนึ่ง ซึ่งจะพูดถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ตามการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ก็ไม่มีใครสักคนหนึ่ง ที่จะเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แสดงว่าความรู้ของเขายังไม่สิ้นสุด แต่เวลาที่ใช้คำว่า”ตรัสรู้”หมายความว่า ทรงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมทุกอย่างไม่เว้นเลย ตามความเป็นจริงของสภาพนั้นๆ จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้เลย ไม่ว่านักวิทยาศาสตร์ หรือว่าศาสตร์อื่นๆ แพทย์ หรืออะไรก็ตาม อาจจะใช้คำที่ต่างกัน แต่ความรู้ของบรรดาหมอทั้งหลาย นักจิตวิทยาทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ยังไม่สิ้นสุด เพราะเห็นว่าไม่ใช่การตรัสรู้ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นใช้คำว่าตรัสรู้ เวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรม มีคนอื่นตรัสรู้ตามไหม ลองคิดดู มีคนอื่นตรัสรู้ตามไหม ไม่มีหรือ ถ้าอย่างนั้นคำสอนก็เป็นโมฆะ
ผู้ฟัง แปลว่าคิดได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ตรัสรู้ไม่ใช่ขั้นคิด ทุกคนคิดอะไรก็ได้ คนนี้คิดอย่าง คนนั้นคิดอย่าง อย่างนักวิทยาศาสตร์คิดอะไรขึ้นมาใหม่ๆ เสมอ ทฤษฎีก็เปลี่ยนไป อันเก่าเป็นอย่างนี้ อันใหม่ก็เปลี่ยนไปอีกก็ได้ แต่การตรัสรู้ เพราะประจักษ์ ใช้คำว่าประจักษ์แจ้ง คือเห็นชัดด้วยปัญญา ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ซึ่งละเอียดมาก ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนได้เลย จึงใช้คำว่าตรัสรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมแล้ว ให้คนอื่นเกิดความเข้าใจ อบรมเจริญปัญญา ถึงระดับที่จะรู้แจ้งอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำว่ารู้แจ้งอย่างนั้น ก็คือตรัสรู้ ซึ่งอีกคำหนึ่งใช้คำว่า “อภิสมัย” สมัยแปลว่าการเวลา อภิ แปลว่าว่ายิ่งใหญ่ ใหญ่ที่สุดของภพชาติ ไม่มีการใหญ่เท่ากับการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ก่อน และก็ได้ทรงแสดงพระธรรม เพราะฉะนั้นสาวก พระอริยสงฆ์ อย่างที่เราใช้คำว่าพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้หมายความถึงพระภิกษุที่บวช แต่หมายความถึง ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนสามารถที่จะรู้ความจริง โดยการตรัสรู้ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก่อน และได้ทรงแสดง อภิสมัยนี้ยิ่งใหญ่มาก คือการรู้แจ้งสภาพธรรมที่เราใช้คำว่า อริยสัจจ์ ๔ ทำให้คนนั้น พ้นสภาพความเป็นคนธรรมดาที่เราใช้คำว่า ปุถุชน คงได้ยินบ่อยๆ ที่บอกว่าฉันเป็นปุถุชน คนธรรมดา ก็ต่างกับผู้ที่เป็นพระอริยะ อริยะ คือผู้ที่เจริญ แต่เจริญที่นี่เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยความรู้ เจริญด้วยความดี ไม่ใช่เจริญทางด้านวัตถุ ที่เราใช้คำว่า อารยธรรม หมายความถึงทางด้านวัตถุ แต่ถ้าเป็นอริยบุคคล คนนั้นได้อบรมจิตใจจนกระทั่งสามารถ ที่จะรู้แจ้งความจริง บรรลุความดี ที่จะสามารถมีปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ จึงมีทั้งพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ พระสังฆรัตนะก็คือพระอริยบุคคล ถ้ามีแต่พระพุทธรัตนะ ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ตามได้ คำสอนก็เป็นโมฆะ ไม่ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงประกอบด้วยพระญาณมากมายมหาศาล สามารถที่จะรู้ว่า คนที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด อดีตชาติก่อนๆ นานแสนนานเป็นอะไร เพราะฉะนั้นปัญญาระดับของชาวโลกทั้งหมด อย่าเปรียบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ไม่ได้อบรมเหตุที่จะให้สมบูรณ์ถึงระดับนั้น ที่จะสามารถรู้ทุกอย่าง ทั้งอดีต และปัจจุบัน และถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยที่จะให้โลก กระแสของโลกเป็นอย่างไร ของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร ก็สามารถที่จะตรัสรู้ได้ ถ้ายิ่งศึกษาจะยิ่งเห็นว่าเป็นความจริง แต่ว่าเราก็ต้องเริ่มจากการที่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจว่าธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่จากการคิดค้น แต่จากการตรัสรู้หมายความว่าประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความหมายของธรรมแล้ว ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ แล้วผู้ที่ตรัสรู้ธรรมก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงแสดงธรรม เพื่อที่จะให้คนอื่นเข้าใจธรรม ตามที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วย คือทรงตรัสรู้ว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ พระจันทร์มีใครเป็นเจ้าของหรือเปล่า พระอาทิตย์ ดิน โลก น้ำ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แม้แต่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมด ก็เป็นธรรม ซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกที่เรากล่าวถึงคือ พูดถึงธรรมที่ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมมก่อนว่า สิ่งที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทางธรรมใช้คำว่าอะไร ทวนอีกครั้งหนึ่ง พูดมาตั้งนานจำได้ไหม
ผู้ฟัง รูปธรรม
ท่านอาจารย์ สมัยนี้คงได้ยิน วิทยุกับโทรทัศน์ เขาใช้คำนี้บ่อยๆ รูปธรรม แต่ภาษาไทยที่ใช้ หรือคำที่ชาวโลกใช้ เอาไปไว้ส่วนหนึ่ง ความหมายไม่เหมือนคำที่ใช้ในพระพุทธศาสนา เพราะว่าภาษาไทยเราใกล้ชิดกับภาษาบาลี เพราะฉะนั้นใช้คำภาษาบาลี โดยที่เราไม่เข้าใจความหมายจริงๆ แต่ขอยืมมาใช้ผิดๆ ถูกๆ ตามความคิดของเรา เพราะฉะนั้นตอนนี้เอาผิดออกไป ให้เหลือแต่ส่วนถูกที่เราจะเข้าใจจริงๆ ว่า ความหมายเดิม หมายความว่ายังไง ธรรมคือสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง แต่เพิ่มคำว่า รูปะหรือ รูป รวมกับธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายรูป หรือส่วนที่เป็นรูป ที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ที่ไหนบ้างมีรูปธรรม
ผู้ฟัง ก็มีอยู่ทั่วไป
ท่านอาจารย์ ที่ตัวมีไหม รอบตัวมีไหม ข้างบนมีไหม มี ไม่พ้นเลย ถ้าเข้าใจแล้ว จะรู้ว่าไม่พ้นจากธรรม นี่คือความรู้ แต่ก่อนไม่เคยรู้เลย ต้องไปแสวงหาธรรมที่ต่างๆ พยายามไปที่โน่น ไปที่นี่ แต่พอเข้าใจ เข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม เราเข้าใจรูปธรรมดีแล้ว หรือว่ามีใครอยากจะซักถามเรื่องรูปธรรมบ้าง เข้าใจทุกคนหรือเปล่า รูปธรรม รูปธรรมอยู่ในพระไตรปิฏกหรือเปล่า เราจะฟังทีละคำ แล้วก็ให้เข้าใจตามไปทีละคำ จะได้ไม่ลืม ไม่สับสน ที่เคยอ่าน เคยฟัง เคยรู้มาทั้งหมด ทิ้งไปเลย หรือว่ายังไม่ต้องมาเกี่ยวข้องที่นี่ จำไว้ เก็บไว้ แต่กำลังฟังสิ่งใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะศึกษาวิชาอะไรทั้งสิ้น อย่างในห้องเรียน คนที่กำลังพูดเรื่องอะไร เรามีหน้าที่ฟังให้เข้าใจ สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเท่านั้น ไม่ต้องเอาสิ่งอื่นมารวม เพราะเรากำลังฟังเรื่องนั้น ถ้าเขาจะพูดเรื่องปลูกต้นไม้ จะไปเอาเรื่องกับข้าวในครัว กับข้าว ขิง ข่า เราก็ไม่ไปเอา เรากำลังฟังเรื่องปลูกต้นไม้ เราก็ต้องฟังเรื่องต้นไม้คืออะไร เพราะฉะนั้นทุกวิชาหมด ไม่ว่าที่ไหน เวลาฟังก็คือหมายความว่า ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน ถ้าจะมีการสงสัย หรือว่าอยากจะถาม ก็คือว่าถามเรื่องที่เรากำลังได้ยินได้ฟังเท่านั้น เอาแค่ที่ได้ยินได้ฟัง ไม่เกินเลยไปถึงที่อื่น เพราะฉะนั้นเวลานี้ ที่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธาตุ ธา-ตุ หรือธรรม หมายความถึง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แล้วก็ไม่เป็นของใครด้วย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น เช่นเสียง เสียงนี้เกิดจากอะไร มีที่เกิดไหมเสียง อะไรเป็นที่เกิดของเสียง
ผู้ฟัง เสียงเกิดมาจากกล่องเสียงที่อยู่ข้างใน
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่กล่องเสียง มีเสียงได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ
ผู้ฟัง มี ถ้าเกิดเราทำให้มันเกิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทำแล้วยังจะมีเสียงไหม
ผู้ฟัง มี แต่เสียงเป็นเสียงที่เกิดจากคนอื่นทำ หรือเกิดจากสิ่งอื่นที่ทำให้เกิดเสียง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียงก็คือ ของแข็งสองอย่างกระทบกันแรงๆ เมื่อกี้ก็มีเสียง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิด เขาต้องมีสิ่งที่จะทำให้เกิด ซึ่งเราใช้คำว่าปัจจัย จะเกิดเองไม่ได้เลยทั้งสิ้น นี่คือการตรัสรู้ เพราะว่าโดยมาก เราเกิดมาแล้ว เราไม่เคยคิด เราเกิดมาอย่างไร ชีวิตต่อไปเราจะเป็นอย่างไร ทำไมวันนี้เราคิดอย่างนี้วันก่อนเราคิดอย่างหนึ่ง ทำไมเพื่อนเราคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่เคยคิดเลย แต่จากการตรัสรู้ ทรงแสดงความละเอียด ทุกเสี้ยววินาที และเล็กยิ่งกว่านั้นอีกคือ ทุกขณะจิต เพราะฉะนั้นนี่คือการตรัสรู้ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เวลาไม่รู้ก็คิดว่าเป็นสิ่งโน้น สิ่งนี้ แต่พอรู้แล้วก็คือธรรมทั้งหมด แล้วจะค่อยๆ เข้าใจความละเอียดของธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น ตอนนี้เข้าใจคำว่ารูปธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สิ่งที่มีจริง มีจริงเมื่อไหร่ ถามให้คิดอีก
ผู้ฟัง เมื่อที่มีเหตุให้เกิด
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงมีชั่วขณะที่ปรากฏ จริงในขณะที่ปรากฏ เฉพาะขณะที่ปรากฏ เสียงมีจริงเมื่อไหร่ จริงเมื่อเสียงกำลังปรากฏ พอไม่มีเสียงแล้ว จะบอกว่าเสียงเมื่อกี้นี้ ดับไปแล้ว ขณะนี้เสียงยังไม่ปรากฏ มีจริงไหม ขณะที่เสียงไม่ปรากฎ เสียงมีจริงไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มีเพราะไม่ปรากฏ ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นชีวิตของเราทุกขณะ ซึ่งเหมือนกับว่า ไม่เคยสูญหายไปเลย สักขณะเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย ให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วว่า ในขณะหนึ่ง มีชั่วขณะที่ปรากฏ ยกตัวอย่างเสียง เสียงมี เมื่อปรากฏ แต่เวลาเสียงไม่ปรากฏ จะบอกว่าเสียงมีได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตสั้นมาก เสียงที่ปรากฏหมดไปแล้ว และก็ปรากฏอีก แล้วก็หมดไป แล้วก็ปรากฏอีก แล้วก็หมดไปแล้ว นี่คือทุกอย่างซึ่งปรากฏสืบต่อกันเหมือนไม่มีอะไรหายไปเลย แต่ความจริงทุกอย่างที่เกิดดับทันที เร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ความจริง ก็คิดว่าทุกอย่างในการสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริงแล้ววันหนึ่งๆ มีอะไรบ้างที่ยังเหลือ ที่เห็นเมื่อเช้าอยู่หรือเปล่า เห็นตอนเช้าๆ เห็นยังอยู่หรือเปล่า
ผู้ฟัง บางอย่างก็อยู่ บางอย่างก็ไม่อยู่
ท่านอาจารย์ เอาเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเห็น
ผู้ฟัง ไม่อยู่
ท่านอาจารย์ ไม่อยู่ เห็นเมื่อกี้นี้อยู่หรือเปล่า ไม่อยู่แล้ว ได้ยินเมื่อกี้อยู่หรือเปล่า ไม่อยู่ ได้ยินขณะนี้อยู่หรือเปล่า หมดแล้ว เร็วแสนเร็ว เพราะฉะนั้นการฟังธรรม อย่าคิดว่าเราจะเข้าใจได้เร็ว วันเดียวฟังครั้งเดียว แต่ต้องตลอดชีวิต และจะค่อยๆ เข้าใจความจริงขึ้น และความจริงนี้ไม่เปลี่ยน ถ้ามีคนบอกว่าทุกอย่างเที่ยง ไม่มีอะไรสูญหาย ดับไปเลย ถูกหรือผิด ถ้าไม่รู้ก็ตอบถูก ไม่เห็นอะไรหายไปเลย ก็นั่งอยู่ที่นี่ตั้งนาน หลายนาทีแล้ว แต่ผู้รู้ จะรู้เลยว่า ย่อยออกไปแล้ว จนเล็กกว่าเสี้ยววินาที ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ดับสืบต่อกัน แม้แต่เห็นขณะนี้ ก็ไม่ใช่ขณะก่อน ถอยถอยไปจนกระทั่งไม่ใช่ขณะเมื่อเช้านี้ ไม่ใช่ขณะเมื่อวานนี้ ไม่ใช่ขณะตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโตมา เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ถ้ารู้แล้ว จะรู้ได้ว่า มีแล้วหามีไม่ คือเกิดแล้วดับ เร็วมากทันที ไม่มีอะไรเหลือ ชีวิตตอนเด็กตั้งแต่เกิด ไม่เหลือเลย