ปกิณณกธรรม ตอนที่ 90
ตอนที่ ๙๐
ท่านอาจารย์ แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราเคยคิด เคยเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ โดยแท้จริงเมื่อเอาชื่อเสียงเรียงนามออกหมดแล้วก็คือ ตัวธรรม ซึ่งเมื่อมีธรรมแล้วเราก็จะเรียนให้เข้าใจธรรมจริงๆ แล้วถ้าจะเอาชื่อใส่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ
ผู้ฟัง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า พ่อแม่ไม่มี ไม่เป็นไรแล้วกลับไปจะพูดอย่างไรกับพ่อกับแม่ก็ได้เพราะพ่อแม่ไม่มี
ท่านอาจารย์ ก็บอกคุณพ่อคุณแม่ว่า คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นธรรม เราก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม
ผู้ฟัง เดี๋ยวจะบอกว่า อกุศลกรรมมีจริงคือ กำลังจะโดนตี
ท่านอาจารย์ อกุศลกรรมก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าใช้คำตอบว่า ทุกอย่างเป็นธรรม
ผู้ฟัง คำว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าเขา ว่าบุคคล ว่าคนโน้นคนนี้ อะไรอย่างนี้ ไม่มี แต่ที่มีคือ ของจริง คือธรรม คือปรมัตถ์ธรรม คือของจริง ที่มีคือของจริง ของจริงมีกี่อย่าง มี ๒ อย่างใช่ไหม มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง รูปธรรมกับนามธรรม
ผู้ฟัง ช่วยขยายอีกนิดได้ไหมว่า รูปธรรมก็คืออะไร และนามธรรมคืออะไร ต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง รูปธรรมคือไม่รับรู้อะไรอย่างนี้ และนามธรรมคือ สามารถรับรู้ได้
ผู้ฟัง แล้วรูปธรรมที่ว่า รับรู้ไม่ได้มีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง
ผู้ฟัง ไม่รู้อะไรเลย สิ่งของ
ผู้ฟัง เช่นอะไรบ้าง
ผู้ฟัง โต๊ะ ไมโครโฟน เก้าอี้
ผู้ฟัง แล้วในตัวเรามีไหมที่เป็นรูปธรรม เช่นอะไร
ผู้ฟัง มี นาฬิกา เสื้อผ้า
ผู้ฟัง ในตัวเรา
ผู้ฟัง ตัวเราที่เป็นรูปธรรมหรือ
ผู้ฟัง ที่ไม่รู้อะไรเลย
ผู้ฟัง ที่ไม่รู้อะไรเลย ผม เส้นผม
ผู้ฟัง เส้นผมใช่
ผู้ฟัง ขนตา
ผู้ฟัง และมีอะไรอย่างอื่นอีกไหมที่เป็นรูปธรรม หูเป็นอะไร
ผู้ฟัง หู รูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นรูปธรรมใช่ไหม แล้วอย่างอื่น เสียงเป็นอะไร
ผู้ฟัง เสียงน่าจะเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง น่าจะเป็นรูปธรรม ทำไมถึงบอกว่า เป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ผู้ฟัง ไม่รู้ก็เข้ารูปธรรม คือ คำจำกัดความต้องให้แม่นยำ คือ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ผู้ฟัง มีคำถามจากข้างหลังว่า เราจะนำความรู้เรื่องรูปธรรมนามธรรมที่เราเรียนเท่านี้ หรือแค่ขั้นนี้ เอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร หรือว่าเราจะแยกแยะอะไรได้บ้าง
ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันเป็นเรา ใช่ไหม ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง เราคิดว่า เราเป็นเรา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราเกิดมา เรามีความรู้เรื่องโลก เรื่องชีวิต เรื่องเราหรือเปล่า หรือเราไม่เคยรู้เลย มีแต่เราตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ขอโทษช่วยขยายอีกนิด
ท่านอาจารย์ เราเกิดมาก็มีความเป็นเราทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย ถูกหรือผิด ที่ว่าเป็นเราทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นอย่างนั้น เราไปคิดว่าเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ความคิดอย่างนั้นถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ถ้ายังไม่เรียนธรรมไม่รู้ว่า ถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ เมื่อเรียนแล้วรู้ว่า ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ยังไม่ทราบได้เพราะยังไม่ได้เรียน
ท่านอาจารย์ เราเรียนแล้วว่า ทุกอย่างที่มีจริง ของที่มีจริงเป็นธรรม และเป็นอนัตตา ธรรมหมายความถึง “ธาตุ” หรือ “ธา-ตุ” ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราหลงยึดถือว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรา แต่ไม่มีอะไรเหลือ ทุกวันๆ นี้เกิดแล้วหมดไปๆ ไม่มีอะไรเหลือ และบังคับบัญชาไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นที่เราเคยคิดว่า เป็นเรา ยั่งยืน บังคับบัญชาได้ จะทำอะไรก็ได้ จะได้รับความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความเห็นถูกหรือเป็นความเห็นผิด
ผู้ฟัง เห็นผิด
ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นความเห็นผิดเราก็จะเห็นประโยชน์ว่า เมื่อเราเกิดความเห็นถูกขึ้น หรือว่าเราจะปล่อยให้มีความเห็นผิดต่อไป อยู่ที่เราในเมื่อเวลานี้เราเริ่มรู้แล้วว่า มีความเห็น ๒ อย่าง ความเห็นผิดกับความเห็นถูก และเรายังคงจะต้องการเห็นผิดต่อไปอีก หรือว่าเราจะทำความเห็นถูกให้ถูกขึ้นเรื่อยๆ นี่คือประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง มาไม่ทันตอนเริ่มท่านอาจารย์ได้พูดถึงว่า เราต้องเรียนธรรมไปเพื่ออะไรหรือยัง
ท่านอาจารย์ อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต มีคนตอบว่า ความสุข แต่ความสุขก็ไม่ยั่งยืน และบังคับบัญชาไม่ได้ด้วย และทำให้เราติดข้องต้องการแต่ความสุข หาทุกสิ่งทุกอย่างทุกวันเพื่อความสุข ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางคนก็ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ทำความทุจริตเบียดเบียนตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนกระทั่งถึงใหญ่ๆ โตๆ ก็ได้ เพื่อแสวงหาความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่ยั่งยืน ดับทันทีหมดไปเลย แล้วทำไมไปติดข้องกับสิ่งที่เพียงมันเกิดแล้วหมดไป ทุกวันนี้เราเห็น และเราไม่รู้ตัวสักนิดหนึ่งว่า เราเห็นแล้วเรามีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดกับสิ่งที่เห็นตลอดเวลา รักบ้าง ชังบ้าง เฉยๆ บ้าง แต่สิ่งนั้นก็หมดไป เพียงแค่เกิดมาให้มีความรู้สึกรักชังแล้วก็หมด เท่านั้นเอง แม้แต่ความรู้สึกรัก ชัง เฉยๆ ก็ไม่เหลือด้วย คือ ทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือ และเราควรจะรู้ความจริงอันนี้หรือว่าไม่ควรจะรู้ ให้ติดต่อไป ให้หลงต่อไป ให้หวังต่อไป ให้เป็นทุกข์ต่อไป นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม คือรู้ว่า อะไรเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงซึ่งมีประโยชน์มากมายมหาศาลกับทุกชีวิตที่ได้รู้ความจริง ถ้าไม่รู้ความจริงนี้เราจะมีความเป็นเรามากมาย แล้วก็จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลมากมายหมดเลยทุกชาติๆ ไป เพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นชีวิตของคนที่ต่างกัน บางคนก็นิสัยดี บางคนก็เห็นแก่ตัว บางคนก็ขี้โกหก พูดอะไรก็ไม่จริง บางคนก็สิ่งที่ไม่ดีทำไม่ได้เลย พูดจริงตลอด คำไม่จริงเขาไม่สามารถที่จะกล่าวได้ หรือว่าสิ่งที่ไม่ดีเขาก็ทำไม่ได้ บางคนวาจาดีมาก ในขณะที่บางคนก็กล่าววาจาที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนใจ รำคาญหู เสียงก็เหี้ยม หรือว่าดุร้าย ฯลฯ แต่อีกคนก็รู้เลยว่า ถ้าไม่พูดคำนั้นจะมีประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้นเราเองก็พอที่จะรู้ได้ว่า ชีวิตของเรา ถ้ามีคน ๒ คนให้เราเลือกว่า เราจะเป็นคนไหน คนดีกับคนชั่ว ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทุกคนย่อมอยากจะเป็นคนที่ดีพร้อม กาย วาจา ใจ มีหนทางที่จะดีพร้อม หนทางนั้นคือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้ไม่ได้เลยว่า กายของทุกคนที่เคลื่อนไหวขยับเขยื้อนมาจากจิตชนิดไหน คำพูดบางคำก็ดูหวานดี แต่ต้องการอะไรในคำหวานๆ นั้นหรือเปล่า เลียบเคียงต้องการจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็ใช้คำพูดอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีการที่จะหลอกตัวเองได้ เพราะตัวเองต้องรู้ อย่างคนที่พูดเท็จเขารู้ตั้งแต่คิดว่า เขาจะพูดสิ่งที่ไม่จริง เวลาพูดเขาก็รู้ว่าเขากำลังพูดสิ่งที่ไม่จริง พูดแล้วก็รู้ด้วยว่า พูดแล้วในสิ่งที่ไม่จริง เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ใครชอบที่จะฟังคำไม่จริง ที่จะเป็นคนไม่ดีด้วยประการทั้งปวง แต่การที่จะเป็นคนดีไม่ง่าย ถ้าจะดีได้จริงๆ ก็เพราะ ปัญญา ที่รู้ความจริงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้นเพราะทุกคนอยากจะดี แต่ทำไมบางคนไม่ดีเพราะอะไร เพราะฉะนั้นมีหนทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนค่อยๆ ดีขึ้นเพราะมีปัญญารู้ความจริงขึ้น ไม่อย่างงั้นเราจะไม่เสียเวลามานั่งฟัง หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีมูลนิธิฯ นี้หรอก กว่าจะมีมูลนิธิฯ นี้ได้ก็ยากแสนยากเพราะว่า ต้องการที่จะให้ทุกคนได้เข้าใจความจริงว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้คืออย่างไร และเป็นประโยชน์อย่างไร
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังจะพูดว่า ธรรมสามารถจะเปลี่ยนนิสัยของเราได้ใช้ไหม
ท่านอาจารย์ เมื่อมีปัญญา
ผู้ฟัง เมื่อมีปัญญาซึ่งปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ จากการฟังขณะนี้ เข้าใจอะไรนั่นคือ “ปัญญา” ภาษาบาลีใช้คำว่า ปัญญาแต่ภาษาไทยคือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความรู้ถูก
ผู้ฟัง ซึ่งต่างกับปัญญาในทางโลกใช้อย่างที่เรียนหนังสือเด็กๆ …
ท่านอาจารย์ ภาษาไทยต้องเก็บไว้เลย ไม่ต้องเอามาปะปนกับภาษาบาลีนี้เลยเพราะว่า ใช้คำสับสน และไม่ใช่คำที่มีความหมายที่ถูกต้องด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความสุขที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คืออะไร
ท่านอาจารย์ ความสุขที่แท้จริงคือรู้ว่า ไม่มีเรา มีเรานี้ทุกข์แค่ไหน
ผู้ฟัง ก็มาก เพราะว่า เรารู้ว่าเราเป็นเราๆ ก็จะคิดว่า คนโน้นเป็นอย่างนั้น ทำไมคนนี้เป็นอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ใครจะมองเราอย่างไร ใครจะคิดกับเราว่าอย่างไร เขาจะชอบเราหรืเปล่า เราทำอย่างนี้ผิดไปแล้วจะทำอย่างไร เดือดร้อนมากมายมหาศาล แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม ความเบานี้จะมี และการที่ความดีทั้งหลายจะหลั่งไหลมาเพราะรู้ว่า ไม่มีเรา จะเป็นประโยชน์กับโลกอย่างมากมาย ทั้งตัวเอง ทั้งคนอื่น ทั้งสังคมด้วย
ผู้ฟัง เมื่อก่อนเคยสงสัยว่า ถ้าเราคิดว่า เราไม่มีเราๆ ไม่เอาใจไปผูกกับสิ่งอื่นรอบตัวเรา จะทำให้เกิดการเพิกเฉยกันในสังคมหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ นั่นคือความคิดซึ่งไม่ใช่ความจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทำประโยชน์ยิ่งกว่าใครในโลก ตั้งแต่ก่อนที่คนอื่นจะตื่นนอน ทรงตรวจดูสัตว์โลกว่า มีใครบ้างที่สะสมมาที่จะทรงอนุเคราะห์ด้วยการแสดงธรรม จะเห็นพระภิกษุออกบิณฑบาตแต่เช้าใช่ไหม แต่ก่อนนั้นเสด็จไปโปรดคนที่จะได้รับฟังพระธรรมแล้วจะเข้าใจ แม้ว่าจะไม่ใช่วันนั้นแต่อีกนานเขาก็จะเข้าใจได้ ก็ไป หลังจากที่บิณฑบาตแล้ว เสวยภัตตาหารแล้ว ก็ทรงแสดงธรรม ก่อนที่จะประทับเข้าไปในพระคันธกุฎีพักผ่อน หลังจากนั้นแล้วก็ออกมาสนทนาธรรมอีก แล้วตอนเย็นก็มีคนที่ไปเฝ้า พวกชาวบ้านชาวเมืองที่ทราบว่า ประทับอยู่ที่ไหนก็ไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม ตอนค่ำชาวบ้านกลับไปหมดแล้วพระภิกษุก็มาทูลถามปัญหาต่างๆ หมดเรื่องพระภิกษุก็ยังมีเทวดามาอีกตอนดึก บรรทมเพียง ๑ ชั่วโมง ชีวิตใครมีประโยชน์อย่างนี้บ้าง ที่จะทำได้อย่างนี้เพราะอะไร เพราะพระมหากรุณาคุณที่รู้ว่า ถึงจะมีทรัพย์สินมหาศาล มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เที่ยง ไม่มีใครเอาอะไรไปได้เลย คำชมแค่ผ่านหูก็หมดแล้ว ไปตื่นเต้นอะไรนักหนา เฟื่องฟูใจอะไรมากมายหลายวันหลายคืน ใช่ไหม เพราะอะไร เพราะความเป็นเรา เพราะมีเรา แต่ถ้าไม่มีเรา ก็มีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลกับฝ่ายอกุศล กุศลคือสภาพธรรมที่ดีงาม อกุศลก็คือสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม แล้วเมื่อรู้อย่างนี้ใครจะทำสิ่งที่ไม่ดีงาม ถ้าปัญญาถึงระดับที่สามารถจะดับอกุศลได้เพราะว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงพระนามว่า “พระอรหันต์” เพราะเหตุว่า เป็นผู้ที่ไกลจากกิเลสคือ ดับกิเลส ไม่มีกิเลสใดๆ มาแผ้วพานได้เลย เวลาที่เราเห็นอาหารน่าอร่อย รู้สึกอย่างไร
ผู้ฟัง เราก็อยากกิน เราก็ชอบ
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่มีเลยที่จะมีความติดข้อง ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีริษยา ไม่มีอะไรทุกอย่างที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจะเบาสบายไหม เห็นใครก็ไม่เดือดร้อน ใครจะเปลี่ยนสีผมอย่างไร ก็ไม่เห็นเดือดร้อนเลย มีแต่ความเมตตาในความไม่รู้ว่า เขายังไม่รู้ เพราะฉะนั้นมีทางไหนที่เขาจะรู้ได้ ก็ช่วยให้เขาได้รู้เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรู้ ทรงกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราทุกข์เพราะกิเลส ทั้งๆ ที่วันนี้เราก็แข็งแรงดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ใจที่กำลังเดือดร้อนสักนิดหนึ่งก็เพราะกิเลส แต่ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีกิเลสเพราะดับสนิท ไม่มีเชื้อที่จะให้เกิดกิเลสใดๆ ได้อีกเลย จะทำประโยชน์ได้มากมายแค่ไหน ที่เราทำประโยชน์ได้น้อย สละได้น้อย เพราะยังมีเรา แต่ถ้าเรามีปัญญาจริงๆ ดับกิเลสๆ จะหมดไปเป็นส่วนๆ แล้วเราก็จะทำประโยชน์ได้มากขึ้น
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายนี้ ท่านก็เริ่มต้นเหมือนเราอย่างใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง จากการฟังอย่างนี้ การสนทนาอย่างนี้ ศึกษาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนรวมทั้งเด็กๆ ก็จะต้องเริ่มจากตรงนี้
ท่านอาจารย์ การเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นจากความไม่รู้สู่ความค่อยๆ รู้ขึ้นด้วยการเป็น “พหูสูตร” คือ ผู้ที่ฟังมาก ฟัง และต้องไตร่ตรอง และเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่า เวลาฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังวันนี้ ฟังอีกก็เข้าใจเพิ่มเติมอีกจากสิ่งที่เข้าใจแล้วจากการฟัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นซึ่งเราคิดเองไม่ได้ เราต้องอาศัยการฟังจริงๆ ที่จะฟังแล้วก็รู้ว่า ความเข้าใจของเราที่เข้าใจจริงๆ จะค่อยๆ เสริมเพิ่มขึ้น เมื่อเรามีพื้นฐานที่มั่นคงจากความเข้าใจจริงๆ แม้ว่า จะเป็นเพียงคำ ๒ คำ ๓ คำแต่ขอให้เข้าใจคำนั้นจริงๆ
ผู้ฟัง เคยได้ยินได้ฟังมาว่า ในการฟังธรรมที่ถูกต้องจะต้องมีการสะสมมาแต่ชาติปางก่อน รบกวนอธิบาย
ท่านอาจารย์ ชาตินี้ก็เป็นปางก่อนของชาติหน้า ก็ไม่ต้องไปคิดถึง เราก็จะรู้ตัวได้ว่า ขณะที่ฟังเราเข้าใจหรือเปล่า นี้สำคัญที่สุดเลย ประโยชน์ของการฟังคือ เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังไม่อย่างนั้นจะเสียเวลามาก ๓ ชั่วโมงนั่งนิ่งอยู่ตรงนี้ แล้วไม่เข้าใจอะไรเลยกับ ๓ ชั่วโมงที่เริ่มเข้าใจขึ้น เราจะเห็นความต่าง และประโยชน์ เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจเป็นการสำคัญที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องจำ เช่นคำว่า “อนัตตา” ไม่ต้องไปท่องเลย คำว่า “ธรรม” ก็ไม่ต้องไปท่อง ถ้าเข้าใจหมายความถึงสิ่งที่มีจริงเป็นคำเดียวกับ “ธาตุ” หรือ “ธา-ตุ” ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วโยงใยไปถึงอนัตตา เมื่อเป็นธาตุก็คือว่า เป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ ก็เกี่ยวโยงกันไป และธรรมที่มีจริงก็ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏ เช่น เสียง ขณะใดที่จริงก็คือ ขณะที่กำลังปรากฏว่า ดับแล้วก็หมดแล้ว ไม่มีแล้ว ก็มีอย่างอื่นที่เกิดขึ้นสืบต่อ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีจริง
ผู้ฟัง เราพูดกันเรื่องกุศล และอกุศลกันเล็กน้อย อยากให้อธิบายละเอียดสักนิดหนึ่งว่า อกุศลไม่ต้องใหญ่โตเล็กๆ อะไรบ้างที่เป็นอกุศลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับเด็กๆ
ท่านอาจารย์ สนใจไหม ถ้าสนใจแจกหนังสือบุญกิริยาวัตถุ
ผู้ฟัง สงสัยเด็กจะไม่เปิด
ท่านอาจารย์ เป็นการบ้าน คือคนที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่แค่ฟัง ต้องไตร่ตรอง ก็เริ่มเห็นประโยชน์แล้วก็ต้องค้นคว้าศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติมด้วยเพราะว่า เรียนเท่าไรก็ไม่หมด ตลอดชีวิตไม่จบ เพราะฉะนั้นถ้าฟังวันนี้แล้วไปอ่านหนังสือได้เลย อย่าไปคอยว่า เขายังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้แล้วอย่าเพิ่งไป อ่านไม่ได้ อ่านได้เลยหมดทุกเล่มแล้วจะประกอบกันทั้งหมด และจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย ก็จะเร็วด้วยไม่ต้องคอย แต่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ยินอย่าลืมว่า ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงกระดูกใช้คำว่า จรดกระดูก อย่างคำว่า อนัตตา เริ่มเห็นความจริงว่า บังคับใครได้ คนอยากจะบังคับคนอื่น แม่ก็อยากจะให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม ลูกก็อยากจะให้แม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ต้องคนอื่น ตัวเองบังคับได้หรือเปล่า แค่ตัวเองยังไม่ได้แล้วจะไปให้คนอื่นเป็นอย่างใจได้อย่างไร แต่มีทางเดียวคือ เข้าใจคนอื่นเมื่อเริ่มเข้าใจตัวเอง เพราะว่า เหมือนกันหมดทุกคนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีคิด มีสุข มีทุกข์ มีรัก มีชัง ในสิ่งที่กำลังปรากฏเลือกไม่ได้แล้วแต่กรรมของใคร เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มเข้าใจก็จะทำให้เห็นใจคนอื่น ที่ใช้คำว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตาก็คืออยากจะให้คนอื่นได้มีความสุขจากการมีปัญญา มีความเห็นถูก และถ้าเขาอยู่ในสภาพที่เราจะเกื้อกูลได้ ช่วยได้ก็กรุณาให้เขาได้ยินได้ฟัง หรือว่ากรุณาเรื่องไหนก็ได้ที่จะให้เขาพ้นทุกข์ ถ้าเขาเข้าใจเราก็มีมุทิตา ก็ดีใจด้วยที่หลังจากที่ไม่ได้ฟังมาตั้งกี่ปีก็แล้วแต่ ก็เริ่มที่จะได้ยินได้ฟัง
ผู้ฟัง ลูกๆ สามารถเมตตาพ่อแม่ได้ไหม
ท่านอาจารย์ เมตตาทุกคนได้ เพราะว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ พ่อแม่รักลูก และลูกรักพ่อแม่ เพราะฉะนั้นก็จะมีความรักซึ่งกัน และกันซึ่งไม่ใช่เมตตา แต่ถ้าเรียนจริงๆ จะรู้ว่า เป็นแม่ลูกกันกี่ชาติ ชาติเดียวคือชาตินี้ ชาติก่อนเป็นลูกใครไม่รู้เลย พ่อแม่ชาตินั้นเขาก็ยังรักอยู่ถ้าเราตายเร็ว เขาก็ยังคร่ำครวญหวนไห้อยู่อย่างสุดแสนรัก เหมือนน้องสาวของดิฉันคนหนึ่ง คนสุดท้อง ลูกของเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ ๒๘ เป็นโรคภูมิแพ้เลือด SLE กำลังเรียนจบทำงานอะไรๆ ได้ทุกอย่างหมดที่ดี ทุกวันนี้ไปไหนก็ต้องไปกับกระดูกลูก เวลานอนก็ไม่มีสักครั้งเดียวที่จะลืมคุยกับลูก ทุกสิ่งทุกอย่างของเขาคือ ลูกอยู่ในชีวิตเขา จะบอกสักเขาเท่าไหร่ว่า ชาตินี้ชาติเดียวก็ไม่ฟัง หรือถึงฟังแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม ก็ยังคงเหมือนเดิมคือ ยากแสนยากที่ความรักโดยสายเลือดด้วยความผูกพันโดยการให้กำเนิด จะทำให้ลืมว่า เขาไม่ใช่ของเรา ทุกคนนี้มีกรรมเป็นของตัวเอง ถ้าเขาไม่มีกรรมของเขาที่จะมาเกิดเป็นลูกคนนี้ เขาก็ไม่มาเป็นลูกของคนนี้แน่ๆ ใช่ไหม และเขาจะอยู่ด้วยกรรม อย่างที่เล่าให้ฟังถึงคนที่เชียงใหม่ที่ลูกเสียชีวิตอายุ ๑๙ ขับรถชน แล้วเมื่อเช้านี้ฟังทางวิทยุก็มีคน ๑ ซึ่งเสียชีวิต ขับรถชนอายุ ๒๕ เหมือนกัน ก็ไม่มีใครที่จะไปบังคับว่า อย่าเกิด สิ่งนี้อย่าเกิด เกิดกับคนอื่นได้ แต่อย่าเกิดกับเรา มันเป็นไปไม่ได้ เกิดกับเขาได้ก็ต้องเกิดกับเราได้ทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่เป็นของเราจริงๆ ตัวเรายังไม่ใช่ของเรา แต่ความไม่รู้ก็ทำให้เราผูกพันมาก แต่ทางเดียวที่เราจะผูกพันน้อยแล้วที่จะเพิ่มเมตตาขึ้นก็ต่อเมื่อเห็นโทษของโลภะ และรู้ว่า ขณะที่เป็นโลภะกับขณะที่เป็นเมตตานั้นต่างกันมาก มองดูข้างนอกนี้คล้ายคลึงกัน เพราะว่า ถ้ามีความเมตตาก็คือมีความเป็นมิตร มีความหวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูล ที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เหมือนมารดาทำให้กับลูก แต่ต้องตัดคำว่า โลภะออกไป ถ้าเราสามารถทำให้คนอื่นเหมือนกับที่แม่ทำกับลูก แต่ไม่ทำด้วยโลภะนั้นคือ เมตตาจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้ว่า เมตตาคือ ขณะซึ่งเราไม่มีความผูกพัน เรามีปัญญาที่จะรู้ความจริงว่า คนที่จะเกื้อกูลเขาเป็นลูก ในฐานะพ่อแม่ก็ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้แต่อย่าลืมว่า เขามีกรรมเป็นของเขา อย่างคนที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับลูก ให้รถเบนซ์ก็ขับไปแล้วก็ตาย รถเบนซ์ขาด ๒ ท่อน คิดดูแล้วกันว่า กรรมของใคร ไม่ใช่กรรมของแม่ แม่ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กรรมของพ่อ แม้แต่วิสาขามิคารมารดาซึ่งท่านเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานตายท่านก็ร้องไห้รำพัน เข้าพระวิหารเชตวันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องที่กิเลสจะหมดไปได้ต่อเมื่อปัญญาถึงระดับขั้นที่จะดับกิเลส แต่ถ้ากิเลสยังไม่ดับก็ยังมีปัจจัยที่จะให้กิเลสอยู่ ก็เห็นธรรม เห็นความเป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดแล้วเป็นธรรมดา ธรรมดาอย่างไร เพราะมีปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำถามที่ชอบถามกันแต่ก่อนว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา คนที่ศึกษาธรรมแล้วตอบได้เหมือนกัน เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นคนอื่นจะเป็นใครไปไม่ได้เลย สะสมมาอย่างไร เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ยังมีเรื่องสับสนมากมานานแล้วว่า ในเมื่อที่เรามาเรียนธรรมเพราะว่า จุดประสงค์คือ ความสุขที่แท้จริงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เราซึ่งเป็นคนที่ฉลาด คนฉลาดเขาต้องรู้ว่า มีคนที่ฉลาดกว่า จะไม่มีคนฉลาดจริงๆ ที่คิดว่า ฉลาดที่สุดแน่ๆ นั่นคือ คนไม่ฉลาด ถ้าเป็นคนฉลาดต้องรู้ว่า ต้องมีคนที่ฉลาดกว่าแน่นอน แล้วแต่ว่า จะเป็นใคร เพราะฉะนั้นเขาก็เลือกคนฉลาดที่เขาจะฟังคำของคนฉลาด และสำหรับเรา เป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม คนที่สะสมบุญมาแล้วแม้ในอดีตจะเกิดที่ประเทศอื่น เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ เขาก็สะสมบุญมาที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะการได้ฟังธรรมเป็นการสะสมในอดีต ใครจะเคยคิดว่า จะมีสนทนาธรรมใช่ไหม เด็กๆ ทั้งหลายจะมาฟังธรรมเป็นกิจกรรมใหม่ กิจกรรมธรรมดาก็ไปคาราโอเกะ ไปเล่นฟุตบอล ไปอะไรๆ สนุกสนานกัน แต่นี่เป็นกิจกรรมซึ่งถ้าไม่มีการสะสมมาจะไม่มีขณะนี้ ต้องทราบว่า ทุกขณะจิตเลือกไม่ได้ ต้องมีการสะสมมาจริงๆ ที่จะเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น