แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
ซึ่งข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ ความดำริในเนกขัมมะ ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน เหล่านี้ เรากล่าวว่าความดำริเป็นกุศล ก็ความดำริเป็นกุศลนี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นกุศลนั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน
สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ
สัญญาใดเป็นสัญญาในเนกขัมมะ เป็นสัญญาในอันไม่พยาบาท เป็นสัญญาในอันไม่เบียดเบียน ความดำริเป็นกุศลมีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติ และสุข เกิดแต่สมาธิอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับลงหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นกุศลเหล่านี้
เป็นความดับวิตกเจตสิกด้วยการอบรมเจริญให้ถึงขั้นทุติยฌาน แต่ก็ไม่หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าเมื่อทุติยฌานวิถีจิตดับลงแล้ว วิตกวิจารเจตสิกก็เกิดอีกเพราะฉะนั้น การที่จะดับจริงๆ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล
ถ้าจะดับจริงๆ ไม่ใช่ด้วยการเพียงเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าเป็นเพียงการระงับไว้ แต่ต้องด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจิตจะสงบถึงขั้นฌานจิต ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม
ถ้าสามารถจะเจริญสมถภาวนาจิตสงบถึงขั้นปฐมฌาน ผู้มีปกติเจริญสติก็รู้ในสภาพของปฐมฌานจิต ถ้าสามารถเจริญความสงบของจิตถึงขั้นทุติยฌาน ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็รู้ในสภาพของทุติยฌาน และรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม รูปธรรม จึงจะละทั้งในอกุศลธรรม และกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นในขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา ก็ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
นี่เป็นเรื่องยาก แต่ว่าบุคคลในครั้งพระผู้มีพระภาคสามารถที่จะเจริญฌาน จิตสงบตามความเป็นจริง พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอด และบางท่านก็ประกอบด้วยคุณวิเศษ เป็นความชำนาญพิเศษ เป็นความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นผลของสมาธิที่ชำนาญอย่างยิ่งของการเจริญสมถภาวนาทำให้ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าที่ถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษ ที่เป็นอภิญญาต่างๆ
ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งพุทธกาล ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้นจะต้องหลีกเร้น เรื่องของการหลีกเร้นนั้น เป็นเรื่องของการอบรมสมถภาวนา ซึ่งเป็นกุศลประการหนึ่ง แต่ไม่ใช่การที่จะทำให้เป็นพระอริยเจ้า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเพื่อแสดงธรรมโปรดพระญาติ ถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้วนั้น ในวันรุ่งขึ้น พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราพิมพาทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ก็ไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาให้ทรงทราบ พระเจ้าสุทโธทนะทรงสลดพระราชหฤทัย เสด็จไปประทับเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคทูลว่า
พระเจ้าข้า ทำไมจึงทรงยังหม่อมฉันให้ได้อายเล่า พระองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตเพื่อประโยชน์อะไร พระองค์ได้เป็นผู้มีความสำคัญอย่างนี้ว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มหาบพิตร การเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตสำหรับวงศ์ของอาตมาภาพ
พระราชาทูลถามว่า
พระเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่ามหาสมมติขัตติยวงศ์ เป็นวงศ์ของพวกเรามิใช่หรือ ก็แลในขัตติยวงศ์นั้น แม้กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อว่าผู้เที่ยวภิกษา ย่อมไม่มี
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
มหาบพิตร ชื่อว่าราชวงศ์ เป็นวงศ์ของมหาบพิตร แต่ขึ้นชื่อว่าพุทธวงศ์ เป็นวงศ์ของอาตมาภาพ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เทียว ได้เป็นผู้เสด็จเที่ยวบิณฑบาตดังนี้ คงประทับยืนในท้องถนนเทียว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลไม่พึงประมาทในบิณฑบาต อันคนพึงลุกยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ด้วยว่าผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น
พระราชาได้ทรงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ในกาลที่จบแห่งพระคาถา
แล้วได้ทรงสดับพระคาถานี้ว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นทุจริต ด้วยว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น ดังนี้แล้ว ทรงประดิษฐานในสกทาคามิผล
ได้ทรงสดับธรรมปาลชาดกแล้ว ทรงประดิษฐานในอนาคามิผล ซึ่งการทรงสดับธรรมปาลชาดกนี้ ภายหลังที่ท่านพระราหุลได้บวชเป็นสามเณรแล้ว
ในมรณสมัย เสด็จบรรทมบนพระที่อันมีสิริ ภายใต้แห่งเศวตฉัตรนั้นแล จึงทรงบรรลุพระอรหัต กิจที่จะต้องหมั่นประกอบความเพียรในอรัญวาส มิได้มีแก่พระราชา
อีกท่านหนึ่ง คือ สุปปพุทธกุฏฐิ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทฬิททสูตร ใน อรรถกถาสารัตถปกาสินี มีข้อความว่า
สุปปพุทธะเป็นคนที่ยากจนข้นแค้นอย่างยิ่งตั้งแต่เกิด พอโตขึ้นพอที่จะขอทานได้ มารดาก็ให้ขอทานเลี้ยงตัวเองไปตามกรรมของตน แล้วมารดาก็ทิ้งไป ตั้งแต่เกิดมา สุปปพุทธะก็อดอยากที่สุด ข้นแค้นที่สุด กินแต่ปลายข้าวกับน้ำ และก็ยังเป็นโรคเรื้อนเนื้อหลุด น้ำเหลืองไหล อาศัยนอนตามริมถนน ครวญครางทั้งคืนด้วยความเจ็บปวดซึ่งทำให้พวกมนุษย์ในถนนทุกสายนั้นนอนไม่หลับไปตามๆ กัน
สำหรับสุปปพุทธะเองก็หลับๆ ตื่นๆ ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าสุปปพุทโธ คือ หลับและตื่น ซึ่งอดีตกรรมของท่านนั้นมีว่า
ในอดีตกาล ครั้งหนึ่ง ท่านเกิดเป็นพระเจ้าพาราณสี ในแคว้นกาสี พระองค์ได้เสด็จกระทำประทักษิณพระนครที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม และมหาชนก็เฝ้าชมสิริสมบัติของพระองค์อยู่
ก็ในสมัยนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เสด็จลงจากภูเขาคันธมาทน์ เสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครนั้น ทรงสำรวมอินทรีย์ คือ มีอินทรีย์สงบ ประกอบด้วยการฝึกฝนอย่างสูงสุด มหาชนก็ละความยำเกรง ความสนใจต่อพระราชา หันไปมองดูแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น
พระราชาทรงแปลกพระทัยที่มหาชนไม่ได้มองดูพระองค์ และพระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้เฒ่าทรงจีวรเก่าๆ พระราชามิได้ทรงมีจิตเลื่อมใส มิได้ทรงกระทำกรรม แม้สักว่าเหยียดพระหัตถ์ออกแล้วถวายบังคมแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ๒ อสงไขยแสนกัป พระราชาทรงพระพิโรธ และทรงพระดำริผิดไปว่า ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีพระอินทรีย์สงบ ทรงสำรวมอินทรีย์นั้น มิได้มองดูพระองค์ เป็นเพราะริษยาพระองค์
แล้วทรงดำริด้วยความดูหมิ่นว่า พระนี้อะไรกัน ห่มจีวรขี้เรื้อน ทรงถ่มพระเขฬะแล้วทรงหลีกไป ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระราชาพระองค์นั้น จึงไปเกิดใน มหานรก และเมื่อได้มาเกิดในมนุษย์โลกนี้ ด้วยเศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ ก็ได้เป็นคนยากจนข้นแค้นที่สุด และเป็นโรคเรื้อนด้วย
ต่อมาสมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ชาวนครนิมนต์พระศาสดา และได้สร้างมณฑปใหญ่ขึ้นท่ามกลางพระนคร ได้ถวายทานกันแล้วต่อมาแม้สุปปพุทธะโรคเรื้อน ก็ไปนั่งอยู่ไม่ไกลจากมณฑปอันเป็นที่ถวายทาน ชาวพระนครได้อังคาสพระสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข ด้วยของควรเคี้ยวควรฉันอันประณีต และได้ให้ข้าวยาคูและภัตแม้แก่สุปปพุทธะนั้น เขาบริโภคอาหารอันประณีตแล้ว มีจิตสงบ
ในที่สุดแห่งภัตกิจ พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา และทรงแสดงอริยสัจธรรมสุปปพุทธะนั่งแล้วในที่ๆ ตนนั่งนั้นเอง ในที่สุดแห่งพระเทศนา สุปปพุทธะก็ได้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว สุปปพุทธะก็ถือไม้เท้ากลับไปที่อยู่ของตน แต่ก็ได้ถูกแม่โคขวิดสิ้นชีวิต ไปปฏิสนธิในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ข้อความใน ทฬิททสูตรที่ ๔ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เมื่อพระองค์ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่าในกาลครั้งนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยังไม่เคยมีมาเลย เทพบุตรผู้นี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน เป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เมื่อแตกกายตายแล้ว เขาอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลท้าวสักกะจอมเทพตรัสกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายกโทษต่อเทพบุตรนี้เลย ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เทพบุตรนี้แล เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ยึดมั่น ศรัทธา ศีลสุตตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ครั้นยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายลง จึงอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทพเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจักทรงพลอยยินดีกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า บุคคลใดมีศรัทธา ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยเจ้าพอใจสรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสนชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเถิด
บอกให้ไปสู่สำนักไหนหรือเปล่า สุปปพุทธะยากจนข้นแค้นที่สุด ท่านผู้ที่มีชีวิตลำบากคงจะเทียบได้ว่า ชีวิตของท่านคงไม่ถึงกับสุปพุทธกุฏฐิ แต่สุปพุทธกุฏฐิซึ่งมีฐานะตรงกันข้ามกับพระเจ้าสุทโธทนะ ก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า หลังจากที่ได้ไปสู่ที่มณฑปที่เขาถวายทานแก่พระผู้มีพระภาค เขาได้ให้อาหารที่ประณีตแก่ สุปปพุทธะ ทำให้สุปปพุทธะมีใจสงบ มีใจสบาย มีความผ่องใส ต้องไปอดๆ อยากๆ หรือเปล่า หรือว่าได้อาหารที่ทำให้มีกำลัง ก็เป็นอาหารสัปปายะ แล้วแต่ว่าอาหาร สัปปายะของท่านคืออะไร
ถ. เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ฟังทางวิทยุ ท่านผู้บรรยายได้บรรยายเรื่อง รูปนั่ง รูปนอน มีผู้ถามว่า กำหนดอย่างไร ท่านก็บอกว่า ดูท่าทาง ก็ถามอีกว่า ถ้าจิตแปรเป็นอย่างอื่นไปไปสู่ที่อื่น ท่านก็บอกว่า แปรไปแล้วก็แล้วไป แล้วก็มากำหนดที่รูปนั่งนี้ใหม่ หรือว่ารูปนอนนี้ใหม่ ผมสงสัยว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทำไมจะไปดึงกลับมาอย่างไรได้
อีกประการหนึ่ง ท่านอธิบายถึงความเพียร เปรียบเทียบเหมือนกับการขี่จักรยาน เมื่อขึ้นขี่แล้วล้ม ก็ขี่ใหม่ ล้มใหม่ ขี่ใหม่ จนกว่าจะทรงตัวอยู่บนจักรยานนั้นได้เรียบร้อย นี่ก็เป็นความพยายาม ซึ่งในสติปัฏฐานใช้คำว่าอาตาปี ความพยายามอย่างนี้ ดูเหมือนท่านอาจารย์ได้เคยบรรยายนานมาแล้ว บรรยายเรื่องสัมมาวายามะเป็นอย่างไร ก็คืออาตาปีนี่แหละ แต่นี่เป็นการพยายามทำขึ้น เพื่อจะให้จิตนี้ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ความหมายของท่านผู้บรรยาย ท่านเข้าใจว่าอย่างนั้น
สุ. เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งที่ได้บรรยายไปแล้ว ก็ได้พูดถึงเรื่องเหตุผลของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน