ปกิณณกธรรม ตอนที่ 99
ตอนที่ ๙๙
ผู้ฟัง ขณะที่บอกว่า ได้ยิน เสียงนั้นมีอยู่ด้วย แต่ขณะที่คิดนึกผู้ฟังึงเรื่องราว เสียงนั้นไม่ได้ปรากฏแต่เราก็ยังคิดถึงเสียงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จะคิดถึงอะไรได้หมด
ผู้ฟัง คิดถึงอะไรได้หมด ในที่นี้หมายถึงคิดถึงสีหรืออะไรต่างๆ หรือ
ท่านอาจารย์ คงเคยเห็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของมูลนิธิฯ
ผู้ฟัง เคย
ท่านอาจารย์ คิดได้ไหม
ผู้ฟัง คิดได้ ขณะนั้นต้องเป็นเพียงสี ถ้าคิดถึงพระสารีริกธาตุ
ท่านอาจารย์ คิดถึงอะไรก็ได้ทั้งนั้นด้วยความทรงจำ ในเมื่อไม่ใช่เห็นจริงๆ
ผู้ฟัง แต่คงจะไม่ใช่คิดถึงเสียง ถ้าเห็นพระบรมสารีริกธาตุ
ท่านอาจารย์ เคยได้ยินเสียงอะไรไหม
ผู้ฟัง ได้ยิน
ท่านอาจารย์ คิดถึงเสียงนั้นได้ไหม
ผู้ฟัง ได้ คือที่อยากจะเปรียบเทียบ เพราะว่าขณะที่บอกว่าเป็นสภาพที่นึกคิด แต่เดิมเคยเข้าใจว่า เมื่อคิดได้มันจะเป็นเรื่องราว แต่เรื่องราวนั้นก็มาจากเสียง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความทรงจำในเสียง จะคิดเป็นคำๆ ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดเรื่อง เราไม่เคยรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นความทรงจำเสียงพร้อมความหมายของเสียงด้วย
ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยินก็ได้ยินเสียง เสียงปรากฏ แต่ก็สลับด้วยความนึกคิด เพราะฉะนั้นตรงนี้รู้สึกว่า ถ้าสติไม่เกิดจริงๆ แล้วจะแยกกันไม่ออกเลยว่า ขณะที่คิด เสียงนั้นปรากฏอยู่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกิจนี้เป็นภาวนากิจ ที่ต้องอบรมจริงๆ โดยรู้ว่า สติต้องระลึก และมีความเห็นถูกว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมอะไร เป็นรูปธรรมอะไร
ผู้ฟัง ตรงนี้ที่คิดว่า ระลึกที่ให้ถูกต้องตรงยาก
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรมไป ทุกคนต้องค่อยๆ อบรมไป ตอนเป็นเด็ก ครูหรือพ่อแม่จับมือเราเขียนหนังสือใช่ไหม ยังเขียนเองไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ หัดไป ทำดีเพื่อละความไม่ดีให้หมด
ผู้ฟัง หมายถึงว่า ทุกขณะให้มีสติหรือ
ท่านอาจารย์ ให้ไม่ได้ แต่เข้าใจถูกว่า สติสามารถเกิดระลึกได้
ผู้ฟัง โดยการหมั่นพิจารณาหรือ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ มีปัจจัยที่สัมมาสติจะเกิดเมื่อไรก็เกิด จะบังคับให้ไม่ได้ยินได้ไหมขณะที่ได้ยินกำลังเกิด
ผู้ฟัง บังคับไม่ได้
ท่านอาจารย์ และแม้ว่าไม่มีเสียงมากระทบ จะให้ได้ยินได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไปพยายามอย่างไรที่จะให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ใช่เรา แค่นี้ก็สบายแล้ว
ผู้ฟัง คงจะเหมือนกับที่บอกว่า กุศลดี อกุศลไม่ดี พออกุศลเกิด ด้วยความมีตัวตน เราก็ไม่อยากจะให้อกุศลเกิด เหมือนกันเลย พอพูดถึงสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ทุกคนก็เลยอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด จึงถามอาจารย์ทุกครั้งว่า “อันนี้ใช่หรือเปล่า” “ทำอย่างไรถึงจะเกิด” ก็เหมือนกัน เพราะถ้าเราไม่ติดว่า สติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่รู้ว่า สติปัฏฐานก็คือสภาพธรรม หนึ่ง เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง นี้ก็จะทำให้ละคลายความเป็นตัวตนมากขึ้น ก็จะสบายขึ้นอย่างที่ท่านอาจารย์บอก
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปต้องการสติปัฏฐาน ในเมื่อสติปัฏฐานไม่ได้เกิดเพราะต้องการ แต่ขณะที่กำลังฟัง กำลังสะสมปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ถ้าไม่มีความเข้าใจมากขึ้น เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปต้องการ แต่ขณะนี้กำลังเป็นเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิด
ผู้ฟัง หมายถึงว่า สร้างเหตุไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ ………… ไม่มีตัวเราที่จะสร้างด้วย คือถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา ไม่ว่าจะหันซ้าย มองขวา หยิบนั่น ทำนี่ ทุกอย่างก็คือสภาพธรรมทั้งหมด ขณะที่คิดคือสภาพธรรม นามธรรม ขณะที่โลภคือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่โกรธ ทุกอย่างทั้งหมดในชีวิต
ผู้ฟัง เรามาสนทนาธรรมกันบ่อยๆ จะเรียกได้ไหมว่า เรามาสร้างเหตุให้ดี
ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวเราที่จะสร้าง แค่นี้ก็สบายแล้วคือ ถ้าเรามาเข้าใจธรรมแล้วไปเป็นตัวเราที่จะสร้าง ก็เท่ากับไปลบที่เราเข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตาโดยการมีเราที่สร้างเหตุอีก ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวถ้าเข้าใจแล้วว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ขณะทุกขณะนี้ก็คือ อนัตตตา เป็นจิต เป็นเจตสิก รูป ก็ไม่ต้องมีเราไปทำอะไรอีก หรือไปทำอะไรเพื่อเราอีก
ผู้ฟัง แต่ถ้าเราศึกษาแล้วไม่ได้พิจารณาไตร่ตรอง เพื่อให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงคือ รู้ตัวธรรมที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ อันนั้นประโยชน์ที่ได้ก็จะไม่มี ก็จะเป็นการศึกษาถึงเรื่องราวเท่านั้นเองว่า จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีกี่ดวง
ท่านอาจารย์ ถ้าปัญญาไม่พอก็ละเยื่อใยไม่ได้ ยอมไหมที่จะจากทุกคน พร้อมหรือยัง เห็นไหม นี้แสดงว่า ปัญญาไม่พอ ต้องเป็นปัญญาที่ถึงระดับที่จะไม่มีเรา คือจากคนอื่นก็ยังมีตัวเราอยู่ ใช่ไหม แต่นี่แม้เราก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรม
ผู้ฟัง รู้สึกว่าปัญญาที่เข้าใจขั้นนี้ประเสริฐเหลือเกิน แม้กระทั่งเพียงแต่คิด และคล้อยตามไปก็รู้สึกเบาแล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่ไม่ถึงระดับขั้น น่าว้าเหว่ไหม น่ากลัว น่าใจหาย เวลาที่พ่อแม่จากไปเราก็ใจหาย เพื่อนฝูงจากไปเราก็ใจหาย นี้หมดไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีเลย ความจริงคือไม่มีเลยซึ่งจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสักคน เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาบางทีคนอื่นรับไม่ได้ เพราะว่า เขายังมีความเป็นตัวตนที่ต้องการ โลภะยังยึดเหนี่ยวเขาไว้ ไม่ยอมที่จะไปง่ายๆ เหมือนที่เราคิดว่า เราโกรธคนอื่นวันหนึ่งๆ น้อยกว่าที่เราเกิดโทสะกับตัวเราเอง เพราะว่าคนอื่นน้อย เราอาจจะไม่ชอบคนโน้นคนนี้นิดหน่อย แต่ตัวเราเอง ผมวันนี้เป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร ถ้วย จาน ชาม ฯลฯ มันเป็นอย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราจะมีความโกรธเกี่ยวกับตัวของเรามากกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ด้วย
ผู้ฟัง ที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ ง่ายที่จะบอกว่าเป็นนามธรรม ถ้าพูดถึงสัญญาก็เป็นนามธรรม พูดถึงปัญญาก็เป็นนามธรรม ง่าย แต่ว่าเกิดแล้วแต่ไม่รู้ในความเป็นนามธรรมว่าเป็นอย่างไรที่ว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ลักษณะนั้นๆ ต่างกับรูป ไม่อย่างนั้นปัญญาก็ไม่ต้องเจริญอะไรใช่ไหม ก็แค่สติแล้วก็อยู่ตรงนั้น แต่ไม่รู้อะไรเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ถ้านามธรรมก็เป็นสภาพรู้ รูปธรรมก็ไม่ใช่สภาพรู้
ท่านอาจารย์ อันนั้นก็ง่ายอีก คือถ้าพูดอย่างนั้นมันก็ง่ายใช่ไหม แต่ที่จะรู้จริง
ผู้ฟัง ต้องรู้ถูกจริงๆ ว่า ที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่ชื่อ
ผู้ฟัง ไม่ใช่ชื่อ
ท่านอาจารย์ แต่ลักษณะของธาตุชนิดนี้เป็นอย่างนี้ คือ ธาตุรู้ คือลักษณะนี้ที่เป็นธาตุรู้
ผู้ฟัง ถ้าเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นกับสติก็ไม่ต้องใส่ชื่อเข้าไปเลย คือว่า รู้แล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใส่ชื่อก็ยิ่งง่ายอีกใช่ไหม ไม่ต้องใส่ชื่อยิ่งสบาย มีแต่สภาพธรรมที่มีลักษณะนั้น แต่ปัญญาจะเจริญจากการที่ค่อยๆ รู้ลักษณะ และรู้ว่า ความเป็นธาตุคืออย่างนี้ ความไม่ใช่ตัวตน ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ไม่ใช่อย่างที่เราพูดง่ายๆ ว่าเป็นธาตุรู้ ในสภาพรู้หรือธาตุรู้ คือรู้เท่านั้นจริงๆ ในขณะที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเหตุที่สติต้องระลึก แล้วก็ศึกษาคือค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น เป็นเรื่องซึ่งแสดงไม่ได้ จะมาทำท่าทางให้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ ให้เดินอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แล้วไปรู้สภาพรู้ก็ไม่ได้ แต่เนื่องจากฟัง และสติเกิดแล้วถึงจะรู้ว่า เวลาที่สติเกิดความรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมจะมีได้อย่างไร ไม่ใช่ว่ามีโดยจำมาว่าเป็นนามธรรม เป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่ต้องค่อยๆ อบรม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมไม่ว่าจะเป็นขันธ์ จะเป็นอายตนะ จะเป็นธาตุ ๑๘ หรือจะเป็นปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ จุดประสงค์ของการศึกษาก็เพื่อให้รู้ถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็น นามธรรม รูปธรรม เดี๋ยวนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถ้ารู้ว่าลักษณะนี้เป็นนามธรรม ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม ความเป็นปฏิจจสมุปบาทจะค่อยๆ ปรากฏ เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน คือ ธรรม มีนามธรรมกับรูปธรรม แต่ส่วนคำขยายต่างๆ ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา เช่น อายตนะบ้าง เป็นธาตุบ้าง เป็นปฏิจจสมุปบาทบ้าง ก็มาจากความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง แต่ต้องตั้งต้นที่ปัญญา ที่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ในลักษณะที่สติกำลังระลึก อันนี้ยาก เพราะอะไร เพราะจะต้องถึงความสมบูรณ์ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่เช่นนั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่มีความหมายอะไรเลย มันอยู่ตรงไหน ตรงที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ขณะใดที่สัมมาสติเกิดระลึกเป็นตรงที่ปัญญาจะค่อยๆ เกิดค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพนั้น ซึ่งไม่ใช่เร็ว แต่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ แต่หมายความว่า ต้องเป็นปัญญาของคนนั้นเอง ซึ่งเพิ่มความเข้าใจในลักษณะนั้นขึ้น จากการที่สติเกิด และสติเกิด และสติเกิด จะมากจะน้อยอย่างไรก็ตามแต่ ให้รู้ว่า ปัญญาเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่เกิดจากการฟัง แต่ต้องเป็นขั้นที่กำลังใส่ใจ ศึกษาพิจารณา เข้าใจในสภาพนั้นว่า สภาพนั้นไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่เจือปนด้วยรูปได้ ลองเอารูปทั้งหมดออกจากโลกนี้ สีนี้ออกให้หมด สิ่งที่ปรากฏทางตาเอาออก เสียงเอาออก กลิ่นเอาออก รสเอาออก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เอาออก เหลืออะไร ยังมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ล้วนๆ ซึ่งไม่ใช่พวกนี้เลย และการประจักษ์คือ ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่น ต้องเป็นธาตุรู้เท่านั้นที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า นี่คือลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ จึงจะกล่าวได้ว่าไม่เจือปนกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มีอะไรๆ เจือปนอยู่ตรงนั้นเลย ถ้าเราจะย้อนกลับ การกระทำทั้งหมดของคนในโลกนี้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ เขาก็จะทำบุญบ้าง ทำบาปบ้าง ซึ่งเจตนาซึ่งเป็นตัวกรรมเป็น “อภิสังขาร” เพราะว่า เราศึกษาเรื่องของสังขารธรรม สภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นทั้งหมด เป็นสังขารธรรม ศึกษาเรื่องสังขารขันธ์ว่า สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ แต่พอมาถึงอภิสังขาร เราก็ต้องยกมาเฉพาะส่วนที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดผลคือ “วิญญาณ” หรือว่าวิบากของสิ่งนั้น ก็คือ “กรรม” นั่นเอง เจตนาที่ถึงความเป็นกรรมบถก็จะเป็นอภิสังขาร ซึ่งมีปุญญาภิสังขารปรุงแต่งให้เกิดเป็นบุญ ที่เป็นกามาวจรกับรูปาวจร แต่อปุญญาภิสังขารขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นเจตนาที่ปรุงแต่งทำให้เกิดกรรมที่เป็นอกุศล อเนญชาภิสังขารก็ได้แก่ อรูปฌาน ๔
เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาไม่ว่าจะศึกษาอะไรต้องทราบว่าได้แก่ปรมัตถ์อะไร ไม่อย่างนั้นเราจะเฝือ แล้วเราก็พูดถึงได้ แต่ว่าเราไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าได้แก่ปรมัตถ์อะไร เพราะฉะนั้นอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำที่เป็นทั้งปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เหมือนกับพื้นดิน เป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของพืชที่ทั้งดี และไม่ดี ไม่ใช่ว่า จะอาศัยแต่เฉพาะพืชที่ไม่ดีเกิด พืชที่ดีเกิดก็ต้องอาศัย เพราะฉะนั้นกรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผล คือปฏิสนธิจิต และวิญญาณทั้งหลายที่เป็นผล ต้องมีอวิชชาเป็นเหตุ ถ้าดับอวิชชาแล้วอภิสังขารก็ไม่มี ผลของอภิสังขาร คือปฏิสนธิจิต และวิบากจิตก็มีไม่ได้
ผู้ฟัง ที่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นวิญญาณ และต่อๆ ไปในรูป คือโดยนัยของขณิกะนี้ก็ดูได้ในรูปนั้นด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเรากล่าวถึงโดยปัจจัยอะไร เพราะว่า ถ้าพูดถึงปฏิจจสมุปบาทจะขาดปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ได้แสดงโดดๆ ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร แต่ต้องแสดงว่าโดยเป็นปัจจัยอะไร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณโดยปัจจัยอะไร จะแทรกไว้หมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรียนก็ต้องเรียนกันจริงๆ
ผู้ฟัง ฟังๆ ดูคำว่า “ปฏิจจสมุปบาท” รู้สึกน่าเรียนรู้ ก็เลยตื่นเต้นอยากเรียน
ท่านอาจารย์ แต่ความจริงขณะนั้น เราจะสังเกตความอยากหรือเปล่า หรือความสำคัญตนที่เราจะรู้เรื่องที่ยาก เพราะว่า จริงๆ แล้วโลภะกับมานะเป็นสิ่งที่เห็นยากมาก และเราจะไม่รู้เลยว่าเมื่อไร แม้แต่เพียงการที่อยากจะรู้ปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก ขณะนั้นเป็นความต้องการ แต่ถ้าเราทราบว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมแล้ว ธรรมทุกอันเป็นปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่ว่าเราไม่ใช้ชื่อเท่านั้นเอง แต่เวลาที่เราเรียนธรรมต้องรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่จะเกิดได้ต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี้เป็นปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อละคลาย ถ้าเราเกิดมีความตื่นเต้น อยากรู้ อยากเข้าใจ ผิดเล็กๆ อีกแล้ว เรารู้เลยว่า เรากำลังไปทางตรง หรือว่าไปทางที่จะติด แต่ถ้าเราศึกษาธรรมโดยไม่สนใจคำปฏิจจสมุปบาท แต่เข้าใจจริงๆ ว่า จิตก็เป็นปฏิจจสมุปบาทต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า เวลาที่ศึกษาธรรม เราจะศึกษาอื่นก่อนทั้งหมดในพระไตรปิฎก คัมภีร์พระอภิธรรม แล้วคัมภีร์ปัฏฐานเป็นคัมภีร์สุดท้าย เพราะแสดงว่า เราเข้าใจสภาพธรรมหมดแล้วจึงมารู้ถึงความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเราก็เคยรู้มาเล็กๆ น้อยๆ ใช่ไหม เช่น จิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นก็แยกจากกันไม่ได้เลย เป็นนามธรรมเหมือนกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันแน่ แต่เรายังไม่รู้ชื่อเท่านั้นเองว่า ปัจจัยนี้ชื่ออะไร แต่ภายหลังถ้าเรียนไปพร้อมกันแต่ตอนต้นก็คือ “สัมปยุตตปัจจัย” ก็ไม่ได้ตื่นเต้นใช่ไหม ไม่ใช่มีสิ่งที่จะต้องไปเข้าใจอีกต่างหาก แต่เข้าใจเลยตั้งแต่ต้น ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นการเรียนเพื่อนละ โดยการที่เรารู้แล้วค่อยๆ รู้ขึ้นค่อยๆ รู้ขึ้นก็จะมาสู่ปฏิจจสมุปบาทโดยที่ว่าเราเข้าใจได้ทั้งหมดทุกอัน เช่น “อวิชชา” เราก็รู้ว่า ถ้าพูดถึงปัจจัยหรือลักษณะของปัจจัย ก็มีที่เป็น “สาธารณเหตุ” แต่พูดถึงคำว่า “เหตุ” จะมีคำว่า “เหตุเหตุ” หมายความถึงเหตุเจตสิกเท่านั้นที่เป็นเหตุได้ เจตสิกอื่นเป็นเหตุไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเหตุเหตุได้แก่เจตสิก ๖ ดวง ถ้าพูดถึง “เหตุปัจจัย” คือคำที่คนไทยชินว่าอะไรก็ “แล้วแต่เหตุปัจจัย” เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่นี้หมายความถึงปัจจัย ๒๔ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “เหตุปัจจัย” ปัจจัยเดียว ถ้าพูดถึง “อุดมเหตุ” จะได้แก่กรรม เพราะเหตุว่า กรรมนี้ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุที่สมบูรณ์ที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับอกุศลนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ เห็นดอกไม้สวยอย่างนี้ก็ไม่ทำให้เกิดผลอะไร นอกจากเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือเป็น “ปกตูปนิสสยปัจจัย” สภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกันหรืออาศัยกัน และกัน ในขณะที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจุบันกาล ในขณะที่เกิดแล้วดับไปแล้ว แล้วทำให้ผลเกิดขึ้น นั้นก็เป็นปัจจัยโดยอดีต นี้ก็คือสิ่งซึ่งเป็นปกติที่เรารู้ ถึงได้ว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อติด เพื่อต้องการ แต่เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจถูก และเพื่อละ เพราะฉะนั้นจะสังเกตตัวเราได้ว่า เวลาที่เราฟังธรรม เราอยากรู้หรือเปล่า ถ้าเราอยากรู้ กับต้องการที่จะศึกษาเหตุผลให้เข้าใจ ความหมายผิดกัน และความตื่นเต้นของเรามีไหม เพียงได้ยินคำว่า “ปฏิจจสมุปปาท” ถ้าตื่นเต้นก็ผิดอีกใช่ไหม เพราะทุกอย่างจะแฝงมาในรูปต่างๆ ที่จะทำให้เราหลงผิด เข้าใจผิดซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คือความติดข้องแต่ไม่ใช่การละ ถ้าเป็นเรื่องละจริงๆ คือฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจ และความเข้าใจนี้ก็จะเพิ่มขึ้นพร้อมกับการละคลายความไม่รู้เพราะว่า ความไม่รู้ต้องมีในขณะที่ไม่เข้าใจ ในขณะที่สภาพธรรมมี และกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงอวิชชาทุกคนก็รู้ใช่ไหม ถ้าไม่มีอวิชชาเลยก็จะไม่มีการเกิดอีก แต่ที่เกิด และต้องเกิดอีกบ่อยๆ เพราะเหตุว่า มีอวิชชา ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล แต่ถ้ารู้เหตุแม้ในขั้นการฟัง และในขณะที่สติปัฏฐานเกิดจนกระทั่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็จะรู้ว่า กำลังมีเหตุที่จะดับการเกิดไม่ให้เกิดอีกเลย เป็นเรื่องของการละ แต่ต้องเป็นคนที่ละเอียด และต้องระวัง และรอบคอบที่จะรู้ว่า ขณะไหนมีโลภะ เพราะโลภะเป็นสมุทัย เป็นความติดข้อง ถ้ามีความติดข้องต้องมีความอยาก ต้องมีความต้องการ ต้องมีการสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นตามความต้องการนั้นๆ เพราะฉะนั้นที่จะเห็นว่า โลภะเป็นสมุทัยนั้นไม่ง่าย เพียงแต่ว่าเราเห็นโลภะอย่างหยาบๆ แล้วก็รู้ว่า เป็นความติดข้องที่ต้องการมากๆ แต่เล็กๆ นี้ ไม่เห็น แม้แต่ขณะที่ต้องการจะรู้ปฏิจจสมุปบาท นี้ก็เป็นเรื่องหนทางที่ต้องละเอียด ต้องละ ต้องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ถ้าพูดถึงจิต เป็นปฏิจจสมุปปาทหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นตอนที่เป็นวิญญาณ
ท่านอาจารย์ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เพราะฉะนั้นเวลานี้ถ้าเราคิดถึงสภาพชีวิตจริงๆ ตั้งแต่เริ่มขณะแรกคือ ปฏิสนธิจิต เป็นปฏิจจสมุบาทไหม เป็น เกิดจากอะไร ปฏิสนธิจิตนี้เกิดจากอะไร
ผู้ฟัง กรรม
ท่านอาจารย์ เกิดจากกรรม แต่ว่ากรรมที่เป็นอดีตใช้คำว่า “สังขาร” เพราะฉะนั้นอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดหมายความว่า เกิดเพราะกรรม คือสังขารในอดีตปรุงแต่งให้ปฏิสนธิจิตเกิด และสังขารในอดีตก็ต้องมีเพราะความไม่รู้ คืออวิชชา เพราะว่า อวิชชานี้เป็นพื้น ที่ใช้คำว่า สาธารณเหตุ มีเหตุเหตุ เหตุปัจจัย อุดมเหตุ และสาธารณเหตุคือ อวิชชา นี้ทำให้เราสามารถจะเข้าใจความจริงได้โดยที่ไม่ต้องไปจำ หรือว่ายังต้องจำ หรือว่ายังต้องท่อง จริงๆ ถ้าฟังเข้าใจจริงๆ เรื่องนี้เทปก็มี จะฟังเทปอีกก็ได้ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่ฟังย้ำไป ๒ - ๓ ครั้งทำให้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า มีเหตุกี่อย่าง ขณะที่ปฏิสนธิจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า
ผู้ฟัง มนุษย์มี แต่ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มี
ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นเรื่องที่บางทีมักจะเผลอใช่ไหม บางทีเราฟังแล้วเข้าใจแล้ว แต่พอถามแล้วจะลืมตอนนั้นบ้าง ตอนนี้บ้าง แต่ถ้าเราคิดนิดหนึ่งก็อาจจะนึกออกใช่ไหมว่า สำหรับมนุษย์ปฏิสนธิจิตที่ไม่มีเหตุก็มี อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ถ้าพูดถึงปัจจุบันปฏิสนธิจิตก็ต้องหมายความถึงสังขารคือกรรมในอดีต ซึ่งก็ต้องมีอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด เพราะฉะนั้นอวิชชาในขณะนี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดอะไร