ปกิณณกธรรม ตอนที่ 101
ตอนที่ ๑๐๑
สนทนาธรรม ที่ จ.กาญจนบุรี
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ ปริยัติที่ว่ายาก แต่เราจะรู้เลยว่า ปฏิบัติย่อมยากกว่าแน่นอน เพราะว่าเป็นเรื่องละ อย่างปริยัตินี้เราอยากเรียน เพราะอยากรู้ ก็หยิบหนังสือมาอ่านได้ แต่ปฏิบัติเป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้นเรื่องอยากจะรู้กับเรื่องละ อันไหนจะยากกว่ากัน แต่ลองคิดถึงประโยชน์มหาศาล สิ่งที่มีทั้งหมด โลภะไม่ว่าจะอย่างมากมายรุนแรง อย่างกลาง อย่างละเอียดสักเท่าไหร่ ก็สามารถดับได้ไม่เกิดอีกเลยจากการอบรม เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเห็นประโยชน์นี้ เราก็ไม่เร่งร้อนว่า “ไม่พักไม่เพียร” จะเมื่อไรก็เมื่อนั้น เพราะว่า หนทางนี้ไม่ใช่หนทางที่ใครจะไปเร่งได้ แต่ว่า เป็นหนทางที่ต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์
ผู้ฟัง ขณะที่มีโลภะที่อยากจะรู้ อยากจะเรียน อยากจะอะไรต่างๆ นั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะเป็นที่ระลึกได้ เป็นที่พิจารณาได้
ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง แล้วต้องรู้ด้วย ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ คือการที่จะไปเว้นโน่นเว้นนี่ เลือกสติปัฏฐานนั้น สติปัฏฐานนี้ นี่ไม่เอา นั่นไม่เอา ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เป็นตัวตนตลอด
ผู้ฟัง พูดถึงการที่จะเห็นสัมมาทิฏฐิ คือขณะที่สมมติว่า ดิฉันไหว้ต้นกล้วย
ท่านอาจารย์ สัมมาหรือมิจฉา
ผู้ฟัง มิจฉาทิฏฐิ ก็ไหว้ต้นกล้วยขณะนั้นรู้สึกว่า ตรงนี้มันผิดแล้ว ตรงนั้นเราจะเห็นอะไร เห็นมิจฉาทิฏฐิใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ผู้ฟัง เข้าใจ เข้าใจก็ไม่ใช่ตัวตรงๆ
ท่านอาจารย์ เข้าใจถูก ความเข้าใจถูกมีหลายระดับ
ผู้ฟัง พอเข้าใจถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว
ท่านอาจารย์ ระดับไหน
ผู้ฟัง ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า ต้องรู้ความต่างกันระหว่างสติเกิดกับหลงลืมสติ ตรงนี้รู้สึกเหมือนกันว่า จะเป็นแบบเริ่มต้นที่จะสติเกิดระลึก แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วรู้ว่า หลงลืมสติเกิดขึ้น ขณะนั้นที่จริงเป็นนามธรรมไม่ใช่รูป
ท่านอาจารย์ เวลาหลงลืมสติรู้อะไร
ผู้ฟัง ไม่ทราบ แต่ขณะที่รู้ว่าหลงลืมแสดงว่า ต้องมีสติเกิดรู้
ท่านอาจารย์ ขณะที่สติเกิดรู้ว่า สติเกิด ถ้าไม่ใช่ ขณะนั้นก็คือหลงลืม
ผู้ฟัง แต่ว่าถ้าลึกลงไปอีกนิดก็คือยังไม่รู้เลยว่า เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรม นี้คือศึกษาที่เป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจะพูดได้ว่าที่ท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า จะต้องรู้สภาพระหว่างที่มีสติเกิดกับหลงลืมสติรู้สึกจะเป็นเบื้องต้น
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง และหลังจากนั้นถึงจะมารู้ลักษณะของรูปบ้าง นามบ้าง
ท่านอาจารย์ นามธรรมหรือรูปธรรมที่สติระลึก
นีน่า ดิฉันคิดว่าอยากจะฟังมากกว่าเรื่องสภาพรู้ เพราะว่า หนังสือเข้าใจได้แต่ในการปฏิบัติยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ทุกคนจริงๆ แล้วไม่มีอำนาจอะไรเลย แต่ว่าเป็นเรื่องของธาตุทั้งหมด ที่นี้ธาตุในโลกนี้ อย่างใหญ่ๆ ก็มีรูปธาตุกับนามธาตุ อันนี้เราก็ต้องค่อยๆ พิจารณาด้วย ไม่มีใครสักคนในห้องนี้ แต่ธาตุมี ธรรมมี เพราะฉะนั้นเราศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจความจริงของ ๒ ธาตุนี้ รูปธาตุก็ปรากฏทางตา ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ทางหูก็มีเสียง ทางจมูกก็มีกลิ่น ทางลิ้นก็มีรส ทางกายก็มีสิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นรูปธรรม และนามธาตุนี้ทิ้งความหมายของรูปธาตุพวกนี้ไปเลย เรื่องรูป เรื่องเสียงกลิ่น เรื่องรส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราลืมว่าเคยเป็นเรา ไปที่ไหนมาเมื่อกี้นี้ รับประทานอะไรเมื่อกี้นี้ แต่เดี๋ยวนี้มีธาตุชนิดนี้เป็นนามธาตุ คือเราไม่ต้องไปย้อนถึงตอนอื่นเลย เอาเดี๋ยวนี้ขณะนี้ มีธาตุรู้หรือสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็นหรือว่ากำลังคิดนึก คือถ้าจะเข้าใจความหมายของนามธาตุคือ ธาตุที่รู้ คิด จำก็ได้หลายอย่างทั้งหมดเป็นธาตุ ทั้งจิตเจตสิกเป็นธาตุ พอจะเข้าใจไหมว่า เป็นธาตุหมายความว่า ไม่มีเจ้าของ แต่เกิดแล้วทำหน้าที่ของธาตุนั้นๆ เช่น ในขณะนี้มีธาตุชนิดหนึ่งเกิดแล้วเห็น เวลาที่ได้ยินเสียงก็มีธาตุอีกชนิด หนึ่ง เกิดแล้วได้ยิน เวลาลิ้มรสก็น่าอัศจรรย์ รสนี้ก็อยู่ในสิ่งที่อ่อนแข็ง เย็นร้อน ธาตุชนิดยังสามารถลิ้มรสที่อยู่ในนั้นได้ทั้งๆ ที่รสก็มองไม่เห็นอะไรเลย แต่ความสามารถของธาตุชนิดนี้ เห็นไม่ได้ ยินไม่ได้ เพียงแต่ว่าเป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นลิ้มรส ทางกายก็เป็นธาตุที่สามารถจะรู้สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถ้าทั่วทั้งตัวไม่มีกายปสาท ไม่มีทางเลยที่ธาตุเย็นจะปรากฏ ร้อนจะปรากฏ ตึงไหวจะปรากฏ ไม่มีเลยถ้าไม่มีกายปสาท เพราะฉะนั้นธาตุแต่ละอย่างเกิดเมื่อมีปัจจัย ไม่ใช่ไปรอคอยไว้ที่ไหนเลย แต่ว่ามีการสืบต่อ อย่างเวลาที่เห็นไฟในป่า ก่อนนั้นไม่มีไฟจะบอกว่า มีปัจจัยให้ไฟเกิดไหมในเมื่อไฟยังไม่เกิด แต่เวลาที่ไฟเกิดก็ต้องมีปัจจัยตรงนั้นที่จะให้ไฟนั้นเกิดขึ้นฉันใด จักขุปสาท และปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณก็ต้องเกิดเมื่อมีปัจจัย เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกเวลาแสดงเรื่องของธาตุ ๑๘ จะแสดงวิญญาณธาตุ ๗ วิญญาณธาตุ ๗ นี้เราก็รู้แล้ว “เห็น” แสดงว่าเป็นความต่างของธาตุว่า ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้นทรงแสดงโดยนานาประการที่จะให้เห็นความเกิดแล้วดับอย่างเร็ว และสืบต่อของธาตุทั้งหลาย ซึ่งถ้าเราพิจารณาจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น ลองฟังอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นนามธาตุ แต่ไม่มีใครรู้ เพราะว่าโลกนี้ไม่ปรากฏเลย มีอารมณ์เหมือนกับจุติจิตของชาติก่อน เวลาที่ดับไปแล้ว อนันตรปัจจัยของจิต และเจตสิกทำให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดเป็นภวังค์โดยสมนันตรปัจจัยด้วย หมายความว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด และดับแล้วจะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลำดับ และตอนที่เรานอนหลับสนิทซึ่งทุกคนผ่านมาแล้ว หลับจริงๆ ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมีเสียงปรากฏคิดดูว่า ปรากฏได้อย่างไร แค่นี้คิดถึงความน่าอัศจรรย์ ถ้าเราไม่คิดมันก็เป็นชีวิตเราธรรมดา ตื่นมาไม่รู้สักอย่าง ก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ถ้าคิดถึงธาตุชนิดนั้นจะปรากฏคือ เสียงจะปรากฏได้ต้องมีอายตนะแล้วที่นั่น ต้องมีการกระทบ มีการประชุม ต้องมีโสตปสาท ต้องมีเสียง และต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อน แล้วก็มีการกระทบจนกว่าจะถึงวาระที่เสียงปรากฏกับจิตได้ยิน นี้เป็นความน่าอัศจรรย์ เป็นการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีใครไปบังคับสักขณะเดียวในชีวิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิจิต และต้องเป็นปวัตติ คือ เป็นไปหยุดไม่ได้เลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สืบต่อแต่ละชีวิต ก็ต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งปฏิสนธิจิตก็ประมวลมาซึ่งกรรมที่จะให้ผลในชาตินั้นตามกำลังของกรรม ซึ่งมีอีกมากในนามธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างเลยแต่เก็บสะสมทุกอย่าง กรรมในแสนโกฏิกัปป์ก็ยังเป็น กัมมปัจจัย ที่จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงประชวร เพราะฉะนั้นกรรมของเราหรือเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ แม้ในขณะนี้ ที่เป็นกุศลกรรม ไม่มีตัวเรา นี่ถ้าฟังไม่ละเอียด เรากำลังได้บุญมากเลย กำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจธรรมด้วย แต่ตามความจริงไม่มีใครได้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ เวลาที่มีความจงใจตั้งใจกระทำกรรมสำเร็จลงไปแล้วดับไปแล้ว สืบต่อสะสมเป็นกัมมปัจจัย คำว่าปัจจัยหมายความว่ามีความสามารถที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น โดยเจตนาซึ่งเป็นกรรมที่สำเร็จไปแล้วนั้นเอง ก็สะสมสืบต่อพร้อมที่เมื่อถึงกาลสมควรเมื่อไร วิบากจิตก็เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าถ้าไม่มีกรรมนั้นเป็นปัจจัย วิบากจิตคือขณะนี้เกิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ หรือภวังคจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นจะรู้จักเข้าใจเรื่องของกรรม “กัมมัสสกตาญาณ” ไม่มีอะไรเลยที่ใครจะทำได้ เขาสามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่สติระลึกลักษณะของเห็น ก็ค่อยๆ เข้าใจธาตุชนิดนั้นซึ่งเป็นนามธาตุซึ่งมีจริงๆ แล้วก็ดับไป แล้วถ้าสติเขาเกิดรู้ถึงความพอใจ ไม่พอใจ ที่เกิดหลังจากที่เห็นแล้ว เขาเห็นความต่างเลย รู้เลยว่านี่ไม่ใช่กรรม “เหตุปัจจัย” ถ้าคนนั้นสามารถจะรู้เข้าใจก็จะรู้ได้ว่า มีโลภะเกิดแล้ว มีอวิชชาเกิดแล้ว ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล หรือมีโทสะเกิดแล้ว มีอวิชชาเกิดแล้ว ที่เป็นเหตุปัจจัย แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ตามลำดับ ลำดับแรกคือว่า ต้องรู้ในลักษณะซึ่งเป็นนามธาตุกับรูปธาตุให้มีความมั่นคงจริงๆ ไม่ต้องคำนึงถึงว่ากี่ทวาร แต่ว่าการที่เราฟังแล้วเข้าใจแล้วก็คิดว่าเข้าใจด้วย เพื่อจะรู้ตามความเป็นจริงเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ความคิดว่าเข้าใจแล้วอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า หรือว่าต้องเริ่มสะสมอบรมที่จะให้เป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่งคือ มีตัวสภาพธรรมกำลังปรากฏ ยืนยันให้มีความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะซึ่งเป็นนามธาตุ และรูปธาตุซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีความมั่นคงจริงๆ ในปัญญาที่มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ และเข้าใจถึงกาลที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ไม่มีใครยับยั้งได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมีความอยาก ความต้องการ ต้องไปที่โน่น ต้องอยู่คนเดียว ต้องอยู่ที่นั่นนานๆ แล้วก็รอนามรูปปริจเฉทญาณ รอไปเท่าไหร่ก็ไม่เกิด เพราะว่า โลภะอยู่ตรงนั้น เราก็จะเข้าใจความหมายของเครื่องเนิ่นช้า โลภะ มานะ ทิฏฐิ คือทุกอย่างที่มีในพระไตรปิฎกไม่ว่าส่วนไหน ถ้ามีปัญญาที่สามารถจะรู้ จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะเกิดขึ้นตามลำดับ และสามารถจะรู้ความจริงว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้แล้ว เป็นความจริงทุกอย่าง เพราะว่าตัวของปัญญา และสติในขณะนั้นสามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมขณะนั้น เพราะฉะนั้นการเรียนการรู้อย่างนี้จะไม่เป็นโมฆะ จะไม่เป็นทัพพีที่ไม่รู้รสแกง เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏกับปัญญา แต่ต้องเป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็เป็นเรื่องของการละ เพราะฉะนั้นปัญญามีหน้าที่อย่างเดียว “รู้แล้วละความไม่รู้” เมื่อรู้จักโลภะก็ละความติดข้องตรงนั้น ที่ไหนที่มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ แต่ที่ไหนที่ไม่มีปัญญา ที่นั่นก็มีโลภะได้
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขั้นแรกให้มีความมั่นคงในความเป็นรูปธาตุกับนามธาตุก่อน ความเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเหมือนที่คุณนีน่าถามเมื่อกี้นี้ใช่ไหม พอสติปัฏฐานเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็สงสัย แล้วก็เป็นความหวั่นไหว แล้วก็เป็นความคิดนึก นั่นแสดงว่า ไม่ได้มีความมั่นคงที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ถ้ามีความมั่นคงที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมก็หมายความว่า สติเกิดสืบต่อแล้วก็รู้ว่าขณะนั้นๆ ก็คือ นามธรรมแต่ละอย่าง แต่ว่ากว่าจะถึงระดับนั้นได้ คนนั้นก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า สติเกิดหน่อยหนึ่งแล้วก็หมดไป ทีนี้ก็เรื่องของตัวตน จะทำอะไร จะอยากอีก จะทำอีก จะไปเป็นสมาธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งไม่ใช่ขณะที่เป็นหนทางเดียวที่ทรงแสดงไว้ว่าคือสติ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะต้องใช้คำว่าฟันฝ่าจริงๆ ด้วยปัญญาที่อบรมแล้วก็รู้ว่า ขณะไหนเป็นปัญญาระดับไหน
สนทนาธรรมที่ประเทศอังกฤษ
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟัง คนที่ตาบอดมาแต่กำเนิดก็แปลว่าเขามีกรรมมาก
ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุดผลของกรรม กรรมทำให้เราเกิด โดยที่ว่าเราไม่ได้จงใจจะเกิดกับพ่อแม่นี้ ตระกูลนี้ วงศาคณาญาติอย่างนี้ ชื่อนี้ หรืออะไรก็ตามแต่ กรรมทำให้เกิดไม่ใช่ใครเลย โดยที่ว่าเลือกไม่ได้ บนสวรรค์ก็เกิดได้ ในโลกก็เกิดได้ ในภูมิมนุษย์ก็เกิดได้ ประเทศนี้ก็เกิดได้ ตระกูลนั้นก็เกิดได้ ยากจนก็เกิดได้ เศรษฐีก็เกิดได้ นี่คือเรื่องของกรรม แล้วยังไม่ให้ตายด้วย พอเกิดแล้วจะต้องมีชีวิตต่อไป จิตจะต้องเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติตามกรรมจนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้นที่ภาษาไทยเราใช้คำเหมาะมาก เพราะคนตายจะใช้คำว่า “ถึงแก่กรรม” หมายความว่า กรรมนั้นทำให้เขาสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้จบ เด็กบางคน ๕ ขวบตายใช่ไหม บางคน ๔ ขวบตาย ๒ ขวบตาย นี้เป็นอะไร
ผู้ฟัง หมดกรรม
ท่านอาจารย์ เห็นไหม เลือกไม่ได้เลย แต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครจะมีวิบากทางกาย ทางไหน ถึงแก่กรรมแปลว่าจบ ระหว่างที่ยังไม่ถึงแก่กรรม กรรมจะยังไม่ให้เปลี่ยนความเป็นบุคคลนี้ ยังคงเป็นบุคคลนี้ไปจนกว่าจะหมดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ อย่างที่เขาตายปุ๊บเขาเกิดปั๊บ เราอ่านหนังสือพิมพ์ เด็กตาย อะไรตาย พวกนี้เกิดทันที แต่เกิดที่ไหนเราไม่ทราบ เหมือนกับที่เราเกิดในโลกนี้ เราไม่ทราบว่าชาติก่อน เราไปตายตรงไหน ตายด้วยโรคอะไร แล้วก็มีพ่อแม่ที่ยังร้องไห้คิดถึงเราอยู่ หรือมีลูกหลานที่ยังคงคร่ำครวญหาเรา เรียกว่าจบชาติหนึ่ง ก็คือว่า เปลี่ยนสภาพความเป็นบุคคลโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไรกับชาตินี้ซึ่งมันสั้นๆ และเราเป็นคนนี้ซึ่งต่อไปข้างหน้าเราจะเป็นคนไหนก็ไม่รู้ จะเกิดเป็นปลาในทะเล เป็นเป็ด หรือว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ แล้วไม่มีโอกาสจะได้ฟังธรรมก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังคงมีโอกาสที่เราจะได้ฟังธรรม ได้สนใจที่จะเข้าใจความจริงซึ่งเป็นสัจจธรรม และเราก็ไม่รู้ว่า ชีวิตเราสั้นเราจะได้ฟังอีกนานสักเท่าไร และจะเข้าใจอีกมากมายสักเท่าไหร่ เราก็ต้องเห็นประโยชน์ของพระรัตนตรัยคือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทุกขณะ
ทรงพล ที่ตอบว่ารูปเพราะผมเข้าใจว่าท่านอาจารย์พูดถึงรูป ๒๘ รูป จึงตอบไปว่า เสียงเป็นรูป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องฟังคำถามเพื่อที่เราจะได้ทราบว่า ธรรมดารูปไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลยทั้งสิ้นจึงใช้คำว่า “รูป” หรือ “รูปะ” ในภาษาบาลี ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในโลกนี้หรือในจักรวาลนี้แยกออกเป็น ๒ อย่างโดยเด็ดขาด แยกจากกันเลย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ไม่รับรู้กันเลย คือ รูปที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เขาไม่รู้เลย แต่จิตเป็นสภาพซึ่งรู้ไปหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เกิดจนตายที่ว่า เป็นคุณทรงพลเล็กๆ ๑ ขวบ ๒ ขวบจนถึงเดี๋ยวนี้ แท้ที่จริงคือ จิตทุกขณะที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และรูปนี้เกิดมาพร้อมกับคุณทรงพลจริงแต่ดับไปทุกขณะ ตอนเป็นเด็กรูปเป็นเด็กก็ไม่เหลือแล้ว แต่รูปของคุณทรงพลไม่ว่าจะตอนเด็กตอนไหนก็ตาม ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลย แต่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดคือ อาศัยกรรมทำให้รูปนี้เกิดขึ้น เพราะว่ารูปที่ตัวมีหลายประเภท รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนก็มี รูปที่เกิดจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปก็มี ไม่อย่างนั้นเราอยู่ที่นี่ไม่ได้ มีแต่เพียงรูปที่เกิดจากกรรม เช่น จักขุปสาท โสตปสาทพวกนี้อยู่ไม่ได้แค่นั้น มีรูปเล็กๆ แค่นั้นอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยรูปซึ่งเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปทุกวัน ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนที่สม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายอบอุ่นมีชีวิตอยู่ แล้วก็มีรูปซึ่งเกิดจากจิต ทำให้มีการเคลื่อนไหว การพูด การเดิน เป็นรูปที่เกิดจากจิต เพราะฉะนั้นก็เอาแต่ส่วนสำคัญๆ ๒๘ ก็ยังไม่ต้องกล่าวถึง เอาที่เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เห็นได้ เข้าใจได้ว่า รูปอะไรแน่ที่สำคัญจริงๆ หมอว่าอย่างไร หมอเห็นด้วยไหมเพราะหมอเป็นหมอ
หมอ เห็นด้วย
ท่านอาจารย์ คือถ้าเป็นทางหมอก็ต้องมีปอดกำลังสูบฉีด และก็มีหัวใจสูบฉีดเลือด ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องราวแล้วก็ไกลมาก เพราะว่า จริงๆ แล้วโลกทั้งโลกนี้อย่าว่าแต่ตัวเราเลย มีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ ที่นี้โลกก้อนโลกทั้งโลกจักรวาลเกิดเพราะอุตุเท่านั้น ไม่มีจิตใจเข้าไปแทรกอยู่ในโลกนี้เลย แต่ว่า โลกนี้ละเอียดย่อยลงไป แตกสลายยิบยับๆ ละเอียดฉันใด ที่ตัวเราก็อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวข้องคือว่า ขณะใดก็ตามซึ่งไม่เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เห็น รูปก็เกิดดับไป เช่น คนที่อาจจะตาบอดด้วย หูหนวกด้วย จมูกไม่ได้กลิ่นด้วย เขามีจิตจริงแต่ไม่มีทางที่จะรับรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ถ้าเขาไม่มีตาเห็น ไม่มีหูได้ยิน ไม่มีจมูกได้กลิ่น แต่ทีนี้รูปที่เป็นส่วนสำคัญคือว่า เกิดดับจริง แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ดับ เขากระทบสัมผัส เช่น จักขุปสาทที่อยู่กลางตาสามารถที่จะรับรู้สิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏก็ดับเร็ว จักขุปสาทก็ดับเร็ว แต่อาศัยขณะที่ประจวบกระทบกันโดยยังไม่ดับ ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นชั่วขณะสั้นที่สุดแล้วก็ดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณะนี้ต้องหมายความถึงไตรลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะใช้คำ จำเรื่องราวของธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส ฯลฯ ที่มีอยู่ในตัวทั้งหมด แล้วก็บัญญัติเป็นปอด เป็นตับ เป็นไรก็ตามแล้วก็ใช้วิชาการทางแพทย์ แต่ว่าจริงๆ แล้วเร็วยิ่งกว่านั้นก็คือว่า รูปทุกรูปเกิดดับเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นเราไม่รู้มันก็เกิดแล้วดับแล้ว แต่ทางตาเห็น แล้วก็ชอบไม่ชอบ ทางหูได้ยิน แล้วก็ชอบไม่ชอบ เพราะฉะนั้นรูป ๕ รูปนี้เป็นรูปภายใน เพราะว่าจิตต้องเกี่ยวข้องกับรูปนี้อยู่ตลอดเวลา
หมอ ที่ว่าเกิดดับนี้ก็คือเราก็จำ เชื่อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า ให้เชื่ออาจารย์ไว้ก่อนใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมอว่าหมอมีรูปใช่ไหม แล้วหมอจะไม่เชื่อเรื่องเกิดดับคือหมายความว่า เชื่อไว้ก่อนเพราะฟังเขามา ใช่ไหม หมอว่าอย่างนั้นใช่ไหม
หมอ เชื่ออาจารย์ไว้ก่อน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ฟังมาอย่างนี้ รับฟังกันต่อๆ มาอย่างนี้ หมอต้องพิสูจน์ด้วยความเข้าใจขั้นต้นว่า เวลานี้ที่กำลังเห็น รูปหมออยู่ที่ไหน ที่หมอว่ามีแล้วก็ต้องมาเชื่อก่อนว่าเกิดดับ กำลังเห็นขณะนี้ตัวหมออยู่ที่ไหน
หมอ ก็อยู่ในขณะที่กำลังรู้สึกตัวว่า มีกระทบกับพื้น
ท่านอาจารย์ คิดเอาใช่ไหม คือก่อนฟังพระธรรมเรามีความเป็นตัวตนเต็มที่ ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงว่า ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมซึ่งเป็นของจริง นามธรรมเป็นธาตุรู้ ธาตุพิเศษซึ่งต่างกับรูปธาตุ เราอาจจะจำแนกรูปธาตุมากมายเป็นอะไรได้หลายอย่าง แต่รูปธาตุทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็มีนามธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุที่รู้คือ สามารถที่จะเห็นได้ คิดได้ อะไรได้ทุกอย่างเรียกว่า เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะไม่รู้ไม่ได้เลย ทีนี้เวลาที่ก่อนฟังธรรม เรามีความเป็นตัวตนทั้งๆ ที่ตัวตนก็ไม่ปรากฏ