ปกิณณกธรรม ตอนที่ 102
ตอนที่ ๑๐๒
สนทนาธรรม ที่ ประเทศอังกฤษ
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็มีนามธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุที่รู้คือ สามารถที่จะเห็นได้ คิดได้ อะไรได้ทุกอย่างเรียกว่า เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ธาตชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะไม่รู้ไม่ได้เลย ทีนี้เวลาที่ก่อนฟังธรรมเรามีความเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่ตัวตนก็ไม่ปรากฏ อย่างเวลาที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ปอดไม่ได้ปรากฏ หัวใจก็ไม่ได้ปรากฏ อะไรก็ไม่ได้ปรากฏสักอย่างเดียว ถ้าทางตาสีสันวรรณะกำลังปรากฏ พอถึงทางหูแยกออกไปแล้ว เอาเพียงชั่วขณะๆ ที่กำลังได้ยิน จะมีขณะอื่นซ้อนขึ้นมาไม่ได้เลย เพราะเป็นชั่วขณะที่เสียงกำลังปรากฏ เวลาเสียงปรากฏก็ต้องหมายความว่ามีสภาพที่รู้คือกำลังได้ยินเสียงนั้น มีทั้งเสียงแหลม มีทั้งเสียงดัง มีทั้งเสียงที่เราอาจจะใช้คำสมมติเป็นเสียงนก เสียงรถยนต์ เสียงอะไร ซึ่งแสดงความต่างของเสียง แต่สภาพรู้เสียงสามารถที่จะรู้ลักษณะเสียงต่างๆ กันได้ ที่เสียงปรากฏก็แปลว่า ต้องมีจิตซึ่งกำลังได้ยินเสียง กำลังรู้เสียง ขณะเฉพาะที่กำลังได้ยิน ตัวหมอมีที่ไหน ทั้งตัวอยู่ที่ไหน อยู่ตรงไหน ไม่มีเลย เพราะว่า โดยอากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นละเอียดยิบ รูปเกิดดับหมดเลย เร็วมาก รูปใดเกิดแล้วดับโดยที่จิตไม่รู้รูปนั้น รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกรูปกำลังทยอยกันเกิดดับโดยที่ว่าจิตไม่รู้เลย ขณะที่ได้ยินเสียงจิตรู้แต่เสียง ขณะที่ได้กลิ่นจิตรู้แต่กลิ่น เพราะฉะนั้นความทรงจำของคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรมจึงมี “อัตตสัญญา” สัญญาแปลว่า ความทรงจำ อัตตแปลว่าตัวตน เพราะฉะนั้นเรายังมีความทรงจำว่า เรามีตัวเรานั่งอยู่ที่นี่ นอนอยู่ที่นั่น ทำอย่างนั้นอย่างนี้ตลอด จนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ทีละ ๑ ประเภท แล้วก็แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะว่าถ้าเราพูดถึงขณะซึ่งเขาอาจจะแบ่งเป็นเสี้ยววินาที แต่ว่าแบ่งลงไปได้อีกมาก ทางวิทยาศาสตร์เวลานี้ก็แบ่งออกไปจนไม่รู้ว่าจะคำนวณเป็นกี่ ๑๐๐๐ กี่ ๑๐๐ ใน ๑ ของเสี้ยววินาที แต่สภาพของนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิด และดับแล้วมันจะเป็นตัวหมอได้อย่างไร ไม่ว่าสิ่งที่เราเคยว่า เป็นปอด เป็นหัวใจ เป็นตับ นั่นคือเรื่องราวที่เราจำไว้ แต่ชีวิตคนเรา ชั่วขณะจิตขณะเดียว จิตจะมีซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะจิตที่เห็น ไม่ใช่ขณะจิตที่ได้ยิน นี่ก็แสดงความต่างแล้วว่า เป็นจิตต่างชนิด เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างกันต่างประเภท ตัวหมอไม่มีเลย มีแต่ขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตได้ยิน หมอเข้าใจว่าหมอได้ยินจึงเป็นตัวหมอ ขณะที่เห็นก็เป็นจิตที่เห็นชั่วขณะหนึ่ง หมอก็เข้าใจว่าเป็นหมอเห็น ขณะที่ลิ้มรสอร่อยๆ ก็เป็นจิตชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งลิ้มรส หมอก็เข้าใจว่าเป็นหมอ จริงๆ แล้วมันเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชั่วแต่ละ ๑ ขณะ
สุกล ที่อาจารย์อธิบายผมก็เข้าใจว่า เวลานี้ไม่มีปอด ไม่มีตับ ไม่มี
ท่านอาจารย์ มีความจำ
สุกล มีแต่ความจำแล้วก็เข้าใจอีกว่า ในขณะที่เห็นก็ไม่ได้ยิน ในขณะที่ได้ยินก็ไม่เห็นอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า เกิดทีละอย่างหรือว่ามีการเกิดดับ แต่การเกิดดับอันนี้ก็ เป็นการ
ท่านอาจารย์ อันไหนเป็นหมอ ดับไปแล้ว ก็ไม่มีเลยนอกจากความจำเพราะไม่รู้ว่า เกิดแล้วดับแล้ว อันใหม่มันเป็นตัวหมอตลอดคือ ได้ยินขณะก่อนดับแล้ว เป็นตัวหมอชั่วขณะที่ได้ยินแล้วดับ พอได้ยินใหม่ก็เป็นตัวหมออีกที่ได้ยินเพราะความยึดมั่นในสิ่งซึ่งเกิดดับว่า “เป็นเรา” แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ไม่มีตัวตนที่เที่ยง มีแต่สภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่างซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก
สุกล หมายความว่าแม้แต่คำว่า มีแล้วก็เหมือนไม่มี ถ้าจะมีต่อเมื่อสิ่งนั้นปรากฏ
ผู้ฟัง เรียกว่ามีแล้วหามีไม่
สุกล นั้นโดยความหมายว่าดับไปก็ได้ใช่ไหม แต่เวลานี้หมายความว่า มีแล้วเสมือนว่าไม่มีเพราะสิ่งนั้นยังไม่ปรากฏหรือไม่กระทบ ไม่สัมผัส อย่างเช่นท่านอาจารย์ยกตัวอย่างว่า มีปอด มีตับ ถ้ากล่าวโดยสมมติบัญญัติก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนี้เรียกว่าปอด สิ่งนี้เรียกว่าตับ
ท่านอาจารย์ โดยสมมติ จริงๆ แล้วก็มีแต่รูป
สุกล ถึงแม้ว่าจะมีอยู่ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ซึ่งไม่ต้องเรียกปอดตับ แต่ว่า ลักษณะแท้ๆ ของเขาจะเป็นอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน
สุกล ทีนี้เมื่อกล่าวถึงลักษณะที่เกิดหรือว่ามีการกระทบ มีการรู้ ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นจึงรู้ว่า สิ่งนั้นมี เพราะฉะนั้นแม้แต่พวกตับ ไต ไส้ พุงต่างๆ ที่อยู่ภายใน มีอยู่ก็เหมือนไม่มีเพราะไม่มีการกระทบ
ท่านอาจารย์ ไม่ปวด ไม่เจ็บ แต่ปวดเจ็บเมื่อไร การกระทบสัมผัสเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้ตรงนั้น เป็นตัวจิตที่รู้ รูปไม่เดือดร้อนเลย
สุกล แต่ทุกวันนี้ถึงแม้จะกล่าวว่า รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ หรือว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ แต่ก็ยังมีความผูกพัน เป็นห่วง แสวงหา โดยเฉพาะอย่างทุกวันนี้จะขอกล่าวเรื่องคุณหมอนิดหน่อย คุณหมอสนใจเรื่องสุขภาพมาก พยายามที่จะมีการระมัดระวังรักษา เช่น อาหารการควบคุมอะไรต่างๆ ก็รู้สึกว่าเพิ่มขึ้นๆ เพราะคุณหมอเป็นคนสนใจเรื่องความรู้ทางโลกมาก มาสังเกตดูถึงคุณหมอจะแสวงหา หรือว่าจะพยายามค้นคว้าตามที่มีตำรับตำรา ถ้าเป็นโอกาสของอกุศลกรรมให้ผล การแสวงหา การกิน การรักษาเหล่านั้นก็คงจะไม่มีผลอะไรเลย
ท่านอาจารย์ อย่างนี้คุณสุกลจะถูกเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรสิ” แล้วแต่กรรมใช่ไหม
สุกล แต่ว่าถ้ามีโอกาสจะรักษาป้องกัน อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องระมัดระวังบ้าง แต่ถ้าสมมติระมัดระวังไปแล้ว แต่ยิ่งระมัดระวังเท่าไหร่ ยิ่งกลัวเท่าไหร่ ยิ่งมีการป้องกันมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นเรื่องของความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน ผมคิดในประเด็นนี้ที่ว่าวุ่นวายมันก็เลยกลายเป็นว่า “เอ๊ะทำไม”
ท่านอาจารย์ หมออาจจะวุ่นวายเกี่ยวกับสุขภาพของหมอ แล้วคุณสุกลวุ่นวายเรื่องอะไร
สุกล ไปวุ่นวายเรื่องของคุณหมอ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นใช่ไหมว่า แต่ละคนก็มีความวุ่นวายตามการสะสมว่า ใครจะวุ่นวายอะไร อย่างหมอวุ่นวายตัวหมอ แต่คุณสุกลวุ่นวายคนอื่น
สุกล เพราะไปเห็น และก็ทุกเช้าก็เห็น แล้วเวลากลางวันเดินไปด้วยกันที่ไหนก็เห็นคุณหมอ มีความกระตือรือร้น
ท่านอาจารย์ ก็เรื่องของคุณหมอ นี้แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่ต่างกันจริงๆ
สุกล เมื่อพูดถึงทุกข์จริงๆ ในพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปทุกข์เพราะเรื่องของคนอื่น ทุกข์จริงๆ คือทุกข์ที่เกิดจากกาย เช่น อย่างพี่หม่อมที่ได้รับอุบัติเหตุคือ ตัวอย่างของทุกข์แท้ๆ ทุกข์ที่เกิดที่กายนั้นเลยใช่ไหม ถ้าคนเห็นไปทุกข์อีก อันนี้ก็เป็นกิเลส
ผู้ฟัง ทุกข์ที่กายก็เรียกว่า ทุกขทุกข์
สุกล หมายความว่าเป็นสิ่งที่กระทบหรือว่าได้รับกับที่ร่างกาย
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ทุกข์จริงๆ ทุกอื่นไม่ใช่อย่างนี้เลย ทุกข์อื่นเพราะกิเลส ทุกข์อื่นเพราะความแปรปรวนจากความสุขหรือสิ่งที่เราเคยมีแล้วก็พลัดพรากจากไป แต่ว่าทุกข์แท้ๆ ซึ่งทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีกายต้องมีทุกข์กาย เพราะฉะนั้นถ้าเห็นคนที่เขายากจนมาก อาจจะมีสิ่งของเล็กน้อย อยู่บ้านที่ผุๆ พังๆ หรืออะไร แต่ลองคิดถึงพระภิกษุในครั้งพุทธกาล มีน้อยกว่านั้นอีก เราเห็นคนที่เขาอยู่บ้านผุๆ พังๆ ท่านอยู่ที่ต้นไม้ โคนไม้บ้าง ภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง เห็นถ้วย จาน ชามของเขาซึ่งไม่ค่อยมี พระภิกษุมีบาตรใบเดียว เพราะฉะนั้นแสดงจริงๆ ว่า ทุกข์แท้ๆ ต้องกระทบกาย ตราบใดที่ยังไม่มีทุกข์ซึ่งเกิดจากกาย เราทุกข์เพราะความคิด เราทุกข์เพราะกิเลส เราทุกข์เพราะการไม่สมหวังต่างๆ ที่เราหวัง เพราะฉะนั้นจึงไม่ชื่อว่า “ทุกขทุกข์” แต่ถ้าทุกข์ที่กายซึ่งใครๆ ก็หนีไม่พ้น เมื่อมีกายต้องมีทุกข์ เดี๋ยวทุกข์โรคตา เดี๋ยวทุกข์โรคหู เดี๋ยวทุกโรคอะไรก็แล้วแต่ คือที่กาย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ทุกขทุกข์ อันนี้ก็คงจะไม่ยาก เพราะว่า มันเป็นทุกข์จริงๆ คุณเยาว์หิวเป็นทุกขทุกข์หรือเปล่า
เยาว์ คงจะใช่เพราะว่าเป็นทางกาย
ท่านอาจารย์ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้
เยาว์ หลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วถ้าหิวมากๆ ก็คงจะแสบท้อง แล้วอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นโรคกระเพาะหรืออะไร กลัวไหมทุกขทุกข์
สุกล ไม่กลัวเพราะอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดคือว่า ถ้ามีวิบากก็จะต้องเจ็บ แล้วที่จริงเจ็บก็เจ็บชั่วขณะแสนจะสั้น
ท่านอาจารย์ แต่ว่าทรงแสดงตามลักษณะจริงๆ ว่า แม้แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ มีลักษณะอย่างเดียวคือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น จำไม่ได้ เขาจะรู้สึกไม่ได้ เขาจะเป็นความขยันไม่ได้ เป็นสติไม่ได้ เป็นปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าสมมติเวลาที่เราจะแยกสภาพของสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ออกเป็น ๒ อย่าง จะมีรูปธรรมอย่างหนึ่ง นี้กันเอาไว้เลยว่า เราต้องมีความมั่นใจจริงๆ ว่า ที่ใช้คำว่า รูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีแต่สิ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรเลย แต่ทีนี้ถ้าเรายังไม่เข้าใจรูปชัดเจน เราจะไปเข้าใจนามธรรมหรือจิตยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอถามนิดหนึ่งว่า เสียงเป็นอะไร
ผู้ฟัง เสียง
ท่านอาจารย์ ในจิต เจตสิก รูป นิพพาน เสียงเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ อันนี้แสดงว่าเราจะต้องเข้าใจใหม่ เสียงไม่รู้อะไรเลย เสียงเกิดขึ้นเพราะมีของแข็งกระทบกัน เมื่อไหร่เมื่อนั้นเสียงก็เกิด เช่น คำพูดก็ต้องมีฐานที่ตั้งของเสียง ลิ้นกระทบกับเพดานหรือกระทบส่วนหนึ่งส่วนใด ทำให้มีเสียงเกิดขึ้น อะไรก็ตามซึ่งมันเป็นของแข็งกระทบกันเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม แต่เสียงไม่สามารถจะได้ยิน เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นรูปธรรมไม่ได้หมายความถึงเฉพาะสิ่งที่เรามองเห็น อะไรๆ ก็ตามทั้งหมดที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น สิ่งนั้นเป็นรูป ต้องแยกนามกับรูป หรือว่าจิตกับรูปนี้ออกก่อน เสียงเป็นอะไรตกลง เป็นรูปไม่ใช่จิตเพราะเสียงไม่รู้อะไร แล้วกลิ่นเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ กลิ่นเป็นรูป รสเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ รสเป็นรูป เย็น นี่เห็นไหมว่า ไตร่ตรองพิจารณาเพื่อเข้าใจ การฟังถ้าฟังแล้วผ่าน เราจะไม่รู้เรื่องตามๆ เขาไป เขาบอกว่ารูปก็รูป เขาบอกว่านามก็นาม แต่นั่นจะไม่ได้ประโยชน์ ประโยชน์คือฟังแล้วเราคิดของเราเอง แล้วเราถูกถามจะทำให้เราเข้าใจขึ้น เช่น เย็นเป็นอะไร เมื่อกี้นี้เสียงเป็นรูป ไม่รู้อะไรเลย เสียงไม่ได้ยิน กลิ่นก็เป็นรูป กลิ่นไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้กลิ่นอะไรหมด เป็นตัวกลิ่น ทีนี้เย็นเป็นอะไร
สุกล เป็นรูปเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าไม่รู้อะไรเลย
ท่านอาจารย์ สภาพเย็นมีจริงๆ แต่ความรู้สึกว่าเย็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจับน้ำแข็ง ตัวน้ำแข็งเย็นแต่ว่าเรารู้สึกเย็นเพราะเราจับน้ำแข็ง เวลาที่เราจับน้ำแข็งแล้วถึงจะรู้สึกเย็น ถ้าเราไม่จับน้ำแข็งจะรู้สึกเย็นไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราไปรู้ลักษณะที่เย็น สภาพที่รู้ ลักษณะที่รู้คือจิต แต่ตัวสภาพเย็นเขาไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นใกล้เคียงกันอยู่ตลอดเวลาคือเวลาที่มีจิตจะต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ทางภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรืออารมณ์ อันนี้ก็ต่างกับภาษาไทยเราเพราะว่า ภาษาไทยคำว่า “อารมณ์” เราไปใช่ปลายเหตุ “วันนี้อารมณ์ดี” แต่หมายความว่า เราต้องเห็นสิ่งดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ อารมณ์ถึงจะดี แต่ว่าอารมณ์จริงหมายความถึงอะไรก็ตามที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่พระพุทธเจ้าตรัส และทรงแสดงจะไม่เปลี่ยน แม้แต่คำว่า “อาลัมพนะ” หรือ “อารัมมณะ” ใช้ได้ ๒ อย่าง หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อมีจิตจะไม่มีอารมณ์ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เวลาที่มีอารมณ์จะไม่มีจิตรู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เหมือนกัน เสียงที่ไม่มีใครได้ยินเป็นอารมณ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แต่เสียงที่กำลังถูกจิตได้ยิน เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตรู้ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตจะรู้ไม่ได้ แม้แต่นิพพานจิตก็รู้ได้ ถ้าจิตไม่รู้นิพพาน ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นที่เราใช้คำว่า พระอริยเจ้า พระอริยบุคคล พระโสดาบัน พระอรหันต์พวกนี้ หมายความถึงจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานแล้วดับกิเลส ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานแล้ว ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจิตรู้นิพพานไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้นิพพานไม่ได้ ทรงแสดงไม่ได้ว่า มีนิพพาน แต่เพราะเหตุว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วใครจะรู้สิ่งที่มีจริงก็ต้องเป็นจิตที่รู้ เพราะฉะนั้นจิตสามารถที่จะรู้จิตก็ได้ จิตสามารถจะรู้เจตสิกก็ได้ จิตสามารถจะรู้รูปก็ได้ จิตสามารถจะรู้นิพพานก็ได้ จิตสามารถจะรู้ชื่อ รู้คำ รู้เรื่องราว รู้ความหมายก็ได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีคุณเยาว์ มีจิตซึ่งรู้ทุกอย่างจนกระทั่งขณะนี้ ทุกภพทุกชาตินี้คือจิต แล้วก็มีอารมณ์ซึ่งถูกจิตรู้ ถ้าเกิดคันเป็นคุณเยาว์หรือเปล่า
เยาว์ ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นเพราะใครก็คันได้ทั้งหมด เวลาลักษณะคันเกิดขึ้นก็ต้องมีลักษณะอย่างนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นคันก็คัน เจ็บก็คือเจ็บ เป็นทุกขทุกข์ เป็นทุกข์กายชนิดหนึ่ง ซึ่งพิจารณาจริงๆ แล้วก็คือว่า ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้สภาพคันก็ดี เจ็บก็ดี เมื่อยก็ดี ปวดก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งไม่เป็นของใครเลย เกิดกับสุนัขๆ ก็ปวดได้ เจ็บได้ คันได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นลักษณะที่คันนั้นก็คือปรมัตถธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม คัน ปวด เจ็บ เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก
สุกล เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตเขาเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะเห็น เฉพาะได้ยิน เขาไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่จำ ไม่อะไรเลยสักอย่างเดียว นี้คือลักษณะที่ต่างกันของจิตกับเจตสิก เพราะฉะนั้นเราจะทราบว่าต้องแยกจริงๆ ว่า จิตไม่ใช่เจตสิก มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงว่า มีสภาพนามธรรม ๒ อย่างคือจิต เจตสิก เพราะใครเลยจะรู้ว่า จิตขณะ ๑ ที่เกิดขึ้น บางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ อย่าง บางประเภทมีเจตสิกเกิดด้วย ๑๐ อย่าง บางประเภทมีเจตสิกเกิดด้วย ๑๑ อย่าง ๑๓ อย่าง ๒๐ กว่าอย่าง ๓๐ กว่าอย่าง ตามประเภทของจิตนั้นๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด พิจารณาถ่องแท้ ยิ่งเข้าใจในความไม่ใช่เรา เพราะว่า แต่ละขณะมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องทราบปรมัตถธรรม ๔ แล้วก็ต้องรู้ความต่างกันของจิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพานยังไม่ต้องกล่าวถึง เอาเฉพาะแค่จิต เจตสิก รูป เพราะอะไรยังไม่กล่าวถึง เพราะว่าเรามีจิต เจตสิก รูป ตลอดเวลาซึ่งเราควรจะรู้ และเข้าใจก่อน ถ้าเรายังไม่เข้าใจจิต เจตสิก รูป ปัญญาขั้นนี้ไม่มี แล้วปัญญาที่จะไปรู้แจ้งนิพพานมีไม่ได้เลย ง่วงเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง นามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่เป็นเจตสิก ง่วง
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ เจตสิกคือถ้าไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เฉพาะ ลักษณะอื่นทั้งหมดที่เราบอกว่า เราง่วง เราขยัน เราท้อแท้ เรามีเมตตากรุณา เราโกรธ ฯลฯ คือ เจตสิกหมดเลย ซึ่งเจตสิกเขาจะเกิดกับจิตเท่านั้น เขาจะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลย เกิดรูปไม่ได้เลย รูปไม่มีทั้งจิต เจตสิก เพราะฉะนั้นจิต เจตสิกเกิดพร้อมกันแยกกันไม่ได้ เพราะว่า ไม่มีสภาพธรรมสักอย่างหนึ่งซึ่งเกิดตามลำพังโดยไม่มีการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น เจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้น เกิดพร้อมกันทุกครั้งเลย ถ้ามีคนถามคุณเยาว์ว่า จิตนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ คุณเยาว์ตอบได้ว่า ยังไม่ทราบ แต่ต้องมี คือเรายังไม่ทราบจริง เพราะเรายังไม่ได้เรียน แต่ต้องมี คือสิ่งใดที่เราทราบ เราต้องมีความมั่นใจ เข้าใจ มั่นคงอย่างถูกต้องว่า ต่อไปนี้เรารู้แล้วว่า ถ้าที่ใดมีจิตที่นั่นต้องมีเจตสิก ที่ใดมีเจตสิกที่นั่นก็ต้องมีจิต จิตไม่ใช่เจตสิก วันนี้ก็ได้ปรมัตถธรรม ๔ แต่ว่า ต้องมีตัวอย่าง ต้องคิด ต้องทบทวน ไม่อย่างนั้นแล้วก็เหมือนเข้าใจ แต่เหมือนเข้าใจพอจริงๆ แล้วเข้าใจแค่ไหน จะต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก
ผู้ฟัง คิดว่าเมตตากับเสน่หานั้นใกล้เคียงกัน และสำหรับการทำอะไรก็ตามกับตัวเอง คิดว่ามันก็คงจะไม่ใช่เมตตาแน่ ก็คงจะเป็นเสน่หากับตัวเองมากกว่า
ท่านอาจารย์ คือจริงๆ แล้วมีหรือเปล่าในพระไตรปิฎกที่ว่า เมตตาตัวเอง คือคนชอบพูด แต่ทีนี้เวลาที่ใครจะพูดก็ตาม เราต้องพิจารณาว่า เป็นไปได้ไหม เป็นความจริงหรือเปล่า มีกล่าวไว้อย่างไร ทีนี้เขาก็จะอ้างตอนแผ่เมตตา แต่ว่าเขาจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เวลาที่แผ่เมตตา บางคนไม่สามารถจะเกิดเมตตาทันทีได้ เพราะว่า เขาไม่ได้สะสมมาที่จะมีเมตตา เขาต้องคิดก่อน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องตรง เรื่องจริง เวลาที่เราฟังแม้แต่คนพูด อย่าเพิ่งเชื่อ พระไตรปิฎกกล่าวอย่างนี้ต้องพิจารณาว่า อรรถความหมายจริงๆ คืออะไร คือให้ตัวเองเป็นพยานให้นึกขึ้นได้ว่า นี้คือเมตตาจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นความที่เรารักตัวเรา และเราก็ให้เขา เพราะฉะนั้นธรรมนี้เป็นเรื่องตรง เรื่องตรงที่ว่าถึงใครจะว่า เราเมตตาแต่จริงๆ ขณะนั้นเรามีเมตตาแค่ไหน ระดับไหน หรือว่าเมตตาจริงแท้หรือเปล่า แต่ถ้าสมมติว่า เมตตาจริงๆ จะต้องหมายความว่า เสมอกัน ถ้ายังมีเหลื่อมล้ำสักนิดหนึ่ง มันก็ไม่ใช่เมตตาแท้ๆ แล้ว เช่น อย่างลูกเรากับลูกเขาใช่ไหม ถ้าเมตตาที่แผ่กว้างจริงๆ อันนี้จะเสมอกัน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเครื่องเตือนเราทุกกรณีให้ละเอียดขึ้นให้รู้ว่า เมตตาแค่นี้พอไหม หรือว่าเมตตาได้ระดับไหน แต่ว่าเมตตากับตัวเอง อย่าใช้เลย คำว่าเมตตาแปลว่า มิตร หรือเพื่อน หรือไมตรี มันก็ต้องมีคนที่เราจะต้องมีไมตรีกับเขาคือ ไม่ใช่เป็นศัตรู ตรงกันข้ามกับศัตรูเลย อย่างโกรธเราบอกว่า เราโกรธตัวเอง คล้ายๆ ต้องมีตัวอีกตัวหนึ่งที่ทำไม่ดี แต่จริงๆ ไม่ใช่โกรธตัวเอง จริงๆ แล้วรักตัวเอง และความรักเป็นเหตุให้เราไม่พอใจ แต่ไม่พอใจไม่ได้หมายความว่า มีตัวอีกตัวหนึ่งหรืออีกคนหนึ่ง มิตรคือไมตรีต้องเป็นเพื่อนกับคนที่เราคบ แล้วเขาก็จำแนกไปเลยว่า เป็นคนที่รัก หรือคนที่ชัง หรือคนปานกลาง พวกนี้ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ต่างระดับกัน