แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327


สุ. สมาทานศีล ไม่ใช่เพียงแต่พูดตาม แต่มีเจตนาจริงๆ ที่จะรักษาศีล ประพฤติตาม และวิรัติทุจริต ถ้าเป็นเพียงการพูดตาม ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ตามระเบียบประเพณี ไม่ใช่เจตนาจริงๆ ก็ไม่มีความมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติศีลต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ภาษาบาลี ควรที่จะเข้าใจภาษาบาลีด้วย อย่างอุบาสก อุบาสิกา อาจจะมีเจตนาที่จะรักษาศีล ๕ แต่เพราะความไม่รู้ ก็ไปรับศีล ๘ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของเจตนาแล้ว หมายความถึงความตั้งใจที่จะสมาทาน ประพฤติตามศีลข้อนั้นๆ ซึ่งเรื่องของการที่จะล่วงศีลหรือไม่ แม้ว่าจะสมาทานแล้ว ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะเหตุว่าแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เสทกสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะชื่อเสทกะ ใน สุมภชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้แล้วเรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ดูกร เมทกถาลิกะ ผู้เป็นสหาย มาเถิด มาขึ้นไม้ไผ่ แล้วยืนอยู่บนคอของเรา

เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของนักไต่ราวแล้ว ขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ ครั้งนั้นแล คนจัณฑาลนักไต่ราวจึงพูดกะเมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ว่า ดูกร เมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย ท่านจงรักษาเรา เราจักรักษาท่าน เราทั้งสองต่างคุ้มครองกันและกัน ต่างรักษากันและกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากราวไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี

ไม่ได้มุ่งรักษาตัวเองเลยใช่ไหม มุ่งรักษาคนอื่น และให้คนอื่นรักษาตน ถ้าเป็นอย่างนั้นจะสำเร็จไหม

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน เราทั้งสองต่างคุ้มครองตน ต่างรักษาตนอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เหตุผลในข้อนั้นมีดังนี้ เหมือนศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะได้พูดกะอาจารย์ ฉะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร

ที่ชื่อว่ารักษาผู้อื่น ด้วยการส้องเสพ ด้วยการเจริญ ด้วยการกระทำให้มาก บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไร

ที่ชื่อว่ารักษาตน ด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความเอ็นดู บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน

ที่ว่า พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน เพื่อขัดเกลากิเลสของตน ถ้ากิเลสของตนเบาบางแล้ว จะชื่อว่ารักษาบุคคลอื่นได้ไหม คนอื่นย่อมจะไม่ได้ถูกเบียดเบียนด้วยการกระทำของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าบุคคลผู้เจริญสติปัฏฐานมุ่งที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อรักษาตน เมื่อกิเลสของบุคคลนั้นเบาบางแล้ว ย่อมชื่อว่า รักษาบุคคลอื่น เพราะว่าจะไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย

. การงดเว้นโดยไม่มีเจตนา อย่างสุรานี่ผมไม่ต้องการ ไม่ชอบ ก็ไม่มีเจตนาที่จะเว้น แต่ก็เว้นโดยปริยาย อย่างนี้ถือว่าครบศีล ๕ หรือเปล่า

สุ. ความประพฤติเป็นไปอยู่แล้วโดยธรรมชาติ โดยปกติที่จะไม่เป็นผู้เสพสุรา เป็นการเว้นอยู่ในตัว เพราะเหตุว่าไม่ล่วง

ที่ว่าไม่ต้องการนั้น คืออะไร ที่ว่าไม่ต้องการ กับ ที่ว่าต้องการและเกิดไม่ต้องการขึ้น ต้องการที่จะวิรัติ หรือเว้น ก็โดยนัยเดียวกัน แล้วแต่ว่าเป็นปกติ หรือว่าต้องอาศัยการเสพจนชิน และเกิดความคิดที่จะเลิก ที่จะวิรัติขึ้น

ต่างกันที่ บุคคลหนึ่งเป็นผู้ที่เสพจนชิน และเกิดเจตนาที่จะวิรัติ แต่อีกบุคคลหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เป็นผู้ที่เสพจนชิน แต่ก็ไม่ต้องการ ซึ่งความไม่ต้องการ ก็เป็นเจตนาอยู่แล้ว

. ยุงกัดมากจนทนไม่ไหว ตบยุงจนสิ้นชีวิต ผลสุดท้ายผมก็เวทนายุงที่ตาย อยากจะทราบว่า ผิดศีลหรือยัง

สุ. ผิดแน่นอน ปาณาติบาต ต่อไปอาจจะเกิดเจตนาที่จะวิรัติ และสังวร ถ้าสติปัฏฐานเจริญเนืองๆ บ่อยๆ สติก็มีความชำนาญที่จะเกิดขึ้น และวิรัติทุจริตได้ แต่ขณะใดที่กระทำทุจริตกรรม ขณะนั้นสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม

. (ฟังไม่ชัด)

สุ. ท่านผู้ฟังพยายามที่จะได้กุศล ด้วยการคิดว่า การทำลายยุงน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าไม่ทำให้แพร่เชื้อโรค จะคิดอย่างไรได้หลายอย่าง แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นสติเกิดขึ้นจะรู้ว่า เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

บางท่านอาจกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แต่ยังมีการล่วงศีลข้อปาณาติบาต แต่ให้ทราบว่า สติเกิดขึ้นเล็กน้อย ชั่วขณะ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และดับไปอย่างรวดเร็ว ความเป็นตัวตนเกิดต่อ จึงทำให้กระทำทุจริตกรรม ปาณาติบาตในขณะนั้น เพราะว่าสติในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมสืบต่อไปที่จะปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่ความเป็นตัวตนแทรกขึ้นทันที เป็นสัตว์ เป็นยุง เป็นคน เป็นตัวตน จึงกระทำทุจริตกรรมลงไป

เพราะฉะนั้น แม้ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ล่วงศีลข้อปาณาติบาตในขณะใด หมายความว่า แม้สติจะเกิดขึ้นชั่วขณะสองขณะ แต่สตินั้นไม่สืบต่อที่จะรู้ในสภาพที่ปรากฏว่า เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม แต่มีความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงกระทำทุจริตกรรมได้

ได้ทราบจากท่านผู้ฟังบางท่านว่า มีท่านผู้ศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ท่านฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาไปอย่างนั้นเอง คือ ฟังไปเฉยๆ เพราะรู้สึกว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ในเมื่อตัวท่านเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ และได้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก ทั้งฝ่ายคัมภีร์ยมก ปัฏฐาน วิภังค์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านก็รู้สึกว่า เรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เล็กน้อย ไม่ลึกซึ้ง หรือว่าไม่เหมือนกับที่ท่านได้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก

การที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม หรือการศึกษาธรรม แม้อภิธรรมปิฎกก็ตาม หรือธรรมส่วนอื่น คือ พระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก ก็ด้วยการมนสิการของบุคคลนั้น คือ จะได้รับประโยชน์มากน้อยต่างกัน ตามควรแก่มนสิการของบุคคลนั้น

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยก็ตาม พระสุตตันตปิฎกก็ตาม พระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม จุดประสงค์นั้นเพื่ออะไร ถ้าท่านศึกษาพระอภิธรรม ท่านก็จะศึกษาเรื่องของจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์ จิตมีประเภทต่างๆ มากมาย เป็นกามาวจรจิต เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูปาวจรจิต เป็นจิตที่เจริญอบรมความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต และเจตสิกก็มีมากมาย

ซึ่งที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งหมด ประโยชน์อย่างยิ่งคืออะไร

เรียนเรื่องของจิต เจตสิก รูปแล้ว แต่ประโยชน์อย่างยิ่งจริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป ในเมื่อทุกขณะที่มีชีวิตอยู่ มีจิต เจตสิก และรูป จึงเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาในลักษณะของจิต เจตสิก รูปที่ปรากฏ ให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

ไม่ใช่เพียงตามเหตุ ตามผล ตามที่ได้ศึกษาเท่านั้น แต่ในขณะที่จิต เจตสิก รูปชนิดใดมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ ก็ควรจะได้ศึกษาด้วยการสำเหนียก สังเกต ด้วยสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

ไม่ใช่เพียงแต่การฟัง และมีความรู้กว้างขวางในเรื่องของจิต เจตสิก รูป แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูปที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพียงศึกษาปรมัตถธรรม ไม่สมบูรณ์ด้วยความเห็นถูกในธรรม ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ให้ถูกต้องตรงตามที่ได้ศึกษามา

สำหรับประโยชน์จริงๆ ของการศึกษา คือ ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม จะเป็นจิตหรือจะเป็นเจตสิกก็ตาม หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม โดยอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟัง การศึกษาขั้นปริยัติ ทำให้เข้าใจ และสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่าเมื่อฟังแล้วเข้าใจ ก็อบรม เพื่อให้ปัญญาเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงได้

. ธรรมของพระพุทธองค์ทุกประการ ประกอบด้วย ๓ ขั้น สตินี่มี ๓ ขั้นไหม ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง คือ โดยปกติจะมี ๓ ขั้นไหม

สุ. สติเป็นโสภณธรรม ขณะใดที่สภาพของจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สติที่ระลึกเป็นไปในทาน ที่ทำให้เกิดการให้ การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ในขณะนั้นก็เป็นสติขั้นทาน

ในขณะที่ระลึกเป็นไปในศีล ทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติขั้นศีล

ขณะที่จิตไม่สงบ เป็นอกุศล และระลึกได้ เห็นว่าไม่ควรที่จะปล่อยจิตให้เป็นอกุศล มีความเพียร มีปัญญารู้ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากอกุศลได้ นั่นก็เป็นสติขั้นยับยั้ง หรือว่าไม่ให้จิตเป็นไปในอกุศล เป็นขั้นของสมาธิ และสูงที่สุดยิ่งกว่านั้น คือ การอบรมสติปัฏฐาน เพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

. การศึกษาธรรมของกระผมไม่ผ่านครูบาอาจารย์ ศึกษาจากธรรมบทเป็นพื้น แต่การเจริญสติปัฏฐาน ผมเคยมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์ สมัยผมอายุ ๑๗ ท่านให้ผมท่องมหาสติปัฏฐาน และท่านก็พูดว่า ให้เจริญไว้ ๗ ปีต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านว่าไว้อย่างนั้น ผมท่องมาได้ปีหนึ่งแล้ว รู้ว่าไม่จริง เพราะการท่องแบบนกแก้วนกขุนทองนั้น ไม่ได้ทำให้บรรลุมรรคผล ผมก็เลิก

สุ. ท่านผู้ฟังคงเจริญสติไปด้วยได้ใช่ไหม ระหว่างที่ฟัง ทุกอย่างเป็นธรรม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ แม้แต่ท่านผู้พูดเอง ถ้าเข้าใจเรื่องลักษณะของสติปัฏฐาน ในขณะนั้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทางตาบ้าง หรือทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

ก็เป็นเรื่องสภาพของจริงซึ่งอาศัยความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง และก็ได้รับประโยชน์จริงๆ จากการศึกษาธรรม โดยขั้นที่สติระลึกรู้ เพื่อการประจักษ์ในลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับเรื่องประโยชน์ของการศึกษาธรรม ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟัง และมนสิการในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระวินัยปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม ก็ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โกสัมพิยสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี สมัยนั้น พวกภิกษุในเมืองโกสัมพีเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท เสียดสีกันและกันด้วยปากเพียงดังว่าหอกอยู่ ไม่ยังกันและกันให้เข้าใจ ไม่ปรารถนาความเข้าใจกัน ไม่ยังกันและกันให้ปรองดอง ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ๖ ประการ อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน ทำความเคารพกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน

เป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่า หรือไม่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงฟังเฉยๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ หรือว่ามีอรรถอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุใดภิกษุจึงทะเลาะวิวาทกัน ต้องมีเหตุใช่ไหม ถ้าไม่มีเหตุ ก็ไม่ทะเลาะไม่วิวาทกันแน่ แต่เมื่อทะเลาะวิวาท ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ นี่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่บุคคลทั้งหลายยังมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือภิกษุก็ตาม อกุศลธรรมและอกุศลกรรมต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ

พระธรรมที่จะทรงแสดงต่อไป ก็เพื่อเกื้อกูลแก่การดับกิเลสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพื่อจะได้ไม่ทะเลาะ ไม่วิวาทกัน เพื่อจะได้ปรองดองกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาทั้งหมดไม่ใช่เล็กน้อย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าท่านผู้ฟังจะมนสิการในเหตุในผลที่ได้ทรงแสดง

ธรรม ๖ ประการ อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน ทำความเคารพกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน ธรรม ๖ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ

ประการที่ ๒ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งวจีกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ

ประการที่ ๓ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ

เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก บางครั้งทางกายไม่ล่วงออกไป ทางวาจาก็ไม่ล่วง แต่ทางใจยังมี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้เรื่องของธรรมทั้งปวง จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการขัดเกลา เพื่อการละทั้งกายกรรม ทั้งวจีกรรม และมโนกรรมด้วย


หมายเลข  6476
ปรับปรุง  20 ม.ค. 2567