แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
อกุศลกรรมบถทางวาจา ๔ คือ
มุสาวาท พูดเท็จ
ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือ คำพูดที่เกินประมาณ ไร้ประโยชน์
อกุศลกรรมบถทางใจ คือ ทางมโนทวาร ๓ ได้แก่
อภิชฌา ความอยากได้ของผู้อื่น
พยาปาทะ ความปองร้ายผู้อื่น ความคิดร้ายบุคคลอื่น
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด
รวมทั้งหมดเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐
สำหรับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ติวิธสูตร มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งการฆ่าสัตว์ว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการถือเอาทรัพย์ วัตถุที่เจ้าของมิได้ให้ว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการประพฤติผิดในกามว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดเท็จว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดส่อเสียดว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดคำหยาบว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการพูดเพ้อเจ้อว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการอยากได้ของผู้อื่นว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งความปองร้ายผู้อื่นว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
เรากล่าวแม้ซึ่งการความเห็นผิดว่ามี ๓ อย่าง คือ มีโลภะเป็นเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โลภะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม โทสะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม โมหะเป็นแดนเกิดแห่งเหตุของกรรม ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโลภะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งเหตุของกรรม ย่อมมีได้เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ ด้วยประการดังนี้แล ฯ
ท่านผู้ฟังดูเหมือนจะตอบเองได้ว่า อะไรเป็นเหตุของอกุศลกรรม คือ มีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ ตอบได้แน่นอน และไม่ผิดด้วย แต่เวลาที่กำลังทำอกุศลกรรมในขณะนั้น ทราบไหมว่าเพราะโลภะเป็นเหตุ หรือเพราะโทสะเป็นเหตุ หรือเพราะโมหะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมทั้งหมดจะดับได้ก็เพราะความสิ้นไปแห่งโลภะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ
สำหรับเรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าธรรมนั้นเป็นอกุศล จะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นให้เป็นกุศลไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของอกุศลธรรมซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่แสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็จะไม่ทราบว่าอกุศลธรรมนั้นมีความละเอียดมากเพียงไร และการละก็ต้องเป็นการละโดยละเอียด จะต้องเป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจริงๆ
ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๙๘ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลเห็นความละเอียดของอกุศลธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้
ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน
คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตปองร้าย ๑ มีความเห็นผิด ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ ฯ
จำได้ไหมว่า ทำอกุศลกรรมอะไรบ้างใน ๑๐ ประการนี้ ที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ หรือว่าถ้ากำลังกระทำอยู่ หรือจะกระทำต่อไป ก็จะต้องเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ แต่สำหรับผู้ที่ประกอบด้วยธรรมฝ่ายตรงกันข้าม คือ กุศลธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้
ธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉน
คือ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ๑ ...ฯลฯ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ๑ มีจิตไม่ปองร้าย ๑ มีความเห็นชอบ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้
เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่วิรัติ เว้นจากการฆ่า ให้ทราบว่า จะเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้ หรือในขณะที่ ไม่ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ ในขณะนั้นก็จะเป็นผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์
อกุศลจะละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จะต้องละให้หมดสิ้นไป
ข้อความต่อไป
ข้อ ๑๙๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้
ธรรม ๒๐ ประการ เป็นไฉน
คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ … ฯลฯ
สำหรับข้อต่อๆ ไป ก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาจิตใจของท่านละเอียดยิ่งขึ้นว่า อกุศลธรรมในจิตใจของท่านอยู่ในประการใด คือ สำหรับในข้อปาณาติบาตนั้น ท่านเป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง หรือว่าเป็นผู้ที่ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฆ่าเอง แต่อกุศลเจตนามี จึงได้ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ นั่นก็เป็นอกุศลธรรมที่ละเอียด ซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นด้วย
สำหรับธรรมฝ่ายตรงข้าม คือ ที่เป็นฝ่ายกุศลธรรม ๒๐ ก็เป็น ผู้ถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาประดิษฐานไว้
ข้อ ๒๐๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้
ธรรม ๓๐ ประการ เป็นไฉน
คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ ... ฯลฯ
ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และไม่ได้ชักชวนบุคคลอื่นให้ฆ่า แต่ว่ามีความพอใจในการฆ่าสัตว์นั้นหรือไม่ นี่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเกิดพอใจในการฆ่าสัตว์ แม้จะไม่ได้ฆ่า แต่มีความพอใจในการฆ่า ก็เป็นอกุศลธรรม
เพราะฉะนั้น การดับกิเลสเป็นเรื่องยากหรือเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่จะดับสิ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นเรื่องที่ต้องขัดเกลาละคลาย บรรเทา อบรม จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรม แม้อกุศลธรรมที่เป็นความพอใจในการฆ่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สติก็จะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล และเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ต้องรู้ทั่วจริงๆ จึงสามารถที่จะดับกิเลส หรืออกุศลอย่างละเอียดได้
ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้
ธรรม ๔๐ ประการ เป็นไฉน
คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ๑ ... ฯลฯ
กล่าวสรรเสริญก็ผิด เป็นอกุศลธรรม ท่านเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ถ้าเป็นสติ ก็จะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงสามารถที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ดับกิเลส ไม่ยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ
สำหรับธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ๔๐ ทางฝ่ายกุศลธรรม ก็โดยนัยเดียวกัน
ข้อ ๒๐๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐ ประการฝ่ายอกุศล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐ ประการ ฝ่ายกุศล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย
นี่เป็นจิตของท่านเอง เคยสรรเสริญในการฆ่าสัตว์บ้างไหม หรือว่าเคยพอใจในการฆ่าสัตว์บ้างไหม เคยสรรเสริญในการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้บ้างไหม หรือว่าบุคคลใดที่ประพฤติผิดในกาม ท่านสรรเสริญ หรือท่านพอใจในการประพฤติผิดในกามเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า หรือว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดพูดเท็จ หรือว่าชักชวนให้บุคคลอื่นพูดเท็จ ท่านมีความพอใจ หรือสรรเสริญที่บุคคลนั้นพูดเท็จด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดหรือเปล่า ในขณะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เคยพิจารณาตัวท่านเองอย่างละเอียดบ้างไหม ในเรื่องของอกุศลธรรมทั้ง ๔๐ และกุศลธรรมทั้ง ๔๐
ท่านผู้ฟังที่มีอาชีพต่างๆ ก็มักสงสัย และอาจจะเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ที่ว่าเป็นสิ่งที่ท่านควรกระทำ หรือเป็นสิ่งที่ท่านจำเป็นจะต้องกระทำ ถ้าท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลธรรมต้องเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่เห็นผิดว่า อกุศลธรรมนั้นเป็นกุศลธรรม ถ้าท่านเห็นผิด จะไม่เกิดความเห็นถูก และไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดได้
ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎก ถ้าท่านศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงตรง จริงตามสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอาชีพอย่างไรก็ตาม แต่ธรรมก็ต้องเป็นธรรม
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปาฏลิยสูตร เป็นพระสูตรที่ยาว ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความบางประการเท่านั้น เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออาจจะเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่ท่านจะต้องกระทำอกุศลกรรมนั้นๆ
ข้อความใน ปาฏลิยสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุตตรนิคมแห่งชาวโกฬิยะ ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่าปาฏลิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระ ผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ดังนี้ ชนเหล่านั้น เป็นอันกล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้แลหรือ เพราะว่าข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร นายคามณี ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงทราบมายา ดังนี้ ชนเหล่านั้น เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ย่อมไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ย่อมไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้
มายาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล ไม่จริง แต่ทำเสมือนว่าจริง ผิดแต่ทำเสมือนถูก นั่นเป็นมายา ไม่ได้บรรลุ ก็เสมือนกับว่าบรรลุธรรม นั่นก็เป็นมายา ซึ่งนายบ้านนามว่าปาฏิลยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
ข่าวเล่าลือข้อนั้น จริงเทียวพระองค์ แต่พวกข้าพระองค์มิได้เชื่อถือสมณพราหมณ์พวกนั้นว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่า พระสมณโคดมมีมายา
ในครั้งโน้น แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ยังมีผู้กล่าวว่า พระองค์เป็นผู้ที่มีมายา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ผู้ใดแลพูดอย่างนี้ว่า เรารู้จักมายา ผู้นั้นย่อมจะพูดอย่างนี้ว่า เรามีมายา
ซึ่งนายคามณีก็ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นย่อมเป็นดังนั้นเทียว ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นย่อมเป็นดังนั้นเทียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงแก้ตามที่ท่านชอบใจ
ให้ตอบเอง เพื่อจะได้เป็นความเข้าใจของผู้ถามอย่างชัดเจนว่า ที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้จักมายา กับที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีมายานั้น ผู้ถามมีความเห็นว่าอย่างไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามนายบ้านว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะหรือ
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์อย่างไร
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์ดังนี้ คือ เพื่อป้องกันพวกโจรแห่งชาวโกฬิยะ เพื่อละความเป็นคนนำข่าวแห่งชาวโกฬิยะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะมีประโยชน์อย่างนี้ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวในนิคมแห่งชาวโกฬิยะว่าเป็นคนมีศีล หรือเป็นคนทุศีล
นายคามณีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะว่าเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม และพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาว โกฬิยะเป็นพวกหนึ่งในจำนวนบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทรามในโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ผู้ใดแลพึงพูดอย่างนี้ว่า นายบ้านนามว่าปาฏลิยะ รู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้นายบ้านปาฏลิยะก็เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อพูดถึง พึงพูดถูกหรือหนอ แล
ถูกหรือผิด พระผู้มีพระภาคจะทรงแก้ความเข้าใจของนายบ้าน ในเรื่องของบุคคลผู้รู้จักมายาและผู้มีมายาว่าต่างกัน