แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
เพราะฉะนั้น วิสาขอุบาสกจึงคิดว่า ขึ้นชื่อว่าโลกุตตรธรรมนี้ เป็นภาระหนักเราไม่ควรประกาศ ก็ถ้าหากว่าเราจักไม่บอกนาง นางก็จะทำลายหทัยในที่นี้นั่นเอง
วิสาขอุบาสกจึงได้บอกเพื่อความอนุเคราะห์แก่นางว่า
ฉันฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้เข้าถึงโลกุตรธรรม กิริยาอาการอย่างชาวโลกเห็นปานนี้ ย่อมไม่เป็นไปสำหรับบุคคลที่บรรลุโลกุตตรธรรมนั้น
ถ้าหากว่าเธอย่อมปรารถนา เรามีทรัพย์อยู่ ๘๐ โกฏิ คือ ของเธอ ๔๐ โกฏิของฉัน ๔๐ โกฏิ เธอเป็นใหญ่ในทรัพย์นี้ จักดำรงอยู่ในฐานะมารดา หรือในฐานะน้องสาวของฉัน ฉันจักยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยวัตถุสักว่าก้อนข้าวที่เธอให้แล้ว ถ้าหากว่าเธอไม่กระทำอย่างนี้ เธอก็จงถือเอาสมบัติเหล่านี้ไปสู่เรือนแห่งสกุล แม้ถ้า หากว่า เธอมีความปรารถนาในภายนอก ฉันก็จะตั้งเธอไว้ในฐานะน้องสาว หรือในฐานะธิดาเลี้ยงดู
ธรรมทินนาคิดว่า ชายธรรมดาที่มีความประพฤติอย่างนี้ไม่มี อุบาสกนี้ได้บรรลุโลกุตตรธรรมแน่แล้ว นางจึงคิดว่า ธรรมนั้นบุรุษเท่านั้นจะพึงบรรลุหรือ หรือว่าแม้สตรีก็สามารถบรรลุได้ ดังนี้แล้ว จึงถามเนื้อความนี้กับวิสาขอุบาสกว่า
ธรรมนี้ผู้ชายเท่านั้นพึงได้หรือหนอแล หรือแม้ผู้หญิงก็สามารถได้
ขอให้ท่านพิจารณาคำตอบของวิสาขอุบาสก ซึ่งตอบว่า
ดูกร ธรรมทินนา เธอพูดอะไร ชนเหล่าใดเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว ชนเหล่านั้นก็เป็นทายาทแห่งพระธรรมนี้ ผู้ใดมีอุปนิสสัย ผู้นั้นย่อมได้เฉพาะซึ่งธรรมนี้
ข้อความนี้แสดงให้เห็นชัดว่า การอบรมเจริญปัญญานั้น ต้องเป็นการเจริญอบรมสะสมความรู้จริงๆ ได้แก่ปัญญาที่รู้ของจริง คือ สภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ตามปกติ ด้วยเหตุนี้วิสาขอุบาสกจึงกล่าวตอบว่า ชนเหล่าใดเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว ชนเหล่านั้นก็เป็นทายาทแห่งพระธรรมนี้ ผู้ใดมีอุปนิสสัย ผู้นั้นย่อมได้เฉพาะซึ่งธรรมนี้
ธรรมทินนาถามว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะอนุญาตให้ดิฉันบวชหรือ
ท่านจะเห็นอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ท่านวิสาขอุบาสกได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ไม่มีอัธยาศัยที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ส่วนธรรมทินนายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่มีอุปนิสสัยสะสมมาที่จะออกบวช
ซึ่งวิสาขอุบาสกตอบว่า
ดีทีเดียว นางผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าเองก็ปรารถนาที่จะชักชวนในทางนี้อยู่เหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ใจเธอ จึงไม่พูด
เรื่องของจิตใจ เรื่องของการสะสมอุปนิสสัยในอดีตมา ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถจะทราบได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าวิสาขอุบาสกจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี แต่ก็เห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยอุปนิสสัยที่ได้สะสมอบรมมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่า ธรรมทินนานั้นเป็นผู้ที่มีอุปนิสสัยในทางนี้หรือไม่ ซึ่งถึงแม้ว่าท่านเองก็ปรารถนาที่จะชักชวน แต่ก็ไม่รู้ใจ จึงไม่พูด
ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
วิสาขอุบาสกได้ไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารในวันนั้นนั่นเอง ถวายบังคมแล้วยืนอยู่
พระราชาตรัสถามว่า
คหบดี เพราะเหตุใดท่านจึงมาในเวลาที่ไม่ใช่กาล
วิสาขอุบาสกกราบทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า นางธรรมทินนาพูดว่า ดิฉันจักบวช
พระราชาตรัสถามว่า
ก็นางได้อะไร ถึงจะควร
วิสาขอุบาสกกราบทูลว่า
กิจอย่างอื่นไม่มี ข้าแต่เทวะ การที่นางได้วอทองคำ จึงจะควร
เป็นเรื่องผลของกรรมของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา ที่จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวัน
ซึ่งสำหรับธรรมทินนาภิกษุณี ท่านเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้เป็นธรรมกถึก ในการที่ได้สะสมบุญในอดีตมา เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมีความดำริที่จะบวช วิสาขอุบาสกก็ได้กราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ และได้ขอวอทองคำ เพื่อที่จะให้นางเลียบพระนคร ซึ่งพระราชาก็ได้พระราชทานวอทองคำให้ และให้นางเลียบพระนคร
วิสาขอุบาสกให้ธรรมทินนาอาบน้ำด้วยน้ำหอม ให้ประดับตกแต่ด้วยเครื่องอลังการ ให้นั่งบนวอทองคำ แวดล้อมด้วยหมู่ญาติ ให้บูชาอยู่ด้วยดอกไม้และของหอม เป็นต้น ประดุจว่าทำแก่ชาวพระนครทั้งหลาย จึงได้ไปสู่สำนักภิกษุณี แล้วจึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอท่านให้นางธรรมทินนาบวชเถิด
วิสาขอุบาสกไปส่งนางธรรมทินนาถึงสำนักภิกษุณี และขอให้ภิกษุณีทั้งหลายให้นางธรรมทินนาบวช
ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวว่า
คหบดี ท่านควรอดกลั้นความโกรธ คือ ความผิดของธรรมทินนาครั้งหนึ่ง หรือสองครั้งเถิด
เข้าใจว่า ที่ให้นางธัมทินนาบวช คงจะเป็นเพราะว่านางธรรมทินนาได้ทำความผิด ไม่ถูกใจวิสาขอุบาสก เพราะฉะนั้น เมื่อมีความโกรธ วิธีลงโทษ คือ ให้นางธรรมทินนาบวชเสีย
วิสาขอุบาสกได้กล่าวว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า นางไม่มีโทษอะไร นางมาบวชด้วยศรัทธา
ครั้งนั้น พระเถรีผู้ฉลาดรูปหนึ่ง จึงได้บอก ตจปัญจกกัมมัฏฐาน แก่นาง ธรรมทินนา ให้ปลงผม แล้วก็ให้บวช
สำหรับตจปัญจกกัมมัฏฐาน หมายความถึงให้พิจารณากายหมวด ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
วิสาขอุบาสกกล่าวกับธรรมทินนาภิกษุณีว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด พระธรรมพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ดังนี้ แล้วก็หลีกไป
นับตั้งแต่ธรรมทินนาบวชแล้ว ลาภสักการะก็บังเกิดขึ้นเป็นอันมาก ท่านมีความกังวลด้วยเครื่องสักการะนั้น จึงไม่ได้โอกาสเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ต่อมาพระเถรีผู้เป็นอาจารย์และอุปัชฌาย์ก็ได้ไปยังชนบท แล้วก็ได้ให้ท่านเรียนกัมมัฏฐานที่ท่านพอใจในบรรดาอารมณ์ ๓๘
ซึ่งอารมณ์ ๓๘ นั้น ก็ได้แก่ สมถภาวนา ๔๐ เว้นอาโลกกสิณ ๑ และ อากาสกสิณ ๑
ท่านได้เริ่มบำเพ็ญสมณธรรม แต่เพราะเหตุที่ท่านถึงพร้อมด้วยอภินิหาร จึงมิได้ลำบากอยู่นานเลย
ซึ่งในอดีตชาติของท่านธรรมทินนาเถรีมีว่า
เล่ากันมาว่า
นับแต่กัปนี้ถอยไปแสนกัป พระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระทรงอุบัติขึ้นในโลก ในครั้งนั้นท่านเป็นทาสีอยู่ในสกุลๆ หนึ่ง ขายผมของตนแล้วถวายทานแด่พระอัครสาวกซึ่งชื่อว่าสุชาตเถระ ได้กระทำความปรารถนาไว้แล้ว
จะเห็นได้ว่า การมีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมที่ได้ฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในอดีต ทำให้มีศรัทธาจริงๆ ในพระธรรม เมื่อเป็นทาสีก็ไม่มีทางอื่น นอกจากขายผมของตน และถวายทานแก่พระอัครสาวก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่มั่นคงในพระธรรม ตั้งแต่ในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ กว่าที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้
ข้อความต่อไปในอรรถกถา มีว่า
ท่านลำบากอยู่ไม่นานนัก เพราะความถึงพร้อมด้วยอภินิหาร ซึ่งหมายความถึงนำไปยิ่ง แห่งความปรารถนานั้น ตั้งแต่ครั้งที่ท่านมีศรัทธาในพระสัมมาใมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ
โดยเวลาเล็กน้อยเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ธรรมทินนาภิกษุณีคิดแล้วว่า เราบวชในพระศาสนาด้วยประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นก็ถึงที่สุดแล้ว จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเราด้วยการอยู่ในชนบท พวกญาติของเราจะได้ทำบุญทั้งหลาย แม้ภิกษุณีสงฆ์ก็จักไม่ลำบากด้วยปัจจัยลาภทั้งหลาย เราจักไปยังกรุง ราชคฤห์ ท่านจึงได้พาภิกษุณีสงฆ์ไปยังกรุงราชคฤห์ นั่นแล
ต่อไปท่านผู้ฟังจะได้ทราบเรื่องอานิสงส์ของศีล ที่นำมาซึ่งโภคสมบัติ และปัจจัยซึ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต และจะได้ทราบว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงอานิสงส์ซึ่งเป็นปัจจัยคือโภคสมบัติ แม้แก่พระภิกษุสงฆ์
ที่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะว่า ชีวิตจะดำรงอยู่ได้โดยขาดปัจจัย เป็นไปได้ไหม ไม่ว่าจะในเรื่องของจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตยังต้องอาศัยปัจจัยให้ดำรงอยู่ได้ หรือว่าให้ดำเนินไปได้ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะพ้นไปจากการห่วงใยในปัจจัยที่จะอำนวยความสะดวกสบายไม่ได้เลย บางท่านกล่าวว่า ท่านไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ในเพศของบรรพชิตต่อไปได้ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะได้ปัจจัยที่ควรแก่การที่จะดำรงชีวิตอยู่ในเพศของบรรพชิต
เพราะฉะนั้น เรื่องอานิสงส์ของศีลที่นำมาซึ่งโภคสมบัติหรือปัจจัยนั้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
ข้อความต่อไปในอรรถกถา มีว่า
วิสาขอุบาสกได้ข่าวว่า ธรรมทินนาภิกษุณีกลับมาแล้ว จึงคิดว่า ธรรมทินนาภิกษุณีบวชแล้วก็ได้ไปยังชนบท ไม่นานเลย ไม่นานเลย ก็กลับมา จักมีอะไรหรือหนอแล
เมื่อท่านมีความสงสัยอย่างนี้ ท่านก็ใคร่ที่จะทราบ
ท่านจึงได้ไปยังสำนักภิกษุณี ด้วยการไปเป็นครั้งที่สอง เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล วิสาขอุบาสกจึงได้ไปถึงที่ธรรมทินนาภิกษุณีอยู่
ข้อความต่อไปมีว่า
สองบทว่า เอตทโว จ ได้แก่ อุบาสกได้กล่าวแล้วซึ่งคำนี้ คือ ซึ่งคำ มีอาทิว่าสักกาโย เป็นต้น
มีคำถามว่า เพราะเหตุใดอุบาสกจึงได้กล่าวคำนี้
แก้ว่า คือ อธิบายว่า ได้ยินว่า อุบาสกนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ท่านยังยินดีอยู่หรือ หรือว่าย่อมไม่ยินดี ดังนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของบัณฑิต ดังนี้ เราจักถามปัญหาน้อมเอาอุปาทานขันธ์ ๕ เข้าไป เราจักทราบว่าธรรมทินนาภิกษุณียินดีหรือไม่ยินดี ก็ด้วยการพยากรณ์ปัญหา ด้วยเหตุนี้ วิสาขอุบาสกจึงได้กล่าวคำนี้
นี่เป็นลักษณะของบัณฑิต คือ ไม่ใช่เข้าไปถามตรงๆ ว่า บรรลุมรรคผลหรือยัง แต่วิธีที่จะรู้ได้ คือ ถามปัญหาที่จะให้บุคคลนั้นพยากรณ์ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน แจ่มแจ้ง ซึ่งเป็นความรู้ของตนเอง
พอท่านธรรมทินนาภิกษุณีฟังคำนั้น ไม่ได้กล่าวว่า ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าบวชไม่นาน จะรู้กายของตนและกายของผู้อื่นที่ไหนได้ หรือไม่ได้กล่าวว่า ท่านจงเข้าไปหาภิกษุณีรูปอื่นแล้วจึงถามเถิด ท่านธรรมทินนาภิกษุณีดำรงอยู่ในปฏิสัมภิทาตอบปัญหาอยู่ ดุจรับสิ่งของที่เขาโยนเข้ามา
ต้องไว ต้องเร็วไหม ไม่ทราบว่าของใครจะโยนมาทางไหน แต่ต้องรับได้ สำหรับผู้ที่มีความสามารถ เพราะฉะนั้น ท่านธรรมทินนาภิกษุณีดำรงอยู่ในปฏิสัมภิทาตอบปัญหาอยู่ ดุจรับสิ่งของที่เขาโยนเข้ามา ดุจแก้ปมที่บ่วงข้างหนึ่ง
ถ้าเป็นปมแล้ว ก็ยุ่งเหลือเกิน บางท่านก็ย่อมไม่สามารถแก้ปมที่ยุ่งเหยิงนั้นได้
ดุจนำทางเข้าไปในป่าชัฎ
ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญในหนทางจริงๆ ที่จะไม่หลง เพราะเหตุว่าป่าชัฎนั้น ย่อมจะทำให้บุคคลหลงทางได้
ดุจเปิดหีบด้วยปลายมีด
ต้องมีกำลังมากไหม ถึงจะใช้เพียงปลายมีดเปิดหีบได้ ถ้าเป็นคนที่ไม่มีกำลัง ก็คงจะต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังมากมายเกินกว่าปลายมีด แต่สำหรับท่านที่ดำรงอยู่ในปฏิสัมภิทาตอบปัญหาอยู่ ดุจรับสิ่งของที่เขาโยนเข้ามา ดุจแก้ปมที่บ่วงข้างหนึ่ง ดุจนำทางเข้าในป่าชัฏ ดุจเปิดหีบด้วยปลายมีด ฉะนั้น
ธรรมทินนาภิกษุณีจึงได้กล่าวว่า
วิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์เหล่านี้ ๕ อย่างแล ดังนี้ เป็นต้น
ข้อความต่อไปในอรรถกถา มีว่า
บรรดาเหล่านั้น บทว่า ปัญจ ได้แก่ การกำหนดนับ
บทว่า อุปาทานขันธา ได้แก่ กถาว่าด้วยอุปาทานขันธ์
ในคำว่า อุปาทานขันธ์นี้ พึงเป็นคำอันท่านกล่าวให้พิสดารไว้ โดยนัยเป็นต้นว่า ขันธ์ทั้งหลายเกิดแล้วเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ข้อความต่อไปในอรรถกถา มีว่า
ก็วิสาขอุบาสก ครั้นได้สดับการพยากรณ์สัจจะทั้ง ๔ จึงได้ทราบว่า พระเถรีไม่มีความยินดีแล้ว จริงอยู่ ผู้ใดกระสัน ไม่ยินดีในพระพุทธศาสนา ผู้นั้นไม่อาจที่จะแก้ปัญหาที่เรานำมาถามแล้วๆ อย่างนี้ ดุจจับผมหงอกเส้นหนึ่งๆ ด้วยแหนบฉะนั้น และดุจยกทรายจากเชิงภูเขาสิเนรุขึ้นฉะนั้น
ก็เพราะเหตุที่สัจจะ ๔ ประการเหล่านี้ ปรากฏในพระศาสนา ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ ฉะนั้น ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคก็ดี พระมหาเถระทั้งหลายก็ดี ผู้อยู่ในท่ามกลางบริษัท ย่อมประกาศสัจจะทั้งหลายทีเดียว ภิกษุสงฆ์ย่อมให้กุลบุตรเรียนปัญหานับตั้งแต่วันที่บวชแล้ว โดยตั้งปัญหาขึ้นว่า อะไรชื่อว่า ๔ แก้ว่า อริยสัจ ๔
วิสาขอุบาสกท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความคิดว่า ก็ธรรมทินนาภิกษุณีนี้ ดำรงอยู่แล้วในอุปายโกสล เป็นบัณฑิตผู้ฉลาด ได้นัยแล้ว สามารถตอบได้ แม้ด้วยการฟัง คือ เมื่อฟังแล้วเข้าใจ ก็สามารถที่จะไปอธิบาย ชี้แจง ขยายความ เป็นพระธรรมกถึกที่มีความสามารถรูปหนึ่ง อาจจะเป็นเพียงด้วยการฟังเท่านั้น
เพราะฉะนั้น วิสาขอุบาสกจึงคิดว่า เราไม่อาจจะทราบว่า ธรรมทินนาภิกษุณีนี้ได้บรรลุสัจจะทั้งหลายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ได้ แต่เราสามารถจะทราบได้ด้วยการพยากรณ์ปัญหา คือ จำแนกสัจจะออกไป ดังนี้แล้ว จึงคิดว่า เราจักยักย้าย คือ เปลี่ยนสัจจะทั้ง ๒ ที่กล่าวแล้วในหนหลัง จักถามปัญหาที่มีเงื่อนงำ กระทำให้ ลี้ลับ คือ ให้ลึกซึ้งขึ้นอีก ดังนี้แล้ว เมื่อจักถาม จึงกล่าวคำว่า ตัง เยว นุโข อัยยัง ดังนี้ เป็นต้น
ซึ่งข้อความโดยละเอียดที่วิสาขอุบาสกได้ถามธรรมทินนาภิกษุณี ก็มีในพระไตรปิฎก