ปกิณณกธรรม ตอนที่ 113


ตอนที่ ๑๑๓

สนทนาธรรม ที่ ประเทศกัมพูชา

ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


ท่านอาจารย์ ทุกคนยึดถือสภาพของรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นเรา แม้ว่ารูปนั้นไม่ปรากฏ แต่ก็จำไว้ว่ามีรูป ขณะนี้ทุกคนกำลังจำเป็นอัตตสัญญาความจำว่ามีเรา โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าการยึดถือรูปที่ตัวว่าเป็นเรา ยึดถือรูปอะไร จะมีใครตอบไหมว่ายึดถือรูปอะไรที่ตัวว่าเป็นเรา

ผู้ฟัง รูปทั้งหมด

ท่านอาจารย์ รูปทั้งหมด แล้วมีลักษณะอะไร ถ้าไม่มีลักษณะแล้วจะบอกว่าเป็นรูป ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นต้องมีสภาพธรรม ซึ่งปรากฏแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงเข้าใจว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ปรากฏ ที่ตัว ที่เข้าใจว่าเป็นเรา เพราะว่ามีรูป ถ้าไม่มีรูปจะเป็นตัวได้ไหม เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ตัว ยังไม่ได้ตอบ

ผู้ฟัง อยู่ในตัวก็มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็งกันตอนนี้

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ารูปเย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือแข็ง ไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงรูปที่อ่อน เหมือนที่อื่นก็อ่อน รูปที่ร้อนก็รูปที่อื่นก็ร้อน รูปที่เย็นที่อื่นก็เย็น เพราะฉะนั้นรูปก็คือรูป เป็นของใคร รูปเกิดมาอย่างไร ดับไปอย่างไร ก็ไม่รู้เลยสักอย่าง เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งละคลายการยึดถือรูปว่าเป็นเรา ถ้าจะกล่าวว่าปัญญาเห็นถูกในรูป คือเห็นว่ารูปเป็นรูป ไม่ใช่เรา ก็ต้องมีลักษณะของรูปกำลังปรากฏให้ปัญญาเห็นถูกต้อง เพราะฉะนั้นรูปหนึ่งรูปใดที่ปรากฏที่ตัวตามปกติ การรู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมไม่ผิดปกติ เพราะว่าขณะนี้ไม่เคยระลึกไม่เคยรู้ว่ารูปมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราอย่างไร เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็รู้ว่าไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ และไม่มีอะไรซึ่งเป็นของเรา ทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ ก็จะรู้ว่ารูปที่ปรากฏที่ตัวมีลักษณะอย่างไร ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังระลึกลักษณะของรูปที่ตัว แล้วค่อยมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของรูป ก็จะประจักษ์แจ้งว่า รูปเกิดแล้วรูปดับ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่มีแล้วไม่มี ก็จะเป็นของใครไม่ได้ เพราะว่าหมดแล้วไม่มีแล้ว ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้จริง ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ข้อที่น่าคิดที่ไม่ควรจะลืมคือ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้ว ปัญญาจะรู้อะไร ถึงแม้ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ความจริงเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ลองพิจารณาดู มีใครว่าจริง หรือมีใครว่าไม่จริงบ้าง

ผู้ฟัง จริงเรื่องอะไร

ท่านอาจารย์ ที่ว่ามีรูปปรากฏเฉพาะส่วนที่กระทบสัมผัสเท่านั้น ส่วนอื่นไม่เหลือเลย ทุกคนขณะนี้คงจำไว้ได้ว่ามีทั้งแขน ทั้งหน้า ทั้งตัว ตรงที่เคยเป็นแขน ถ้าไม่กระทบสัมผัสขณะนี้ มีใครรู้ว่าอะไรปรากฏตรงนั้นบ้าง ทั้งศีรษะ คิ้ว ตา จมูก ปาก จริงหรือไม่จริง ต้องพิสูจน์ ต้องพิจารณา แม้ขณะนี้จะเป็นจริงอย่างนี้ ก็ไม่ยอมละความยึดถือที่เคยยึดถือว่ายังมีเราอยู่ วิปัสสนาญาณเป็นการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมอย่างนี้ตามปกติ แต่ที่ขณะนี้ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ คือไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากรูปตรงที่ปรากฏเท่านั้น เพราะไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ก็เป็นลักษณะของรูปที่ปรากฏเมื่อมี เมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ขณะใดที่ไม่กระทบสัมผัส รูปที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ปรากฏเลย ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ เวลาที่สัมมาสติเกิดระลึก ก็จะมีเฉพาะลักษณะของรูปที่ปรากฏที่ตรงที่สติระลึกเท่านั้น เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะทำให้ค่อยๆ คลายความเป็นตัวตนลง วิปัสสนาญาณที่รู้แจ้งสภาพธรรมก็รู้จริงด้วยปัญญาที่สามารถที่จะคลายความเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำอะไรเลยที่จะเป็นการผิดปกติ เพราะแม้ขณะนี้ที่เห็นก็ไม่มีใครทำ แต่มีปัจจัยที่จะให้สภาพนี้เกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น ขณะนี้ไม่มีตัวตนที่จะทำหน้าที่ของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมได้เลย เมื่อสภาพธรรมใดมีปัจจัยเกิดขึ้น ก็ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ ต้องเริ่มเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีเราที่ทำอะไรเลย แต่มีสภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น และทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ โดยการฟังทุกคนเข้าใจว่า เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ของใคร ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง บังคับให้ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยก็ได้ยินต้องเกิด ได้ยินแล้วก็ดับไป ถ้าเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมเพิ่มขึ้นๆ ก็จะไม่มีเรา ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมเป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่ยังไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้จริง

ผู้ฟัง โลภมูลจิต และ มัจฉริยะคือความตระหนี่ ธรรมทั้ง ๒ นี้เกิดร่วมกันได้หรือไม่

ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย

ผู้ฟัง และเมื่อจะตาย เพราะในขณะตระหนี่นี้ก็กำลังติดข้องในสิ่งนั้นด้วย

ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง มีความยึดมั่นพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่เกิดมัจฉริยะคือความตระหนี่ ความหวงแหน ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นความไม่สบายใจ ขณะที่กำลังตระหนี่ ความรู้สึกเป็นอย่างไร

ผู้ฟัง ไม่สบาย

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ จิตขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

ผู้ฟัง สภาพในจิตที่ไม่สบายคือเป็นโทสะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทรงพระมหากรุณาแสดงให้รู้ โดยเวลาที่พูดถึงเรื่องจิตแต่ละชนิด ต้องมีเวทนากำกับ ให้รู้ความจริงว่า เวทนาใดจะเกิดกับจิตใดได้ มิฉะนั้นก็จะเข้าใจผิด คิดว่าความตระหนี่เกิดกับโลภะ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก จนปรากฏเสมอว่าพร้อมกัน เช่นในขณะที่เห็น ต่างขณะกับขณะที่ได้ยิน แต่ก็เสมือนว่าทั้งเห็น ทั้งได้ยินพร้อมๆ กันด้วย ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็มีการอบรมเจริญปัญญาย่อมขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้าเหตุสมควรแก่ผล ผลก็เกิดได้

ผู้ฟัง กุศลธรรมนี้ก็มีการส่งสัตว์ไม่ให้ต้องไปในอบาย แต่ก็เฉพาะอกุศลธรรม และอัพยากตธรรมนี้มีการส่งสัตว์อย่างไร

ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถ ถ้าครบองค์ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้

ผู้ฟัง แต่ผู้ถามได้ถามในธรรมว่า ธรรมเป็นธรรมที่ไม่ให้สัตว์ไปในอบายภูมิ

ท่านอาจารย์ ก็ต้องถามว่าธรรมอยู่ที่ไหน ที่จะทำให้สัตว์ไม่ไปอบายภูมิ เพื่อไม่เป็นการสับสนระหว่างกุศลธรรมกับอัพยากตธรรม

ผู้ฟัง เรียนใหม่ๆ ตอนแรกๆ ข้างต้นก็ต้องเป็นชื่อเรื่องราวทั้งหมด

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง แล้วมันจะกลายเป็นหายไปได้อย่างไร

ท่านอาจารย์ ไม่

ผู้ฟัง เพิ่มความเข้าใจ

ท่านอาจารย์ เพิ่มความเข้าใจคือ แต่ก่อนเราเรียนชื่อ แต่ชื่อนั้นชื่อของอะไร อย่างเราใช้คำว่า จิต เป็นชื่อของอะไร เป็นชื่อของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ เพราะฉะนั้นเราไม่ไปติดที่คำว่าจิต เปลี่ยนชื่อจิตก็ได้ เป็นวิญญาณก็ได้ เป็นมโนก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ แต่หมายความถึงสภาพที่รู้ เวลาที่จิตเกิดต้องรู้ไม่รู้ไม่ได้ ถ้าเรายืนหยัดอย่างนี้เวลานอนหลับมีจิตไหม มี ขณะนอนหลับจิตรู้อารมณ์ไหม ต้องรู้ คือจะเปลี่ยนไม่ได้เลย จิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องเป็นสภาพรู้ แต่อารมณ์ขณะที่นอนหลับไม่ปรากฏเพราะเป็นภวังค์ สืบต่อจากปฏิสนธิ ซึ่งสืบต่อมาจากจิตใกล้จะตายของชาติก่อน เพราะฉะนั้นภวังคจิตนี้เราก็เข้าใจ ถ้ามีคนบอกเราว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สามารถจะรู้อารมณ์ได้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ คือทุกอย่างนี้ต้องเข้ากันกลมกลืนกัน จึงเป็นความถูกต้อง ถ้าไปติดขัดตันตรงหนึ่งตรงใด ก็แปลว่าขณะนั้นไม่ถูกไม่ใช่ความเข้าใจถูก ยิ่งเรียนก็ยิ่งเข้าใจว่าแต่ละคำหมายความถึงสภาพธรรม หรือว่าเป็นแต่เพียงบัญญัติเรื่องราว

ผู้ฟัง หมายความว่าพอเข้าใจสภาพจิต เจตสิกก็ทำงานกันไปเอง

ท่านอาจารย์ เวลานี้ทำอยู่แล้ว แต่นี่เราไม่รู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เราไม่แยก ๒ อย่าง แต่เวลาที่ศึกษาเราก็สามารถที่จะแยกได้ว่าจิตเขาเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ อย่างเดียว ไม่จำ ไม่โกรธ ไม่รัก ไม่ชัง นี่คือหน้าที่ของจิตคือเป็นใหญ่ สามารถจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้มีลักษณะอย่างไร ทางตาที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับจิต เวลาที่เสียงปรากฎ เสียงมีตั้งหลายเสียงใช่ไหม แต่จิตสามารถจะรู้ทุกเสียงได้ คือจิตเขาเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง รู้ชัดในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ แต่ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกไม่ใช่เราเป็นสภาพธรรม

ผู้ฟัง ข้อหนึ่งที่ตอนคุณนุชเรียนถามตอนต้นๆ ที่ว่าก็เป็นนึกว่าตรงนี้แข็ง ตรงนี้อะไร

ท่านอาจารย์ เป็นชื่อ

ผู้ฟัง เป็นชื่อ อาจารย์ก็บอกว่าก็ยังดีก็เหมือนกับว่าคิดเรื่องอื่นใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ที่ไม่ได้คิดเรื่องจิต เจตสิก รูป

ผู้ฟัง ก็คล้ายๆ กับว่าเราติดที่เคยปฏิบัติธรรมที่ไปทำสมาธิ และก็ไปกำหนดรู้อะไร

ท่านอาจารย์ อันนี้หมายความว่า ทุกคนห้ามความคิดไม่ได้ ต้องคิดเรื่อยๆ แต่ทีนี้เราเคยคิดเรื่องคนนั้น คนนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ พอเราได้ฟังธรรม ก็เกิดคิดเรื่องจิตบ้าง คิดเรื่องเจตสิกบ้าง แต่ว่าคนนั้นก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่การระลึกลักษณะ คือปัญญาจะต้องรู้ทั่วทุกขณะ เพิ่มขึ้น

ผู้ฟัง เขาก็ติดกลายเป็นว่า เป็นนิสัยว่าต้องไปกำหนดรู้อะไรอย่างนั้นหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาเข้าถึงได้ต้องเพิ่มขึ้น ที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะ เป็นการคิดเรื่องสภาพธรรม นี่ต้องแยกลักษณะที่แข็งในลักษณะแข็ง แต่ถ้าบอกว่าแข็งเป็นรูปนั่นคือเป็นนึกถึงชื่อคำ เพราะฉะนั้นต่อไปก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานที่กำลังรู้คำ รู้คำต้องมีลักษณะที่ปรากฏ แล้วจริงๆ ลักษณะนี้ที่แข็งที่เกิดดับ แต่ต้องรู้ด้วยปัญญา เหมือนกับว่ามีอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องเกิดจึงปรากฏ กระทบ ได้แล้วก็ดับทันที ฟังแล้วเหมือนเป็นเหตุผลที่ถูก แต่ประจักษ์จริงๆ ก็ต้องอย่างนี้

ผู้ฟัง ที่อาจารย์เมื่อครู่นี้ว่า ความแข็งเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับตลอดไปต้องรู้ ที่อาจารย์ว่าต้องรู้

ท่านอาจารย์ เป็นความจริงหรือเปล่า ก่อนอื่นต้องไล่เรียงตั้งแต่ต้น จริงหรือเปล่า

ผู้ฟัง ขณะนี้

ท่านอาจารย์ ถามว่าแข็งนี้เกิดถึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ จริงหรือเปล่า อะไรก็ตามที่ไม่เกิดจะปรากฏไหม อะไรก็ตามที่ปรากฏหมายความว่าต้องเกิดจึงได้ปรากฏ นี่คือความจริง เพราะฉะนั้นปัญญารู้จริงทุกอย่าง แต่มันเป็นจริง

ผู้ฟัง รู้ลักษณะของแข็งเมื่อปรากฏ กับ รู้ว่ามันเกิดดับ อย่างนั้นใช่ไหมอาจารย์

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาต่างกัน เพราะใช้ปัญญาขั้นแรกไม่สามารถที่จะเกิดจากการเกิดดับได้เลยเพราะไม่เคยรู้ลักษณะของนามธาตุ รูปธาตุเลย เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่ามี มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็มีแต่ลักษณะของธาตุนี้ก็ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณจึงมีหลายระดับ ต้องเป็นตามลำดับขั้นด้วย จะไปประจักษ์การเกิดดับก่อนก็ผิด ใครที่เขาพยายามไปดูนาม ดูรูป เพื่อที่จะประจักษ์การเกิดดับ และบอกประจักษ์แล้ว ก็รู้ว่าคนนั้นผิด

ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหมว่า บางคนคิดว่านั่นเป็นสติปัฏฐาน แล้วคิดว่าถูก แต่ความจริงแล้วนั่นคือเป็นการเข้าใจผิด

ท่านอาจารย์ เยอะเลย เขาใช้ชื่อสติ แต่ความจริงเขาไม่รู้ลักษณะของสติ ใช้คำว่า ใช้ปัญญาโดยที่ไม่รู้จักปัญญาเลย แต่บอกว่าให้ใช้ปัญญา แล้วปัญญาที่ไหน

ผู้ฟัง อย่างสมมติตัวเองก็แล้วกัน สมมติถ้าเป็นตัวเอง บางครั้งเป็นไปได้ว่า อาจจะคิดว่า สติปัฎฐานเกิดแล้ว โดยการเข้าใจผิดจากที่ฟัง

ท่านอาจารย์ การฟังถึงต้องฟังให้เข้าใจ ไม่ให้มีความสงสัย ไม่ให้มีความเข้าใจผิด อย่างสติไม่ใช่สมาธิ เห็นไหม เรารู้เลยว่าใครปฏิบัติผิด เขาเอาสมาธิเป็นสติ แล้วเข้าไปแปะชื่อไว้ว่านี่คือสติ สติใช่ไหม แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าสมาธินี้มีลักษณะที่จดจ้อง จดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่ง อารมณ์เดียว แต่สติไม่ใช่ลักษณะของสมาธิเลย สติเป็นสภาพซึ่งถ้าโดยการศึกษา เราทราบว่าเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดเฉพาะกับโสภณจิต เพราะฉะนั้นเกิดกับกุศลทุกระดับตั้งแต่ทาน ศีล สมถะ วิปัสสนา เพราะฉะนั้นสติปัฎฐานก็คือขณะที่มีสภาพที่ระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏตามปกติจากการฟัง อย่างหลงลืมไม่เคยระลึกเลย ไม่เคยเกิดเลย แต่พอฟังแล้วมีการระลึกคืออย่างไร คือเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งสภาพธรรมนี้มี ๒ อย่างนามธรรมกับรูปธรรม เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้ว่ากำลังเห็น เดี๋ยวนี้เห็นมีกำลังเห็น และเห็นไม่มีรูปร่างอะไรเลยทั้งสิ้น เห็นคือสภาพที่สามารถจะมองเห็นหรือเห็นได้ นี่เป็นกิจหน้าที่ของธาตุชนิดนั้น ซึ่งธาตุนั้นไม่มีรูปร่างเลย ค่อยๆ เข้าถึงความเป็นนามธรรม นั่นคือสติปัฏฐาน เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏ และเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจ ถ้าไปถามคนอื่นว่า นี่ใช่สติปัฏฐานหรือเปล่า ถ้าจะบอกว่าไม่ใช่ แต่ขณะนั้นกำลังค่อยเข้าใจสภาพที่มีจริง ถ้าอีกคนหนึ่งบอกว่าใช่ ใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่อยู่ที่คำของเขา แต่อยู่ที่ความจริงว่าขณะนั้นมีสภาพธรรม แล้วทำไมเราเคยหลงลืมบ่อยๆ แต่ขณะกำลังค่อยๆ จะเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ นั่นคือสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นถ้าโดยชื่อก็ใช้กัน สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม และอะไรๆ ก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่ว่าตามความจริงคือมีสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ แข็งปกติก็หลงลืม แต่ตอนนี้กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่รู้มี แข็งได้ปรากฏลักษณะรู้ ถึงแม้ว่าครั้งแรก ๒-๓ ครั้งแรก ๒-๓ ปีแรก ๒-๓ เท่าไหร่ก็ได้ ที่ระลึกแล้วยังไม่ชัด ก็คือจากการจับด้ามมีดทีละหนึ่งขณะ ก็จะทำให้ด้ามมีดสึกได้ เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดขึ้นทีละครั้งก็ทำให้ถึงความสมบูรณ์ เพราะเหตุว่าต้องมีความมั่นคง มั่นใจว่าปัญญาจะต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ปรากฏ หมดไปแล้วหรือยังไม่เกิด ปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจถึงปฏิจจสมุปบาท ไม่เข้าใจนั่นคืออวิชชา อยู่ที่ไหน อวิชชาต้องเกิดกับจิต ไปเกิดกับรูปไม่ได้ ขณะใดที่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม นั่นคืออวิชชา ยิ่งเรียนอีกแล้วยิ่งรู้ ขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก วิบากจิตไม่มีอวิชชา เจตสิกเกิดร่วมได้แต่ว่ามีอวิชชานุสัยอยู่ในจิตที่เกิด ความเข้าใจของเราละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นก็ทำให้เราเริ่มอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริง โดยที่ไม่ไปติดในเรื่องราว ในตัวหนังสือ แต่รู้ว่าถ้าเราอ่านมากด้วยความเข้าใจอันเป็นประโยชน์ ด้วยความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ เป็นเรื่องอดทน เป็นเรื่องการเวลา ที่ใช้คำในพระไตรปิฏกว่า จิรกาลภาวนา ยิ่งดูประวัติของท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านอบรมนานมาก แต่เราไม่ต้องห่วงว่าเรานานเท่าไหร่แล้ว คือเดี๋ยวนี้เป็นเครื่องวัดปัญญาตามความเป็นจริงว่า สามารถที่จะเข้าใจปรมัตถธรรมขณะนี้ ตัวลักษณะไม่ใช่เรื่องราวเพราะว่าทั้งหมดทุกขณะนี้เป็นปรมัตถธรรม

ผู้ฟัง สติเป็นโสภณเจตสิก ที่ว่าเกิดกับกุศล ขอถามว่า ถ้าเผื่อสติระลึกรู้โทสะในสิ่งที่ไม่ดี ก็จะถูกต้องหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ อะไรที่จริงถูกทั้งนั้นเลย สิ่งที่มีจริงทั้งหมด จริง

ผู้ฟัง แต่คิดว่าถ้าเป็นเรื่องที่สิ่งไม่ดีหรือเรื่องอกุศลอะไร

ท่านอาจารย์ อกุศลก็จริง

ผู้ฟัง สติเกิดตอนนั้นหรือไง

ท่านอาจารย์ สติไม่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต ขณะต่อไป เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าตามรู้ หมายความว่าสิ่งนั้นเกิดต้องเกิด ไม่เกิดไม่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับ อกุศล แล้ววาระต่อไปก็เป็นกุศลจิตซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพนั้นซึ่งเกิดดับสืบต่อ เพราะว่าจะไม่มีวาระเดียวที่ปรากฏ เพียงวาระเดียวปรากฏ เราจะไม่รู้ ต้องหลายวาระ

ผู้ฟัง กำหนดแบบว่า ตอนนี้เป็นโทสะ เป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ คิด เป็นการคิดเท่านั้น ต่อไปถ้ารู้อย่างนี้ เราก็เลิกคิดว่า ไม่คิดมันก็มี แข็งไม่ต้องคิดเลยก็มี รู้แข็งไม่ต้องคิด ก็มี เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิด ก็มาค่อยเข้าใจลักษณะที่เป็นสภาพรู้ซึ่งต่างจากแข็ง

ผู้ฟัง ก็เป็นลักษณะคิดเหมือนเดิมไหม

ท่านอาจารย์ ไม่คิดออกมาเป็นคำ กำลังค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เหมือนเรามองดูอะไร เรามองดูเรารู้ว่าเป็นส้ม ไม่เห็นแล้วต้องบอกว่านี่ส้ม นี่ส้ม ใช่ไหม แต่เราก็รู้

ผู้ฟัง คำถามเพื่อนฝากมา บอกว่าเขาก็เคยนั่งสมาธิ แต่เขาก็พอมีความรู้ที่เราศึกษากันอยู่ เขาก็ยังเลิกไม่ได้ เขาบอกว่าเวลามีเรื่องงาน เรื่องเดือดร้อนใจอะไร เขาก็ต้องขอนั่ง ถ้านั่งก็สบายขึ้น ผมก็อธิบายบอกว่าอาจจะเป็นการติด ตรงนั้นเป็นโลภะ และก็สบายใจก็เลยต้องอยากทำ แต่ว่ามันก็อาจจะไม่สบายทุกครั้งเพราะว่าเป็นอนัตตา ก็อาจจะบางครั้ง ก็อาจจะไม่สำเร็จ แต่ก็บอกว่าอย่างไรเขาก็ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็นั่งแล้วสบายใจ เขายังอยากทำอยู่ ก็เลยอยากจะขอคำตอบ

ท่านอาจารย์ คือจริงๆ แล้วชาวพุทธเรามีหลายประเภท ชาวพุทธที่ไม่เรียนธรรมเลยก็มี ไม่ฟังเลย ไม่เข้าใจเลย ชาวพุทธที่ฟังนิดๆ หน่อยๆ ผิดๆ ถูกๆ ก็เยอะ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่ยาก และลึกซึ้งมากละเอียดมากต้องไม่ลืมคำนี้เลย การเรียนต้องเรียนอย่างรอบคอบ ต้องถี่ถ้วน แล้วก็รู้จุดประสงค์ว่า เรียนเพื่ออะไร อันนี้สำคัญมาก ทีนี้ส่วนใหญ่ของคนที่ไปวัด เราใช้คำนี้ก่อน จะได้ใจสบาย พอเข้าวัดก็สบายแล้วแค่นี้ ก็อยู่ตรงนี้คือเขาไม่คิดถึงปัญญาเลย ไม่คิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร พระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรมตามที่ตรัสรู้ มากมายมหาศาล เป็นความจริงที่ลึกซึ้งระดับที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท สำหรับเขาเรื่องดับกิเลสเขาไม่คิด เรื่องความรู้เขาไม่คิด เขาคิดแต่เพียงว่า”สบายใจ” เพราะฉะนั้นเขาก็อยู่ในระดับที่ว่า อะไรที่ทำให้ยังมีตัวเขาที่สบายใจเขาก็ต้องการสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะไม่คิดถึงคนอื่นเลยว่าเขาต้องการอะไร เขาต้องการความสบายใจ แต่ตัวเราเกิดมาแล้วโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมไม่ง่ายเลย ยากมาก ดูก็ได้จากประชาชนของประเทศไทย หรือของทั่วโลก ไปทางไหนผิดถูกก็เยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีโอกาสที่จะอบรมเจริญความรู้จริง เราต้องใช้คำว่า”จริง” เพราะว่าเราจะไม่ต้องการสิ่งที่หลอกลวง หรือว่าชั่วคราว ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่คำสอน อย่างนั้นก็ไม่ต้องนับถือพระพุทธเจ้า อ่านตำราอะไรก็ได้ ปลอบใจไปวันๆ แต่ว่าสิ่งที่ยากแสนยากที่เราจะรู้ก็คือว่า”ความจริงขณะนี้คืออะไร” ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เรียนเพื่อให้เข้าใจความจริง และก็ปัญญาเขาเป็นสังขารขันธ์ที่เขาจะปรุงแต่ง ขณะนี้ไม่มีใครบอกว่าต้องการที่จะรู้แจ้งนิพพานหรือจะไปนิพพาน เพราะว่านิพพานเป็นอย่างไร ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จะไปหวังว่า ฉันจะไปนิพพาน อธิษฐานขอไปนิพพาน ถ้ามีปัญญาจริงๆ ขณะนี้กำลังโน้มไป โอนไปสู่นิพพาน โดยที่ว่าไม่ใช่เราฝืนตัวเอง เพียงต้องการรู้เข้าใจความจริง ก็จะทำให้เราค่อยๆ ไป ช้าหรือเร็ว แล้วแต่กำลังของกิเลส กำลังของปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีใครจะไปฝืนอัธยาศัยที่ได้สะสมมานานแสนนาน แสนโกฏิกัปป์ หรือนานกว่านั้นอีกได้ แต่เราสามารถจะรู้ตัวจริงของธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่สะสมมาที่จะเกิดในขณะนี้เป็นอย่างนี้ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้


หมายเลข  6537
ปรับปรุง  22 ก.พ. 2567


วีดีโอแนะนำ