ปกิณณกธรรม ตอนที่ 115


ตอนที่ ๑๑๕

สนทนาธรรม ที่ ประเทศกัมพูชา

ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


ท่านอาจารย์ ซึ่งความจริง ปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะทุกอย่างคือเดี๋ยวนี้หมดเลย เสียงนิดเสียงหน่อยเหล่านี้เป็นธรรมทั้งหมดทุกทาง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยการศึกษา รู้เลยทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าสติไม่ระลึกทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรมไม่ได้โดยขั้นปฏิบัติ นั้นเป็นขั้นปริยัติ แต่ที่จะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ ก็เมื่อสติระลึกลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น แล้วปรากฏสภาพของธรรม ซึ่งเป็นธรรมไม่ใช่เรา และอบรมเจริญต่อไปจนทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีข้อสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น กำลังเห็น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่คนจะรู้ว่านี่คือธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งเป็นลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ลองคิดถึงเวลาที่สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ ไม่มีอย่างอื่นเจือปนเลย ปรากฏให้รู้ว่านี่คือธาตุรู้ ต่างกับขณะที่กำลังมีทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาที่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ต้องถึงขั้นปฏิเวธ คือสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง เฉพาะกับปัญญาที่อบรมแล้ว ไม่มีทางซึ่งปัญญาที่ไม่อบรมจะไปรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

ผู้ฟัง ปัญญาขั้นปริยัติ เป็นปัจจัยให้ความโกรธลดลงได้หรือไม่

ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะจริงๆ ความโกรธก็ดับไปแล้ว

ผู้ฟัง ช่วยแนะนำอธิบายปริยัติ และ ปฎิเวธ เป็นอย่างไร

ท่านอาจารย์ กังวลเรื่องโทสะซึ่งใครๆ ก็รู้ ใช่หรือไม่ แต่ว่าเป็นเราที่โกรธ แต่เวลาที่สติเกิด ก็คือโทสะกำลังปรากฏ แต่เริ่มค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะเป็นสภาพธรรม ลองคิดดูเป็นเราโกรธ กับเป็นสภาพธรรม มีความต่างไหม เราโกรธเป็นอย่างหนึ่ง เราโกรธ แต่พอรู้ว่าเป็นสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม มีจริงๆ ลักษณะหนึ่ง และต้องรู้ทั่วทุกอย่างขณะนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นสี ไม่ว่าจะเป็นคิดนึก ทุกอย่าง ต้องเป็นทุกอย่างที่สติปัฏฐานระลึก จนรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องตรงกับการอบรมเจริญปัญญาที่จะต้องรู้ตามลำดับขั้นด้วย ขั้นแรกเรารู้ว่าเป็นธรรม เมื่อรู้อย่างนี้ คือขั้นปริยัติ ปฏิบัติก็คือมีการระลึกลักษณะของธรรมจริงๆ แล้วเริ่มเข้าใจ ว่านั้นเป็นธรรม เพราะว่าความเข้าใจว่าเป็นธรรม กับความเป็นเราโกรธต่างกันมาก ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นคนนั้นก็จะเริ่มรู้ว่า สติระลึกทางไหน ถ้าระลึกลักษณะที่โกรธ แต่ทางตาไม่เคยรู้สภาพนั้น คนนั้นก็รู้ว่าสภาพที่เป็นนามธรรมยังปรากฏไม่ได้แน่นอน เพราะว่าความเข้าใจลักษณะของนามธรรม ไม่พอที่สภาพนามธรรมนั้นจะปรากฏโดยความเป็นนามธรรม เพราะว่าความเข้าใจว่าเป็นธรรมกับความเป็นเราโกรธต่างกันมาก เราเริ่มเข้าใจความหมายของปัญญา ลักษณะของปัญญาเจตสิกว่า ปัญญาเจตสิก ก็คือสภาพที่เข้าใจถูกต้อง ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็มีหลายระดับมาก ขั้นฟังก็ยังอ่อนมาก คือหมายความว่าเป็นเพียงเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่เวลาที่สภาพธรรมมี แล้วก็อาศัยการฟังที่เคยเข้าใจมากๆ แล้ว ก็ทำให้มีสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งระลึกได้ ไม่ใช่ไม่ได้ อย่าไปคิดว่ายากเกินไป ยากเย็นเหลือเกิน ชาตินี้จะมีไหม นั่นคือไปมัวคิดเรื่อง เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิด สติเกิดเลย ไม่ต้องไปนั่งคิดว่าจะอีกสิบปีหรือว่าชาติหน้า เหมือนกับว่าเมื่อมีปัจจัยที่จะได้ยิน ได้ยินก็ต้องเกิด มีปัจจัยที่จะเห็น เห็นก็ต้องเกิด มีปัจจัยที่สัมมาสติจะเกิด สัมมาสติก็เกิด เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมดา ธรรมเป็นธรรมดา ไม่เช่นนั้นเราก็ต้องอยากให้สติเกิดอีก ด้วยความไม่รู้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ทุกอย่างต้องเพื่อการละ ถ้าสติเกิดแล้วดับ ก็เป็นธรรมดา ทำไมจะต้องไปอยากอีก แต่เมื่อมีปัจจัยสติก็เกิด คือให้เข้าใจถ่องแท้ถึงสภาพธรรมทุกอย่างที่กำลังปรากฏขณะนี้ มีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่มีปัจจัยโดยการที่เราไปนั่งเรียนปัจจัย แต่ถ้ารู้ความเป็นปัจจัยว่าต้องมีปัจจัย ไม่เช่นนั้นก็เกิดไม่ได้ เพียงแค่นี้ เราก็ไม่เดือดร้อน โลภะจะเกิดก็เพราะมีปัจจัย โทสะจะเกิดก็เพราะมีปัจจัย สภาพธรรมใดเกิดแล้วต้องดับ ไม่ใช่ไม่ดับ แล้วจะไปทำอะไรกับสภาพธรรมที่เกิดดับ นอกจากศึกษาด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ความจริงว่าเป็นธรรม ตรงกับที่ได้ฟัง นี่คือการอบรมเจริญปัญญาพร้อมกับการศึกษา โดยที่ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาไปเยอะๆ แล้วก็รอเมื่อไหร่สติปัฏฐานจะเกิด หรือว่าอยากให้สติปัฏฐานเกิด แต่เพราะความเข้าใจจริงๆ จะทำให้การระลึกรู้เป็นปกติธรรมดา ธรรมดาจริงๆ หมดก็หมด เกิดก็เกิด ก็เป็นเรื่องที่รู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิด กับ ขณะที่หลงลืมสติ

ผู้ฟัง ก็ต้องมีการเริ่มในการรู้ตามความเป็นจริง ในการโกรธ

ท่านอาจารย์ ที่มีจริงในขณะนี้ต้องรู้ว่าเป็นธรรม คำว่า “ธรรม” หมายความถึง “ธาตุ” เป็นสิ่งที่รู้ยากหรือง่ายว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง อย่างนามธาตุอย่างนี้ ยากแน่ๆ ใช่ไหม ถ้าเป็นเราก็คือธรรมดาปกติ แต่ถ้าไม่ใช่เราก็คือเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธาตุแต่ละชนิด

ผู้ฟัง เห็นความโกรธด้วยความเป็นตัวตน กับ สติที่รู้สภาพจิตที่ดุร้ายด้วยความไม่มีตัวตน จะต่างกันอย่างไร

ท่านอาจารย์ เห็นความโกรธ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าลักษณะที่โกรธเกิด แล้วก็รู้ว่าเป็นโกรธ ก็เป็นของธรรมดา

ผู้ฟัง แต่ท่านอาจารย์แสดงว่า คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม คือคนที่มีความเข้าใจผิดว่ามีตัวตน ก็จะเห็นความโกรธได้เหมือนกัน

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทุกคนรู้จัก เพราะว่าลักษณะของเขาเกิดขึ้นให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ โกรธเป็นอย่างนี้

ผู้ฟัง แล้วการที่สติระลึกรู้สภาพโกรธ โดยที่ไม่มีตัวตน จะต่างจากคนที่รู้ความโกรธด้วยความมีตัวตนอย่างไร

ท่านอาจารย์ คือต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของ ขณะที่มีสติ กับ ขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าลักษณะของสติปรากฏเพราะเกิดขึ้น จึงรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก อันนี้ ลักษณะของสติจะชัดเพราะเกิด แต่เวลาที่สติไม่เกิดหรือว่าเกิดขั้นทานขั้นศีล ไม่มีทางที่จะรู้ได้

ผู้ฟัง แล้วอันนั้น เป็นขั้นปฏิบัติ หรือไม่

ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด ไม่ใช่เรา ไม่มีการที่จะไปเข้าห้อง แล้วต้องการนั่งนิ่งสงบๆ แต่ขณะนี้ธรรมดาปกติ ถ้าสติเกิด เหมือนกับโทสะเกิด โทสะก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง สติก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสติเกิดคือขณะนั้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มี ปัญญาอ่อนมากสำหรับตอนขั้นแรก แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในสัมมามรรค ก็จะเป็นเจตนาความจงใจเป็นมิจฉามรรค ฉะนั้น สัมมามรรคก็คือ ปัญญาที่ได้ฟังจนกระทั่งมีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทำให้สติระลึกที่ลักษณะนั้น เพื่อที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น ตรงว่า ขณะนั้นไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่ลักษณะจริงปรากฏ ความเป็นธรรมปรากฏ เวลานี้ธรรมก็ปรากฏ แต่กับอวิชชาหรือความไม่รู้ หรือว่าจิตประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ และก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจ นี่คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา การศึกษาพร้อมทั้ง ๓ อย่าง ในขณะสติปัฏฐานเกิด

ผู้ฟัง ปฏิบัติจะเกิดได้ ก็ต้องเกิดต่อเมื่อปริยัติเกิดก่อน ใช่หรือไม่ ต้องมีการปริยัติที่ถูกต้องก่อน

ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจว่าปริยัติคืออะไร การศึกษาเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนตายคือธรรมเกิดดับ แต่เป็นเราไปหมด แต่เวลาที่มีการศึกษาปริยัติก็เริ่มเข้าใจว่า ที่เป็นเรา คือ จิต เจตสิก แต่ต้องลึกลงไปกว่านั้น คือรู้ว่าเป็นธรรม และขณะไหนบ้างที่เราเรียน เช่นเรื่องปฏิสนธิจิต จิตขณะแรก เป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุ ซึ่งไม่ใช่รูปซึ่งเกิดพร้อมกัน แต่ก็ไม่มีใครไปรู้ตอนปฏิสนธิ แต่หลังจากนั้นลักษณะของรูปธรรมก็ปรากฏ ลักษณะของนามธรรมก็มี แต่เมื่อไม่ได้ศึกษาก็ไม่มีทางที่จะระลึก แต่พอศึกษาเข้าใจแล้ว ก็ต้องแล้วแต่ว่าความเข้าใจของเรา ในความเป็นธรรมของสิ่งที่เราเรียน เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ที่จะให้สติเกิด ไม่ใช่เราอยากมีสติแล้วสติเกิด แต่เพราะเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็ทำให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะที่เป็นธรรม พอพูดถึงธรรม หมายความว่าขณะนี้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน แล้วเราไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าธรรมขณะนี้คืออย่างไร เช่นคำว่านามธรรม หมายความถึง สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับหนังสือ มาเกี่ยวกับเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ฟัง และให้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น เป็นนามธรรมเพราะว่าเป็นสภาพรู้ คำว่า ”สภาพรู้” ก็ยากแสนยากที่จะประจักษ์ หรือจะเข้าใจ เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ และตัวเห็นไม่เคยปรากฏให้รู้เลยว่าเป็นธาตุหรือสภาพธรรมที่มีจริง แต่เมื่อเข้าใจแล้วเราก็รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพนี้ซึ่งเกิดแล้วเห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมก็คือเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกขณะ จะเป็นทางที่จะทำให้มีการระลึกได้ โดยสติค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่เห็น หรือเสียงก็เหมือนกัน ขณะที่ได้ยิน มีธาตุรู้ สภาพรู้ เพราะเหตุว่าธาตุรู้ จะไม่ทำหน้าที่อื่นอย่างเจตสิกเลย ถ้าพูดโดยศัพท์ก็คือ เป็นจิตที่เห็น เป็นจิตที่ได้ยิน เราไม่ได้พูดถึงเวทนาความรู้สึก เราไม่ได้พูดถึงความจำ แต่เราพูดถึงภาวะที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คืออย่างนี้ หรือว่าเสียงที่ปรากฏนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม ก็เป็นธาตุรู้ ซึ่งมีอยู่ไม่ขาดสายเลย แล้วแต่ว่าจะคิดจะนึกอะไรก็เป็นธาตุรู้ เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นธาตุรู้ของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม นี่คือการเข้าใจความหมายโดยการฟังว่ารูปธรรมคืออะไร โดยมีรูปธรรมจริงๆ ขณะนี้ให้รู้ และนามธรรมคืออะไร โดยมีนามธรรมเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ คนที่ฟังธรรมในยุคพุทธกาล ฟังเข้าใจทันที ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าท่านเหล่านั้นอบรมมามาก ฟังมามาก พิจารณามามาก ถ้าอ่านประวัติของท่านเหล่านั้นก่อนที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็รู้ได้เลยว่า ท่านศึกษาเป็นพหูสูตจริง แต่ความเป็นพหูสูต ก็คือว่าศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นการฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ได้คิดถึงตำรับตำรา หรือข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะเขียนไว้เลย แต่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้พิจารณา ให้เข้าใจทันทีได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาของท่านเหล่านั้น จากการฟัง แล้วพิจารณาว่าสิ่งที่ฟัง คือสิ่งนี้แหละที่กำลังปรากฏ เวลาที่ตรัสถามว่า “เห็นเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ท่านเหล่านั้นตอบว่า “ไม่เที่ยง” ไม่ใช่ไปจำมาจากตำราไหนเลย แต่ว่ามีเห็นที่กำลังเห็นแล้วปัญญาที่อบรมมาแล้ว พอพูดถึงเห็น ซึ่งเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีก็ต้องใช้คำว่า จักขุวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็คือเห็นเดี๋ยวนี้ ท่านสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ไม่เที่ยง แล้วแต่ระดับของปัญญา ซึ่งปัญญาของผู้ที่ประจักษ์จริงๆ ตอบจริงๆ อย่างที่ถามคุณจรัญเมื่อสักครู่ว่าแข็ง เป็นปริยัติหรือปฏิบัติ และเป็นผู้ที่ตรง ถ้าปริยัติก็คือรู้ว่าแข็ง ซึ่งแต่ก่อนเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้ได้ทางกายก็คือแข็ง แต่ถ้าท่านเหล่านั้นตอบ จะรู้เลยว่าพอจบเทศนาแล้ว ท่านเป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระอรหันต์ เพราะคำตอบของท่าน แม้ว่าเราจะตอบอย่างท่าน แต่ปัญญาถึงระดับท่านหรือไม่ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับระดับของปัญญา ซึ่งคนที่สติปัฏฐานเกิด ก็เริ่มที่จะเข้าใจความต่างของสติขั้นทานขั้นศีล กับสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนี้มีลักษณะของสติที่เกิดปรากฏ ไม่ใช่เรา มีลักษณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นเรื่องที่สติปัฏฐานก็เป็นธรรมดา แต่ปัญญาซึ่งเกิดจากสติปัฏฐานไม่ธรรมดา เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ใช่สติ สติเป็นสภาพธรรมที่เพียงระลึก สติจะเป็นปัญญาไม่ได้เลย สติมีหน้าที่ระลึกตั้งแต่ต้นจนตลอด สติจะทำหน้าที่อย่างเดียวคือระลึก ส่วนปัญญา ก็จะมีหน้าที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับว่า ความเข้าใจนั้น พอถึงระดับที่สภาพธรรมจะปรากฏกับปัญญาหรือยัง เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกคนรู้ว่าแข็ง แล้วก็รู้ว่าสติปัฐานระลึกแข็ง แต่ว่าความเข้าใจลักษณะของแข็ง สั้นมาก และก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ แล้วหลงลืมสติก็เยอะ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะมีความมั่นคงว่าลักษณะที่ปรากฏนี้แหละ จะทำให้ถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่เพียงแข็ง จะต้องเป็นการรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ขั้นฟัง แต่สตินี้ระลึก เพราะฉะนั้นถ้าทางตาขณะนี้ยังไม่ระลึกเลย คนนั้นก็รู้ว่าไม่มีทางที่สภาพธรรมจะปรากฏอย่างที่เราพูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ที่จะเป็นอย่างที่เราพูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ต้องเริ่มด้วยสติที่ระลึก และความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน แต่ละคนก็จะรู้เอง ต้องเป็นคนที่ตรงมาก คือ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ นี่คือประโยชน์แท้จริงของการศึกษา เพราะว่าคนที่ศึกษาโดยที่สติปัฏฐานไม่เกิดเลยตลอดชีวิต ก็คือ ทัพพีไม่รู้รสแกง แล้วชาติหน้าก็ต้องมาท่องใหม่ ต้องมาฟังใหม่ แต่ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ เราเริ่มเข้าใจได้ และก็เป็นประโยชน์ของการศึกษาด้วย คือมีปริยัติ ปฏิบัติ เพื่อที่จะถึงปฏิเวธ เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาเราจะต้องรู้ว่า เมื่อเราอ่านสิ่งนี้ในพระไตรปิฎก มีทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เราสามารถมีความเข้าใจสิ่งนั้นระดับไหน เข้าใจได้เท่านี้ หรือว่าเข้าใจได้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดละออ เพียงคิดเรื่องราวให้โย่งสอดคล้องกันแบบการศึกษาทฤษฎีวิชาการต่างๆ หรือว่าศึกษาโดยคิดว่าเราสามารถที่จะเกื้อกูลให้ความเข้าใจธรรมของเราชัดเจนกระจ่าง เช่น ถ้าพูดถึงอารัมมณปัจจัย อะไรก็ตามที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต อารัมมณะ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ในขณะนี้เดี๋ยวนี้ เราก็เข้าใจถึงปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญ ทุกปัจจัยขาดไม่ได้เลย คือถ้าไม่มีสภาพที่ถูกรู้ จิตก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีทางที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้เลย แม้แต่อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตรู้ ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้น โดยเป็นอารัมมณปัจจัย คำอุปมาก็ช่วยทำให้เราเข้าใจขึ้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วยในขณะนั้น จิตจึงเกิดขึ้นได้ เหมือนคนทุพลภาพ คนที่ไม่มีเรี่ยวแรง ยื่นได้แต่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะจับจะโหน ที่จะทำให้เหนี่ยวรั้งตัวยืนได้ นั่นคือลักษณะของอารมณ์ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ คือปัญญาของเราเข้าใจอันนี้ได้ แล้วเวลาที่ศึกษาปัจจัยอื่นทีละเล็กทีละน้อยไป ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ได้ อะไรที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ นั้นจะเกื้อกูลให้สัมมาสติเกิดระลึก แต่สิ่งที่เราอ่านแล้ว เราจำเอาไว้เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นสำหรับดิฉันเอง ดิฉันเรียนเพื่อเข้าใจอย่างเดียว เท่าที่จะเข้าใจได้ด้วย ถ้าส่วนไหนที่จะเข้าใจเกินความสามารถ ดิฉันรู้ว่าปัญญาไม่ถึง ดิฉันไม่ต้องการเอาชื่อมาพูด หรือเอามาเรียงลำดับ หรือเอามาเขียนเป็นแผนผังให้คนดู แต่ว่าอยากจะให้เขามีความเข้าใจจริงๆ ถ้าดิฉันจะทำแผนผังมันง่ายเกินไป ปรมัตถธรรมมี ๔ แยกกันไป เขาไม่ต้องคิดอะไรเลย ดูเอาแล้วก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ แต่ความจริงไม่ใช่ ของดิฉันจะไม่มีรูป เพราะดิฉันทราบว่าการศึกษา ไม่มีปริจเฉท ถ้าเราจะเข้าใจสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจริงๆ เราสามารถที่จะกล่าวได้โดยตลอด แม้ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะเป็นชาติอะไร มีอารมณ์อะไร มีปัจจัยอะไร ก็กล่าวได้คือต้องมีกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าคือวิบาก ให้คนสามารถที่จะเข้าใจคำที่เขาได้ยินได้ฟัง มากกว่าเป็นคำที่มีตามตำราแต่ไม่รู้เรื่องเลย อันนี้คือจุดประสงค์ที่เป็นพื้นฐานสำหรับทุกอย่าง ที่พร้อมที่เขาจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดิฉันจะไม่ไปเน้นเรื่องวิชาการ เรื่องตำรา ถ้าใครสนใจก็ไปอ่านได้ แต่เมื่ออ่านต้องรู้จักตัวเองว่าเข้าใจได้หรือเปล่า และเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วเข้าใจแค่ไหน หรือเพียงแต่อ่านแล้วบวกลบคูณหารคิดว่านั่นคือเข้าใจ สำหรับดิฉันจะศึกษาเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังอ่านอย่างถ่องแท้ อย่างลึก อย่างละเอียด คือจะไม่ผ่านไป สิ่งต่างๆ เหล่านั้นลึกลงไปคืออะไร แม้แต่ภวังคจิตซึ่งสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ ขณะที่เป็นภวังค์ แล้วทำไมมีสภาพธรรมปรากฏได้ น่าอัศจรรย์หรือไม่ เป็นส่วนที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าอายตนะหรือเปล่า ตรงไหน เมื่อไหร่ ไม่เช่นนั้นเราก็ไปเรียนแต่เชื่อว่าอายตนะ ๑๒ ภายใน ภายนอก ตอบได้ แต่ตอบไม่ได้ว่า ตรงไหน เมื่อไหร่ แต่เราจะต้องรู้ แม้แต่ขณะที่ว่าไม่ใช่วิถีจิต แต่ต้องรู้อารมณ์เพราะเป็นจิต ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ก็สอดคล้องกันไปหมด แล้วก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะใดเป็นวิถีจิต ขณะใดไม่ใช่วิถีจิต นี่โดยฟัง แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏก็ปรากฏอย่างนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการที่สิ่งนั้นไม่ได้เกิดปรากฏ เช่น เสียงมี แล้วก็หามีไม่ จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ เพราะฉะนั้นทุกพยัญชนะในพระสูตร แม้สั้น ก็คือ พระอภิธรรม ต้องสอดคล้องกันด้วย หรือว่าจะอ่านพระสูตร สูตรหนึ่งสูตรใด เมื่ออ่านแล้วต้องเข้าใจถึงแก่น คือตัวธรรมตรงนั้นด้วย เช่น ธาตุวิภังคสูตร เป็นเรื่องของธาตุทั้งหมดโดยละเอียด เป็นขั้นๆ มา เราก็ต้องเข้าใจ ถ้าเราข้ามแม้แต่คำว่า อายตนะ หรือ ธาตุ แล้วเราไปรู้ปัจจัยเยอะแยะ แต่เราไม่รู้ตรงนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นการศึกษาของแต่ละคน ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ถ้าใครมีกำลังความสามารถที่จะศึกษาแล้วเข้าใจจริงๆ ลึกด้วย ชัดด้วย ตรงด้วย จริงด้วย อันนั้นก็ควรจะศึกษา แต่ถ้าเพียงจำก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างอัธยาศัย

กุลวิไล ขอถาม เรื่องของทุกข์ ๓ อย่าง ที่อาจารย์บอกว่าจำแนกทุกข์โดยเวทนา ที่ว่า ๑ ทุกขทุกข์ ๒ วิปริณามทุกข์ ๓ สังขารทุกข์

ท่านอาจารย์ เวทนามี ๕ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ถ้าแสดงนัยนี้ คือ ทุกข์กับโทมนัส เป็นทุกขทุกข์ สุขกับโสมนัส เป็น วิปริณามทุกข์ อุเบกขา เป็น สังขารทุกข์ แต่สังขารทุกข์ไม่ได้แคบเฉพาะอุเบกขาเวทนา รวมทุกอย่างด้วย


หมายเลข  6551
ปรับปรุง  29 ก.พ. 2567


วีดีโอแนะนำ