แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342


ในพระไตรปิฎก เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพานนั้น มีพระภิกษุหลายท่านที่ฆ่าตัวตาย แต่ก็มีหลายท่านที่ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ก่อนที่จะตาย นี่ก็เป็นผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อนตาย แม้ว่าจะเป็นการกระทำด้วยกำลังของกิเลส คือ การฆ่าตัวเอง

สำหรับพุทธบริษัทในสมัยนี้ อย่าคิดที่จะกระทำอย่างนั้น อย่าคิดว่า ท่านจะฆ่าตัวตาย และท่านจะเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานก่อนที่จะตาย ไม่ควรที่จะกระทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่า เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะกระทำได้ สะสมอบรมไปได้ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่ แต่ถ้าจุติ พ้นสภาพจากการเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะเกิดในภพไหน ภูมิไหน เมื่อท่านยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ถ้าท่านเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เจริญอบรมปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ในครั้งก่อนมีบุคคลที่ได้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์ และได้เพียรพยามที่จะขัดเกลากิเลส แต่ก็มีหลายท่านที่แม้ว่าจะได้พากเพียรขัดเกลากิเลส แต่ท่านก็สิ้นชีวิตไปก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย สุตตนิบาต นาลกสูตร มีข้อความว่า

อสิตฤาษีได้ทราบว่า พระสิทธัตถราชกุมารประสูติแล้ว ก็ได้ไปเฝ้า พิจารณาพระราชกุมารผู้ประเสริฐ มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งถ้อยคำว่า

พระกุมารนี้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า

แล้วได้พยากรณ์ว่า พระกุมารนี้ จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะทรงเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แต่เมื่ออสิตฤาษีระลึกถึงอายุของตน ที่จะอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน ก็จะต้องสิ้นชีวิตไปเสียก่อนที่จะได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ท่านก็เสียใจถึงกับน้ำตาตก แต่เมื่อจะอนุเคราะห์หลานของท่าน ท่านก็ได้ให้หลานของท่านสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค แล้วได้สั่งว่า ในกาลข้างหน้าเมื่อได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ให้หลานของท่านไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระผู้มีพระภาค และจะได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาค

ท่านนาลกดาบส ผู้เป็นหลานของอสิตฤาษีเป็นผู้ที่สั่งสมบุญไว้ รักษาอินทรีย์ รอคอยการที่จะได้สดับรับฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคอยู่

ต่อมา เมื่อท่านนาลกดาบสได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุ พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงประกาศพระธัมมจักรอันประเสริฐแล้ว ท่านก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤาษีนี้โดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอก มุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด

ท่านเป็นดาบสมาก่อน แต่ว่ายังไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า มุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา นั้น ควรจะเป็นอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก แก่ท่าน เอาเถิด เราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน

ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่า และการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์

อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่ครองจักษุ เป็นต้น เหล่านารีย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลมท่าน

มุนีละกามทั้งหลาย ทั้งที่ดีและไม่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้งและมั่นคง

พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

ข้อความต่อไปเป็นปฏิปทาของมุนีประการอื่นๆ ซึ่งสำหรับบรรพชิต การฆ่ามนุษย์เป็นอาบัติปาราชิก พ้นจากเพศของความเป็นบรรพชิตทันที แต่สำหรับฆราวาส ข้อความใน ขุททกนิกาย เนมิราชชาดก มีว่า

ชนเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก ฆ่ามารดา บิดา หรือพระอรหันต์ ชื่อว่า ถึงปาราชิกในเพศคฤหัสถ์

สำหรับบรรพชิตจะพ้นจากสภาพความเป็นบรรพชิตเมื่อฆ่ามนุษย์ สำหรับคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสด้อยกว่า น้อยกว่าเพศบรรพชิตนั้น เมื่อถึงการฆ่ามารดา บิดา พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิกของฆราวาส เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ซึ่งตามปกติแล้ว ฆราวาสก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้

สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับนาลกดาบส เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้น เช่น ข้อความที่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยาก

การฆ่าสัตว์ ทำได้ยากหรือง่าย เพราะฉะนั้น สิ่งที่มุนีทำเป็นการยากสำหรับฆราวาส เพราะว่าฆราวาสฆ่าสัตว์ง่ายเหลือเกิน เมื่อมีเหตุปัจจัย มีวัตถุที่จะฆ่า ก็ฆ่าลืมคิดถึงความตระหนกตกใจ ความกลัวตาย ความรักชีวิตของสัตว์อื่นทั้งหมด

ถ้าเปรียบตัวท่านเองอยู่ในสภาพอย่างนั้น คิดว่าสัตว์อื่นอย่างไร เราก็ฉันนั้น หรือเราอย่างไร สัตว์อื่นก็ฉันนั้น การฆ่าก็มีไม่ได้ แต่เมื่อเป็นเพศของคฤหัสถ์ ก็มีสิ่งที่จะต้องกระทำตามวิสัยของกิเลสของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น การที่จะกระทำตามมุนี คือบรรพชิตนั้น บุคคลย่อมทำได้ยาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาเถิด เราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่า และการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน

ทำได้หรือยัง ไม่ว่าจะเป็นการด่าหรือการไหว้ ใครจะไหว้ ใครจะด่า ก็เสมอกันระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เสมอกันหมด จิตก็มั่นคงไม่หวั่นไหว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่ครองจักษุ เป็นต้น

มุนีละกามทั้งหลาย ทั้งที่ดีและไม่ดีแล้ว ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้งและมั่นคง พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

นี่เป็นศีลข้อที่ ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรจะได้สำเหนียก สังเกตว่า ที่ท่านรักที่สุด คือ ชีวิตของท่านฉันใด สัตว์อื่น บุคคลอื่นก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่พึงฆ่าเอง และไม่พึงใช้ให้บุคคลอื่นฆ่าด้วย

สำหรับเรื่องของชีวิตของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์ เป็นชีวิตที่เล็กน้อยและสั้นมาก เมื่อเป็นชีวิตที่สั้น เล็กน้อย ก็ควรจะหาประโยชน์จากชีวิตนี้ให้มากที่สุดที่จะมากได้ และที่จะเป็นชีวิตที่มีค่าได้ ก็ด้วยการเจริญกุศล ขัดเกลาเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าจะมีชีวิตอยู่ด้วยการประกอบอกุศลกรรม เป็นต้นว่า การฆ่า ก็ไม่ใช่ชีวิตที่มีค่าเลย

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรที่คำนวณอายุของชีวิตไว้ว่าไม่มากเลย

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อรกานุสาสนีสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อารกะศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคน เธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อยรวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร พราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมาย่อมแห้งหายไปได้เร็วไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร พราหมณ์ เมื่อฝนตกหนักหนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็วตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อยรวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร พราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็วไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน … ฯ

ดูกร พราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยวพัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน… ฯ

ดูกร พราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนก้อนเขฬะ ฉันนั้นเหมือนกัน … ฯ

ดูกร พราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไปรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ

ดูกร พราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้

ที่ฆ่า ใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๖ หมื่นปีเด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลาย มีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อรกศาสดานั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน ตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก พึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบ ก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นานก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาวร้อยหนึ่ง ฤดูร้อนร้อยหนึ่ง ฤดูฝนร้อยหนึ่ง

คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน

คนที่มีอายุถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน

คนที่มีอายุครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี

คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา

พร้อมๆ กับดื่มนมมารดาและอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ใน ๒ ประการนั้น อันตรายแห่งการบริโภคอาหาร มีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดอายุประมาณแห่งอายุฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี วัน การบริโภคอาหาร และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ด้วยประการดังนี้แล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้วแด่เธอทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือนร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

ท่านผู้ฟังบริโภคอาหารเท่าไร เป็นระยะเวลาที่สั้น ที่ท่านควรระลึกว่า มีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ นับได้หลายนัย หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ทรงแสดงไว้ คือ การบริโภคอาหารแต่ละครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เมื่อเป็นอกุศล ก็ทรงแสดงว่าเป็นอกุศล สภาพธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ที่ได้รู้ ได้เข้าใจแล้ว ก็ยังคงมีอกุศลธรรมและอกุศลกรรม ตามกำลังการสะสมของกิเลสที่เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงว่า ควรละเว้นอกุศลกรรม ก็แล้วแต่การสะสมกุศล อกุศล และความเข้าใจในเหตุในผลของธรรม ที่จะเป็นปัจจัยทำให้ท่านละเว้นอกุศลกรรมได้หรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล

ขุททกนิกาย อุทาน ทัณฑสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เด็กมากด้วยกัน เอาท่อนไม้ตีงูอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร สาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กเหล่านั้นเอาท่อนไม้ตีงู อยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้า

นี่เป็นผลของการกระทำทุจริตทางกาย ที่เป็นปาณาติบาต ถ้ากระทำลงไปแล้ว ก็ไม่ได้ความสุขในโลกหน้า เพราะเหตุว่าการกระทำนั้น เกิดจากจิตที่เป็นอกุศล เมื่อจิตที่เป็นอกุศลเป็นเหตุให้กระทำกรรมนั้น จิตที่เป็นอกุศลที่เป็นเหตุนั้น ก็จะทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น รับผลของกรรมที่ไม่ดี

พระผู้มีพระภาคทรงยับยั้งเด็กๆ ไม่ให้ตีงูได้ไหม ไม่ได้ ท่านผู้ฟังยับยั้งได้ไหม ก็ไม่ได้เหมือนกัน สำหรับเด็กๆ ก็คงจะยากที่จะอธิบายให้ฟังถึงเรื่องผลที่จะได้รับในโลกหน้า หรือว่าในชาติหน้า

สำหรับผู้ใหญ่ ยับยั้งได้ไหม ก็ไม่ได้ แล้วแต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และผู้ใดจะพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งเห็นคุณและโทษของกุศลและอกุศล พร้อมทั้งความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพธรรม จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในสภาพความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย ก็จะทำให้ละอกุศลกรรมนั้นได้เป็นลำดับ แต่ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะทรงแสดงธรรม แม้กับเด็กที่ได้กระทำอกุศลกรรมนั้น


หมายเลข  6567
ปรับปรุง  7 มี.ค. 2567