แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344


ข้อความต่อไป

บทว่า สมาทเปสิ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้น ธรรมเหล่านี้อันบุคคลพึงให้ถึงในตน ดังนี้ เพื่อบรรลุสัจจะ ได้แก่ ทรงกระทำนายนันทะนั้นให้ดำรงอยู่ในธรรม มีศีล เป็นต้น

ท่านที่ไม่ได้มีกุศลศีล เป็นผู้ที่ทุศีลอยู่ คือ เป็นผู้ที่ทำอกุศลกรรมอยู่ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาในเรื่องของกุศลกับอกุศล เช่นเดียวกับที่พระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะนั้นให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้น ก็จะได้เห็นประโยชน์ ในการที่จะ ละเว้น งดเว้นจากอกุศลกรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่า ธรรมเหล่านี้อันบุคคลพึงให้ถึงในตน ดังนี้ เพื่อบรรลุสัจจะ

การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เพื่อที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าไม่งด ไม่เว้นอกุศลกรรม กิเลสจะหมดไปไม่ได้ เมื่องดเว้น ละเว้นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีศีล และถ้าเห็นชัดในโทษของอกุศลกรรมเช่นเดียวกับนายนันทะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะนั้นให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้นแล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า สมุตฺเตเชสิ ความว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น อันบุคคลสมาทานแล้วอบรมอยู่โดยลำดับ ก็เป็นธรรมมีส่วนแห่งการแทงตลอด เป็นธรรมแก่กล้า ย่อมนำอริยมรรคมาให้โดยฉับพลัน ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงกระทำนายนันทะนั้น ให้อาจหาญโดยชอบ คือ ให้กล้าโดยชอบนั่นเอง ฉันนั้น

การอบรมศีลจะมีไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าโลภะเกิดขึ้นแล้ว เพราะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส แต่สติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ไม่สามารถที่จะงดเว้น ละเว้นทุจริตกรรมได้ ซึ่งการที่จะละเว้น งดเว้นทุจริตกรรมได้ยิ่งขึ้น ก็เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น จึงจะทำให้กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตเจริญขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า สมฺปหํเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำจิตของนายนันทะนั้นให้ร่าเริง ด้วยการเห็นธรรมเป็นธรรมวิเศษด้วยดี ด้วยการยังจิตให้ยินดี

อีกประการหนึ่ง ในคำว่า สันทัสเสสิ บัณฑิตพึงทราบการแสดงเพื่อบรรเทาความลุ่มหลงงมงาย ในธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ และในธรรมทั้งหลาย มีทุกข์ เป็นต้น พึงทราบการชักชวนในสัมมาปฏิบัติ ด้วยการบรรเทาความมัวเมา ประมาท การทำจิตให้กล้าหาญ ด้วยการบรรเทาจิตที่ถึงการเกียจคร้าน พึงทราบการทำให้ร่าเริง ด้วยความสำเร็จแห่งการปฏิบัติชอบ นายนันทโคบาลนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค ที่ประดุจเปิดของที่คว่ำ

ถ้าจะคิดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่นายนันทโคบาลได้นั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สดับพระธรรม ซึ่งเป็นเรื่องผลของกรรม เป็นเรื่องของการที่ควรสมาทาน ตั้งมั่นในศีล เพราะเหตุว่าเมื่อบุคคลอบรมในศีล ย่อมเป็นธรรมที่มีส่วนแห่งการแทงตลอด และจิตของนายนันทโคบาลนั้น ก็อาจหาญ ร่าเริง คือ กล้าโดยชอบนั่นเอง ซึ่งถ้าท่านพิจารณา จะเห็นได้ว่า พยัญชนะนี้แสดงว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงกระทำให้นาย นันทะเป็นทุกข์ แต่นายนันทะอาจหาญ ร่าเริง เพราะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

มีท่านผู้ฟังที่ไม่กล้าเผชิญกับความจริงที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนบ้างไหม

ขณะนี้ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏกับผู้ที่ยังยึดถือ งมงาย ไม่รู้ในสภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ยังยึดถือสภาพนามธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ท่านมีความอาจหาญ กล้าหาญ ที่จะเผชิญกับความจริงที่จะละการยึดถือทั้งหมด และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด ที่เพียงปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ลักษณะต่างๆ กัน

ถ้าท่านสามารถเผชิญกับความจริง สติระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ไม่เห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจริงๆ แทงตลอดในการเกิดขึ้นและดับไป จะเศร้า และเสียดายไหมในความเป็นตัวตน ที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

ขณะที่กำลังเห็น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม เป็นนามธรรมที่รู้สีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งต่างกับนามธรรมที่รู้เสียงทางหู ต่างกับนามธรรมที่คิดนึก ต่างกับนามธรรมที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ท่านพร้อมที่จะตัดเยื่อใย เห็นถูกตามความเป็นจริงในการปรากฏเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จริงๆ แล้วหรือยัง

หรือว่า ใจจริงยังเสียดายอยู่ ถ้าจะได้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม นามธรรม และรูปธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ที่เกิดขึ้นปรากฏ และก็หมดไป ซึ่งถ้าผู้ใดประจักษ์สภาพความจริงอย่างนี้ และก็ละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจะมีการเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เสียดายไหม

ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่แทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยถูกต้อง ใจก็ยังลังเล สงสัย บางขณะ บางครั้ง ก็เสียดาย เพราะไม่รู้ว่า ถ้าประจักษ์จริงๆ แล้ว ผลคืออย่างไร

ผล คือ ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอีกต่อไป และจะมีการเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

ท่านที่อยากจะดับกิเลส พร้อมหรือยังที่จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ และก็ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละชนิดเท่านั้นแยกขาดจากกัน

ผู้ใดก็ตาม ได้ฟังธรรม สติระลึกรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง จะแทงตลอดได้ ผู้นั้นเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริง ไม่กลัวด้วยอำนาจของกิเลส หรือว่าไม่เสียดายที่จะประจักษ์สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป โดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นของจริง เป็นปัญญาที่คมกล้าจริงๆ ไม่หลอกลวงไม่ใช่ล่อให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน น่าติด หรือน่ายินดี แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น และบุคคลที่จะแทงตลอดได้ ปัญญาจะต้องอบรม และมีความอาจหาญ ร่าเริง ที่จะประจักษ์ในสภาพความไม่เที่ยง ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรม

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาค อันนายนันทโคบาลนั้นผู้เห็นสัจจะแล้ว นิมนต์ด้วยคำนิมนต์ว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงรับคำนิมนต์ของข้าพระองค์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงเคลื่อนไหวกายและวาจา ทรงรับคำนิมนต์ด้วยจิตเท่านั้น คือ ทรงยินดี เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ดังนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

เล่ากันมาว่า นายนันทโคบาลนั้น นิมนต์พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ให้ประทับอยู่ในที่นั้น แล้วถวายมหาทานสิ้น ๗ วัน แต่ในวันที่ ๗ ได้ถวายข้าวปายาสทานอันมีน้ำน้อย พระผู้มีพระภาคทรงกระทำอนุโมทนา ก็เพราะนายนันทโคบาลนั้น มีญาณแก่กล้า เพื่อประโยชน์แห่งมรรคเบื้องบน ในอัตภาพนั้นนั่นเอง แล้วเสด็จหลีกไป

พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเห็นว่า การที่จะประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะประจักษ์ ทั้งๆ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดดับ ไม่เป็นสาระ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่บุคคลก็ควรที่จะประจักษ์ และผู้ที่จะประจักษ์ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ญาณแก่กล้าด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า สีมนฺตริกาย ได้แก่ ในระหว่างเขตแดน คือ ในระหว่างแห่งบ้านนั้น

ได้ยินว่า พวกชาวบ้านอาศัยบึงแห่งหนึ่ง ได้เกิดทะเลาะกันกับนายนันทโคบาลนั้น นายนันทโคปาบนั้นเอาชนะชาวบ้านเหล่านั้นได้ จึงได้ยึดเอาบึงนั้นเสีย ชายคนหนึ่งผูกอาฆาตกับนายนันทโคบาลนั้น จึงใช้ลูกศรยิงนายนันทโคบาลนั้น ผู้ถือบาตรของพระผู้มีพระภาคตามส่งเสด็จไปยังที่ไกล ในเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงกลับเถิดอุบาสก ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วประคองอัญชลีแก่พระภิกษุสงฆ์ ประคองอัญชลีอันงดงามด้วยการประนมมือทั้ง ๑๐ นิ้วเหนือศีรษะ จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์พ้นสายตาของตนไป จึงได้เดินทางกลับ ซึ่งกำลังเดินไปอยู่แต่ผู้เดียวในราวป่าแห่งหมู่บ้านทั้งสอง ได้ถึงความตายแล้ว

เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า อจีรปกฺกนฺตสฺส ฯ เป ฯ โวโรเปสิ คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน บุรุษผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตนายโคบาลนั้น ในระหว่างเขตบ้าน

ภิกษุทั้งหลายผู้ล่าช้าอยู่ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เดินมาภายหลัง ได้เห็นนายโคบาลนั้นตายแล้วอย่างนั้น จึงได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ข้อความในอรรถกถา อธิบายถึงคำอุทานที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งในขณะนั้น มีใจความว่า

โจร หรือบุคคลที่มีเวรต่อกัน ย่อมจะทำร้ายบุตร หรือภรรยา หรือว่านา โค กระบือของบุคคลที่มีเวรต่อกัน คือ ทำความพินาศต่างๆ ให้ แต่ว่าโจร หรือบุคคลผู้ที่มีเวรนั้น ย่อมจะสามารถทำความพินาศต่างๆ นานาให้ได้เฉพาะเพียงชาติเดียว คือ ในชาติที่พบกันและมีเวรต่อกันเท่านั้น แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำบุคคลนั้นให้เลวทราม ยิ่งกว่าการกระทำของโจรและบุคคลผู้มีเวรนั้น เพราะเหตุว่าจิตที่ตั้งไว้ผิด เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมนั้น ย่อมเป็นปัจจัยทำให้บุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิหลายแสนอัตภาพได้

จิตของโจรซึ่งปลงชีวิตนายนันทโคบาล กับจิตของนายนันทโคบาล จิตใดเลวกว่ากัน นายนันทโคบาลเป็นพระอริยเจ้า ได้ถวายมหาทาน ๗ วัน เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส ตามส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ด้วยศรัทธา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีจิตเป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นจิตที่ตั้งไว้ผิด แต่ว่าจิตของโจรซึ่งทำการเบียดเบียนประทุษร้าย ปลงชีวิตนายนันทโคบาลนั้น เป็นอกุศลจิตเพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่เลว เพราะเหตุว่าจะทำให้เกิดผลที่เป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัสในอบายภูมิ

ด้วยเหตุนี้ เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าปล่อยให้จิตเป็นอกุศล มีกิเลส ที่มีกำลัง และกระทำอกุศลกรรม เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่ได้รับผลของการกระทำของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่เลว ก็ได้ผลที่เลวด้วย

เรื่องของปาณาติบาต ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ศึกษาได้ใน มังคลัตถทีปนี วินัยกถา ก็มี และใน พระวินัยปิฎก ก็มี

ถ. เราอาจจะต้องทำปาณาติบาตด้วยความจำเป็น อย่างเช่น เป็นตำรวจไปต่อสู้กับผู้ร้าย หรือเราต้องป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย เช่น งูพิษ เวลาที่เราจะทำปาณาติบาต เราเจริญสติได้ไหม

สุ. หนีไม่พ้น เรื่องของปาณาติบาต เพราะว่าไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่เป็นผู้ที่กำลังเจริญกุศลธรรม เพื่อจะละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาด้วยตัวเอง สภาพธรรมใดเป็นกิเลส เป็นอกุศล ก็ต้องยอมรับว่า เป็นกิเลส เป็นอกุศล

ผู้ที่ยังไม่ใช่เป็นพระโสดาบันบุคคล ยังมีกิเลสที่จะทำให้กระทำปาณาติบาต แต่ก็เป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นผู้ทุศีล รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นปาณาติบาต ก็ยังดีกว่าไม่รู้ และเมื่อรู้แล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ก็ย่อมจะเจริญกุศลที่จะให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน ซึ่งจะเป็นผู้ที่ไม่กระทำปาณาติบาตเลย และทางเดียวที่จะเป็นไปได้ ก็ด้วยการเจริญสติ

ยับยั้งตัวเองไม่ให้กระทำปาณาติบาตไม่ได้ แต่ที่จะยับยั้งได้จริง คือ คุณธรรมการบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้นที่จะละได้

ในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะเห็นชีวิตของพระอรหันต์หลายท่าน ที่ท่านกล่าวถึงอดีตกรรมในอดีตชาติของท่าน ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่ฆ่าสัตว์เลี้ยงชีพบ้าง หรือว่าได้กระทำปาณาติบาต แต่ก็ได้กระทำกุศล และเมื่อกุศลให้ผล ทำให้ท่านพ้นจากการที่จะต้องกระทำอกุศลเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งสำหรับผู้ที่ได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว จะไม่พ้นจากผลของกรรมนั้น ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน

พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถที่จะปลงพระชนม์ได้เลย นี่เป็นเพราะพระบารมีที่ได้สะสมมา แต่แม้กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงประชวร และมีเหตุที่จะให้เกิดทุกขเวทนา เช่น เมื่อท่านพระเทวทัตกลิ้งหิน สะเก็ดหินกระทบ พระบาท เป็นต้น นี่เป็นผลของอดีตอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังคงมีภพชาติต่อไป ก็ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นอกุศลวิบาก ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม ขณะใดที่เป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรม

ข้อความใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ฉัตตมาณวกวิมาน มีว่า

พระผู้มีพระภาคเพื่อจะทรงประกาศบุญกรรม อันฉัตตเทพบุตรนั้นทำแล้ว จึงได้ตรัสถามฉัตตเทพบุตรนั้นว่า

ท่านได้มาเกิดในวิมานนี้เพราะผลแห่งกรรมอะไร ก็วิมานนี้อันท่านได้แล้วด้วยประการใด ตถาคตถามแล้ว ขอท่านจงบอกเหตุแห่งการได้วิมานนั้น ด้วยประการนั้นเถิด

ฉัตตเทพบุตรเคยทำอกุศลกรรมไหม ต้องเคยแน่นอน และก็เคยกระทำกุศลกรรมด้วย แต่ผลของกุศลก็ทำให้เกิดในสวรรค์

ฉัตตเทพบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้พบกับมาณพคนหนึ่ง ชื่อฉัตตมาณพ ซึ่งเดินทางมาในทางนี้ พระองค์ทรงเป็นครู ทรงเอ็นดูพร่ำสอนธรรมแก่เขา ฉัตตมาณพนั้น คือ ข้าพระองค์ ได้ฟังธรรมของพระองค์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐแล้ว ได้ทูลรับรองว่า จะกระทำตามที่พระองค์พร่ำสอน

อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ว่า ท่านจงเข้าถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ กับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่งเถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ทูลปฏิเสธ ภายหลังได้ทำตาม พระดำรัสของพระองค์เหมือนอย่างนั้น

อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสบอกว่า ท่านอย่าได้ประพฤติฆ่าสัตว์ มีประการต่างๆ อันเป็นความไม่สะอาด เพราะท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมไม่สรรเสริญความไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ทูลปฏิเสธ แต่ภายหลังได้ทำตาม พระดำรัสของพระองค์เหมือนอย่างนั้น

อนึ่ง พระองค์ตรัสบอกว่า ท่านอย่าได้ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นรักษาหวงแหน และอย่าได้คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น เพราะข้อนี้ไม่ประเสริฐ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ทูลปฏิเสธ แต่ภายหลังได้ทำตาม พระดำรัสของพระองค์เหมือนอย่างนั้น

อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสบอกว่า ท่านอย่าได้พูดให้คลาดเคลื่อนจากความจริง เพราะผู้มีปัญญาทั้งหลาย มิได้สรรเสริญการพูดเท็จ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ทูลปฏิเสธ แต่ภายหลังได้ทำตาม พระดำรัสของพระองค์เหมือนอย่างนั้น

อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสบอกว่า สัญญาของบุรุษย่อมฟั่นเฟือนไปเพราะน้ำเมาอันได้ดื่มแล้ว ท่านจงงดเว้นน้ำเมาอันเป็นโทษทั้งหมด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ทูลปฏิเสธ แต่ภายหลังได้ทำตาม พระดำรัสของพระองค์เหมือนอย่างนั้น


หมายเลข  6574
ปรับปรุง  13 มี.ค. 2567