ปกิณณกธรรม ตอนที่ 123


ตอนที่ ๑๒๓

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๕


ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังที่บอกว่าภาษาบาลียาก แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจความหมายไปด้วยก็คงจะจำได้ อย่างคำว่า“สังขารธรรม”คนไทยก็ได้ยินบ่อยๆ แต่ว่าไม่ใช่หมายเฉพาะร่างกายที่เป็นสังขาร หมายความถึงจิต เจตสิก รูปซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น สภาพปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เพียงเพิ่ม อาจารย์ใช้คำว่าอุปสรรค ใช่ไหม ในภาษาบาลี

อ.สมพร พยัญชนะข้างหน้า เรียก อุปสรรค

ท่านอาจารย์ เติม วิ เข้าไปสำหรับนิพพาน เป็นวิสังขารธรรม และถ้ากล่าวถึงสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม สังขารธรรมกับสังขตธรรมเหมือนกัน เป็นสภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นิพพานก็ตรงกันข้าม คือ อสังขตธรรม ก็คงจะไม่ยากเกินไป ๔ คำ สังขารธรรม วิสังขารธรรม สังขตธรรม อสังขตธรรม

แล้วสำหรับสังขารธรรม สังขารขันธ์เมื่อกี้นี้ เพื่อความเข้าใจ เผื่อว่าท่านผู้ฟังจะพบในที่อื่น คือ สังขารในปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้หมายถึงเจตสิก ๕๐ ดวงที่เป็นสังขารขันธ์ แต่หมายความถึงอภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ได้แก่ เจตนาเจตสิกเท่านั้น ถ้าเป็นสังขารหรืออภิสังขารในปฏิจจสมุปบาท

นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาถึงเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งจะละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น แต่ละเอียดสักเท่าไร ก็ยังไม่เท่ากับสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประมวลลักษณะของจิต เช่น ที่ทรงแสดงว่า โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แต่ขอให้นึกถึงโลภมูลจิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละคน และก็ทุกวันๆ ที่เพิ่มขึ้นว่า ต่างกันวิจิตรมากน้อยเท่าไร แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามโดยพระปัญญาคุณ ก็ทรงประมวลว่า ไม่ว่าจะต่างกันสักเท่าไหร่ ในแสนโกฏิจักรวาล ไม่ว่ามนุษย์มีสักเท่าไรก็ตามประมวลโลภมูลจิตแล้วก็มีอยู่ใน ๘ ประเภท นั่นเอง

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตามที่ได้ศึกษา โดยพยัญชนะ และตามความเป็นจริง ก็แสดงให้เห็นว่า นับจิตไม่ได้ มีมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็เวลาที่มีการระลึกรู้ ก็จะต้องเป็นเวลาที่เป็นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้นั่นเอง

ผู้ฟัง คำว่า “ทุกข์” เราใช้ภาษาไทยกับภาษาบาลีไขว้เขวมาก ในพระพุทธศาสนา ทุกข์มันเป็นอย่างไร ในด้านของเวทนา ทุกข์ทางกาย มันเป็นอะไร เป็นวิบาก ทุกข์ทางจิตมันก็เป็นกิเลส อะไรอย่างนี้ มันซับซ้อน และละเอียดอ่อนมาก ในเรื่องของเวทนาก็ยังละเอียดอ่อน ในเรื่องของไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกข์นั้นคืออะไร ในเรื่องอริยสัจ ๔ ทุกข์คืออะไร

ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ก็มีโอกาสสนทนากับท่านผู้ฟังใหม่ ซึ่งไม่เคยฟังธรรมมาก่อนเลย แต่ว่ามีเพื่อนของท่านชักชวนมาสนทนาธรรมด้วย ท่านแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ท่านก็บอกว่า ขณะนี้ท่านสบายแล้ว หมดภาระเรื่องอื่น แต่ว่ายังเป็นทุกข์ เรียนถามท่านว่า แล้วท่านทุกข์อะไร ทุกอย่างหมดแล้ว ไม่มีปัญหาเลย เรื่องการงาน เรื่องครอบครัว เรื่องบุตรธิดา แต่ก็ยังเป็นทุกข์ คำพูดนี้จริงหรือไม่จริง คือว่าเวลาที่ฟังคำพูด สามารถที่จะทราบถึงความคิดความเข้าใจของผู้ที่พูดได้ ว่ามีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมขั้นไหน เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมเลย แล้วท่านก็ไม่ได้เคยฟังธรรมเลย ท่านเพียงแต่กล่าวว่า ถึงแม้ทุกอย่างจะเรียบร้อย ไม่มีห่วงแล้ว ก็ยังเป็นทุกข์ ก็เลยเรียนถามท่านว่า ท่านทุกข์อะไร เพราะว่าคำพูดของท่านไม่ผิด แต่อธิบายไม่ได้ ถ้าไม่เรียน เพราะว่าบางคนนั่งเฉยๆ พอไม่มีความสุข ไม่มีความสนุกความรื่นเริง แล้วก็ได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า โลกเป็นทุกข์ หรือชีวิตเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นโลกใครชีวิตใครก็ตาม เพราะฉะนั้น ท่านก็เก็บคำนั้นมาใช้ แล้วก็เข้าใจว่า ขณะที่ท่านไม่ได้สนุกสนานรื่นเริง ขณะนั้นเป็นทุกข์แล้ว เพราะฉะนั้น กำลังนั่งอยู่อย่างนี้เป็นทุกข์ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ พูดไม่ผิดแต่อธิบายไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจธรรม แต่ถ้าเข้าใจธรรมแล้วจะทราบได้ว่า นี่คือความหมายของสังขารธรรม ธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แต่ทุกข์นี่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า ถ้าเพียงแต่กล่าวว่า เกิดมาเป็นทุกข์ ก็ไม่ผิด คือถ้าจะพูดว่าอะไรๆ เป็นทุกข์นี่ ไม่ผิดสักอย่างหนึ่ง เกิดมาเป็นทุกข์ก็ไม่ผิด เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วก็มีการเจริญเติบโต แล้วก็จะต้องถึงการแก่ จะต้องถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย พลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ถึงการจากโลกนี้ไป ฟังดูก็น่าจะเป็นทุกข์ แต่ว่าทุกคนก็ยังไม่ได้เข้าถึงความหมายของสังขารธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ คือ สภาพธรรมใดก็ตามเกิดขึ้นเป็นทุกข์เพราะทันทีที่เกิดก็ดับ ยังไม่ต้องรอคอยจนกว่าจะถึงเวลาที่ป่วยไข้ได้เจ็บ หรือว่าพลัดพรากจากสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าสามารถจะเข้าใจความจริงว่า ทุกขณะที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ชั่วขณะจริงๆ เพราะอะไร ได้ยินเสียง นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าเข้าถึงความหมายของทุกขลักษณะของสภาพธรรม จะเห็นได้โดยพิจารณาแล้วเข้าใจถูกต้องได้ว่า ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่มีสีสันวัณณะปรากฏในขณะที่เสียงปรากฏ แล้วเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดได้ยินกับเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเห็นก็ห่างกัน คือว่า การเห็นต้องอาศัยตา จักขุปสาท เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งอยู่กลางตา ส่วนการได้ยินก็ต้องอาศัยโสตปสาท เป็นรูปอีกรูปหนึ่งซึ่งอยู่กลางหู ระหว่างตากับหู มองดูถ้าจะวัดดู ก็อาจจะสักคืบหนึ่ง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว มีรูปหลายกลุ่มซึ่งทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ และไม่ใช่แต่เฉพาะระหว่างตากับหู ทั่วทั้งตัวในขณะนี้ รูปมีอายุเพียงการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปใดที่เกิดพออายุ ๑๗ ขณะก็ดับ แล้วรูปใดที่เกิดต่อจากนั้น อายุ๑๗ ขณะก็ดับ ในขณะนี้รูปทุกรูปกำลังทยอยกันเกิดทยอยกันดับ และเหตุปัจจัยที่ให้เห็นที่อยู่กลางตา ก็ห่างจากเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ยินที่อยู่กลางหู จะพร้อมกันขณะเดียวกันไม่ได้ โดยการฟัง ก็ยังจะไม่เข้าใจว่า แล้วเป็นทุกข์อย่างไร เห็นจะเป็นทุกข์อย่างไร ได้ยินจะเป็นทุกข์อย่างไร แต่ให้ทราบว่า นี่คือทุกข์จริงๆ ถ้าสามารถประจักษ์ว่า ทุกอย่างคือความว่างเปล่า เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏ เมื่อดับแล้วหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้น เป็นความว่างเปล่าแต่ละขณะ ซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป ปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าประจักษ์ความจริงอย่างนี้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้เกิดแล้วดับ เมื่อนั้นจึงจะเป็นการประจักษ์ทุกข์ซึ่งไม่ว่าจะกล่าวถึงทุกข์ในแง่ไหน ก็จะพ้นจากทุกข์นี้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสังขารธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป

แล้วถ้าไม่มีผู้ที่ประจักษ์ความจริงนี้ ก็จะไม่มีการกล่าวเรื่องสังขารธรรมไม่เที่ยง ไม่มีการแสดงพระธรรมที่จะให้เห็นว่า ที่เราถือว่าเป็นตัวเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บางกลุ่มเป็นปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้น บางกลุ่มเป็นปัจจัยให้ได้ยิน บางกลุ่มเป็นปัจจัยให้ได้กลิ่น บางกลุ่มเป็นปัจจัยให้ลิ้มรส บางกลุ่มเป็นปัจจัยให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ชั่วขณะหนึ่งๆ ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นปะปนเลย ที่เคยมีอัตตสัญญาจำว่า เป็นเรากำลังนั่งอยู่ นี่ให้ทราบว่าไม่ใช่อนัตตสัญญา แต่เป็นอัตตสัญญา ซึ่งอัตตสัญญายังไม่หมดตราบใด ความเป็นตัวตนต้องมีตราบนั้น

อ.สมพร ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องทุกข์จริงๆ ที่เราเข้าใจกันแค่ทุกข์เวทนา เป็นทุกขอริยสัจจ์ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงทุกขเวทนา ซึ่งเรามีความเจ็บกาย ป่วยกายอะไรเหล่านี้ ที่เรียกว่าทุกขเวทนา หรือทุกข์ใจ โทมนัสเวทนา อันนี้รู้ได้ง่าย ทุกขเวทนา ทุกข์ที่กล่าวที่เป็นปัจจัยให้เราเจริญสติปัฏฐาน เป็นทุกขอริยสัจจ์ รู้ได้ยาก ต้องศึกษามุ่งถึงทุกขอริยสัจจ์ ว่าอะไรเป็นทุกข์ ไม่ได้มุ่งเอาแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว ทุกขเวทนาใครๆ ก็รู้ เด็กก็รู้ว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็รู้ ใครๆ ก็รู้ รู้อย่างนั้นยังไม่จัดว่า เป็นผู้มีสติ เพราะอะไร เพราะว่า รู้ว่าเราเจ็บ ยังเป็นอัตตา ยังเป็นตัวตนอยู่ แต่เมื่อใดรู้แต่สภาวะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแต่ธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นรูปหรือนาม อย่างนี้ก็เรียกว่า รู้สภาวะ สภาวะอันนั้นก็คือ ทุกขอริยสัจจ์ ทุกขอริยสัจจ์นี้ละเอียดจริงๆ ต้องศึกษามาก

ท่านอาจารย์ ถ้ามีใครถามท่านผู้ฟังเวลานี้ว่า เป็นทุกข์ไหม ก็คงจะตอบได้ ใช่ไหม คือทราบว่าเป็นทุกข์อยู่ทุกขณะที่มีสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ว่าไม่ประจักษ์ นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล และผู้ที่เป็นปุถุชน ผู้ที่ยังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าทราบโดยการฟังว่า สังขารธรรมทั้งหลายในขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป ใครถามตอบได้แน่ๆ แต่ว่าแม้พระภิกษุในครั้งพระพุทธกาล เวลาที่ถูกพวกเดียรถีย์ถามว่า ท่านบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเพื่ออะไร ท่านเหล่านั้นตอบว่าเพื่อเห็นทุกข์ แสดงว่าให้เห็นว่า อวิชชาไม่สามารถจะเห็นทุกขลักษณะ ต้องเป็นปัญญาจึงจะเห็นได้

เพียงขั้นการฟังว่าขณะนี้สังขารธรรมทั้งหลายกำลังเกิดดับ ก็ฟัง แล้วก็เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังอ่อนหรือแข็ง เพียงชั่วขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ ก็มีหลักแล้วว่า ขณะนั้นถ้ายังคิดว่า เป็นเราที่กำลังกระทบแข็ง เป็นเรา ตัวเราที่กำลังนั่งแล้วกระทบแข็ง ขณะนั้นต้องเป็นอัตตสัญญา ไม่ใช่อนัตตสัญญา แต่บางคนไม่ได้นึกถึงรูปร่างที่กำลังนั่ง หรือกำลังยืน กำลังนอน กำลังเดิน พอแข็งปรากฏ สามารถที่จะรู้ตรงนั้น แล้วก็ลืมเรื่องอื่น ไม่ได้คิดว่าเป็นเราที่กำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน มีแต่ลักษณะที่แข็งที่กำลังปรากฏ ธรรมดาทุกคนก็กระทบแข็งอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เคยที่จะพิจารณาว่า ขณะนั้นมีลักษณะที่กำลังรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏ ซึ่งลักษณะที่รู้แข็งไม่ใช่แข็ง แข็งคือแข็ง แต่เวลาที่บอกว่าแข็ง หมายความว่าต้องมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ลักษณะที่รู้แข็ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ก่อนนี้เคยเป็นเรา แต่เวลาที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละอวิชชา อย่าลืมว่า เพื่อละอวิชชาซึ่งไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น วิชชาไม่ใช่รู้ตอนอื่น แต่รู้ในขณะที่กำลังเห็นแล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ธาตุเห็น สภาพที่กำลังเห็น ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่คนตาย อาการนี้เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง คือ เป็นสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติค่อยๆ รู้ขึ้นในขณะที่กำลังเห็น อย่าหวังว่า จะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่พี่น้อง ไม่ใช่โต๊ะเก้าอี้อีกต่อไป แต่หมายความว่ากำลังเริ่มที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏ ลักษณะแท้ๆ คืออย่างนี้ ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ กำลังนึกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นละคร ชื่อนั้นชื่อนี้กำลังทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ต่างกับกำลังเห็นเดี๋ยวนี้แล้วนึกไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้ความต่างกันของโลกทางตาที่ปรากฏเป็นสีสันวรรณะต่างๆ เพียงชั่วขณะที่เห็น แล้วโลกของความคิดนึก ซึ่งจะต้องแยกออก ระหว่างทางตาที่เห็นแล้วก็คิดนึก ทางหูที่ได้ยินแล้วก็คิดนึก จนกระทั่งสามารถที่จะไม่เชื่อมโยงสภาพธรรมที่เคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดว่า เป็นเรา คอยเอามาต่ออยู่เสมอว่าเป็นเราขณะนั้น ขณะนี้ แต่ว่าถ้าสามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจริงๆ จะค่อยๆ คลายการที่จะเอามาโยงไว้ว่า เป็นเรา

ลักษณะของสภาพธรรมจะค่อยๆ ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจึงจะปรากฏลักษณะที่เป็นทุกข์ ซึ่งลักษณะที่เป็นทุกข์ต้องเกิดขึ้น และดับไป ถ้ายังไม่ใช่การเกิดดับ ยังไม่ใช่ทุกขลักษณะ เพราะทุกขลักษณะนั้นเป็นลักษณะหนึ่งในไตรลักษณะ ไม่ใช่ลักษณะเดียว ใช้คำว่า ติลักขณะ หรือว่าไตรลักษณะ หมายความถึงลักษณะทั้ง ๓ คือ ลักษณะที่เกิดขึ้น และดับไปนั่นแหละเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายความว่าไม่มีอะไรที่จะน่ายินดีกับสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมดสูญไป แล้วก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดอีก เป็นความว่างจากการที่ไม่สามารถจะมีสิ่งใดที่จะยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเราได้จริงๆ นี่คือการที่จะประจักษ์ทุกขลักษณะ ซึ่งต้องมีอนิจจลักษณะปรากฏให้รู้ในสภาพว่า ธรรมนั้นเกิดแล้วดับจึงเป็นสภาพที่เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง และเป็นอนัตตา ลักษณะทั้ง ๓ นี้ต้องพร้อมกัน

ถ้าจะสรุปอีกที ทุกขเวทนา คือ ทุกข์กาย ป่วยไข้ได้เจ็บ หิว เป็นสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ แต่ก็ยังเป็นตัวตนสำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ก็จะมีแต่อวิชชา ซึ่งไม่รู้ความจริงว่า แม้ขณะนั้นทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นอกจากทุกขเวทนาแล้วสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ สังขารธรรมทั้งหลายต้องมีไตรลักษณะ คือ ลักษณะทั้ง ๓ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้ใดประจักษ์แจ้งสภาพธรรม คือ อาการของสังขารธรรมที่เกิดดับเป็นไตรลักษณะ จะละคลายสภาพธรรมที่ยึดถือว่า เป็นตัวตน จนในที่สุดสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานธาตุ สามารถที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ผู้นั้นก็รู้ว่าทุกข์นั้นเป็นทุกขอริยสัจจะ สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลได้ประจักษ์แจ้ง และเมื่อได้ประจักษ์แจ้งลักษณะนั้นแล้วก็เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ย่อมไม่สามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้

ถึงแม้ว่าทุกข์มีจริง กำลังเกิดดับอยู่ อวิชชาไม่รู้ ต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ไตรลักษณะ คือ สภาพที่เป็นทุกข์ และเมื่อถึงความเป็นอริยบุคคล ก็รู้ว่าทุกขลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่เป็นอริยสัจจะสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ได้ประจักษ์แล้ว

แม้แต่การศึกษาพระอภิธรรม ถ้าจะสอดคล้องกับแง่อื่น จะเป็นประโยชน์อย่างเพียงคุณของพระรัตนตรัยหรือพระธรรมคุณ ขอให้เข้าใจจริงๆ ประโยชน์ก็ยิ่งมาก ตั้งแต่ข้อความเบื้องต้นที่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว แสดงแล้ว แน่ใจได้เลยว่าต้องเป็นของจริงซึ่งบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะแสดงได้นอกจากนั้นก็ยังเป็นสิ่งซึ่งสันทิฏฐิโก สามารถที่จะเห็นจริงๆ ได้ ไม่ใช่ของลวง ไม่ใช่ของหลอก แต่เป็นของจริง ลักษณะของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร บุคคลที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สติระลึกแล้ว ย่อมสามารถที่จะเห็นสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ สันทิฏฐิโก

อ.สมพร สันทิฏฐิโก แปลว่า บุคคลผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้เอง

ท่านอาจารย์ แล้วเอหิปัสสิโก

อ.สมพร เอหิปัสสิโก แปลว่าควรน้อมเข้ามาดู เข้ามาดูหรือเข้ามาเห็น อะไรอย่างนี้ ก็นัยอย่างนี้ได้

ท่านอาจารย์ สิ่งที่ควรจะดู ที่ว่าควรจะเรียกให้มาดู หมายความว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแล้วอย่าทิ้ง ควรที่ทุกคนจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ควรจะดู โอปนยิโก น้อมเข้ามาในตน เวลาจะดู จะดูที่ไหน ไม่ใช่ดูที่คนอื่น ธรรมทั้งนั้นเลย คนนั้นก็อิสสา คนนั้นริษยา นั่นไม่ใช่ แต่ว่าที่ควรจะดู หรือว่าที่ควรจะน้อมเข้ามาดูที่ตนเอง แล้วจึงจะเป็นปัจจัตตัง หมายความว่ารู้ได้เฉพาะตน

ผู้ฟัง คำว่า เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูหรือเห็น เป็นอย่างไร

ท่านอาจารย์ เป็นคุณของโลกุตตรธรรม ซึ่งต้องมีคุณมากสมควรแก่การที่จะดู หรือที่จะประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่าทุกคนมักจะอยากดูอย่างอื่น อยากจะรู้อย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรดูอย่างยิ่ง หรือควรที่จะเห็นอย่างที่ประจักษ์อย่างยิ่งนั้นก็คือโลกุตตรธรรม

ด้วยเหตุนี้ โลกุตตรธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรที่จะดู ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า หรือไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ฟังได้ยินวิชาการอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องไม่ลืมว่าวิชาการที่สูงที่สุด ที่เป็นประโยชน์ที่สุด ที่ควรที่สุดที่จะได้เห็นได้ดู นั้นก็คือ โลกุตตรธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วเราก็กำลังพยายามอยู่ ที่จะได้เข้าไปดู โลกุตตรธรรม แล้วก็คงจะไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นพระธรรมที่มีประโยชน์มาก แล้วก็เริ่มจากการฟัง ให้เข้าใจสภาพที่เป็นอภิธรรมก่อน

อ.สมพร พระคุณข้อที่ ๔ ว่าแล้ว คือ เอหิปัสสิโก ข้อที่ ๕ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน คำว่าควรน้อมเข้ามาในตนนี้ ก็จะต้องเป็นของสำคัญเหมือนกัน ไม่ใช่สำคัญแล้วก็เอาทิ้งไปดีกว่า โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา คือธรรมของพระพุทธเจ้าควรน้อมเข้ามาในตน เรียกว่า โอปนยิโก ความจริงก็อัศจรรย์เหมือนกัน ทั้งหมดมี ๖ ข้อด้วยกัน อัศจรรย์ทั้งหมด เพราะว่าควรน้อมเข้ามาในตน

คราวนี้ก็ยังเป็นปัญหา คำว่าตน ก็น้อมเข้ามาในตน น้อมมาอย่างไร ถึงเรียกว่าน้อมมาในตน แล้วสิ่งที่น้อมมานั้น คืออะไร

ท่านอาจารย์ โดยมากทุกท่านอาจจะเกี่ยง คือว่าขอให้คนอื่นศึกษา แล้วก็ขอให้คนอื่นแก้กิเลสแล้วก็ละกิเลสของคนนั้นๆ เวลาที่เห็นกิเลสของใครมากๆ ก็คิดเลยว่า นี่ควรจะทำอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนี้ คิดถึงแต่กิเลสของคนอื่น แล้วก็พยายามที่จะแก้กิเลสของคนอื่น ลืมว่าธรรมทั้งหมดควรน้อมเข้ามาในตน พิจารณาตน เข้าใจจิต เจตสิก รูป ธรรมที่มีที่ตน แล้วก็จะทำให้สามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ถ้าตัวของท่านเองยังไม่มีวิธีที่จะน้อมธรรมนั้นมาประพฤติปฏิบัติด้วยตน แม้ว่ายังจะกล่าวธรรม แสดงธรรม อย่างไรๆ ก็ตาม ผลก็คือว่า ต่างคนก็ต่างยกให้คนอื่นไปปฏิบัติ โดยที่ตัวเองไม่ปฏิบัติ อย่างเช่น ความโกรธ เวลาที่จะสอนคนอื่น ก็อาจจะมีวิธีหลายวิธีที่จะสอนไม่ให้คนนั้นโกรธ เป็นโทษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาตนเองโกรธ น้อมธรรมเข้ามาประพฤติปฏิบัติในตนหรือเปล่า


หมายเลข  6585
ปรับปรุง  18 มี.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ