แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
ถ. หนูที่บ้านมาก เลยเอาแมวมาเลี้ยงด้วยความกรุณา และแมวก็จับหนู เราพอใจ เราจะบาปไหม
สุ. จุดประสงค์ก็มีอยู่แล้วว่าเลี้ยงแมวเพื่ออะไร ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ตรง ไม่ใช่ว่าคนที่กำลังเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีกิเลส มี และต้องรู้ตามความเป็นจริง ต้องตรงต่อธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงด้วยที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตกันแน่ แม้ว่าท่านจะพยายามบ่ายเบี่ยง เลี่ยงไปว่าท่านกรุณาแมว แต่ใจจริงของท่านเป็นอย่างไร เป็นกุศล หรืออกุศล
ท่านผู้ฟังถามถึงอาชีพอื่น คือ อาชีพทนาย ช่วยผู้ร้ายสำเร็จ จะเป็นอย่างไรทนายก็เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตของตนเองละเอียดลออ ทุกซอกทุกมุม รู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างไรตามปกติตามความเป็นจริง จะเปลี่ยนบุคคลนั้นเป็นบุคคลอื่นก็ไม่ได้ เพราะว่าแต่ละคนสะสมปัจจัยมาต่างๆ กัน และทนายนั้นมีอกุศลมากน้อยเท่าไรก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเมื่อเป็นพระอริยบุคคลแล้วจะไม่ล่วงศีล ๕ แต่ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า การศึกษา พระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี จะเกื้อกูลให้เห็นความละเอียด ความสลับซับซ้อนของจิตที่ละเอียดมาก
ถ. ผมมีอาชีพเป็นครู เวลาที่เราเฆี่ยนเด็ก ผมเป็นครูที่ชอบเฆี่ยนเด็กที่ทำผิด แม้ในวันอุโบสถ ผมถือศีล ๘ ผมก็เฆี่ยนเด็กที่ทำผิด แต่ในขณะที่เฆี่ยน ผมมีสติ คิดว่าผมไม่มีความโกรธ ความเคืองเด็กเลย ไม่มีความพยาบาทเลย แต่เฆี่ยนเพราะเหตุว่า ทำผิดระเบียบ อยากให้เด็กได้ดี ทุกๆ ครั้งที่ผมเอาไม้เรียวลง ผมบอกว่าต้องการดัดนิสัยเด็กให้เป็นพลเมืองดี เพราะฉะนั้น แม้ผมถืออุโบสถ ผมก็เฆี่ยนได้ ไม่บาป จะถูกหรือไม่
สุ. เรื่องบาปเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเป็นเรื่องของจิต และเป็นเรื่องของกรรม คือ การกระทำ ซึ่งไม่สามารถจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเปลี่ยนการกระทำของบุคคลอื่นได้ ถ้ามีปัญหาแล้วเสนอขึ้นมาว่า ใครควรทำอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร มีหน้าที่อย่างไร ถ้าเป็นเรื่องของนักปกครอง จะต้องใช้วิธีการอย่างนั้นในการปกครองจึงจะได้ผล แต่ถ้าถามนักธรรม วิธีการของนักธรรมก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และนักธรรมก็มีหลายๆ บุคคล นักปกครองก็มีหลายๆ บุคคล ซึ่งแต่ละความคิดความเห็นก็ต่างๆ กันไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้วก็จะทราบว่า ท่านยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ความไม่แช่มชื่นของจิตก็ย่อมมี คนดีๆ เด็กดีๆ ท่านก็คงไม่ไปตีไปสั่งสอน แต่เวลาที่มีการประพฤติ การกระทำที่ไม่ดีขึ้น ใจของท่านไม่แช่มชื่น ขุ่นเคืองสักเล็กน้อย หรือว่ายังคงสม่ำเสมอมั่นคง ไม่หวั่นไหว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ย่อมสามารถที่จะระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง
แต่ว่าผู้ที่ประกอบด้วยเหตุผล ถึงแม้ว่าจะเป็นนักปกครอง และก็ใช้วิธีการปกครองตามที่ท่านเห็นสมควรว่าควรจะใช้วิธีนั้น นั่นก็เป็นเรื่องของวิธีการและเหตุผลของท่าน ถ้าเป็นบุคคลที่โกรธจัดและตีทันที อาจจะขาดการยับยั้งพิจารณาว่า มากหรือน้อย ควรหรือไม่ควรประการใด แต่บางท่านก็ใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การเฆี่ยนตี แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นก็แล้วแต่ท่านจะแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นกันว่า ประการใดจะเหมาะควรมากกว่ากัน ซึ่งการเหมาะควรนั้น ก็ต้องแล้วแต่กรณี แล้วแต่บุคคลด้วย แต่จะเห็นได้ว่า ธรรมไม่ขัดกับโลก และก็เกื้อกูลโลกด้วย
ถ. เราเลี้ยงปลาเงินปลาทอง ซื้อลูกน้ำให้ปลากิน จะมีบาปกรรมไหม ถ้าไม่ซื้อลูกน้ำให้ปลากิน ปลาอาจจะตายก็ได้
สุ. กรุณาปลา อกุศลไม่คิดเลย คิดแต่ในเรื่องกุศลทั้งนั้น เพื่อกลบเกลื่อนอกุศล แต่ว่าธรรมอย่างไรก็เป็นธรรมอย่างนั้น ซึ่งจะต้องรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริง ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น จึงสามารถที่จะละกิเลสได้ ถ้าเป็นอกุศลก็ต้องยอมรับว่าเป็นอกุศล เมื่ออกุศลยังมีก็ยังมี เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นดับอกุศลนั้น
ถ. มีอะไรที่จะแก้ความลำเอียงได้
สุ. ท่านผู้ฟังก็รู้จักตัวเองดี ท่านถามว่า มีอะไรที่จะแก้ความลำเอียงได้ การบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน รู้สภาพธรรมตรงจริงๆ ตามความเป็นจริง ความลำเอียงเกิดจากอะไร กิเลสใช่ไหมที่ทำให้เกิดความลำเอียง เพราะโลภะ ความรักบ้าง หรือเพราะโทสะ ความไม่พอใจบ้าง หรือว่าเพราะความกลัว นี่เป็นเรื่องของกิเลส ประมาณ จัดสรรรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งความจริงก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพธรรมตรงตามความจริง ก็เลยทำให้เกิดความลำเอียงขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ก็จะดับความลำเอียงได้เป็นสมุจเฉท
ถ. ความตระหนี่
สุ. ก็เป็นกิเลสอีกเหมือนกัน เป็นความติดในวัตถุ ไม่สามารถจะสละให้ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของกิเลสที่สะสมไป ก็สามารถที่จะจำแนก หรือประมาณบุคคลนั้นๆ ให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต่างๆ กันไปได้
ถ. สมมติว่า เราเดินไปข้างหน้า ก้าวไปเรื่อยๆ และเห็นว่าข้างหน้านี้มีมด เราก้าวไปเกือบๆ จะเหยียบมด แต่เราก็ก้าวขายาวออกไปเพื่อไม่ให้เหยียบ ขณะที่ก้าวขายาวออกไปก็รู้ว่า เป็นจิตที่เคยอบรมเป็นกุศลขั้นศีล รู้เพียงว่า จิตที่เคยอบรมนี้เป็นกุศลจิต เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะนั้นจะมีศีลสังวร มีสุจริต ๓ มีสติปัฏฐาน มีโพชฌงค์ในจิตขณะนั้นด้วยกันหรือเปล่า
สุ. ไม่จำเป็นที่จะจำแนกออกไปว่า ขณะนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สังวรแล้วที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อสังวรแล้ว ไม่เป็นทุจริตใช่ไหม เป็นศีลแล้ว แต่ถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งแทงตลอด บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ขณะนั้นก็จะยังไม่ถึงโพชฌงค์ แต่ก็เป็นการน้อมไป สะสมไปทีละขณะ สองขณะ จนกว่าจะถึง
อุปมาเหมือนกับการที่จะยกเสาหนักๆ ต้นหนึ่งให้ตั้งขึ้น ต้องอาศัยคนหลายๆ คนช่วยกัน เวลาที่ยกเสาเสร็จแล้ว จะบอกได้ไหมว่า คนนี้คนเดียวเป็นคนยก ในเมื่อต้องช่วยกันหลายๆ คน เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมสติปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จะขาดสุจริต จะขาดธรรมประการอื่นๆ มาเกื้อกูลไม่ได้เลย และการที่แต่ละคนหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มากนั้น ก็เพราะกิเลสมีกำลัง จึงได้หลงลืม
ถ. มีธรรมข้อใดเป็นยารักษาแก้โรคฟุ้งซ่าน ที่ทำให้ปวดศีรษะได้บ้าง
สุ. มีหลายท่านที่เข้าใจว่า ธรรมจะมีผลเหมือนยาเม็ดรักษาโรค ธรรมสักข้อหนึ่งเท่ากับยาเม็ดชนิดหนึ่ง อีกข้อหนึ่งก็เป็นยาเม็ดอีกชนิดหนึ่ง รักษาโรคต่างๆ ชนิดแต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น
การที่จะได้รับผลจริงๆ จากพระธรรม คือ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่า ทำบุญเสียแล้วก็จะหาย ไม่ใช่เหมือนกับการรับประทานยา เป็นชุดๆ หรือว่าเป็นโรคๆ ว่า โรคนี้ใช้ธรรมข้อนั้น โรคนั้นใช้ธรรมข้อนี้
การที่ท่านจะได้รับประโยชน์จากธรรมจริงๆ ต้องเกิดจากการเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าท่านเห็นว่าธรรมมีประโยชน์แน่ ทำให้ท่านสามารถเข้าใจในเรื่องของธรรม ในเรื่องของชีวิต ในเรื่องของตัวท่านถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง เมื่อปัญญาเกิดขึ้น กิเลสย่อมจะละคลายเบาบางลง แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด จะไม่มีธรรมข้อใดที่สามารถจะรักษาโรคต่างๆ ได้
หากท่านหวังจะรักษาโรคจริงๆ ถ้าเป็นโรคทางกาย ก็ควรจะเป็นยาที่รักษาโรคทางกาย ไปหาหมอ ปรึกษาแพทย์ รับประทานยา แต่ถ้าท่านรู้ว่าเกิดเพราะจิต และธรรมจะช่วยได้ ประโยชน์ของธรรม คือ เมื่อท่านได้เข้าใจธรรมนั้นถูกต้องละเอียดยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าใจ เพียงแต่คิดว่า ธรรมข้อนั้นจะรักษาโรคได้โดยที่ไม่ได้เข้าใจ ธรรมนั้นจะไม่มีประโยชน์แก่ใครเลย
ถ. บุญที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ขณะที่ยังไม่ให้ผล อยู่ที่ไหน หรือจะไม่ให้ผลเลย ถ้าจะให้ผล ชาติไหน
สุ. บุญ หมายความถึงกุศลธรรม กุศลจิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป อย่างที่ท่านทำบุญเมื่อวานนี้ ก็เป็นเมื่อวานนี้ ทำไปแล้ว เสร็จไปแล้ว จิตที่ทำบุญที่เป็นกุศลจิตดับไปแล้ว และจิตอื่นก็เกิดสืบต่อ มากมาย
แต่ว่าจิตที่เป็นเหตุ ที่เป็นเจตนาที่จะสละวัตถุให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นกุศลเจตนา เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตภายหลังที่เกิดต่อ เป็นจิตที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รู้โผฏฐัพพะต่างๆ ที่ดี ขณะนั้นเป็นผลของบุญ ซึ่งแล้วแต่ว่าบุญที่ท่านทำนั้น จะให้ผลในชาตินี้ หรือว่าในชาติหน้า หรือว่าในชาติต่อจากชาติหน้าไป ก็เป็นเรื่องของเหตุ คือ บุญที่ได้กระทำไว้ พร้อมเมื่อไรก็ให้ผลเมื่อนั้น
ท่านไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า ขณะที่ท่านได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีในขณะนี้เป็นผลของบุญอะไร ทำไว้เมื่อไร ชาตินี้ หรือชาติไหน ไม่มีบุคคลใดสามารถจะหยั่งรู้ได้
ถ. ความอาย จัดอยู่ในประเภทไหน
สุ. ถ้าไม่เจริญสติจะทราบได้ไหมว่า อาย บางคนจะทำบุญก็อาย บางคนจะพูดว่าอนุโมทนาก็อาย บางคนระลึกถึงอกุศลแล้วรังเกียจเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรอาย ไม่ควรที่จะทำ ไม่ทราบว่าที่ว่าอายนี้อายอะไร อายบุญ หรือว่าอายบาป หรือว่าอย่างไร ท่านผู้ฟังยกตัวอย่างว่า ไปในงานเลี้ยงเขาเชิญร้องเพลง ก็อาย ไม่กล้าร้องนั่นไม่ใช่กุศลจิต กุศลจิตต้องเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา นอกจากนี้แล้ว เป็นอกุศล
ท่านผู้ฟังบอกว่า ร้องเพลงในงานกุศล บำรุงการกุศลอย่างนั้นหรือ
ตามความเป็นจริง สติควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น เป็นความกระดาก เป็นความไม่กล้าที่จะกระทำ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะหัวเราะ หรือคิดถึงตนเองในทางที่น่าขบขันต่างๆ ก็เป็นการรักตัว สภาพของจิตเป็นสภาพที่ละเอียดมากเกินกว่าที่จะตอบกว้างๆ ซึ่งต้องแล้วแต่ความจริงในขณะนั้น บุคคลนั้นเป็นใคร และสภาพของจิตในขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน
อย่างบางคนอาจร้องเพลงเก่งตอนเป็นเด็ก แต่พอโตขึ้น ศึกษาพระธรรมบ้าง ก็เห็นว่าการร้องเพลงเสมือนการร้องไห้ของบรรพชิต บรรพชิตร้องเพลงไม่ได้เลย ถ้าพระภิกษุท่านร้องเพลง สภาพของท่านจะเหมือนกับการร้องไห้ เพราะไม่ควรแก่สมณะ นั่นเป็นเรื่องของบรรพชิต แต่ถ้าบุคคลนั้นพยายามที่จะละกิเลสของตัวเอง ไม่ร้อง เพราะรู้ว่า ไม่ต้องการที่จะให้กิเลสของตนเอง เป็นไปด้วยความเพลิดเพลินในเสียงของตัวเอง
ถ. นางวิสาขา
สุ. นางวิสาขาเป็นนางวิสาขา ไม่ใช่เป็นคนอื่น แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่คนหนึ่งเกิดโสมนัส ลองดูอากัปกิริยาว่าเหมือนกันไหม ถ้าดีใจมากๆ นางวิสาขาร้องเพลง คนอื่นร้องด้วยหรือเปล่า ก็ไม่เหมือนกัน
มีโสมนัสได้เป็นกุศลก็ได้ มีโสมนัสได้เป็นอกุศลก็ได้ ถ้าเป็นอกุศลโสมนัส สติเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลโสมนัสแล้วก็ดับไป ขณะใดที่รู้ความจริงก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม แต่ถ้าไม่รู้ความจริงก็เดือดร้อน
ถ. คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วนั้น สงสัยว่าบางคนทำชั่วในปัจจุบัน ทำความเดือดร้อนแก่มนุษย์ทุกหย่อมหญ้า แต่ทำไมเขาได้ดี แต่บางคนอยู่ในศีล ๕ ประจำ รักษาอุโบสถศีลประจำ ใส่บาตร ทำบุญ แต่ทำไมตกทุกข์ได้ยาก เพราะเหตุไร อยากจะทราบผลของกรรม
สุ. อยากจะทราบผลกรรมในอดีตที่เป็นปัจจัยทำให้ทุกข์ยากในปัจจุบัน ต้องอาศัยพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทราบได้ คนอื่นบอกไม่ได้เลย
วันหนึ่ง ๆ คงจะไม่มีใครที่ตลอดชีวิตนี้มีแต่กุศลกรรม อกุศลกรรมก็ต้องมีบ้างในสังสารวัฏฏ์ฎ์ที่ยาวนานนับไม่ถ้วน แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ระลึกไม่จบสิ้นในปฐมยาม ใครจะรู้ว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลทุกข์ยากในปัจจุบันนี้มาจากอดีตกรรมอะไร เป็นผลของอดีตกรรมอะไร แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามเข้าใจว่า กรรมดีให้ผลไม่ดี กรรมชั่วให้ผลดี ผู้นั้นไม่ตรงต่อเหตุผล ผู้นั้นไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะว่าเข้าใจธรรมผิด แม้ในเบื้องต้น
เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาด้วยความมั่นใจว่า ท่านเชื่อจริงๆ หรือว่า อกุศลกรรมให้ผลดี กุศลกรรมให้ผลไม่ดี ถ้าปัญญาของท่านเองไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจปัญหานี้ได้ชัดเจน ก็ควรจะศึกษาจากพระธรรม
ต่อไปเป็นเรื่องของสิกขาบท ศีลข้อที่ ๒ คือ อทินนาทานา เวรมณี การงดเว้น ละเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ในคราวก่อนกล่าวถึงปาณาติบาต เป็นเจตนาที่จะทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งไม่ควรจะกระทำอย่างยิ่ง เพราะว่าทุกคนย่อมรักชีวิตมากที่สุด และต่อจากชีวิต สิ่งที่ยึดมั่นมากที่สุด ก็เป็นการยึดมั่นติดข้องในวัตถุ ในโภคสมบัติ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต อำนวยความสุข ความสะดวกสบายให้กับชีวิต เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ท่านก็จะมีความยึดมั่น ติดข้อง พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อยสักแค่ไหน