ปกิณณกธรรม ตอนที่ 130
ตอนที่ ๑๓๐
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ เรื่องกิจของจิตก็จะแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งปิดบังไม่ให้เห็นความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ
ถ้าทุกคนจะเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่า ทำไมจะต้องรู้เรื่องของปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาธรรมแล้วก็มีการคิดพิจารณา ก็จะทำให้ตรงจุดประสงค์จริงๆ ว่า ทำไมจึงต้องรู้ เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่าไม่รู้ได้ไหม ไม่ต้องจำได้ไหม ก็ให้รู้แต่เพียงว่ามีนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างเท่านี้ก็พอ แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ความจริงไม่พอ ยิ่งรู้มาก ยิ่งเข้าใจมาก ก็จะทำให้เกื้อกูลเป็นสังขารขันธ์ ที่เมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจในขั้นของการฟังเพียงพอ ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าทุกคนเวลานี้ก็ชินกับคำว่า นามธรรม และรูปธรรม ชินกับคำว่า จิต เจตสิก รูป แล้วก็รู้ด้วยว่าตลอดชีวิตไม่มีอะไร นอกจากจิต เจตสิก รูป กำลังเห็นก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ ศึกษามาก็รู้ว่า เป็นรูป แล้วขณะที่กำลังเห็น สภาพเห็น ศึกษามาก็รู้ว่า เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ แต่ละอะไร เพียงรู้เท่านี้ ไม่สามารถที่จะละอะไรได้ เพราะเหตุว่าเพียงฟัง เพียงเข้าใจคำ คือเข้าใจเรื่อง แต่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม คือ ไม่รู้ตัวจริงของธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องธรรม แล้วก็เข้าใจเรื่อง แต่ตัวจริงในขณะนี้กำลังเห็น ถ้าจะรู้ว่า เห็นขณะนี้เป็นเพียงธาตุรู้ นั่นคือรู้จักตัวจริง
จุดประสงค์ของการฟัง แม้แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนะ เป็นจิตที่มีจริง แล้วก็เป็นวิถีจิตแรกซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ แต่ว่ายังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ก็จะทำให้เข้าถึงความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่อให้คนฟังน้อมเห็นความเป็นอนัตตาว่า ทันทีที่รูปกระทบตา กระทบกับภวังค์ แล้วก็เป็นอดีตภวังค์ เมื่อดับไปแล้ว เป็นภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้ว เป็นภวังคุปัจเฉทะ ก็ยังเห็นทันทีไม่ได้ ยังจะต้องมีวิถีจิตขณะแรกซึ่งเกิดอย่างรวดเร็ว แล้วก็รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดแล้วก็ดับ นี่คือในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ค่อยๆ จำไป เพื่อที่จะได้ประกอบความเห็นว่า เป็นอนัตตา จนกว่าเมื่อสติระลึกแล้ว ก็สามารถที่จะหยั่งลงถึงสภาพที่เป็นอนัตตาของรูปธรรม และนามธรรมได้ เพราะเห ตุว่าถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏโดยขั้นการฟัง อวิชชาไม่สามารถที่จะเข้าถึงสภาพของปรมัตถ์ จนกว่าสติจะระลึกแล้วก็ความรู้ที่อาศัยจากการฟังจะเกื้อกูลทำให้สามารถที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ไปนั่งๆ แล้วก็คิดว่า ประเดี๋ยวก็จะเกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้
แม้แต่เพียงวันหนึ่งๆ ซึ่งเราเห็นก็ขอให้ทราบว่า หลังจากภวังคุปัจเฉทะซึ่งไม่ใช่วิถีจิตแล้ว วิถีจิตขณะแรกที่เริ่มทางทวารหนึ่งทวารใด เป็นวิถีจิตแรกนั้นต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน
ผู้ฟัง ถ้ามีปัญญาก็ตรึก ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา
ท่านอาจารย์ ที่ได้ยิน เราต้องพยายามเข้าใจให้ตรง เพราะว่าถ้าเราเพียงแต่ได้ยินแล้วก็พูดตามไป เราก็อาจไม่ทราบว่าเราคนหนึ่งที่ได้พูดตามไปโดยที่ยังไม่ได้เข้าใจชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ขอเรียนให้ทราบว่าทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าในขณะนี้เรากำลังพูดถึง อย่างที่ท่านผู้ฟังพูดถึงเรื่องทุกขลักษณะ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ที่เรากำลังพูดถึงเรื่องปฏิสนธิจิต ภวังคจิต แล้วก็อดีตภวังค์ เวลาที่อารมณ์กระทบ แล้วก็ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉท จนถึงปัญจทวาราวัชชนะ เพื่อที่จะให้เราเห็นความจริงว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยขั้นการฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วก็การที่เราไม่เคยได้ยิน คำว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” มาก่อนทำให้บางคนไม่อยากที่จะจำคำนี้ แล้วบอกว่าอายุมากแล้วไม่ชอบคำภาษาบาลี ท่องไม่เป็น คือมีเหตุผลหลายอย่างทีเดียวที่จะไม่เข้าใจสภาพของจิต
ที่ใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนะ ไม่ได้มุ่งหมายให้ท่านผู้ฟังไปท่อง ไปจำ แต่มุ่งหมายให้เข้าใจลักษณะของจิต ในการที่จากภวังคจิต แล้วก็จะมีการที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนี้
การศึกษาธรรม ที่จะรู้ทุกขลักษณะ ไม่พ้นจากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคำอะไรที่จะใช้ เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมจนเห็นความเป็นอนัตตา โดยเป็นสัจจญาณ แน่ใจจริงๆ ว่าทุกขลักษณะไม่ใช่ขณะอื่น อย่างพูดถึงเรื่องภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ประจักษ์แจ้ง พูดถึงเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต ก็มีจริงๆ แต่ไม่สามารถที่จะรู้สภาพของปัญจทวาราวัชชนจิตได้ แม้เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ทราบเวลานี้ท่านผู้ฟัง ไม่ต้องท่อง แล้วก็จำได้หรือยัง
นี่คือจุดประสงค์ที่จะให้ทุกคนเรียนไปพร้อมๆ กัน โดยเข้าใจลักษณะของสภาพของจิตนี้ แล้วก็จะเป็นเหตุที่ทำให้จำชื่อไปเอง โดยที่ไม่ต้องท่อง อย่างปัญจ ก็ ๕ ทุกคนก็คงจะไม่มีปัญหา นับเป็นภาษาบาลี ปัญจ ก็คือ ๕ ทวาร คือประตู แล้วอาวัชชนะ อีกคำเดียวเท่านั้นเอง แล้วต่อจากนี้ก็จะเห็นว่า ภาษาบาลีนั้นไม่เกินความสามารถที่จะจำถ้าชินหู อย่างปัญจทวาราวัชชนะ วันนี้เอาแค่นี้ อาทิตย์หน้าคิดว่ามีคนจะลืมไหม ตั้งต้นด้วย ปัญจทวาร ซึ่งไม่ใช่จิต ต้องเข้าใจความละเอียดด้วยว่า ปัญจทวารไม่ใช่จิต แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก ต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ก่อนที่วิบากจิตจะเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมโดย ต้องเห็น
การที่เรากำลังเห็น คงจะไม่ทราบว่าต้องเห็น เพราะว่าเป็นวิบาก กรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมด้วยปัจจัยสุกงอมที่จะให้เกิดผล คือวิบากจิตประเภทใดเกิด วิบากจิตประเภทนั้นก็เกิด คนที่กำลังหลับสนิท ไม่ได้ยินเสียงที่ตกใจน่ากลัว อีกคนหนึ่งวิบากทำให้ต้องได้ยินเสียงนั้นจึงตื่น ไม่ตื่นก็ไม่ได้ จะหลับก็เป็นผลของกรรม ที่ไม่ต้องได้เห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น ผลของกรรมทำให้หลับ เวลาที่จะตื่นก็ผลของกรรมอีก
ถ้าใครนอนไม่หลับก็ทราบได้เลยว่า ทำอะไรได้ไหมในเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตกระทบสิ่งที่อ่อน ที่แข็ง เป็นที่นอน หรือว่าจะมีกลิ่นปรากฏ มีเสียงปรากฏเหล่านี้ หรือว่าจิตคิดนึก แม้ว่าจะไม่ใช่วิบากจิต แต่ก็เป็นการสะสมของกิเลสบ้าง กุศลบ้าง ที่ทำให้มีการตรึกนึกคิดไปเป็นเพราะปัจจัยหนึ่งซึ่งมีกำลัง อย่างคำว่า อุป แปลว่า มั่น ก็ได้ หรือว่าใกล้ก็ได้ ใช่ไหม
อ.สมพร ใกล้ก็ได้ แล้วหมายความว่า มั่น โดยอรรถแล้ว หมายถึงว่ามีกำลัง คือมั่นคง ถ้าใกล้ก็หมายความว่าใกล้ชิด ใกล้ชิดที่สุดเลย
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังก็อาจจะเพิ่มคำภาษาบาลี อย่างภาษาไทยเราเคยใช้คำว่า “อุปนิสัย” คนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร แสดงว่าเขาสะสมมาจนมีกำลังทำให้ปรากฏการสะสมนั้นๆ อย่างคนตระหนี่ เป็นคนที่สะสมความตระหนี่ เป็นการสะสมที่มีกำลังทำให้เขาไม่สามารถที่จะบริจาคได้ หรือคนที่โกรธบ่อยๆ ก็สะสมมาจนกระทั่งมาเป็นคนที่เจ้าโทสะ อาการของการสะสมที่มีกำลังก็ปรากฏทำให้เขานอนไม่หลับ เป็นโลภะ เป็นโทสะ เพราะสะสมมาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่จะคิดเรื่องนั้นในขณะนั้น เราก็จะรู้ว่านอนไม่หลับเพราะอะไร เพราะวิบาก หรือว่าเพราะอุปนิสสยปัจจัย คือการสะสมกำลังของเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ทำให้ต้องคิดเรื่องนั้น ที่ทำให้นอนไม่หลับ ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตทุกขณะจิต ซึ่งทุกคนมองไม่เห็นเลย สภาพที่ทุกคนมองเห็นก็คือว่า เห็นโดยสมมติบัญญัติว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของ แต่ลึกลงไป หรือว่า เบื้องหลังของสิ่งที่เราเห็น คือปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ที่เรามาบัญญัติว่านอนไม่หลับ จะเป็นเพราะเหตุว่าภวังคจิตไม่ได้เกิดยาวนาน แต่ว่ามีวิบากที่จะต้องกระทบแข็ง กระทบเสียง ที่ทำให้คนนั้นนอนไม่หลับ หรือมิฉะนั้นก็มีปัจจัยอื่นที่มีกำลังที่สะสมมาที่จะทำให้ตรึกไปนึกคิดไปในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรามองเห็นว่าถาวรมั่นคงเป็นคน เป็นสัตว์ แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพเพียงจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับ จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมายหลายประเภท อย่างวิบากจิตต้องอาศัยกรรมเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากนั้นๆ จะเกิดกับบุคคลนั้นไม่ได้ แต่ว่าอัธยาศัย คือ การคิดมาก หรือว่าการเป็นผู้ที่มีโทสะ ความพยาบาท หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นการสะสม ซึ่งเป็นอุปนิสัย เพียงแต่กล่าวถึงให้เห็นว่าจิตจะเกิดก็ต้องมีปัจจัยไม่ว่าจะหลับ จะตื่น ทุกขณะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร
ถ้าจะเข้าใจเรื่องของจิต ไม่ต้องอาศัยอื่นเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สามารถที่จะกล่าวถึงจิตโดยนัยต่างๆ ตามพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด เพราะเหตุว่าจะกล่าวถึงโดยนัยของปัจจัยก็ได้ หรือว่าโดยประเภทของจิต แต่ทั้งหมดเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ภาษาบาลีนั้นเป็นเพียงคำที่ใช้แทนสภาพธรรมที่จะให้เราเข้าใจธรรมให้ถูกต้องว่า มีจิตหลายประเภท แล้วจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเป็นภวังคจิต เป็นปฏิสนธิ เป็นจุติ
ผู้ฟัง ขณะนี้ใครจะมีอาวัชชนจิตนี้ได้ไหม แบบคราวที่แล้วได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นก็ต้องมีก่อน
ผู้ฟัง ใครบ้างที่จะมีอาวัชชนจิตเกิดขึ้น อะไรอย่างนี้ พอจะนำมาพิสูจน์ ภวังคจิตได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าทุกคนจะเข้าใจปัญจทวาราวัชชนจิตแล้ว ก็ต้องทราบว่า ขณะที่เห็นต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน หรือขณะที่กำลังได้ยินก็ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง ก่อนได้ยิน ก่อนเห็น จะต้องมีอาวัชชนจิตก่อน
ท่านอาจารย์ แน่นอน ทางทวารทั้ง ๕ จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง อันนี้เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเลยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เฉพาะทางทวารทั้ง ๕
ผู้ฟัง เว้นไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตอย่าเพิ่งเกิดนะ ให้จักขุวิญญาณจิตเกิดก่อน ไม่ได้
อาวัชชนจิตมีสองดวง มี ๒ ชื่อ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และ มโนทวาราวัชชนจิตอีก ๑ เพราะเหตุว่าทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิตมี ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัญจทวาร
ผู้ฟัง ส่วนทางมโน นั้นเรียก มโนทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง เจตสิกประกอบไม่เท่ากัน ทำหน้าที่อาวัชชนะเฉพาะทางมโนทวาร แต่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เพราะเหตุว่าจิตนี้มีเจตสิกมากกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต
เช่นอย่างคำว่า “ทวาร” ก็เป็นทาง แล้วก็มีถึง ๖ ทาง ใช่ไหม แต่ที่เราชินหูก็คือ ปัญจทวาร ได้แก่ ตาเป็นรูป ทวารนี้เป็นรูป ถ้าเป็น ๕ ทาง ทวารมี ๖ จริง แต่ว่าเป็นรูป ๕ ทวาร แล้วก็เป็นนาม ๑ ทวาร
ตา จักขุปสาท เป็นรูปซึ่งไม่เห็น แต่เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา โสตทวารก็คือประสาทหู หรือโสตปสาทซึ่งเป็นรูป ถ้าเวลาที่เสียงกระทบโสตปสาท ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตรู้เสียง แล้วแต่ว่าจะมีวิถีจิตกี่ขณะที่เกิดขึ้นรู้เสียง แต่ให้ทราบว่าในบรรดาทวาร ๖ นั้น เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร คือ ทวาร ได้แก่ ทาง จะไปคิดเกินกว่านี้ไม่ได้ จะว่าเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณก็ไม่ได้ เพราะทวารเป็นทาง
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า ทางมีกี่ทาง ทางมี ๖ ทาง ก็แยกเป็นรูป ๕ ทาง เป็นปัญจทวารที่เป็นรูป แล้วก็เป็นนาม ๑ ทาง ก็เป็นมโนทวาร
ถ้าเป็นนามที่เป็นมโนทวาร ก็ต้องได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเกิดก่อนวิถีจิต เพราะเราทราบแล้วว่าจิตแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถี เพราะฉะนั้น ก่อนวิถีจิตจะเกิด ก็ต้องมีทางที่วิถีจิตจะเกิด ถ้าเป็นจักขุทวาร เป็นรูป กระทบกับสี แล้วก็กระทบกับภวังค์ แต่ว่าวิถีจิตที่เกิดรู้สีที่ปรากฏทางตา ที่กระทบตา จึงไม่ได้อาศัยมโนทวาร แต่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร ถ้าจักขุปสาทดับ ไม่เกิด ไม่มีทางที่สีจะปรากฏ เพราะฉะนั้น เราจึงเข้าใจความหมายของจักขุทวาร เป็นรูป ซึ่งเป็นทางที่ให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เป็นทาง ไม่ใช่เป็นจิตเพราะเหตุว่าใช้คำว่าจักขุทวาร หมายความถึงทวารตา หรือตา จักขุปสาทเป็นทางที่จะให้จิตเกิด ทวารที่เป็นจักขุนั้นเป็นรูป
เราก็ต้องไม่เกินเลยขอบเขตความรู้ภาษาบาลีของเรา แม้เล็กน้อยก็ต้องตรง แต่พอเป็นจักขุวิญญาณไม่ได้ใช้คำว่าทวาร แต่ใช้คำว่าวิญญาณ เพราะฉะนั้น ก็ต้องหมายความถึงจิตซึ่งเป็นสภาพที่อาศัยจักขุเกิดขึ้นทำกิจเห็น
ค่อยๆ เรียนภาษาบาลีไปทีละนิดทีละหน่อย โดยที่ก็คงจะไม่คลาดเคลื่อน ถ้าเราจะเข้าใจคำภาษาบาลีโดยที่ไม่สับสน อย่างคำว่าทวาร ก็ต้องรู้ว่า ทวารนี้คือทางแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น ๕ ทางที่เป็นรูป ก็เป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร อีกทวารหนึ่งซึ่งเป็นนามต้องมีทางที่วิถีจิตจะเกิด และวิถีจิตนั้นต้องอาศัยภวังคุปัจเฉทะซึ่งดับไปก่อนเป็นทาง วิถีจิตแรกคือมโนทวารวัชชนจิตจึงเกิด
เพราะฉะนั้น แยกเป็นมโนทวาร มโนทวาราวัชชนะ
ผู้ฟัง อันนี้หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้เป็นวิถีจิตที่ ๑ ใช่ไหม ตามที่ปัญจทวาราวัชชนะ
ท่านอาจารย์ ถ้าทางมโนทวารแล้วเป็นวิถีจิตแรก คือ วิถีจิตแรกจะพ้นจากอาวัชชนะไม่ได้ ถ้าเป็นปัญจทวารก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นมโนทวารก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง ที่ ๑ เหมือนกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรกหลังจากภวังคุปัจเฉทะดับ คือ มีคำซึ่งใช้กันมานาน บางคนก็บอกว่าชาวบ้าน สติชาวบ้านบ้าง อะไรชาวบ้านบ้างจริงๆ แล้วไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ว่า กว่าจะประจักษ์สภาพธรรมหรือกว่าจะเข้าใจได้ก็แสนจะยาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องใช้คำที่ตรง ที่จะกันไม่ให้เข้าใจผิดหรือว่าใช้คำผิดๆ แล้วคนอื่นก็คิดอย่างนั้นด้วย อย่างจิตตกภวังค์ เป็นอย่างไร ตก ตกมาจากไหน จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ เวลาที่จิตดับ มีปัจจัยในจิตที่ดับไปแล้วนั้นทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าพูดอย่างนี้จะไม่เห็นอาการตก หรืออาการขึ้น หรืออาการลงเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยหนึ่งซึ่งชื่อว่า อนันตรปัจจัย ซึ่งรูปไม่มี เฉพาะนามธรรมเท่านั้นที่มีอนันตรปัจจัย หรือเป็นอนันตรปัจจัย ซึ่งเมื่อจิตนั้นดับจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น
ผู้ฟัง ในเรื่องที่เราได้สนทนากันไปแล้ว ก็มาถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตที่ ๑ ทางปัญจทวาร ลำดับต่อไปที่เราจะสนทนากัน จะเป็นเรื่องของวิถีจิตที่ ๒ ทางปัญจทวาร ซึ่งเมื่อวิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๒ เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อทันที คือ ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อมาถึงตรงนี้ ดิฉันก็ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ “ทวิปัญจวิญญาณจิต” ช่วยกรุณาให้ความหมายของทวิปัญจวิญญาณ ว่าทำไมถึงมีทั้งคำว่า ทวิ ทั้ง ปัญจ ทั้ง วิญญาณ
อ.สมพร ทวิปัญจวิญญาณ ความหมายก็ตรงตัว ภาษาบาลี
ทวิ แปลว่า ๒
ปัญจ แปลว่า ๕
วิญญาณ ๕ ทั้ง ๒ คือ ๒ พวก
พวก ๑ เกิดจากกุศล เรียกว่า กุศลวิบาก
อีกพวก ๑ เกิดจากอกุศล เรียกว่า อกุศลวิบาก
คำว่า ๕ ก็เป็น สอง ห้า ก็เป็นสิบ ท่านเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ เป็นจิต ๑๐ ดวง
ผู้ฟัง ก็ตกลงว่า ทวิ หมายถึง ๒ ปัญจ ๕ วิญญาณ กับจิตก็ความหมายเดียวกัน คือ ทั้ง ๒ พวก ละ ๕ ก็เลยรวมเป็น ๑๐
มีกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก แสดงว่าจิตนี้จะต้องมีเป็นคู่ๆ ใช่ไหม แล้วที่ว่าเป็นวิบาก ก็ต้องแสดงว่าเป็นผลของกรรม
ท่านอาจารย์ ที่จริงเรื่องของการศึกษาธรรมเพื่อประโยชน์จริงๆ เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วบางท่านอาจจะรู้สึกว่า ภาษาบาลีมาก เดี๋ยวก็มี วิถีจิต ภวังคจิต จักขุวิญญาณ ทวิวิญญาณจิต บางคนก็รู้สึกว่าแย่แล้ว ต้องจำกันมากมายเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราทราบจุดประสงค์ว่า ที่เราฟังเรื่องของจิตก็เพื่อที่จะให้เข้าใจจิตซึ่งเป็นสภาพที่แม้มีจริงแต่ก็รู้ยาก แล้วบางท่านก็อาจจะคิดว่า วนไปเวียนมาอย่างนี้เมื่อไรจะจบ หรือว่าเมื่อไรจะถึงไหน แต่ความจริงทุกวัน ก็คือเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราจะจบชื่อ แต่เราจะพยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อเข้าใจแล้ว เรื่องภาษาบาลีเป็นเรื่องที่จะติดตามมาภายหลัง
เราจะไม่พยายามตั้งหลักเป็นภาษาบาลีแล้วก็อธิบาย แต่พยายามจะให้เข้าใจสภาพธรรม แล้วเมื่อเข้าใจสภาพธรรมแล้วก็ค่อยๆ จำภาษาบาลีไปเอง
สำหรับเรื่องของทวิปัญจวิญญาณ ถ้าพูดโดยชื่อ จะเร็วมากทีเดียว คือมีจักขุวิญญาณจิต เห็น เป็นกุศลวิบาก ๑ เป็นอกุศลวิบาก ๑ แล้วก็เชื่อมโยงไปว่ามาจากกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณที่เห็นก็เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าพูดอย่างนี้จะจบเร็วโดยชื่อ