แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366


สุ. ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน มีรูป ๒๗ รูปรวมกัน เวลาที่สติจะระลึกรู้ จะระลึกรู้รูปได้ทีละลักษณะ

ถ้าระลึกรู้รูปที่ปรากฏทางตา เป็น ๑ ใน ๒๘ รูป ระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏทางหู เป็น ๑ ใน ๒๘ รูป ระลึกรู้ลักษณะที่กายที่ปรากฏ จะอ่อนหรือจะแข็ง จะเย็นหรือจะร้อน จะตึงหรือจะไหว ก็เป็นลักษณะของมหาภูตรูป แต่ต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ และอยู่ในรูป ๒๘ รูป

ถ. อาจารย์บอกว่า ดูแต่ละรูป ทีละรูป ทีนี้อารมณ์ของวิปัสสนา หรืออารมณ์เวลาปฏิบัติ มหาภูตรูปออกมาได้อย่างไรแต่ละอย่าง ดิน น้ำ ไฟ ลมออกมาได้อย่างไร นึกเอาใช่ไหม

สุ. ทางกาย กำลังกระทบสัมผัส ทั่วทั้งตัวนี้ ที่จะปรากฏเกินลักษณะของอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวนั้นไม่มี ขอให้รู้ลักษณะที่ปรากฏที่กายจริงๆ ไม่ใช่นึกเอา นั่นเป็นลักษณะของรูปที่มีจริง ลักษณะใดก็ตามที่ปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของรูปที่มีจริง จึงมีลักษณะปรากฏให้รู้ เมื่อปรากฏแล้ว และดับไปด้วย หมดไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงต้องระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ เพื่อจะได้เห็นว่า ที่เคยหลงยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงอ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหว ที่กายเท่านั้นที่ปรากฏ

ถ. คราวนี้เข้าใจดี เพราะว่าอาจารย์กันออกไปเสียไม่ให้ใช้รูปรวม อาจารย์กำลังสอนเรื่องทำลายฆนสัญญาอยู่ เรื่องอนัตตา อาจารย์มีวิธีการ วิธีอธิบาย กลวิธีต่างๆ เพื่อนำมาสู่ความเข้าใจของพวกเรา ให้เห็นว่าต้องทำลายฆนสัญญา จึงจะเห็นอนัตตา ที่ผมว่าเข้าใจนั้น คือ อาจารย์ไม่ให้ใช้อารมณ์ยืน อารมณ์รูปยืน แต่ให้ใช้อารมณ์ที่มีแต่ละลักษณะ นี่ผมซ้อมความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ยืนนี้ ให้ไประลึกรู้ตรงเคร่งหรือตึง เพราะไม่มีแข็ง ถ้านั่งก็มีอ่อน มีแข็ง ยืนนี่เคร่ง ตึง ไหว อาจารย์ไม่ยอมให้ใช้คำว่ารูปยืน เพราะว่าไม่มี ถ้ามีรูปยืน ก็ต้องมีรูป ๒๙ แต่อาจารย์บอกว่า รูปยืนนี้ดูอย่างไร ดูตึง ดูไหว ดูเคร่ง ซึ่งมีแต่ละลักษณะ

มีอาจารย์ต่างๆ ที่เราฟังกันอยู่นี้ ถ้าฟังผิวเผินหาว่าท่านสอนธรรมขัดกัน แต่ความจริงไม่ขัดกัน เพราะว่าทางจะไปนิพพานมีทางไป ๓ ทาง ใน ๓ ทาง แต่ละหนึ่งทางนั้นก็ต้องใช้สติปัฏฐาน ๔ ๓ ทางคืออะไร คือ สันตติปิดบังอนิจจัง ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา อิริยาบถปิดบังทุกข์ ถ้าผู้ใดเห็นอันหนึ่งอันใด ก็ถือว่าได้เห็นเหมือนกันหมด ซึ่งผมคิดเองว่า อาจารย์วางจุดสูงสุดขั้นนี้ เพียงให้เห็นกระแสนิพพาน คือ พระโสดาบัน พระโสดาบันเห็นอะไร เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันหนึ่งอันใด แวบเดียว เห็นทีเดียว

ส่วนอาจารย์บางกลุ่มบอกว่า ปิดบังทุกข์ ดูอิริยาบถสิ เห็นไหมไม่ขัดกัน เขาต้องการจะเพิกถอนให้เห็นทุกข์ ส่วนอาจารย์สุจินต์นั้นต้องการใช้ค้อนอาญาสิทธิ์ตี ฆนสัญญาให้แตก ด้วยการสอนให้รู้ว่าทุกๆ อิริยาบถ ทุกๆ ทวาร กระจายตา หู จมูก ลิ้น ออกหมดทีเดียว เมื่อออกหมด ฆนสัญญาก็แตกไป อาจารย์สุจินต์จึงได้พูดนักหนา อนัตตาๆ ทุกครั้งต้องมีอนัตตาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ครั้ง ทุกครั้งที่บรรยาย

อีกสายหนึ่ง สอนเรื่องสันตติปิดบังอนิจจัง ผมยังไม่เคยเรียน เคยแต่เรียน ๒ สายนั้นมา

เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ท่านสอน ท่านก็มีกลวิธีของท่านโดยพิสดาร แต่ว่าใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นพื้นฐานเหมือนกัน แต่ทั้ง ๓ ทางนี้ต่างก็ถึงพระนิพพานด้วยกันเพราะฉะนั้น เราฟัง เราต้องรู้ว่าท่านสอนเพื่ออะไร ท่านสอนเพื่อแยกตัวตน เรา เขา ออกไป ท่านพูดทุกวันๆ นี้ เพราะว่าท่านวางฐานไว้อย่างนั้น วางฐานเอาไว้เพื่อทำลายฆนสัญญาออกไป ทำลายตัวเราออกไป วิปลาสธรรม ๔ เห็นว่าเรา เห็นเป็นเรา เห็นว่าเป็นของเรา ต้องการตีอันนี้ให้แตกไป แต่บางที่เขาว่า อิริยาบถนี่ปิดบังทุกข์ เขาก็ไปสอน นั่ง นอน ยืน เดินของเขา เป็นเรื่องกลวิธี เขาจะหาวิธีบวกความเห็นของเขาเข้าไปด้วย เอาความเห็นของอาจารย์ใส่เข้าไปอย่างนี้ อย่างโน้น จ้องสิ ดูสิ ถ้าไม่ดูจะเห็นได้อย่างไร อิริยาบถปิดบังทุกข์ ทีนี้พวกเราทั้งหลาย เราศึกษาได้ทุกกลุ่มหมด แต่ขอให้เข้าใจว่า อาจารย์เขามีจุดมุ่งหมายจะไปอย่างไร ต้องรู้ทิศทางที่อาจารย์เขาจะไป แล้วเราเดินตามเขาไป เป็นอันว่าไม่ผิด ถึงจุดหมายปลายทาง คือ กระแสแห่งพระนิพพาน ผมเข้าใจอย่างนี้

สุ. ความจริงเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดิฉันเคยพูดทั้ง ๓ ไตรลักษณ์ที่ว่าเป็นทุกข์นั้น หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นทุกข์

ทุกขลักษณะนั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะทุกขเวทนา ความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้นแต่หมายความถึงแม้สุขเวทนา แม้อุเบกขาเวทนา แม้นามเห็น แม้นามได้ยิน แม้สี แม้เสียง แม้กลิ่น แม้รส แม้โผฏฐัพพะ แม้นามรูปใดๆ ทั้งปวงที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ดับไป และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น และดับไป

การที่จะรู้ทุกข์ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ คือ สภาพที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น อบรมเจริญอย่างไร

ถ. พูดตามหลัก ในสามัญลักษณะทั้ง ๓ อันนี้ รู้อันหนึ่งอันใด อีกอันก็รู้ด้วย จะแยกกันไม่ได้ เมื่อเป็นอนัตตา ก็ต้องเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เว้นแต่ว่า ในสามัญลักษณะนี้ อะไรเป็นอธิบดี จริตนะครับ ผมเชื่อร้อยเปอร์เซนต์เลย จริตและปัญญาที่เราอบรมมาในอดีตชาติ บางคนท่านจะเห็นในพระไตรปิฎกว่า สำเร็จโดยเห็นอนิจจัง พระอรหันต์บางองค์สำเร็จโดยเห็นอนัตตา พระอรหันต์บางองค์สำเร็จโดยเห็นทุกขัง

สุ. แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านเหล่านั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น อบรมเจริญอย่างไรที่จะแยกไปรู้ทุกข์ โดยไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา โดยไม่รู้ว่าเป็นอนิจจัง

ถ. ผมบอกแล้วว่า เรียนร่วมกันไป แต่ว่าอันใดเป็นอธิบดี

สุ. ยังไม่ได้พูดถึงอธิบดีหรืออะไรเลย คือ ถ้าไม่รู้ลักษณะว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม จะรู้ได้อย่างไรว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เมื่อไม่รู้อย่างนี้ จะประจักษ์ได้อย่างไรว่า อะไรเกิดขึ้น อะไรดับไป เมื่อไม่ประจักษ์ว่า อะไรเกิดขึ้น อะไรดับไป จะรู้ว่าเป็นทุกข์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะต้องเหมือนกัน คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยการที่สติระลึกรู้ แยกรู้ว่า ลักษณะใดบ้างเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ขั้นต้นต้องมีปัญญาที่สมบูรณ์ที่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของนามธรรมและรูปธรรมก่อน ไม่ใช่ไปรู้ทุกข์ก่อน

ถ. ผมเข้าใจแล้วที่อาจารย์ถาม ความจริงอาจารย์ถือคำ ถือพยัญชนะ อักขระเกินไป ผมพูดรวบๆ รวมๆ ไป ทำไมจะไม่รู้จักรูป ผมใช้เวลา ๑๓ ปี ผมไม่ใช่โดดไปนั่งจ้องดูว่า ทุกข์มันจะมาแล้วๆ ไม่ใช่เช่นนั้น ผมต้องเรียน ก.ไก่ เหมือนกัน

สุ. ช่วยให้ความรู้กับท่านที่นี่ด้วย ถึงการศึกษาและการปฏิบัติของท่าน

ถ. การศึกษามี ๑๘ อาจารย์ รวมทั้งอาจารย์สุจินต์ด้วย อาจารย์นี้ว่าอย่างนี้ อาจารย์นั้นว่าอย่างนั้น เราก็ประมวลว่า เราทำตามอาจารย์คนใดแล้ว สภาวะรับรองหรือไม่ ถ้าสภาวะรับรอง ก็ว่าอาจารย์คนนั้นพูดถูก เอาอะไรมาตัดสิน เอาสภาวะมาตัดสิน ถามว่า ผมปฏิบัติมานี้ประมาณ ๑๐๐ ครั้งเศษ หลายวัด หลายแห่ง ผลเป็นอย่างไร ผลไม่ได้ถึงรูปนามเกิดดับ หรือว่าสันตติขาด หรือว่าอุทยัพพยญาณ ไม่ถึงเลย อาจารย์ถามว่า ผมเป็นมาอย่างไร ผมเรียนแต่ละอาจารย์ คนนี้ว่าอย่างนี้ถูก คนนั้นว่าอย่างนั้นถูก เพราะฉะนั้น ผมตัดสินโดยเอาสภาวะเข้าไปจับ

สุ. นี่เป็นเรื่องที่ท่านกล่าวถึงบุคคลที่เป็นอาจารย์ แต่ดิฉันไม่ได้เรียนถามเรื่องนี้ ดิฉันเรียนถามว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร วิธีปฏิบัติที่จะเจริญปัญญาของท่านจนกระทั่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมสนญาณ ที่ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ท่านเจริญอบรมปฏิบัติอย่างไร ขอข้อประพฤติปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติเอง ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องกล่าวว่า ท่านเอามาจากท่านโน้น ท่านนี้ คือ ท่านปฏิบัติอย่างไร และผลเกิดอย่างไร

ถ. ก็ปฏิบัติอย่างที่อาจารย์สอนอยู่ทุกวันนี้

สุ. ช่วยบอกว่าทำอย่างไร

ถ. ประเดี๋ยวบอก บอกรวมเสียก่อนว่า อาจารย์สอนอยู่ทุกวันนี้คืออะไร อัดเทปไว้ ๓ - ๔ พันฟิต ของอาจารย์สุจินต์นี้เปิดเมื่อไรก็ได้ ผมมีเครื่องเล็กๆ อยู่เครื่องหนึ่ง ปฏิบัติตามอาจารย์อย่างไร คือ สิ่งซึ่งปรากฏขณะนั้น สติระลึกรู้ ทวารหนึ่งทวารใดก็ตาม ถ้าเสียงก็ระลึกรู้เสียง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปฏิบัติตามแนวของอาจารย์นี่แหละครับ

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเจริญสติ อบรม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แยกให้รู้ว่า เป็นนาม เป็นรูป เพราะฉะนั้น ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะรู้ ในสภาพรู้ ที่ใช้คำว่านาม หรือ นามะ หมายความว่า ขณะที่สติกำลังระลึก ปัญญารู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้น และเวลาที่ลักษณะของรูปใดปรากฏ ปัญญาก็รู้จริงๆ ในลักษณะของรูปที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงรูปที่ปรากฏเท่านั้น ทีละลักษณะ

อาทิตย์ก่อน ท่านผู้นี้ถามว่า ท่านตื่นขึ้นมาตอนดึก ตาก็ไม่เห็นอะไร หูก็ไม่ได้ยินอะไร จมูกก็ไม่ได้กลิ่นอะไร ลิ้นก็ไม่ได้ลิ้มรสอะไร ทางกายเย็นไม่มี ร้อนไม่มี แข็งไม่มี มีแต่อ่อนกับทางใจ และท่านก็สงสัยว่า ขณะที่มีแต่อ่อน ก็ให้รู้แต่อ่อนเท่านั้นหรือ อย่างนี้จะชื่อว่านามรูปปริจเฉทญาณได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เวลาที่เกิดความสงสัยขึ้น ให้ทราบว่า ไม่ใช่เป็นความรู้ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรม เพราะว่าตามความเป็นจริง เวลาที่สติระลึก ปัญญาเป็นความรู้ชัดในลักษณะของนามแต่ละลักษณะ ในลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏ

ที่ท่านกล่าวว่า ท่านตื่นมากลางดึก และมีแต่อ่อนปรากฏ ขณะนั้น ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ที่อบรม ที่เจริญแล้ว จะหวั่นไหวไหมที่ลักษณะนั้นปรากฏเพียงลักษณะเดียว ไม่มีลักษณะของรูปอื่นนามอื่นเลย

แต่ที่หวั่นไหว สงสัย เพราะว่าปัญญาไม่ได้อบรมเจริญที่จะเป็นความรู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้ และเป็นลักษณะของรูปอ่อนที่กำลังปรากฏเท่านั้น เป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาที่รู้จริงในขณะนั้น จะไม่สงสัยว่า จะทำอย่างไรต่อไป เพราะว่า แล้วแต่ลักษณะของรูปใดจะปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปนั้น ลักษณะของนามใดจะปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของนามนั้น

แต่เวลาที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้กระทบรส รู้เฉพาะอ่อนที่กำลังปรากฏ และสงสัยว่าจะทำอย่างไรต่อไป นั่นเยื่อใยเต็มใช่ไหม ต้องการนามอื่นรูปอื่นทันที แทนที่จะรู้ว่า ลักษณะของรูปใดปรากฏก็ปรากฏ เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปนั้นเท่านั้น

ซึ่งถ้าขณะนั้น มีเฉพาะลักษณะของนามนั้น ลักษณะของรูปนั้น ปรากฏทาง มโนทวารทีละลักษณะเท่านั้น ตัวตนไม่มี ท่าทางไม่มี สิ่งที่เคยเยื่อใยยึดถือโยงเอาไว้ไม่มี หมด ไม่มีอะไรเลย มีเฉพาะแต่ลักษณะของรูปเดียวปรากฏ และมีลักษณะของนามเดียวปรากฏ จะรู้ลึกอย่างไร

จะตกใจไหม หมดเลย ตัวตนไม่มี ท่าทางไม่มี เยื่อใยที่เคยยึดถือนามอื่นรูปอื่นในขณะนั้นไม่มี ไม่ปรากฏเลย มีแต่เฉพาะลักษณะของรูปเดียวเท่านั้น ซึ่งเลือกไม่ได้ด้วย จะเป็นอ่อนก็เป็นอ่อนที่ปรากฏ ไม่ได้กังวลห่วงใยถึงรูปอื่นนามอื่นเลย ในขณะนั้นปัญญาสมบูรณ์คมกล้าที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือเปล่า

แต่ถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์ ไม่รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรม เพียงรูปธรรมเท่านั้น โลกอื่นไม่มี ที่จะมาต่อ มาเชื่อม มาโยง มายึด มาถือ ให้เป็นเยื่อใยได้เลย ถ้าปัญญาไม่คมกล้าที่จะประจักษ์จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรม ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของรูปธรรม ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะหวั่นไหวทันที จะสงสัยทันที ว่าจะทำอย่างไร

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถึงอุทยัพพยญาณ เพียงนามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้น ไม่ต้องไปถึงการที่จะประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมเลยเพียงปัญญาที่จะประจักษ์ว่า ลักษณะที่ปรากฏเพียงลักษณะเดียวที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ไม่มีลักษณะอื่นรวมปนอยู่ด้วยเลยในที่นั้น หวั่นไหวไหมที่จะรู้อย่างนั้น อาจหาญไหมที่จะรู้ในลักษณะของอนัตตาที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เพราะเลือกไม่ได้

ถ้าขณะนั้นมีแต่อ่อนที่ปรากฏ ก็เพียงอ่อนที่ปรากฏ มีคิดนึกที่เป็นนามธรรมปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิดนึก แต่เมื่อยังสงสัย ยังหวั่นไหว มีความไม่รู้ จึงมีคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไร

ลองน้อมนึกไปถึงขณะนั้นจริงๆ ว่า มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรม มีความสงสัยในลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นบ้างไหม มีความต้องการนามอื่นรูปอื่นในขณะนั้นบ้างไหม

อีกประการหนึ่ง โดยมากท่านไม่ทราบว่า ที่ท่านผสมวิธีปฏิบัติต่างๆ นั้น เป็นเพราะอะไร

ซึ่งความจริงแล้ว เป็นเพราะว่า ท่านไม่รู้ลักษณะของตัณหา ความต้องการ ที่เปลี่ยนจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นความต้องการผลของการปฏิบัติ ท่านจึงได้พยายามผสมวิธีต่างๆ เพราะเข้าใจว่า เมื่อผสมแล้วจะทำให้บรรลุผลเร็วขึ้น

ท่านไม่ทราบว่า การเอาอย่างอื่นมาผสมนั้น จะปิดกั้นไม่ให้สติเกิดขึ้นระลึกทันทีที่ลักษณะของรูป ที่ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ เช่น การที่ท่านเอารูปรวม มานึกเป็นท่าเป็นทางและเข้าใจว่า ท่านละคลายการยึดถือในตัวตน เพราะรู้ว่าเป็นรูป ในขณะนั้น จะกั้นไม่ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้จริงๆ ตรงลักษณะของแต่ละรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมีหลายลักษณะต่างๆ กัน ปรากฏเกิดขึ้น และดับไป


หมายเลข  6669
ปรับปรุง  3 พ.ค. 2567