แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372


ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมบัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุดมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่นั้น เลิศกว่าบรรดาสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้น รู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ย่อมแสดงธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่ แม้แก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีวาทะอย่างนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ใน เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า

นี่เป็นผู้ที่เห็นความเลิศของฌานขั้นสูงสุดที่เป็นอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่แม้ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น

ท่านผู้ฟังยังไม่เคยเจริญสมาธิจนถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเลย แต่ได้ยินได้ฟังว่า อรูปฌานขั้นสูงที่สุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะเลิศที่สุด เพราะเป็นภพที่สัตว์ผู้เข้าถึงจะมีอายุยืนนานที่สุด ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่ยินดีในชีวิต และเห็นว่าชีวิตของมนุษย์สั้นนัก น้อยนัก ปรารถนาที่จะมีชีวิตยืนยาวกว่านี้ และทราบว่าในภพอื่น สัตว์ในภูมิที่เป็นสุคติภูมิ เช่น สวรรค์ขึ้นไปนั้น มีอายุยืนนานกว่าในภูมิมนุษย์ และไม่มีสัตว์ใดในภพใดที่จะมีอายุยืนนานเท่ากับเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม เพียงได้ยินเท่านี้ ท่านอาจจะมีความปรารถนาแล้ว โดยที่ตัวท่านเองยังไม่ได้อบรมเจริญฌานเลย แต่เพราะความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในชีวิต ทำให้ท่านปรารถนาการมีอายุยืนนาน ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ และประจักษ์ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น แม้ว่าท่านจะไม่เคยถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ท่านสามารถจะละคลายความปรารถนา ความที่เคยคิดยินดีพอใจ แม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น

ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง บัญญัตินิพพานอันยวดยิ่งในปัจจุบันมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ เลิศกว่าการบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบันแห่งสมณพราหมณ์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมกล่าวตู่เรา ผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง ด้วยคำเปล่า ด้วยคำเท็จ ด้วยคำไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมไม่บัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลาย ไม่บัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้รูปทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายด้วย เราเป็นผู้หายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว ย่อมบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานในปัจจุบัน

ทรงแสดงว่า พระธรรมที่พระองค์ตรัสนั้น คือ ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นเพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ ได้แก่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังจะกล่าวว่า ไม่ต้องรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ต้องรู้เวทนา ไม่ต้องรู้นามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคหรือเปล่า เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้เป็นผู้ที่กำหนดรู้กามทั้งหลาย รู้รูปทั้งหลาย รู้เวทนาทั้งหลาย ขณะนี้มีไหมรูปทั้งหลาย กามทั้งหลาย เวทนาทั้งหลาย ต้องรู้ รู้ชัด ประจักษ์ในความเกิดดับ จึงสามารถที่จะละได้ตามความเป็นจริง

ในอรรถกถาของ โกสลสูตร ใน มโนรถปูรณี มีข้อความว่า

ก็พระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสพระสูตรนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งถูกความไม่ยินดีบีบคั้น หมายความถึงไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้เพื่อบรรเทาความไม่ยินดีของภิกษุนั้น ภิกษุแม้เหล่านั้นบรรเทาความไม่ยินดีได้แล้ว ทำญาณให้บริสุทธิ์ไปตามกระแสแห่งพระเทศนา จึงได้บรรลุโสดาบัน ต่อมาเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัต ฉะนี้แล

พระภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งในขณะนั้นไม่ยินดีในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ แม้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติในเพศบรรพชิต แต่ฉันทราคะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ก็เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดฉันทราคะขึ้นแล้ว พระธรรมเทศนาสูตรนี้ ก็เกื้อกูลให้ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น สามารถทำญาณให้บริสุทธิ์ไปตามกระแสแห่งพระเทศนา และได้บรรลุโสดาบัน

เพราะอะไร เพราะว่า ไม่ว่าจะทรงเทศนาเรื่องกามที่ประณีตหรือเลว ในขณะนั้น ความเยื่อใย ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่มีอยู่ พระธรรมเทศนานั้น ย่อมเกื้อกูลให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรละ ซึ่งในขณะนั้น ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นกาม คือ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะที่ปรากฏในขณะนั้น ก็สามารถประจักษ์ชัดว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป จึงละความยินดีในกามเหล่านั้นได้ และเมื่อพระภิกษุเหล่านั้น อบรมเจริญวิปัสสนาต่อไป ท่านก็ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ทุกพระสูตรเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน เกื้อกูลต่อผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่ยังไม่ละ ให้ปัญญาสามารถรู้ชัดแล้วละได้ แต่ต้องเป็นความรู้ชัดเกิดขึ้นจึงจะละได้ ถ้าความรู้ยังไม่เกิด บอกให้ละเดี๋ยวนี้ ละได้ไหม เสียงเมื่อสักครู่นี้ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ละเสีย อย่ายึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ใครละได้บ้างถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดถึงขั้นที่จะประจักษ์ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ประจักษ์จริงๆ ว่าเกิดขึ้นและดับไป ปัญญาสามารถประจักษ์ความเกิดดับแล้ว จึงสามารถละ ไม่ยึดถือได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์ จะบอกเดี๋ยวนี้ว่าให้ละ บอกไปเรื่อยๆ ว่าให้ละ ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถละได้

ถ. ทำอย่างไร จะนึกอย่างไร ที่จะไม่ให้สติเผลอจนชั่วลัดนิ้วมือเดียว

สุ. ท่านถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้สติเผลอจนชั่วลัดนิ้วมือเดียว จะไม่ให้สติเผลอ หรือว่าจะทำอย่างไรให้เริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การแก้ความเข้าใจผิด การแก้ความยินดี ความต้องการ แม้ในสติ ก็จะต้องเกิดจากความเข้าใจในข้อปฏิบัติจริงๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้เผลอเลยถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ผลทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ เพราะฉะนั้น ที่ผล คือ การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์จะมีได้ ก็ต่อเมื่ออบรมเจริญปัญญา จนสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้เป็นลำดับขั้น และการที่ปัญญาจะรู้ชัดจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ก็ต้องมาจากการเจริญอบรมทีละเล็กทีละน้อย เป็นการสะสมไปตามสติกำลังของปัจจัยที่จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

เพราะฉะนั้น คงจะหมดความวิตกกังวลเรื่อง ทำอย่างไรถึงจะให้ไม่หลงลืมสติเลยสักลัดนิ้วมือเดียว ในเมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส

ถ. คำพูดนี้เป็นสมมติบัญญัติ กล่าวออกมาด้วยวาทะ ความจริงที่กล่าวออกมาเป็นวาทะนี้ ถ้าไม่กล่าวเป็นวาทะ จะอธิบายให้เข้าใจได้ไหม ด้วยปัญญาอย่างไรที่จะเข้าใจได้ โปรดกรุณาอธิบายตรงนี้ให้ชัด

สุ. ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ปรมัตถธรรมไม่ใช่เป็นเพียงคำที่มีอยู่ในหนังสือ ในพระอภิธรรมปิฎก แม้แต่คำว่า นามปรมัตถ์ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ หมายความถึงธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แล้วน้อมไปสู่อารมณ์ คือ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์

กำลังเห็นขณะนี้จริง กำลังได้ยินในขณะนี้จริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป เป็นปรมัตถธรรม แท้ที่จริงแล้ว ทั้งหมดทุกขณะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแลย เพียงแต่ว่าสติไม่ระลึก จึงไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ปัญญาจะรู้ชัดได้ ก็เพราะระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่ปรากฏแต่ละทาง

ซึ่งถ้าเป็นนามธรรม ก็เป็นสภาพรู้แต่ละทาง ถ้าเป็นเจตสิกปรมัตถ์ ก็มีลักษณะอาการที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้ามีจริงแล้ว ก็เพียงระลึกเพื่อที่จะได้รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ

ทางตาที่กำลังเห็น ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทางหูที่กำลังได้ยิน ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทางใจที่กำลังคิดนึก ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป สืบต่ออยู่เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นของจริงนี้ สติระลึกเพื่อปัญญาจะได้รู้ชัด

ถ. การสนทนาหรือการพูด ต้องใช้สมมติบัญญัติ ไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง และที่จะรู้ได้ด้วยเฉพาะตนนั้น หมายถึงการปฏิบัติเฉพาะตัวเท่านั้นเอง ที่พูดกันนี่ ไม่ใช่ปฏิบัติ ก็รู้ไม่ได้

สุ. ท่านเหล่านี้ท่านก็ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าท่านไม่ปฏิบัติ

ถ. บางคนที่ปฏิบัติ เขาก็ได้ แต่บางคนไม่ได้ปฏิบัติ ที่อาจารย์พูดกัน น่าเลื่อมใสเหลือเกิน อุตสาหะ พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ผู้ปฏิบัติ ผู้ฟังเข้าใจ จะได้ถึงปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่ง คำว่าอบรม หมายถึงอย่างไร

สุ. ไม่มี และจะให้มีขึ้น แต่ว่าจะมีทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ เจริญทีละเล็กทีละน้อย นั่นเป็นการอบรมให้มีมากขึ้น

ถ. อบรม หมายความถึงการปฏิบัตินั่นเอง อีกข้อหนึ่ง ปัจจุบันธรรม หมายความว่า เห็นทันที ขณะที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้ จะรู้ได้ในขณะที่เป็นปัจจุบัน รู้ทุกขณะ อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ถ้าสติเกิดเมื่อไรก็รู้ สติไม่เกิดก็ไม่รู้ แต่ไม่ได้ปิดกั้นว่า ขณะนี้ไม่ได้ ขณะนั้นไม่ได้

ถ. หมายถึงผู้มีสตินั่นเอง

สุ. เพราะฉะนั้น การฟังธรรมนี้ต้องฟังโดยตลอดจริงๆ ว่า กล่าวไว้ว่าอย่างไร แสดงไว้ว่าอย่างไร

ต่อไป ข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ภูมิชสูตร

ท่านภูมิชะกล่าวว่า

ดูกร พระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้อที่เป็นฐานะมีได้แล คือ พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ถ้าแม้บุคคลทำความหวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล

ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล

ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล

ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล

แต่ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็สามารถจะบรรลุผล

ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล

ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล

ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล

ดูกร พระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย แม้หวัง แม้ไม่หวัง แม้ทั้งความหวังและความไม่หวัง หรือแม้ความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แต่ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคายแล้ว ก็สามารถจะบรรลุผลได้

เพราะฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า หวังแล้วต้องบรรลุผล หรือว่าไม่หวังแล้วถึงจะบรรลุผล แต่ขึ้นอยู่กับการประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อความต่อไป

พระราชกุมารชยเสนะกล่าวกับท่านภูมิชะว่า

ถ้าศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ บอกไว้อย่างนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะ ชะรอยจะดำรงอยู่เหนือหัวของสมณะพราหมณ์จำนวนมาก ทั้งมวลโดยแท้

ซึ่งความจริงแล้ว เป็นข้อความที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล คือ ขึ้นอยู่กับการประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย แต่ว่าผู้ที่ไม่เข้าใจอรรถ ความหมายของประพฤติอย่างไรจึงชื่อว่าโดยแยบคาย แต่ไปเข้าใจว่า ต้องเพราะหวัง จึงจะสามารถสำเร็จได้ เป็นต้น ก็เลยกล่าวว่า ถ้าศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ บอกไว้อย่างนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะ ชะรอยจะดำรงอยู่เหนือหัวของสมณะพราหมณ์จำนวนมากทั้งมวลโดยแท้

ต่อนั้น พระราชกุมารชยเสนะทรงอังคาสท่านภูมิชะด้วยอาหารในโภชนะส่วนของพระองค์

ครั้งนั้นแล ท่านพระภูมิชะกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนี้ จะเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และวาทะอนุวาทะไรๆ อันชอบด้วยเหตุ จะไม่ถึงฐานะน่าตำหนิบ้างหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภูมิชะ เหมาะแล้ว เธอถูกถามอย่างนี้ เมื่อพยากรณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้กล่าวตามถ้อยคำของเรา ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และวาทะอนุวาทะไรๆ อันชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิ

ดูกร ภูมิชะ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุ ถ้าแม้ทำทั้งความหวัง และความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำทั้งความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุ นั่นเพราะเหตุไร

ดูกร ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้ โดยอุบายไม่แยบคาย


หมายเลข  6697
ปรับปรุง  17 พ.ค. 2567