แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373


ประการสำคัญที่สุด คือ ข้อประพฤติปฏิบัติโดยแยบคาย หรือโดยไม่แยบคายและประพฤติอย่างไรที่จะเป็นโดยแยบคาย หรือโดยไม่แยบคาย

ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ชื่อว่าประพฤติโดยไม่แยบคาย แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนี้ ชื่อว่าแยบคายไหม เพราะเหตุว่าเป็นการประพฤติเพื่อรู้ ไม่ใช่เพื่อที่จะให้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน แสวงหาน้ำมัน จึงเที่ยวเสาะหาน้ำมัน เกลี่ยทรายลงในรางแล้วคั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วเกลี่ยทรายลงในราง คั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน ถ้าแม้ทำความไม่หวัง ฯลฯ ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง ฯลฯ ถ้าทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วเกลี่ยทรายลงในราง คั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน นั่นเพราะเหตุไร

ดูกร ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะได้น้ำมันโดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด ดูกร ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร

ดูกร ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เปรียบเหมือนบุรุษต้องการนมสด แสวงหานมสด จึงเที่ยวเสาะหานมสด แต่รีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด

สำหรับเรื่องแม้ทำความไม่หวัง แม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง และแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ ก็โดยนัยเดียวกัน

อุปมาต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบ เหมือนบุรุษต้องการเนยข้น แสวงหาเนยข้น จึงเที่ยวเสาะหาเนยข้น ใส่น้ำลงในอ่างคนเข้ากับนมข้น ถ้าแม้ทำความหวังแล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น

ในเรื่องของแม้ทำทั้งความหวัง ความไม่หวัง ฯลฯ ก็โดยนัยเดียวกัน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมา เปรียบเหมือนบุรุษต้องการไฟ แสวงหาไฟ จึงเที่ยวเสาะหาไฟ เขาเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป เขาก็ไม่สามารถจะได้ไฟ

แม้ว่าจะโดยไม่หวัง ฯลฯ ก็โดยนัยเดียวกัน

แต่สำหรับผู้ที่มีข้อปฏิบัติที่ถูก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน แสวงหาน้ำมัน จึงเที่ยวเสาะหาน้ำมัน เกลี่ยงาป่นลงในรางแล้วคั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ ถ้าแม้ทำความหวังแล้วเกลี่ยงาป่นลงในราง คั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ เขาก็สามารถได้น้ำมัน ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง แม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แต่ข้อประพฤติปฏิบัติถูก ก็ย่อมบรรลุผล

ยากไหมที่จะได้น้ำมันจากงาป่น เกลี่ยลงในรางแล้วคั้นไป แล้วก็เอาน้ำ พรมไปๆ แล้วก็คั้นไป จนกว่าจะได้น้ำมัน ฉันใด การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับเดี๋ยวนี้ ก็จะต้องเพราะอบรมเจริญสติจนเป็นปัญญาที่รู้ชัดขึ้น จนสามารถประจักษ์ความเป็นจริงของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ได้เหมือนกับน้ำมันในงา มี ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ต้องโดยการปฏิบัติถูกวิธีโดยแยบคาย แล้วประพฤติอย่างไรที่จะเป็นโดยแยบคาย นามธรรมขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน รูปธรรมขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ข้อปฏิบัติของท่านแยบคาย คือ ระลึกรู้ทันที

สำหรับข้อต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมา บุรุษต้องการนมสด แสวงหานมสด จึงเที่ยวเสาะหานมสด รีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน ถ้าแม้ทำความหวัง แม้ทำความไม่หวัง แม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง ก็สามารถที่จะบรรลุผลได้ เพราะเหตุว่าสามารถบรรลุผลได้ โดยอุบายที่แยบคาย

อุปมาต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบ เหมือนบุรุษต้องการเนยข้น แสวงหาเนยข้น จึงเที่ยวเสาะหาเนยข้น ใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น ถ้าแม้ทำความหวัง ทำความไม่หวัง ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้ว ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แต่ก็สามารถบรรลุผล เพราะสามารถบรรลุผลได้ โดยอุบายอันแยบคาย

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาข้อปฏิบัติที่ถูก เหมือนบุรุษต้องการไฟ แสวงหาไฟ จึงเที่ยวเสาะหาไฟ เอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ สีกันไป ถ้าแม้ทำความหวัง ทำความไม่หวัง ทำทั้งความหวังและความไม่หวัง ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ เขาสามารถบรรลุผลได้ โดยอุบายอันแยบคาย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภูมิชะ ถ้าอุปมา ๔ ข้อนี้ จะพึงแจ่มแจ้งแก่พระราชกุมารชยเสนะ พระราชากุมารชยเสนะจะพึงเลื่อมใสเธอ และเลื่อมใสแล้ว จะพึงทำอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสต่อเธอ อย่างไม่น่าอัศจรรย์

นี่สำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก

ท่านพระภูมิชะกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อุปมา ๔ ข้อนี้ จักให้ข้าพระองค์แจ่มแจ้งแก่พระราชกุมารชยเสนได้แต่ที่ไหน เพราะอุปมาอันไม่น่าอัศจรรย์ ข้าพระองค์ไม่เคยได้สดับมาในก่อน เหมือนที่ได้สดับต่อพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระภูมิชะจึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบภูมิชสูตรที่ ๖

ปปัญจสูทนี อรรถกถา ภูมิชสูตร มีข้อความว่า

คำว่า เอวมฺเม สุตํ ได้แก่ ภูมิชสูตร บรรดาคำในพระสูตรนั้น คำว่า ภูมิโช ความว่า พระเถระองค์นี้เป็นลุงของพระราชกุมาร พระนามว่าชยเสนะ

สองบทว่า อาสญฺจ อนาสนญฺจ ได้แก่ ความหวังโดยกาล และความไม่หวังโดยกาล

สองบทว่า สเกเนว ถาลิปาเกน ความว่า พระราชกุมารนั้น อังคาสพระเถระด้วยภิกษาที่เป็นไปตามปกติ ด้วยภัต แม้จากภัตที่สำเร็จแล้ว เพื่อพระองค์

คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้น

เพราะเหตุว่าข้อความในพระไตรปิฎกก็ละเอียดอยู่แล้วว่า ขึ้นอยู่กับการประพฤติข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง

ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา ได้กล่าวถึงอรรถของสภาพธรรมที่เป็นญาณว่า จริงอยู่ ญาณ ท่านเรียกว่าเป็นกำลัง เพราะอรรถว่า อันใครๆ ไม่พึงให้หวั่นไหว และเพราะอรรถว่า เป็นเครื่องค้ำจุน

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ปัญญาสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณ เช่น ในขณะที่กำลังรู้ชัดในสภาพของนามธรรมที่เป็นธาตุรู้ และในลักษณะของรูปธรรมแต่ละลักษณะ ในขณะนั้น อันใครๆ ไม่พึงให้หวั่นไหวได้ เพราะเหตุว่ากำลังประจักษ์ชัดจริงๆ กำจัด ทำลายความเคลือบแคลง ความสงสัยว่า นามธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไร รูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะว่าในขณะนั้น ปัญญากำลังรู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ที่ไม่ปะปนกับลักษณะของรูปธรรม และกำลังประจักษ์ชัดในลักษณะของรูปธรรมแต่ละลักษณะ

สำหรับอรรถที่ว่า เป็นเครื่องค้ำจุน ก็เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นทำให้ไม่หวั่นไหว และค้ำจุนญาณขั้นสูงขึ้น ถ้าวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ไม่เกิด คือ นามรูปปริจเฉทญาณไม่เกิด ที่จะพยายามพากเพียรให้ประจักษ์ชัดในความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น นอกจากจะเป็นกำลังอันใครๆ ไม่พึงให้หวั่นไหวแล้ว ยังเป็นเครื่องค้ำจุน คือ ทำให้ไม่หวั่นไหว และค้ำจุนญาณขั้นสูงขึ้นด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะได้ยินคำว่าญาณ และ ปริญญา

วิปัสสนาญาณมีด้วยกันทั้งหมด ๑๖ ขั้น ส่วนปริญญานั้น มี ๓ ขั้น ซึ่งทั้งญาณและปริญญานี้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้าท่านศึกษาโดยละเอียด ท่านจะทราบว่า เหตุใดวิปัสสนาญาณใดจึงเป็นปริญญาขั้นใด และความรู้ที่จัดเป็นระดับของปริญญาทั้ง ๓ ขั้นนี้ จะต้องเกิดจากวิปัสสนาญาณที่ได้ประจักษ์แจ้งในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม

ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ ๗ ซึ่งมีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทแห่งมิคารมารดา ในวิหาร บุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นด้วยกับพระอินทร์ คือ ท้าวสักกะจอมเทพที่ว่า ใคร่ที่จะรู้ข้อปฏิบัติโดยย่อ เหมือนท่านผู้ฟังไหม ยาวนักก็ไม่มีเวลา หรือคิดว่ามากไปนักก็คงจะไม่จำเป็น ต้องการที่สุด คือ อะไรก็ได้ง่ายๆ ย่อๆ หรือว่าพอสมควรในฐานะที่ท่านเป็นผู้ที่เป็นกามบุคคล เป็นผู้ที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เวลาที่จะสละให้แก่ธรรมจริงๆ มีน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะได้ฟังโดยย่อ เพียงย่อๆ เท่านั้นเอง แม้แต่พระอินทร์ก็เป็นกามบุคคลในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์ เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีต ที่น่าพอใจ ก็ไม่ต้องการที่จะได้ฟังโดยละเอียด เพราะเหตุว่าใคร่ที่จะได้รับฟังเพียงโดยย่อเท่านั้น

ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มีว่า

ท้าวสักกะทูลถามข้อปฏิบัติโดยย่อ เพราะพระองค์ปรารถนาจะเสวยการเล่นในอุทยาน ท่านผู้ฟังที่มีธุระ หรือว่าจะไปสนุกสนานรื่นเริง ก็คงจะเช่นเดียวกัน

ท้าวสักกะทูลถามข้อปฏิบัติโดยย่อ เพราะพระองค์ปรารถนาจะเสวยการเล่นในอุทยาน จึงรับสั่งให้มีการเล่นในอุทยาน แต่ว่าขณะที่ทรงแวดล้อมด้วยหมู่เทพพร้อมด้วยนักฟ้อน ประทับยืนอยู่ที่ประตูอุทยาน ก็เกิดระลึกได้ถึงปัญหานี้ว่า ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไรหนอโดยย่อ พระขีณาสพผู้น้อมไปแล้วในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา จะมีข้อปฏิบัติเบี้องต้นที่จะพึงถึงได้โดยย่อ

ครั้งนั้น พระองค์จึงทรงดำริอย่างนี้ว่า ปัญหาข้อนี้เป็นสิริอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเราจักไม่ถามปัญหานี้ก่อนแล้วเข้าไปยังอุทยาน ถูกท่วมทับด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ จักระลึกถึงปัญหาไม่ได้เสียอีก การเที่ยวไปในอุทยานจงรอไว้ก่อน เราไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาข้อนี้ ได้รับคำตอบแล้วจะมาเล่นในอุทยาน ดังนี้แล้ว จึงอันตรธานไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ท้าวสักกเทวราชนั้นทรงรีบเร่งอยู่ เพราะพระองค์ประสงค์จะเสวยการเล่น จึงกราบทูลอย่างนี้

นี่เป็นท้าวสักกเทวราช ซึ่งข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ขณะใดสติเกิดและขณะใดขาดสติ หรือว่าหลงลืมสติ เพราะว่าพระองค์ปรารถนาจะเสวยการเล่นในอุทยานจึงรับสั่งให้มีการเล่นในอุทยาน แต่แม้กระนั้นความที่พระองค์เป็นเป็นพระอริยเจ้า และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่ทรงแวดล้อมด้วยหมู่เทพพร้อม นักฟ้อน ก็เกิดระลึกได้ถึงปัญหานี้ขึ้น ขณะนั้นก็มีสติเกิดขึ้น ใคร่ที่จะทราบว่า ข้อปฏิบัติเพียงเท่าไรหนอโดยย่อ พระขีณาสพผู้น้อมไปแล้วในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา จะมีข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่จะพึงถึงได้โดยย่อ

นอกจากนั้น สติทำให้ระลึกได้ว่า ปัญหาข้อนี้เป็นสิริอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าพระองค์จักไม่ถามปัญหานี้ก่อนแล้วเข้าไปยังอุทยาน ถูกท่วมทับด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ จะระลึกถึงปัญหาไม่ได้เสียอีก

ตามความเป็นจริงแล้ว ท้าวสักกะเทวราชยังไม่ไช่พระอรหันต์ ท่านที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ไช่พระโสดาบัน ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ยังมีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามที่ท่านได้สะสมมา มีท่านผู้ใดบ้างไหมที่ไม่อยากดูหนัง ไม่อยากดูละคร ไม่อยากเห็นอะไรที่ประณีตสวยๆ งามๆ สนุกสนานรื่นเริง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าท่านสะสมความยินดีพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพารมณ์มามาก แต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตรงตามความเป็นจริงได้

ท่านจะฟังธรรม หรือว่าท่านจะไปเที่ยว เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม บางทีก็ไปเที่ยว ไม่ฟังธรรมใช่ไหม บางทีก็ไปฟังธรรมไม่ไปเที่ยว ด้วยเหตุนี้ เมื่อท้าวสักกะเห็นว่าปัญหาข้อนี้เป็นสิริอย่างยิ่ง ควรจะไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาข้อนี้ ได้รับคำตอบแล้วก็จะมาเล่นในอุทยาน ดังนี้แล้ว จึงอันตรธานไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค


หมายเลข  6698
ปรับปรุง  17 พ.ค. 2567