ปกิณณกธรรม ตอนที่ 148


ตอนที่ ๑๔๘

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๖


ผู้ฟัง โดยศัพท์ของคำว่า “วิปาก”

อ.สมพร วิปาก ถ้าแยกศัพท์ วิ ศัพท์หนึ่ง ปากะ ศัพท์หนึ่ง วิ แปลว่าต่างๆ ปากะ แปลว่าผล พูดรวมเป็นผลของกุศลหรืออกุศล ผลต่างๆ ถ้าเราทำกุศลก็เป็นผลของกุศล ทำอกุศลก็เป็นผลของอกุศล คำว่า ปากะ มีหลายนัย อึกนัยหนึ่งแปลว่าสุก งอม แต่ในที่นี้คำว่า สุกงอม อาจเข้าใจยาก ท่านเลยใช้คำว่าผลต่างๆ ผลของกุศล ทำกุศลก็ได้ผลของกุศล เรียกว่าวิบาก แล้วก็ต่างๆ ไม่ใช่กุศลอย่างเดียวหรืออกุศลอย่างเดียว อกุศลก็มีหลายอย่าง กุศลก็มีหลายอย่าง ผลของมัน จึงใช้คำว่าวิปากะหรือวิบาก

ท่านอาจารย์ ความจริงเรื่องของธรรมเป็นเรื่องยาว แล้วก็ถ้ายกอะไรขึ้นมานิดหน่อยแล้วจะพูดให้ยาวไปตลอดก็คงยาก แม้แต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ก็ควรจะจำกัดลงมานิดหน่อยว่า หมายความถึงสังขารที่นี่ต้องเป็นไปในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นอกุศลกรรม ที่ได้แก่อกุศลจิต ๑๒ แล้วก็กุศลที่เป็นไปในกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ถ้าพูดอย่างนี้ก็ยาวไปอีก เพราะว่าเรายังไม่ได้เรียนเรื่องของจิต

เวลาที่จะยกธรรมข้อหนึ่งข้อใดมา จะเห็นได้ว่าต้องพูดสั้นสำหรับตอนต้นๆ เพราะเหตุว่ามิฉะนั้นก็จะไปเกี่ยวกับเรื่องของจิตซึ่งเป็นประเภทต่างๆ แต่ให้ทราบว่าตราบใดที่ยังมีอวิชชา แล้วก็ยังไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ อวิชชานั่นเอง ความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ถ้าทำให้เกิดอกุศลจิตโดยตรง หมายความว่าต้องเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นอกุศลอื่นๆ เกิดร่วมกับอกุศลจิต ถ้าเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตแล้วไม่ใช่โดยตรง เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นโดยปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งไม่ใช่สหชาตปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดยาวๆ แต่ก็ขอให้ทราบแต่เพียงว่า เพราะยังมีอวิชชาจึงต้องวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก็เป็นไปเพราะกรรมซึ่งต้องมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ แต่ถ้าดับอวิชชา ก็ไม่มีกรรม เพราะเหตุว่าหมดกิเลส

ผู้ฟัง อารัมมณปัจจัยกับอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ต่างกันอย่างไร

ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้ถึงเรื่องของปัจจัย เพราะคุณสุรีย์จะไปถึงปริจเฉทที่ ๘ การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมโดยเฉพาะในขณะนี้ที่สำคัญ แล้วที่เรามีปัจจัยมากมายหลายปัจจัยต่อเมื่อเราได้เข้าใจสภาพธรรม เช่น จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดแล้ว ถึงจะกล่าวถึงการเป็นปัจจัยได้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ปัจจัย หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยเกื้อกูลอุดหนุนให้สภาพธรรมเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ ซึ่งในขณะนี้เรากำลังมีชีวิตอยู่ แล้วทุกขณะที่ดำรงไป ต้องมีเหตุปัจจัย มีที่อาศัย ถ้าเราจะไม่กล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของปัฏฐาน เป็นเรื่องของอภิธรรมคัมภีร์ที่ ๗ แล้วก็อภิธัมมัตสังคหะก็ปริเฉทที่ ๘ แต่เราอยากจะรู้หรืออยากจะเข้าใจในขณะนี้ว่า ที่ทุกคนกำลังเห็นก็ดี กำลังได้ยิน กำลังคิดนึกต่างๆ กันไป ก็เพราะปัจจัย ให้ทราบว่า ต้องมีปัจจัย เพราะว่าบางคนก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมเราคิดอย่างนี้ หรือสงสัยว่าทำไมคนนั้นจึงทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจเรื่องปัจจัย แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีความสงสัยในเรื่องปัจจัยแน่นอน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นต่างๆ กัน ตามปัจจัย เพราะเหตุว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า อย่างคำว่า อุปนิสสยปัจจัย คำเดียว ยังไม่ต้องก้าวไปถึงความลึกซึ้งของปัจจัยนี้ โดยประการต่างๆ เช่น อารัมณูปนิสสยปัจจัย หรือว่าอนันตรูปนิสสยปัจจัย หรือแม้แต่ปกตูนิสสยปัจจัย แต่ให้เข้าใจเพียงคำว่า อุปนิสสยปัจจัย ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำว่าอุปนิสัย ถ้าใช่คำนี้ดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจ คนนั้นมีอุปนิสัยอย่างไร คนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร โดยเฉพาะครูก็รู้จักนักเรียนในชั้นว่าแต่ละคนต่างกัน หรือถ้าเราจะอยู่นอกห้องเรียน เราจะดูทั่วๆ ไปว่า แต่ละคนอุปนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนเป็นทานุปนิสัย คือ อุปนิสัยในการให้ทาน บางคนก็มีอุปนิสัยในการรักษาศีล สีลุปนิสัย บางคนก็มีอุปนิสัยในการอบรมเจริญภาวนา หรือเจริญปัญญา เป็นภาวนุปนิสัย

นี่ก็นิสัยที่เรากระจายออกมาจากคำว่า อุปนิสัยหรือว่าอุปนิสสยปัจจัย แต่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะทาน ไม่ใช่เฉพาะศีล ไม่ใช่เฉพาะภาวนา ทุกอย่างซึ่งแต่ละคนได้สะสมมาแล้วในแต่ละชาติ ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะเกิดโลภะขณะหนึ่ง โทสะขณะหนึ่ง เมตตาขณะหนึ่ง ศรัทธาขณะหนึ่ง หรือสภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งหมดซึ่งสะสมมา การสะสมนั้นเป็นปัจจัยที่มีกำลัง เป็นอุปนิสยเมื่อไหร่ เมื่อมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นปัจจยุบปัน คือ ถ้าพูดถึงปัจจัยแล้ว จะเว้นไม่พูดถึงปัจจยุบปัน คือ ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น หรือว่า มีปัจจัยนั้นเป็นเหตุไม่ได้ เพราะว่าเป็นของคู่กัน เหมือนมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ คือมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงปัจจัย ก็ต้องมีธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยนั้นเกิดขึ้นด้วย

ในขณะนี้ถ้าเกิดโกรธขึ้นมา เห็นไหม อุปนิสสยปัจจัย ต้องมีการสะสม แล้วขณะนั้นเป็นปัจจัยที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย หรืออย่างที่เราบอกไว้ว่าเราจะไม่แยกเลย จะใช้คำกว้างๆ ว่า อุปนิสสยปัจจัย หมายความว่าการสะสมความโกรธมีกำลังพอที่จะทำให้ความโกรธในขณะนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้โกรธตลอดเวลา บางทีเราก็โกรธ บางที่เราก็ไม่โกรธ บางทีคนทำอะไรที่เราน่าจะโกรธ เราก็ยังไม่โกรธ แต่บางทีบางคนทำอะไรเราไม่น่าจะโกรธ ก็เกิดโกรธขึ้นมา

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าขณะนั้นการสะสมของความโกรธจะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้โทสมูลจิตเกิดขึ้นหรือไม่ในขณะนั้น

โทสมูลจิตที่เกิดขึ้นต้องมีอุปนิสสยปัจจัย ปัจจัยหนึ่งของการสะสมซึ่งมีกำลังในขณะนั้น จึงทำให้จิตขณะนั้นเกิดขึ้น นี่สำหรับอกุศลจิต สำหรับกุศลจิตก็เช่นเดียวกัน ในเวลาที่เรานึกจะให้ทาน ก็จะต้องมีการสะสมในเรื่องของทาน แล้วเวลาที่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ก็จะมีปัจจัยหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย คือ อุปนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น ศรัทธาก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย และทุกขณะจิตที่สะสมไปเป็นอุปนิสสยปัจจัย แม้แต่กรรมซึ่งได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด เช่น ปฏิสนธิจิต เราเลือกไม่ได้เลยที่จะให้ปฏิสนธิจิตของเราในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นประเภทนี้ ทั้งๆ ที่มีกรรมมากมาย แต่ว่ากรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิด เพราะกรรมนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เฉพาะกรรมนี้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในชาตินี้ ซึ่งในชาติต่อไปก็ไม่มีใครทราบว่า กรรมใดที่ได้ทำมาแล้วทั้งในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิด แต่ว่าเวลาที่วิบากจิตเกิด ให้ทราบว่า เพราะมีอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิดทั้งหมดเลย ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ปัจจัยนี้จึงเป็นปัจจัยที่กว้างขวาง เพราะเหตุว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่สะสมมามีกำลังพร้อมที่จะเป็นที่อาศัยที่มั่นคง ที่จะให้ธรรมที่เป็นปัจจยุบปันเกิด ปัจจยุบปันจิต คือ สภาพธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต วิบากจิต ก็เกิด

ผู้ฟัง อย่างเวลาที่เราเห็น สิ่งที่เราเห็นทางตา สมมติเอาทางตาก่อน การที่เราเห็น ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแรงกล้าทำให้วิถีจิตเกิด ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ทางตาที่เห็น ทุกคนก็ทราบว่าเป็นวิบาก คือ เลือกเห็นไม่ได้ แต่เป็นผลของกรรม ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นผลของกรรม แล้วกรรมก็มีมากมาย แต่กรรมใดทำให้วิบากจิตเห็นเกิดขึ้น กรรมนั้นนอกจากเป็นกัมมปัจจัยแล้วก็ยังเป็นอุปนิสสยปัจจัยด้วยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิด

ผู้ฟัง อกุศลกรรมหรือกิเลส เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้ ตัวอย่างนี้ไม่เข้าใจ

ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์หมายความถึงปฏิจจสมุปบาทที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

ผู้ฟัง นัยของปฏิจจะ ถ้าเกิดโดยนัย

ท่านอาจารย์ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาททั้งหมดต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจจัย จะไม่มีการกล่าวลอยๆ เลยว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เฉยๆ แต่ต้องบอกว่าโดยปัจจัยอะไร แล้วก็สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ก็เป็นปัจจัย โดยปัจจัยอะไร จะต้องบอกเหตุผลไว้ด้วย แต่ว่าเรามักจะไม่เอ่ยถึง เรามักพูดถึงปฏิจจสมุปบาทโดยสั้นๆ และก็ไม่บอกว่าโดยปัจจัยอะไร ก็ทำให้เกิดความสงสัย แต่ถ้าแจงละเอียดถึงโดยปัจจัยอะไรก็จะหมดความสงสัย ถ้าเข้าใจเรื่องปัจจัยนั้นๆ

ผู้ฟัง หมายความว่าอยู่ในเรื่องเดียวกัน

ท่านอาจารย์ อยู่ในเรื่องเดียวกัน ถ้าต้องเกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเรื่องปัจจัย

ผู้ฟัง การเรียนธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราจะมาคิดเอาเองไม่ได้ เราต้องมีอาจารย์คอยถาม อย่างเวลานี้ดิฉันคิดว่า กิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรม โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท เราเข้าใจ พอฟังคราวที่แล้ว วิทยุ อาจารย์บอกโดยอุปนิสสยปัจจัย มีอีกนัยหนึ่งหรืออย่างไร วันนี้ก็ได้คำตอบจากอาจารย์ว่า มันอยู่ในเครือเดียวกัน อยู่ในพวกเดียวกัน

ท่านอาจารย์ แต่เห็นง่ายๆ ถ้าไปที่ไหนแล้วมีคนถามว่า ทำบุญอย่างนี้แล้วได้บุญมากไหม อะไรเป็นเหตุให้เขาถามอย่างนั้น เพราะว่าเขาต้องการผลของบุญมาก ก็แสดงให้เห็นว่า โลภะเป็นเหตุให้ทำกุศล เขาอยากได้บุญ

ผู้ฟัง เขาอยากได้บุญมาก การที่เขาอยากได้บุญมากก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่สะสมไว้ให้เขาเกิดโลภะที่อยากได้บุญมาก จึงทำบุญได้กุศลใช่ไหม

ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ถามว่ากิเลสเป็นเหตุให้ทำกุศล กิเลสคือโลภะ ที่ต้องการกุศล ผลของกุศล ก็เป็นเหตุให้เขาทำกุศล

ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นคำตอบอีกอัน ที่ว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศล นี่เป็นตัวอย่างที่ดี เรื่องของวิถีจิตโดยเฉพาะชวนวิถีจิต คือว่าซ้ำกัน ๗ ขณะ ก็เกิดสะสม การที่มันสะสมให้เกิดกำลังแรงกล้า ซึ่งเป็นที่อาศัยให้มีกำลังแรงกล้า คือสะสมมา ๗ หนๆ ๆ มันก็สะสมจนเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า เพราะฉะนั้น อุปนิสสยปัจจัยก็มีบทบาทให้เกิดการสะสมเหมือนกัน ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ชวนะเป็นกิจของจิต แล้วก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละขณะ

ผู้ฟัง เป็นอุป เหมือนกันใช่ไหม

ท่านอาจารย์ พูดถึงจิตที่เกิดที่สะสมต้องเป็น เพราะว่าศรัทธาก็เป็น อกุศลก็เป็น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ฟัง สมมติว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร โดยปัจจัยอะไร ผมยังงงอยู่ อวิชชาเป็นกิเลส อวิชชานี้เป็นกิเลส มันเป็นเหตุให้เกิดสังขาร โดยปัจจัยอะไร

ท่านอาจารย์ ต้องแยกว่าอวิชชาเป็นโมหะ เจตสิกนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารประเภทไหน เพราะเหตุว่าสังขาร ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร

ผู้ฟัง อวิชชาซึ่งเป็นตัวต้นเป็นกิเลส มันเป็นเหตุให้เกิดสังขารโดยปัจจัยอะไร ก็สรุปแล้วก็ว่ามากมาย โดยปัจจัยหลายอย่าง จะเป็นสหชาตปัจจัยก็ได้ เหตุปัจจัยก็ได้มากมาย

ท่านอาจารย์ คนอื่นก็ยังไม่ทราบว่าปัจจัย ๒๔ ยังไม่แม่นพอได้ยินเพียงชื่อ ก็คงจะพอทราบเค้าว่า เหตุก็ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง เพราะฉะนั้น โดยเหตุปัจจัย คือเมื่อเป็นโมหเจตสิกก็เกิดร่วมกับอกุศลจิตโดยเป็นเหตุปัจจัย

ผู้ฟัง กาลสมบัติ

ผู้ฟัง อย่างเป็นยุคสมัยหรือกาลเวลาที่ดีก็ตาม แต่ว่าบางคนได้รับวิบากที่ไม่ดี แต่บางคนได้รับวิบากที่ดี ก็รู้สึกว่ามันไม่เสมอ หรือไม่ยุติธรรม ถ้าเป็นกาลที่ดี หรือกาลสมบัติ ทุกคนควรจะได้รับวิบากที่ดีเหมือนกัน อันนี้ก็ยังเป็นที่สงสัย

ท่านอาจารย์ คงจะเป็นส่วนใหญ่กับส่วนย่อย ถ้าส่วนใหญ่ก็คือยุคสมัยรวมๆ อย่างในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเป็นกาลสมบัติ เพราะเหตุว่ามีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระอรหันต์ มีพระอริยบุคคล มีการฟังธรรม มีการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ถ้าพูดถึงส่วนใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงส่วนย่อย คงเป็นแต่ละบุคคลซึ่งพูดถึงปรมัตถธรรม แล้วแต่ว่าขณะใดซึ่งมีปัจจัยที่จะให้วิบากซึ่งเป็นกุศลเกิด ขณะนั้นต้องเป็นกาลสมบัติสำหรับขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วกุศลก็เกิดไม่ได้ เราจะแจกย่อยลงไปว่าแม้แต่ในกาลสมบัติ คนที่ได้รับความทุกข์ก็มี ไม่ใช่มีแต่คนที่ได้รับความสุขเสมอไป หรือว่าในขณะที่สมมติว่า สมัยนี้จะเป็นกาลวิบัติ แต่คนที่ได้รับความสุขก็มีมากทีเดียว เพราะฉะนั้น เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องวัดว่า สมัยนี้เป็นกาลสมบัติ หรือว่ากาลวิบัติ ถ้าจะโดยส่วนรวมทั่วๆ ไปเรา ก็จะกล่าวได้ เอาส่วนใหญ่มาวัดว่านี้เป็นกาลสมบัติหรือว่ากาลวิบัติ แต่ถ้าเฉพาะราย เฉพาะตัว แต่ละบุคคล ก็คงต้องแตกย่อยออกไปอีกมิฉะนั้นแล้วผลของกรรมก็เกิดไม่ได้ ถ้ายุคสมัยนี้เป็นกาลวิบัติ ก็ต้องประสบกันแต่ทุกข์ยากทั้งหมด แต่ว่าบางส่วนบางบุคคลยังมีกุศลวิบากเกิดขึ้น

ผู้ฟัง ตกลงว่าเป็นส่วนรวมกับส่วนย่อย กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ

ผู้ฟัง คติสมบัติ อุปธิสมบัติ กับปโยคสมบัติ อยากจะให้เราพูดก่อนว่า เป็นอย่างไร ท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจว่า คืออะไรแล้วจะได้กลับมาพิจารณาว่ากาลสมบัติหรือกาลวิบัติอีกครั้งหนึ่ง

ท่านอาจารย์ คติสมบัติ คือ กำเนิด เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ทรงแสดงธรรม คติวิบัติสำหรับพวกสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม

ผู้ฟัง ดูเหมือนว่า จะเป็นสมัยพระพุทธองค์

ท่านอาจารย์ นี้ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าคติวิบัติ หรือว่าถึงแม้ว่าสมัยนี้ก็ตามเรากำลังได้ฟังธรรม แต่พวกแมว พวกอะไรที่อยู่ที่นี่ก็ยังมานั่งฟังอยู่ด้วย ก็เป็นคติวิบัติ

ผู้ฟัง เขาอาจรู้เรื่องหรือไม่ อันนี้เราก็ไม่ทราบ ทีนี้ไปถึงอุปธิ

ท่านอาจารย์ อุปธิ อาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายภาษาบาลี

สมพร อุปธิมีหลายอย่าง ในที่นี้ก็คงหมายถึงทรวดทรงร่างกายที่สมบูรณ์ อุปธิมีถึง ๔ อย่าง

กามูปธิ กามเป็นอุปธิ เพราะเมื่อพอใจในกาม จึงแสวงหา ก็นำมาซึ่งทุกข์

ขันธ์อุปธิ เกี่ยวกับร่างกายที่สมบูรณ์ ขันธูปธิ ไม่ใช่กิเลส

กิเลสเรียก กิเลสูปธิ อุปธิ ธรรมชาติที่ทรงไว้ ขันธูปธิ ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งขันธ์ กิเลสูปธิ ธรรมชาติซึ่งทรงไว้ซึ่งกิเลส

แล้วก็อภิสังขารูปธิ ทั้งหมดมี ๔

อุปธิในที่นี้ หมายถึงขันธ์ คือ ร่างกายที่สมส่วน ที่ดีไม่พิกลพิการ เหมือนคนเกิดมาแล้วตาบอดหูหนวก ก็ไม่สมบูรณ์ ที่นี้อุปธิ ถึงพร้อมด้วยอุปธิ เรียกว่าอุปธิสมบัติ ถ้าว่าหูหนวก ตาบอด ก็เรียกว่า อุปธิวิบัติ ตาบอด หูหนวก ไม่สมประกอบ

ผู้ฟัง แต่คนพวกนี้ก็อยู่ในกาลสมบัติได้ใช่ไหม

อ.สมพร คำว่ากาลสมบัติ เราก็ต้องแยกว่า กาล คือ เวลา ส่วนใหญ่อย่างหนึ่ง ส่วนย่อยอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่ส่วนรวมอย่างที่ผมว่า ในประเทศนั้นถึงคราวทั้งหมดจะพินาศไปแล้ว นี่ส่วนใหญ่ หรือในสมัยพุทธกาล ส่วนมากเป็นกาลสมบัติ ก็เพราะว่าสัตว์ที่จะตรัสรู้ จะถึงความสุขมีมากในสมัยนั้น สมควรที่จะตรัสรู้ได้ ควรแก่กาลเวลานั้นเรียกว่า กาลสมบัติ นั่นส่วนใหญ่ ส่วนย่อยเราก็จำแนกไปบุคคล กาลก็อย่างหนึ่งหมายถึง เวลา แต่ในพระสูตรกล่าวถึงไว้ว่า ในสมัยใด พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ประพฤติธรรม ทีนี้ประชาราษฏร์ที่เคารพรักพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องประพฤติธรรมตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น ในสมัยนั้นเขาก็อนุโลมเข้าในกาลสมบัติ ถึงจะไม่สำเร็จมรรคผลก็ตาม ก็เป็นการให้ความสุข กรรมดีให้ผล เป็นกาลสมบัตินั่นส่วนใหญ่

ผู้ฟัง อุปธิวิบัติ ว่าคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ เขาก็เกิดกุศลได้

ท่านอาจารย์ เขาคงจะได้รับวิบากไม่เท่ากับคนที่พร้อมด้วยอุปธิสมบัติ การที่กรรมจะให้ผลพร้อมด้วยคติวิบัติกับคติสมบัติ เพราะฉะนั้น ก็ประกอบกันถึงแม้ว่าจะมีกุศลกรรมที่ได้สะสมมาแล้วก็ตาม แต่ว่าถ้าเป็นกาลวิบัติ คติวิบัติ ปโยควิบัติ อุปธิวิบัติ ก็ไม่สามารถให้ผลได้สำหรับกุศลกรรม นี่ต้องแยกกัน

ผู้ฟัง อาจารย์ว่าก็ชัดเจน คนที่มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่ได้หมายความว่าเขาเสียหาย เขาอาจจะมีจิตใจเป็นกุศล มีอะไรทุกอย่าง แต่ว่าร่างกายไม่สมประกอบ มันก็เสียไป มันก็อาจถือว่าวิบัติแล้ว ไม่ต้องพูดแล้ว สมบัติที่มีอยู่ หมายถึงคุณงามความดี ให้ผลไม่ได้ แทนที่จะเป็นใหญ่โตก็เป็นไม่ได้

ท่านอาจารย์ ปโยคะ อาจารย์แปลศัพท์ได้ไหม

อ.สมพร ปโยคะ แปลว่า การประกอบ การประกอบในทางที่ดี คือ ความเพียร ในทางที่เหมาะสม คือว่ากระทำอย่างนี้ บางครั้งกรรมที่มีกำลังไม่แรงกล้า กรรมที่อ่อนถึงคราวจะให้ผล แต่ว่าด้วยปโยคสมบัติ ประกอบในส่วนที่ดี ทำให้ไม่เดือดร้อนได้ ทำให้ร่ำรวยต่อไปได้ ไม่ยากจน เพราะประกอบสุดในทางที่ถูก เช่นเรารู้ว่าเมื่อประพฤติอย่างนี้แล้ว ความเดือดร้อนจะเกิดประกอบ คือความเพียรอย่างนี้แล้วความเดือดร้อนไม่เกิด เช่นเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา อกุศลมักจะเกิดเสียก่อน แต่เราก็ประกอบ คือ มีความเพียรมีสติระลึก กุศลก็เกิดขึ้น หรือความสุขก็เกิดได้ เช่น ทาง ๒ แพ่ง ทางหนึ่งจะไปทางมีหนามมีป่า ทางหนึ่งจะไปทางรกชัฏ ถ้าเราพยายามเพียรไปในทางที่ไม่เหมาะสม เราก็มีความทุกข์ อกุศลกรรมก็มีโอกาสเกิดเรียกว่าปโยควิบัติ ถ้าเราไปในทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง กุศลกรรมก็ให้ผล ให้มีความสุขเรียกว่าปโยคสมบัติ ปโยคก็มีความหมายอย่างนี้ แปลว่าประกอบ

ท่านอาจารย์ หมายความถึงการกระทำ ใช่ไหม

อ.สมพร ใช่


หมายเลข  6700
ปรับปรุง  17 พ.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ