แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
บางท่านบอกว่า เต็มไปด้วยความสุข ไม่ทราบจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร คือมีแต่ความสุขเพียบพร้อมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ความสุข หรือสุขเวทนา ก็เป็นของจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงของชีวิตของบุคคลนั้น ซึ่งบุคคลใดสะสมเหตุปัจจัยใดที่จะให้เกิดทุกข์ขณะใด เกิดสุขขณะใด ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพของจริงที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตามปัจจัยที่ได้สะสมมาที่ทำให้เกิดขึ้นนั้นๆ ไม่ใช่หลีกเลี่ยงไป
แม้จะอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีสถานที่ที่น่ารื่นรมย์มาก เพียบพร้อมไปด้วยความสุข แต่เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์เพียงไร
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรข้องใจ หรือเข้าใจว่า สุขเสียจนเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ที่ว่าเจริญไม่ได้ หรือสติไม่เกิด ก็เป็นเพราะว่าไม่ได้อบรมให้สติเกิดจริงๆ ชั่วขณะ เล็กๆ น้อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงทันทีในขณะนี้ โดยไม่ต้องผลัด ไม่ต้องรอ ไม่ใช่ว่ารอไว้ก่อน ขณะนี้กำลังเป็นสุขมาก ไว้ตอนเย็นๆ ค่ำๆ หมดความสุขแล้วค่อยให้สติเกิด อย่างนั้นไม่ถูก จะหวังอะไรกับนามธรรมและรูปธรรมที่ยังไม่เกิดว่า จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ยังไม่เกิดนั้น ในเมื่อขณะปัจจุบันนี้ ท่านก็ยังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ ซึ่งกำลังเป็นของจริง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนี้สติไม่เกิด แต่ไปหวังว่า เย็นๆ ค่ำๆ หรือที่อื่น ขณะอื่น สติจะเกิด ปัญญาจะรู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ปัญญาจะเกิด ก็เพราะสติระลึกทันที ไม่ว่าสภาพธรรมในขณะนั้นจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม
ข้อความต่อไปมีว่า
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีความดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็น ผู้ประมาทอยู่มากนัก ถ้ากระไร เราพึงให้ท้าวสักกะนี้สังเวชเถิด จึงบันดาลอิทธาภิสังขาร เอาหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้าน หวั่นไหว ทันใดนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสสวัณมหาราช และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีความประหลาดมหัศจรรย์จิต กล่าวกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี่เป็นความประหลาดอัศจรรย์ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เอาหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพมีความสลดจิตขนลุกแล้ว จึงถามว่า
ดูกร ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่นย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้ข้าพเจ้าจักขอมีส่วนเพื่อจะฟังกถานั้น
ท้าวสักกะจึงตรัสว่า
ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นฤทุกข์ ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย
ต่อจากนั้น ท้าวสักกะก็ได้ตรัสเล่าเรื่องที่พระองค์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามข้อธรรม และพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคแสดงเรื่องข้อปฏิบัติทุกประการ เพราะเหตุว่าขณะนั้นพระองค์สามารถระลึกข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแก่พระองค์ได้
ข้อความใน ปปัญจสูทนี อธิบายว่า
ท้าวสักกะทรงกำหนดมิได้ คือ ทรงหลงลืมข้อธรรมที่ได้ฟัง เพราะภาวะที่พระองค์เป็นผู้หลงลืม เมื่อกำลังเพลินในกามคุณ ซึ่งย่อมหลงลืมข้อธรรมเป็นธรรมดา
ถามว่า เพราะเหตุใด ต่อมาพระองค์จึงทรงกำหนดได้
ตอบว่า พระเถระยังโสมนัสและความสังเวชให้บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกเทวราชนั้น นำความมืดออกเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจึงทรงกำหนดได้
ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟังธรรม สนทนาธรรมบ่อยๆ ขณะที่สนทนาธรรมจะเห็นได้ว่า มีข้อธรรมมากมายที่ละเอียดต่างๆ ปรากฏ ทำให้ได้สนทนาในความละเอียดของธรรมนั้น นี่เป็นการเกื้อกูลให้เกิดความสลด จิตสังเวช แต่ว่าโสมนัส ไม่ใช่เป็นทุกข์โทมนัส เพราะว่าทุกข์ โทมนัสไม่เกิดกับกุศลจิต แม้จะเป็นความสังเวช แต่ประกอบด้วยปัญญาที่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงโสมนัสในการที่ปัญญาได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะ แล้วได้หายไปในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม ประหนึ่งว่าบุรุษที่มีกำลังเหยียดแขนที่งอออกไป หรืองอแขนที่เหยียดเข้ามา ฉะนั้น ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะหลีกไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ พระสมณะนั้น เป็นพระผู้มีพระภาค ผู้พระศาสดาของพระองค์หรือหนอ
ท้าวสักกะตรัสว่า
ดูกร เหล่าเทพธิดาผู้นฤทุกข์ พระสมณะนั้น ไม่ใช่พระผู้มีพระภาค ผู้พระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นสพรหมจารีของเรา
เมื่อเห็นอิทธิฤทธิ์ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็เข้าใจว่า ผู้ที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างนั้นได้ คงจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งความจริงแล้ว เป็นพระอัครสาวก
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะไปสู่วิหารบุพพารามแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ถ. ขอให้แสดงการเจริญสติเป็นปกติให้ชัดกว่านี้ พร้อมยกตัวอย่างด้วย
สุ. คำว่า สติ ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติ คืออย่างไร
สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นสติขั้นทาน ก็ระลึกเป็นไปในการบริจาควัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น นั่นก็เป็นสติ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สติขั้นศีลก็ปรากฏเป็นการงดเว้น วิรัติทุจริตกรรมต่างๆ ในขณะที่งดเว้น วิรัติทุจริตกรรม ให้ทราบว่า เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในศีล ขณะนั้นจึงเกิดการงดเว้นขึ้น และเวลาที่จิตใจไม่สงบ ปัญญารู้ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากอกุศลนั้นได้ ก็เป็นสติขั้นสมาธิที่ระงับกิเลสเพียงชั่วคราว
แต่สติปัฏฐาน ระลึกเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ขณะที่กำลังเห็นเป็นของจริง แต่ไม่ได้รู้เลยว่า ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางตา นี่คือความไม่รู้
ทุกคนเห็นได้เมื่อมีจักขุปสาท แต่ที่สติเกิดขึ้น คือ ขณะที่กำลังเห็น
รู้ หมายความถึงระลึกจึงรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นเพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา ต้องแยกออกจากกัน
สิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา ที่หลงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีลักษณะที่น่ายินดีพอใจ มีลักษณะที่สวยงามประณีต มีลักษณะที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจทั้งหลายทั้งหมด โดยสภาพตามความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น เพราะกระทบกับจักขุปสาท ถ้าจักขุปสาทไม่มีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาทั้งหมดนี้จะไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ที่เคยแสวงหา พอใจเหลือเกินในรูปที่ปรากฏทางตา ก็เพราะไม่ได้เกิดความระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ว่า เป็นแต่สิ่งที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น
กำลังนั่งอยู่ สัมผัสกระทบที่ใด รู้สึกว่าอ่อนหรือแข็ง ไม่ต้องนึกว่าอ่อน ไม่ต้องนึกว่าแข็ง แต่ว่าลักษณะอ่อน ลักษณะแข็งปรากฏจริงๆ และสติระลึกตรงนั้นเท่านั้น
ตลอดศีรษะจรดเท้ามีเนื้อหนังมังสาที่อ่อนที่นุ่ม แต่ความอ่อนความนุ่มนั้น ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปจดจำ ควบคุม ระลึกถึงสิ่งอื่นที่ไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แต่ต้องรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่ปรากฏทางกาย ตรงที่ปรากฏ
ลักษณะนั้นเป็นรูปที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังปรากฏ เป็นกลิ่นที่กำลังปรากฏ หรือเป็นรสที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นปกติธรรมดา เป็นสัมปชัญญะปกติ อย่าทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น ค่อยๆ อบรมเจริญไปด้วยความเพียร ความอดทนอย่างยิ่ง แต่ว่าเป็นปกติ ก็จะสามารถรู้สภาพธรรมที่เป็นจริงตามปกติ และละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เป็นสังสารวัฏฏ์ได้จริงๆ
ขอตอบจดหมายของท่านผู้หนึ่ง จากบ้านเลขที่ ๔๗ หมู่ ๔ ตำบลหนองโพธิ์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
เรียน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ผมขออภัยโทษอาจารย์ ถ้อยคำที่ผมเรียนถามมาเป็นการรบกวนเวลา และไม่สบอารมณ์อาจารย์แล้ว ขอจงงดโทษให้ผมด้วย ผมเป็นผู้ฟังและคิดปฏิบัติบ้างตามความสามารถของผู้ครองเรือน และเป็นผู้รับมรดกบรรพบุรุษ คือ ชราแล้ว ข้อสงสัยในธรรมที่อาจารย์บรรยายออกอากาศ ผมฟังแล้วคิด เกิดกังขา ไม่รู้จะสนทนากับใคร เพราะเป็นคนบ้านนอก ผมจึงได้เรียนถาม
คำว่า สติปกติ คำนี้เป็นตัวผล หรือตัวมรรค คำแย้งของผมว่า สติปกติเป็นตัวผล แล้วเหตุใดผู้ปฏิบัติจึงได้รับผลก่อนปฏิบัติเหตุ ถ้าสติปกติเป็นเหตุแล้วไซร้ อาจารย์ก็กล่าวว่า ตั้งใจปฏิบัติในศีล สมถะ และวิปัสสนาเป็นอัตตา เป็นการบังคับให้สติเป็นไปตามเจตนา เพราะสติเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ เพราะอาจารย์กล่าวว่า สติเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ผมก็เห็นสมควรด้วย แล้วจะทำอย่างไร สติที่ยังไม่มีในบุคคลที่ปฏิบัติธรรมจึงจะเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติธรรมได้ และอีกอย่างหนึ่ง ผมยังสลดใจอยู่ว่า อาจารย์ตอบจดหมายของผู้อื่นที่มาถามในลักษณะการปฏิบัติว่า ตั้งต้นที่ไหน อย่างไร อาจารย์ก็ตอบว่า ฉันไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปตั้งต้นที่นั่น ที่นี่ ท่านก็แก้ปัญหาในมุมต่างๆ เช่น อาจารย์ยกตัวอย่างรูปนั่ง แล้วก็อธิบายรูปหลายประเภทขึ้นมาลบรูปที่นั่งเสีย ผมฟังอยู่ก็เลยไม่รู้ว่า รูปนั่งนั้นมีลักษณะอย่างไร ผมเข้าใจว่า ผู้ถามคงตั้งใจถามในลักษณะรูปนั่งเท่านั้นว่า มีสภาพอะไรปรากฏขึ้นในเวลาที่เขาจ้องเพ่งดูอยู่ ก็เลยไม่เข้าใจว่า เป็นสภาวะอย่างไรแน่ และผมก็ฟังอีกหลายปัญหาที่ท่านผู้ปฏิบัติเรียนถาม แต่ผมจำคำถามไม่ได้ จำได้แต่อาจารย์ตอบคำถามเหล่านั้นว่า อัตตา ตั้งใจ จงใจ เพราะสติเป็นอนัตตา เป็นอันว่าไม่ถูกตามพระพุทธพจน์ ผมก็ได้รับความรู้อย่างนี้เสมอ
ตกลงว่า ผู้ปฏิบัติอยู่ตามบ้านนอก บ้านป่า ถือเอาข้อธรรมในพระไตรปิฎกบ้าง อรรถกถาบ้าง ฎีกาบ้าง เป็นอันว่าการปฏิบัติของผมไม่ตรงต่อพระพุทธพจน์ทั้งนั้น เพราะอาจารย์กล่าวว่า ผู้เป็นพระอริยะต้องเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นจึงจะเป็นพระอริยะ ผมเศร้าสลดใจอยู่ว่า ไฉนหนอ เราผู้เป็นคฤหัสถ์ครองเรือนจะรู้ธรรม เห็นธรรมดังอาจารย์กล่าวได้ เพราะอาจารย์กล่าวว่า ให้มีสติเป็นปกติ ตามสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า จึงจะรู้ และเห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรม แต่กระผมผู้ศึกษาบ้างเล็กน้อย และสนใจในการฟังอยู่เสมอว่า สติปัฏฐานนี้เป็นโพธิปักขิยธรรม เป็นองค์ตรัสรู้แห่งธรรม ส่วนผมยังเป็นปุถุชนอยู่ อยู่ๆ ก็เข้าสู่สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นองค์ตรัสรู้แห่งธรรมทีเดียวจะได้หรือ เป็นอันว่าล่วงเลยศีล สมาธิ ปัญญาอย่างต่ำ อย่างกลางไปเลย ดังนี้ ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องปฏิบัติธรรมขั้นต้นใดๆ เลย
ผมมีความเห็นดังนี้ อาจารย์จะมีทัศนะอย่างใดกรุณาชี้แจงด้วย ผมจะรับฟัง
อีกทัศนะหนึ่ง ผมมีความเห็นว่า ครั้งพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ท่านโปรดสาวกนับไม่ถ้วน โดยยกข้อธรรมขึ้นโปรดสาวกนับไม่ถ้วน โดยไม่ได้กล่าวว่า ธรรมนี้ชื่อ สติปัฏฐาน ท่านตรัสหัวข้อธรรมมีชื่ออเนกปริยาย ท่านเหล่านั้นก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับไม่ถ้วน ดังนั้น ที่อาจารย์กล่าวว่า บุคคลผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น อาจารย์กล่าวอย่างนี้ มิค้านกันหรืออย่างไร
และอีกข้อหนึ่ง ผมได้เรียนรับรู้ถึงปัจฉิมโอวาทของพระศาสดา ทรงเตือนพุทธบริษัทมีภิกษุเป็นประธานว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม พระองค์ตรัสดังนี้ มิเป็นการบอกให้พุทธบริษัทตั้งเจตนา ตั้งใจปฏิบัติในศีล สมถะ และวิปัสสนาหรอกหรือ
ถ้าหากคำดำรัสของพระองค์ เป็นไปให้พุทธบริษัทตั้งเจตนา ปฏิบัติในมรรคก็ดี ในสติปัฏฐานก็ดี ดังนี้แล้วไซร้ ถ้อยคำของอาจารย์ที่กล่าวว่า เป็นอัตตา ตั้งใจ หรือเจตนาให้สติเป็นไปตามบังคับไม่ได้ ดังนี้ คำอาจารย์กล่าว กับโอวาทพระองค์ดำรัสให้บริษัทยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนั้น จะตรงกัน หรือไม่ตรงกันอย่างไร จงให้ความสว่างแก่คนบ้านนอกคอกนาอย่างผมด้วย จะเป็นพระคุณยิ่งๆ จะไม่ลืมอาจารย์สุจินต์เลย
สุ. ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างสำหรับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งความจริงจดหมายของท่านผู้ฟังก่อนๆ ที่เคยเขียนมา ก็ได้เรียนชี้แจงให้ฟังในเหตุผลแล้ว ถ้าท่านรับฟังหลายๆ ครั้งตามที่ออกอากาศ ทบทวน และพิจารณาโดยละเอียด ก็จะเข้าใจได้
ที่ท่านเขียนมาว่า
อีกข้อหนึ่ง ผมได้เรียนรับรู้ถึงปัจฉิมโอวาทของพระศาสดา ทรงเตือนพุทธบริษัทมีภิกษุเป็นประธานว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
ซึ่งท่านผู้ฟังท่านนี้มีความเห็นว่า พระองค์ตรัสดังนี้ มิเป็นการบอกให้พุทธบริษัทตั้งเจตนา ตั้งใจปฏิบัติในศีล สมถะ และวิปัสสนาหรอกหรือ ถ้าหากว่าคำดำรัสของพระองค์เป็นไปให้พุทธบริษัทตั้งเจตนา ปฏิบัติในมรรคก็ดี ในสติปัฏฐานก็ดี ดังนี้แล้วไซร้ ถ้อยคำของอาจารย์ที่กล่าวว่า เป็นอัตตา ตั้งใจ หรือเจตนาให้สติเป็นไปตามบังคับไม่ได้ ดังนี้ คำอาจารย์กล่าว กับโอวาทพระองค์ดำรัสให้บริษัทยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนั้น จะตรงกัน หรือไม่ตรงกันอย่างไร
ถ้าท่านผู้ฟังทราบเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ก็จะทราบได้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น ไม่มีเจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคประทานปัจฉิมโอวาทว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาท คือ สติ ไม่ใช่เจตนา
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน มีความเข้าใจในสภาพธรรมทั้งหลายว่า ธรรมทั้งหลายแม้สติก็เป็นอนัตตา พระปัจฉิมโอวาทนี้ ทันทีที่ได้ฟัง เป็นเครื่องเตือนให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือ ความไม่ประมาท นี่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน
เรื่องของธรรม ต้องพิจารณาโดยละเอียด ให้รอบคอบ ให้สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก และตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ท่านผู้ฟังอาจจะข้องใจว่า ทำไมสติปัฏฐานจึงไม่มีการตั้งต้น
ธรรมทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย แต่เวลาที่ท่านมีความจงใจ ตั้งใจที่จะตั้งต้น ในขณะนั้นท่านสามารถที่จะรู้เหตุปัจจัยของสติ หรือของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้หรือไม่