แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376


พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอาหาร คือ ปัจจัยของสภาพธรรมทั้งหลายไว้โดยละเอียด ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ตัณหาสูตรข้อ ๖๒ พระผู้มีพระภาคตรัส มีข้อความตอนหนึ่งว่า

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ท่านที่กำลังหลงลืมสติ คือ สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ต้องมีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ

ท่านทราบว่า สติเป็นคุณธรรม เป็นโสภณธรรม มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่รู้ จะให้สติเกิดตามความคิด ตามความต้องการ ตามความจงใจที่จะให้สติเกิดเดี๋ยวนี้ ได้หรือไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ข้อความต่อไป

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในในใจโดยไม่แยบคาย

การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย คือ การพิจารณาธรรมโดยไม่แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่า ความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

บางท่านอาจจะบอกว่า ท่านฟัง แต่ท่านจะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งที่ท่านฟังนี้

เป็นสัทธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงหรือเปล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัตบุรุษ

ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านก็คบสัตบุรุษ แต่ว่าทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่า บุคคลที่ท่านคบนั้นเป็นสัตบุรุษ หรือว่ามิใช่สัตบุรุษ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์

การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์

ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์

ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์

นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชาที่บริบูรณ์ ย่อมยังภวตัณหาให้บริบูรณ์

ภวตัณหานี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ออกจากภพชาติสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า ภวตัณหานี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ความยินดีในภพ ในชาติ จะต้องมีต่อไป ตราบใดที่ อวิชชาที่บริบูรณ์ ย่อมยังภวตัณหาให้บริบูรณ์

อวิชชา คือ การไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะไปเพียรจงใจตั้งต้นทำอะไรก็ตาม โดยที่ไม่รู้ว่าสติเป็นอนัตตา และสติปัฏฐานนั้นจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ

ขณะนี้กำลังเห็น รู้จริงหรือยังในสภาพธรรมที่กำลังเห็นอยู่ ถ้ายังไม่รู้ ก็เป็นอวิชชา เมื่อยังมีความปรารถนา ความต้องการในภพชาติอยู่ ไม่สามารถที่จะละคลายความต้องการในภพชาติด้วยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้เลย

ขอให้ท่านเป็นผู้ตรงว่า ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือไม่ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ที่จะละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น การเจริญอบรมอย่างไร ที่จะทำให้สามารถเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็ม ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนี้ มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... อวิชชาที่บริบูรณ์ย่อมยังภวตัณหาให้บริบูรณ์ ภวตัณหานี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน

ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมสูตรนี้ไหมหรือว่าไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย แต่ความจริงแล้ว พระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงความละเอียดของทั้งอวิชชาและวิชชาว่า อวิชชาก็ละเอียด เต็มไปหมดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่อาศัยการมีศรัทธา การฟังสัทธรรม การพิจารณาโดยแยบคาย ก็ไม่สามารถที่จะมีอาหารให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น การที่สติจะเกิด ไม่ใช่ว่าจงใจจะให้สติเกิด สติก็เกิด แต่ต้องอาศัยอาหารของการที่สติจะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงอาหารของวิชชาและวิมุตติ ซึ่งท่านผู้ฟังควรที่จะทราบว่า วิชชา ความรู้แจ้ง และวิมุตติ การหลุดพ้นจากอวิชชานั้น จะเกิดมีได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗

คำว่า โพชฌงค์ ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อย คือ องค์ของการตรัสรู้ ท่านที่ศึกษาเรื่องของการเจริญสมถภาวนา ก็ทราบว่า การที่จะให้จิตสงบ ละนิวรณธรรม คือ ธรรมที่เป็นนิวรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยองค์ธรรมซึ่งได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพื่อให้จิตมั่นคงเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาที่เป็นปฐมฌาน

ฉันใด การที่จะให้ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะต้องอาศัยองค์ของการตรัสรู้ คือ โพชฌงค์ ๗ ซึ่งจะขาดสติไม่ได้ และที่จะใช้คำว่าโพชฌงค์ได้ หมายความถึงโพชฌงค์ทั้ง ๗ นั้น ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีสติสัมปยุตต์ด้วยวิปัสสนา หมายความว่า เป็นวิปัสสนาญาณ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นเหตุที่จะต้องอบรม ที่จะต้องเจริญ เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งสภาพธรรม แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม โพชฌงค์ก็ย่อมมีไม่ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ท่านที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว บางครั้งสติเกิด บางครั้งสติไม่เกิด บางวันสติอาจจะเกิดบ่อย บางวันสติเกิดน้อย ที่เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

ถ้ามีการสำรวม มีการระวังทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะระลึกรู้สภาพของธรรมที่เกิด ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสุจริต ไม่ใช่ทุจริต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ

ท่านผู้ฟังชินกับคำว่า สติสัมปชัญญะ และเข้าใจความหมายโดยทั่วไปด้วยว่า สติสัมปชัญญะหมายความถึงสติสัมปชัญญะเป็นปกติ ตามปกติ ไม่ใช่ไปทำให้ผิดปกติ นั่งๆ อยู่ ก็เข้าใจว่าตัวลอยขึ้นไป อย่างนั้นไม่แสดงว่าเป็นสติสัมปชัญญะ

แต่สติสัมปชัญญะ กำลังนั่งอยู่ตามปกติ จะคิด จะนึก จะเห็น จะได้ยิน ไม่คลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ และรู้สึกตัวในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ได้บิดเบือนให้สภาพธรรมกลับกลายไปเป็นอย่างอื่น เช่น กำลังนั่งอยู่ จะให้คิดเหมือนกับว่าลอยขึ้นไป อย่างนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะต้องเป็นการรู้สึกตัวตามปกติ ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ถ้าเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไปทำบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นขึ้นมากลบ หรือปิดบังไม่ให้เห็นสภาพธรรมที่เกิดและปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงไหม

กำลังเห็นขณะนี้จริงอย่างไร ระลึกรู้ตามธรรมดา ตามปกติ ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา

แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

ท่านผู้ฟังมีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าไม่ต้องการจะรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเครื่องแสดงว่า ท่านมีศรัทธาหรือยัง ถ้ามีศรัทธา ปกติทางกาย อ่อนแข็ง เย็นร้อน ของจริงที่กำลังปรากฏ มีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นปรมัตถธรรม ในขณะนั้นชื่อว่ามีศรัทธา แต่ถ้าเห็นเป็นอย่างอื่น เข้าใจเป็นอย่างอื่น คิดเป็นอย่างอื่น ที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ชื่อว่ามีศรัทธาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะตรวจสอบได้โดยละเอียดถึงอาหารของสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

ที่กำลังฟังอยู่ คือ ตัณหาสูตร ที่พระผู้พระภาคตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลาย เป็นสัทธรรม หรือมิใช่สัทธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่อาศัยการฟัง ก็อาจจะเข้าใจอาหารของธรรมทั้งหลายเป็นอย่างอื่นไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ

สัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่คบหาสัปบุรุษ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์

การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์

สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็ม ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนี้ มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ฯลฯ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

จบตัณหาสูตรที่ ๒

ท่านผู้ฟังเห็นว่า นี่เป็นการเจริญเหตุหรือเปล่า

ผล คือ มหาสมุทรสาครจะเต็มได้เพราะอะไร ถ้าฝนไม่ตกหนักๆ น้ำจะไหลไปตามที่ลุ่มไหม จะยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็มได้ไหม และถ้าซอกเขา ลำธาร และห้วยไม่เต็ม หนองไม่เต็ม บึงไม่เต็ม แม่น้ำน้อยไม่เต็ม แม่น้ำใหญ่ไม่เต็ม ก็ย่อมไม่มีมหาสมุทรสาคร

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะต้องอบรมเจริญเหตุเป็นลำดับ ซึ่งแล้วแต่ว่า ท่านยังขาดความเข้าใจขั้นใดอยู่ ท่านก็ต้องให้มีอาหารของปัจจัยขั้นนั้น เพื่อที่จะได้ยังธรรมขั้นนั้นให้เกิดขึ้น มิฉะนั้น ท่านก็เพียงปรารถนาผล แต่ไม่ทราบว่าผลเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุอย่างไร


หมายเลข  6710
ปรับปรุง  24 พ.ค. 2567