ปกิณณกธรรม ตอนที่ 153


ตอนที่ ๑๕๓

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๖


ท่านอาจารย์ เมื่อภวังคจลนะดับแล้ว โดยอนันตรปัจจัยก็ทำให้ภวังคจิตเกิด ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ ชื่อว่า ภวังคุปัจเฉทะ นี่ก็ยังคงเป็นภวังค์ยังมีอารมณ์เก่ายังไม่ได้รับผลของกรรมอื่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าภวังคุปัจเฉทะดับ เมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับแล้ว จะให้รับผลของกรรมทันทีไมได้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์อะไร ก็มีจิตเกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารไหน นี่คือการเกิดดับสืบต่อแต่ละวาระที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น จิตที่เพียงรู้ว่า อารมณ์กระทบยังไม่ใช่การรับผลของกรรม ไม่ใช่วิบากจิต แต่ทำกิจอาวัชชนะ คือรำพึง หรือรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตนี้ชื่อว่า อาวัชชนจิต แต่เมื่อสามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวาร จึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต ยังไม่ใช่เป็นเป็นการรับผลของกรรม

นี่แสดงความละเอียดของการที่กรรมจะให้ผล ต้องมีอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว หลังจากนั้นวิบากจิต คือ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็น นี่คือในขณะนี้ ค่อยๆ ไป ยังไม่ถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ แต่ให้เข้าใจกระแสของกรรมที่จะให้ผลว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาใดๆ ทั้งสิ้น

การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ความจริง ไม่มีการทำ ไม่มีการเตรียม เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมจิตกำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว สติระลึกขณะไหนได้ทั้งนั้น ไม่มีใครไปจัดสรรให้เห็นเดี๋ยวนี้เกิด ได้ยินเดี๋ยวนี้เกิด คิดนึกเดี๋ยวนี้เกิด แต่มีปัจจัยให้ธรรมเกิดสืบต่อกัน เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นอกุศลจิต เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือว่าเป็นโมหะ ก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วก็มีความเข้าใจถูกว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แล้วถึงจะค่อยๆ เข้าใจประเภทต่างๆ ของจิต

เพราะเหตุว่าวิบากจิตก็ต่างจากกุศลจิต อกุศลจิต เช่น เห็นถ้ามีการระลึกได้จริงๆ รู้ว่า เป็นเพียงขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง ชั่วขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นสภาพรู้ แล้วเวลาที่เกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นก็มีลักษณะของความติดข้องเกิดขึ้น ถ้าสติระลึกก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เห็น แต่เป็นอาการติดข้อง เป็นลักษณะติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ชาติที่ต่างกัน หรือประเภทที่ต่างกันของจิตว่า จิตที่เห็นก็เห็น ทำกุศลอกุศลไม่ได้ มีหน้าที่อย่างเดียวคือเห็นเท่านั้น จะให้จิตเห็นไปคิดใส่บาตร หรือว่าจะไปคิดเมตตากรุณาอะไรก็ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเพียงเห็นเท่านั้นเอง นี่คือหน้าที่ของวิบากทางตา แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วจะเกิดโลภะ จะเกิดโทสะ หรือจะเกิดกุศล นั่นคือจิตที่ไม่ใช่วิบาก

ผู้ฟัง ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต แต่ในขณะเดียวกันเมื่อภวังคุปัจเฉทจิตเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ

ท่านอาจารย์ ยังต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เสร็จแล้วก็มีวิญญาณจิตเกิดขึ้น ซึ่งในขณะที่วิญญาณจิตเกิดขึ้น มีสันตีรณจิต สัมปฏิจฉันนจิต แล้วก็โวฏฐัพพนจิต จิต ๓ ดวงนี้ ก็ไม่ใช่ภวังคจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิตเช่นเดียวกัน

ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต ถ้าไม่ใช่ภวังค์แล้วต้องเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น หลักที่จะจำได้ก็คือว่า ถ้าจะแบ่งจิต อีกประเภทหนึ่ง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นวิถีกับจิตที่ไม่ใช่วิถี แยกได้เลย

เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถี มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ๓ จิตนี้เท่านั้นที่ไม่ใช่วิถีจิต นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด ที่ใช้คำว่าวิถี หมายความว่าอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเพื่อรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น อย่างจักขุวิญญาณ กำลังเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท เพราะฉะนั้น เป็นวิถีจิต อาศัยทวาร แล้วก็มีการเกิดดับสืบต่อที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางทวาร แต่สำหรับภวังคจิตรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวาร จึงไม่ใช่วิถีจิต

ผู้ฟัง ผมเกรงว่าจะค้านกับคำว่า ภวังคจิต เป็นจิตดำรงภพชาติ

ท่านอาจารย์ ดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้อารมณ์ ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น เพราะว่ากิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ การดำรงภพชาติเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ เหมือนกับปฏิสนธิกิจเป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ จุติกิจเป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ กิจเห็นเป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ กิจได้ยินเป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ถ้าทำภวังคกิจ คือไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำจุติกิจ ถ้าทำทัศนกิจ คือ ไม่ได้ทำสวนกิจ ไม่ได้ทำภวังคกิจ ไม่ได้ทำจุติกิจ

ผู้ฟัง เรื่องความหมายของคำว่าภูมิ ที่ว่า หมายถึงระดับขั้นของจิต ในหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” ก็ได้กล่าวต่อไปว่า เป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม หมายความว่าอย่างไร ที่ว่าเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม

ท่านอาจารย์ ให้ความหมายของคำว่า “ภูมิ” ก่อนได้ไหม ไม่ทราบว่าคำนี้เป็นภาษาบาลี แล้วจะมีความหมายอะไรบ้าง เราจะได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย

อ. สมพร ภูมิ ๒ อย่าง ภู - มิ อันนี้หมายความว่า มาจาก ภู ธาตุ แปลว่ามี แปลว่าเป็น ลง มิ ปัจจัย เลยเป็นภูมิ ซึ่งเราเรียกว่า ภูมิ เรียกทับศัพท์ว่าภูมิ มีความหมาย ๒ อย่าง หมายถึงจิตอย่างหนึ่ง หมายถึงที่สัตว์เกิดอีกอย่างหนึ่ง ที่สัตว์เกิดก็หมายความว่าเป็นภูมิ หรือแผ่นดินเราก็เรียกว่าภูมิ ภู-มิ แต่ว่าภูมิที่กล่าวว่าเป็นระดับ เป็นชั้นของจิต อันนี้หมายถึงว่าภูมิที่เกี่ยวกับจิตระดับตั้งแต่ต่ำไปถึงสูง มี ๔ ระดับท่านจึงกล่าวว่าระดับของจิต มี ๔ ตั้งแต่ต่ำไปกระทั่งถึงสูง ภูมิแปลว่าระดับของงจิต

ท่านอาจารย์ ภูมิ มีความหมายกี่ความหมาย

อ. สมพร อีกอันหนึ่งหมายความว่าสถานที่สัตว์เกิด

ท่านอาจารย์ แต่โดยรากศัพท์แปลว่า มี

อ. สมพร แปลว่ามี

ท่านอาจารย์ เป็นได้ไหม

อ. สมพร ทั้งมี ทั้งเป็น ภู แปลว่ามีก็ได้ แปลว่าเป็นก็ได้ แล้วแต่ว่าท่านจะกล่าวไว้ว่าอย่างไร ต้องเอาอย่างเดียว มีก็มี เป็นก็เป็น

ท่านอาจารย์ แต่ที่ใช้คำว่าเป็นภูมิ คือ ระดับของจิตกับสถานที่เกิดของจิต นี่ก็ ๒ ความหมาย

อ. สมพร ก็ได้ เป็นภูมิเป็นระดับของจิต ภูมิหมายความว่าระดับของจิต มี ๔ ระดับมี ๔ ภูมิ ระดับของจิตมี ๔

ท่านอาจารย์ การที่จะศึกษาเรื่องของจิต หรือว่าปรมัตถธรรม สิ่งที่จะไม่ลืมเลยก็คือว่า เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็นในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

จุดประสงค์ของการฟังที่ลืมไม่ได้เลย คือ ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูปเท่านั้น แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจสภาพของจิตขณะนี้ที่กำลังมี เจตสิก และรูปขณะนี้ที่กำลังมี นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมจริงๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีอยู่ แล้วในคราวก่อนเราก็ได้พูดถึงเรื่องจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าจิตในวันหนึ่งๆ ก็มีมาก เมื่อจำแนกโดยชาติ จิตที่เป็นเหตุ คือ เป็นกุศล เหตุที่ดีก็มี จิตที่เป็นเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศลก็มี แล้วก็ยังมีจิตที่เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วมีจิตประเภทที่เป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบากก็มี ซึ่งเราก็คงจะค่อยๆ พูดถึงตามลำดับ

เพราะฉะนั้น วันนี้ที่เราจะจำแนกจิตโดยภูมิ ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับจิตที่เราได้กล่าวถึงแล้ว คือ การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ศึกษาแยกเป็นส่วนๆ แล้วก็ทิ้งไป แต่ว่าสิ่งใดที่ได้ฟังแล้วก็พยายามให้เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะว่าเรื่องของภูมิก็ต้องเกี่ยวกับจิตโดยประเภทที่เรากล่าวถึงแล้ว เช่น กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต จำแนกโดยชาติ ในจิตทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง

ทีนี้ถ้าจะแยกจิตทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง โดยภูมิ คือ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั่นเอง แต่ว่าไม่ได้แยกโดยชาติ แต่ว่ามาแยกโดยระดับขั้น แต่จิตที่จะแยกโดยระดับขั้นก็ไม่พ้นจากชาติทั้ง ๔ เมื่อเรียนเรื่องชาติทั้ง ๔ แล้ว ก็ไม่ลืม แต่เอาชาติทั้ง ๔ ระดับมาจัดระดับเป็นภูมิว่า จิตชาติทั้ง ๔ เป็นระดับขั้นไหนบ้าง เช่น ๔ ภูมิ คือ กามาวจรจิต หรือกามภูมิ เป็นจิตขั้นต่ำที่สุด ขณะนี้เอง ให้ทราบว่า เป็นปกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และเทวดา ซึ่งไม่ใช่พวกรูปพรหมในพรหมโลก ก็จะต้องมีจิตซึ่งเป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น แม้แต่เรื่องภูมิ เราก็จะตั้งต้นโดยการที่ว่า มีระดับขั้นของจิต ๔ ระดับ โดยชื่อก่อน คือ กามภูมิหรือกามาวจรภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต คือ จิตที่วนเวียนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้แต่ใจจะคิดก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จิตประเภทนี้เป็นกามาวจรจิต

อ. สมพร กามาวจรจิต แบ่งออก กาม + อวจร + จิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม คือท่านให้ความหมายไว้หลายอย่าง บางครั้งท่านก็บอกว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปของตัณหา ซึ่งท่านว่าอย่างนั้น แต่ตามศัพท์ ก็แปลว่า กาม หมายความถึงความใคร่ อวจร ท่องเที่ยวไป เป็นที่ท่องเที่ยวไป คือเป็นอารมณ์นั่นเอง หมายความว่าเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตก็ได้ หรือคำว่ากามาวจรจิต เป็นที่ท่องเที่ยวไปของตัณหาก็ได้ ท่านให้ความหมายไว้ ๒ อย่าง เพราะจิตของเราเบื้องต่ำ ส่วนมากมีตัณหามาก

ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตภูมินี้จะไม่พ้นไปจากกาม

อ. สมพร ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส

ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะ จะจำกัดความหมายของคำว่า กาม เป็นกามอารมณ์ ๕ ได้ไหม

อ. สมพร กาม ท่านกล่าวไว้ ๒ อย่าง วัตถุกาม และ กิเลสกาม

วัตถุกาม หมายความว่า จิตมักจะมีวัตถุกามเป็นอารมณ์เสมอ เช่น มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีอะไรอย่างนี้เสมอๆ เรียก วัตถุกาม แล้วท่านให้ความหมายไว้อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่ารูป เสียง กลิ่น รส เมื่อจิตมีอารมณ์เป็นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุให้ตัณหาเกิด ท่านจึงกล่าวว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปของกามตัณหา ท่านบ่งไว้อย่างนี้ มี ๒ นัย

ผู้ฟัง เป็นภูมิของสัมปยุตตธรรมอย่างไร

ท่านอาจารย์ เพราะว่าสัมปยุตตธรรม หมายความถึงจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันนั่นเอง ถ้าใช้คำว่า สัมปยุตต์ โดยสัมปยุตตปัจจัยหรือสัมปยุตตธรรม จะไม่หมายความถึงอย่างอื่นเลยนอกจากจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นระดับขั้นของจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงจิต เราก็จะรวมเจตสิกด้วยทุกครั้ง เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ แล้วเวลาที่พูดถึงเจตสิก ก็จะต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย แต่ว่าแล้วแต่ว่าเราจะเน้นที่เจตสิก หรือเน้นที่จิต แต่เมื่อจิตเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงจิตจะรวมเจตสิกด้วย

ผู้ฟัง ความหมายของภูมิที่หมายถึงระดับขั้นของจิต และเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม เช่น กามาวจรภูมิ อย่างนี้คงจะต้องหมายถึงกามาวจรจิต และเจตสิกที่ประกอบร่วมด้วย

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รวมเจตสิกด้วย

มีข้อสงสัยในเรื่องของกามาวจรภูมิ หรือกามาวจรจิตไหม เพราะเหตุว่าเป็นจิตระดับขั้นต่ำที่สุด ภูมิทั้งหมดมี ๔ ภูมิ คือ ภูมิขั้นต่ำ ได้แก่ กามาวจรจิต หรือกามาวจรภูมิ สูงขึ้นไปกว่านั้น คือ รูปาวจรจิต สูงขึ้นไปกว่านั้น คือ อรูปาวจรจิต และสูงสุดคือโลกุตตรจิต

ระดับขั้นของจิตมี ๔ ขั้น กามาวจรจิต ๑ รูปาวจรจิต ๑ อรูปาวจรจิต ๑ โลกุตตรจิต ๑ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความจริงที่ว่า ทุกวันในชีวิตของเราไม่พ้นจากกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าตราบใดที่ไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่รูปฌาน ไม่ใช่อรูปฌาน ไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้วต้องเป็นกามาวจรจิต

ผู้ฟัง จิตโดดๆ นั้นไม่มีอะไร ไม่เดือดร้อน แต่พอมีความคิดเกิดขึ้น เห็นแล้วคิดเกิดขึ้น คิดในทางกามก็ได้ คิดในทางที่ไม่ใช่กามก็ได้ หมายถึงปัญญาแล้ว ถ้าพ้นจากกามที่เราอยู่นั้น ผมอยากจะขอใคร่เรียนถามว่า เราพูดเรื่องจิต แต่จริงๆ แล้วเหตุมันไม่ใช่จิต ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ เรามีจิต แล้วเรายังไม่รู้จักจิต ทั้งๆ ที่พูดเรื่องจิต ในขณะนี้จิตก็กำลังทำงานเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตคิดนึกต่างๆ เพราะฉะนั้น การที่เราพูดเรื่องภูมิของจิต ก็จะได้ทราบว่า ไม่ใช่มีเพียงภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตเท่าที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังมีจิตมากกว่านั้นอีก คือ จิตที่ระดับสูงกว่านี้ก็มี ที่ได้อบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงฌานจิต พ้นจากการที่จะรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ทั้งหลาย จิตระดับนั้นเป็นรูปาวจรจิต หรือจะใช้คำว่ารูปภูมิก็ได้

ภูมิไม่ได้หมายความสิ่งที่เลื่อนลอย แต่หมายความว่าจิตที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นจิตระดับไหน จึงจัดประเภทของจิต ๘๙ ประเภท เป็น ๔ ภูมิ

กามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท หรือ ๕๔ ดวง

รูปาวจรจิตมี ๑๕ ดวงหรือ ๑๕ ประเภท

อรูปาวจรจิตมี ๑๒ ประเภท

โลกุตตรจิตมี ๘ ประเภทหรือ ๔๐ ประเภท

เพื่อที่จะให้เราเข้าใจจิตในขณะนี้ แล้วจะได้รู้ว่า มีระดับของจิตที่สูงกว่าจิตที่เป็นกามาวจรจิตในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึกในขณะนี้

ผู้ฟัง กามวจรจิต ๕๔ รูปาวจรภูมิ ๑๕ อรูปาวจรจิตมี ๑๒ เป็นโลกุตตรจิตมี ๘ หรือ ๔๐ พูดถึงระดับขั้นของจิต กามวจรจิต ๕๔ ซึ่งประกอบด้วยอกุศลจิต ๑๒ ในอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภะ ๘ โมหะ ๒ โทสะ ๒ แล้วก็มีอเหตุกจิต ๑๘ แล้วก็มีมหากุศล ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘ เหล่านี้เรียกว่ากามาวจรจิต ๕๔ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สัตว์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ ภูมิอันเป็นที่เกิดมนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ และอบายภูมิ ๔ เพราะมีอกุศลจิต ๑๒ อบายภูมิทั้ง ๔ จึงมีภูมิอันเป็นที่เกิด

ผมคิดเปรียบเทียบเอาเอง เช่น มีคนทำผิดกฎหมาย เขาจึงสร้างคุกตะรางไว้ รองรับคนที่ทำผิด เหมือนกับว่ามีอกุศลจิต ๑๒ เป็นเหตุ มีอบายภูมิ ๔ เป็นภูมิอันเป็นที่อุบัติบังเกิดของสัตว์ที่กระทำอกุศลกรรม คือ มันต้องควบคู่กัน ระหว่างระดับจิตแล้วก็ผล คือ ภพภูมิที่จะไปบังเกิด ถ้าได้รูปฌานก็ต้องไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ถ้าได้อรูปฌานก็ไปเกิดในอรูปพรหม ๔ ถ้าได้โลกุตตรจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์

ท่านอาจารย์ เมื่อพูดถึงระดับขั้นของจิตภูมิต่างๆ ก็จะต้องไปถึงว่า แล้วจิตเกิดที่ไหน เพราะว่าไม่ใช่มีแต่จิตโดยที่ไม่มีที่เกิด แต่หมายความว่าเมื่อพูดถึงจิตซึ่งเป็นระดับต่างๆ แล้วก็ต้องมีภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของจิตด้วย เช่น โลกมนุษย์ก็เป็นที่เกิดของกามาวจรจิต แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลที่สงบประณีตขึ้น มั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงรูปฌานขั้นต่างๆ แล้วเวลาที่ใกล้จะตายฌานนั้นไม่เสื่อมคือ ฌานจิตสามารถที่จะเกิดก่อนจุติจิตได้ ก็จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิซึ่งสูงกว่ากามภูมิ ๑๑ ภูมิ สำหรับกามภูมิซึ่งกามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท นี่เรายังไม่ได้เรียนเรื่องละเอียด เพียงแต่เราจะจำแนกให้เห็นว่า จิตทุกขณะมีความซับซ้อนมาก คือ นอกจากจะจำแนกโดยชาติ แล้วก็จะจำแนกโดยภูมิ ๒ ความหมาย คือ ระดับขั้นของจิตความหมายหนึ่ง แล้วก็ยังมีที่เกิดของจิตขั้นนั้นๆ ด้วย อย่างรูปพรหมบุคคลซึ่งได้ฌาน แล้วฌานไม่เสื่อม จะไม่เกิดในภูมินี้ จะไม่เกิดในสวรรค์ จะไม่เกิดในมนุษย์ แต่จะมีที่เกิดซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าที่เกิดของจิต ซึ่งเป็นสถานที่ก็มี ตามระดับขั้นของจิตด้วย

ผู้ฟัง ที่เรานั่งอยู่นี่ ภูมิที่เป็นที่นั่งอยู่นี้ เป็นภูมินี้ภูมิเดียวหรือมีภูมิอื่น

ผู้ฟัง ภูมิจริงๆ จะมีได้ก็ต่อเมื่อตาย ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลจิต แม้แต่เป็นมนุษย์ก็สามารถที่จะเป็นรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต หรือโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ได้

ผู้ฟัง สมมติว่าผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานขณะที่จิตเป็นฌานกุศล จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็แล้วแต่ จิตในขณะนั้นหรือว่าชั้นของจิตในขณะนั้นเป็นรูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมิ

ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นกุศล

ผู้ฟัง แต่ก็ยังอยู่ในมนุษย์นี่ อยู่ในโลกนี้ พูดง่ายๆ อยู่ในโลกนี้ เพราะว่าเป็นจิตขั้นกุศล จะไปอยู่ในอรูปพรหมภูมิ หรือรูปพรหมภูมิ จริงๆ ก็ต่อเมื่อ

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นรูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ

ผู้ฟัง ทำหน้าที่ปฏิสนธิเสียก่อน ถึงจะไปเกิดได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฌาน หรือผู้ที่ท่านสำเร็จมรรคผลนิพพาน ชั้นของจิตของท่านก็เป็นกุศล แต่ว่าสำหรับผู้ที่สำเร็จมรรคผล ท่านยังไม่ตาย ท่านก็ได้วิบากแล้ว

ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้ชัด คือ กามาวจรจิตก็มีทั้ง ๔ ชาติ คือ มีทั้งที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา สำหรับกามภูมิ หรือกามาวจรจิต สำหรับรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติเท่านั้น คือ ไม่มีอกุศล อกุศลทั้งหลายไม่เป็นรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิเลย อกุศลต้องเป็นกามภูมิอย่างเดียว ระดับขั้นต่ำสุด


หมายเลข  6720
ปรับปรุง  27 พ.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ