ปกิณณกธรรม ตอนที่ 156
ตอนที่ ๑๕๖
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กุศลจิตอกุศลจิตที่เกิดดับจะเกิดดับซ้ำกันแค่ ๗ ขณะ แต่ถ้าเป็นมหัคคตะแล้วสามารถที่จะเกิดได้นานกว่านั้นมาก
ผู้ฟัง เป็นสภาวะที่ใหญ่ เพราะเกิดดับสืบต่อกันนาน
ท่านอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นไม่มีกิเลส
ผู้ฟัง ไม่มีกิเลส จึงเรียกว่าข่มกิเลสได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากิเลสหมดไป
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพียงแต่สงบ เป็นกุศลจิตอีกขณะหนึ่ง
ผู้ฟัง แล้วมีผลไพบูลย์อย่างไร
ท่านอาจารย์ มีผลไพบูลย์คือว่า ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม จะทำให้ฌานจิตเกิดก่อนจะจุติ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล ที่เราเรียกว่าพระพรหม ไม่ใช่เทวดาชั้นกามาวจรภูมิ แต่ต้องเป็นพรหมบุคคลที่เกิดในรูปพรหมภูมิ สูงกว่าเทวดา ๖ ชั้น เพราะว่าเป็นผลของกุศลที่ใหญ่จริงๆ คือ สามารถที่จะระงับกิเลสได้ ซึ่งกิเลสจะเห็นได้ว่า ถ้ายังเห็นอยู่ เป็นไปไม่ได้เลยที่กุศลจิตจะเกิดในวันหนึ่งๆ มากกว่าอกุศล ในชีวิตประจำวัน จริงๆ ที่เห็น ที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก คงจะไม่มีใครกล้าที่จะบอกว่า กุศลจิตเกิดมากกว่า แต่สำหรับมหัคคตจิต ขณะที่เป็นฌานจิตขณะแรกที่ได้ฌาน จริง ฌานจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ อุตสาห์อบรมความสงบของจิตจนกระทั่งค่อยๆ เป็นสมาธิสูงขึ้น มั่นคงขึ้น สงบขึ้น จากปกติธรรมดา เป็นอุปจารสมาธิ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต ก็จะเห็นได้ว่ายาก แต่เวลาฌานจิตเกิดครั้งแรกเพียงชั่วขณะเดียว ยังไม่มีกำลังเลย ต้องมีความสามารถ มีวสี ที่จะอบรมจนกระทั่งเป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน ในการออกจากฌาน ในการตั้งอยู่ในฌาน
นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ จะบอกว่าได้ฌานจิต โดยที่ไม่มีปัญญาอะไรเลย แล้วก็ไม่ได้อบรมอย่างถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้น ผลใหญ่ก็คือว่าเมื่อเป็นกุศลซึ่งระงับจากอกุศลได้มาก ได้มั่นคง จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นฌานจิตเกิดก่อนจุติ คนนั้นก็ได้ผลที่ไพบูลย์ คือว่าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ซึ่งเวลาที่เป็นรูปพรหมบุคคล มีตา มีหู แต่ไม่มีจมูก ลิ้น กาย ที่นี่หมายความถึงปสาท คือไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท ก็สบาย ไม่ป่วยไข้ ไม่เดือดร้อน ไม่หิว
ผู้ฟัง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายๆ เลย มีแง่คิดอะไร หรือทัศนะอะไรเกี่ยวกับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต
อ. สมพร รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต เป็นลำดับจิตที่ดีกว่า ที่บอกว่าประเสริฐ คือ รูปาวจรจิตเป็นจิตที่ประเสริฐกว่ากามาวจรจิต อรูปาวจรจิตเป็นจิตที่ประเสริฐกว่ารูปาวจรจิต เพราะจิตนี้เกิดตามลำดับขั้นของจิต ที่เรียกว่าภูมิ ภูมิ ลำดับของจิต พวกเรามีกามาวจรจิตบริบูรณ์ แต่ไม่มีรูปาวจรจิต เพราะเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน จิตเราก็เปลี่ยนไปตามอำนาจกรรมที่ทำให้เราเห็น เห็นชอบใจ จิตเราก็เปลี่ยนไปแล้ว เห็นชอบใจ หรือเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ จิตเราก็เปลี่ยนไปตามนั้น ทั้งๆ ที่จิตเกิดติดต่อกันไปหลายดวงแต่เราก็ไม่รู้สึกเลย กามาวจรจิตเป็นจิตที่ติดต่อเสมือนหนึ่งเป็นจิตดวงเดียวกัน แท้จริงการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น เป็นจิตคนละดวง ไม่เหมือนรูปาวจรจิต รูปาวจรจิตเป็นจิตที่มั่นคงในกุศล กุศลหมายความว่า เมื่อกำลังเข้าฌานอยู่ ฌานกำลังเป็นไปอยู่ กุศลเกิดติดต่อกันไป ๑ วัน กุศลเกิด ๑ วัน เป็นกุศลจิตที่มีกำลังนับประมาณไม่ได้ ถ้าเป็นคนนั้นได้ฌานชำนาญแล้ว กุศลที่เกี่ยวกับฌาน หรือเรียกว่ารูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในรูป มีรูปเป็นอารมณ์ จึงเป็นจิตที่ประเสริฐกว่ากามาวจรจิต แต่ว่าเป็นสิ่งที่ได้ยาก ได้ยากแล้วก็เสื่อมง่ายด้วย ได้ยากแล้วก็เสื่อมยาก ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ได้ยากแล้วก็เสื่อมง่าย ดังนั้นเราควรจะศึกษาสิ่งใดที่จะดีกว่า
ผู้ฟัง คนที่ได้ฌาน ในขณะซึ่งเขาได้ฌาน เขาก็อยู่ในกามภพ คือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับคนที่ยังไม่ได้ฌาน ทีนี้ในขณะที่เขาได้ฌานหมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ทำงานเหมือนกับคนที่ไม่ได้ฌานใช่ไหม หรืออย่างไร
อ. สมพร ขณะที่กำลังเจริญฌานอยู่ หมายความว่ากำลังเข้าฌานอยู่ จิตอื่นๆ ในทวารทั้ง ๕ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้ไม่มีกิจ ไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไร ทางตามีการเห็นเป็นกิจ เมื่อออกจากฌานแล้ว ลืมตาก็มีการเห็น
ผู้ฟัง ออกจากฌานเอง หรือว่าต้องออกจากฌาน เพราะว่าหิวข้าว
อ. สมพร ผู้ที่ได้ฌานชำนาญแล้ว เมื่อเข้าฌานก็กำหนดว่าถึงเวลานั้น หรือวันนี้พรุ่งนี้ กำหนดว่าจะออกจากฌาน กำหนดได้ดั่งใจเรียกว่าได้วสี ๕ ชำนาญในการเข้าฌานออกจากฌาน กำหนดเอาเอง กำหนดว่าจะออกในวันนี้ ออกพรุ่งนี้ ออกเวลาไหน พวกที่ชำนาญกำหนดจิต
ผู้ฟัง กำหนดเวลาได้ ใช่ไหมว่าจะเข้าฌานกี่วัน ถ้าจะกำหนดเกิน ๗ วันก็ได้ ใช่ไหม
อ. สมพร ในพระศาสนานี้เขานิยมแค่ ๗ วัน เพราะว่าพระองค์ตรัสว่าอาหารที่รับประทานครั้งหนึ่ง ก็ยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ ๗ วัน
ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเราดูการทำงานของจิต ในขณะซึ่งเข้าได้ ๗ วัน จิตเป็นกุศล ๗ วัน หมายความว่าจิตเป็นชวนะอยู่ตลอดเวลา และสะสมกุศลทั้ง ๗ วัน
อ. สมพร เป็นชวนะตลอดเวลา เป็นกุศลตลอดเวลา
ผู้ฟัง ดิฉันอยากจะได้ฌานบ้าง
ผู้ฟัง ผู้ที่อยู่ในเทวภูมิ เราเรียกกันว่าเทพหรือเทวดา ไม่ใช่จะติดต่อได้เฉพาะจาตุมหาราชิกาอันเดียว หรือว่าจะติดต่อนิรยภูมิได้ด้วย เปรตภูมิได้ด้วย หรือติดต่อขึ้นไปถึงรูปาวจรภูมิ อาจจะเป็นไปได้ เชิญลงถ้วยเป็นไปได้ บางภพภูมิ แล้ววิธีเข้าทรงก็อาจจะบางภพภูมิ ส่วนทำสมาธิอาจจะทุกภพภูมิเลย อะไรยกตัวอย่าง ผมอยากได้ความกระจ่างว่า อันไหนวิธีไหนใน ๓ วิธีได้กี่ภพภูมิ เฉพาะโอปปาติกะ
ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะหมายความว่า อยากจะทราบว่าการติดต่อระหว่างผู้ที่เป็นเทพกับมนุษย์ สามารถที่จะเป็นไปได้ไหม คงจะต้องตอบโดยกว้างๆ ว่า สำหรับมนุษย์ไม่เห็นเทพ แน่นอนที่สุด ตาธรรมดาไม่สามารถที่จะเห็นเทพได้ แม้จะรู้ว่าเทพมี แต่ก็ไม่เห็น แต่เทพเห็นมนุษย์ได้ แล้วเทพชั้นสูงก็จะเห็นเทพชั้นต่ำลงมาจนกระทั่งถึงมนุษย์ เพราะว่าความละเอียด หรือความเป็นทิพย์ของจักขุ จะประณีตขึ้น
เรื่องของการที่เราจะนึกถึงภพภูมิซึ่งเรามองไม่เห็น ทั้งๆ ที่เรารู้ว่ามี จะนึกสักเท่าไร เทพจะมาหรือไม่มา จะมีหรือไม่มี เป็นสิ่งที่เพียงแต่นึกเท่านั้น เพราะว่าไม่ใช่ญาณวิเศษที่สามารถที่จะติดต่อได้ เพราะฉะนั้น การที่จะติดต่อได้จริงๆ ก็ต้องหมายความว่า คนนั้นต้องได้ฌาน มีความสามารถที่เรียกว่า เมื่อได้ถึงรูปฌาน อรูปฌาน แล้วยังจะต้องฝึกหัด ที่เรียกว่าอบรมที่จะเป็นจักษุทิพย์ จะต้องมีว่าทางทิศไหน จะถึงเทพเฉพาะทางทิศนั้น นี่เป็นส่วนที่คนที่อยากจะเห็น หรือว่าสามารถที่จะเห็น ก็ต้องมีเหตุที่สมควรจริงๆ ที่จะเห็นได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีการพยายามติดต่อกับเทพด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งโดยวิธีต่างๆ นี้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเรา เราเรียกร้องเทพมาไม่ได้เด็ดขาด ไม่มีทางเลยที่เราจะสั่งเทพ หรือเชิญเทพ หรือทำวิธีต่างๆ ที่จะให้เทพมา ต้องเป็นเรื่องของเทพ เพราะฉะนั้น พวกที่มีอิทธิฤทธิ อย่างพวกที่เป็นเทพที่มีพลังจิต แม้ข้อความในพระไตรปิฎกก็มีอย่างสานุสามเณร ท่านก็ประพฤติผิด มีจิตใจที่กระวนกระวาย กระสับกระส่าย มารดาของท่านในอดีตก็เห็นว่า ขณะนั้นควรที่จะได้มาช่วยกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่จะให้สานุสามเณรมีสติระลึกได้ ก็มาเหมือนกับเรียกว่า “เข้า” เราใช้คำว่า “เข้า” แต่เทพจะมาเข้าไม่ได้ เพราะว่าจิตต่างจิต จิตของใครก็จิตของคนนั้น จะมีจิตของใครอีกคนเข้ามาซ้อนอยู่ในตัวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ด้วยกำลังของสมาธิก็จะทำให้ มีกิริยาอาการที่เกิดจากฤทธิ์ของเทพที่จะทำให้คนนั้นมีอาการชัก หรือจะมีอะไรๆ ก็ตามแต่ หรือแม้แต่จะมีเสียงมีคำพูดซึ่งดูต่างกับปกติ แต่ว่าต้องเป็นเรื่องของเทพ ไม่ใช่เรื่องเราคิด ไม่ใช่เรื่องเราทำ ไม่ใช่เรานึก แต่ต้องเป็นเรื่องที่ว่ามีเหตุสมควรแก่เทพที่จะมา หรือไม่มีเหตุสมควรแก่เทพที่จะมา เพราะเหตุว่าเราไม่มีอิทธิฤทธิ์หรืออิทธิพลอะไรที่จะบังคับใครแม้มนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปทำอะไรให้เทพมาก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เชื้อเชิญทั้งวันเทพไม่มาก็ได้ แต่เราคิดว่าเทพมา เราก็คิดเอง หรือเราจะบอกว่ามีเทวดาตั้งมากมาย ใครเห็น แต่คนเชื่อง่าย พอใครบอกว่ามีเทวดามากมาย เชื่อแล้ว ไม่ได้ไปคิดถึงเหตุว่า เขาพูดอย่างนั้นได้อย่างไร มีสติมีปัญญาแค่ไหน ที่จะทำให้สามารถเห็นอย่างนั้นได้ ไม่ใช่ว่าใครบอกอะไรก็เชื่อ ใครบอกว่าระลึกชาติได้ก็เชื่อ ใครบอกว่าเห็นเทพได้ก็เชื่อ ใครบอกว่าเป็นพระอรหันต์ก็เชื่อ โดยไม่มีการสอบถามถึงเหตุที่สมควรจะให้เป็นอย่างนั้นเลย
เรื่องการติดต่อกับเทพ มีทางที่จะเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของเทพ ไม่ใช่เรื่องของเรา แม้แต่ที่เราใช้คำว่าผีถ้วยแก้ว ไม่ใช่เอาเทพมาใส่ในถ้วยแก้ว หรือว่าไม่ได้เอาลงมาที่ถ้วยแก้ว แต่ก็จะต้องเป็นอิทธิฤทธิ์ หรือว่าเป็นพลังจิตที่สามารถจะทำให้มีการเคลื่อนไหวได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นเทพหรือไม่ใช่เทพ แต่เป็นเรา
นี่เป็นเรื่องที่ว่ากระแสไฟฟ้าในตัวก็มี ที่จะทำให้มีวัตถุที่เคลื่อนไหวไปได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินการที่จะพิจารณา ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผล แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่เชื่อง่าย แล้วก็เป็นผู้ที่รู้เหตุที่สมควรว่า แม้ว่าเทพมีพลังจิต หรือว่าไม่ใช่เทพ แม้แต่พวกเปรต อสุรกาย หรือคนที่ตายไปแล้ว จะอยู่ในภพภูมิที่เขาสามารถที่จะปรากฏร่างได้ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเขาไม่เนรมิตรูปหยาบให้เห็น เราจะไปทำผีขึ้นมาให้เห็นก็ทำไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปกติธรรมดา
ผู้ฟัง อย่างปัจจุบันมีสำนักที่เรียกว่าสำนักเข้าทรงอะไรต่างๆ มากมาย แล้วบอกว่าเชิญเทพเชิญเทวดามาเข้าทรง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเชื่อถือ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของเทพที่จะมา ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะเชิญ
ผู้ฟัง ท่านจะมาเองเฉยๆ ก็มาได้หรือ
ท่านอาจารย์ เมื่อมีเหตุที่ท่านจะมา ท่านมา อย่างท่านมาเฝ้าพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า มากราบทูลถามปัญหา หรือว่ามาอนุเคราะห์ สานุสามเณร นั่นเป็นเรื่องของเทพ ไม่ใช่เรื่องของเรา
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นมีสำนักที่เขาเชิญเทพทั้งวันๆ เทพท่านจะมาหรือไม่มาก็เป็นเรื่องของท่าน
ท่านอาจารย์ แล้วใครรู้ว่าเป็นเทพหรือไม่เป็นเทพ หรือคนนั้นเอง
ผู้ฟัง อย่างในโสฬสมานวกะจุลนิทเทส คำว่า ตรง หมายความว่าไม่โอนไป ไม่โน้มไป ไม่โอนไป
ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะไม่มีข้อสงสัยในเรื่องการนั่งขัดสมาธิ นั่งคู้บัลลังก็ ตั้งกายตรง ก็ไม่มีปัญหา
ผู้ฟัง อันนี้คำว่าโน้มไป เมื่อตาเห็นรูป นั่งอยู่ ตาเห็นรูป เกิดความยินดีเรียกว่าโน้มไป นั่งอยู่ในท่า
ท่านอาจารย์ เราคงจะไม่ต้องตามตัวอักษร แต่หมายความว่าเวลาที่ฟังพระธรรมเรา พยายามเข้าใจสาระ คือ อรรถของพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจะเอาตัวอักษรแต่ละตัวมาพูดวันนี้ เราก็คงอยู่ตรงนั่งคู้บัลลังก็ ตั้งกายตรง
ผู้ฟัง พอตาเห็นรูปแล้วโน้มไป เกิดความโอนไป คือความยินดี ยินดีนั้นหมายความว่าโอนไป
ท่านอาจารย์ นั่นคือตามตัวอักษร แต่ทีนี้เราจะพูดถึงเรื่อง ข้อข้องใจของแต่ละท่าน ซึ่งขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่อง ชาติของจิต แล้วก็ภูมิของจิต แสดงให้เห็นว่า จิตที่มีมาก นอกจากจะจัดโดยนัยของชาติ คือ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท เราสามารถที่จะจำแนกออกโดยนัยต่างๆ ใน ๘๙ ดวงจะมีคำบอกว่าเป็นกุศลเท่าไหร่ เป็นอกุศลเท่าไหร่ เป็นวิบากเท่าไหร่ เป็นกิริยาเท่าไหร่ ซึ่งฟังดูแล้วจิต ๘๙ ไม่มาก ๑๒๑ ก็ไม่มาก แต่ว่าจริงๆ แล้ว นี่คือประเภทใหญ่ หมายความว่าอย่างโลภมูลจิตมี ๘ ประเภทใหญ่ๆ แต่ความละเอียดปลีกย่อย ความวิจิตรนั้นนับไม่ถ้วย หรือว่าโทสมูลจิตก็เหมือนกัน ที่ทรงแสดงไว้ว่ามี ๒ ประเภทหรือ ๒ ดวง แต่ว่าความวิจิตรมีมากมายนับไม่ถ้วน
นี่แสดงให้เห็นว่า การประมวลสภาพของจิตของแต่ละคนในแสนโกฏิกัปป์ซึ่งนับประมาณไม่ได้เลย แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกโดยประเภทว่า ในจิต ๘๙ ชนิดนั้น แบ่งจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ เป็นกุศลเท่าไหร่ เป็นอกุศลเท่าไหร่ เป็นวิบากท่าไหร่ เป็นกิริยาเท่าไหร่ โดยการตรัสรู้ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะกระทำได้ หรือไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ได้ เพราะว่าไม่มีใครที่จะมีปัญญาอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง จำแนกอีกนัยหนึ่ง หรือว่าอีกหลายๆ นัย แต่เราจะค่อยๆ เรียนไปทีละนัย คือ โดยชาติ คือการเกิดเป็น กุศล อกุศล วิบาก กิริยา นั่นเรื่องของชาติ ถ้าใครพูดเรื่องกุศล เรารู้ว่าพูดถึงจิตโดยชาติ ถ้าพูดถึงเรื่องโลกุตตรจิต ถ้าพูดอย่างนี้หมายความว่าพูดโดยภูมิ เพราะฉะนั้น การจำแนกจิตนอกจากจะจำแนกโดยชาติแล้ว ก็ยังจำแนกอีกนัยหนึ่ง ซึ่งเรากล่าวถึงในคราวก่อนโดยภูมิ
โดยภูมิคือระดับขั้นของจิต จิตมีหลายระดับขั้น ขั้นต่ำสุด ปกติธรรมดามีอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะในนรก หรือว่าในมนุษย์ หรือว่าที่ใดก็ตาม ที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตใดก็ตามที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะคิดจะนึกก็ไม่พ้นจากเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตนั้นเป็น กามาวจรจิต เพราะฉะนั้น ทุกคนคงจะไม่ปฏิเสธว่า วันหนึ่งๆ มีแต่ระดับขั้นต่ำที่สุดของจิต คือ จิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า กามาวจร มาจากคำว่า กาม กับ อวจร วนเวียนอยู่ เช้า สาย บ่าย ค่ำ ก็เป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือระดับขั้นของจิตขั้นต่ำซึ่งเป็นกามาวจรจิต สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน เห็นเป็นกามาวจรจิต ได้ยินเป็นกามาวจรจิต เทพเทวดาที่เห็นขณะใดที่เห็นขณะนั้นเป็นกามาวจรจิต รูปพรหมได้ยินขณะใด จิตได้ยินของรูปพรหมเป็นกามาวจรจิต รวมความว่าจิตใดก็ตามที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาวจรจิต แต่ว่าจิตระดับสูงกว่านี้มี ไม่ใช่มีแต่พวกเราซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังมีจิตของผู้มีปัญญาที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เห็นว่านำมาซึ่งอกุศลทั้งปวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษจริงๆ จึงอบรมเจริญกุศล ที่ไม่ใช่เป็นไปเพียงขั้นทานกับขั้นศีล แต่เป็นไปที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีกำลังมั่นคงขึ้น
ระดับของจิตอีกระดับหนึ่ง คือ จิตที่สงบจากอกุศล จนกระทั่งมีความสงบมั่นคงเป็นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ถ้ายังไม่ถึงขั้นอัปนาสมาธิซึ่งแนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ จนกระทั่งไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเลย ขณะที่เป็นอัปนาสมาธิเท่านั้นที่เป็นฌานจิต แต่ก่อนที่เป็นฌานจิตต้องเป็นกามาวจรจิตนั่นเอง ที่ค่อยๆ อบรมความสงบ จนกว่าจะพ้นจากกาม แล้วเป็นรูปาวจรจิตซึ่งมี ๕ ขั้นด้วยกัน ชื่อว่ารูปฌาน ๕ ขั้น ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน แต่ว่าบางนัยเป็น ๔ คือ ปฐมฌาน แล้วก็รวมฌานที่ ๒ ที่ ๓ เป็นทุติยฌาน แล้วก็เป็นจตุตฌานโดยนัยของผู้ที่มีความไวที่สามารถที่จะละองค์ของฌานได้ พร้อมกัน ๒ องค์ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่ให้ทราบว่า เรื่องของฌานไม่ใช่เรื่องของคนที่ไร้ปัญญา ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่รู้อะไร และไม่เห็นโทษของอกุศลเลย แล้วมีแต่ความอยาก หรือต้องการที่จะทำสมาธิ ซึ่งโดยลักษณะนั้นถึงฌานจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะความสงบของจิต
ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมกราบเรียนถามว่า ต้องการจะทราบว่าเรื่องของจิต ที่เราไปประพฤติปฏิบัติ ต้องการปฏิบัติจิตให้ไปถึงขั้นที่เป็นรูปฌาน หรือว่าพอสูงขึ้นไปหน่อยเป็นอรูปฌานเหมือนกัน ที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี้นี้ว่า จิตที่เกิดความเบื่อหน่ายเพราะว่าในชีวิตประจำวันมีแต่เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ท่านอาจารย์ เห็นโทษ
ผู้ฟัง เห็นโทษ การที่เห็นโทษอย่างนี้ แล้วไปเจริญสมาธิจนกระทั่งได้รูปฌาน อันนี้ที่ผมบอกว่าปฏิบัติกัน เหมือนกับว่าหลอกให้เรามีความรู้สึกว่าสบาย ทีนี้เรื่องอย่างนี้ในทางปฏิบัติจริงๆ ท่านบอกว่า ต้องมีปัญญา คืออาจารย์บอกว่าต้องมีปัญญาจริงๆ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ถูกแล้ว ความเข้าใจผิดมันก็เป็นไปหมดในเรื่องการปฏิบัติอย่างนี้ ทีนี้ในเรื่องของการที่จะปฏิบัติถูก ผู้ที่ต้องการอยากจะทราบจริงๆ อยากจะรู้ว่าปฏิบัติถูกปฏิบัติอย่างไร ที่จะให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องจริงๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาไม่ได้อยากรู้อย่างนี้ เพราะเหตุว่าผู้มีปัญญาต้องเริ่มจากพิจารณาตัวเองว่า เราเห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือเปล่า วันนี้เรามีอกุศลตั้งเท่าไร คิดดู ลืมตาขึ้นมา มีอกุศลที่ไม่รู้ตัวแล้ว เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็น หลังจากจิตเห็นดับ กุศลหรืออกุศลจิตเกิดต่อ โดยที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับเร็วมาก