แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
ข้อความใน มโนรถปุรณี อธิบายว่า
ถามว่า เวทนา ทราบชัดอย่างไรเวลาเกิดปรากฏ
อธิบายว่า ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณารู้ลักษณะวัตถุ พิจารณารู้ลักษณะอารมณ์ เวทนาชื่อว่า ภิกษุนั้นรู้ชัดเกิดขึ้น รู้ชัดตั้งอยู่ รู้ชัดดับไป
ต้องเป็นสติจริงๆ ที่ระลึกตรงลักษณะของเวทนาที่ปรากฏก่อน และจึงจะรู้ชัดขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ขณะที่ดับไปได้
ข้อความต่อไป
รู้ชัดเกิดขึ้น รู้ชัดตั้งอยู่ รู้ชัดดับไปว่า เกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ แล้วดับไปอย่างนี้ เพราะวัตถุและอารมณ์ ภิกษุนั้นพิจารณาแล้ว แม้ในสัญญา วิตกทั้งหลาย ก็นัยนี้
ข้อว่า ตามเห็นความเกิดขึ้น ความดับไป อุทยัพพยานุปัสสี คือ เห็นอยู่ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ปรากฏ ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่รู้รวมๆ ว่า เป็นนามธรรม รู้รวมๆ ว่าเป็นรูปธรรม อย่างนั้นไม่สามารถประจักษ์ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่มีลักษณะที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ ไม่มีลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะให้รู้
ข้อว่า รูปมีอยู่อย่างนี้ เห็นรูปอย่างนี้ รูปมีอยู่อย่างนี้ รูปมีประมาณเท่านี้ มีอยู่ รูปอื่นนอกจากนี้ไม่มี
เวลาที่พิจารณารู้ลักษณะของรูป รู้อย่างนี้หรือเปล่าว่า รูปมีอยู่อย่างนี้ ขณะนี้อ่อนตรงไหน แข็งตรงไหน รูปมีอยู่อย่างนี้ นั่นเป็นลักษณะของรูป เป็นอาการของรูปเห็นรูปอย่างนี้ รูปมีอยู่อย่างนี้ รูปมีประมาณเท่านี้มีอยู่ รูปอื่นนอกจากนี้ไม่มี ขณะที่กำลังเห็นทางตา รูปอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีไหม ถ้าพิจารณารู้รูปทางตาก็มีลักษณะของรูปทางตาที่กำลังปรากฏให้เห็นอยู่อย่างนี้ รูปอื่นนอกจากนี้ไม่มี ถ้าเป็นเสียงที่กำลังปรากฏทางหู ทิ้งเยื่อใยอย่างอื่นหมด ไม่เอามาต่อเป็นท่านั่ง นอน ยืน เดิน หรือว่าเป็นตัวเราที่กำลังได้ยิน มีสภาวะจริงๆ คือ เสียง สภาพของเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ เฉพาะเสียงเท่านั้น และสติระลึกรู้
เห็นรูปอย่างนี้ รูปมีอยู่อย่างนี้ รูปมีประมาณเท่านี้มีอยู่ รูปอื่นนอกจากนี้ไม่มี แสดงให้เห็นว่า ต้องมีลักษณะของรูปจริงๆ แต่ละลักษณะ และปัญญาที่รู้ชัด ก็ต้องรู้ชัดจริงๆ ในรูปแต่ละชนิดนั้น ไม่ปนกัน ไม่รวมกัน
ข้อความต่อไปมีว่า
ข้อว่า รูป สมุทโย ได้แก่ความเกิดขึ้นแห่งรูป
ยังรู้ละเอียดต่อไปว่า ความเกิดแห่งรูปอย่างนี้
เภโท ท่านประสงค์ว่าดับไป
อตฺถงฺคโม คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้
นี่ในเรื่องของรูป แม้ของเวทนาก็เหมือนกัน ถ้าเป็นสุขเวทนาปรากฏ ขณะนั้นมีทุกขเวทนาอยู่ด้วยได้ไหม ไม่ได้ การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ต้องเห็นว่า เวทนานั้นมีอยู่อย่างนี้ เวทนานั้นมีประมาณเท่านี้มีอยู่ เวทนาอื่นนอกจากนี้ไม่มี นามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดต้องปรากฏ เวลาที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า
ธรรมทั้งหลาย พึงตามเห็นด้วยอำนาจแห่งสลักขณะ และสามัญญลักขณะ
สลักขณะ คือ ลักษณะของรูปทางตาก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของเสียงทางหูก็อย่างหนึ่ง เป็นลักษณะของแต่ละรูปแต่ละนาม ส่วนสามัญญลักขณะของทุกรูป ทุกนามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ที่จะไม่ดับนั้นไม่มี
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า มีประโยชน์อะไรกับการพิจารณาเวทนาตามปกติธรรมดา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เกิดขึ้นแล้วดับไป นั่นเพราะไม่เข้าใจว่า ปัญญาจะต้องรู้ชัดในความเป็นจริงของสภาพธรรมอย่างนี้ ก็เลยเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ในการที่สติจะระลึกรู้
เรื่องของรูป ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า
เมื่อภิกษุพิจารณารู้ลักษณะมหาภูตทั้งสองเหล่านี้ เตโชธาตุส่วนที่หนาย่อมปรากฏที่ท้อง วาโยธาตุที่หนาย่อมปรากฏที่จมูก
เมื่อพิจารณามหาภูตรูปที่กายจะรู้ได้ว่า ส่วนไหนจะปรากฏตรงไหน เวลานี้ยังไม่พูดถึงโผฏฐัพพะที่กระทบ แต่ที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา ที่กำลังทรงอยู่ในอาการที่นั่ง ขณะนี้ กำลังนั่งอยู่ มีอาการของมหาภูตรูปอะไรปรากฏบ้าง ทุกคนรู้ใช่ไหมว่า มีมหาภูตรูป ถ้าไม่มีนั่งได้ไหม นอน ยืน เดินได้หรือเปล่า ก็ไม่มีอะไรที่จะทรงอยู่ในลักษณะที่รู้ว่านั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน แต่ที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ตลอดศีรษะจรดเท้า ไม่พิจารณาตรงที่กระทบ มีอาการของมหาภูตรูปอะไรปรากฏบ้าง มีไหม มี ทุกท่านเหมือนกันหรือเปล่า ไม่เหมือนใช่ไหม บางท่านไม่ปรากฏเลย ปรากฏเฉพาะตรงส่วนที่กระทบเท่านั้นใช่ไหม ลองคิดถึงส่วนที่เป็นหน้า มีมหาภูตรูป ลักษณะอาการอย่างไรปรากฏบ้างไหม ถ้าไม่มีการกระทบสัมผัสเลย ไม่มีใช่ไหม แต่พอมีการกระทบสัมผัส มีลักษณะอาการนั้นปรากฏ
การเจริญสติปัฏฐานนี้ ให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้นึกเอาว่า เป็นมหาภูตรูปไม่ใช่เรา หรืออะไรอย่างนั้น แต่ต้องรู้ตรงลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ และสำหรับผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏที่กาย เตโชธาตุส่วนที่หนาย่อมปรากฏที่ท้อง วาโยธาตุที่หนาย่อมปรากฏที่จมูก
เมื่อภิกษุพิจารณารู้มหาภูต ๔ เหล่านี้อยู่ อุปาทายรูปย่อมปรากฏ ชื่อว่ามหาภูตพิจารณารู้ด้วยอุปาทายรูป อุปาทายรูปพิจารณารู้ด้วยมหาภูต เหมือนอย่างว่า ชื่อว่าแดด กำหนดด้วยเงา เงากำหนดด้วยแดด ฉันใด มหาภูต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณารู้ด้วยอุปาทายรูป อุปาทายรูปพิจารณารู้ด้วยมหาภูตรูป
เพราะฉะนั้น การพิจารณารู้ขันธ์ ๕ ก็คือ การพิจารณารู้รูปและอรูป อายตนะ๑๒ ก็คือขันธ์ ๕ ธาตุ ๑๘ ก็คืออายตนะ ๑๒
ถ้าได้ยินคำว่ารูปและอรูป ในการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่รูปฌาน อรูปฌาน แต่หมายความถึงรูปธรรมและนามธรรม บางครั้งกล่าวถึงนามธรรมด้วยพยัญชนะว่าอรูป
เวลาที่พิจารณารู้มหาภูตรูป ๔ เหล่านี้อยู่ อุปาทายรูปย่อมปรากฏ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของมหาภูตรูป ส่วนที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานปรากฏได้ เช่น ขณะที่ยกมือเคลื่อนไหวไป ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของมหาภูตรูป ส่วนที่ไหวนี้ รู้ได้จริงๆ ว่าเป็นสภาวะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน แต่ไม่นอกเหนือไปจากมหาภูตรูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้แยกกัน ไม่ใช่ว่ามีลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานต่างหากจากมหาภูตรูป เหมือนอย่างว่า ชื่อว่าแดด กำหนดด้วยเงา เงากำหนดด้วยแดด ฉันใด มหาภูต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณารู้ด้วยอุปาทายรูป อุปาทายรูปพิจารณาด้วยมหาภูตรูป
ถ. อุปาทายรูปมีอะไรบ้าง คืออะไร
สุ. อุปาทายรูป คือ รูปที่เกิดกับมหาภูตรูป หรือว่าเป็นอาการ ลักษณะของมหาภูตรูป
รูปทั้งหมดมี ๒๘ เป็นรูปใหญ่ รูปที่เป็นประธาน ๔ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุไฟ ธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป ส่วนรูปอื่นทั้งหมด ที่เกิดกับมหาภูตรูปบ้าง เป็นอาการของมหาภูตรูปบ้าง เป็นลักษณะของมหาภูตรูปบ้าง เป็นอุปาทายรูป มี ๒๔ รูป
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส อธิบายว่า
ภิกษุย่อมพิจารณารู้นามและรูปเป็น ๒ ส่วน ด้วยสามารถขันธ์ อายตนะ ธาตุเหมือนผ่าเหง้าตาลแฝด ภิกษุนั้นพิจารณารู้อยู่ว่า นามรูปเกิดขึ้นเพราะไม่มีเหตุก็หามิได้ เพราะไม่มีปัจจัยก็หามิได้ มีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้น ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยของนามรูปนั้น พิจารณารู้ปัจจัยแห่งนามรูปนั้นว่า นามรูปเกิดขึ้นเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม และอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว ข้ามล่วงความสงสัยในกาลอันยืดยาวทั้ง ๓ ว่า แม้ในอดีต ปัจจัยทั้งหลาย และธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ในอนาคต และปัจจุบัน ปัจจัยทั้งหลายด้วย ธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นด้วย เลยจากนี้ไป ไม่มีสัตว์ หรือบุคคล มีแต่กลุ่มสังขารล้วนๆ เท่านั้น ก็วิปัสสนานี้ มีสังขารเป็นเครื่องพิจารณารู้ ชื่อว่าญาตปริญญา คือ รู้รอบด้วยการพิจารณารู้
นอกจากรู้ลักษณะ ยังรู้ถึงความละเอียดที่เป็นปัจจัย ที่เป็นส่วนประกอบให้เกิดขึ้น
ภิกษุที่กำหนดสังขารทั้งหลายแล้วอย่างนี้ ดำรงอยู่ รากฐานในศาสนาของ พระทศพล ก็ชื่อว่าหยั่งลงแล้ว โอติณฺณ นาม ได้ชื่อว่าได้ที่พึ่งแล้ว ภิกษุนั้นได้นามว่า จุลโสดาบัน มีคติแน่นอน
ขอกล่าวถึงเรื่องของเวทนา เพราะพระคุณเจ้าสงสัยในเรื่องของสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่มีเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีข้อความว่า
จริงอยู่ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เป็นสิ่งปรากฏ ในเวลาใดความสุขเกิดขึ้น ทำให้สรีระทั้งสิ้นกระเพื่อม คลายความตึงเครียด แผ่ซึมซาบไปทั่วสรีระ เหมือนกับเขาให้ดื่มเนยใสที่เขาชำระกรองแล้วถึง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนกับเขาให้ทาน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนกับดับความเร่าร้อนด้วยน้ำตั้ง ๑,๐๐๐ หม้อความสุขย่อมเกิดขึ้นให้เปล่งวาจาว่า สุขจริง สุขจริง
เคยสุขอย่างนี้บ้างไหม ถึงกับเปล่งวาจาอย่างนี้ไหม ถ้าจะเปล่งวาจาอย่างนี้ หรือนึกในใจไม่ออกเสียง ก็ต้องเป็นความสุขที่ซาบซ่าน ซึมซาบไปทั่วสรีระ เหมือนกับเขาให้ดื่ม หรือเคี้ยว หรือบริโภคเนยใสที่เขาชำระกรองแล้วถึง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนกับเขาให้ทาน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนกับดับความเร่าร้อนด้วยน้ำตั้ง ๑,๐๐๐หม้อ ความสุขย่อมเกิดขึ้นให้เปล่งวาจาว่า สุขจริง สุขจริง
ถ้ากำลังเจ็บปวด และมียาที่ทาแล้วรู้สึกสบายขึ้นทันที รู้สึกเหมือนอย่างนั้นไหมสบายจริง เหมือนกับทาน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้งทีเดียว
สำหรับทุกขเวทนาทุกท่านก็คงรู้จักดี
ในเวลาใดความทุกข์เกิดขึ้น ทำให้ร่างกายทั้งสิ้นกระเพื่อม
กระเพื่อมในที่นี้ คือ ต่างจากปกติ
แผ่ไหลไป เหมือนถูกนาบด้วยกระเบื้องร้อน เหมือนกับถูกรดด้วยโลหะแดงเหมือนกำแห่งคบเพลิงไม้ที่ใส่เข้าไปที่ต้นไม้ที่มีหญ้าแห้งในป่า ย่อมเกิดขึ้นให้รำพันว่า ทุกข์จริง ทุกข์จริง
นี่เป็นลักษณะตรงกันข้าม แทนที่จะเป็นทาด้วยน้ำมันที่หุงแล้ว ๑๐๐ ครั้ง ก็กลับกลายเป็นว่า เหมือนถูกนาบด้วยกระเบื้องร้อน เหมือนถูกรดด้วยโลหะแดง เหมือนกำแห่งคบเพลิงไม้ที่ใส่เข้าไปที่ต้นไม้ที่มีหญ้าแห้งในป่า
เป็นอย่างนี้หรือเปล่าเวลาทุกข์ ทุกข์กายก็ได้ ทุกข์ใจก็ได้ ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาประมาณเท่าใดเกิด ทุกขเวทนาประมาณเท่านั้นก็เกิด และสติจึงระลึกรู้
ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกข์เวทนา ย่อมเป็นสิ่งปรากฏ ด้วยประการฉะนี้
ส่วนอทุกขมสุขเวทนา ชี้แจงให้เห็นได้ยาก มืดมัว ไม่แจ่มแจ้ง
ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีข้อความว่า
เมื่อบุคคลถือเอาโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนาเป็นอาการกลางๆ มัชฌัตตากาลภูตา ด้วยสามารถห้ามความยินดีและยินร้าย เพราะความสุขและความทุกข์ปราศจากไป อทุกขมสุขเวทนาก็ปรากฏ
ถ. มีอยู่แต่รู้ได้ยาก
สุ. มีอยู่แต่รู้ได้ยาก ดูหนังจบแล้วเป็นอย่างไร อทุกขมสุข
ข้อความต่อไป ลักษณะของอทุกขมสุขเวทนาที่รู้ยากนี้เหมือนกับอะไร
เหมือนเมื่อพรานตามเนื้อตัวที่หนีขึ้นไปบนหินในระหว่างแล้วหนีไป พบรอยที่แผ่นหิน ส่วนนี้ คือด้านนี้ และส่วนโน้น คือด้านโน้น ถึงไม่เห็นตอนกลาง หรือสันหิน ก็ย่อมกำหนดโดยนัยว่า ขึ้นตรงนี้ลงตรงนี้ ขึ้นตรงนี้ลงตรงนี้ ขึ้นตรงนี้ลงตรงนี้ ไปโดยประเทศนี้ ในกลางแผ่นศิลา ฉันใด ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนา ย่อมปรากฏเหมือนรอยเท้าสัตว์ปรากฏในเวลาขึ้น ความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนา ย่อมปรากฏ เหมือนรอยเท้าสัตว์ปรากฏในที่ๆ มันลง
เมื่อกำหนดโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนาเป็นอาการกลางๆ เพราะปฏิเสธความยินดียินร้าย ในเมื่อสุขและทุกข์ปราศจากไป อทุกขมสุขเวทนาก็เป็นอันปรากฏเช่นเดียวกับการกำหนดโดยนัยว่า เนื้อขึ้นทางด้านนี้ ลงทางด้านนี้ ตรงกลางน่ะมันต้องเดินไปอย่างนี้ คือ เป็นอย่างนี้
นี่คือการที่จะรู้ลักษณะของอทุกขมสุขเวทนา มีจริงๆ ขณะนี้ ถ้าไม่ทุกข์ ก็สุขหรือเฉยๆ ถ้าไม่สุข ก็ทุกข์หรือเฉยๆ ถ้าไม่เฉย ก็ทุกข์หรือสุข แต่ที่จะไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เฉยๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ว่าไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่เฉยๆ คือ เฉยๆ หรือเปล่า
ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข ไม่เฉยๆ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นสุข หรือเป็นทุกข์
ข้อความต่อไป ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีว่า
ในคำว่า รู้ซึ่งสุขเวทนา เป็นต้น ยังมีต่อไปนี้ เป็นปริยายแห่งความรู้อีกประการหนึ่ง
ข้อว่า ย่อมรู้ว่า เราเสวยสุขเวทนา คือ ในขณะแห่งสุขเวทนา เสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้ซึ่งสุขเวทนา เพราะทุกขเวทนาไม่มีในขณะแห่งสุขเวทนา ในข้อนั้น ผู้นั้นย่อมรู้ชัดว่า เพราะทุกขเวทนาที่เคยมีมาก่อน บัดนี้ไม่มี และเพราะไม่มีเวทนาอื่นจากสุขเวทนานี้
นี่เป็นการที่สติระลึกรู้ในลักษณะของสุขเวทนา จึงเห็นเฉพาะสุขเวทนา ในขณะแห่งสุขเวทนา เสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้ซึ่งสุขเวทนา ในขณะนั้นจะรู้เวทนาอื่นไม่ได้ ในข้อนั้น ผู้นั้นย่อมรู้ชัดว่า เพราะทุกขเวทนาที่เคยมีมาก่อน บัดนี้ไม่มี และเพราะไม่มีเวทนาอื่นจากสุขเวทนานี้
ข้อความต่อไปมีว่า
ขึ้นชื่อว่าเวทนา จึงเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกร อัคคิเวสสนะ สมัยใดเสวยสุขเวทนา สมัยนั้นไม่เสวยทุกขเวทนา ไม่เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้นเสวยเวทนาที่เป็นสุขเท่านั้น ดูกร อัคคิเวสสนะ สมัยใดเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ สมัยใดเสวยอทุกขมสุขเวทนา ฯลฯ
ดูกร อัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาไม่เที่ยง ปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา คลายไป จางไป ดับไปเป็นธรรมดา แม้เวทนาอื่นก็เช่นเดียวกัน
ข้อความในอรรถกถาก็ดี หรือในพระไตรปิฎกก็ดี พระผู้มีพระภาคตรัสเต็ม ไม่เว้น ไม่ละไว้ เพื่อให้ผู้ฟังมนสิการ แต่คนสมัยนี้ ถ้าฟังซ้ำรู้สึกอย่างไร อาจจะรู้สึกว่าเบื่อ เพราะอะไร เพราะไม่ได้มนสิการในเวทนาที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เดี๋ยวนั้น
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมนี้ แม้ว่าจะเป็นข้อความเดียวกัน แต่ความรู้สึกของผู้ฟังต่างกัน บางท่านไม่เบื่อ พูดถึงทวารใด เตือนให้สติระลึกรู้ในขณะนั้น ทางนั้นได้หมดทุกทาง