ปกิณณกธรรม ตอนที่ 157
ตอนที่ ๑๕๗
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ เสียงที่กำลังปรากฏทางหูทุกคนรู้ว่าแสนสั้น แต่แม้กระนั้นก็ตาม เมื่อมีการได้ยินแล้ว เสียงยังไม่ทันดับ กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าปกติกุศลจิตไม่เกิด ต้องเป็นอกุศลโดยไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นโลภมูลจิตแล้ว หรือว่าเป็นโทสมูลจิตแล้ว หรือว่าเป็นโมหมูลจิตแล้ว
วันหนึ่งๆ เห็นจริงหรือยังว่า เรามีอกุศลมากแค่ไหน แล้วถ้าไม่เห็นก็ไม่เห็นโทษเลย แล้วถ้าเห็นจริงๆ อยากที่จะพ้นจากอกุศล หรือว่ามีกุศลเพิ่มขึ้นไหม นี่คือสิ่งที่ทุกคนที่ต้องพิจารณา เมื่อรู้ตัวว่ามีอกุศลมาก มีปัญญาที่เห็นโทษ แล้วต้องการที่จะเจริญกุศลขึ้นบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่ต้องการไปให้จิตสงบ แต่หมายความว่า เห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีวิธีใดๆ หรือว่าขณะใดที่จะสงบระงับจากอกุศลได้ เป็นกุศลด้วยทานบ้างด้วยศีลบ้าง หรือว่าด้วยการที่มีเมตตาบ้าง หรือว่าระลึกในสิ่งที่เป็นไปในกุศลบ้าง เคยต้องการอย่างนี้ไหม หรือว่าดูโทรทัศน์สนุกๆ ดีกว่า แล้วก็ทำอะไรๆ ที่น่าเพลิดเพลินมากๆ ก็ดีกว่า ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน
คนที่จะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ใช่ว่าพอได้ยินว่า รูปาวจรจิต ก็อยากจะต้องการวิธีที่ถูกต้องที่จะให้ได้ฌานจิต ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง เห็นอกุศลของตนเอง แล้วก็รู้ว่า กุศลต้องดีกว่าอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตจะเป็นอกุศล ผู้นั้นต้องการไหมที่จะเจริญกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะให้ไปถึงฌานจิต
ผู้ฟัง จะเรียนถาม ทำไมถึงต้องมี ๔ ขั้น
ท่านอาจารย์ เรื่องของโลกุตตรจิต ให้ทราบว่า มีทั้งหมด ๘ ดวง ตายตัว คือว่านอกจากโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามีผลจิต อนาคามีมรรคจิต อนาคามีผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิตแล้ว จิตอื่นแม้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่ชื่อว่า โลกุตตรจิต อย่างนี้ก็ชักจะงงอีก เพราะเหตุว่าทีแรกก็คิดว่า เฉพาะโลกุตตรจิตเท่านั้นที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า กามาวจรจิต คือ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ สามารถที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เช่น โคตรภูจิต ซึ่งเกิดก่อน มรรคจิต ในวิถีที่มรรคจิตจะเกิด คือการที่โสดาปัตติมรรคจิตจะเกิดก็ดี หรือว่าฌานจิตจะเกิดก็ดี จิตเหล่านี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมีปัจจัย อย่างเสียงกระทบหู แล้วจิตได้ยินก็เกิด หรือว่ากลิ่นกระทบจมูกแล้วจิตได้กลิ่นก็เกิด ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องมีการอบรมเจริญด้วยปัญญาเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แล้วไม่ใช่ว่าเล็กน้อยเลย ถ้าเป็นฝ่ายสมถะ ความสงบ ชื่อว่า มหัคคตะ มีผลไพบูลย์ เพราะว่ากว่าจิตจะค่อยๆ สงบ จนกระทั่งสามารถที่จะดับ หรือกั้น ระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นสมถภาวนา ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะประกอบด้วยปัญญาจริงๆ กว่าจิตจะสงบจนกระทั่งถึง อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ
ฌานวิถีก็ดี มรรควิถีก็ดี ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็มีฌานจิตเกิด หรือว่าโลกุตตรจิตเกิด จะต้องมีกามาวจรกุศลซึ่งเป็นญาณสัมปยุตต์เกิดก่อนตามลำดับ ซึ่งเราจะยังไม่กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่า จิตเหล่านี้เกิดตามลำพังไม่ได้
ก่อนที่โสดาปัตติมรรคจิตจะเกิด จิตที่เกิดก่อนเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโคตรภู แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่มรรคจิต ไม่ใช่ผลจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ายังไม่ได้กระทำกิจดับกิเลส เพียงแต่ว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนคำอุปมาที่ว่าคนที่จะไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าเห็นพระองค์อยู่ไกลๆ ยังไม่มีโอกาสที่จะเข้าใกล้ ปราศรัยหรือได้สนทนากันเลย เพียงแต่เห็นฉันใด โคตรภูก็ฉันนั้น จึงไม่สามารถที่จะกระทำกิจดับกิเลสได้ แต่เวลาที่โคตรภูจิตดับไปแล้ว มรรคจิตเกิด ขณะนั้นเองเป็นขณะที่ประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพานโดยดับกิเลส จะใช้คำว่าประจักษ์แจ้งนิพพานโดยดับกิเลส ซึ่งเป็นกิจของมรรคจิต การที่จิตทุกขณะเกิดขึ้นก็ทำกิจแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ตามสภาพของจิตนั้น สำหรับกุศลจิตทั้งหมดก็ทำชวนกิจ แม้แต่โลกุตตรจิต คือ มรรคจิตก็ทำชวนกิจ แต่ไม่ได้ทำชวนกิจอย่างกุศลอื่นๆ แต่ทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะทุกคนจะทราบว่า กว่าจะถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ต้องเห็นโลภะ เพราะเหตุว่าอริยสัจจ์มี ๔ ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทยอริยสัจจะ ถ้าไม่เห็นโลภะ แล้วจะดับโลภะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องเห็นโลภะอย่างละเอียดจริงๆ กว่าจะไปถึงการหน่ายในสังขารทั้งหลาย แล้วมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ แม้ประจักษ์การเกิดขึ้นแล้วดับไปของนามธรรม และรูปธรรม เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ แต่ถ้าขณะใดที่ยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ขอประทานโทษ ผมคิดว่าทุกคนก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า คำว่านิพพานเป็นอารมณ์นั้น จริงๆ แล้วมันเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ ปรมัตธรรมมี ๔ จิตมีไหม มี เพราะเป็นปรมัตธรรมหนึ่ง เจตสิกมีไหม มี เพราะเป็นปรมัตธรรมหนึ่ง รูปมีไหม มี เพราะเป็นปรมัตธรรมหนึ่ง นิพพานมี เพราะว่าเป็นปรมัตธรรม ที่กล่าวถึงแล้วก็มีกามาวจรกุศลซึ่งเกิดก่อน แต่ยังไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ทำกิจดับกิเลส มรรคจิตเกิดขึ้นทำกิจดับกิเลสใด กิเลสนั้นดับเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่แจ้งในลักษณะของนิพพาน ดับกิเลสยังไม่ได้ แม้ว่าจะมีนามรูปซึ่งกำลังเกิดดับเป็นอารมณ์ก็ตาม เยื่อใยของความผูกพัน ความเป็นตัวตน เหนียวแน่นจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิด แม้ว่าจะดับ ก็ยังเกิดอีก เพราะฉะนั้น ให้เห็นความพอใจความติดข้องในสภาพธรรมที่เกิดว่า ไม่มีใครพ้นไปจากความที่จะพอใจอยู่ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดแล้วก็ดับไป นอกจากสภาพธรรมที่เป็นนิพพานเท่านั้นซึ่งไม่เกิด นั่นจึงจะเป็นที่ดับของโลภะ ซึ่งจิตที่ประจักษ์แจ้งได้ก็คือ โลกุตตรจิตเท่านั้น ที่จะดับกิเลสได้ด้วย แล้วเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตเกิดแล้วดับไป จะไม่เกิดอีกเลย โสดาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะในสังสารวัฏฏ์ ดับกิเลสใด กิเลสนั้นไม่เกิดอีก เมื่อประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่งโดยดับกิเลสเป็นสกทามิมรรค สกทามิมรรคก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แล้วก็ไม่เกิดอีกเลย สำหรับผู้ที่เป็นพระสกทาคามี โสดาปัตติผลก็เกิดอีกไม่ได้ หรือว่าโสดาปัตติมรรคจิตก็เกิดอีกไม่ได้ เพราะเหตุว่าโสดาปัตติมรรคผลเกิดแล้วดับกิเลส แล้วก็หมดเลย หมดหน้าที่แล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ส่วนโสดาปัตติผลจิต ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฌาน ก็ยังจะมีการน้อมระลึกถึงโสดาปัตติผลจิต และโสดาปัตติผลจิตก็เกิดขึ้นแทนฌานที่มีอารมณ์อื่น แต่หมายความว่าฌานนั้นมีผลจิต คือ โสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ ชื่อว่าผลสมาบัติ ผลสมาบัติ หมายความว่าต่างจากฌานสมาบัติ ซึ่งฌานสมาบัติจะมีกรรมฐานหนึ่งกรรมฐานใด อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของฌานเป็นอารมณ์ แต่สำหรับผลสมาบัติแล้ว จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลประเภทไหน ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล โสดาปัตติผลจิตก็เกิด ตลอดระหว่างที่เป็นสมาบัติ แล้วแต่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตามโดยไม่มีภวังคจิตคั่นเลย
นี่คือความหมายของสมาบัติซึ่งจะต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จึงจะถึงกาลที่จะให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น โดยไม่มีภวังคจิตเกิดขั้น นี่ก็คงจะเข้าใจตลอดจนไปกระทั่งถึงอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต
ถ้าเข้าใจจริงๆ จะไม่มีความสับสนเรื่องของสุทธาวาสภูมิ เพราะเหตุว่าสุทธาวาสภูมิเป็นภูมิของพระอนาคามีบุคคล ซึ่งถึงรูปปัญจมฌาน ถ้าพระอนาคามีบุคคลซึ่งไม่ถึงรูปปัญจมฌาน ก็เกิดในรูปพรหมภูมิ เพราะเหตุว่าพระอนาคามีบุคคลจะไม่เกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดเลย แต่จะเกิดในพรหมภูมิ แล้วถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้อรูปฌานก็เกิดในรูปพรหมภูมิแล้ว ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้ถึงปัญจมฌานเท่านั้น จึงจะเกิดในสุทธาวาสภูมิ
ปฏิสนธิจิตของพระอนาคามีในสุทธาวาสภูมิ แล้วแต่ระดับขั้นว่าปัญจมฌานมีถึง ๕ ขั้น ๕ ภูมิ สุทธาวาสมี ๕ ภูมิ สุทัสสา สุทัสสี อะไรก็ตามชื่อ จนถึงอกนิฏฐ์ แล้วก็ใครจะเกิดในระดับของภูมิไหนก็เกิดไปด้วยกำลังของฌาน
พระอนาคามีบุคคลปฏิสนธิด้วยฌานจิตในพรหมภูมิ และเมื่ออรหัตตมรรคจิตเกิด บุคคลนั้นก็มีอรหัตตผลจิตเกิดต่อ เป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสภูมิ แต่จะไปเป็นอนาคามิมรรคในสุทธาวาสภูมิไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องจากภูมิอื่น แล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ
ผู้ฟัง ขณะที่เป็นอรหัตตผลขณะนั้นเรียกว่า เป็นโลกุตตรภูมิหรือเปล่า หรือว่าไม่มีภูมิแล้ว
ท่านอาจารย์ จำได้ไหมว่า จิต ๘ ดวงนี้เท่านั้นที่เป็นโลกุตตรจิต เป็นโลกุตตรภูมิ ขอประทานโทษ พระอนาคามีในสุทธาวาสภูมิ มีจักขุวิญญาณ จิตเห็น จักขุวิญญาณของพระอนาคามีในสุทธาวาสภูมิเป็นกามาวจรวิบากจิต จะเป็นรูปวจรวิบากไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกาม เพราะว่าเป็นไปกับรูปทางตาที่เห็น เฉพาะปฏิสนธิจิตเป็นผลของรูปฌานที่ ๕ ที่ทำให้เกิดในสุทธาวาส ภวังคจิตก็เป็นผลของรูปฌานที่ ๕ เหมือนกัน แต่ขณะใดก็ตามที่พระอนาคามีในสุทธาวาสภูมิเห็น จิตเห็นต้องเป็นกามาวจรวิบาก
เพราะฉะนั้น ตายตัว จิตเปลี่ยนไม่ได้ ให้ทราบว่าจิตสั้นมาก เกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เกิดเป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดเป็นกุศลก็เป็นกุศลขณะหนึ่งแล้วดับ เมื่อเกิดเป็นวิบากก็เป็นวิบากขณะหนึ่งแล้วดับนั้น เมื่อเกิดเป็นกามวจรจิตก็เป็นกามวจรจิต ไม่ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ ในนรก ในมนุษย์ หรือที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกามาวจรจิต
ระดับขั้นของจิตตายตัวว่ากามาวจรจิตมีเท่าไหร่ มี ๕๔ รูปาวจรจิตมี ๑๕ คือเป็นกุศล ๕ วิบาก ๕ กิริยา ๕ สำหรับพระอรหันต์ ถ้าเป็นอรูปาวจรภูมิก็มี ๑๒ คือเป็นกุศล ๔ วิบาก ๔ กิริยา ๔ เมื่อเป็นโลกุตตรภูมิแล้วมีเพียง ๘ เท่านี้ก็จำได้ จะจำจากไหนก่อนก็ได้ จะจำโลกุตตรภูมิ ๘ ก่อนก็ได้ว่าจิต ๘ ดวงนี้เท่านั้นที่เป็น โลกุตตรจิต เป็นโลกุตตรภูมิ ไม่ว่าจะเกิดที่มนุษย์ก็เป็นโลกุตตรจิต จะเกิดในสวรรค์ก็เป็นโลกุตตรจิต จะเกิดที่รูปพรหมภูมิก็เป็นโลกุตตรจิต จะเกิดที่อรูปพรหมภูมิก็เป็นโลกุตตรจิต
ผู้ฟัง โลกุตตรจิตกับมหัคคตจิต เราแยกกันใช่ไหม หรือว่าอันเดียวกัน คำว่ามหัคคตจิต ผมฟังแล้วรู้สึกว่า คือ ผู้ที่บรรลุเป็นฌานบุคคล
ท่านอาจารย์ เท่านั้น มหัคคตจิต หมายความถึงจิต ๒๗ ดวง ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวงเท่านั้นที่เป็นมหัคคตะ
ผู้ฟัง ส่วนโลกุตตรจิต หมายความว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ มีนิพพานเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิต ๘ ดวง บุรุษ ๔ คู่ ๘ บุคคล
ผู้ฟัง โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ มรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ ทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท มรรคจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วดับไป ผลจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น แล้วยังมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ ผลจิตเกิด ๒ หรือ ๓ ขณะขึ้นไปใน ๗ ขณะของชวนจิตเดียวกับมรรคจิต เพราะฉะนั้น จิต ๒ ดวงจะเกิดติดต่อกันทันที ก็จะเกิดชาติเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ กุศลชาติ และวิบากชาติ ทำไมจึงไม่มีกิริยาชาติ
ท่านอาจารย์ เพราะวิบากเป็นผลของกุศล เมื่อโลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุศลเกิดสืบต่อทันทีเท่านั้น จะไม่มีการเกิดแบบ มหากิริยา หรือว่ารูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยาเกิดอีก
ผู้ฟัง เหตุผลก็เพราะว่าเป็นจิต ๒ ดวงเกิดติดกัน
ท่านอาจารย์ เป็นผล เป็นเหตุกับเป็นผล เท่านั้น
ผู้ฟัง แต่ทีนี้ มันก็มีอย่างทางมโนทวารก็มี มันก็เป็นเหตุ เป็นผลที่ติดกัน เช่นมโนทวาราวชนจิต เสร็จแล้วก็มาชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลทั้งหลาย แล้วต่อด้วยตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากจิต ก็เกิดติดกัน แต่ทำไมยังมีกิริยาอยู่
ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่เกี่ยวกับติดหรือไม่ติด แต่หมายความว่าโลกุตตรจิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ให้ผลเป็นโลกุตตรวิบาก เท่านั้น มีจิตเพียง ๒ ชาติ เพราะเหตุว่ากุศลอื่นเกิดบ่อยๆ แต่ว่าเวลาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อกุศลไม่มี จิตนั้นก็เป็นกิริยา ก็ยังเป็นกุศลซึ่งอาจจะเกิดได้อีกบ่อยๆ แต่เนื่องจากว่า กุศลนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดผลอีก เพราะฉะนั้น จึงเป็นชาติกิริยา เหมือนผลไม้ซึ่งตัดโคนหรือรากแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นเหตุ
ผู้ฟัง นั่นก็หมายความว่า กิริยามันไม่เป็นทั้งเหตุทั้งผล เพราะฉะนั้น ในโลกุตตรจิตจึงไม่มี
ท่านอาจารย์ กิริยาไม่ใช่กุศล และกิริยาไม่ใช่วิบาก
ผู้ฟัง เป็นจิตที่เป็นเหตุ และเป็นจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้น ในโลกุตตรจิตจะมีจิตที่เป็นเหตุคือกุศล และจิตที่เป็นผลคือวิบากเท่านั้น เรื่องการรับผลของโลกุตตรกุศล ต่างกับการรับผลของผลที่ได้รับผลของกุศล อื่นๆ เช่น ทาน ศีล และสมถภาวนา ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เพราะโลกุตตรกุศลเป็นจิตซึ่งดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เท่ากับดับภพชาติการเกิด เพราะฉะนั้นวิบากของเขาจะไม่ทำกิจปฏิสนธิ เหมือนอย่างกับวิบากอื่น และไม่มีการที่จะให้ผลหลังจากนั้นด้วย เพราะเหตุว่าการที่ผลจิตจะเกิดอีก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมีผลเหมือนอย่างกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนี้ ต้องเป็นผลซึ่งมาจากเหตุ ซึ่งเป็นโลกุตตระ คือเป็นผลของโลกุตตรกุศล เหมือนอย่างรูปาวจรวิบาก ก็ไม่ใช่ว่าคนที่ทำฌานจิตจนถึงรูปาวจรจิต แล้วก็อยู่ดีๆ รูปาวจรวิบากจิตก็จะเกิดขึ้นมาเป็นผล ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าผลต้องมีกิจการงานของผลนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นรูปาวจรวิบากจะทำกิจเพียง ๓ กิจเท่านั้น คือ ปฏิสนธิกิจเป็นรูปพรหมบุคคล แล้วก็ภวังคกิจซึ่งดำรงภพชาติความเป็นรูปพรหมบุคคล แล้วก็จุติกิจซึ่งสิ้นสุดความเป็นสภาพของรูปพรหมบุคคล เพราะฉะนั้น รูปาวจรวิบากก็ทำกิจเพียงเท่านี้ที่เป็นวิบาก สำหรับวิบากของอกุศลกับกุศลก็ทำได้มากกว่า คือ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน
นี่แสดงให้เห็นว่าต้องรู้ประเภทของกุศลด้วยว่า ถ้าเป็นกุศลอย่างรูปาวจรจกุศลทำให้รูปาวจรวิบากทำ ๓ กิจเท่านั้น ผลของอรูปาวจรกุศลก็ทำให้ของอรูปาวจรวิบาก ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ๑ กิจ และของอรูปาวจรวิบากทำกิจเกิดดับดำรงความเป็นอรูปพรหมบุคคลอีกกิจหนึ่ง แล้วก็กิจสุดท้ายก็คือว่าทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นอรูปพรหมบุคคล นี่คือกิจของวิบากจิต
สำหรับโลกุตตรวิบากไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจภวังค์ ไม่ได้ทำกิจจุติเลย เพราะเหตุว่าเป็นผลของโลกุตตรกุศล ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อดับไปแล้ว เป็นเหตุให้เกิดผลซึ่งทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย นี่คือผลของโลกุตตรกุศลจิต ซึ่งทำให้วิบากจิตเป็นผลเกิดขึ้น โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย แต่โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว
จิต ๒ ดวงนี้จึงต่างกัน คือดวงหนึ่งเป็นโลกุตตรกุศลทำกิจดับกิเลส ส่วนอีกดวงไม่ได้ดับกิเลส แต่เกิดขึ้นเป็นผลของจิตที่ดับกิเลสแล้ว แล้วก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นผล นี่คือผลของโลกุตตรกุศล ต่างกับวิบากอื่นๆ
ผู้ฟัง วิบากอื่นๆ ต้องใช้เวลารอ จนกว่าวิบากจิตซึ่งทำปฏิสนธิกิจเกิดจึงจะให้ผล
ท่านอาจารย์ สำหรับรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล แล้วก็สำหรับอกุศล และกุศล ก็ต้องอาศัยกาลเวลา แต่ว่าสำหรับทางฝ่ายกามาวจรกุศลนั้นมีวิบากจิตมากกว่าที่ทำเพียงกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ
ผู้ฟัง เราฟังไปแล้ว จะเรียกอย่างไรว่า ฟังด้วยดี แล้วทำให้เกิดสติปัญญา ก็ตามแต่ หรือจะเรียกว่า เงี่ยโสตลงสดับ อะไรอย่างนี้ ที่มีแสดงเอาไว้ ฟังแล้วให้เกิดผลคือประโยชน์จริงๆ
ท่านอาจารย์ คือฟังแล้วให้เชื่อเรื่องเหตุ และผล เพราะเหตุว่าขณะนี้เองเราก็ทราบว่าที่เกิดมานี่ก็เป็นผลซึ่งจะต้องมีเหตุ แล้วถ้าเกิดในมนุษย์ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม แล้วในโลกนี้ก็มีสัตว์ด้วย ซึ่งคนละภูมิกับเรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดเป็นสัตว์ แล้วทุกคนคงจะทราบว่า เหตุที่จะทำให้เกิดเป็นสัตว์ ไม่ใช่เหตุที่ดี เหมือนอย่างเหตุที่จะให้เป็นคน อกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ คือภูมิที่ไม่สามารถจะเจริญสติปัญญา หรือกุศลทั้งหลายได้เต็มที่ สำหรับกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ซึ่งไม่ใช่มีแต่มนุษย์ เพราะเหตุว่ากรรมๆ หนึ่งซึ่งแต่ละคนทำ บางกรรมก็เป็นกรรมที่ประณีตมาก มีศรัทธาแรงกล้า ประกอบด้วยปัญญา มีหลายระดับขั้น ผลก็ต้องต่างกัน ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องเหตุ และผล จะทราบได้ว่า เมื่อเหตุมีต่างกัน ผลก็ต้องต่างกันด้วย
แม้ว่าเป็นสุคติภูมิก็จำแนกออกเป็นกามสุคติ ได้แก่ มนุษย์ และสวรรค์ แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประณีตกว่านั้น คือ เป็นระดับขั้นของความสงบของจิตที่มั่นคง พ้นจากความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมนั้นก็ทำให้เกิดในภูมิที่เป็นรูปพรหม คือเป็นพรหมที่มีรูป แต่ว่าไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนอย่างในกามสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ระงับความยินดีพอใจ ในกามได้
ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีตกว่านั้น คือ ความสงบของจิตมั่นคงจนกระทั่งไม่ต้องมีรูปเป็นอารมณ์ จิตก็สงบมั่นคงได้ เป็นอรูปฌาน เพราะฉะนั้น ผลก็ต้องทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่ใช่ว่ามนุษย์เราพอรู้ว่า มีภูมิอื่นๆ ก็จะไปเกิดในภูมิอื่นๆ ได้ตามใจชอบ แต่ว่าต้องเป็นไปตามกรรม
ผู้ฟัง เรื่องที่ไม่สามารถจะตามใจที่เราต้องการได้ แต่ต้องเป็นเหตุเป็นผลของการเจริญกุศลแต่ละขั้นตอน