แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385


ผู้ฟัง เรื่องจิตสั่ง หรือจิตไม่สั่ง เหมือนกับเป็นปัญหาโลกแตก ฟังๆ ดูแล้ว ก็ชอบกล จะสั่ง หรือไม่สั่ง ซึ่งภาษาบาลีที่พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มัฏฐกุณฑลีเทวบุตร ภาค ๑ ธรรมบทภาคต้นๆ มีว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ ทุกฺขมนฺวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ ภาษาบาลีพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้

มโน คือ มนะ หรือว่าจิต ปุพพงฺ แปลว่า ก่อน คมา แปลว่า ไป หรือถึง

ธมมา แปลว่า ธรรม

แปลได้ความว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน ท่านว่าอย่างนี้ครับ

ธรรมทั้งหลาย ทั้งนามธรรมและรูปธรรม มีใจถึงก่อน ท่านว่าอย่างนี้

มโนเสฏฐา มีใจประเสริฐ มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ

เฉียดเหมือนกันเรื่องใจสั่ง จิตสั่ง เฉียดเหลือเกิน แต่พิจารณาดูให้ดี มโนเสฏฐา แปลว่า มีใจประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายนั้น มีใจประเสริฐ มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ นี่แปลตามตัว

มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา เมื่อใจเราชั่วแล้ว จะพูด จะทำ ทุกข์นั้นย่อมไปตาม เหมือนอย่างล้อหมุนตามเท้าโคฉะนั้น คือ ตามเท้าโคไป โคเดินไม่ดี ล้อก็เบียด บาลีเป็นอย่างนี้

ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ อย่างนี้คล้ายๆ กับว่า ใจสั่งเหมือนกัน คือ ทุกๆ อย่าง ใจถึงก่อน ใจประเสริฐกว่าอะไรทั้งหมด สำเร็จไปด้วยใจ ถ้าไม่มีใจ ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ บาลีเป็นอย่างนี้ครับ และเท่าที่อ่านมาเท่าที่แปลมานี้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นว่า เฉียดเหลือเกินที่ว่าจิตสั่ง

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ช่วยให้ความรู้ในทางศัพท์ภาษาบาลี

สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าจิตประเภทนั้นไม่เกิด ไม่เป็นสมุฏฐาน รูปนั้นก็เกิดไม่ได้

แต่จิตเกิดพร้อมกับรูปในอุปาทขณะทันที จิตจะมีเวลาสั่งรูปที่เกิดร่วมกันใน อุปาทขณะได้ไหม และจิตขณะต่อไป ก็มีรูปที่เกิดพร้อมในอุปาทขณะที่เป็นจิตตชรูปแล้ว

โดยการศึกษาอย่างละเอียด ไม่ทราบว่า ท่านยังจะคิดว่าจิตสั่งรูปได้อย่างไร แต่ทรงแสดงไว้ว่า จิตเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และได้ทรงแสดงไว้ด้วยว่า จิตประเภทใดเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ จิตประเภทใดไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป

จักขุวิญญาณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปเลย เป็นจิตที่ไม่มีกำลังที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ โสตวิญญาณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้แล้ว จิตอื่นเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป แม้ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ก็เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป ไม่ได้สั่ง

ผู้ฟัง ผมขอเสริมที่ท่านอาจารย์อธิบายไปแล้วที่ว่า จิตสั่งได้ หรือไม่ได้ พระพุทธองค์ท่านตรัสสอนเป็นภาษาบาลีไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตสั่งได้ ก็ขัดกับหลักธรรมข้อนี้

การที่เรายืน เดิน นั่ง นอน หรือพูดได้นี้ ก็เป็นเพราะเหตุว่าจิตนี้มีความปรารถนา หรือคิดว่า เราจะเดิน เราจะพูด เราจะนั่ง ก็ทำให้เกิดจิตตชวาโยธาตุอย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายมาแล้ว ทำให้เกิดมีการเคลื่อนไหวในร่างกายของเราได้ ทำให้เดินได้ เหยียดแขน เหยียดขา คู้แขนเข้ามา หรือพูดจาได้ ขอให้ท่านพิจารณาเสียใหม่ว่า ถ้าจิตสั่งได้แล้ว ก็ขัดกับหลักอนัตตาธรรม

สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณายกหลักธรรมให้พิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามสภาพของธรรมนั้นๆ

ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้าข้อ ๓ ข้อความในจดหมายมีว่า

พูดถึงเรื่องในหนังสือ (คงจะหมายความถึงหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปตอบปัญหาธรรม) อาจารย์พูดว่า การฟังธรรมไปกำหนดที่บุคคลจึงมีเรื่องสะเทือนใจ ควรพิสูจน์แต่เฉพาะสัจธรรมในลักษณะตามความเป็นจริง ข้อนี้ในขั้นความเห็น ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ในขั้นปฏิบัติไม่ได้ผล ถ้าบุคคลผู้แสดงธรรมไม่มีความสำคัญแล้ว พระพุทธเจ้าจะแสดงองค์แห่งพระธรรมกถึก (นักแสดงธรรม) ๕ อย่างไว้ทำไม ก็เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ใครเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไม่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญจริงแล้ว เราจะต้องมาพึ่งธรรมของพระพุทธเจ้าทำไม ถ้าเราไม่พึ่งสิ่งแวดล้อมจริง เราก็ต้องรู้เอาด้วยตนเอง กว่าธรรมจะตกมาถึงเรา และให้เกิดเป็นความรู้แก่ตัวเรานี้ ก็ต้องพึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นอันมาก มีพระพุทธพจน์ข้อหนึ่งที่อาจารย์เคยนำมากล่าว ซึ่งพระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ความได้มิตรดี ความได้สหายดี ความน้อมใจไปในคนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว พระพุทธพจน์ข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่อาจารย์ก็ไม่เห็นความสำคัญในพระพุทธพจน์ข้อนี้

นี่เป็นข้อความในจดหมายของพระคุณเจ้า ซึ่งดิฉันขอกราบเรียนว่า การศึกษาพระธรรม ต้องศึกษาโดยตลอด และจะเห็นว่าไม่ขัดแย้งกัน แต่ถ้าศึกษาไม่ตลอดจะเห็นว่าขัดแย้งกัน ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมของผู้แสดงธรรมไว้ ก็เพื่อประโยชน์ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้ทราบข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก คือ ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อุทายีสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี สมัยนั้น ท่านพระอุทายี ผู้อันคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว นั่งแสดงธรรมอยู่ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระอุทายีผู้อันคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว นั่งแสดงธรรมอยู่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอุทายี ผู้อันคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้วนั่งแสดงธรรมอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่า เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ เราจักแสดงธรรมอ้างเหตุผล ๑ เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงธรรมให้กระทบตนและผู้อื่น ๑ แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น

ดูกร อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจักแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น

ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาหลักธรรมของผู้แสดงธรรม จะเห็นได้ว่า ภิกษุพึงตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ นี่เพื่อใคร ก็เพื่อผู้ฟังจะได้เข้าใจโดยละเอียด โดยชัดเจนในเหตุในผลนั่นเอง เราจักแสดงธรรมอ้างเหตุผล ๑ ไม่ใช่ว่าให้เชื่อผู้ที่กล่าวโดยไม่พิจารณาว่า ธรรมที่แสดงนั้นประกอบด้วยเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมจึงเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทุกประการ ทั้งจักแสดงธรรมโดยลำดับ ๑ และจักแสดงธรรมอ้างเหตุผล ๑ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา ไตร่ตรอง สอบสวนเทียบเคียง และได้สารประโยชน์อันแท้จริงจากธรรมที่ได้ฟัง ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย

เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ นี่เป็นประการที่สำคัญที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง ซึ่งถ้าผู้แสดงธรรมเป็นผู้ที่เพ่งอามิส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แสดงธรรม ธรรมนั้นย่อมจะคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้แสดงตามเหตุตามผลของธรรม แต่อาจจะคำนึงถึงบุคคล ถึงสถานที่ ถึงสำนัก ถึงหมู่คณะว่า แสดงธรรมอย่างไร จึงจะเป็นผู้ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ที่แสดงธรรมเป็นผู้ที่เพ่งอามิสแสดงธรรม สิ่งใดที่ควรกล่าว อาจไม่กล้ากล่าว เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เป็นได้ ซึ่งท่านก็จะพิจารณาธรรมที่ผู้นั้นแสดงได้ว่า ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง หรือว่าคลาดเคลื่อน เพราะเห็นแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด สำนักหนึ่งสำนักใดหรือไม่

เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑ ข้อนี้เป็นกุศลจิต ถ้าผู้แสดงธรรมมุ่งที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง ไม่มีเจตนาที่จะกระทบบุคคลอื่น ซึ่งเจตนาที่จะแสดงเหตุผลของธรรมโดยตลอดนั้น ก็เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจธรรมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ขณะที่ท่านฟังธรรม ถ้าท่านเป็นผู้ที่ฟังธรรมจริงๆ ท่านก็พิจารณาเป็นสองส่วน ไม่ว่าท่านจะฟังธรรมที่บุคคลใดแสดงก็ตาม ส่วนหนึ่ง คือ ท่านพิจารณาธรรมล้วนๆ ที่บุคคลนั้นแสดงว่า ธรรมนั้นถูกต้อง มีเหตุผลตรงตามความเป็นจริงที่จะให้เกิดความเข้าใจ ที่จะให้เกิดความเลื่อมใสหรือไม่ หรือว่าธรรมที่บุคคลนั้นแสดง คลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่สมบูรณ์ในเหตุผล ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจและความเลื่อมใส นี่คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังประการหนึ่ง ส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่ง ท่านอาจจะพิจารณาถึงธรรมในบุคคลที่แสดงธรรมว่า บุคคลที่แสดงธรรมนั้น พร้อมด้วยธรรมที่ไม่มุ่งอามิส และอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมที่ เกื้อกูลแก่ผู้ฟังจริงๆ หรือไม่ นั่นก็เป็นส่วนที่ท่านจะพิจารณาได้จากบุคคลที่แสดงธรรม

แต่โดยประการใดก็ตาม พระผู้มีพระภาคไม่ทรงให้บุคคลใดมีกิเลส โดยการที่จะติดในบุคคลผู้แสดงธรรม เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงโทษของการติดในบุคคลไว้ด้วย ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อฟังธรรมแล้ว ก็จะเลื่อมใสในบุคคลประการเดียว ตามข้อความในจดหมายที่พระคุณเจ้าเขียนมาว่า

ถ้าบุคคลผู้แสดงธรรมไม่มีความสำคัญ พระพุทธเจ้าจะแสดงองค์แห่งธรรมกถึก (นักแสดงธรรม) ๕ อย่างไว้ทำไม ก็เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ใครเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไม่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญจริงแล้ว เราจะต้องมาพึ่งธรรมของพระพุทธเจ้าทำไม

สุ. ท่านต้องแยกระหว่างธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และบุคคลนั้นนำมากล่าว นี่เป็นสิ่งที่เราต้องพึ่ง แต่ไม่ใช่หมายความว่า ติดในบุคคล และเห็นว่าแม้ว่าบุคคลนั้นจะกล่าวคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงถูกต้อง ข้อนี้จะเป็นโทษของการติดในบุคคล เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้พึ่งพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น ขอให้ศึกษาโดยตลอดในพระไตรปิฎกจริงๆ และจะเห็นว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมของผู้แสดงธรรม และทรงแสดงโทษของการติดในบุคคลด้วย

สำหรับเรื่องของบุคคลผู้แสดงธรรม หรือว่าผู้ฟังธรรมก็ตาม ผู้ใคร่ในธรรมผู้สนใจในธรรมนั้น ควรจะให้จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ในการแสดงธรรมก็ดี หรือในการพิจารณาธรรมที่ผู้อื่นแสดงก็ดี ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุต จันทูปมสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ เป็นผู้ไม่คะนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุลเถิด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงพรากกาย พรากจิต แลดูบ่อน้ำซึ่งคร่ำคร่า หรือที่เป็นหลุมเป็นบ่อบนภูเขา หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ ฉันใด พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่คะนองในสกุล เข้าไปสู่สกุล ฉันนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบประดุจพระจันทร์ พรากกาย พรากจิตออกแล้ว เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุชนิดไรจึงสมควรเข้าไปสู่สกุล

การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ หมายความถึงการที่จะไม่สนิทสนมคลุกคลี เพราะว่าบางท่านเมื่อได้แสดงธรรมแล้ว ก็อาจจะหวังในความสนิทสนม ในลาภสักการะจากสกุลที่คุ้นเคย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น การแสดงธรรมนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุชนิดไรจึงสมควรเข้าไปสู่สกุล

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกับพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จงทรงจำไว้ ดังนี้

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ในอากาศ ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพัน ฉันนั้นเหมือนกัน โดยตั้งใจว่า ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้

ภิกษุเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ภิกษุผู้เห็นปานนี้แล จึงควรเข้าไปสู่สกุล ภิกษุทั้งหลายจิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย โดยคิดว่า ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้

กัสสปะเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น

แม้ในการเข้าไปสู่สกุล หรือในการแสดงธรรม เมื่อไม่เพ่งอามิส ไม่หวังลาภ ก็ย่อมไม่มีการที่จะแก่งแย่ง หรือว่าแสดงธรรมที่คลาดเคลื่อน


หมายเลข  6753
ปรับปรุง  19 มิ.ย. 2567