ปกิณณกธรรม ตอนที่ 164


ตอนที่ ๑๖๔

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๘


ท่านอาจารย์ เริ่มจากการฟัง หรือการศึกษาจะเป็นการอ่านก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะเดียวกันที่ฟังหรือจะอ่านก็ตามแต่ ให้พิจารณาให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้รู้ให้เข้าใจ ตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา จนถึงขั้นสติเกิดระลึกเพื่อที่จะศึกษาอีกระดับหนึ่ง คือศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นี่คือจุดประสงค์ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรม แต่เกิดมาไม่รู้สภาพธรรมจนตาย แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้วมีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องสภาพธรรม ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาจึงจะสามารถรู้ได้ว่า นี่เป็นสภาพธรรม เพราะมิฉะนั้นก็ยังคงจะมีความคิดเห็นว่า ไม่มีประโยชน์อะไร ก็เป็นตัวเรา ก็ไม่เดือดร้อนแล้ว แต่ว่าจากโลกนี้ไปก็ต้องเกิดอีก แล้วก็เต็มไปด้วยขณะจิตซึ่งสั้นมากเกิดดับตลอดเวลาแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ทุกชาติๆ จะเป็นอย่างนี้ โดยไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาส ผู้ที่ได้มีบุญที่สะสมไว้แล้ว ก็ฟังสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ เพื่อที่จะถึงขั้นต่อไป คือปฏิปัตติสัทธรรม

ผู้ฟัง ทีนี้ที่ว่าความเป็นผู้มากด้วยมิจฉาวิตกเป็นเหตุประการหนึ่งที่จะทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ไม่ทราบว่าเป็นเหตุในลักษณะไหน อย่างไร แล้วจะต้องมีมิจฉาวิตกมากมายแค่ไหน จึงจะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เพราะว่าวันหนึ่งๆ เรามีมิจฉาวิตกที่เป็นกามวิตกมากมายหลายประการ คือ เดี๋ยวก็คิดถึงรูป เสียง รส กลิ่น โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ น่าใคร่ น่าปรารถนาเป็นประจำเลย เราก็คิดว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ อยู่ทุกวัน โดยการศึกษาเราก็ทราบว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นรูปธรรม ความตรึกนึกคิดก็เป็นนามธรรม อันนี้ก็ไม่ได้เป็นความเห็นผิดอะไรเลย เพราะฉะนั้น จึงมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดมิจฉาวิตกที่เป็นกามวิตกเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วคิดว่าต้องเกี่ยวกับความเห็นผิดด้วย เพราะเหตุว่าทุกคนก็มีอกุศลวิตก เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นไปในเรื่องของความโกรธ เป็นไปในเรื่องของความเบียดเบียน แต่ไม่มีความเห็นผิด ทีนี้ถ้าคนที่โน้มเอียงไปในทางเห็นผิด จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ดูเป็นของธรรมดาซึ่งไม่ให้โทษ อย่างบางคนที่คิดว่า คนนั้นควรจะตาย เพราะว่าเขาทำอกุศลกรรมมาก ร้ายแรง อย่างนี้ก็โน้มเอียงไปในทางเห็นผิดว่า จิตที่คิดอย่างนั้นไม่ตรงกับสภาพธรรมที่ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว แล้วก็ควรจะเห็นโทษของอกุศล แทนที่จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควร การลงโทษบุคคลหนึ่งบุคคลใด แทนที่จะพิจารณาว่า เป็นกรรมของคนนั้น แต่เรากลับมีความเห็นว่าสมควร ไม่ทราบคุณกฤษณาคิดว่าสมควรหรือเปล่า

ผู้ฟัง ไม่สมควรที่จะคิดอย่างนั้น

ท่านอาจารย์ แต่คิดว่าคนนี้ควรจะตาย เพราะว่าเขาทำกรรมกับคนนั้นคนนี้ไว้มาก

ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่สมควร แต่บางครั้งความคิดเกิดขึ้นมาโดยที่เรายับยั้งไม่ได้ อะไรอย่างนี้

ท่านอาจารย์ ไม่เห็นว่าเป็นกรรมของเขา แล้วถ้าเป็นกรรมของเราที่คิดไม่ดี เราก็ต้องได้รับผลของกรรม ถ้ามีความโน้มเอียงพอใจที่จะคิดว่า เขาสมควร ค่อยๆ คล้อยไปในทางเห็นผิดว่า เราจะเป็นผู้ตัดสิน หรือเป็นเจ้าโลก แทนที่จะให้กรรมเป็นผู้ตัดสินหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เชื่อในผลของกรรมจริงๆ ถึงแม้ว่าคนนั้นจะทำอกุศลกรรมไว้มาก หรือว่าร้ายแรงสักแค่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอน เป็นผู้ที่มีเมตตา มีความเป็นมิตร แล้วก็เป็นผู้ที่มีกรุณาด้วย ถ้ามีทางใดที่จะช่วยเขา จะช่วยไหม ไม่ใช่ไปช่วยตอนที่เขาได้รับผลของอกุศลกรรมแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกคนจะมองเห็น ความทุกข์ยากในโลกแล้วก็ไม่รู้ว่า นี่เป็นผลของอกุศลกรรมจริงๆ ถ้าเขาไม่มีอกุศลกรรมเขาก็คงไม่อดอยาก ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ได้รับภัยพิบัติอันตรายต่างๆ แต่ไปช่วยเขาตอนนั้น แต่ตอนที่เขาทำกรรมเสร็จแล้วก็มีคนตัดสินคิดว่าจะได้รับโทษสมควรแก่การกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรามีความยินดีโน้มเอียงว่าถูก ดี แทนที่จะพิจารณาว่าเขาต้องได้รับผลของกรรม ไม่ใช่ว่าเราจะมีอกุศลจิตที่ไปคิดว่า ต้องเป็นอย่างนั้น สมควรอย่างนี้ แล้วก็ดีใจที่เขาได้รับโทษอย่างนั้น

นี่คือความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ คนนั้นก็จะไม่เห็นเลยว่าเรื่องของกรรม เป็นเรื่องที่ของแต่ละบุคคล

เวลาที่ทำไปด้วยกำลังของโทสะอย่างเดียว ทุกคนก็เข้าใจได้ว่า เมื่อโกรธขึ้นมาก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ถ้ามีความโน้มเอียงที่จะเห็นว่าการทำอย่างนี้ไม่บาป การทำสิ่งที่ไม่ดีกับมารดาบิดา หรือว่าผู้มีพระคุณอย่างนี้ไม่บาป หรือว่าอะไรก็ตามแต่ คิดว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นอกุศล ถ้าเขาเข้าใจอย่างนั้นมีความโน้มเอียงที่ว่า ค่อยๆ คล้อยไปในทางที่จะเห็นผิดไปได้เรื่อยๆ คือ นอกจากเห็นผิดแค่นี้ก็ยังต่อไปอีกนิดหนึ่ง ต่อไปอีกเรื่องอื่นๆ ต่อๆ ไป เพราะว่าคิดไม่ถูกต้อง

ผู้ฟัง จะใช้คำว่าสมน้ำหน้าได้ไหม

ท่านอาจารย์ สมน้ำหน้าใคร

ผู้ฟัง ดีใจที่เขาได้รับผลที่ไม่ดี อะไรอย่างนี้ คล้ายๆ กับว่า สมน้ำหน้า

ท่านอาจารย์ เวลาที่ใช้คำ “สมน้ำหน้า” คนอื่นจะไม่รู้สภาพจิตของคนที่ใช้คำนี้เลย เรื่องของสภาพจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด คำพูดอย่างเดียวกัน แต่น้ำหนัก หรือความคิดที่เป็นเหตุให้กล่าวคำนั้นจะต่างกัน ประกอบด้วยความเห็นผิด โน้มเอียงไปในทางเห็นผิดก็ได้ หรือไม่โน้มเอียงไปในทางความเห็นผิดก็ได้ เหมือนอย่างเด็กที่ทำร้ายแม่ด้วยกำลังของโทสะเฉยๆ ก็ได้ ภายหลังเขาอาจจะคิดเสียใจว่า เขาไม่ควรจะทำเลย นั่นคือเริ่มมีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาคิดว่าเขาทำอย่างนี้ไม่บาป ไม่ใช่เพียงแต่ด้วยกำลังความโกรธอย่างเดียว แสดงว่าเขามีความโน้มเอียงที่จะมีความเห็นผิด

ผู้ฟัง ถ้าตรึกไปในทางกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกแล้ว น่าจะมีเรื่องความเห็นผิดอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนั้นก็ยังไม่สงสัย ทีนี้สงสัยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเขาเข้าใจไม่ตรงกับในพระไตรปิฎก จะเป็นการทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิไหม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เข้าใจว่ามีรูปนั่งรูปนอน

ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นความเห็นผิดแล้ว นี่คุณกฤษณากำลังพูดถึงเหตุที่จะให้เกิดความเห็นผิด

ผู้ฟัง เขาก็ยังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มีรูปนั่งมี รูปนอนมี

ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่จะเห็นผิดอย่างนี้ อะไรทำให้เขาเกิดความเห็นผิดอย่างนี้

ผู้ฟัง คือไม่ได้เสพพระสัทธรรมที่ถูก

ท่านอาจารย์ หมายความว่ามีความโน้มเอียงที่จะมีความเห็นผิดง่ายๆ ในทุกเรื่อง ไม่มีการพิจารณาเลย ในเรื่องแม้บาปบุญก็ไม่มีการพิจารณาว่า ทำอย่างนี้สมควรหรือเป็นบาปหรือเปล่า

ผู้ฟัง แต่บาปบุญเขาก็รู้

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ไม่ได้พูดถึงกรณีนี้ เพราะเหตุว่าคุณกฤษณาถามถึงเหตุให้เกิดความเห็นผิด ไม่ใช่ขณะที่มีความเห็นผิดแล้ว

ผู้ฟัง เหตุที่ให้เกิดความเห็นผิด คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต

ท่านอาจารย์ ทีนี้ก่อนที่จะเห็นผิดอย่างนี้

ผู้ฟัง อาจจะมีเหตุที่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย หรือว่าเสพบุคคลที่มีทิฏฐิวิบัติ หรือว่าเบือนหน้าหนีพระสัทธรรม หรือว่าเป็นผู้มากด้วยมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าประการที่ ๕ ที่เราจะพูดถึงต่อไป

ผู้ฟัง เราอาจจะสรุปได้ว่า โทสะเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้เหมือนกัน

ท่านอาจารย์ ไม่ควร เพราะเหตุว่าถ้าเราคิดว่าโลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุ ทุกคนก็มี แต่เขาไม่มีความเห็นผิดได้ เขาสามารถที่จะพิจารณาเหตุผลให้ตรงแล้วก็เข้าใจถูกได้ เพราะฉะนั้น การที่จะวางหลักขีดเส้นตายไปเลย ไม่ได้ แม้แต่คำพูด "สมน้ำหน้า" ขณะนั้นจิตที่พูดเป็นเพียงกำลังของความพอใจที่คนนั้นได้รับผลกรรมอย่างนั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดแทรก หรือว่าโน้มเอียงไปที่จะเห็นผิด เพราะจริงๆ ทุกคนไม่ใช่ผู้จัดการโลก "กรรม" สำคัญที่สุด เราไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องไปพลอยสมน้ำหน้ากับคนที่ทำผิด เพราะเหตุว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ทำตามคำสอนจริงๆ เมตตาได้ไหม ควรไหม ถ้าถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดง แม้แต่กับคนที่ทำผิด เราเป็นมิตรได้ไหม เรามีกรุณาได้ไหม แล้วระหว่างการที่ควรเป็นมิตรกับควรสมน้ำหน้า ควรจะเป็นอย่างไหน

ถ้าเป็นผู้ที่ค่อยๆ พิจารณาธรรม ตรงคือกุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาแล้วเข้าใจตรง ก็ไม่มีความเห็นผิด แต่ถ้าไม่มีการพิจารณาเลย แล้วก็โน้มเอียงไปในทางที่จะเห็นผิด เพราะว่ากำลังพูดถึงเหตุที่จะให้เกิดความเห็นผิด ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่พิจารณาต่อไปก็เห็นผิดง่ายๆ เพราะเหตุว่าไม่พิจารณาในเหตุในผล เหตุผลที่จะขอให้พิจารณาที่นี่ก็คือว่า ควรไหมที่จะสมน้ำหน้า หรือว่าควรจะเป็นมิตร แค่นี้จะเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิดหรือความเห็นถูกที่จะโน้มเอียงไป ซึ่งวันหนึ่งก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ ถ้าคิดผิด

ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้ามีพยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้โน้มเอียงไป

ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา ถ้าไม่โน้มเอียง ขึ้นอยู่กับจิตของคนที่พูดว่า เขาพูดโดยกำลังของโทสะหรือว่าพอใจที่คนนั้นได้รับโทษเท่านั้น หรือเขามีความเห็นที่โน้มเอียงไป ที่ว่าสมควรที่ทุกคนควรจะเป็นอย่างนั้น ที่จะกล่าวโทษ รังเกียจ ไม่เป็นมิตรหรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น เพียงตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ขอให้พิจารณา คือ ควรจะเมตตาหรือควรจะสมน้ำหน้า จะได้เป็นทางที่จะรู้ว่าข้างหน้าต่อไป เราจะมีความเห็นผิดหรือเราจะมีความเห็นถูก ถ้าเราไม่เข้าใจเหตุผลจริงๆ ถ้าตอบว่าควรจะสมน้ำหน้า ถูกหรือผิด ถ้าคิดอย่างนั้นคือโน้มเอียงไปที่วันหนึ่งจะมีมิจฉาทิฏฐิได้ เพราะว่าไม่เข้าใจในเหตุในผล

ผู้ฟัง ถ้าหากเรามีพยาบาทวิตกกับวิหิงสาวิตกอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งๆ

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ใครๆ ก็ต้องมี กามวิตกก็ต้องมี พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกก็มีบ้าง แต่มีความเห็นผิดในเหตุในผลหรือเปล่า เช่น เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างไร เอาเรื่องง่ายๆ อย่างตัวอย่างควรจะสมน้ำหน้าหรือว่าควรจะเป็นมิตร

ผู้ฟัง สมน้ำหน้าใคร

ท่านอาจารย์ คนที่ทำผิดแล้วได้รับผลกรรม เมื่อเขาทำผิดแล้วเขาได้รับผลกรรมแล้วเราควรจะสมน้ำหน้า หรือเราควรจะเป็นมิตร หรือเราควรจะกรุณา นี่กำลังพูดถึงเหตุที่วันหนึ่งเราจะมีความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเราไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมให้ตรง เรื่องของการคิดเรื่องกามวิตก พยาบาทวิตก นี่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วยที่จะพิจารณาในเหตุในผล ข้อสำคัญที่สุด คือ พิจารณาในเหตุในผล

ผู้ฟัง เมตตาทำให้เกิดอกุศลจิตเกิดขึ้นได้ไหม นี่เป็นประสบการณ์เมื่อเช้านี้เอง ผมขับรถมา สุนัขตัวเล็กๆ น่ารัก แต่ว่าถูกรถคันหน้าทับดิ้นอยู่บนถนนตลอดเวลา เกิดความสงสารในสุนัขตัวนั้น แล้วก็ไม่รู้จะไปหยุดมันอย่างไร ในที่สุดก็นึกได้ว่า กรรมมันก็เป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วก็ทำให้คิดเรื่อยไป ความสลดใจมันก็ค่อยๆ หายไป ผมเลยสงสัยว่า ขณะนั้นก็ยังมีสติอยู่ แต่ทำไมถึงมีความสลดด้วยความสงสารลูกสุนัขตัวนั้น ที่ดิ้นๆ ขับรถผมต้องเหลียวหลังกลับไปดู ทำไมถึงเป็นอกุศลได้ ในขณะนั้นทั้งๆ ที่เรามีใจเมตตาอยู่ในสุนัขตัวนั้น

ท่านอาจารย์ นี้แสดงให้เห็นว่า กุศลจิต อกุศลจิตเกิดสลับกัน ตราบใดที่ยังมีปัจจัยให้เกิดอกุศลจิต ก็ต้องมี ขณะที่จิตใจเศร้าหมองต้องเป็นอกุศล

ผู้ฟัง สำหรับเหตุที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่ว่ามิจฉาวิตก เป็นผู้มากด้วยมิจฉาวิตก ก็พอสรุปจากที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้สักครู่ว่า ถ้ามีมิจฉาวิตกแล้วก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะมีความเห็นผิดด้วย อันนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ว่าโดยปกติธรรมดาแล้ว เราก็มีกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นกามวิตก หรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก แต่ว่าถ้าไม่มีความโน้มเอียงที่จะมีความเห็นผิดก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่เป็นไร

สำหรับเหตุที่จะทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ประการต่อไป คือ การไม่พิจารณาโดยแยบคาย การไม่พิจารณาโดยแยบคาย ภาษาบาลีมีว่า อโยนิโส กุมฺมุชฺชนํ ซึ่งในหนังสือพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑ เล่มเดิมก็ได้อธิบายไว้ว่า อะ แปลว่าไม่ โยนิโส แปลว่าแยบคาย โดยแยบคาย กุมฺมุชฺชนํ แปลว่า โผล่เกิดขึ้น คือการพิจารณา

อโยนิโส กุมฺมุชฺชนํ หมายถึงการพิจารณาโดยไม่แยบคาย ทีนี้เมื่อพูดถึงการพิจารณาตามที่ดิฉันเข้าใจ พิจารณาก็คงจะหมายถึงการไตร่ตรอง ต้องเป็นการตรึกนึกคิด ทีนี้คำว่าอโยนิโส ที่แปลว่า โดยไม่แยบคาย คำว่าโดยไม่แยบคาย หมายความว่าอย่างไร ลักษณะอย่างไรที่เรียกว่าโดยไม่แยบคาย

สมพร โดยไม่แยบคาย ก็หมายความว่าไม่ใช่โดยความเป็นจริง ภาวะที่เกิดขึ้นไม่แยบคาย ตัวอย่าง เช่น เราเห็นสิ่งที่ชอบใจน่าปรารถนา แล้วเราก็ชอบใจ การชอบใจก็เป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้น อันนี้หมายความว่าอกุศลก็เป็นจริงเหมือนกัน โดยไม่แยบคายก็มีหลายอย่าง นี้พูดถึงว่าอกุศลเกิดขึ้นแล้วก็อาศัยพิจารณาโดยไม่แยบคาย คือไม่เป็นไปโดยปรมัตถ์ หรือสภาวะ มักจะอาศัยบัญญัติ

ผู้ฟัง คือไม่พิจารณาไปตามสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ อย่างนั้นใช่ไหม

ท่านอาจารย์ คิดว่าในขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ให้ทราบได้เลยว่า ขณะนั้นเพราะอโยนิโสมนสิการ ตัวอย่างของคุณอดิศักดิ์ ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องรูปซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ด้วยโยนิโสมนสิการ เราก็รู้ว่า การที่ไปพิจารณาหรือนึกถึงท่าทางหรือรูปร่าง ไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือขณะใดที่โยนิโสมนสิการเกิดก็พิจารณาได้ตรง แต่ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการก็คิดว่า ในพระไตรปิฎกมี อริยาปถบรรพ แล้วก็มีข้อความว่า เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า เรานั่งเป็นท่าเป็นทาง อย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่าอโยนิโสมนสิการ

ผู้ฟัง อโยนิโสมนสิการ เรียกว่าไม่ฉลาดหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่แยบคาย คือ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง จิตที่พิจารณาไม่แยบคาย ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ประกอบด้วยความเห็นผิดได้

ผู้ฟัง ประกอบด้วยความเห็นผิดได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาใช่ไหม

ท่านอาจารย์ อโยนิโสมนสิการเกิดขณะใด จิตเป็นอกุศล

ผู้ฟัง เป็นอกุศล แล้วถ้าเป็นจิตที่ไม่ใช่เป็นอกุศล อย่างเช่นเป็นมหากุศลจิตก็ดี หรือเป็นมหากิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นแล้ว

ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลขณะใด ต้องเป็น โยนิโสมนสิการ จึงเป็นกุศล

ผู้ฟัง มาแบ่งกันตรงที่เป็นกุศล กับ เป็นอกุศล

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องเกี่ยวกับประกอบด้วยปัญญา แม้แต่จะเป็นกุศลก็ต้องเป็นโยนิโสมนสิการ อย่างตัวอย่างเมื่อกี้ สมน้ำหน้า ถ้าจะเป็นกุศลต้องเป็นโยนิโสมนสิการ เพียงแค่ที่จะให้คิดให้ถูกต้องว่า ไม่ควรจะสมน้ำหน้า แล้วกุศลจิตเกิด เมตตาเกิด นี่ก็ยังจะต้องเป็นโยนิโสมนสิการ มิฉะนั้นก็ยังไม่ยอม ต้องสมน้ำหน้าต่อไป ใช่ไหม ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น เพียงแค่คั่นจากกุศลเป็นอกุศล ยังต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ

ผู้ฟัง แล้วที่ว่าการพิจารณาโดยที่ไม่แยบคายนั้น หมายถึงพิจาณาอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ท่านอาจารย์ ถ้าเกี่ยวกับความเห็นผิด แต่ว่าถ้าโดยทั่วไปอกุศลจิตเกิดขณะใด ขณะนั้นก็อโยนิโสมนสิการ กุศลจิตเกิดขณะใด ขณะนั้นก็โยนิโสมนสิการ จึงเป็นกุศล เพราะว่าโดยมากคนมักจะตามคำแปลที่ว่า กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย แล้วก็ชิน และถนัดต่อการที่กระทำเสียจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็จะพยายามจะกระทำให้แยบคาย ใช่ไหม แต่จริงๆ ขณะนั้นที่กำลังกระทำไม่แยบคาย เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรม

ผู้ฟัง ไม่แยบคายโดยไม่รู้ตัว

ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วจิตเกิดดับเร็วมาก เวลาที่คิดเป็นกุศลวิตกหรือว่าอกุศลวิตก ต้องทราบว่า ไม่ใช่เราที่คิด แต่เป็นสภาพของจิตซึ่ง ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ขณะนั้นก็มี ๒ อย่าง คือ เป็นกุศลวิตกอย่างหนึ่ง และอกุศลวิตกอย่างหนึ่ง ถ้าคิดเป็นในเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ขณะนั้นเป็นกุศลวิตก แต่ถ้าไม่ใช่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

นี่เราจะทราบได้อย่างไรว่า ทำไมจิตถึงเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่อยากเป็นอกุศล แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น แล้วปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เป็นอกุศลก็คือ อโยนิโสมนสิการ ซึ่งไม่มีเราไปทำเลย แต่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นกระทำในใจไว้โดยอุบายไม่แยบคาย เป็นภาษาแปล แต่เราต้องทราบว่า ไม่ว่าจะแปลเป็นไทยออกมา ไม่มีใครทำทั้งสิ้น เช่น ผัสสะเป็นสภาพกระทบ ก็ต้องไม่มีใครไปทำให้ผัสสะกระทบ หรือว่าไม่มีใครใช้ให้ผัสสะกระทบ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็ไม่มีเราเป็นตัวตนที่จะไปกระทำให้แยบคาย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ให้ทราบว่าขณะนั้น โยนิโสมนสิการเกิด

ผู้ฟัง เมื่ออกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ

ท่านอาจารย์ อโยนิโมนสิการสำหรับอกุศล

ผู้ฟัง กุศจิตเกิดเป็นโยนิโมนสิการ ทีนี้โยนิโสมนสิการต้องเป็นระดับสติปัฏฐาน หรือไม่จำเป็น

ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น อย่างตัวอย่างที่ยกเมื่อกี้ เพียงจากอกุศลให้เป็นกุศล แยบคายหรือยัง ถ้าไม่แยบคายก็สมน้ำหน้าไปเรื่อยๆ ก็เป็นอกุศลไปเรื่อยๆ แต่ถ้าแยบคายเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็เลิกสมน้ำหน้า แต่ว่ามีเมตตา ขณะนั้นเพราะสภาพที่เป็นโยนิโสมนสิการเกิดจึงเป็นกุศล ไม่ใช่เราไปกระทำ แต่ว่าการสั่งสมของสังขารขันธ์ที่จะเป็นปัจจัยทำให้กุศลวิตกเกิด

ผู้ฟัง ถ้าใครพอใจในสิ่งใดก็จะเป็นอกุศล ถ้าชอบสิ่งใด ทีนี้ขณะที่เราจะให้ของใคร เราก็เลือกของที่ดีให้ ทีนี้ให้เขาแล้วเขาเกิดชอบ เขาเป็นอกุศล อย่างนี้เราก็ไม่ค่อยจะถูก

ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้จะให้อะไรใครก็เกรงกลัวเหลือเกินว่า เขาจะเกิดอกุศล แต่อย่าลืมว่าเราจะให้หรือไม่ให้ อกุศลของเขามีจะเกิดก็ย่อมเกิด ยับยั้งอกุศลของใครไม่ได้เลย แต่ว่าการให้ด้วยความคิดถึงบุคคลอื่นที่จะได้รับประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น เรื่องของการให้เป็นเรื่องที่เฉียดๆ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ให้เพราะต้องการอะไรหรือเปล่า นี่สำคัญมากให้เพราะต้องการความเป็นมิตรตอบแทน แม้เพียงความสนิทสนม ถ้าเพียงหวังแค่นี้ ไปแล้ว


หมายเลข  6787
ปรับปรุง  7 ก.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ