ปกิณณกธรรม ตอนที่ 165


ตอนที่ ๑๖๕

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๘


ท่านอาจารย์ สภาพของจิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก กุศลจริงๆ คือไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น การให้ ต้องทราบเลยว่าให้ด้วยจิตที่เป็นกุศลจริงๆ จะให้ด้วยเมตตาสงเคราะห์เพื่อนฝูง หรือว่าจะให้ด้วยการบูชาคุณของใครก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ถ้าให้ด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่ได้หวังสิ่งใดเลยเป็นการตอบแทน ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ถ้าเกิดความหวัง ไม่ว่าจะเป็นหวังใดๆ ทั้งสิ้นสักนิดเดียว หวังขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม แล้วก็ไม่ต้องห่วง ให้อะไรใครดี ถวายภัตตาหารประณีต ประเดี๋ยวพระคุณเจ้าทั้งหลายก็จะเกิดอกุศลต่างๆ เหล่านี้ เพราะว่าเรื่องของอกุศลจิต เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จะได้สิ่งที่ดีหรือไม่ดี อกุศลจิตก็เกิดได้ แม้เพียงของเล็กๆ นิดเดียว ไม่ใช่ของที่ประณีต อย่างมีเศรษฐีคนหนึ่งเขาก็บอกว่า ถ้าใครให้น้ำปลาเขาสักขวดเขาก็ดีใจ คิดดูว่าเป็นเศรษฐีมีเงินมากมาย แต่ว่าถ้าใครให้น้ำปลาเขาสักขวดเขาก็ดีใจ เพราะว่าเขาก็จะต้องคิดถึงว่า คนนั้นมีน้ำใจที่ยังคิดถึงเขา น้ำปลานั้นอาจจะเป็นน้ำปลารสที่ถูกปาก หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเขาจะเกิดหลังจากที่ซาบซึ้งในความดีของคนอื่นแล้ว จะเกิดความติดพอใจในน้ำปลานั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของทุกคน ไม่ว่าของจะประณีตหรือไม่ประณีต ก็ยับยั้งความติดข้องความพอใจไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจิตของเราซึ่งผ่องใส ซึ่งจะคิดว่า สิ่งนั้นควรสำหรับบุคคลนั้น เหมาะสำหรับบุคคลนั้น บุคคลนั้นจะได้ใช้ประโยชน์ แต่ส่วนเขาจะเกิดอกุศลไม่มีใครยับยั้งได้

ผู้ฟัง โยนิโส อโยนิโส จะย้ำอีกครั้ง ถ้าเผื่อเราหวนคิดถึงวิถีจิต โวฏฐัพพนะ ชวนะ โวฏฐัพพนะ กระทำทางให้ชวนะเกิดกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นคนทำทานก็คือโยนิโส และอโยนิโส ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ จริงๆ ต้องพิจารณาละเอียดกว่านั้น เพราะเหตุว่าโวฏฐัพพนะเป็นอเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ต้องพิจารณาละเอียด จิตดวงนี้เพียงกระทำกิจก่อนชวนวิถีจะเกิดเท่านั้น ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล จริงๆ แล้วต้องแล้วแต่การสะสมมา

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น หน้าที่จริงๆ ของโวฏฐัพพนะคืออะไร

ท่านอาจารย์ หน้าที่จริงๆ คือจิตซึ่งกระทำกิจที่เป็นทาง ชวนปฏิปทากมนสิการให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด นี่พูดโดยเจาะจง แต่ถ้าพูดกว้างเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การสั่งสมมีอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นทำกิจอะไร

จะสรุปได้ไหมว่า ถ้าขณะใด ซึ่งมีการกระทำใดๆ ก็ตาม หรือจิตโน้มเอียงไปที่จะไม่พิจารณาให้เหตุกับผลตรงตามความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดได้

ผู้ฟัง โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แล้วก็แบ่งออกเป็น ๒ อย่างๆ ละ ๔ ดวง คือ โลภมูลจิตที่ประกอบกับความเห็นผิด เรียกว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต อีกประเภทหนึ่ง โลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ไม่เกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด เรียกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์

ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นผิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จิตขณะนั้นก็จะต้องเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต เพราะว่าจะต้องมีความติดข้อง มีความพอใจ มีความยินดี ขณะนั้นจะต้องเป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต แล้วจะต้องเป็นโลภมูลจิตประเภททิฏฐิคตสัมปยุตต์ โดยแน่นอน ซึ่งโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ก็มีอยู่ ๔ ดวงหรือ ๔ ประเภท ซึ่งเรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ใน ๔ ดวงก็มีที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา คือความรู้สึกดีใจ ๒ ดวง แล้วที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา คือความรู้สึกเฉยๆ ๒ ดวง ทีนี้ในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ๒ ดวง หรือว่าที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ๒ ดวงก็ดี จะมีดวงหนึ่งที่เกิดโดยที่ไม่มีการชักจูง หรือไม่มีการชักชวน ที่ภาษาบาลีเรียก อสังขาริก และมีอีกดวงหนึ่งที่เกิดโดยมีการชักชวน หรือ มีการชักจูงที่เรียกว่า สสังขาริก

ทีนี้เมื่อพูดถึงโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมาพิจารณากันในประเด็นที่ว่า เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวนกับเกิดขึ้นโดยมีการชักชวนนั้นเป็นอย่างไร ความเห็นผิดที่เกิดขึ้นกับโลภมูลจิตโดยที่ไม่มีการชักชวนหรือชักจูง ไม่มีการชักชวนหรือไม่มีการชักจูงใดๆ อันนี้สงสัยว่าอยู่ๆ เกิดขึ้นเอง หรือว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

ท่านอาจารย์ อสังขาริก เกิดเองเพราะการสะสม

ผู้ฟัง เพราะการสะสม แล้วถ้าจะพิจารณาถึงเหตุที่ให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๕ ประการที่เราได้สนทนากันมาแล้ว มีเหตุอะไรบ้างที่ว่าจะให้ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นโดยเป็นอสังขาริก

ท่านอาจารย์ ได้ทั้ง ๒ อย่าง ไม่ใช่หมายความคนหนึ่งจะมีความเห็นผิดที่เป็นอสังขาริกตลอด ไม่มีสสังขาริกเลย หรือไม่ได้หมายความคนหนึ่งก็จะต้องมีแต่ความเห็นผิด ซึ่งเป็นสสังขาริก โดยที่ไม่มีอสังขาริกเลย แล้วแต่กาล

ผู้ฟัง อย่างถ้าหากว่ามีคนๆ หนึ่งจะมีความเชื่อความเห็นผิดว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป โดยที่เขามีความคิดของเขาเอง เขาไม่ได้รับฟังความคิดนั้นมาจากใคร ไม่มีใครพูดจาหว่านล้อมให้เขาคิดอย่างนั้น จะกล่าวได้ไหมว่าบุคคลนั้นมีทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการชักชวน เพราะว่ามีเหตุคือเขามีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย ซึ่งเป็นเหตุประการที่ ๑ ที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต

ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาเกิดเอง

ผู้ฟัง เกิดเองโดยที่เขาสะสมมา ทีนี้จำแนกจิตโดยนัยของสัมปยุตต์ และวิปปยุตต์ที่กำลังสนทนากันอยู่นี้ เราก็กำลังพูดถึงอกุศลสัมปยุตต์ที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดมี ๔ ดวง ที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบกับความเห็นผิด แสดงว่าความเห็นใดๆ ที่เป็นความเห็นผิดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นปราศจากความเห็นผิดเสียเลยทีเดียว เพราะว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แสดงว่าความเห็นผิดนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน อาจจะเกิดขึ้นมาอีกเมื่อใดก็ได้ แต่ว่าในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น ทิฏฐิเจตสิกอยู่ตรงไหน

ท่านอาจารย์ ไม่เกิดขึ้น ต้องทราบว่าจิตขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ ถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หมายความว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับจิตนั้น

ผู้ฟัง ไม่ได้เกิดร่วมกับจิตนั้น

ท่านอาจารย์ จึงเป็นจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

ผู้ฟัง อยู่ที่ไหนไม่ทราบ คือไม่ได้พยายามหาที่อยู่ให้ จะต้องมีเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น แต่ว่ากว่าที่จะทราบว่าเขามีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เขาอยู่ตรงไหนก็ไม่ทราบ

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิกใดๆ ก็เกิดไม่ได้เลย กิเลสทุกประเภทก็เกิดไม่ได้เลย

ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิต ทิฏฐิเจตสิก จะเรียกว่าเป็นกิเลสระดับไหนได้

อ. สมพร ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็นกิเลสที่หยาบ นำสัตว์ไปสู่อบาย

ผู้ฟัง ตัวที่เป็นกิเลส คือ ตัวทิฏฐิเจตสิก

อ. สมพร เจตสิก ประกอบกับจิต

ผู้ฟัง ทีนี้ในเมื่อเป็นเจตสิกที่เป็นกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ จะเป็นพวกอนุสัยได้ไหม

อ. สมพร เป็นทิฏฐานุสัย

ผู้ฟัง เป็นทิฏฐานุสัย แล้วเป็นกิเลสระดับอื่นด้วยหรือเปล่า ได้ทั้ง ๓ ระดับไหม

อ. สมพร เป็นอุปาทานก็ได้ เป็นทิฏฐุปาทาน เป็นได้หลายอย่าง อุปาทานนี้ก็สำคัญ ยึดความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด อุปาทาน ทิฏฐุปาทาน

ผู้ฟัง หมายถึงว่าเป็นทั้งกิเลสละเอียด กิเลสหยาบ กิเลสปานกลางได้ทั้ง ๓ ระดับ

อ. สมพร เป็นทั้งหมดเลย ทั้งอย่างละเอียด อย่างหยาบ อย่างกลาง ได้หมดเลย ทิฏฐินี้เป็นกิเลสอย่างร้าย อย่างหยาบที่นำสัตว์ไปสู่อบาย กิเลสบางอย่างอย่างหยาบไม่นำไปสู่อบาย แต่ทิฏฐิเป็นอย่างหยาบแล้วนำไปสู่อบาย เรียกว่า อัปปายคมนียะ

ผู้ฟัง เป็นอย่างหยาบนำไปสู่อบาย และเป็นอย่างละเอียดเป็นอนุสัยได้ด้วย ใช่ไหม

อ. สมพร ได้ด้วย

ผู้ฟัง ตกลงเป็นทั้ง ๓ ระดับ

ทีนี้สำหรับทิฏฐิความเห็นผิดที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มีเหตุที่จะให้ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้น มีเหตุ ๕ ประการ ซึ่งเป็นเหตุที่กล่าวได้โดยนัยตรงกันข้ามกับเหตุที่ทำให้เกิดจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

ประการแรกคือ เป็นผู้ไม่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย ประการที่ ๒ เป็นผู้ไม่คบผู้ที่เป็นทิฏฐิวิบัติ ประการที่ ๓ เป็นผู้มั่งหน้าต่อพระสัทธรรม ตรงข้ามกับเป็นผู้ที่เบือนหน้าหนี้จากพระสัทธรรม ที่เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ประการที่ ๔ เป็นผู้ไม่มากด้วยมิจฉาวิตก และประการที่ ๕ มีการพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายไม่แยบคายสักครู่เราก็ได้สนทนากันไปแล้ว เป็นเหตุ ๕ ประการที่จะให้ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นในนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์

ผู้ฟัง คำว่าทิฏฐิอย่างเดียว เป็นความเห็นเฉยๆ ใช่ไหม

อ. สมพร ทิฏฐิในที่นี้ เพราะว่าทิฏฐิในโลภะ ต้องเป็นความเห็นผิดอย่างเดียว เรามุ่งแสดงถึงโลภะ ๘ ประเภท แล้วทิฏฐิเฉยๆ ที่ใช้ในโลภะ ทิฏฐิ จะแปลว่า ความเห็นเฉยๆ ก็ตาม แต่ถ้าเกิดกับโลภะ ต้องเห็นผิดแน่นอน

ผู้ฟัง แล้ววิปปยุตต์นี้ผิด ใช่ไหม

อ. สมพร วิปปยุตต์ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด

ผู้ฟัง สัมมาทิฏฐิ

อ. สมพร สัมมาทิฏฐินั้นหมายถึงปัญญา เห็นชอบ เห็นถูกก็ได้

ผู้ฟัง แล้ววิปปยุตต์

อ. สมพร วิปปยุตต์เป็นกิเลส เพราะว่าเป็นโลภะ ไม่มีทิฏฐิ ทิฏฐิไม่ได้เกิดความเห็นผิด ไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะ หมายความว่าโลภะมี ๘ อย่าง อันนี้มีแต่โลภะ ทิฏฐิไม่เกิด หมายความว่าอย่างนั้น

ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจ สับสน

ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่เข้าใจศัพท์บาลี ๒ ศัพท์ คือ สัมปยุตต์ กับวิปปยุตต์ ใช่ไหม

ผู้ฟัง เข้าใจในสัมปยุตต์ ในฝ่ายปัญญาเป็นสัมปยุตต์ ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ มิได้ ต้องเข้าใจ ๒ คำนี้ก่อน สัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ สัมปยุตต์ หมายความว่าประกอบด้วยสภาพธรรม เช่น ถ้ากล่าวว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็ประกอบด้วยทิฏฐิเจตสิก ถ้าวิปปยุตต์ แปลว่าไม่ประกอบด้วย ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็หมายความว่าไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสัมปยุตต์เมื่อไหร่ ต้องดูว่าเจตสิกอะไรที่กล่าว ที่แสดงว่าสัมปยุตต์ เช่น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ต้องประกอบด้วยทิฏฐิ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา ญาณวิปปยุตต์ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ผู้ฟัง ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ คือปฏิสนธิจนถึงสุดท้าย

ท่านอาจารย์ จุติจิต

ผู้ฟัง ทำกิจอะไรต่ออะไร ผมไม่เข้าใจว่า จิตดวงหนึ่งทำกิจอะไร ปฏิสนธิทำ

ท่านอาจารย์ ทำจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ ยังไม่ตาย ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ยังไม่ตายก็ดำรงภพชาติ คือภวังคกิจ

ผู้ฟัง ต่อมาจากภวังคจิตแล้วเป็นจิตอะไรต่อ ภวังค์แล้วอะไร

ท่านอาจารย์ ต่อจากภวังค์ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต

ผู้ฟัง อย่างโวฏฐัพพนะ

ท่านอาจารย์ นั่นที่หลัง หมายความว่าวิถีจิตแรกที่สุด คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าหลังจากปฏิสนธิแล้ว จิตจะทำกิจอื่นยังไม่ได้เลย นอกจากเมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตคือจิตซึ่งทำกิจภวังค์ต้องทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ระหว่างที่ยังไม่มีการเห็นทางตา การได้ยินทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย เช่นกำลังนอนหลับสนิท ขณะนั้นเป็นภวังคจิต

ถ้าจะแยกจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตประเภทหนึ่งกับจิตที่เป็นวิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตนี้ง่าย มี ๓ อย่างเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิด ภวังคจิต กับ จุติจิต นอกจากนั้นจิตที่เหลือเป็นวิถีจิต ที่ใช้คำว่าวิถีจิต หมายความว่าเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตาก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูก็เป็นโสตทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้น ก็แยกจิตเป็น ๒ พวก พวกที่เป็นวิถีจิตกับไม่ใช่วิถีจิต

อ. สมพร การพิจารณาโดยแยบคาย ไม่แยบคาย ท่านพูดรวมเอาไว้ เมื่อแยบคายแล้วกุศลก็เกิด ๗ ขณะ ไม่ได้มุ่งถึงโดยแยบคายอยู่ในนั้นด้วย ท่านบอกว่าเมื่อพิจารณาโดยแยบคาย กุศลก็เกิด ๗ ขณะติดต่อ ถ้าการพิจารณาโดยไม่แยบคาย อกุศลก็เกิด ๗ ขณะติดต่อ อันนี้ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บอกว่าสั่งสม เพราะว่าอันนี้ก็เป็นความเหมาะสมในกาลก่อนที่เราสั่งสมเอาไว้ แล้วก็ตัดสินอารมณ์ เริ่มมาตั้งแต่สันตีรณะพิจารณา ซึ่งเป็นอเหตุกะ สัมปฏิจฉันนะไม่มีพิจารณา รับอารมณ์ ทีนี้สันตีรณะพิจารณา แต่ว่ายังเป็นอเหตุกะอยู่ ทีนี้การสะสมเอาไว้เป็นเหตุให้เราพิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบคายหรือแยบคายก็ตาม กุศลหรืออกุศลก็อาศัยการพิจารณานั้นเกิดขึ้น ๗ ขณะ

ผู้ฟัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต มี ๔ ดวง ก็สงสัยว่าทำไมท่านจึงจำกัดจำนวนไว้เพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั้น อย่างเช่น โทสมูลจิตก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โมหมูลจิตก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด อเหตุกจิต และโสภณจิตอื่นๆ ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ทำไมจึงไม่นับรวมเข้าไปในทิฏฐิคตวิปปยุตต์ด้วย

ท่านอาจารย์ เรื่องการดับกิเลส สำหรับพระโสดาบัน ท่านดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ว่าพระอริยบุคคลขั้นอื่นๆ จนถึงพระอนาคามีถึงจะดับโลภมูลจิตที่เกิดกับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ และยังมีพระอรหันต์ซึ่งท่านดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์หมดเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการดับกิเลสเป็นขั้นๆ

ผู้ฟัง แต่ทีนี้โดยชื่อทำให้สงสัยได้ว่า ทำไมจึงจำกัดไว้เพียง ๔ ดวงว่าจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยชื่อ เมื่อทราบความหมายของชื่อแล้วก็ทำให้คิดไปได้ว่าจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มีหลายดวงนอกจาก ๔ ดวงที่กล่าวแล้ว

ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเรื่องของโลภะ จะเอาอย่างอื่นเข้ามาใส่หมายความว่าอย่างไร

ผู้ฟัง ถ้าจะพูดโดยชื่อให้ถูกต้องก็ควรจะพูดเต็มๆ ว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ใช่ไหม แต่บางครั้งพูดสั้นๆ ว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ซึ่งถ้าพูดชื่อสั้นๆ เพียงแค่นี้ทำให้เข้าใจไปได้ว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มีจิตอื่นได้อีกนอกจากโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

ท่านอาจารย์ หมายความว่าควรจะพูดเต็ม หรือไร

ผู้ฟัง คิดว่าควรจะพูดชื่อเต็ม ใช่ไหมว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่หลายๆ ครั้งรวมทั้งดิฉันเองพูดว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต พอพูดแล้วก็เลยทำให้ตัวเองสงสัยเองด้วยว่า ก็จิตอื่นที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็ยังมี อย่างเช่น โทสมูลจิตเป็นต้น

ท่านอาจารย์ หมายความว่า ละไว้ในที่เข้าใจว่า พอพูดถึงโลภะก็หมายความว่าทิฏฐิคตวิปปยุตต์ใช่ไหม ไม่ใช่อย่างอื่น พูดกันเอง เข้าใจกันเอง จะพูดสั้นก็ได้ แต่จริงๆ พูดให้เต็ม ก็ต้องเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

ผู้ฟัง พอพูดสั้นแล้วเลยกลายเป็นว่ามาสงสัยว่า จิตอื่นก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เลยคิดว่าน่าจะพูดชื่อเต็ม

ท่านอาจารย์ แต่จิตอื่นไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่ความเห็นผิดไม่ไปเกิดกับจิตอื่นนอกจากโลภะ

ผู้ฟัง ถ้าจะตีความหายให้คลุมตามชื่อที่ว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจไปได้

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นโลภะเท่านั้น จะไม่หมายความถึง โทสะหรือโมหมูลจิต

ผู้ฟัง เฉพาะโลภมูลจิต ถึงแม้ว่าความเห็นผิดจะไม่ประกอบกับจิตอื่นๆ ก็ตาม

ท่านอาจารย์ พูดถึงประเภทของจิตซึ่งทิฏฐิจะเกิดร่วมด้วย มีแต่เฉพาะโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตต์หรือวิปปยุตต์ โลภวิปปยุตต์ ก็ต้องหมายความถึงวิปปยุตต์จากทิฏฐิ

ผู้ฟัง ถ้าจะพูดว่าโลภะวิปปยุตต์ก็จะทำให้เข้าใจได้อีกว่า ไม่ประกอบด้วยโลภะต้องพูดว่า โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

ท่านอาจารย์ ต้องพูดเต็ม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เราเคยพูดย่อๆ ต่อไปนี้เราก็ระวัง

ผู้ฟัง อาจจะทำให้เข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง

ผู้ฟัง อยากจะให้อธิบายโดยพยัญชนะในเรื่องของ ปฏิฆะ

อ. สมพร ปฏิฆะ จริงๆ ก็แปลว่ากระทบ หรือเราใช่คำว่ากระทบกระทั่ง คือทำให้มันมีความรู้สึกว่ามันเกินความสุขไป เมื่อกระทบแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ แต่ท่านใช้คำว่าปฏิฆะ ไม่สบายใจก็เป็นประเภทของโทสะ เมื่อกระทบทีไรเราก็ไม่สบายใจ ปฏิฆะอันนี้มุ่งถึงความไม่สบายใจ โทสะเป็นประเภทเดียวกับปฏิฆะ โทสะก็เป็นสังขารขันธ์ ปฏิฆะก็เป็นสังขารขันธ์ เหมือนกัน แต่ท่านใช้คำว่าปฏิฆะ แท้จริงนั้นคือโทสะนั่นเอง เมื่อกระทบแล้วโทสะก็เกิดขึ้น จิตที่กระทบกระทั่ง

ผู้ฟัง สัมปยุตต์ หมายความว่าจิตที่ประกอบกับการกระทบกระทั่ง

อ. สมพร ประกอบ จิตกับเจตสิก นั้นประกอบกันโดยลักษณะ ๔ เรียกว่าสัมปยุตต์ ๔ อย่าง มีการเกิดพร้อมกันเป็นต้น จิตกับเจตสิกนั้นเรียกว่า สัมปยุตต์กัน

ผู้ฟัง โดยลักษณะ และธรรมชาติ

ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ จริงๆ ถ้าพูดแล้วก็แปลก คือว่าโลภมูลจิตมีทิฏฐิคตสัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ ไม่ได้บอกชื่อ โลภสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสมูลจิตเป็นปฏิฆสัมปยุตต์

อ. สมพร เป็นปฏิฆะ คือ การกระทบกระทั่ง อันนี้ถ้าจะว่าแล้วเรื่องโลภะ บางแห่งท่านก็บอกว่า ใช้คำว่าวิปปยุตต์เฉยๆ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตต์เฉยๆ แต่บางแห่งผมก็เคยพบว่า ท่านใช้คำว่า โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตต์ บางแห่งก็ใช้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ใช้ตัดโลภะออก ในฐานะที่เข้าใจกันว่า ทิฏฐินี้ต้องเกิดกับโลภะ ท่านก็เลยไม่ต้องใช้คำว่าโลภะ พิจารณาจริงๆ แล้วความไม่เข้าใจอาจจะมี แต่เราก็เห็นว่า ถ้าวิปปยุตต์เกิดพร้อมกับโทสะแล้วคงจะไม่มีปัญหา โทสะก็เป็นเจตสิก ปฏิฆะเป็นเจตสิกเกิดร่วมกับจิตโดยลักษณะ ๔ แต่ว่ามันอาจจะทำให้เรามีความคิดอะไรต่างๆ ไปก็ได้

ท่านอาจารย์ คือนี้เรื่องของคนคิดมาก คือคิดไปทีละตัว ทีละตัว แล้วก็นั่งสงสัยว่า โลภมูลจิต ไม่มีโลภสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสมูลจิต มีปฏิฆสัมปยุตต์ ซึ่งหมายความว่าเกิดร่วมกับโทสเจตสิก แล้วพอถึงโมหะ ก็ไม่มีโมหสัมปยุตต์ แต่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์กับอุทธัจจสัมปยุตต์ ที่เป็นอย่างนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุว่า สำหรับโลภะ แน่นอนไปแล้วว่าจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยที่เป็นสัมปยุตต์อย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสะไม่มี

ผู้ฟัง มันตรง ไปทางลัดเลยเกิดกระทบกระทั่งแรงหน่อย


หมายเลข  6788
ปรับปรุง  7 ก.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ