ปกิณณกธรรม ตอนที่ 167
ตอนที่ ๑๖๗
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๘
อ.สมพร บางทีท่านไม่เรียกเจตสิก ท่านเรียกธรรมเฉยๆ ก็ขอให้เข้าใจว่าก็คือเจตสิก ๗ ดวงนี้ ต้องเกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน ขณะนี้เป็นวิบาก กิเลสยังไม่มีเลย
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะมีเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้ ใช่ไหม แต่เวลาที่เป็นอกุศลสัมปยุตต์ก็พอสามารถที่จะรู้ได้ในประเภทของจิตในวันหนึ่งๆ แล้วทุกคนก็โกรธทั้งนั้นแหละ คงจะไม่มีใครไม่โกรธ แม้แต่ความขุ่นเคืองใจเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ให้ทราบว่า ขณะนั้นคือจิตที่เรากำลังพูดถึง ที่ถามกันว่าปฏิฆสัมปยุตต์คืออะไร ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโทสเจตสิก
ผู้ฟัง ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นปฏิฆะ ไหม
ท่านอาจารย์ สังเกตได้จากเวทนา ขณะใดที่รู้สึกไม่สุขใจ ไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ต้องเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ คือต้องมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง รวมทั้งการร้องไห้
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกประเภท
ผู้ฟัง เราทุกคนประสบเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิด
ท่านอาจารย์ จะกลัว ตกใจ เศร้าใจ น้อยใจ จะอะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สบาย ให้ทราบว่าคือปฏิฆสัมปยุตต์ ได้แก่โทสมูลจิต
ผู้ฟัง ผมเคยได้ฟังพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสสอน ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านพาหิยะหรือเปล่าว่า สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน คิดนึก และท่านสอนว่า ขอให้สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าคิด หรือเปล่า ผมก็ยังสงสัยอยู่ในลักษณะที่ว่าท่านผู้ได้ฟังพระพุทธพจน์นี้แล้ว ปรากฏว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น ก็ยังสงสัยอยู่ว่า พระพาหิยะท่านรู้เรื่องจิต เจตสิก รูปหรือเปล่า ในลักษณะที่แยกจากกัน ในขณะนั้น หรือว่าท่านบรรลุพระอรหันต์จากการที่ท่านยึดมั่นในคำสอนนั้นจริงๆ ว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน โดยไม่คิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็ทำให้คิดต่อไปว่า การศึกษาธรรมจริงๆ แล้วทุกท่านก็เพื่อจะพ้นทุกข์ แต่ว่าการพ้นทุกข์นั้นท่านก็ยังระบุว่าต้องมีปัญญา หมายความว่าต้องรู้เสียก่อนถึงจะละได้ แต่ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคสอนพระพาหิยะนั้น ผมก็ไม่รู้รายละเอียด รู้แต่ว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ การบรรลุของพระพาหิยะท่านจะต้องรู้เรื่องจิต เจตสิก รูปหรือเปล่า หรือว่าจะใช้ความอุตสาหะทางด้านอื่นเข้ามาในการที่จะทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ท่านอาจารย์ เมื่อไม่นานมานี้ก็บังเอิญได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่ง ซึ่งมีข้อความที่เหมือนเป็นข้อให้คิด หรือว่าท่านผู้กล่าวจะสงสัยก็ไม่ทราบ หรือว่าแน่ใจว่า อย่างท่านพระสารีบุตรเวลาที่ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมสั้นๆ ไม่เห็นได้แสดงพระอภิธรรมทั้งหมด เรื่องจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เพราะฉะนั้น ท่านคงจะไม่รู้ความละเอียดของจิต และเจตสิก ทำให้ท่านผู้กล่าวเกิดสงสัยว่า อย่างท่านพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงแสดงพระอภิธรรมกับพระพุทธมารดา แล้วท่านก็ยังไม่ได้รับฟัง เพราะฉะนั้น ตอนที่ท่านบรรลุท่านคงจะไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่าที่ทรงแสดง แสดงชื่อ เรื่อง แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร อย่างท่านพระสารีบุตรจะไม่รู้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าผู้ที่มีปัญญารองจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ท่านพระสารีบุตร ในขณะที่ท่านฟังคำว่าธรรม แล้วก็มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมปัญญามาที่จะเป็นพระอัครสาวก ก็คงจะต้องนั่งคิดว่าเคยเห็นเป็นคน แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็บอกว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ฟังเท่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ บางคนก็ต้องใช้เวลาศึกษานาน แล้วก็เพิ่งเริ่มจะเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างที่กำลังปรากฏนั้นเป็นธรรม แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม ผู้นั้นจะเข้าใจในอรรถ ไม่ต้องมาชี้แจงเป็นทวารๆ ไป แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏก็เป็นทวารๆ ไปอยู่นั่นเอง เพราะเหตุว่าท่านพระสารีบุตรท่านก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วเวลาที่สภาพธรรมเกิดปรากฏก็มีลักษณะของเจตสิก เช่น เวทนาเจตสิกก็มี เจตสิกอื่นเช่นสัญญาก็มี เมื่อใช้คำว่า “ธรรม” คำเดียว สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว ก็คลุมถึงสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดกับท่านพระสารีบุตร แล้วแต่ว่าท่านพระสารีบุตรมีสภาพธรรมใดปรากฏ เช่นขณะนี้ สัญญาเจตสิกมี ทุกคนกำลังจำสิ่งที่เห็น แล้วกำลังฟัง ก็มีสัญญาเจตสิกที่จำเสียง แล้วก็ยังเข้าใจความหมายด้วย ก็เป็นสัญญาเจตสิกทั้งนั้น แต่สำหรับผู้ที่คุ้นกับสภาพธรรม แม้ว่าจะไม่เอ่ยชื่อสัญญาเจตสิก แต่ว่ารู้ลักษณะสภาพที่จำ รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมหรือความเข้าใจลักษณะของธรรม แสดงให้เห็นว่า เกินกว่าที่จะต้องใช้ชื่อโดยละเอียดสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจลักษณะของธรรม แต่ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมแล้ว ทุกอย่างที่ปรากฏไม่ว่าเป็นความจำขณะนั้นมี ยังไม่ต้องใช้ชื่อ ก็รู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ผู้ที่สงสัยอย่างนั้น คือ ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของธรรม แล้วก็ไม่รู้ว่าเวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ธรรมปรากฏเป็นลักษณะของธรรมต่างๆ ซึ่งสำหรับผู้ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าจะเรียนเรื่องของจิต เจตสิกแล้ว ก็ไม่มีใครไปบอกว่านี่ จักขุวิญญาณ อกุศลวิบาก กุศลวิบาก อเหตุกะ ประกอบด้วยเจตสิกกี่ดวง แต่เพราะคุ้นกับลักษณะที่ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง
เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจว่านี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรมชนิดหนึ่ง และสภาพที่เห็นก็มีจริงๆ แล้วก็เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่กำลังมองเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ผู้นั้นก็ไม่ต้องมีใครมาอธิบายว่า จักขุวิญญาณ หรือว่าขันธ์ ๕ ประกอบด้วยสัญญาขันธ์ หรือว่าเวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเหล่านั้นปรากฏกับบุคคลนั้นด้วยความเข้าใจ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจธรรมจริงๆ จะคิดแปลก คือจะคิดว่าพระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงแสดงเรื่องของจิต เจตสิกโดยละเอียด ท่านพระสารีบุตรก็คงจะไม่ค่อยจะรู้อะไร หรือว่าเวลาที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลก็รู้เพียงเท่าที่ได้ฟังจากท่านพระอัสสชิ
ผู้ฟัง ท่านพระสารีบุตรถามธรรมกับพระอัสสชิ แล้วบรรลุโดยรวดเร็วคล้ายๆ กับพระพาหิยะ แต่ว่าท่านเป็นชั้นพระโสดาบัน ในประวัติแสดงให้เห็นว่าท่านได้สั่งสมพระบารมีธรรม อบรมบ่มบารมีไว้ถึง ๑ อสงไขยแสนกัปป์ เพราะฉะนั้น การที่ท่านฟังธรรมที่ว่า เย ธัมมา เหตุปปัพพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสมโณ ที่ท่านแสดงเพียงเท่านี้เอง พระสารีบุตรจำแนกธรรมออกไปได้อย่างละเอียด
ท่านอาจารย์ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเกิด เพราะว่าถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ต้องใช้ว่าตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นสภาพธรรมทั้งนั้น แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีวันที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรม ก็ยังคงเห็นเป็นบัญญัติ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ
ท่านพระสารีบุตร ความคุ้นเคยกับธรรม ความเข้าใจในลักษณะของธรรม เวลาที่ท่านพระอัสสชิกล่าวถึงธรรม เพียงธรรมท่านรู้ ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นธรรม แล้วขณะที่เห็นก็มีสัญญาความจำ มีหลายๆ อย่างซึ่งเกิด สำหรับท่านพระสารีบุตรไม่ใช่ท่านจะเหมือนคนที่เริ่มเตาะแตะ หรือตั้งต้น หรือว่าระลึกรู้ แล้วก็ค่อยๆ ใส่ใจพิจารณาลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ท่านพร้อมที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติระลึก แล้วสภาพธรรมใดปรากฏกับท่านพระสารีบุตร เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของขันธ์ ๕ จะไม่สามารถละความติดข้องในขันธ์ ๕ ได้ แล้วขันธ์ ๕ ก็มีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขาร
เพราะฉะนั้น ชั่วขณะสั้นแสนสั้น ซึ่งทุกคนอาจจะคิดว่าทำไมถึงสั้นอย่างนั้น สั้นมาก แต่ว่าเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ชวนจิต ๗ ขณะ โดยวิถีวาระของมรรควิถี สั้นแค่ไหน มรรควิถี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าปัญญาพร้อมที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏกับบุคคลนั้น แล้วตลอดญาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เป็นไปเร็วมากทีเดียว ขณะนี้คิดดูก็แล้วกันว่า ระหว่างทางตากับทางหู ซึ่งปรากฏเหมือนว่าพร้อมกัน วิถีจิตก็เกิดทั้งทางจักขุทวาร แล้วก็มีภวังคจิตคั่น แล้วก็มโนทวาร หลายวาระ แล้วก็มีโสตทวารวิถี แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วก็มีมโนทวารหลายวาระ พอที่วิปัสสนาญาณจะเกิด พอที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ขึ้นอยู่กับปัญญา สภาพธรรมไม่เปลี่ยน ท่านพระสารีบุตรจะได้ฟังท่านพระอัสสชิในระหว่างที่ท่านบิณฑบาต ก็คือท่ามกลางสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เอง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเป็นธรรม แล้วแต่ว่าปัญญาของใครเริ่มจะฟัง แล้วก็เริ่มจะเข้าใจลักษณะของธรรม แล้วสติเริ่มระลึกแล้วก็เข้าใจลักษณะที่เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เรื่องของธรรม
ผู้ฟัง แสดงว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้บอกพระพาหิยะให้เจริญสติปัฏฐาน แล้วพระอัสสชิก็ไม่ได้บอกพระสารีบุตร
ท่านอาจารย์ เพียงกล่าวถึงธรรม
ผู้ฟัง แต่เมื่อแสดงธรรม ก็บรรลุในขณะที่ฟัง
ท่านอาจารย์ ซึ่งสติจะต้องระลึกด้วยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แล้วธรรมปรากฏ
ผู้ฟัง การฟังธรรมจะเห็นว่า อานิสงส์มากมายเหลือเกิน ถ้าหากเราได้ศึกษาจากประวัติของพระสาวกทั้งหลาย แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่บรรลุโดยฉับพลันแล้วก็ เราศึกษาถูกเรื่องตรงนั้นพอดี เราก็คิดว่าเราเป็นท่าน เพราะฉะนั้น บางครั้งเราฟังวันนี้ แล้วจะให้ได้วันนี้เลย ก็คงไม่ใช่ เพราะว่าท่านสั่งสมบารมีธรรม บ่มบารมีมา ๑ อสงไขยแสนกัปป์ทีเดียวจะมาฟังธรรมอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้น เราคงไม่สุกเอาเผากินบรรลุกันง่ายๆ อันนี้เป็นข้ออุทาหรณ์เตือนสติเราไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องที่เอามาพูดกันโดยที่ว่าขาดเหตุ และผล เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ความจริงพระอัสสชิต้องการที่จะแสดงธรรมมากกว่านั้น นี้เป็นตัวอย่าง
ผู้ฟัง โทสมูลจิตต้องมีปฏิฆสัมปยุตต์เสมอไป ใช่ไหม
อ.สมพร ปฏิฆะกับโทสะต่างกันโดยชื่อ ความหมายเป็นจิตไม่ดีเหมือนกัน ปฏิฆะแปลว่ากระทบกระทั่ง โทสะแปลว่าประทุษร้าย กระทบกระทั่งจิต คือ ปฏิฆะ ประทุษร้ายจิต คือ โทสะ หมายความว่าชื่อต่างกัน แล้วองค์ธรรมคือ สภาวะอย่างเดียวกัน
ผู้ฟัง ไม่แตกต่างกันสักนิดเลยหรือ นิดๆ หน่อยๆ
อ.สมพร แตกต่างกันโดยชื่อ โดยภาวะ
ผู้ฟัง ชื่อต่างคือ ยกว่า นารี สตรี หรือ ...
ท่านอาจารย์ เจตสิกมี ๕๒ ของโทสเจตสิก ๑ และมีชื่อมากมาย แต่ยังคงเป็นโทสเจตสิก
ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นเจตสิกอันหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าสัมปยุตต์แล้ว เป็นเจตสิกทั้งนั้น เพราะว่าเกิดกับจิต
ผู้ฟัง ไม่แยกต่างหาก ระหว่างโทสเจตสิก กับ ปฏิฆเจตสิก
ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ต้องประกอบด้วยเจตสิก เป็นสัมปยุตต์ธรรม แต่ที่ยก เช่น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์บ้าง หรือว่าปฏิฆสัมปยุตต์บ้าง ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่าจิตต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะรู้ได้ เมื่อมีเจตสิกเหล่านี้สัมปยุตต์ด้วย เช่น โทสะเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ เป็นโทสเจตสิกเกิดกับจิต จิตนั้นจึงชื่อว่าโทสมูลจิตเพราะมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงชื่อว่า ปฏิฆสัมปยุตต์ เวลาที่มีลักษณะขุ่นใจขึ้นมาก็ยังสามารถจะรู้ได้ ทั้งๆ ที่เจตสิกอื่นก็เป็นสัมปยุตตธรรมทั้งนั้น ผัสสะก็เป็นสัมปยุตตธรรม เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตต้องเป็นสัมปยุตตธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่ว่าอันไหนที่ว่าเมื่อเกิดแล้วสามารถที่จะรู้ได้
ผู้ฟัง ความสำคัญของคนที่ศึกษามีความรู้สึกว่า ถ้าชื่อหนึ่งปรากฏเกิดขึ้น ควรจะมีความหมายที่คนละแบบกัน อย่างเช่นว่าโทสะก็ควรจะเป็นว่า โทสะโกรธรุนแรงกว่า ส่วนปฏิฆะเริ่มขุ่นๆ แล้วนะ ยังไม่ถึงขนาดว่าเอาจริงเอาจังลงไม้ลงมือทุบตีกัน แต่ตัวโทสะอาจจะถึงขนาดลงมือลงได้
ท่านอาจารย์ ก็มีร้อยชื่อพันชื่อตามขั้น ถ้าจะใช้
ผู้ฟัง ตามขั้น
ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วก็คือลักษณะสภาพที่กระทบจิต
ผู้ฟัง อันนี้ก็ชัดเจนขึ้น ปฏิฆสัมปยุตต์ ไม่ทราบว่าจะผ่านไปหรือยัง เพราะว่าก็สนทนากันมานานพอสมควร
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ แต่อย่าลืมจุดประสงค์ของการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าเรื่องจิต เจตสิก ตลอดจนพระอธิธรรม จะเป็น ๙ ปริจเฉท หรือว่าพระอภิธรรมปิฎก อะไรก็ตาม อย่าลืมว่า เพื่อให้เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร หรือว่าพระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านชินต่อลักษณะของสภาพธรรม ท่านไม่ได้ไปฟังแต่เพียงชื่อ แต่ท่านรู้ว่า ชื่อที่ทรงใช้ เพื่ออธิบายให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้ววิธีพิสูจน์ของเราก็คือว่า ท่านพระสารีบุตรฟังคาถานั้นสั้นๆ ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่คนที่ได้ยินร้อยครั้งพันครั้ง ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพเห็นทางตา ซึ่งไม่ใช่สิ่งซึ่งปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังว่า จักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง ยังไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะใดๆ ทั้งสิ้น
ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกได้ ไม่ว่าเราศึกษาเรื่องจิตกี่ประเภทก็ตาม ถ้าจิตประเภทนั้นๆ เกิดกับเรา ก็เป็นปัจจัยที่จะให้สติระลึก นี่คือจุดที่สำคัญที่สุด เพื่อที่จะได้รู้จักตัวจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ฟังแต่เรื่องธรรมเท่านั้น
ผู้ฟัง พระโสดาบันบุคคลไม่สงสัยในรูปธรรม และนามธรรม หมายความว่าเป็นผู้รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมแล้ว แต่สิ่งที่น่าสงสัยอย่างยิ่งก็คือว่า เมื่อเห็นรู้แล้วว่า ธรรมไม่ใช่ตัวตน คือเห็นว่าเป็นรูปธรรมนามธรรมชัดเจน หมายถึงรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูปชัดเจนนั้นเอง แต่ก็ยังละกิเลสไม่ได้ ทั้งหมด ทั้งๆ ที่รู้มันไม่ใช่เรา จะต้องถึงเป็นพระอรหันต์ถึงจะละได้หมดทุกอย่าง เหตุปัจจัยอะไร ที่ทำให้พระโสดาบันบุคคลละความเป็นตัวตน ละกิเลสนี้ได้ทั้งๆ ที่รู้ว่า ธรรมคือธรรม ธรรมไม่ใช่ตัวตน คืออย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไรถึงละไม่ได้ จะต้องเป็นพระอรหันต์ถึงละได้หมด
ท่านอาจารย์ โดยมากก่อนที่จะศึกษาธรรม ทุกคนเข้าใจว่าที่ใช้คำว่าโสดาบัน ในความหมายของอรหันต์ เช่นบอกว่า ฉันไม่ใช่พระโสดาบันนี่ ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลง เขาคิดว่า โสดาบันเท่ากับอรหันต์ หมายความว่าไม่มีกิเลสเลย แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาแล้วจะทราบได้ว่า การดับกิเลสต้องดับเป็นระดับขั้น แล้วก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ละการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่รู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คือผู้ที่มีโทสะ โมหะ มีอกุศลเต็มทุกประเภท เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกลักษณะสภาพของธรรมหนึ่งธรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม และรูปธรรม ย่อมเห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสติเลือกไม่ได้ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร แล้วเมื่อมีปัจจัยของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นก็เกิดปรากฏแล้วหมดทันที
ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นมานะ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลอื่นๆ ซึ่งพระอริยเจ้าระดับสูงขึ้นจึงจะละได้ แต่สำหรับพระโสดาบันไม่ใช่ไปกระทำกิจละสภาพอกุศลธรรมที่พระอริยบุคคลขั้นสูงละ เพราะเหตุว่าปัญญาระดับขั้นของพระโสดาบัน เพราะสติระลึกจึงรู้ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกอย่าง จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือของสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน แล้วจะเห็นว่ากว่าจะละคลาย ไม่ใช่สักแต่ว่า แค่นั้นไม่มีทางที่จะละคลายเลย เพราะว่าการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะละความเป็นตัวตนต้องขันธ์ ๕ ไม่ใช่ว่าไม่ระลึกขันธ์หนึ่งขันธ์ใดแล้วก็จะเป็นโสดาบันได้ เวทนาขันธ์เกิดขึ้นจะบอกว่า พระโสดาบันไม่ระลึกไม่รู้ในความไม่เที่ยงของเวทนาก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญา หรือสังขาร หรือวิญญาณก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมเกิดดับปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาขั้นพระโสดาบันที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงรู้ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม แต่รู้ว่าโลภะก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิด ไม่ใช่พระโสดาบันจะไปทำอะไรโลภะได้เลย แต่เพราะรู้ว่ายังมีโลภะอยู่ เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระสกทาคามี ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทุกคนไม่หลงผิด รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสใดเหลืออยู่ กิเลสที่ดับก็เป็นแต่เพียงสักกายทิฏฐิ การที่ไม่เคยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม การที่ไม่รู้ในลักษณะของพระนิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วก็รู้ว่า มีกิจที่จะต้องกระทำต่อไป ยังไม่ใช่ผู้ที่เสร็จกิจแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็รู้ว่าขณะใดสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิต จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นโทษของอกุศลชัดขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็ค่อยๆ ละไปตามลำดับ แต่ว่าไม่ใช่ว่าจากพระโสดาบันก็จะเป็นพระอรหันต์ได้
ผู้ฟัง เหตุที่จะให้เกิดโทสะไปบ้างแล้วว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะ มีความติดข้องแล้ว ที่จะไม่ให้เกิดโทสมูลจิต ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะต้องรู้สมุฏฐานหรือเหตุที่จะให้เกิดโทสะ ซึ่งก็ได้แก่โลภะ เพราะฉะนั้น ก็มีประเด็นที่เป็นปัญหาว่า โลภะที่เป็นสมุฏฐานหรือว่าเป็นเหตุให้เกิดโทสะนั้น เป็นเหตุในลักษณะใด ก็มาพิจารณาดูว่า โลภะเป็นสมุฏฐานหรือเป็นเหตุให้เกิดโทสะในลักษณะที่ว่า พอใจ ติดข้อง ต้องการ อยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าพอใจ แล้วไม่ได้ก็เกิดโทสะ อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งที่เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว แต่ว่าอีกลักษณะหนึ่งก็คือ พอใจ ติดข้องต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจแล้วก็ได้มาสมใจอยากแล้ว แต่ว่าต่อมาจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไปก็เกิดโทสะ อันนี้ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ทีนี้นอกจาก ๒ ลักษณะนี้แล้วที่โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่ทราบว่าจะมีลักษณะแง่มุมอื่นใดอีกไหม ที่ว่าโลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ
อ.สมพร โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้ว เช่นเราได้ยินเสียงด่า แท้จริงก็โลภะอยู่เบื้องหลัง เราอยากได้ยินเสียงเพราะ เสียงเพลง แต่เขาด่าเรา เราโกรธทันทีทันใด ก็เพราะว่าโทสะที่เกิดมาโลภะเป็นปัจจัย แต่ว่าโลภะอยู่เบื้องหลัง ที่ปรากฏจริงๆ มันโทสะเกิดขึ้นมากมาย ถ้าไม่มีโลภะอันนี้ โทสะจะไม่เกิด จึงกล่าวได้ว่าโลภะเป็นปัจจัยให้โทสะเกิด เช่น เสียงด่าเป็นต้น