ปกิณณกธรรม ตอนที่ 169
ตอนที่ ๑๖๙
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๙
ผู้ฟัง เวลานี้อยากจะให้เห็นชัด สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าใจวิจิกิจฉา เพราะมาใช้ภาษาไทยตัวเดียวกัน สงสัยคนนี้จะขี้ขโมย สงสัยว่าเขาจะถูกลอตเตอร์รี่ สงสัยได้สารพัด แต่วิจิกิจฉาไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปิดกั้นญาณ เพราะฉะนั้น ดิฉันก็เห็นว่า อาศัยหนังสือของอาจารย์ว่า มีการสงสัย ๘ อย่าง สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อ.สมพร กล่าวตามอัฏฐสาลินีกล่าวไว้อย่างนั้น ผมก็ยกมากล่าวให้อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ๘ คืออะไร
ผู้ฟัง สงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในขันธ์ ที่เป็นอดีต อนาคต แล้วก็ในปฏิจจสมุปบาท
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่า การที่เราสงสัยที่จะเป็นวิจิกิจฉา สงสัยในสภาพธรรม ไม่ใช่ความคิดว่า วันนี้จะไปดีหรือไม่ดี อย่างนี้ก็เป็นเรื่องราว เป็นเรื่องของบัญญัติ การสงสัยที่นี้หมายความถึง สงสัยไม่รู้เพราะความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จึงเกิดความสงสัย อย่างท่านที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ท่านก็มีความคิดว่า ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหนหนอ ท่านก็คิด แต่ไม่ใช่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรม นั่นเป็นแต่เพียงความนึกคิด ซึ่งความนึกคิดทำให้ดูเหมือนกับว่าเราไม่แน่ใจ แต่ไม่แน่ใจในอะไร ในเรื่องราว ไมใช่ในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ความสงสัยทั้งหมด ๘ อย่างเกี่ยวกับเรื่องของตัวสภาพธรรมทั้งนั้น
ผู้ฟัง สงสัยไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมใน ๘ อย่าง ดิฉันก็สงสัยในพระพุทธเจ้า หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะว่าพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเพียงเจ้าชายสิทธัตถะ เหมือนคนธรรมดา ก็เป็นคนธรรมดา แต่นี่ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สงสัยในคนที่ชื่อแจ้าชายสิทธัตถะ แต่สงสัยในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสงสัยในพระปัญญาคุณ ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคนั่นเอง
ผู้ฟัง สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า มีคนเขียนเอาเอง โดยไม่มีพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นวิจิกิจฉาหรือเปล่า ไม่เป็น อีกแล้ว
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราไม่น่าจะไปคิดถึงเรื่องคนอื่น หมายความว่าถ้าจะแบบนั้นแล้วละก็เรื่องราวมากมาย แต่ทีนี้การที่จะรู้จริงๆ ต้องรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ เราก็เพียงแต่วินิจฉัย แล้วก็พูดเรื่องราวนั้นๆ ไป แต่ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นวิจิกิจฉาหรือเปล่า แต่เวลาที่เราเอง เกิดความคิดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนั้นก็เป็นความสงสัยในสภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรม อย่างเป็นปัญญา หรือว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ขณะนั้นเราก็คิดได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นความสงสัย ขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนิดหนึ่ง แล้วสติก็ดับ แต่มีความสงสัยเมื่อกี้นี้นามธรรมหรือรูปธรรม ใช่หรือเปล่า หรืออะไรอย่างนี้
ผู้ฟัง อันนี้เป็นวิจิกิจฉา
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นวิจิกิจฉา เพราะว่าไม่ได้สงสัยในเรื่องราว ไม่ได้สงสัยว่ามีจิตกี่ดวง
ผู้ฟัง อันนี้ดิฉันได้กับตัวเอง อันนี้เป็นกุศล หรือเป็นโลภ พอเราเกิดปีติ เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ในขณะจิตนั้นเราเป็นโลภะหรือเกิดกุศล ขณะนั้นเป็นวิจิกิจฉา
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นวิจิกิจฉา
ผู้ฟัง การสงสัยในเรื่องราวก็ไม่เป็นวิจิกิจฉา ผมก็เคยได้ฟังได้ยินมาว่า สงสัยว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงไหม มีไหมเจ้าชายสิทธัตถะ อย่างนี้ถือว่าเป็นสงสัยในเรื่องราวหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ แต่เขาต้องรู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใครถึงได้สงสัย สงสัยในความที่มีปัญญาเลิศอย่างนั้น จะมีหรือ
ผู้ฟัง ก่อนจะถึงปัญญา เพราะว่าเอาตัวตนก่อน
ท่านอาจารย์ มิได้ แต่หมายความว่า ถ้าพูดถึงคำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว
ผู้ฟัง ตอนผมศึกษาพระธรรมใหม่ๆ ผมก็ยังไม่เชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะ มีจริงหรือไม่ จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมไปแล้วพอสมควรว่า จากประวัติศาสตร์ พงศาวดารต่างๆ จึงเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง และมีปัญญา ก็มาเรียนทีหลัง
ผู้ฟัง ใช่ อันนี้มันก็ต้องมาจากเรื่องราวก่อน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องราว เราก็มีเรื่องราวตลอดทั้งวัน ไม่ใช่เรื่องนี้ก็ต้องเรื่องนั้น
ผู้ฟัง ทีนี้ ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็ไม่น่าจะเป็นวิจิกิจฉา
ท่านอาจารย์ รวมความว่า ทั้งหมดคือความสงสัยในเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และบุคคลในพระไตรปิฎก ก็เป็นที่สงสัยได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าจะพูดถึงว่าสงสัยเป็นวิจิกิจฉาแล้ว กลายเป็นวิจิกิจฉาในเรื่องราว แต่ทีนี้เราต้องแยกว่า ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วยังมีความคิดอย่างนี้หรือเปล่าว่า ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน ที่สาวัตถีหรือว่าที่พาราณสี อย่างนี้จะเป็นวิจิกิจฉาได้หรือ ในเมื่อเป็นเรื่องราว ไม่ใช่เป็นเรื่องของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าผู้นั้นไม่มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่คนที่ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมเลย ในชีวิตของเขาก็มีแต่เรื่องราวที่เป็นสมมติบัญญัติ เพราะฉะนั้น ในโลกของความคิดของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราว เพราะฉะนั้น เขาก็คิดได้พระสารีบุตรมีไหม พระอานนท์มีไหม สบู่นี้สีอะไร ซื้อที่ไหน อะไร เหมือนกันหมด ถ้าพูดอย่างนี้เป็นเรื่องราวทั้งหมด
ขณะนั้นเราก็ต้องทราบว่าจิตเป็นอะไร ถ้าเป็นอกุศล เป็นแน่ เพราะเหตุว่าขณะนั้นพูดด้วยความยินดีหรือความไม่ยินดี เราใช้คำว่าสงสัย แต่จริงๆ แล้วในขณะนั้นเขามีความต้องการพูดเรื่องนั้น มีความยินดีที่จะพูดเรื่องนั้นหรือเปล่า เป็นเรื่องราว ถ้าจะเป็นอย่างนี้ โดยการที่ว่าเอาจิตของคนนั้นวันนั้น คนนี้คิดอย่างนั้นถามอย่างนี้ ไม่มีจบ เพราะว่าเรื่องคนทั้งโลกที่จะคิดอย่างนี้
ดิฉันเองพอใจที่จะให้ทุกท่านได้รู้สภาพธรรมด้วยตัวเอง แม้แต่ในหนังสือที่เขียนก็ไม่มีคำตอบ เพราะเหตุว่าให้คิดเอง ถ้าคิดถูก ต้องเป็นเหตุเป็นผล แล้วสิ่งที่เป็นคำตอบก็มีอยู่ในหนังสือนั้นแล้วไม่ใช่ว่าต้องเฉลย
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราไม่วิจารณ์ คือไม่ไปพิจารณาสภาพจิตหรือคำพูดหรือความคิดของคนอื่น เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็หมดไปแล้ว แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ที่จะให้เรารู้ลักษณะ เกิดดับเร็วมาก เราจะรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นโลภะหรือเปล่า ที่กำลังอยากจะรู้ที่พูด หรือว่าเป็นจิตประเภทไหน
ผู้ฟัง ผมคิดว่าวิจิกิจฉาเป็นธรรมที่พระโสดาบันบรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าถามคำว่า “วิจิกิจฉา” ก็ต้องหมายความว่า พระโสดาบันท่านบรรลุธรรมอะไร แต่ถ้าเป็นอื่นแล้วกลัวจะเป็นเรื่องของการตรึก วิตก วิจารไป อย่างนั้น ไม่ทราบว่าข้อสรุปนี้พอที่จะสรุปได้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ในสมัยโน้น เจ้าสรกานิ ซึ่งท่านก็เสวยน้ำจันท์ เป็นประจำ แล้วก็ท่านก็ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล คนในครั้งนั้นก็สงสัยว่า เจ้าสรกานิเป็นพระโสดาบันหรือ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สงสัยในความเป็นอริยสงฆ์ ก็เท่ากับว่าคนนั้นสงสัยในข้อปฏิบัติ ในหนทางปฏิบัติว่า จะมีหนทางที่เจ้าสรกานิจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือ ในเมื่อท่านมีความประพฤติอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะรู้ได้เลยว่า แม้จะเป็นเจ้าสรกานิ แต่ถ้าได้อบรมเจริญปัญญาแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็หมดความสงสัยในสิกขา ถ้าผู้นั้นรู้จักหรือว่าเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องสงสัย
ผู้ฟัง ขันธ์ที่เป็นอดีต
ท่านอาจารย์ เรื่องของสิกขาทั้งหมด อย่างขณะที่สติระลึก แล้วก็มีความสงสัยว่าเพียงแค่สติระลึก สภาพธรรมที่กำลังรู้แข็งกับแข็ง อย่างนี้หรือจะทำให้สามารถเป็นถึงพระอรหันต์ได้ หรือสามารถที่จะแทงตลอดในการเกิดดับของสภาพธรรม หรือว่าสามารถที่จะประจักษ์อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ นี่คือความสงสัย ความไม่รู้ในขันธ์ เพราะเหตุว่าขณะนี้ เรารู้จักชื่อ ขันธ์ แต่ว่าลักษณะของขันธ์ เราก็อาจจะไปบอกว่าปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ ๕ เราก็รู้จักชื่อ แต่จริงๆ แล้วลักษณะของขันธ์คือ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ โดยปรมัตถธรรม ๔ ทรงแสดงไว้เพียง ๔ แต่ว่าย่อลงไปกว่านั้นอีก ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง ขณะนี้ถ้าเราจะตั้งต้นปัญญาจริงๆ เรายังไม่ต้องรู้เรื่องขันธ์ก็ได้เพราะขันธ์ตั้ง ๕ แล้วก็ปรมัตถธรรมตั้ง ๔
ถ้ารู้จริงๆ ว่า มีสภาพธรรมที่ต่างกันโดยเด็ดขาด ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ กับสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม แค่นี้เราก็พิจารณาว่า จริงไหม ไม่ว่าที่ไหนในโลก เดี๋ยวนี้ หรือว่าอดีต อนาคต หรือว่าต่อไป หรือว่าจะเป็นโลกไหนก็ตาม สภาพธรรมที่มีจริงๆ ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะแท้ๆ แน่นอน คือ เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ มีลักษณะที่รู้ ส่วนอีกลักษณะหนึ่งนั้นไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม ต้องเข้าใจความต่างกันของ ๒ อย่าง
นี่คือการที่จะไม่สงสัยในรูปขันธ์ และนามขันธ์ แต่ว่าเพียงเท่านี้ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราเกิดปัญญาอะไรได้ เพราะเหตุว่าการสะสมปัญญาไม่พอ เพราะฉะนั้น แยกนามขันธ์หรือนามธรรมออกเป็น ๔ ซึ่งก็ได้แก่ จิต และเจตสิก แต่ถ้าแยกเป็น ๒ ก่อนก็ได้ คือแยกเป็นจิต และเจตสิก ให้รู้ว่าที่เป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน แล้วเป็นสภาพรู้ แท้ที่จริงแล้วมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือเป็นจิตประเภทหนึ่ง และเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น นามธรรมก็เป็น ๒ แล้วก็แตกนามธรรม ๒ ออกเป็นนามขันธ์ ๔
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องอื่น เป็นเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็จะค่อยๆ หมดความสงสัย ความไม่รู้ในขันธ์
ผู้ฟัง ตอนนี้ที่เป็นอดีต หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขันธ์เกิดแล้วดับ ทันทีที่ผ่านไปเมื่อกี้ก็เป็นอดีตแล้ว คุณสุรีย์ยังสงสัยอยู่ไหม
ผู้ฟัง ก็คลุมเครือ
ท่านอาจารย์ นี่คือสงสัยในขันธ์ ถ้าจะให้ชัดว่า สงสัยหรือเปล่า ขณะไหน อย่างไร ก็จะได้ทราบด้วยตัวเองว่า สงสัยอย่างนี้ ก็คือสงสัยในขันธ์
ผู้ฟัง สงสัยในขันธ์ ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์เป็นอนาคต อันนี้ก็หลักของเกิดดับเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ที่จริงที่ว่าขันธ์ยาว ที่ว่าสงสัยในขันธ์ในอดีตที่ดับไปแล้วว่า ความจริงถึงแม้ว่าจะเป็นอดีต แต่ก็เกิดดับ เกิดดับ เป็นอดีต ต้องมีเกิดดับด้วยไม่ใช่ว่า ยาว
ผู้ฟัง ใช่ เกิดดับ เกิดดับ เป็นอดีต แต่นี้ในอนาคต
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เป็นปัจจุบัน แล้วขณะที่เกิดต่อเป็นอนาคตของขณะเมื่อกี้นี้
ผู้ฟัง เกิดดับ ตกลง ๓ ข้อ ถ้าเผื่อว่าหลักก็คือเกิดดับเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจอันนี้ ก็คงเข้าใจทั้ง ๓ ข้อว่า สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นทั้งอดีต และอนาคต ทีนี้พูดถึงชาติที่แล้ว อันนี้เป็นสงสัย วิจิกิจฉาหรือเปล่า ชาตินี้ชื่อสุรีย์ ชาติที่แล้วเราเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ เหมือนกับเป็นเรื่องราว แต่ที่จริงแล้ว คุณสุรีย์ไม่ได้คิดถึงเรื่องตัวชื่อ จริงๆ แต่คิดถึงความเป็น เพราะฉะนั้น ในลักษณะของความเป็นนั้นคือสภาพธรรม โดยที่เราไม่รู้ว่านี้ชื่ออะไร ทุกคนมีขันธ์ แล้วทุกคนก็เกิด แล้วก็เห็นคนอื่นตาย แล้วรู้ว่าตัวเองก็จะต้องตายด้วย เพราะฉะนั้น ต้องตายแน่นอน แต่ทั้งๆ ที่เกิดแล้วตาย ต่อไปจะเกิดอีกหรือเปล่า
นี่ก็คือไม่ใช่รู้เรื่องบัญญัติอย่างเดียว แต่คิดถึงสภาพเกิดแล้วตาย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งปนกันเหมือนกับว่า เราไม่สามารถจะแยกออกได้ว่า นี่เป็นปฏิรูปกวิจิกิจฉา หรือว่าเป็นวิจิกิจฉาเจตสิก แต่ให้ทราบได้ว่า ในขณะนั้นเป็นความสงสัยในเรื่องราวหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมเลย ไม่มีขันธ์ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ อันนั้นก็เป็นปฏิรูปกวิจิกิจฉา แต่ถ้าเนื่องกับขันธ์ โดยที่คุณสุรีย์เองไม่รู้ว่านี้ชื่อขันธ์ หรือว่านี่เป็นขันธ์แต่ก็มีขันธ์ให้สงสัย คือ มีรูป เกิดมาก็มีรูป แล้วก็ไม่รู้ว่านี่เป็นขันธ์ แล้วก็มีจิตใจด้วย แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นนามขันธ์ ไม่รู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก แต่กระนั้นด้วยความยึดถือในสิ่งที่มี ในสภาพที่เป็นขันธ์ แต่เรียกอย่างอื่น ก็คิดว่าสิ่งนี้แหละเมื่อตายแล้วจะมีไหม นั่นก็เป็นความสงสัยในขันธ์ เป็นสภาพของวิจิกิจฉาเจตสิก เพราะว่าจริงๆ แล้วขณะนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราว แต่สงสัยในสภาพที่มีอยู่ในขณะนี้ว่า เมื่อตายแล้วจะเกิดอีกหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองแยกให้ออกว่า เป็นปฏิรูปกวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในเรื่องราว หรือว่าในขณะนั้นมีสภาพธรรม ซึ่งแม้ว่าเราไม่รู้ว่าบัญญัติเรียกว่าขันธ์ แต่เราก็สงสัยแล้วในขันธ์นั้น ไม่ใช่ว่าคนที่เรียนถึงจะรู้ หรือว่าถึงจะมี แต่มีทั้งนั้น แต่ว่าโดยไม่รู้ตัว
ผู้ฟัง อันนี้มีใครสงสัยไหม สงสัยในขันธ์ นั่งๆ เพลินๆ เลยคิดว่า ชาติหน้าจะเป็นอะไร มีไหม อันนี้ก็ในขันธ์ แต่เราไม่รู้ตัว
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้ ว่าใครตายแล้วจะเกิดที่ไหนอย่างไร แต่ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังต้องเกิดกันทุกคน
ผู้ฟัง ถ้าตราบใดยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น คงต้องสงสัยต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องสงสัยก็เป็นเรื่องที่เราปุถุชนจะต้องศึกษา แล้วคงจะต้องเจริญความไม่สงสัยให้มากขึ้น ที่จะไม่มีความสงสัย หรือว่าคลายความสงสัย หรือจะให้หายความสงสัย จะมีวิธีอย่างไร พื้นๆ เพื่อว่า จะได้ให้ท่านผู้ฟังได้เกิดมีกำลังใจ
ท่านอาจารย์ รู้สึกต้องการผลเร็ว คืออยากจะหมดความสงสัยหรือว่าให้น้อยลง
ผู้ฟัง ก็คงให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีได้ก็ดี เพราะว่า
ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียว ไม่มีหนทางอื่น
ผู้ฟัง ชาติเดียวไม่มีทางสำเร็จ หมายความว่า
ท่านอาจารย์ ถ้าสำเร็จก็เป็นพระโสดาบัน
ผู้ฟัง ต้องเป็นพระโสดาบันเท่านั้นจึงจะคลายความสงสัย ทีนี้ขั้นตอนในการที่จะ เป็นแนวทางที่จะเจริญความไม่สงสัย มีวิธีทางอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ต้องอบรมเจริญความรู้ นี่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าขณะนี้ให้ทราบว่า อวิชชาไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหนีไปที่ไหน หรือไม่ต้องคิดทำอย่างอื่นเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น ตราบใดที่ไม่รู้ก็จะเกิดความสงสัย
ทางเดียวที่จะไม่สงสัยก็คือว่า เข้าใจให้ถูกต้อง ขณะนี้ที่กำลังเห็น เข้าใจให้ถูกต้องคือสภาพที่เป็นนามธรรมมีจริงๆ แล้วสภาพที่เป็นรูปธรรมก็กำลังปรากฏ ขณะนี้ทางตา เพราะฉะนั้น กว่าจะแยกโดยการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ทางตาที่กำลังเห็น ไม่เกี่ยวข้องกับรูปเลย ข้อสำคัญที่สุดให้ทราบว่า นามธรรมกับรูปธรรมแยกกันโดยเด็ดขาดจริงๆ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ขณะที่เป็นนามธรรมจะไม่มีลักษณะของรูปธรรมเจือปนเลย เหมือนกับไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมในขณะนั้น ต่อเมื่อใดกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏทางตานี่ก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏเวลากระทบสัมผัสก็เป็นรูป
นามเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง แล้วรูปธรรมเป็นปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง เมื่อไหร่ที่ประจักษ์แจ้งชัดอย่างนี้ ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย นามก็นาม รูปก็รูป ขณะนั้นก็จะมีความรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม แต่เวลานี้โดยมากอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องปฏิบัติธรรมมากมายจากหลายๆ แห่ง ก็เลยสับสนปนกัน บางคนเก็บทุกอย่างมาลองทำดู เพื่อว่าอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล ก็ต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้มาประกอบกัน
บางคนพยายามไปหาที่ของธรรม เช่น กำลังเห็น ก็พยายามไปหาที่ว่ามันต้องอยู่ตรงกลางตา หรือว่าเวลาที่ได้ยินก็ต้องอยู่ตรงกลางหู ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม ถ้าเป็นนามธรรมจริงๆ ไม่มีรูปมาเจือปน กำลังเข้าใจในลักษณะอาการที่เป็นสภาพรู้ แล้วถ้าเป็นรูปก็คือรูปปรากฏ ขณะนั้นเป็นลักษณะของรูป ไม่ต้องมีความเป็นตัวเราทั้งตัวทั้งแท่ง ซึ่งกำลังคิดว่าได้ยินต้องอยู่ตรงหู เห็นก็ต้องอยู่ตรงตา เวลาได้กลิ่นก็ต้องอยู่ตรงจมูก นั่นแสดงว่ายังมีอัตตสัญญา ความจำร่างกายทั้งหมด จนกระทั่งจำว่าจมูกอยู่ตรงนี้ ซึ่งก็หมายความถึง อัตตสัญญา ต้องไม่มีเลย รูปส่วนรูป นามส่วนนามจริงๆ
ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหม ถ้าหากเราค่อยกำหนดให้อยู่ตรงที่จะพิจารณาแล้ว ก็ไม่สามารถจะพิจารณาได้ ถ้าอยู่ตรงนั้นตรงนี้มันจะชัดเจนขึ้นกว่าที่ว่า ไม่อยู่ตรงนั้นตรงนี้
ท่านอาจารย์ โดยมาก ทุกคนจะบอกว่าต้องทำ เหมือนอย่างที่ว่าคุณชวลิตพูด ลองพูดซ้ำอีกที จะจับใจความได้ว่าต้องทำแน่นอน ที่พูดเมื่อกี้นี้
ผู้ฟัง คือต้องทำความรู้สึกในการที่จะรู้รูปว่า รูปมันอยู่ตรงไหน
ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ต้องทำความรู้สึก เพราะเหตุว่าเป็นหน้าที่ของสติที่ระลึก เพราะฉะนั้น ตัวตนจะแฝงอยู่อย่างชนิดซึ่งต้องค่อยๆ เห็นสภาพที่ยึดถือนามธรรม และรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงจะละการที่มีการจงใจ หรือต้องการ หรือการรู้สึกที่จะทำอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องรูปไม่ต้องสนใจเลย กำลังแข็ง ลืมโต๊ะ ลืมเก้าอี้ ลืมห้องนี้ ลืมทุกอย่าง นั่นคือมีแข็งกำลังปรากฏ โดยอะไร สติระลึก ไม่ใช่เราต้องไปให้รู้อยู่ตรงแข็ง ที่โต๊ะ ที่มือ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ก็ยังมีตัวเราซึ่งทำให้อยู่ตรงนั้น แต่ความจริงไม่ต้อง สติระลึกลักษณะที่มี
ความไม่รู้อยู่ที่ว่า เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏไม่รู้ต่างหาก ไม่ใช่ว่าต้องไปทำให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าตราบใดยังมีการพยายามจงใจทำให้รู้ตรงนั้นตรงนี้ หมายความว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของอัตตสัญญาซึ่งจะต้องละ
ผู้ฟัง หมายความว่าเราที่จะไปกำหนดเช่นนั้น ไม่ตรงกับสภาวะ
ท่านอาจารย์ ที่เราจะไปกำหนดเช่นนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ถูก
ผู้ฟัง เป็นตัวตนหมดเลย
ท่านอาจารย์ แน่นอน ที่เราจะไปกำหนดเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า เรื่องของอริยสัจจธรรมรอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ ต้องฟังมากทีเดียว จนกระทั่งรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็สภาพธรรมกำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ไม่ใช่เราจะไปบอกว่าไม่ทันๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีเราซึ่งไม่ทัน แต่ว่าสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วเป็นหน้าที่ของสติ ถ้าสติเกิดสติก็ระลึก แต่เมื่อระลึกแล้ว ไม่ใช่ให้ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าระลึกให้ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นคืออัตตสัญญา เพราะฉะนั้น เวลาระลึก ให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ตรงนี้ จะอยู่ตรงไหนไม่สำคัญเลย เพราะว่าความไม่รู้อยู่ที่ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
ความรู้ไม่ใช่ให้ไปรู้ตรงที่หนึ่งที่ใด แต่ให้รู้ลักษณะที่ปรากฏว่าลักษณะนั้นจริงๆ แล้ว เป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีตัวเราซึ่งกำหนด แต่ว่ามีสติที่ระลึกพร้อมสัมปชัญญะที่ค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม โดยตัดสถานที่ ตัดมือ ตัดโต๊ะ ตัดความทรงจำว่า เป็นเก้าอี้ หรือว่าเป็นเราที่กำลังทำอยู่ นั่งอยู่ หรืออะไรทั้งหมด