ปกิณณกธรรม ตอนที่ 170


ตอนที่ ๑๗๐

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๙


ท่านอาจารย์ เพราะจริงๆ แล้วไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรม

ผู้ฟัง ความเข้าใจในเรื่องนี้ก็คงต้องอาศัยการสังเกตสภาวธรรม

ท่านอาจารย์ การฟังให้เข้าใจแล้วรู้ว่า ขณะใดสติเกิด แล้วขณะใดหลงลืมสติ แล้วพอสติเกิดก็อย่าได้ไปให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ เพราะเหตุว่านั่นผิด เป็นอัตตสัญญา แต่ว่าเมื่อสติเกิดแล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมไม่มีรูปธรรมเจือปนเลย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ส่วนลักษณะของรูปก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม

ผู้ฟัง แล้วสภาพสติที่รู้ลักษณะของนามธรรม จะรู้อย่างไร

ท่านอาจารย์ คือ เวลานี้ความไม่รู้ ไม่รู้ในรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม ที่ว่าไม่รู้ในรูปธรรม ฟังดูเหมือนว่าไม่น่าจะจริง ก็มีรูปธรรมปรากฏ แต่ที่ว่าไม่รู้ เพราะเหตุว่าเวลาที่รูปธรรมปรากฏ มีความทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ เช่น พอเห็นก็มีความทรงจำว่าเป็นคน เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่า ต้องตรงนั้นตรงนี้ แต่ให้รู้ว่า นี่เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง แล้วก็สภาพรู้ก็เหมือนกัน ก็เป็นสภาพที่เพียงรู้ แล้วแต่สติจะระลึก ขณะที่คิด ไม่มีที่อยู่ อย่าไปพยายามหาที่อยู่ให้คิดว่า ต้องอยู่กลางหัวใจ หรืออะไรอย่างนั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นก็ยังมีตัวแล้วก็ยังมีหัวใจ แต่ว่าเวลาที่สภาพคิดเกิดขึ้น แล้วก็มีการเข้าใจขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่คิด ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วคิด ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไหนก็ตาม เกิดขึ้นแล้วคิด เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปร่าง คิดไม่มีรูปร่าง

ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเรื่องนี้ไม่เข้าใจ ความสงสัยในเรื่องสภาพตัวตน คนเขา เราสัตว์นั้น ก็คงต้องมีอยู่มากขึ้นๆ ถ้าหากว่าไม่เข้าใจสภาพอย่างนี้เสียก่อน เพราะฉะนั้น ในเรื่องรูปของพระพุทธเจ้าก็ตามแต่ รูปของพระสงฆ์ก็ตามแต่ หรือว่านิมิตต่างๆ ที่ท่านทั้งหลายได้มีนิมิตจากการที่ได้ทำสมาธิก็ตาม เห็นนิมิตเป็นรูปของพระต่างๆ มาโปรด เห็นพระพุทธเจ้าบ้าง เห็นอะไรต่างๆ ท่านจะได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่า สิ่งที่ปรากฏเหล่านั้น เกิดขึ้นจากที่ท่านไม่เข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็คงจะเป็นแนวความคิดที่ทำให้ท่านทั้งหลายสามารถที่จะเข้าใจที่ว่า โดย ธัมมัง ปัสสติ โส มัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็คงเห็นตถาคต

ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการศึกษาทั้งหมดจะไร้ประโยชน์ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาพระพระอภิธรรม พระวินัย พระสูตร หรือเรื่องราวอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า ปัญญาจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องจิต หรือลักษณะต่างๆ ของจิต ก็เพื่อที่จะให้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้มีการระลึกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเหตุว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ แต่พูดเท่าไหร่ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้น แล้วก็เริ่มเข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าเราได้ฟังมามากแล้วว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกไม่ใช่เราที่จะกำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเมื่อสติระลึกแล้วก็คือว่า จะต้องมีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมายความว่าเริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็จะเห็นชัดจริงๆ ว่า จะเข้าใจมากไม่ได้เลย แม้ว่าฟังมามาก เข้าใจตัวหนังสือมาก แต่ว่าความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไม่มากอย่างที่เข้าใจตัวหนังสือ

การศึกษานั้นก็มี ๒ ขั้น คือ ขั้นฟังเรื่องของสภาพธรรมกับขั้นที่ศึกษาพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ให้ทราบประโยชน์สูงสุดของการฟังซึ่งทิ้งไม่ได้เลย เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ผู้ฟัง เมื่อท่านไปปฏิบัติแล้ว กับที่ท่านเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน จะเกื้อกูลในการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เจริญ รู้สภาพตามที่เป็นจริงได้อย่างไร ความสงสัยจะได้ทุเลาลงไป

ท่านอาจารย์ เรื่องความเข้าใจคงไม่มี แต่ตอนที่สติเกิด ต่างคนต่างก็จะรู้ว่า ปัญญาของตัวเองค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ สติระลึกนิดเดียว แล้วก็หมด ไม่มีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเลย ถ้าใครบอกว่าอย่างนั้นจะถูกไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ทุกท่านก็ทราบ เมื่อเวลาที่สติเกิดไม่บ่อย แล้วการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นเรื่องละเอียด ต้องเป็นเรื่องเบา ไม่ใช่เป็นเรื่องความต้องการ จงใจ จนเหนื่อย จนหนัก จนเบื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องการอบรมจริงๆ

ผู้ฟัง ในการที่เรามาศึกษาพระอภิธรรม ตั้งแต่เริ่มแรกเลยก็ไม่มีตัวตนแล้ว คือเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิต ของเจตสิก เราก็เห็นจริงๆ ว่าไม่มีตัวตน ทีนี้การที่ศึกษาพระอภิธรรม จะช่วยคลายให้เกิดความรู้สึกในเรื่องความสงสัยลงไปได้มากแค่ไหน

ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจเรื่อง นี่แน่นอน แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมกำลังปรากฏเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว คือตัวจริงๆ ของสภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม แต่ว่าเข้าใจเรื่องราวหมด จิตมีเท่าไหร่ วิริยเจตสิกมีลักษณะอย่างไร สติมีลักษณะอย่างไร ก็เข้าใจเรื่องราว แต่เวลาที่สภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ เป็นเรื่องที่ผู้นั้นจะรู้ได้ว่าวันหนึ่งๆ สติระลึกแล้วก็มีเข้าใจขึ้นบ้างไหม แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจขึ้น หรือสติยังไม่ระลึก ก็ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ศึกษาพิจารณา ไตร่ตรองเรื่องของสภาพธรรมมากขึ้น เพื่อว่าเวลาสติเกิดระลึก จะได้มีปัญญาพอที่จะเข้าใจสภาพซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

ผู้ฟัง คงจะเป็นเพราะว่าที่เราศึกษาพระอภิธรรม อาจจะเป็นเพราะจุดๆ นี้กระมัง เรียนพระอภิธรรมแล้ว จึงมีความรู้สึกว่ายาก ยากมาก เพราะเหตุว่าในรายละเอียดมีมากทีเดียว ที่เราเรียนมาเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นเอง ๓ - ๔ ปีที่เราเรียนมานี้ ยังไม่ได้อะไรเท่าไรเลย

ท่านอาจารย์ ถ้าจะเรียนไม่ให้เบื่อ คือเรียนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อย่าไปมุ่งที่ตัวหนังสือหรือที่ตำรา อย่างขณะนี้เราอาจจะไม่ต้องใช้ตัวหนังสือเลย เพียงการฟังให้เข้าใจว่า สภาพธรรมมี ๒ อย่าง จริงไหม ลักษณะที่เป็นนามธรรม มีแน่นอน เพราะเหตุว่าอย่างโต๊ะ เก้าอี้พวกนี้ แข็ง อ่อนพวกนี้ ไม่ใช่สภาพรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น สภาพรู้มีจริงๆ แล้วรูปธรรมก็มีจริงๆ คือ ตั้งตนด้วยธรรมที่มีจริง แล้วธรรมที่มีจริงก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วต่อไปเราก็จะได้บอกว่า นามธรรมก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะที่เราเข้าใจว่าเป็นจิตอย่างเดียว ยังมีสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดกับจิตด้วย

อย่างนี้เราก็ไม่เห็นต้องไปท่อง แล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจด้วย เพียงแต่ว่ามีชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างนามธรรมแล้ว เราก็มาขยายว่านามธรรมไม่ใช่มีแต่เพียงจิต ที่เราใช่คำว่าจิตใจ แต่มีสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งถ้าเป็นชาวมคธ เข้าก็ใช้คำว่าเจตสิก เจตสิกํ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าภาษาไทยเราก็จำเป็นที่จะต้องใช้คำนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง ก็รู้จิต เจตสิก รูป แค่นี้ก็ทั้งหมดของพระไตรปิฎก หมายความว่าไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรก็ จะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป

เพราะฉะนั้น จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของจิต ในลักษณะของเจตสิก ในลักษณะของรูป อย่างที่กำลังเห็น พูดถึงเห็น เป็นลักษณะของจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ เมื่อมีจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คือ อารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยิน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องโกรธ เรื่องชอบ เรื่องขยัน เรื่องดีใจ เพียงพูดถึงสภาพที่ได้ยิน เราก็รู้ได้ว่าหมายความถึงจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งจิตประเภทนี้ ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ใช้คำว่าโสตวิญญาณํ หรือว่าเราก็เรียกว่าโสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน อาศัยหู ถ้าเป็นจิตเห็นก็เป็นจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

นี่ก็เป็นการที่จะเข้าใจเรื่องจิต แล้วเราก็จะเข้าใจต่อไปอีกถึงเหตุถึงผล คือพยายามจะให้เข้าใจในเรื่องเหตุผลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการที่จะจำชื่อ ซึ่งการเข้าใจในเรื่อง เหตุผล และสภาพธรรมกำลังปรากฏ จะทำให้เรารู้ว่าถ้าสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจริงๆ คือรู้ธรรมในพระไตรปิฎก ไม่ใช่รู้เพียงชื่อ แต่ถ้าตราบใดยังไม่รู้อย่างนี้ เป็นชื่อทั้งหมด

ผู้ฟัง ที่เราจะต้องศึกษาคือสภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่อยู่ในตำรา ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าจะศึกษาให้เพลิดเพลินก็ต้องศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงที่เราศึกษากันอยู่ตอนนี้ก็คือปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ ขณะที่ปรากฏให้ศึกษา ปรากฏที่ไหนบ้าง ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ทาง แล้วก็ตรงกับพระไตรปิฎก แล้วก็ตรงกับความจริง ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ถ้ามีกลิ่นปรากฏ ก็มีการรู้กลิ่นทางจมูก ถ้ารสปรากฏ ก็มีการรู้รสทางลิ้น ถ้ามีการกระทบสัมผัส ก็มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางกาย ถ้าคิดนึก แน่นอนต้องเป็นเรื่องของใจ รู้อารมณ์ทางใจ นี่ก็ครบ หมายความว่าต้องเป็นอย่างนี้ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้

ผู้ฟัง หมายความว่าปรมัตถธรรมคือของจริงๆ มีที่ปรากฏ คือ ปรากฏที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ที่จะให้เราศึกษา คือ หมายความว่าเราไม่ต้องไปมุ่งหาที่หรือแสวงหาที่ สถานที่หรืออะไรที่ไหน แต่เรามุ่งศึกษาที่ตัวเราเอง

ท่านอาจารย์ ถ้ายังไปหาที่อื่นหมายความว่า ไม่รู้จักธรรม

ผู้ฟัง ถ้าไปหาที่อื่นไม่รู้จักธรรม

ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็เป็นธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดมาไม่มีใครเลย มีแต่ธรรมที่เกิด ธรรมที่ดับ ธรรมที่เกิดจนตายนั้นคือธรรมทั้งหมด แล้วยังต้องไปหาธรรมที่ไหน แต่ว่าไม่รู้จักว่าเป็นธรรม ก็เลยไปหา

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็คงง่ายขึ้น ผมเข้าใจว่าท่านผู้ฟังทั้งหลายก็คงง่ายขึ้น เพราะว่าพวกเรามีอยู่แล้ว ธรรม ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่อยากจะศึกษาหรือยัง เพราะมีอยู่แล้วปรากฏด้วย ไม่ใช่มีอยู่เฉยๆ แล้วปรากฏด้วยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วพร้อมที่จะศึกษาหรือยัง

ผู้ฟัง คงจะเป็นอย่างนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็โปรดปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ องค์ก็ฟังพระพุทธเจ้าในขณะนั้น แล้วก็บรรลุในขณะนั้น ธรรมอยู่ในขณะนั้น ขณะที่กำลังฟังอยู่นั้น ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ให้ทราบว่าสภาพธรรมมีจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ คือ ปัญญา ถ้าคนไม่ได้สะสมปัญญามาเลย ก็ฟัง แล้วเริ่มเข้าใจขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังธรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงวันเดียว ครั้งเดียว ชาติเดียว แล้วไม่มีการนับว่าเมื่อไหร่ แต่ฟังจนกว่าจะเข้าใจ จริงๆ แล้วก็รู้ลักษณะของสติที่เกิดแล้วกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วย

ผู้ฟัง เคยมีคนเข้าปฏิบัติ จะเรียกว่ากรรมฐาน วิปัสสนาบ่อย แล้วก็บางแห่ง จะฝึกด้วยวิธี เห็นเป็นรูป รู้เป็นนาม ช่วยแนะนำวิธีที่ควรจะดูในสิ่งที่ถูกต้อง

ท่านอาจารย์ โดยมากก่อนอื่นอย่าเพิ่งใจร้อน พอใครเขาบอกว่า วิปัสสนา เราก็วิปัสสนาไปด้วย เป็นความเข้าใจของเราหรือยัง เขาพูดได้ว่าวิปัสสนา แต่เราเข้าใจคำนี้หรือยัง ถ้าเราเข้าใจคำนี้จริงๆ หมายความว่า เป็นปัญญาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรม นี่คือความหมายของวิปัสสนา

ถ้าใครบอกว่า ไปทำวิปัสสนา หรือว่าไปเข้าวิปัสสนา หมายความว่าคนนั้นไม่รู้จักธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้เป็นธรรม ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว โดยมากพอเราพูดถึงเรื่องราวของชีวิต เราก็คิดเป็นตอนไปเลย ตั้งแต่เกิดมาเราทำอะไรบ้าง เมื่อวานนี้ทำอะไร อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า เหตุการณ์รถชนกันมีคนตาย ซื้อของถูกโกง หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ให้ทราบว่าถ้าแตกย่อยเป็นเหตุการณ์ทั้งหมดออกมาแล้ว เหลือเพียงชั่วขณะจิตเดียวทีละขณะ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยทำกิจหน้าที่ของจิตแล้วดับอย่างเร็วมาก สิ่งนี้เรารู้หรือยังประจักษ์หรือยัง เป็นความจริง แต่ว่าไม่เคยรู้ไม่เคยประจักษ์ เพราะว่าเห็นทีไร ไม่เคยรู้เลยว่าสั้นแสนสั้น แล้วก็มีความทรงจำทันทีว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด

เราก็อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตลอดชีวิตไม่ทราบว่ากี่ชาติ ตราบใดที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเราถึงจะเข้าใจว่า นี่คืออวิชชาความไม่รู้สิ่งซึ่งกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาคือปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งซึ่งปรากฏ จนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงต่อวิปัสสนาญาณขณะนั้น แต่ต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะของธรรมซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะนี้อยู่ที่นี่ แล้วจะไปทำวิปัสสนาที่ไหน จะไปเข้าวิปัสสนาที่ไหน จะไปทำอะไรนอกจากว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว เกิดแล้ว เพราะเหตุปัจจัย ถ้าศึกษาจริงๆ จะทราบได้ว่าขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดมีปัจจัยมาก จนกระทั่งทำให้จิตขณะนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ชั่วขณะเดียวแล้วดับ แต่ว่าอาศัยปัจจัยหลายปัจจัย

เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตน หรือว่าไม่มีใครที่จะไปยับยั้งการเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละขณะได้ นอกจากจะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปถึงวิปัสสนาญาณ เพียงแต่ว่าธรรมคืออะไร ถ้าเขาสามารถจะให้เข้าใจได้ เขาก็ต้องให้เข้าใจได้ว่าขณะนี้เป็นธรรม เมื่อขณะนี้เป็นธรรม สติเป็นสภาพที่ระลึก แต่ต้องอาศัยความเข้าใจก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจไม่มีทางเลย เป็นเราทำ เป็นเรากำหนด เป็นเราท่อง เป็นเราทำทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วใช้ชื่อว่า วิปัสสนา แต่ว่าถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ของใครก็ตาม คนนั้นจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม หรือว่าไม่ใช่

ผู้ฟัง คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วเกิดว่า มีคนชวนเขาไปสถานที่แห่งหนึ่งก็แล้วกัน แล้วบอกเขาว่าจะฝึกให้เราเดิน หรือให้เรารู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนามอย่างนี้

ผู้ฟัง ให้ท่องใช่ไหม

ผู้ฟัง ลักษณะตรงข้ามกันที่ท่านอาจารย์

ผู้ฟัง เห็นเป็นรูป หรือ

ผู้ฟัง เห็นเป็นรูป รู้เป็นนามอย่างนี้

ท่านอาจารย์ เราพอใจที่จะทำอย่างนั้นหือเปล่า อยู่ที่ว่า เราพอใจที่จะทำอย่างนั้นหรือเปล่า

ผู้ฟัง คืออันนี้จะเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะท่านอาจารย์กล่าวว่า ในขณะที่เรารู้นามธรรม ไม่รู้รูป คือมันแยกกัน ใช่ไหม อันนี้มันมีความรู้สึกว่า เหมือนกับการท่องสูตรคูณหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ เป็นการฟังให้เข้าใจก่อนจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่รออยู่ก่อน แต่เมื่อมีปัจจัยจึงเกิด อย่างจิตได้ยิน ไม่ใช่คอยจะเกิด แต่ต้องอาศัยโสตปสาทที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย มีอายุ ๑๗ ขณะของจิตซึ่งเกิดดับ แสดงว่าโสตปสาทจะดับเร็วสักแค่ไหน เสียงก็เช่นเดียวกัน มีอายุสั้นมาก คือเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เมื่อทั้ง ๒ อย่างยังไม่ดับแล้วกระทบกันเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครไปบังคับบัญชาสภาพธรรมเลยว่า ไปคอยนามนั้นรูปนี้ หรือว่าให้กำหนดที่นั่นที่นี่ แต่รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีใครทำ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้นามธรรมเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปธรรมเกิดขึ้น เพียงสติระลึก เพราะความเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงที่เกิดนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เพราะฉะนั้น อยู่ที่เราว่า พอใจจะทำอย่างนั้นหรือเปล่า มีใครบังคับเราได้หรือ ไม่มี แล้วพอใจที่จะทำอย่างนั้นไหม

ผู้ฟัง ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

ท่านอาจารย์ ไปทำทำไม ไปทำอะไร ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ถึงได้ไปทำ คำตอบยืนยันอยู่แล้วว่า ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมจึงต้องไปทำ ถ้ารู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ใครก็ทำไม่ได้ เห็นนี้ใครก็ทำไม่ได้ ได้ยินก็ทำไม่ได้เป็นธรรม แต่สติสามารถที่จะระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ใครก็คงจะชักชวนไปเข้าห้องปฏิบัติ หรือทำวิปัสสนาไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ

ผู้ฟัง คำว่าขณะสติเกิด รู้ว่าสติเกิดหรือมีสติ ขณะที่หลงลืมสติ รู้ว่าหลงลืมสติ หรือไม่มีสติ ทีนี้ขณะสติเกิด มันเป็นอย่างไร

ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ทุกคนยอมรับ เหมือนเดิมทุกวันตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ หลงลืมสติ คือเหมือนเดิม เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน เหมือนเดิม แต่เวลาที่สติเกิด หมายความว่าในขณะที่สภาพหนึ่งสภาพใดกำลังปรากฏ เริ่มที่จะเข้าใจลักษณะนั้น แสดงว่าสติระลึก ไม่ใช่เรา

ผู้ฟัง เริ่มที่จะเข้าใจอะไร

ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพที่ปรากฏว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือเพียงแต่รูปชนิดหนึ่ง

ผู้ฟัง หมายความว่าเราจะต้องมีความเข้าใจ

ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจขั้นการฟังก่อน

ผู้ฟัง ฟังว่าอะไรเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องเข้าใจอันนี้ก่อน

ท่านอาจารย์ สัจจญาณ เพราะเหตุว่าอริยสัจจ์ ๔ มี ๓ รอบ ทรงแสดงไว้ ถ้าไม่มีสัจจญาณคือ ความเข้าใจจริงๆ ในทุกขสัจจ์ หรือในทุกขอริยสัจจ์ว่าคือ สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับทันที แล้วจะเป็นสุขได้อย่างไร เพียงแต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับเท่านั้น

ผู้ฟัง ปกติชีวิตประจำวัน เห็นเราก็เห็น ได้ยินเราก็ได้ยิน ได้กลิ่นก็มี ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส คิดนึก มีอยู่ตลอดเวลา ไม่มีว่างเว้นเลย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ใน ๖ ทางนี้ แต่เราก็ไม่รู้ ขณะที่ไม่รู้หมายความว่าหลงลืมสติ

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง หลงลืมสติ แต่ขณะใดสภาพธรรมเกิด เราระลึกได้

ท่านอาจารย์ กำลังรู้ที่ลักษณะนั้น

ผู้ฟัง ขณะนั้นเป็นสติเลยหรือ

ท่านอาจารย์ สติระลึก ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ไม่มีการไปทำ แต่รู้ว่าขณะไหนสติเกิด เมื่อไหร่สติเกิด แล้วก็สตินั้นระลึกลักษณะสภาพธรรมอะไร

ผู้ฟัง เมื่อกี้คุณคนนี้มาพูด ก็เหมือนไม่มีความเข้าใจ ทุกวันเราก็ดูธรรมอยู่ทุกวัน ธรรมดีกว่าเปาบุ้นจิ้น ดีกว่า ..ดูตัวเราเอง เดี๋ยวจะเอาอย่างโน้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เราดูสนุก ไม่ต้องไปดูโทรทัศน์ เราดูตัวเราเอง เดี๋ยวอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา เราก็รู้ โลภะเกิดเราก็รู้ เดี๋ยวไปริษยาเขาอีกแล้ว ขายของเดี๋ยวคนนั้นจะขายดีกว่าเรา เราจะขายไม่ดีกว่าเขา นี้ธรรมมันวิจิตร เหลือที่จะวิจิตรเลย

ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิดระลึกได้ จะเห็นว่าในอนาคตจะค่อยๆ ละ เพราะว่ารู้ขึ้น แต่ว่าทีละน้อยมาก แต่ว่าเริ่มเห็นแล้วว่า ไม่ใช่เรา เป็นสติที่ระลึก เพราะว่าอย่างวันนี้ทั้งวัน เราต้องการที่จะให้สติเกิดตอนนั้นตอนนี้ ไม่มีทางแล้วแต่สติเองที่จะเกิดตอนไหน แล้วก็สติจะระลึกอะไร นั่นคือสัมมาสติ

คนนั้นเริ่มที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสติ นี้เป็นทางหนึ่งซึ่งจะคลายความเป็นเราที่กำลังทำ เพราะว่ายิ่งเป็นเราที่กำลังทำ ไม่มีทางเลย ยิ่งติดลงไปทุกทีว่า เราทำ เราเห็น เราอย่างนั้นเราอย่างนี้ แต่ว่าเวลาที่เกิดสติระลึกเอง จะเห็นได้ว่าขณะนั้นเห็นจริงๆ ว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา แล้วก็เกิด แต่เลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้ แล้วก็เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็รู้อีกว่า เมื่อไหร่สติเกิดอีก เวลาที่หลงลืมสติก็รู้ เวลาที่สติเกิดก็รู้

ผู้ฟัง บางทีโลภะมันเกิดทางตา บางทีเราต้องหลับตา

ท่านอาจารย์ หลับตาก็มาได้

ผู้ฟัง มันก็ค่อยยังชั่วหน่อย

ท่านอาจารย์ เก่งจะตาย

ผู้ฟัง โลภะทางตานี่ร้ายเหลือ สารพัดจะปรุงแต่งให้จิตของเรา

ท่านอาจารย์ ทีหลังก็ไม่หลับ เพราะรู้ว่าหลับก็มา ใช่ไหม หนีไม่พ้น หนีไม่พ้นเลย ต้องด้วยปัญญาอย่างเดียว

ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่สามารถจะมาในกรุงเทพได้ มาวัดบวรได้ เขาก็อาจจะไปศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมได้ที่นั่น เราจะถือว่าสถานที่ที่ปฏิบัตินั้นเป็นที่ที่เหมือนๆ กันหรือเปล่า


หมายเลข  6809
ปรับปรุง  16 ก.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ