แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401


พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จริงๆ เพิ่มความรู้ขึ้น ก็จะรู้ได้ว่า การเพิ่มความรู้ขึ้นนี้เอง เป็นหนทางที่จะละความไม่รู้ ที่จะถึงทุกขนิโรธ ไม่ใช่หนทางอื่น ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ในลักษณะของรูปธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา จึงจะละการยึดถือ ถึงทุกขนิโรธ ซึ่งเป็นการรู้แจ้งในนิพพานได้

ข้อความต่อไปใน ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ มีว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และไม่รู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้น เสื่อมแล้วจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้

ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และรู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้น ถึงพร้อมแล้วด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นผู้ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา ฯ

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า สมุทัยที่จะละก่อน คือ ละสมุทัยที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แบบนี้จะปฏิบัติอย่างไร และเพื่อประโยชน์อะไร

สุ. ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมโดยละเอียด จะทราบว่า ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิต ๔ ดวง โลภมูลจิตทั้งหมดมี ๘ ดวง เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง เป็นทิฏฐิคตวิปยุตต์ คือ ไม่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง ซึ่งถ้าไม่ยินดีในความเห็นนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นในความเห็นเช่นนั้นได้ ฉะนั้น ทิฏฐิเจตสิกไม่เกิดกับโทสมูลจิต และไม่เกิดกับโมหมูลจิต

อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดความเห็นผิดขึ้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นมีความยินดีพอใจเกิดร่วมกับความเห็นผิดนั้น และการดับสมุทัยต้องดับเป็นขั้นๆ โลภมูลจิตมี ๘ ดวง แต่ที่จะต้องดับก่อน คือ ต้องดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

การบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องบรรลุเป็นขั้นๆ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องทรงเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน ไม่มีบุคคลใดเลยที่จะถึงความเป็นอรหันต์โดยกิเลสไม่ดับเป็นขั้นๆ ตั้งแต่โสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล และจึงจะสามารถบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ได้

เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง ที่จะต้องดับก่อน คือ โลภมูลจิต ๔ ดวงที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันบุคคล และพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

นี่เป็นคุณธรรมที่ต่างกันของพระอริยเจ้าที่เป็นพระโสดาบันบุคคล และ พระสกทาคามีบุคคล กับพระอนาคามีบุคคล

สำหรับพระอนาคามีบุคคล แม้ว่ายังมีโลภมูลจิต แต่ไม่ใช่ความยินดีติดข้องในกามอารมณ์ คือ ไม่มีความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่พระโสดาบันบุคคล ดับเพียงโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ยังมีโลภมูลจิตที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ แต่ท่านรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อมีปัจจัยเกิดก็เกิดขึ้น และสติจะต้องระลึกรู้จนกว่าจะดับความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างหยาบ เป็นพระสกทาคามีบุคคล

และเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็จะดับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแม้อย่างละเอียด และเมื่อบรรลุถึงความเป็น พระอรหันต์ จึงจะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์ ๔ ดวงได้

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นชื่อ แต่ความจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏกับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติตามความเป็นจริง

ผู้ที่ยังมีกิเลส จะไม่มีความยินดีในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง ได้ไหม ในเมื่อยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามความเป็นจริง มีปัจจัยที่จะให้เกิด ก็เกิด แต่ ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมที่เกิดขึ้น เพราะยังมีเหตุปัจจัยอยู่ ก็เกิดปรากฏ และก็ดับไป

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ และรู้ด้วยว่า การดับกิเลสจะต้องดับเป็นลำดับขั้น ไม่สามารถที่จะดับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก่อนการเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่จะต้องดับทิฏฐิที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนเสียก่อน

ถ. การปฏิบัติเพื่อความเห็นชอบ ปฏิบัติอย่างไรครับ

สุ. ระลึกทันทีตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาเพิ่มขึ้น ซึ่งบุคคลที่อบรมเจริญสติเป็นผู้รู้เองว่า เพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมใดหรือในลักษณะของรูปธรรมใด ทางทวารใด

อย่างทางตา เพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพเห็น ถึงแม้ว่าโลกจะปรากฏกว้างใหญ่สักเท่าไรก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏเฉพาะทางตา เมื่อกระทบกับจักขุปสาท ต้องระลึกจนเป็นความรู้จริงๆ รู้ชัด และแทงตลอด จึงจะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

ถ. ระลึกทันที แม้ในขณะที่เกิดอกุศลใช่ไหม

สุ. ต้องระลึกรู้ จึงจะละการยึดถืออกุศลนั้นว่าเป็นตัวตน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาพึงถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปธิเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเป็นอันมากในโลก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดแลไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์เนืองๆ ทราบชัดอยู่ ไม่พึงทำอุปธิ ฯ

คำว่า อุปธิ หมายความถึงธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ สภาพธรรมใดก็ตามที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งทุกข์ ทำให้เกิดมีซึ่งทุกข์ สภาพธรรมนั้นเป็นอุปธิ

ใน อรรถกถา สัทธัมมปัชโชติกา ซึ่งเป็น อรรถกา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส มีข้อความอธิบายความหมายของอุปธิ มีข้อความว่า

ทุกข์ทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะมีอุปธิเป็นเหตุ ตามพยัญชนะที่ว่า อุปธินิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา ตัณหาก็ชื่อว่าอุปธิ ทิฏฐิก็ชื่อว่าอุปธิ กิเลสก็ชื่อว่าอุปธิ กรรมก็ชื่อว่าอุปธิ อาหารก็ชื่อว่าอุปธิ ปฏิฆะก็ชื่อว่าอุปธิ อุปาทิน คือ รูปที่เกิดจากกรรม ก็ชื่อว่าอุปธิ อายตนะก็ชื่อว่าอุปธิ วิญญาณ คือ วิญญาณ ๖ ก็ชื่อว่าอุปธิ ใช้คำว่า เหตุการณะเป็นไวพจน์ของอุปธิ เหตุแห่งทุกข์ในวัฏฏะชื่อว่าอุปธิ

ยังมีอุปธิกันอยู่หรือเปล่า ถ้าทราบความหมายว่า ตัณหาก็ชื่อว่าอุปธิ ตัณหานี้มีมากตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตา ตัณหาก็ไหลไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ชื่อว่าอุปธิ

เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ได้อบรมปัญญาจนกระทั่งดับทิฏฐิได้ ก็ยังจะต้องมีเหตุแห่งทุกข์ในวัฏฏะ คือ อุปธิอยู่

กิเลส ก็ชื่อว่าอุปธิ

ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นกิเลสไหม วันนี้มีมากไหม หรือยังไม่เห็นเลย ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นประจำทุกวัน ตลอดเวลา แต่เพราะไม่เจริญ สติปัฏฐาน จึงไม่เห็นว่าเป็นกิเลส แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นความยินดี หรือเป็นโทสะ เป็นปฏิฆะ ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นกิเลส เป็นอุปธิ

เพราะฉะนั้น ที่จะละได้เพราะรู้ ที่จะรู้ได้เพราะสติระลึก

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม ควรตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

อวิชชานั้นเองเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสาระ อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ฯ

สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นจริงในพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมีบ้างไหม หรือไม่สงสัยเลย

ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริง กำลังเห็นเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร กำลังได้ยินเป็นนามธรรมประเภทใด ที่กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ หรือว่าที่กำลังเข้าใจความหมายในขณะนี้ ก็เป็นสภาพรู้ ไม่ต้องเดือดร้อนว่า ล่วงเลยวิถีของ โสตวิญญาณมาจนกระทั่งถึงการรู้ความหมายของคำที่ได้ยิน

สติจะระลึกรู้อะไรก็ได้ขณะที่กำลังรู้เรื่อง เมื่อรู้เรื่องแล้ว ให้ทราบว่า ที่กำลังรู้เรื่องในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะเข้าใจเรื่องราว ไม่สามารถที่จะรู้ความหมายของสี ของเสียง ของกลิ่น ของรสต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ที่กำลังรู้เรื่องขณะนี้ ไม่ต้องหวั่นไหว เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่ากำลังคิดนึกเรื่องอะไรก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะหวั่นไหว เพราะระลึกรู้ได้ว่า ขณะที่นึกคิดนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละอวิชชา ต้องเห็นอวิชชาว่า ตราบใดที่ยังเป็นความไม่รู้อยู่ก็ไม่สามารถที่จะดับภพชาติ หรือดับทุกข์ได้ แต่ถ้าเพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยิ่งขึ้น วิชชานั่นเอง ความรู้นั่นเองจะดับอวิชชา ความไม่รู้ได้ และก็เป็นความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นปกติ ซึ่งรู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ และจะเข้าใจพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัส ว่าเป็นความจริงอย่างไร

จะรู้ลักษณะของอวิชชาได้ขณะที่กำลังไม่รู้ และจะรู้ด้วยว่า ทั้งๆ ที่กำลังยังไม่รู้อยู่อย่างนั้น อวิชชานั่นเองเป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสาระ อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ

ภพนี้ ชาตินี้ นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีความเป็นอย่างนี้ แต่ชาติหน้าจะรู้ไหมว่า นามธรรมและรูปธรรมอะไรจะเกิดขึ้น มีเหตุมีปัจจัยที่สะสมไป เมื่อควรแก่การที่จะให้เกิดผล คือ นามธรรมใด รูปธรรมใด นามธรรมนั้นรูปธรรมนั้นก็เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมไปนี่เอง ทำให้เกิดขึ้นเป็นอย่างอื่น ในภพอื่น ในชาติอื่น

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคนไม่ได้สิ้นสุดเพียงชาตินี้ หรือว่าไม่ได้มีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏในชาตินี้เท่านั้น ในชาติอื่นก็เป็นอย่างอื่นต่อไปอีก แต่ที่จะเป็นอย่างอื่นต่อไป ก็เพราะมีปัจจัย คือ การสะสมมา ที่พร้อมจะให้นามธรรมประเภทใด รูปธรรมประเภทใดเกิดในขณะไหน ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น

นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับท่าน ก็เป็นอย่างหนึ่ง นามธรรมและรูปธรรมของบุคคลอื่น ก็เป็นอย่างอื่น ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา และชาติหน้าต่อไป ตัวท่านเองก็จะมีนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นอย่างอื่นต่อไปอีก ไม่ว่าชีวิตของท่านเอง หรือว่าชีวิตของบุคคลใดในชาตินี้ หรือในชาติต่อไปนั้น ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ เพราะอวิชชานั่นเอง

อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่

เมื่ออบรมเจริญวิชชา ก็ย่อมดับอวิชชาที่จะทำให้มีความเป็นอย่างนี้ หรือมีความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะสังขารทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะสังขารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด

ภิกษุรู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะความสงบแห่งสังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุรู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดยถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ ผู้ถึงเวท รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสเป็นเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ ฯ


หมายเลข  6861
ปรับปรุง  4 ส.ค. 2567