แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406


สุ. อย่าลืมว่า ผู้ที่จะดับมุสาวาทเป็นสมุจเฉท คือ พระโสดาบันบุคคล ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแม้ในขณะที่กำลังพูด เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีกุศลจิต มีเมตตา ก็ไม่เป็นปัจจัยให้กล่าวมุสาวาทสำหรับ ผู้ที่สติเกิดระลึกรู้ วิรัติมุสาวาท อาจจะกล่าวคำใดก็ได้ด้วยกุศลจิต แต่ไม่ใช่มุสาวาท เช่น กล่าวว่า ค่อนข้างจะแพงสักหน่อย หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ หรือว่าก็แพงพอสมควร หรือว่าเหมาะสมกับฤดูกาล ซึ่งเป็นฤดูที่หายาก หรือว่าข้าวของแพง หรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ และก็พูดเรื่องอื่นที่จะให้เกิดความปลาบปลื้มใจ แทนที่จะต้องเป็นมุสาวาท ซึ่งสติจะต้องเกิดระลึกรู้ จึงวิรัติที่จะกล่าวคำไม่จริง แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็อาจจะพูดมุสาไป เพราะว่ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว จะไม่กล่าวมุสาวาทเลย

กุศลจิตเกิดได้ พูดโดยประการอื่นๆ มีอุบาย มีนัยต่างๆ ที่จะให้เกิดปีติ หรือจะให้ไม่เป็นทุกข์ใจ แต่ไม่ใช่เป็นมุสาวาท

สำหรับเรื่องของการพูด ควรที่ได้จะพิจารณาว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังพูดบ้างหรือเปล่า ถ้ายัง ก็เจริญอบรม เพราะว่าสติเกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง ของนามบ้าง ของความรู้สึกบ้าง ของกิเลส หรือของกุศลก็ตามที่เกิดในขณะนั้น สภาพของเมตตา สภาพของโทสะ หรือสภาพของธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น

แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานในขณะที่กำลังพูด จะไม่รู้เลยว่า แม้ขณะที่กำลังพูดนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น

ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย อุทาน สัททายมานสูตร ข้อ ๑๒๕ ซึ่งมีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล มาณพมากด้วยกันเปล่งเสียงอื้ออึงผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นมาณพมากด้วยกันเปล่งเสียงอื้ออึงผ่านไปในที่ไม่ไกล ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ชนทั้งหลายผู้มีสติหลงลืม อวดอ้างว่าเป็นบัณฑิต พูดตามอารมณ์ (พูดเท็จ) พูดยืดยาวตามปรารถนา ย่อมไม่รู้สึกถึงเหตุที่ตนพูดชักนำผู้อื่นนั้น ฯ

จบสูตรที่ ๙

สูตรนี้สั้นมาก แต่ช่วยให้ท่านผู้ฟังที่พูดได้รู้ว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่พูดบ้างหรือเปล่า เพราะว่า ชนทั้งหลายผู้มีสติหลงลืม อวดอ้างว่าเป็นบัณฑิต พูดตามอารมณ์ พูดยืดยาวตามปรารถนา ย่อมไม่รู้สึกถึงเหตุที่ตนพูดชักนำผู้อื่นนั้น

การพูดของท่านนั้น พิจารณาจริงๆ ว่า เป็นการชักนำในเรื่องต่างๆ หรือเปล่า ที่จะให้บุคคลอื่นคิด บุคคลอื่นรู้ บุคคลอื่นคล้อยตามไปในเรื่องต่างๆ ที่ท่านพูด ไม่อย่างนั้นก็คงไม่จะพูดใช่ไหม นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ

เพราะฉะนั้น ก็อย่าคิดว่า นิพพานนั้นจะถึงได้โดยง่ายเหลือเกิน แต่จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง กิเลสมีมากเท่าไร อกุศลธรรมมีมากเท่าไร โดยประการเท่าไร แม้เพราะลักษณะอย่างนั้นๆ แม้เพราะเหตุนั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จริงๆ เพื่อที่จะละ เพราะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

สำหรับการพูดเท็จ จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ขัดเกลา ไม่บรรเทา ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นอกุศลกรรมที่น่ารังเกียจ ก็ย่อมนำมาซึ่งทุจริตกรรมทุกประการได้ เวลาที่คิดทุจริต แม้แต่ก่อนจะกระทำ ก็ยังต้องอำพราง ต้องปกปิด ต้องพูดเท็จ เพื่อที่จะกระทำทุจริตกรรมนั้นให้สำเร็จลงไปได้ แม้ว่ากระทำแล้ว ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นเห็น รู้ว่าเป็นทุจริต ก็ยังต้องพูดเท็จ อำพรางปกปิดต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น จะเห็นโทษจริงๆ ว่า ถ้าคิดว่ามุสาวาทเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เพียรละ ไม่เพียรขัดเกลาแล้ว ย่อมนำมาซึ่งทุจริตกรรมได้ทุกประการ

ข้อความใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สัมปชานมุสาวาทสูตร มีว่า

จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เรากล่าวว่า บาปกรรมไรๆ อันเขาจะไม่พึงทำไม่มีเลย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สัมปชานมุสาวาท

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

บาปกรรมที่สัตว์ผู้เป็นคนมักพูดเท็จ ล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว จะไม่พึงทำ ไม่มีเลย

เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล

จบสูตรที่ ๕

พระผู้มีพระภาคทรงหยั่งรู้สภาพธรรมทั้งปวงว่า สภาพธรรมใดนำมาซึ่งโทษใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงแสดงเรื่องของมุสาวาทไว้ว่า ถ้าบุคคลสามารถที่จะมุสาวาท กระทำมุสาวาทแล้ว ย่อมสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมต่างๆ ได้

ขอกล่าวถึงความละเอียดของโทษของมุสาวาทตามนัยของพระวินัยบัญญัติ เพื่อจะได้เทียบเคียงให้เห็นว่า มุสาวาทประการใดที่เป็นโทษที่ร้ายแรง ที่จะทำให้พ้นภาวะของการเป็นภิกษุ ซึ่งจะเห็นได้ว่า จิตประเภทใดเป็นปัจจัยให้มุสาวาทประเภทนั้นเกิด แม้ในเพศของบรรพชิต

ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค จตุตถปาราชิกกัณฑ์ เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ข้อ ๒๒๗ มีข้อความว่า

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันซึ่งเคยเห็น ร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ก็แลสมัยนั้น วัชชีชนบท อัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย จึงภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า บัดนี้วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย พวกเราจึงจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ

ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า

อาวุโสทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต

ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า

ไม่ควร ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงช่วยกันนำข่าวสาส์นอันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราจักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต

นี่เป็นการปรึกษากันของบรรพชิต พระภิกษุในครั้งนั้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การเป็นผู้ตรงต่อสภาพของความเป็นภิกษุ จะต้องเป็นไปตามลักษณะของสมณเพศ แต่ถ้าเกิดคิดที่จะทำหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ เช่น ช่วยกันนำข่าวสาส์นอันเป็นหน้าที่ทูต หรือว่ากระทำกิจการงานต่างๆ นั่นไม่ใช่ลักษณะของบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อสมณวิสัย

ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า

อย่าเลย ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันนำข่าวสาส์นอันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้ พวกเราก็จักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต

ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า

อาวุโสทั้งหลาย การที่พวกเราพากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้แหละ ประเสริฐที่สุด แล้วพากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้

ท่านผู้ฟังลองคิด พิจารณา เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควรที่จะกล่าวว่า ภิกษุใดได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือว่าภิกษุใดเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์

ลองคิด พิจารณา ที่จะกล่าวอย่างนี้ เพื่ออะไร มีความจำเป็นอะไร หรือเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาก่อนที่จะกล่าวเองบ้าง เพราะว่าบางคนมักจะกล่าวกันง่ายๆ ว่า ภิกษุรูปใดได้ฌาน หรือบรรลุมรรคผลนิพพาน

ครั้นต่อมา ประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเราหนอ พวกเราได้ดีแล้วหนอ ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณพิเศษเห็นปานนี้อยู่จำพรรษา เพราะก่อนแต่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ไม่มีเลย

โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

ของเคี้ยวชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่เคี้ยวด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

ของลิ้มชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่ลิ้มด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

น้ำดื่มชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่ดื่มด้วยตน ไม่ให้มารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

จึงภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง ก็การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้ว เข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาค นั่นเป็นประเพณี

ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวร หลีกไป โดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวัน กูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ภิกษุต่างทิศมาเฝ้า

ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลายเป็นผู้ผอมซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ยังพอทนได้พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า

พุทธประเพณี

พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตด้วยวิธีการอย่างไร

ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่น มีจริงหรือ

ภิกษุกราบทูลว่า

ไม่มีจริง พระพุทธเจ้าข้า

ถ้ายังต้องมุสา จะเป็นภิกษุทำไม เป็นสิ่งที่ควรจะต้องละเว้น เพราะเหตุว่ามีเจตนามุ่งที่จะดับอกุศลธรรมเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การกระทำอย่างนี้ ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตเลย

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

ดูกร โมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ

ดูกร โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้องเล่า

ดูกร โมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่า อันพวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลย

ข้อที่เราว่าดีนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์ เพียงแค่ตายซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ

ดูกร โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกผู้เลื่อมใสแล้ว


หมายเลข  6894
ปรับปรุง  17 ส.ค. 2567