ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188


ตอนที่ ๑๘๘

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๙


ผู้ฟัง โทสะมีโทษมากคลายเร็ว โลภะมีโทษน้อยคลายช้า โมหะมีโทษมากคลายช้า

ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่างเลย เพราะเหตุว่าโลภะโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะโทษมากแต่คลายเร็ว แต่โมหะโทษมากคลายช้าด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีโมหะ อย่างอื่นก็มีไม่ได้ ไม่ว่าโทสะจะเกิดในขณะนั้นมีโมหะรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าโลภะจะเกิดขณะนั้นก็มีโมหะรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นของที่แน่นอน คือว่าโมหะนั้นต้องโทษมาก และคลายช้าด้วย

ผู้ฟัง อย่างกรณีพวกเราที่มาฟังธรรม เรียนธรรม ถือว่ามีโลภะหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ขณะไหน ต้องพูดเป็นขณะจิต

ผู้ฟัง ปัจจุบัน

ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมแล้วจะทราบว่า ปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น พูดโดยนัยของปรมัตถธรรม ไม่มีคนเลย มีแต่จิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นอะไร ขณะใดที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น จะบอกไม่ได้เลย กำลังนั่งอยู่อย่างนี้ มีวิบากจิต คือเห็น ได้ยินแล้วก็ขณะที่กำลังฟัง แล้วแต่ว่าพอได้ยินเสียงแล้ว มีความเข้าใจเกิดขึ้นไหม ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก แต่ว่าเวลาที่ได้ยินเสียงแล้วเกิดนึกถึงเรื่องอื่น เป็นอกุศลจิตได้ไหม ก็ย่อมได้ นี่แสดงให้เห็นว่า จะถามว่ากำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นกุศลหรือเปล่าหรือว่ามีอกุศลมากน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่ๆ ละขณะจิต

ผู้ฟัง ความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวานหมายความว่าอย่างไร

อ. สมพร รากขมหมายความว่า กำเนิดเติมของมันเป็นอกุศล ทำให้ไม่น่าปรารถนา เช่น เราประทุษร้ายคนอื่น ทำสมใจแล้ว โทสะเกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจโทสะ เราเกิดมีความพอใจขึ้นมา หรือว่าพอใจก็เหมือนว่ายินดีพอใจ เพราะอาศัยโทสะซึ่งก็ทำมาแล้ว เบื้องต้นเป็นของไม่ดี เรียกว่า มีรากเป็นพิษ ก็โทสะเป็นพิษอยู่แล้ว เมื่อกระทำประทุษร้ายคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นได้สมใจแล้วมีความพอใจ เรียกว่าสุดท้ายคือยอด เรียกว่าสุดท้าย พอใจเกิดขึ้นได้ เรียกว่ายอดหวาน อาศัยความสำเร็จ ที่กระทำนั้นเป็นปัจจัย

ผู้ฟัง ตัวสะใจนี้โลภะ ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ต้องชอบ ใช่ไหม ถึงได้สะใจ

ผู้ฟัง คงจะเป็นอกุศลทั้ง ๒ อย่าง

ผู้ฟัง ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก

อ. สมพร ลองพิจารณา ความโกรธให้โทษอย่างไร ทำให้จิตเรากระสับกระส่าย เร่าร้อน ความโกรธ คือ โทสะซึ่งเป็นเจตสิก โทสะไม่ใช่จิต ทำจิตให้ปั่นป่วนด้วย เจตสิกคือความโกรธ นอนไม่หลับ แล้วเบียดเบียนรูปร่างกายให้เปลี่ยนแปลง ทำให้รูปของเราไม่น่าดู เดินก็ไม่น่าดู นั่งก็ไม่น่าดู นอนก็ไม่น่าดู แถมคนอื่นดูเราก็ยังรังเกียจ ด้วยอำนาจโทสะ แต่เมื่อเราระงับโทสะ กำจัดโทสะไปได้ ความสุขก็เกิดขึ้น แม้จะยืนก็น่าดู จะเดิน จะนั่ง แม้ดูหน้าก็ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงให้กำจัดความโกรธเสียจะได้เป็นสุข

ผู้ฟัง โทสะมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ยอดหวานหมายถึงเป็นโลภะหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ พอใจ คนที่โกรธจริงๆ แล้วมีความรู้สึกพอใจอยู่ด้วยหรือเปล่า อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงยอดหวาน พูดถึงเพียงแต่ว่าชั่วขณะที่โกรธ บางคนรู้สึกว่าต้องโกรธ จำเป็นต้องโกรธ หรือได้ยินข่าวที่ใครประพฤติไม่ดี อาจจะมีการชักชวนให้โกรธ มีความพอใจที่จะโกรธ มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับโทสเจตสิก นี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งซึ่งไม่ดี มีโทษ แต่แม้กระนั้นก็ยังมีสภาพเจตสิกซึ่งพอใจในลักษณะของอกุศลนั้น โลภะเกิด ชอบ ทุกคนต้องบอกว่าชอบโลภะ โทสะเกิดก็เช่นเดียวกัน ต้องโกรธ ทุกคนบอกอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้าพิจารณาละเอียดจริงๆ ข้อที่ว่าฆ่าความโกรธ ก็ต้องเกี่ยวกับยอดหวาน เพราะเหตุว่าเป็นข้อความเดียวกัน เพราะฉะนั้น ท่านที่สมใจ สะใจ เวลาที่มีความโกรธแล้วก็รู้สึกพอใจที่คนอื่นได้รับโทษ หรือว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้รู้สึกว่าสมควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ดูรู้สึกเหมือนว่านั่นเป็นยอดหวาน คือเป็นสิ่งที่เราพอใจ ที่จะให้เกิดอย่างนั้น แต่เป็นทุกข์ ขณะที่กำลังสะใจ อย่าคิดว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่มีความโกรธเสียเลย เราไม่ต้องมาคิดเรื่องสะใจ เราไม่ต้องให้ใครมารับผลที่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าคนใดทำกรรมใดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ไม่ต้องมีคนอื่นไปหวังร้าย เพราะเหตุว่าถ้าคนนั้นทำดี เขาย่อมได้ดีเป็นผล ถ้าเขาทำสิ่งที่ไม่ดี เขาก็ได้รับผลที่ไม่ดีเป็นผล ไม่ใช่เรื่องใครจะไปจัดการ หรือเป็นเจ้าโลก หรือว่าทำอะไรเลยสักอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะที่สะใจหรือว่ามียอดหวาน ขณะนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ แน่นอนไม่พ้นจากทุกข์ เพราะเหตุว่าเรื่องของการที่ไม่พอใจ ไม่ใช่มีเรื่องเดียว วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่พอใจเรื่องนี้ พรุ่งนี้อ่านอีกมีเรื่องใหม่อีกที่ไม่พอใจ แล้วก็สืบเนื่องกันด้วย วันนี้อาจจะมียอดหวานที่รู้สึกสะใจจากความไม่พอใจของหนังสือพิมพ์ ฉบับเมื่อวานนี้ พอมาถึงวันนี้มีเหตุใหม่ที่ไม่ชอบ แล้วก็คอยความสะใจข้างหน้า เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันที่พ้นไปจากทุกข์ได้ จนกว่าจะฆ่าความโกรธเสียได้ คือไม่ต้องมีความโกรธจะได้ไม่ต้องคอยความสะใจหรือยอดหวาน แล้วก็จะไม่เป็นทุกข์ด้วย อย่าชวนใคร ไปหวังอะไร ที่จะให้เกิดอะไร ที่จะต้องสะใจหรือสมใจ เพราะว่านั่นเป็นอกุศลจิต

ผู้ฟัง คำถามสืบเนื่องว่า ถ้าฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมไม่เศร้าโศรก ความโกรธ คือ โทสเจตสิกที่เขาจะปรุงแต่งจิต ตัวตรงข้ามคืออโทสะ คือเมตตา ถ้าขณะที่เราโกรธแล้ว ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ใช่หรือเปล่าไม่ทราบ มีเมตตา จะมีความสุขอย่างไร

ท่านอาจารย์ โดยมาก บางคนจะขอธรรมฝ่ายตรงข้ามคล้ายกับว่า จะได้ใช้เวลาความโกรธเกิดขึ้น จะใช้อะไรแก้ หรืออะไรอย่างนี้ แต่ตามความจริงทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเรามีความเห็นที่ไม่ตรงกับสภาพธรรม เพราะมีอวิชชา เราจะเห็นถูกไม่ได้เลย แต่ถ้าเรามีอวิชชาน้อยลง มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แล้วก็เป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกได้จากการฟังธรรม แล้วก็เข้าใจธรรม เวลาความโกรธเกิดขึ้น ถ้าสติเกิดหลังจากนั้นก็เป็นกุศล แต่ว่าไม่มีใครจะไปทำ

ผู้ฟัง แทนที่จะโกรธ ถ้าเผื่อเรามีเมตตามันมีความสุข

ท่านอาจารย์ ถ้าเรามี แต่จะมีหรือไม่มี แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่เมตตาจะเกิดไหม

ผู้ฟัง ถ้าเผื่อมีปัจจัยที่ไม่ให้เกิดแล้ว จะมีความสุขอย่างไร

ท่านอาจารย์ ถ้ามีเมตตาเกิดก็เป็นกุศล คือ ไม่โกรธ โกรธกับเมตตาจะเกิดพร้อมกันไม่ได้เลย

ผู้ฟัง โมหมูลจิตหมายถึงอะไร โมหมูลจิต

อ. สมพร โมหมูลจิตกับโมหะนั้นต่างกัน โมหมูลจิตหมายความว่าจิตที่มีโมหะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ทีนี้โมหะนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ทีนี้เรามุ่งถึงจิต เรียกว่า โมหมูลจิตมี ๒ ดวง ดวงหนึ่งมีความสงสัย ดวงหนึ่งมีความฟุ้งซ่าน มุ่งเอาจิตที่เกิดพร้อมกับโมหะเป็นปัจจัย

ผู้ฟัง จิต คือสภาพรู้ แล้วทำไมโมหะมันไม่รู้

ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ทิ้งไม่ได้เลย หมายความว่า เมื่อเป็นธาตุที่รู้เกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เจตสิกเป็นนามธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุที่รู้อารมณ์ แต่ว่าต่างกับจิตเพราะเหตุว่าจิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ส่วนเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท ก็รู้อารมณ์โดยประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิก ต้องรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ แต่ไม่เป็นใหญ่ ไม่เป็นประธานอย่างจิตในการรู้แจ้งอารมณ์ สำหรับโมหเจตสิกต้องมีอารมณ์ ไม่ใช่โมหเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีอารมณ์ เพราะเหตุว่าโมหเจตสิกเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต ถ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่เดียวกับจิต นี่คือลักษณะของเจตสิก

เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจของจิต คือ เป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เจตสิกอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ของตน สำหรับโมหเจตสิกแม้อารมณ์เผชิญหน้า แต่ก็ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริง เช่น ขณะนี้เราก็พร่ำแต่พูดว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทุกคนก็ยอมรับ ตั้งแต่เกิดก็มี แต่ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ มีแค่ไหน ถ้าไม่มีการฟังเลย ไม่มีทางเลยที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของอารมณ์ซึ่งกำลังปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ซึ่งมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วลักษณะของโมหเจตสิกคือ สภาพที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นมีอารมณ์ปรากฏ

ผู้ฟัง จิต คือ สภาพรู้ แต่พอมาถึงโมหะ ถ้าเผื่อมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย กลายเป็นไม่รู้ไปแล้ว

ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า ต้องมีอารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง คือ นามธรรม ต้องเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีนามธรรม คือ จิตเจตสิก ทั้งจิตเจตสิกที่เกิดร่วมกันรู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น โมหะเกิดกับจิต โมหะจะเกิดลอยๆ ไม่เกิดกับจิต และเจตสิกไม่ได้ โมหะเกิดกับจิตใด ก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต ซึ่งกำลังรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น เช่น ทางตาในขณะนี้ จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้ไม่มีโมหะเกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่าเป็นวิบากจิต ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น ทำกิจเห็น ไม่มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เห็นแล้วไม่รู้สภาพความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นเป็นโมหะ มีอารมณ์ปรากฏ

ผู้ฟัง ไม่เข้าใจได้ถูกต้อง ไม่เข้าใจลักษณะ ไม่รู้ความจริง

ท่านอาจารย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีอารมณ์ปรากฏ แต่ไม่มีความเข้าใจว่า อารมณ์นั้นเป็นอะไร ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ถูกต้องในสภาพที่แท้จริงของอารมณ์

ผู้ฟัง รู้ไม่จริง

ท่านอาจารย์ รู้อารมณ์เฉยๆ

ผู้ฟัง รู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ท่านอาจารย์ ใช้คำว่ารู้อารมณ์ หรือมีอารมณ์ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์ แต่ไม่สามารถจะเข้าใจหรือเป็นปัญญาที่รู้ความจริงของอารมณ์นั้นได้

สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๔๑


ผู้ฟัง เราเคยได้ยินคำว่าธรรมมาตลอด แต่ไม่ทราบความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า ธรรมคืออะไร

ท่านอาจารย์ “ธรรม” จริงๆ แล้วภาษาไทยเราใช้มาก แต่ว่ามาจากคำภาษาบาลี ส่วนใหญ่ของภาษาไทยเราใช้คำจากภาษาบาลี อย่างคำว่าทุกข์ ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษาบาลีเป็น ทุกขะ สุข ภาษาบาลีก็เป็น สุข จิต ภาษาบาลีก็เป็น จิตตะ ส่วนใหญ่เราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แต่เราไม่ได้เอาความหมายที่ถูกต้อง หรือว่าที่ละเอียดมาด้วย เวลาที่เราจะศึกษาพระธรรม เราต้องทราบว่า เราไม่ได้ศึกษาธรรมของคนธรรมดา แต่ว่าศึกษาจากผู้ที่ได้รับการอบรมบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธาถึง ๘ อสงไขยแสนกัปป์ ถ้ายิ่งด้วยวิริยะถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ พระธรรมที่เราจะได้ยินได้ฟังหรือศึกษาต่อไปจากพระไตรปิฎก ไม่ได้มาจากการคิด หรือว่าการวิเคราะห์ หรือว่าการพยายามที่จะค้นหาคำตอบ แต่เป็นการที่ตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้

คำสอนใช้คำว่าธรรม ไม่ได้กล่าวถึงคน ถึงสัตว์ ถึงวัตถุใดๆ แต่ใช้คำว่าธรรม ซึ่งหมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ว่าเราไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งนั้น จนกว่าจะมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สภาพธรรมในขณะนี้ ที่เราเคยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรา แต่โดยการตรัสรู้ก็ทรงทราบว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่าง อย่างเห็น กำลังมีจริงแน่นอน ธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เรื่องสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงเรื่องเห็นเรื่องเดียว เราอาจจะคิดว่า ทำไมต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสรู้ความจริงของเห็นในขณะนี้ ทำไมต้องให้พระองค์สอน ดูเป็นของที่ทุกคนมีตั้งแต่เกิด ธรรมดาที่สุด แต่ว่าสุขทุกข์ของเราทั้งหมด ทุกคนตลอดชีวิต เพราะเห็น เพราะได้ยิน เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หมายความว่าเพราะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ถ้าไม่มีตาเห็น คงจะไม่มีใครเดือดร้อน ไม่ต้องเดือดร้อนไม่เห็นอะไร ไม่มีหูได้ยินคำชม คำสรรเสริญ หรือคำติเตียนก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่มีจมูก บางคนจมูกเสีย เขาเกิดโรคบางอย่างซึ่งพอสูงอายุขึ้น เขาไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เขาก็สบายไปอย่าง กลิ่นขยะก็ไม่ได้ กลิ่นหอมก็ไม่ได้ แต่บางคนได้แต่กลิ่นหอม กลิ่นเหม็นไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นชีวิตจริงๆ ของเรา แล้วที่เราคิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นโลก แท้ที่จริงก็คือ ธรรมแต่ละหนึ่งอย่าง

ใช้คำว่า หนึ่งอย่าง เพราะธรรมปะปนกันไม่ได้เลย อย่างเห็นจะไม่ใช่ได้ยิน จะไม่ใช่คิดนึก เห็นเพียงเห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกนี้ ถ้าเราจะคิดถึงโลกอื่น ดาวอื่นซึ่งแสนไกล ที่เรามองเห็นเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็เป็นสภาพธรรม

สภาพธรรมทั้งหมดในจักรวาล หรือใครจะไปค้นหาที่ไหนอีกก็ตามแต่ ก็จะมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้นอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยยุคนี้ ชอบใช้คำว่า รูปธรรม ใช้กันเอง พอจะเริ่มทำอะไรสักอย่างก็ยังไม่เป็นรูปธรรม คือเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แต่ความหมายจริงๆ ของรูปธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ถ้าเราศึกษาธรรมเราจะต้องเข้าใจเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ต้น คำใดที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก คำนั้นไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะว่าจากการตรัสรู้จริงๆ อย่างคำว่า รูปธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ถ้าเราเข้าใจแค่นี้ เราสามารถจะศึกษาต่อไปได้ และความเข้าใจของเราก็จะชัดเจนขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้ารูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ขณะนี้บอกได้ไหมว่า อะไรเป็นรูปธรรม คือ การศึกษาพระธรรมสำหรับคิด สำหรับพิจารณา เพื่อเป็นปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังคนอื่น แล้วก็ไม่คิดเลย แล้วตามคนอื่นตลอดเวลา แต่เวลาที่อ่านพระไตรปิฎก เวลาที่มีคนไปเฝ้า เขาไปทูลถามปัญหา พระพุทธเจ้าตรัสถามเขา เพื่อที่จะให้เขาตอบ ซึ่งเป็นการคิดของเขาเอง การพิจาณาของเขาเอง การเข้าใจของเขาเองว่า เขาเข้าใจสิ่งซึ่งทรงแสดงมากน้อยแค่ไหน

ในพระไตรปิฎกจะมีการที่พระพุทธเจ้าตรัสถามคนที่ไปเฝ้า คนนั้นก็ตอบ แล้วก็ถามอีก ให้คนนั้นพิจารณาอีก แล้วก็ให้คนนั้นตอบอีกเสมอ คนนั้นต้องตอบด้วย ไม่มีใครที่พระพุทธเจ้าถามแล้วไม่ตอบ นอกจากคนที่ยังตอบไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ต้องตอบ แล้วก็คนที่ตอบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีข้อความว่า จะไม่มีใครที่จะพูดสิ่งที่ไม่จริงกับพระองค์ ถ้าความจริงหรือความคิดเขาเป็นอย่างไร เขาตอบตามความจริงความคิดของเขาในขณะนั้น

นี่เป็นสิ่งพิเศษซึ่งถ้าเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่จะพูดกับเราพูดไม่จริงได้ แต่อยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ที่จะกราบทูลสิ่งที่ไม่จริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่พวกเดียรถีย์ หรือว่าพวกที่นับถือศาสนาอื่น เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสัจจะ เป็นสิ่งที่จริง ไม่ใช่ของใคร ใครก็สร้างขึ้นไม่ได้ ใครก็ทำขึ้นไม่ได้ อย่างเวลาที่โกรธขุ่นเคืองใจ จะไม่ให้โกรธ เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อโกรธมีเหตุปัจจัย เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว แล้วก็ดับแล้วด้วย หมดไปแล้วด้วย เวลาที่ความโกรธไม่มีใครจะไปพยายามทำให้ความโกรธเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัยสมควรที่ความโกรธจะเกิด ความโกรธก็เกิด เหมือนกับได้ยิน ถ้าคนที่ไม่มีหู (ภาษาธรรมใช้คำว่าโสตปสาท ภาษาธรรมดาเราก็ใช้คำว่าหู) ถ้าหูหนวก ทำอย่างไรๆ คนนั้นก็ไม่ได้ยิน แต่ถ้ามีหู นอนหลับสนิท อย่างไรๆ คนนั้นก็ไม่ได้ยินอีก แต่ต้องมีเสียงกระทบหู แล้วก็กระทบจิต ซึ่งกำลังเป็นภวังค์ ต้องมีจิต เพราะว่าเสียงจะกระทบกับโสตปสาท เฉพาะหู เป็นรูปพิเศษ ที่นี่ไม่มีหู ถึงแม้ว่าขณะนี้มีเสียง ก็จะไม่กระทบกับความแข็ง เสียงกระทบแข็งไม่ได้ เสียงจะกระทบกับสภาพที่สามารถจะกระทบเสียงได้เท่านั้น ซึ่งอยู่กลางหูเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง

ขณะที่ได้ยินไม่ใช่เสียง แล้วก็ไม่ใช่หู แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครบอกเราเลย ถ้าไม่มีการตรัสรู้ว่า สภาพที่กำลังได้ยินมีจริงๆ แล้วก็เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุ หรือเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง


หมายเลข  6940
ปรับปรุง  7 ก.ย. 2567


วีดีโอแนะนำ