แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419


ท่านจะเป็นผู้ที่ทราบดีว่า ท่านมีเจตนาอย่างไรในการกล่าวเรื่องต่างๆ มีเจตนาที่จะทำลายใครบ้างหรือไม่ มีเจตนาที่จะทำลายลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญของบุคคลอื่นหรือไม่ หรือว่าท่านเพียงต้องการความแจ่มแจ้งของธรรม ถ้าต้องการความแจ่มแจ้งของธรรม ก็ไม่ใช่อกุศล

เพราะฉะนั้น เรื่องของปิสุณาวาจาต้องเป็นไปด้วยความปรารถนา หรือเจตนาที่จะทำลายบุคคลอื่น หรือว่ามีเจตนาที่จะยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก นี่เป็นคนที่ไม่ปรารถนาที่จะให้คนอื่นอยู่อย่างสงบๆ สบายๆ เพราะถ้าแตกแยกกันแล้ว ไม่สงบ ไม่สบายแน่นอน ต้องมีวาจาประทุษร้ายซึ่งกันและกันต่างๆ

ถ้าผู้ใดมีความพอใจที่จะให้เกิดความวุ่นวาย ให้เกิดความแตกแยก ก็ย่อมจะมีปิสุณาวาจาที่ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้าง หรือว่าส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง หรือแม้กระนั้นก็ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ซึ่งถ้าเป็นกุศล จะไม่พอใจที่จะให้ใครแตกแยกกระทบกระทั่งกันเลย ต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข ถ้าจะได้ลาภ ก็อนุโมทนาสาธุการด้วย ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข ก็เป็นสิ่งที่ควรจะชื่นชมอนุโมทนา

ถ. ที่มีคำถามเข้ามาบ่อยๆ คำถามต่างๆ เหล่านั้นอ้างว่า ได้ยินได้ฟังมาจากอาจารย์ที่อื่นบ้าง จากที่สนทนากันบ้าง และนำมาถามท่านอาจารย์เพื่อความแจ่มแจ้งของธรรมเหล่านั้น แต่ความแจ่มแจ้งของธรรมเหล่านั้น ก็ผิดความประสงค์ของผู้แสดงอยู่ก่อนๆ นั้น การที่ผิดความประสงค์ของเขาไป ไม่ตรงตามที่เขาประสงค์เช่นนี้ จะเป็นการทำให้เขาเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจอะไรบ้างหรือไม่

สุ. การฟังธรรมก็เพื่อประโยชน์ คือ การเข้าใจธรรม และสำหรับผู้แสดงธรรม ถ้าจะเกิดหวั่นไหวไป เพราะว่าไม่ตรงกับบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง ก็ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าธรรมที่ได้แสดงตรงกับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงแล้ว ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะกล่าวอย่างอื่น จะคิดประการอื่น ก็เป็นเรื่องของกุศลและอกุศลที่บุคคลนั้นสะสมมา เป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะของบุคคลนั้น ซึ่งผู้ที่แสดงธรรมก็ไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้อง ก็ตรงกับจุดประสงค์ของการแสดงธรรม แต่ถ้าท่านผู้ใดจะแสดงคลาดเคลื่อนไป และเกิดเดือดเนื้อร้อนใจขึ้น นั่นก็เป็นเรื่องของการสะสมมา ซึ่งไม่ได้คิดถึงพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ จึงได้หวั่นไหวไม่แช่มชื่น

ถ. มีอรรถกถาท่านว่าไว้อย่างนี้ ผู้ที่จะแสดงธรรมดีนั้น ต้องประกอบไปด้วยประมาณ ๔ อย่าง คือ ผู้พูดนั้นจะต้องพูดจาไพเราะน่าฟัง วาจาอ่อนหวาน นิ่มนวล ผู้พูดนั้นจะต้องแต่งกายให้เหมาะสม เป็นเหตุให้เลื่อมใส ผู้พูดนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่น่าดูน่าเห็น และผู้พูดนั้นจะต้องพูดให้ตรงตามธรรม ต้องมีเหตุ ๔ ประการนี้ นอกจากจะมีธรรมเป็นหลักใหญ่

สุ. การฟังธรรม เพื่อความเข้าใจในธรรม ส่วนความเลื่อมใสที่จะเกิดในบุคคลที่แสดงธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องแบ่งเป็น ๒ ส่วน การเลื่อมใสในบุคคลผู้แสดงธรรม ก็มีเหตุปัจจัยด้วย อย่างที่ท่านผู้ฟังได้ยกตัวอย่างข้างต้น

ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๐๑ อธิบายความหมายของคำว่าส่อเสียด ดังนี้

ชื่อว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด ในคำว่า และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือ ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้ทำลายคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง สนับสนุนคนที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบผู้ที่เป็นก๊กกัน ยินดีผู้ที่เป็นก๊กกัน เพลินผู้ที่เป็นก๊กกัน เป็นผู้กล่าววาจาที่ทำให้เป็นก๊กกัน นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีคำส่อเสียด

นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ซึ่งคำว่า เป็นก๊ก หมายความถึง แยกกันเป็นพวก

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมนำคำส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยความมุ่งหมายเป็นที่รัก ๑ มีความประสงค์ให้เขาแตกกัน ๑

บุคคลนำคำส่อเสียดเข้าไปด้วยความมุ่งหมายเป็นที่รักอย่างไร บุคคลนำคำส่อเสียดเข้าไปด้วยความมุ่งหมายเป็นที่รักอย่างนี้ว่า เราจักเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นผู้สนิท เป็นภายใน เป็นที่ดีใจของบุคคลนี้ บุคคลนำคำส่อเสียดเข้าไปด้วยความมุ่งหมายเป็นที่รักอย่างนี้

บุคคลเป็นผู้มีความประสงค์ให้เขาแตกกัน นำคำส่อเสียดเข้าไปอย่างไร บุคคลมีความประสงค์ให้เขาแตกกันอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้พึงเป็นต่างกัน แยกกัน เป็นก๊กกัน เป็นสองเหล่า สองพวก สองฝ่าย อย่างไรคนเหล่านี้พึงแตกกัน ไม่ปรองดองกัน พึงอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก บุคคลมีความประสงค์ให้เขาแตกกัน นำคำส่อเสียดเข้าไปอย่างนี้

คำส่อเสียดนี้ บุคคลใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นไม่ประกอบ ไม่ประกอบทั่ว ไม่มาประกอบ ไม่มาประกอบพร้อมในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่รังเกียจ และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด

ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตพยัญชนะที่ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือ ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น นี่เจตนาเพื่อทำลาย และเป็นผู้ที่ทำลายคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง สนับสนุนคนที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบผู้ที่เป็นก๊กกัน ยินดีผู้ที่เป็นก๊กกัน เพลินผู้ที่เป็นก๊กกัน เป็นผู้ที่กล่าววาจาที่ทำให้เป็นก๊กกัน นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีคำส่อเสียด

ถ้าท่านกลัวว่า การที่จะพูดถึงเรื่องธรรมให้แจ่มแจ้งจะกลายเป็นการส่อเสียด ก็หมายความว่า ท่านไม่กลัวเลยว่า ใครจะเข้าใจสภาพธรรมผิด ขอเพียงว่าให้พร้อมเพรียงกันไป จะเห็นผิดอย่างไรก็ไม่ว่า อย่างนั้นหรือ

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการความแจ่มแจ้ง ความถูกต้องของธรรม ไม่มีเจตนาเป็นส่วนตัวที่จะทำลายลาภ ยศ สักการะของบุคคลใด แต่เพื่อความแจ่มแจ้งของธรรม นี่เป็นกุศลเจตนา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า ท่านกลัวจะไม่พร้อมเพรียงกัน ก็ปล่อยให้เห็นผิดไป เข้าใจผิดไป อย่างนั้นจะมีประโยชน์ไหม การเป็นผู้พร้อมเพรียงในความเห็นผิดอย่างนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ท่านคงมีมิตรสหายหลายประเภท มิตรสหายบางพวกอาจจะเป็นมิตรสหายในอดีต ซึ่งปัจจุบันคงจะไม่ได้เป็นมิตรสหายในธรรม แต่ยังคงไปมาหาสู่ มีความหวังดีต่อกัน เกื้อกูลกันในเรื่องส่วนตัวได้ แม้ว่าความเห็นจะต่างกันในธรรม ก็ยังคงเป็นมิตรสหายได้ เพราะเหตุว่าไม่มีอกุศลเจตนาที่จะทำลายลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญของบุคคลนั้น ส่วนมิตรสหายอีกพวกหนึ่ง เป็นพวกที่มีความเห็นถูก ปฏิบัติถูกเช่นเดียวกัน เกื้อกูลกันทั้งในทางโลกและในทางธรรม

เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ แม้แต่จิตใจของท่านเองจะเป็นประการใด สติระลึกรู้ในขณะนั้นก็ทราบได้ว่า จิตเป็นกุศล หรือจิตเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล สติเกิดขึ้นระลึกรู้ ก็จะได้ขัดเกลา ละคลายให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถจะดับอกุศลนั้นได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความใน สัพพลหุสสูตร แสดงโทษของปิสุณาวาจาไว้ว่า

ข้อว่า คำส่อเสียด เป็นกรรมให้สัตว์ประสบการแตกร้าวจากมิตร ความว่า ย่อมให้ถึงการแตกจากมิตรทั้งหลาย เขาทำผู้ใดๆ ให้เป็นมิตร ผู้นั้นย่อมแตกกันไป

คือ ไม่มีมิตรแท้สำหรับผู้ที่มีปิสุณาวาจา มีเจตนาที่จะมุ่งทำลายบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ผลของกรรมนั้น คือ ถ้าเป็นผลของกรรมอย่างเบาที่สุด ก็จะทำให้เป็นผู้ที่แตกจากมิตร เขาทำผู้ใดๆ ให้เป็นมิตร ผู้นั้นย่อมแตกกันไป

สำหรับโทษของปิสุณาวาจาที่มากหรือน้อยนั้น ก็ต้องแล้วแต่บุคคลที่ท่านทำ ปิสุณาวาจา ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีคุณมากโทษก็มาก ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีคุณน้อย โทษก็น้อย เพราะว่าการทำให้บุคคลผู้มีคุณต้องประสบกับความยากลำบาก การแตกแยก ความเดือดร้อนใจนั้น ก็เป็นโทษมากทีเดียว

สำหรับองค์ของปิสุณาวาจานั้น มี ๔ คือ

๑. ภินฺทิตพฺโพ ปโร บุคคลอื่นอันตนพึงทำลาย

๒. อิติ อิเม นานา ภวิสฺสนฺติ วินา ภวิสฺสนฺตีติ เภทปุเรกฺขารตา วา อิติ อหํ ปิโย ภวิสฺสามิ วิสฺสาสิโกติ ปิยกมฺยตา วา คือ ความที่ตนปรารถนาจะทำลายเป็นเบื้องหน้าว่า คนเหล่านี้จักแตกกันอย่างนี้ หรือความที่ตนต้องการจักเป็นที่รักของบุคคลอื่นว่า เราจะเป็นที่รัก เป็นที่คุ้นเคย ด้วยอุบายประการอย่างนี้

๓. ตชฺโช วายาโม ความพยายามที่เกิดแต่จิตนั้น

๔. ตสฺส ตทตฺถวิชานนํ บุคคลอื่นรู้เนื้อความแห่งคำพูดนั้น

แต่เมื่อบุคคลอื่นยังไม่แตกกัน กรรมบถก็ไม่ขาด ต่อเมื่อบุคคลอื่นแตกกันเท่านั้น กรรมบถจึงขาด

ในชีวิตประจำวันมีบ้างไหม เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่มุ่งจะให้บุคคลอื่นแตกกันด้วยเจตนาทุจริต แต่มุ่งจะให้ตัวท่านเองเป็นที่รักมีบ้างไหม หรือว่ามุ่งที่จะให้บุคคลอื่นไม่เป็นที่รัก ท่านอาจจะไม่ทราบว่ามีนิดหน่อย เล็กๆ น้อยๆ แต่ขณะใดที่กล่าวติบุคคลอื่นในทางที่ไม่สมควร แสดงแล้วใช่ไหมว่า เพราะอะไร ในทางที่ไม่สมควร ก็เพื่อที่จะให้บุคคลนั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชื่นชม ไม่เป็นที่อนุโมทนาเพราะฉะนั้น ในขณะนั้นมีเจตนาโดยที่ท่านเองอาจจะไม่รู้ว่า ท่านเองมีเจตนาที่จะให้บุคคลนั้นไม่เป็นที่รัก จึงได้กล่าวคำติในสิ่งที่ไม่ควรติได้

นี่เป็นเรื่องของวาจา ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ประมาณให้รู้ถึงกิเลสที่มีอยู่ในจิต เพราะว่าก่อนที่จะล่วงออกมาเป็นวาจา การตรึก การนึกคิดต้องมีมากแล้ว นั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร ไม่พูดอะไร ก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ในทางที่เป็นที่รักและในทางที่ไม่เป็นที่รัก แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร แต่ถ้าคิดแล้ว ยังไม่หยุดเพียงแค่คิด แต่กล่าวออกมาเป็นคำติในทางที่ไม่สมควร ก็แสดงว่า มีเจตนาที่จะให้บุคคลอื่นไม่เป็นที่รักนั่นเอง

เพราะฉะนั้น อาชีวัฏฐมกศีล ก็เป็นการละเว้นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ซึ่งมีเป็นปกติมากน้อยแล้วแต่บุคคลที่ได้สะสมมาต่างๆ กันไป ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้นทันที ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ละคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

สำหรับวจีกรรมประการที่ ๓ คือ ผรุสวาจา

อาชีวัฏฐมกศีล จะต้องละเว้นอกุศลซึ่งเป็นทางกาย ทางวาจา โดยมีอาชีวะเป็นที่ ๘ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ รวมเป็น ๗ และมีสัมมาอาชีวะเป็นที่ ๘

ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สาเลยยกสูตร มีว่า

ผรุสวาจา คือ วาจาหยาบที่เป็นโทษ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

เคยได้ยินได้ฟังคำพูดอย่างนี้บ้างไหม วาจาหยาบที่เป็นโทษ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่มีใครฟังแล้วสบายใจไม่เดือดร้อน อันใกล้ต่อความโกรธ ยากนักที่คนที่ได้ฟัง ฟังแล้วจะไม่เดือดร้อนใจ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต ได้ยินแล้วกระสับกระส่าย เดือดร้อนใจ ไม่ใช่ชั่วขณะที่ได้ยิน ยังต่อไปอีกนาน ทำให้จิตหวั่นไหว ไม่สงบ นี่คือ ผรุสวาจา

ผรุสาย วาจาย เวรมณี เป็นเจตนาเครื่องเว้นจากการพูดคำหยาบ

คำหยาบ ไม่ใช่ว่าท่านจะเคยได้ยินได้ฟังเท่านั้น เคยพูดบ้างไหม ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังจากบุคคลอื่น แม้ท่านเองก็ยังเคยกระทำ เพราะว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลส เห็นโทษของกิเลสไหมว่า มากมายสักเท่าไรที่จะให้ล่วงออกไป เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่นำความเดือดร้อนมาให้ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

บางท่าน ทางวาจาไม่ได้ ใช้ทางกายเขียนจดหมาย หรือเขียนข้อความ หรือว่าเขียนคำผรุสวาจาก็ได้ แสดงให้เห็นว่า ถ้ากิเลสมีกำลัง เป็นปัจจัยให้เกิดกาย วาจา ที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

ที่ว่าหยาบนี้ หมายความถึงหยาบกระด้าง เกิดจากจิตที่ไม่อ่อนโยน เป็นจิตที่หยาบกระด้าง ทำให้กล่าววาจาที่หยาบกระด้าง เผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ชอบที่จะได้ยินได้ฟังผรุสวาจาเลย เวลาที่เป็นผู้ฟังไม่ชอบเลย แต่เวลาที่ท่านจะกล่าว ยับยั้งได้ไหม

ลองนึกเทียบเคียงดู ถ้าคำที่ท่านจะกล่าว เป็นคำที่ท่านจะได้ฟัง ลองกลับกันเสีย ให้ท่านเป็นผู้ฟัง จะทนไหวไหม ผรุสวาจาที่ท่านกำลังจะกล่าวออกไปอย่างแรงด้วยกำลังของโทสะ ด้วยจิตที่หยาบกระด้าง ซึ่งบางท่านยับยั้งไม่ได้เลย สะสมมาในเรื่องของผรุสวาจา เวลาที่จิตหยาบกระด้าง มีความโกรธเกิดขึ้น ใช้ผรุสวาจาอย่างแรง ให้สาสมกับจิตใจที่โกรธ ที่หยาบกระด้างในขณะนั้น แต่ถ้าท่านเป็นคนที่ฟังคำพูดเหล่านั้น ไม่ใช่คนที่กำลังจะพูด ท่านจะทนฟังผรุสวาจานั้นได้ไหม ทนไหวไหม

บางคนอาจจะอยู่ในฐานะที่ต้องฟัง เช่น ผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา อาจจะได้รับฟังผรุสวาจาจากผู้ที่เป็นใหญ่ ผู้บังคับบัญชา โดยที่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่เป็นใหญ่ ผู้ที่มีอำนาจ ใช้ผรุสวาจานั้นโดยไม่ได้คิดถึงใจของผู้ฟังเลย ผู้พูดไม่รู้สึก แต่ผู้ที่ฟัง รู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก


หมายเลข  6961
ปรับปรุง  18 ก.ย. 2567