แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 424


ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกันครองผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายในพระนครสาวัตถี เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วย่อมด่า ... ก็ไฉนเล่า บุรุษกระทำกิจของบุรุษแล้วจักปลงชีวิตหญิงเสีย

ผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เสียงนั่นจักมีอยู่ไม่นาน จักมีอยู่ ๗ วันเท่านั้น ล่วง ๗ วันไปแล้วก็จักหายไป ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงโต้ตอบมนุษย์ทั้งหลายผู้ที่เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ ขึ้งเคียด เบียดเบียนด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า คนที่พูดไม่จริง หรือคนที่ทำบาปกรรมแล้วพูดว่ามิได้ทำ ย่อมเข้าถึงนรก คนแม้ทั้งสองพวกนั้น มีกรรมเลวทราม ละไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในโลกหน้า

ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เล่าเรียนคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วย่อมโต้ตอบพวกมนุษย์ผู้ที่เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ ขึ้งเคียด เบียดเบียนด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า คนที่พูดไม่จริง หรือคนที่กระทำบาปกรรมแล้วพูดว่ามิได้ทำ ย่อมเข้าถึงนรก คนแม้ทั้งสองพวกนั้น มีกรรมเลวทราม ละไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในโลกหน้า

มนุษย์ทั้งหลายพากันดำริว่า สมณศากยบุตรเหล่านี้ไม่ได้ทำความผิด สมณศากยบุตรเหล่านี้ไม่ได้ทำบาป เสียงนั้นมีอยู่ไม่นานนัก ได้มีอยู่ ๗ วันเท่านั้น ล่วง ๗ วันแล้วก็หายไป ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เสียงนั่นจักมีอยู่ไม่นาน ล่วง ๗ วันแล้วก็จักหายไป เสียงนั้นหายไปแล้วเพียงนั้น พระเจ้าข้า ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ชนทั้งหลายผู้ไม่สำรวมแล้ว ย่อมทิ่มแทงชนเหล่าอื่นด้วยวาจา เหมือนเหล่าทหารที่เป็นข้าศึกทิ่มแทงกุญชรผู้เข้าสงครามด้วยลูกศร ฉะนั้น ภิกษุผู้มีจิตไม่ประทุษร้าย ฟังคำอันหยาบคายที่ชนทั้งหลายเปล่งขึ้นแล้ว พึงอดกลั้น ฯ

จบ สุนทรีสูตรที่ ๘

จะเห็นได้ว่า การพูดตามๆ กันไป ง่ายมาก เช่น มนุษย์ทั้งหลายในพระนคร สาวัตถีกว่าจะได้คิดว่า สมณะศากยบุตรเหล่านี้ไม่ได้กระทำความผิด สมณะศากยบุตรเหล่านี้ไม่ได้กระทำบาป ก็พูดไปเสียตั้ง ๗ วัน เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณาให้รอบคอบ และกล่าวคำใดออกไป เป็นโทษมาก ท่านไม่ทราบเลยว่า จะเป็นผลเสียหายกับบุคคลอื่นมากน้อยเพียงไร แต่เวลาที่ท่านทราบความจริง ก็ปรากฏว่า ท่านได้กระทำอกุศลกรรมไปเสียแล้ว

สำหรับบุพกรรมของพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุที่ได้ถูกบริภาษ และได้ฟังวาจาที่หยาบคาย ใน ขุททกนิกาย อปทาน อัมพฎผลวรรคที่ ๓๙ พุทธาปทาน ชื่อ ปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมที่เป็นเหตุให้พระองค์และพระภิกษุทั้งหลายได้รับวิบาก คือ ถูกบริภาษ ขึ้งเคียด เบียดเบียนด้วยวาจาอันหยาบคาย มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ในชาติอื่นในกาลก่อน เราเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้าย (ตอบ) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสหลายพันปีเป็นอันมาก ด้วยผลกรรมอันเหลือนั้น ในภพหลังสุดนี้ เราจึงได้คำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

และสำหรับพระภิกษุทั้งหลายก็มีบุพกรรมที่ทำให้ได้ถูกบริภาษเช่นนั้นด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์ชื่อสุตวา อันชนทั้งหลายสักการบูชา สอนมนต์ให้กับมาณพประมาณ ๕๐๐ คนในป่าใหญ่ ก็เราได้เห็นฤๅษีผู้น่ากลัว ได้อภิญญา ๕ มีฤทธิ์มาก มาในสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่ฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้าย โดยได้บอกกะพวกศิษย์ของเราว่า ฤๅษีพวกนี้มักบริโภคกาม แม้เมื่อเราบอก (เท่านั้น) พวกมาณพก็เชื่อฟัง ครั้งนั้น มาณพทั้งปวงเที่ยวไปภิกษาในสกุลๆ พากันบอกแก่มหาชนว่า ฤๅษีพวกนี้มักบริโภคกาม ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ได้คำกล่าวตู่ทั้งหมดเพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

นี่คือผู้ที่ว่าร้ายบุคคลอื่น กล่าวตามๆ บุคคลอื่น โดยไม่พิจารณา ตามครู ตามอาจารย์ โดยที่ไม่พิจารณาในเหตุในผลในความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้เป็นครูอาจารย์กล่าวตู่ฤๅษีนั้น โดยบอกมหาชนว่า ฤๅษีผู้นี้มักบริโภคกาม ผลคือ พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา และสำหรับพระภิกษุทั้งหลายก็ได้ถูกบริภาษเช่นนั้นด้วย

. ที่ว่าผลกรรมที่เหลือ หรือทีเรียกว่า เศษกรรมนี้ คืออะไร

สุ. เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเป็นเรื่องของชวนจิตที่เป็นปัจจัยให้กระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไป ซึ่งมีหลายชวนะมากที่จะกระทำกรรมนั้นให้สำเร็จลงไปได้ และเวลาที่กรรมนั้นให้ผล ทำให้ปฏิสนธิเป็นชนกกรรมก็ได้ และเมื่อให้ผลปฏิสนธิแล้ว ก็ยังอุปถัมภ์ให้กรรมนั้นตั้งอยู่ต่อไปตามควรแก่กรรมนั้น หรือว่ามีกรรมอื่นมาตัดรอนไม่ให้กรรมนั้นให้ผล ซึ่งเป็นเรื่องของปัจจัยโดยละเอียดมาก

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าอกุศลกรรมนั้นให้ผลปฏิสนธิในนรก และเมื่อจุติจากภูมิของนรก แต่ผลของกรรมนั้นยังไม่สิ้น ยังไม่หมด ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลหลังจากปฏิสนธิในสุคติภูมิได้ ไม่อย่างนั้นเวลาเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม ก็จะไม่มีโอกาสได้รับผลของอกุศลวิบากเลย

สำหรับเรื่องของการบรรเทา ละคลายความโกรธ ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑

ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ฯ

พอจะได้ไหม แต่ถ้าจะพิจารณาถึงอรรถของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้จริงๆ จะเกื้อกูลได้ เช่น ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น

หลายท่านเห็นแต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจทั้งนั้นในโลกปัจจุบัน แต่ทำไมไม่คิดว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมสถานการณ์ต่างๆ ของโลกในยุคนี้ สมัยนี้ ไม่เป็นอย่างนี้ บุคคลนั้นก็จะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิดประการใด ในกิริยามารยาท ในการแต่งกาย ในอะไรก็ตามแต่ ทำไมไม่มองถึงปัจจัยที่ทำให้บุคคลนั้นเป็นอย่างนั้น มีสิ่งแวดล้อม มีชีวิตในครอบครัว มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งล้วนทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นคนอย่างนี้ ซึ่งท่านอาจจะไม่พอใจเลย เห็นว่าเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้เลย

เพราะฉะนั้น ถ้ามีการไตร่ตรอง พิจารณา เข้าใจในเหตุในผล ในปัจจัยจริงๆ จะเกิดความเห็นใจ จะมีความเข้าใจ และจะมีความเมตตาในบุคคลนั้น แทนที่จะรีบโกรธ เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไม่พอใจ ก็ควรที่จะคิดว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะเข้าใจ เห็นใจ และช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ อบรมเจริญเมตตา มีความเห็นใจ มีความเข้าใจจริงๆ แล้ว ขณะนั้นจะไม่โกรธ แต่ถ้าโกรธ ให้ทราบว่า ไม่เข้าใจคนนั้น และไม่เห็นใจด้วย จึงโกรธ

สำหรับข้อความที่ว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นกระทำกายทุจริต หรือวจีทุจริตก็ตาม ทำไมเราจะต้องโกรธ ซึ่งความจริงแล้ว บุคคลนั้นน่าสงสารที่สุด เพราะว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรม ถ้านึกถึงภาพของบุคคลนั้นที่ต้องอยู่ในนรก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะเกิดความกรุณาในผู้ที่กระทำกายทุจริตและวจีทุจริตในขณะนั้น ท่านก็จะไม่โกรธ เพราะรู้สึกเห็นใจ สงสารจริงๆ ในอกุศลกรรมที่เขากระทำ

ข้อความที่ว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว จะห้าม จะกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม ก็ไม่ได้ เขามีปัจจัยที่จะให้กระทำกรรมนั้น ใครจะทำอะไรได้ ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นที่กระทำอย่างนั้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอุเบกขา เมื่อไม่สามารถจะกระทำอย่างอื่นได้

ข้อความที่ว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ถ้ายังนึกถึง ยังใฝ่ใจ ยังครุ่นคิดอยู่ตราบใด ก็ย่อมจะไม่พ้นจากความทุกข์ใจ ถ้าจะให้สบายใจจริงๆ คือ ไม่สนใจจริงๆ ในบุคคลนั้น ไม่ว่าจะกระทำอะไรก็ตามแต่ ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นจริงๆ ไม่ควรที่จะเสียเวลา เดือดร้อนใจ ใฝ่ใจ คิดถึงการกระทำที่ไม่สมควรของบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นจะกระทำอะไร ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น เป็นเรื่องของเขา เมื่อไม่ใส่ใจ ไม่ใฝ่ใจคิดถึงบุคคลนั้น ก็ย่อมจะสบายใจ คือ ไม่เดือดร้อนใจเลย ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ไม่ต้องระลึกถึงด้วยขุ่นเคืองใจ

และประการสุดท้าย ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาทของกรรมนั้น ดังนี้ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ฯ

นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด คือ เรื่องของกรรม ถ้าใครทำกุศลกรรม คนอื่นจะไปขอร้องไม่ให้กุศลกรรมให้ผล ก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าใครทำอกุศลกรรม ใครจะไปช่วยกันอ้อนวอนขอร้องอย่าให้บุคคลนั้นได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ผู้อื่นไม่ควรจะมีจิตใจที่เดือดร้อนกับเรื่องราวของบุคคลอื่น กับกรรมของบุคคลอื่น เพราะบุคคลนั้นย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา และในขณะเดียวกันนั้น ควรที่จะได้พิจารณาถึงสภาพจิตของตนเองว่า ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็เป็นการกระทำตนเองให้เดือดร้อน เพราะได้สะสมอกุศล ความเศร้าหมองของจิตมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นโทษเพิ่มขึ้น

สำหรับการที่จะระงับความโกรธ ที่จะเป็นเหตุให้กล่าวผรุสวาจา ก็มีหลายประการ ซึ่งทุกท่านก็ยังคงจะต้องได้ยินผรุสวาจา วาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่แช่มชื่น แต่ว่าในขณะที่ได้ยิน จะรู้สึกกระทบกระเทือนใจมากน้อยประการใด จะระงับได้หรือไม่ได้ สติจะเกิดระลึกรู้หรือไม่ นั่นก็แล้วแต่การสดับรับฟังพระธรรมของท่านว่ามากน้อยเพียงไร และเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อเกื้อกูลให้ท่านสามารถบรรเทาละคลายกิเลสซึ่งเกิดในขณะนั้นไม่ให้มีกำลัง จนถึงกับจะกล่าววจีทุจริตได้หรือไม่

ขอกล่าวถึงข้อความที่แสดงเหตุผลว่า ควรละความอาฆาตในบุคคลต่างๆ เพราะว่าบุคคลที่ท่านพบปะคุ้นเคยนั้น ย่อมมีอุปนิสัยต่างๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ หรือว่าจะไปเปลี่ยนจิตใจของบุคคลอื่นก็เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อท่านได้ประสบกับเหตุการณ์อย่างนี้ ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้

ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร อาวุโส

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

มีใครบ้างไหมที่จะดีพร้อมทุกอย่าง บางท่านความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์แต่ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ อาจจะฆ่าสัตว์ อาจจะมีกายทุจริต แต่ไม่พูดมุสาเลย วจีทุจริตประการอื่นๆ ก็ไม่มี แต่เป็นผู้ที่ยังมีกายทุจริตอยู่ นี่ก็เป็นชีวิตของบุคคลต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อเกื้อกูลผู้ฟังให้ประพฤติปฏิบัติตาม และก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่อาฆาต เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่ผูกโกรธเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

ไม่ควรจะคิดเป็นบุคคลอื่นไปทั้งหมด แต่ควรพิจารณาว่า ท่านเองเป็นบุคคลประเภทไหน

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

นี่เป็นบุคคลที่ ๓

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

มีไหม ผู้ที่ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้การเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แต่แม้อย่างนั้น เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง ข้อความมีว่า ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้


หมายเลข  6977
ปรับปรุง  26 ก.ย. 2567