ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197


ตอนที่ ๑๙๗

สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๔


ท่านอาจารย์ เพราะว่าการอบรม หมายความว่า เปลี่ยนทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างเราได้ยินว่า โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี ได้ยินไปอีก ๑๐ ปี โลภะ โมหะ โทสะก็ยังมี เพราะว่าต้องอบรม ต้องค่อยๆ เห็นโทษทีละเล็กทีละน้อย แล้วปัญญาต้องค่อยๆ เกิดจริงๆ เจริญจริงๆ ตามระดับขั้น จึงสามารถที่จะคลายหรือละได้ ถ้าละลงไปหน่อยก็เป็นการสะสมธรรมฝ่ายดี จนกว่าปัญญาจะเจริญ เวลาที่มีเห็น แทนที่จะเป็นโลภะ ก็เป็นสติที่ระลึก แล้วสามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างจากรูปธรรม ในขณะนี้ซึ่งเรากำลังฟังเรื่องนามธรรม รูปธรรมจนกระทั่งทุกอย่างในชีวิต สติระลึกแล้วรู้ จึงไม่สงสัย ไม่อย่างนั้นจะสงสัยว่า นี่เป็นนามธรรมหรือเปล่า นั่นเป็นรูปธรรมหรือเปล่า แต่ถ้ามีความเข้าใจถูก ชีวิตเราวนเวียนอยู่เพียงแค่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก อยู่แค่นี้ กี่ภพกี่ชาติก็แค่นี้ วนกันอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน ติดก็ติดอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน ออกไปไม่ได้ เพราะขาดปัญญา

ผู้ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม รู้โดยไม่มีปัญญาไม่ได้เลย ไม่อบรมเจริญปัญญาก็ไม่ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าปัญญาโตช้ามาก แต่โตได้ จากการฟังแล้วพิจารณา สติกับปัญญาของท่านจะเกิดแทนอกุศล สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งท่านสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม โดยปัญญาของท่านรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสภาพธรรมปรากฏ เป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนี้นามธรรมไม่ปรากฏลักษณะของนามธรรม เรารู้ว่ามีจิต แต่ยังเป็นเรา เล็กๆ บางทีเราก็บอกว่าเราตัดสินใจ ลืมไปแล้วว่าเป็นจิต ลืมบ่อยๆ นี่คือผู้ที่หลงลืมสติ แต่ผู้ที่มีสติ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งมีอยู่พร้อม อย่างแข็งมีอยู่ตลอดเวลา จิตที่รู้แข็งก็มีตลอดเวลา แต่ไม่ใช่กุศลจิต เพราะไม่รู้ความจริงว่าแข็ง เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นของจริงอย่างหนึ่ง แล้วสภาพที่รู้แข็ง ถ้าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ขณะที่รู้แข็ง อย่างอื่นไม่ปรากฏเลย นี่คือปัญญาที่รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรในโลก นอกจากจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทีละอย่าง แล้วลองคิดดูสิ เอาโลกออกไปหมดเลย ไม่เหลืออะไร เหลือแต่จิตที่กำลังรู้แข็ง นั่นคือการประจักษ์แจ้งสภาพธรรม แต่ถ้ายังมีทุกอย่างอยู่ก็เป็นเรื่อง จิตก็เกิดดับสลับไปเรื่อยๆ ให้เกิดความคิดนึกไป เรื่อยๆ ยังไม่ถึงระดับขั้นที่สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่กว่าใครจะอบรมจนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องใช้เวลานาน อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแค่ตรัสรู้ แต่ยังต้องประกอบพร้อมด้วยทศพลญาณอีกหลายอย่างมากเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อผลใหญ่อย่างนั้นก็ต้องเหตุใหญ่ เราจะมีปัญญาเล็ก ผลก็นิดเดียว คือ เรียนนิดเดียว ถ้าจะมีปัญญามาก

ผู้ฟัง ... ขยายความ ๔ อสงไขยแสนกัปป์

ท่านอาจารย์ นาน นาน ก็ท่านใช้คำว่าอุปมาในพระไตรปิฎก เกวียนเล่มหนึ่งซึ่งมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่เต็ม ร้อยปีหล่นไปเม็ดหนึ่ง จนกว่าจะหมด ก็ไม่ต้องไปคิด คือบางคนก็คูณเป็นตัวเลขเลย แล้วมันมีประโยชน์อะไร ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่ามันนานแสนนาน แล้วเรามีชีวิตเท่าไร ๗๐ ปี ๘๐ ปี แล้วเราจะนั่งคำนวณว่า ตั้ง ๔ อสงไขยแสนกัปป์มันเท่าไร ทราบแต่เพียงว่ากัปป์หนึ่งแสนนาน

ผู้ฟัง อย่างน้อยศึกษาแล้วไม่ประมาท เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้น

ท่านอาจารย์ ในสมัยโน้น คนที่ฟังพระธรรมแล้วเป็นพระอรหันต์หลังจากที่จบเทศนา ฟังแล้วเป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระโสดาบันก็มี ไม่เป็นอะไรก็มี เหมือนกันทุกสมัย เพราะว่าจิตหลากหลายตามการสะสม เราจะเอามาเปรียบเทียบแบบเข้าชั้นเรียนไม่ได้

ผู้ฟัง แล้วทำไมจึงต่างกันมากระหว่างสมัยโน้นกับสมัยนี้ว่ าทำไมคนสมัยก่อนฟังแล้วบรรลุ แล้วพวกเรายิ่งฟังบางทีก็ยิ่งงง ทำไมเป็นอย่างนั้น

ท่านอาจารย์ สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เพื่อทำอะไร ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ประสูติเพื่อเป็นกาลสมัยที่มีคนมีปัญญาพร้อมที่จะรับฟังพระธรรม แล้วสามารถที่จะโปรดเกื้อกูลด้วยพระธรรมเทศนา พระปัจเจกพุทธเจ้า ในสมัยซึ่งคนไม่ได้ยินได้ฟังธรรม ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย อันตรธานไปหมด แต่เพราะการที่เคยฟัง เคยเข้าใจ ไม่สูญหายเลย แม้ไม่มีคำสอน ก็สามารถจะรู้แจ้งธรรม แต่ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ถึงระดับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้แสดงธรรมอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเป็นสมัยซึ่งยุคสมัยนั้นคนก็ไม่พร้อม พอมาถึงสมัยหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ยังมีพระอริยบุคคลที่ประกอบด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ หรือว่าปฏิสัมภิทา เป็นผู้ที่รู้ภาษาอะไรๆ ที่สามารถที่จะเผยแพร่เข้าใจได้ พันปีต่อมามีพระอรหันต์ซึ่งไม่มีปฏิสัมภิทา อภิญญาต่างๆ สมัยต่อไปก็จะเหลือแต่พระอนาคามีบุคคล คือ ค่อยๆ ลดไป เราไม่ต้องคิดว่าจะถึงเมื่อไร เพราะเราไม่คอยถึงเวลานั้น เราต้องตายก่อน แต่ว่าเราทราบได้ว่า ศาสนาคือคำสอนจะดำรงอยู่ได้ อย่างไร ถ้าไม่มีการศึกษา เพราะว่าเป็นคำสอน เพราะฉะนั้น ต้องมีคนฟังหรือคนศึกษา มีคนเข้าใจจึงจะรักษาคำสอนนั้น แล้วสืบต่อๆ กันไปได้ แต่ถ้าขณะใดที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีการเข้าใจธรรม ก็เหมือนหนังสือโบราณ เอามาดูก็ไม่รู้เรื่อง พูดว่าอะไร อ่านออก ทุกตัวหนังสืออ่านออก แต่ไม่เข้าใจความหมาย

ด้วยเหตุนี้ในยุคนี้สมัยนี้ ถ้าเราเป็นผู้ที่ประมาท เราจะศึกษาพระธรรมอย่างผิวเผิน แต่ถ้าเราเป็นผู้ไม่ประมาท สักคำเดียวเราต้องเข้าใจให้ถูก อย่าง “ธรรม” คำเดียว ต้องเป็นธรรม เป็นอย่างอื่นไม่ได้ อนิจจัง เกิดแล้วดับ แม้ว่าเราจะไม่ประจักษ์ แต่ฟังแล้วจิตมีหลายประเภทหรือเปล่า ขณะนี้ใครมีจิตโลภบ้าง ไม่มี ขณะนี้ใครมีจิตโกรธบ้าง ไปไหน ก็จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ทุกขัง คือ สภาพที่ไม่เที่ยงนั่นเอง ไม่น่ายินดีเลย เราหลงพอใจกับสิ่งซึ่งสั้นแสนสั้น สั้นมาก แต่ไม่รู้ว่าสั้นแค่ไหน เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็เลยติดหมดเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ล้วนแต่เป็นสิ่งซึ่งสั้นแสนสั้น

ผู้ที่ท่านประจักษ์ความสั้นแสนสั้น หมดความสงสัย ดับกิเลสตามลำดับขั้น แล้วทุกคนก็สงสัยว่า น่าจะดับกิเลสหมดเลย เห็นอย่างนี้แล้วทำไมกิเลสยังไม่หมด กิเลสมากแค่ไหน ไม่เคยรู้ ถ้าไม่เคยอบรมเจริญปัญญาแล้ว ไม่รู้ว่ากิเลสมากแค่ไหน คิดว่ากิเลสของตัวนิดเดียว แต่ลึกลงไปเป็นนามธาตุซึ่งประกอบด้วยส่วนที่ไม่ดีมากมายมหาศาล อวิชชาเท่าไร เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ รู้แค่ไหน แล้วยังนอกจากอวิชชาอีก โลภะ โทสะ โมหะ อะไรสารพัด

ผู้ฟัง ให้เราขัดเกลากิเลส

ท่านอาจารย์ ด้วยปัญญา คือปัญญาทำหน้าที่ของเขา ปัญญาไม่เกิด ใครจะไปขัด อวิชชาขัดไม่ได้ ธรรมอื่นมีหน้าที่เฉพาะอย่างๆ เป็นเจตสิก ๕๒ ชนิด เจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะของเขา มีกิจการงานของเขา ถ้าสติไม่เกิด ตั้งใจจะให้สติเกิด จงใจสักเท่าไร สติก็ไม่เกิด แต่ลักษณะของสมาธิมี ทำให้เข้าใจว่าสมาธินั้นคือสติ นี่คือขาดความละเอียดในการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีสติเฉพาะเวลาที่เป็นกุศล แต่ว่าถ้ากุศล อกุศล ยังแยกกันไม่ออกอีก ก็เลอะกันไปหมดเลย สมาธินั้นก็เลยกลายเป็นของดี ทั้งๆ ที่เป็นอกุศล เป็นมิจฉาสมาธิ

ผู้ฟัง อยากทราบว่า ทุกคนทราบความหมายที่ถูกต้องของโลภะ โทสะ โมหะ

ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว มีชื่อเกือบร้อยชื่อ หรือจะถึงร้อยชื่อ ซึ่งทุกคนคงจำไม่หมด เพราะว่าเป็นภาษาบาลี แต่ลักษณะคล้ายคลึงกันมาก คือว่า จะติดข้องมากน้อยสักเท่าไรก็เป็นการติดข้อง โดยที่ไม่รู้ตัว แต่ติดข้องเข้าไปแล้วก็ได้ ความหวัง ภาษาบาลีว่า อาสา อาสาที่เราใช้ในภาษาไทย อ.อ่าง สระอา ส.เสือ สระอา นี้ เป็นลักษณะของโลภะ พรุ่งนี้จะทำอะไร แค่นี้ หวังอะไรกันบ้าง นั่นแหละในใจ ทั้งหมดไม่ปรากฏว่า ตะกละตะกลาม โลภโมโทสัน น่ารังเกียจ เพียงแค่นั้นก็คือโลภะ เหมือนไฟ นิดเดียวก็ร้อน กองใหญ่ก็ร้อน เปลี่ยนไฟให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ หรือของเหม็นของไม่สะอาด นิดเดียวก็มีกลิ่นที่ไม่สะอาด จะเปลี่ยนให้เป็นของดีไปไม่ได้ ต่อเมื่อมีมากๆ เราเห็น เราไม่ชอบ แต่ตอนเล็กๆ น้อยๆ นี้เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรงต่อลักษณะของธรรมว่า เราใช้คำว่าโลภะในภาษาไทย เราคิดว่าคนนั้นโลภมากอยากได้มากๆ ๑ ไม่พอต้อง ๒, ๒ ไม่พอต้อง ๑๐ หรืออะไรอย่างนี้เรียกว่าเขามีโลภะ แต่ความจริงแต่ติดข้อง เพราะความไม่รู้ก็เป็นโลภะแล้ว

ผู้ฟัง ความรักลูกก็เป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ เป็นตลอดแน่นอน ต้องยอมรับความจริง

ผู้ฟัง ทีนี้บางคนเขาก็คิดว่า เรามีลูก หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องรักลูก ต้องดูแลลูกอยู่แล้ว อันนั้นเป็นอกุศลได้อย่างไร

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็คิดว่าโลภะ รักลูกนี้ดี แต่ว่าโลภะที่ไม่ดีเพราะเหตุว่านำความทุกข์มาให้ ถ้าไม่รัก ไม่ต้องทุกข์ ใช่ไหม แล้วขณะที่เรารู้สึกสนุกมาก เพลินมาก ลูกน่ารักมาก อะไรก็ตามแต่ หรืออะไรๆ ก็อร่อยมาก ดีมาก แท้ที่จริงไม่รู้ว่า ขณะนั้นใจ หวั่นไหว กระเพื่อม ติดข้อง ต้องการ เป็นลักษณะที่ทรมาน แต่ว่าเมื่อความไม่รู้ ก็เหมือนกับคนที่ชินกับอะไรสักอย่างหนึ่ง อาหารเผ็ดๆ ก็ต้องเผ็ดถึงจะอร่อย หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว โลภะเป็นกุศลไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นคนที่มีโลภะจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จิตไม่สงบ เขาคิดว่าสนุกมาก ดีเหลือเกิน อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อวันก่อนเราไปเที่ยวสวน บ้านเศรษฐี มีทุกอย่างในตู้ มีอะไรๆ สารพัดอย่าง เขาอาจจะคิดว่า เขามีมาก เขารับสิ่งที่ดีด้วยปัญญาหรือเปล่า ชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่า เราจะเกิดเป็นใคร เราอาจจะเกิดในครอบครัวซึ่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย หรือว่าอาจจะเกิดที่ไหนก็ได้ หรือว่าถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น บางวันเราก็ได้สิ่งที่ดีมาก ใครๆ ก็ชมว่าสวยดี หรือว่าดีจริงๆ แล้วเรารับสิ่งนั้นด้วยปัญญาหรือว่าด้วยความติดข้อง

แสดงให้เห็นว่า เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะได้รับสิ่งต่างๆ ในชีวิตตามกรรม ถ้าเป็นผลของกรรม เราก็เห็นสิ่งที่ดี เพชรนิลจินดากี่วงอะไรก็ตามแต่ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อย สิ่งที่กระทบสัมผัสก็สบาย ซึ่งทุกคนติดมาก ไปดูบ้านไหนก็บ้านนั้น

ผู้ฟัง ความหมายของโลภะมีมากขึ้น

ผู้ฟัง คือ..เรื่องโลภะ ...

ท่านอาจารย์ เป็นอกุศล ทำให้ใจเราหวั่นไหว คือไปติดเสียแล้ว

ผู้ฟัง ชีวิตคนธรรมดา เราจะต้องมีโลภะ

ท่านอาจารย์ แน่นอน

ผู้ฟัง อย่างเราเป็นคนธรรมดา เราต้องมีโลภะ อยากให้ชีวิตเรามีความก้าวหน้า

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง แล้วอาจารย์คิดว่า ... ถ้าหากเราไม่มีโลภะเลยเรา ...

ท่านอาจารย์ ดีที่นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะว่าถ้าเผินแล้ว เราจะมองเป็นอย่างนั้น ซึ่งทำให้คนอื่นเขาโจมตีศาสนาเราได้ว่า ถ้าไม่มีกิเลสแล้วคงนั่งเฉยๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยอยู่เฉยเลยสักวัน

ผู้ฟัง มันเหมือนดาบสองคม

ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ท่านทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้ชาวโลกแต่ไม่ได้ด้วยความติด ไม่ใช่ด้วยความหวัง ไม่ใช่ด้วยความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระองค์เสวยอาหารที่มีผู้ถวายอย่างประณีต เหมือนกับเรามีโอกาสจะรับประทานอาหารอร่อย แต่จิตของท่านกับของเราต่างกันลิบ เพราะว่าแม้ว่าสิ่งที่ดีจะมาปรากฏกระทบ ผู้ที่ไม่มีกิเลสไม่หวั่นไหว แต่ผู้ที่มีกิเลส ติดเลย ติดอย่างชนิดซึ่งเหมือนกับ อะไร ดินน้ำมันหรืออะไรที่ติดแน่นๆ ซักก็ไม่ออกอะไรอย่างนั้น มันมากเท่าไรที่จะต้องขัดไปอีก ขัดไปอีก ในเมื่อมันติดมาทุกชาติ แล้วทุกวันด้วยอย่างนั้น แล้วผู้ที่สามารถขัดได้ แล้วก็หมด แล้วก็ชี้ให้เราเห็นว่าโลภะที่เราว่าทำให้วัตถุเจริญ จริงๆ แล้วที่บอกว่า เป็นสิ่งที่กระตุ้นหรือสร้างหรือสร้างสรรค์ทำให้สิ่งต่างๆ มี เราก็ต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องว่า ทำให้โลภะ ทำให้โลกหรือวัตถุเจริญ หรือว่าทำให้จิตใจเจริญ

ในครั้งพุทธกาลไม่ต้องกลัวเลย เรื่องปัญญา มหาอำมาตย์ ของแคว้นเวสาลี หรือพระเจ้าพิมพิสาร หรือใครก็ตามแต่ที่ได้ฟังธรรม มีหน้าที่มีกิจการงานเป็นถึงมหาเสนาบดี เป็นพระโสดาบัน เป็นชาวพุทธ ขั้นแรกที่สุดที่ละ ไม่ใช่ให้ละโลภะซึ่งเราติดมาก ให้ละโลภะซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด แค่นี้ก่อน นิดเดียว ไม่ใช่ให้ละหมด บ้านช่องไม่ต้องมี ของสวยๆ งามๆ ไม่ใช่ เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครทำอย่างนั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น กิเลสก็ต้องขัดไปเป็นประเภทๆ ขั้นแรกที่สุดที่เรามานั่งฟังที่นี่ เพื่อพ้นจากความเห็นผิด จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องสภาพธรรม จากการที่แม้ธรรมปรากฏก็ไม่ได้ปรากฏเป็นธรรม ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดชาติ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เราอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตั้งแต่เกิดจนตาย สมมติบัญญัติหมายความว่าเรื่องราวของปรมัตถธรรม หลังจากที่ปรมัตถธรรมเกิดแล้วดับ ความทรงจำจำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตสัญญา

ในโลกของเราคือจิตที่กำลังเกิดดับ เต็มไปด้วยเรื่องราว ไม่ได้เต็มไปด้วยปัญญาที่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ขณะที่คนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลยตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใกล้จะตายก็ยังคงเป็นสมมติบัญญัติ ปรมัตถ์ไม่ปรากฏเลยว่า เป็นเพียงสภาพธรรม ทั้งๆ ที่แท้จริงเป็นสภาพธรรม แต่โมหะ หรือ อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ หน้าที่คนละหน้าที่

ผู้ฟัง เท่ากับขณะนี้เรากำลังจะเริ่มทำความรู้จักกับ

ท่านอาจารย์ สภาพธรรม หรือ ธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ตรัสรู้ธรรม

ผู้ฟัง แล้วเราจะใช้คำว่าพูดอย่าง ... ได้หรือไม่ ... คือ ..อาจจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคน แต่ทีนี้ทำอย่างไรคนเราถึงจะรู้จักกับกิเลสได้

ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจ ไม่อย่างนั้นใครมาบอกเราว่า โลภะเป็นอกุศล เราก็ไม่เชื่อ จนกว่าเราจะฟังแล้วพิจารณาว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ความติดข้องจะเป็นความดีงามได้อย่างไร แล้วจะเป็นความเบาสบายได้อย่างไร

ผู้ฟัง ความรักนี้ก็เป็น

ท่านอาจารย์ โลภะ

ผู้ฟัง โลภะ อกุศล

ท่านอาจารย์ อกุศล

ผู้ฟัง ลูก รักลูก ไม่ว่าลูกจะอย่างไรก็รัก ซึ่งผมรู้ว่าทำไม่ได้

ท่านอาจารย์ นี่คือโลภะยิ่งหนักเข้าไปอีก ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ฉันรักอย่างเดียว

ผู้ฟัง อันนั้นหนักเข้าไปอีก

ท่านอาจารย์ จะเลว จะชั่ว จะอย่างไรฉันก็รัก คือไม่มีความคิดจะแยกแยะว่า รักต้องรักส่วนดี ใช่ไหม นี่รักไปหมด

ผู้ฟัง ถ้าเผื่อรัก รักส่วนดี ก็ยังถือว่าเป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ เป็น เพราะว่าเป็นความติดข้อง คือเราต้องแจ่มแจ้งในพระธรรม แม้ว่าเราไม่ถึงระดับนั้น แต่เราเริ่มเข้าใจ ไม่อย่างนั้นจิตใจของเราก็อยู่อย่างนั้น คือยึดถือสิ่งที่ไม่ดีว่าใช้ได้ ดี แต่ว่าถ้าเราเห็นว่าไม่ดีเพิ่มขึ้นๆ เราก็มีปัญญาที่จะค่อยๆ ห่างจากสิ่งนั้น ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา ถ้าใครมาบอกเราว่าโลภะไม่ดี เราบอกว่าฉันจะไม่มีโลภะ ไม่มีทาง ไม่มีทาง ถ้าปัญญาไม่เกิดอย่าไปทำอะไรกับโลภะ ทำไปจนตายก็ไม่ชนะ เพราะว่าทำไปด้วยโลภะทั้งหมด แม้แต่ที่อยากจะชนะ ก็เพราะโลภะ ทำให้อยากชนะโลภะ

ผู้ฟัง เรารู้คำว่าโลภะไม่ดี แต่ว่าถ้าเรามีความจำเป็น ต้องการมี

ท่านอาจารย์ โลภะไม่ดี แต่ทุกคนมี ว่าอย่างนั้นดีกว่า

ผู้ฟัง อยากจะซื้อรถ อย่างนี้เป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ เป็นก็เป็น ก็ไม่ใช่เรา เป็นสภาพติดข้องที่เขาเกิดขึ้น ประเดี๋ยวเข้าก็เปลี่ยนไปแล้ว เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าอาวุธอะไรที่จะดับโลภะ ปราบโลภะ คือปัญญา เมื่อรู้อย่างนี้ เราแสวงหาปัญญา เราไม่เดือดร้อนกับโลภะ เพราะเราทำอะไรโลภะไม่ได้ แต่เมื่อมีปัญญา ปัญญาก็ทำหน้าที่ของเขาตามลำดับ อย่างพระโสดาบันละโลภะที่เกิดกับความเห็นผิด เวลาที่เรามีความเห็นผิด เราไม่รู้ว่าเราชอบความเห็นอันนั้น แม้ว่าผิดก็ชอบ มีคนที่เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิ รู้ด้วยว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ไม่เคยไปเฝ้า ยังชอบความเห็นผิดอยู่ กลัวว่าจะหมดความเห็นผิดของตัว

ผู้ฟัง เขาจะรู้ไหมว่าเขาเห็นผิด

ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง อวิชชา ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ ทั้งหมด ไม่รู้ทุกอย่าง สภาพธรรม กำลังปรากฏ กำลังเกิดดับก็ไม่รู้ หน้าที่ของอวิชชาต้องไม่รู้ อวิชชาจะมาทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้

ผู้ฟัง คงจะเหมือนกับนักโทษบางคนที่ไปทำความชั่วร้าย อย่างไปฆ่าใครสักคน คือเขาไม่มีความเสียใจ อันนั้นก็เป็นอวิชชา ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ถือ เป็น คือถ้าถือหมายความว่ามันไม่เป็นแต่เราถือว่าเป็น แต่นี้เราต้องรู้ความจริงว่า เป็นคือเป็น

เราก็เริ่มเข้าใจตัวเรา เห็นเลยว่า น่าเกลียดมากเลย ใช่ไหม จิต ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด เห็นเลย ใช่ไหม แต่ถ้าไม่เห็นก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าอวิชชาไม่เห็น แต่ถ้าปัญญาเริ่มฟัง เริ่มพิจารณา ธาตุรู้ชนิดนี้มีแต่สิ่งที่ไม่ดีมากมายเลย เกิดขึ้นจริง

ผู้ฟัง ปัญญาที่เกิดขึ้นเพระว่าเราศึกษามีความรู้ และมีความเข้าใจขึ้นมา เราก็เกิดปัญญา

ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิด

ผู้ฟัง ปัญญาเกิด เพราะเรามีความเข้าใจ ในเรื่องของธรรม

ท่านอาจารย์ ปัญญา คือความเข้าใจ ค่อยๆ เจริญขึ้น ต่อไปเราจะกันคำว่า "เรา" ออก แล้วก็จะมีสภาพธรรมเกิดบ่อยๆ

ผู้ฟัง เปลี่ยนภาษามากเลย

ท่านอาจารย์ แน่นอน ตอนแรกก็อย่างนี้ คือโดยเฉพาะเวลาที่จะพูดกับคนใหม่ๆ เขายังมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ภาษาที่ใช้เขาจะเข้าใจ ถ้าใช้คำว่าเรา แต่จริงๆ ต้องค่อยๆ ให้เขาเห็นถูกขึ้น เวลาสติเกิด เวลาปัญญาเกิด แต่ถ้าพูดผิดๆ เวลาที่เรามีปัญญาเกิดขึ้น มันก็มีเราแล้วก็มีปัญญาเกิด

ผู้ฟัง จับแยกกัน

ท่านอาจารย์ แต่ความจริงเวลาปัญญาเกิด เราไม่มี เวลาสติเกิด เวลาอกุศลเกิด เวลากุศลเกิด

ผู้ฟัง นั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่จะพูดตอนนี้ พยายามคิดว่า เราจะแยกอย่างไรว่านี้ตัวอ้อย แต่ความจริงไม่ใช่ตัวอ้อยนะ อะไรอย่างนี้ มัน CONFUSE มาก

ท่านอาจารย์ ทราบว่าเป็นธรรมก่อน เป็นนามธรรมกับรูปธรรม แล้วก็ทราบว่า นามธรรมนี้คือจิตกับเจตสิก ทีนี้พอโกรธเกิด เราก็รู้ นี่ลักษณะเจตสิก แต่ว่าเมื่อไม่รู้คือเรานี้แหละโกรธมาก ถึงอย่างนั้นอย่างนี้

ผู้ฟัง ธรรมดาจะเป็นอวิชชา ผมพอเข้าใจว่า mind, body, spirit, psychology ผมรู้ว่าเป็นอกุศล ไม่ถูกเลย


หมายเลข  6978
ปรับปรุง  26 ก.ย. 2567


วีดีโอแนะนำ