แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 425


บุคคลต่อไป มีข้อความว่า

อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และย่อมได้ทางสงบใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

เป็นไปได้ไหม ที่มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และย่อมได้ทางสงบใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แต่แม้กระนั้น บางคนก็ยังผูกโกรธ อาฆาตแม้ในบุคคลเช่นนี้ เป็นไปได้ไหม อย่างพระผู้มีพระภาคเป็นต้น ท่านพระเทวทัตก็ยังผูกโกรธ อาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

เพราะฉะนั้น เรื่องของความโกรธ เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาสภาพจิตใจของท่านเอง ถ้าท่านเกิดอาฆาตหรือผูกโกรธในบุคคลใด ก็ควรที่จะพิจารณาบุคคลที่ท่านโกรธ หรือที่ท่านผูกอาฆาตว่า เป็นบุคคลประเภทใด ท่านควรหรือไม่ที่จะเกิดอกุศลจิต และจะมนสิการอย่างไร เพื่อที่จะให้จิตไม่เป็นอกุศล

ข้อความต่อไป

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ในบุคคล ๕ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้น แล้วหลีกไป แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

ข้อความในสูตรก่อนบอกไว้แล้วว่า วิธีหนึ่งที่จะระงับความอาฆาต คือ ไม่ใส่ใจถึงความประพฤติส่วนที่ไม่ดีของบุคคลนั้น เพราะเหตุว่าย่อมมีส่วนอื่นดี ก็ควรที่จะให้อภัยและระลึกถึงแต่สภาพธรรมซึ่งเป็นฝ่ายกุศล ที่จะไม่ทำให้เกิดอกุศลจิต แต่ตรงกันข้าม การที่จะมองดูบุคคลอื่นว่าเป็นอย่างนี้หรือไม่ ก็เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าย้อนกลับมาเป็นตัวของท่านเอง ขณะใดที่ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ คนอื่นจะมองท่านเหมือนกับท่านเป็นผ้าเก่าสกปรกที่ถนน และส่วนกายทุจริตของท่าน คนอื่นจะไม่โกรธ ก็ต่อเมื่อเหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระก็เลือกถือเอาส่วนนั้น แล้วหลีกไป

นั่นเป็นเรื่องของคนที่จะไม่เกิดความอาฆาต ความผูกโกรธขึ้น เพราะพยายามดูแต่ส่วนที่เป็นสาระ และไม่ใส่ใจในส่วนอกุศลที่ไม่เป็นสาระของท่าน

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กายทุจริตแม้ของท่านเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่มีสาระ และในสายตาของคนอื่น ท่านก็เหมือนผ้าเก่าๆ ที่กลางถนน ซึ่งคนก็ไม่อยากจะแตะต้อง และเวลาที่ประสบพบเห็นจะถือสาระจากท่าน ก็เปรียบเสมือนกับใช้เท้าซ้ายเหยียบให้มั่น แล้วก็เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความประพฤติทางกายที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งต่อไปอาจจะทำให้ท่านไม่สนใจในความไม่เป็นสาระของบุคคลอื่น และพิจารณาแต่ส่วนที่จะไม่ทำให้จิตของท่านเป็นอกุศล

สำหรับบุคคลที่ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์นั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อน อบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนี้อย่างนั้น

ถึงแม้จะเป็นคนที่มีความประพฤติทางกายดี ไม่ประพฤติกายทุจริต แต่วาจานี้สำคัญจริงๆ เพราะเหตุว่าจะต้องมีการพูดอยู่เสมอ และถ้าวาจาของบุคคลนั้น แม้ว่าทางกายจะไม่เป็นกายทุจริตจริง แต่วาจาไม่เป็นที่รัก วาจาไม่ไพเราะ วาจาเป็นมุสาบ้าง ส่อเสียดบ้าง หยาบคายบ้าง บุคคลนั้นก็ย่อมจะปรากฏเสมือนสาหร่ายและแหนปกปิดคลุมสระน้ำ คือ ความประพฤติทางกายที่สุจริต

ทำให้มองเห็นภายนอกว่า เป็นบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ เพราะไม่สามารถที่จะทนกับวจีทุจริตที่เป็นมุสาวาทบ้าง หรือคำส่อเสียดบ้าง คำหยาบคายบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ประสบกับผู้ที่มีกายสุจริต แต่วาจาไม่สุจริต ก็ควรจะระลึกถึงส่วนดี คือ ความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ และไม่สนใจในวาจาซึ่งเป็นวจีทุจริต

สำหรับบุคคลที่ ๓ คือ บุคคลที่ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรจะอนุโมทนาในส่วนของความศรัทธา ความเลื่อมใสในการศึกษาธรรม และวันหนึ่งเมื่อบุคคลนั้นศึกษาธรรมเข้าใจแล้ว ก็คงจะประพฤติธรรมยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น แต่ว่าตราบใดที่ปัญญายังไม่พอที่จะดับกิเลส กายก็ยังคงไม่บริสุทธิ์ วาจาก็คงไม่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังคงมีส่วนดี คือ การสนใจศึกษาธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสของตน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะระลึกถึงส่วนดี และไม่สนใจในข้อเสียของบุคคลนั้น

สำหรับบุคคลผู้เป็นผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้ขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจา ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร นั้น ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่ม หรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการที่จะไม่ให้เกิดอกุศลจิต เพราะว่าสำหรับผู้ที่ทั้งกาย ทั้งวาจาไม่บริสุทธิ์ ผู้ใดอยู่ใกล้ชิดหรือได้ประสบ ความรู้สึกของคนที่ประสบกับบุคคลที่ทั้งทางกายทั้งวาจาไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมเหมือนกับคนที่เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ และก็ยากเหลือเกิน ในเมื่อบุคคลนั้นทั้งกาย ทั้งวาจาไม่บริสุทธิ์ เหลือแต่เพียงส่วนที่ดี คือ เป็นผู้ที่ยังมีความสงบใจ หรือความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร เพราะฉะนั้น ก็อุปมาบุคคลนั้นว่า เหมือนกับน้ำเล็กน้อยที่มีอยู่ในรอยโค มีอยู่เพียงส่วนเดียว คือ ความสนใจในการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น ที่จะไม่โกรธไม่ผูกอาฆาตในบุคคลซึ่งอุปมาเสมือนน้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคได้ ก็ด้วยการที่ว่า พึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไป คือ ระลึกถึงเฉพาะส่วนที่ดีของบุคคลนั้น ในการเป็นผู้ที่สนใจศึกษาธรรม

สำหรับคนที่มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร คือ เป็นคนที่ทั้งกาย ทั้งวาจาไม่บริสุทธิ์ และไม่ศึกษา ไม่สนใจในธรรมที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นบุคคลที่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนใจ กระทบกระเทือนใจ ซึ่งท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ดังนี้

เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนักเดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขาบุรุษนั้น พึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้ พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศ ฉิบหาย ณ ที่นี้เลย แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า โอ ท่านผู้นี้ พึงละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริต แล้ว อบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริตแล้ว อบรมมโนสุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

เป็นไปได้ไหม ที่ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ พร้อมหมดไม่บริสุทธิ์ ควรเหลือเกินที่จะเกิดความการุณ เอ็นดู อนุเคราะห์ ในบุคคลเห็นปานนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นบุคคลซึ่งประสบกับบุคคลเช่นนี้ ควรจะเปรียบเสมือน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกล พึงเห็นเขาบุรุษนั้น พึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า เขาพึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน อย่าถึงความพินาศ ณ ทีนี้เลย

เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเกื้อกูล อนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู ด้วยความกรุณาในบุคคลนั้น ที่จะให้บุคคลนั้น ละกายทุจริตแล้วประพฤติกายสุจริต ละวจีทุจริตแล้วอบรมวจีสุจริต ละมโนทุจริตแล้วอบรมมโนสุจริต เพราะถ้าบุคคลนั้นยังไม่ละ เมื่อตายไปก็ย่อมจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

และท่านไม่ควรมีเจตนาที่อยากจะให้บุคคลอื่นไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะถ้าท่านมีเจตนาอย่างนั้น ก็เป็นอกุศลเจตนา หวังร้ายกับบุคคลอื่น อยากให้บุคคลอื่นได้รับทุกข์ทรมานในอบายภูมิ ในนรก

ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงบุคคลที่มีกายทุจริต วจีทุจริต ทั้งจิตใจก็ไม่ได้ศึกษาไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ขวนขวายอะไร ถ้าจะไปอนุเคราะห์นี่เปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ในเมื่อเราอนุเคราะห์แล้วเขาไม่รับ บางครั้งปัญญาเราก็ไม่ถึง ก็จะมีอันตรายแก่ตัวเองเหมือนกัน เกิดความหมั่นไส้ก็ดี ความไม่อยากอนุเคราะห์ต่อไปก็ดี เพราะว่ามีหลายคนซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าเขาปฏิบัติผิดหนทาง เราพยายามชักจูงก็ดี แนะนำอะไรต่างๆ ก็ดี เขาก็ค้านบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ยากจริงๆ

สุ. ในพระสูตรต่อไป จะมีข้อความที่เกื้อกูลว่า การที่จะกระทำได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อบรมด้วยการเจริญสติปัญญา

. ครั้งหนึ่งผมเป็นผู้พิพากษาอยู่สุโขทัย มีหม่อมเจ้าองค์หนึ่งผมเคารพ เจอที่ไหนก็ไหว้ท่าน ท่านเป็นปลัดจังหวัด เป็นข้าราชการชั้นโท เจอท่านที่ไหนก็เรียก ฝ่าบาท วันหนึ่งท่านขลังขึ้นมาอย่างไรก็ไม่รู้ พูดว่า อ้ายหัวหน้าศาลมาขึ้นรถกะกู แหมผมเดือดเชียวครับ ผมเลยบอกว่า ผมเป็นหัวหน้าศาล เป็นข้าราชการชั้นพิเศษท่านแค่ปลัดจังหวัดชั้นโทมาใช้คำพูดอย่างนี้กับผมต่อหน้าแขก ท่านต้องขอโทษผมนะ หมิ่นประมาทในตำแหน่งหน้าที่ ท่านหน้าจืดเลย ยกมือไหว้ขอโทษ มันยากจริงๆ ที่เราจะไม่พูด มันเสียสังคม เสียมาก แต่ตอนหลังก็มารู้ว่า ท่านดื่มเหล้ามา ท่านเมา

สุ. ท่านผู้ฟังก็จะเห็นสภาพของจิตที่ได้รับกระทบกับวจีทุจริต ซึ่งผู้กล่าวนี้ก็คงจะไม่มีความตั้งใจ แต่เพราะเหตุว่าขาดความระวัง และผู้รับฟังบางครั้งก็จำจนตาย ไม่ลืมเลย ความเจ็บช้ำนี้ ผูกไว้แน่นจนถึงวันตายได้เหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องของคำพูดที่ควรจะระมัดระวังจริงๆ แต่ถ้าได้ระลึกถึงพระสูตรนี้ทันทีในขณะนั้น ระลึกถึงส่วนดี คือ น้ำใจที่เกื้อกูลในขณะนั้น ไม่สนใจในวจีทุจริตซึ่งเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของท่าน โดยเฉพาะถ้าได้เข้าใจข้อความในพระสูตรนี้ ระลึกถึงพระสูตรนี้ ก็จะเกื้อกูลให้ท่าน ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในวจีทุจริตของบุคคลอื่น ระลึกถึงแต่ส่วนที่ดีในขณะนั้น ก็จะทำให้ละคลายความผูกโกรธ หรือความอาฆาตในบุคคลนั้นได้

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผ่านไปนานแล้ว และบุคคลนั้นก็มีคุณความดีประการอื่นหลายอย่างที่ควรจะระลึกถึง เพื่อที่จะได้ไม่สนใจในการไม่ระมัดระวังคำพูดเพียงประโยค สองประโยค


หมายเลข  6995
ปรับปรุง  3 ต.ค. 2567